6 ตุลาฯ กวางจู ยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน - Decode
Reading Time: < 1 minute

ในความเคลื่อนไหว

รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ

“ผมไม่รู้ว่าผมจะต้องขอโทษเรื่องอะไร” นี่คือถ้อยคำที่อดีตประธานาธิบดีชอน ดู-ฮวาน ของเกาหลีใต้กล่าวกับผู้สื่อข่าวที่ถามว่า เขารู้สึกเสียใจหรืออยากจะขอโทษเหยื่อความรุนแรงที่ถูกสังหารโดยรัฐในยุคที่เขาปกครองประเทศอยู่หรือไม่ โดยเฉพาะเหตุการณ์สังหารหมู่ที่กวางจูซึ่งประชาชนออกมาประท้วงการรัฐประหารและขึ้นสู่อำนาจอย่างไม่ชอบธรรมของ ชอน ดูฮวาน และคณะนายทหารในปี ค.ศ. 1980 ซึ่งทำให้มีประชาชนผู้บริสุทธิ์บาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก

ผมนึกถึงชอน ดู-ฮวาน และเหตุการณ์กวางจูขึ้นมาในวาระครบรอบ 45 ปี 6 ตุลาฯ ในปีนี้เพราะมันชี้ให้เห็นการจัดการอดีตที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงของทั้งสองประเทศ

ทุกประเทศต่างมีประวัติศาสตร์บาดแผลของตนเอง – อดีตที่สังคมไม่อยากจะจดจำแต่ก็ยากจะลืมเลือน อดีตที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง ความรุนแรง และการสูญเสีย อดีตที่เปิดเผยให้เห็นด้านที่อัปลักษณ์ของสังคมที่เราไม่อยากมองเห็นและยอมรับ โดยเฉพาะคนที่มีส่วนสำคัญในการก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมเหล่านั้นคือ – การสังหารหมู่นักศึกษาและประชาชนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 คือประวัติศาสตร์บาดแผลของไทย ในขณะที่การสังหารหมู่ผู้ชุมนุมที่เมืองกวางจูในวันที่ 18 พฤษภาคม ค.ศ. 1980 คือประวัติศาสตร์บาดแผลของสังคมเกาหลีใต้

ตัวชี้วัดวุฒิภาวะของสังคมหรือจะเรียกว่าความเจริญของสังคมนั้นอยู่ตรงที่ว่า จะจัดการกับอดีตที่เป็นบาดแผลเหล่านั้นอย่างไร

สังคมไทยและรัฐไทยเลือกที่จะลบเลือนหลบเลี่ยงอดีต ไม่แสวงหาทั้งความจริงและความยุติธรรม ในขณะที่สังคมและรัฐเกาหลีใต้เลือกที่จะเผชิญหน้ากับอดีตและคืนความเป็นธรรมให้กับผู้สูญเสีย

เริ่มจากปี ค.ศ. 1988 ในบรรยากาศที่ประเทศเพิ่งเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย รัฐสภาเกาหลีใต้จัดให้มีการไต่สวนกรณีสังหารหมู่กวางจูเพื่อค้นหาและรวบรวมข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นว่าเหตุการณ์ความรุนแรงดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างไรและใครต้องรับผิดชอบบ้าง ผลจากการไต่สวนนี้นำไปสู่การที่รัฐบาลออกมาตรการชดเชยค่าเสียหายให้เหยื่อของความรุนแรง รวมทั้งครอบครัวของพวกเขาที่สูญเสียคนรักไปด้วยน้ำมือของเจ้าหน้าที่รัฐ

ในทศวรรษ 1990 มีกระแสเรียกร้องจากประชาชนให้ปฏิรูปกองทัพและนำตัวนายพลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนมาลงโทษซึ่งในที่สุดนำไปสู่การพิจารณาคดีครั้งประวัติศาสตร์ในปี ค.ศ. 1997 ที่อดีตผู้นำเผด็จการสองรายคือชอน ดู-ฮวานและโรห์แตวู (บวกกับผู้นำทหารอีก 6 นาย) ตกเป็นจำเลยในข้อหาร้ายแรง คือการก่อรัฐประหารยึดอำนาจ ล้มล้างรัฐธรรมนูญ ฆาตกรรมข้าราชการและประชาชน สมคบคิดในการก่อกบฏและคอร์รัปชัน (มีหลักฐานว่าผู้นำทหารเหล่านี้รับสินบน และยักยอกเงินของรัฐจำนวนมหาศาลเข้ากระเป๋าตนเอง กล่าวเฉพาะชอน ดู-ฮวาน เขานำทรัพย์สินเหล่านี้ไปซุกซ่อนไว้ที่ต่างประเทศมูลค่ามหาศาล จนภายหลังรัฐบาลเกาหลีใต้ต้องไปตามทวงคืน)

ผลลงเอยของคดีนี้ คือ ชอน ดู-ฮวานและโรห์แตวู ถูกตัดสินว่ามีความผิด โดยในกรณีของชอน ดู-ฮวาน ตอนแรกเขาถูกตัดสินประหารชีวิต ต่อมาถูกลดโทษเป็นจำคุกตลอดชีวิต และต่อมาหลังจากจำคุกอยู่ไม่นาน เขาได้รับการปล่อยตัว โดยคำสั่งอภัยโทษของประธานาธิบดีคิมย็องซัมดี ที่ต้องการสร้างความสมานฉันท์ทางสังคม ซึ่งคำสั่งนี้นำไปสู่ความไม่พอใจของประชาชนเกาหลีใต้จำนวนมากที่ต้องการเห็นอดีตผู้นำที่ทำร้ายประชาชนต้องรับผิดในคุกตลอดชีวิต อย่างไรก็ดีไม่มีใครปฏิเสธว่า การตัดสินพิพากษาอดีตผู้นำประเทศครั้งนี้กลายเป็นบรรทัดฐานสำคัญสำหรับการสถาปนาความยุติธรรมและย้ำเตือนไม่ให้นายทหารรุ่นหลังกล้าล้มล้างประชาธิปไตยและละเมิดสิทธิมนุษยชนของพลเมืองอีก

นอกจากการนำตัวผู้กระทำผิดขึ้นศาลแล้ว รัฐบาลและภาคประชาสังคมยังได้จัดตั้งคณะกรรมการแสวงหาความจริงขึ้นมาหลายชุดเพื่อสืบหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิประชาชนภายใต้การปกครองของระบอบเผด็จการทหาร รัฐบาลปัจจุบันภายใต้การนำของประธานาธิบดีมุน แจ-อิน ได้ให้ความสำคัญกับการตั้งกรรมการค้นหาความจริงระดับชาติเพื่อสถาปนาความจริงเกี่ยวกับการสังหารหมู่ที่กวางจูที่ยังเต็มไปด้วยปริศนาและคำถามที่ไม่มีคำตอบ เขายังให้เกียรติญาติและครอบครัวของวีรชนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เมื่อ 4 ทศวรรษก่อน ด้วยการเดินทางเข้าร่วมพิธีรำลึกไว้อาลัยที่จัดขึ้นอย่างสมเกียรติ

ถามว่าทำไมเกาหลีใต้จึงให้ความสำคัญกับการจัดการอดีตอย่างเที่ยงตรงและยุติธรรม นักวิชาการบางท่านที่ศึกษาเรื่องนี้กล่าวว่ามี 3 ปัจจัยด้วยกัน กล่าวคือ ปัจจัยทางวัฒนธรรม, การเมือง และความสำนึกเรื่องความยุติธรรมของประชาชน

สำหรับปัจจัยด้านวัฒนธรรม มีการให้เหตุผลว่าสังคมเกาหลีให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดกับบรรพบุรุษและครอบครัว การที่มีคนในครอบครัวเสียชีวิตอย่างไม่เป็นธรรม แถมยังถูกกองทัพย่ำยีเกียรติยศศักดิ์ศรีด้วยการไม่ขอโทษแถมยังแต่งเรื่องราวมาบิดเบือนความจริง (เช่น การที่ชอน ดู-ฮวานกล่าวหาว่าการชุมนุมที่กวางจูนั้นเป็นฝีมือของพวกสายลับและกองกำลังเกาหลีเหนือที่เข้ามาแทรกซึม แถมยังกล่าวหาบาทหลวงท่านหนึ่งที่ออกมาให้ปากคำว่าเขาเห็นทหารยิงประชาชนจากเฮลิคอปเตอร์ว่าเป็นนักโกหกหลอกลวง จนครอบครัวบาทหลวงท่านนี้ฟ้องหมิ่นประมาทชอน ดู-ฮวาน และชนะคดีในที่สุด) การคืนเกียรติและศักดิ์ศรีให้ผู้ล่วงลับถือเป็นพันธกิจของสมาชิกครอบครัวที่ยังมีชีวิตอยู่

ในด้านการเมือง ต้องยกเครดิตให้กับความเข้มแข็งของพรรคฝ่ายค้านในการต่อสู้เพื่อสถาปนาความยุติธรรมและหลักสิทธิมนุษยชนมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงที่ต่อสู้กับระบอบเผด็จการจนล้มลงในที่สุด นักการเมืองฝ่ายค้านจำนวนมากเคยเป็นอดีตผู้นำนักศึกษา ครู ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ฯลฯ หลายคนก็เคยตกเป็นเหยื่อของระบอบเผด็จการในอดีต เมื่อเข้าสู่แวดวงการเมืองหรือเมื่อชนะเลือกตั้งเป็นรัฐบาล นักการเมืองจากฝ่ายประชาธิปไตยได้พยายามผลักดันกลไกทางกฎหมายเพื่อเยียวยาเหยื่อ นำตัวผู้กระทำมาลงโทษและค้นหาความจริง

สุดท้ายคือความเข้มแข็งของขบวนการประชาชนที่รวมกลุ่มจัดตั้งองค์กร ตั้งศูนย์ข้อมูล หอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์เพื่อให้การเรียนรู้แก่สังคมและคนรุ่นหลัง ทั้งยังคอยออกมาเรียกร้องกดดันรัฐสภาและหน่วยงานรัฐให้ต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต พวกเขาเห็นว่าภารกิจการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมยังไม่ลุล่วงในปัจจุบัน

จากเกาหลีใต้ถึงไทย ความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่าน

(ในส่วนที่ว่าด้วยกลไกความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน ผู้เขียนปรับปรุงและตัดตอนมาจากการศึกษาของผู้เขียนเรื่อง “ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน: เมื่อโลกไม่หันหลังให้โศกนาฏกรรม” ใน ประชาธิปไตยในยุคเปลี่ยนผ่าน (กรุงเทพฯ สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน, 2558), น.317-348.

กรณีของเกาหลีใต้เป็นกรณีตัวอย่างของประเทศที่แข็งขันเอาจริงเอาจังในการสถาปนาความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (transitional justice) 

แล้วคำคำนี้หมายถึงอะไร ? แนวคิดว่าด้วย “ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน” ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางในวงการกฎหมายและวงการวิชาการตั้งแต่ช่วงสิ้นสุดสงครามเย็น โดยหมายถึงการที่สังคมหนึ่งพยายามสถาปนาความยุติธรรมในภาวะที่เพิ่งผ่านพ้นหรือ “เปลี่ยนผ่าน” จากระบอบเผด็จการมาสู่ระบอบประชาธิปไตยได้สำเร็จโดยพยายามคืนความเป็นธรรมให้กับเหยื่อของความรุนแรงพร้อมกับ “สะสาง” อดีตอันขมขื่นเลวร้ายของตนภายใต้การปกครองยุคเผด็จการ ที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนพลเมืองตนเองอย่างกว้างขวาง

ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงขนานใหญ่ อย่างการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (เช่นที่เกิดขึ้นภายใต้ระบอบนาซี สตาลิน เขมรแดง ฯลฯ) มาจนถึงสงครามกลางเมือง การสังหารหมู่ การซ้อมทรมาน การกักขังหน่วงเหนี่ยวโดยผิดกฎหมาย การสร้างค่ายกักกัน “ปรับทัศนคติ” ประชาชน หรือการอุ้มหาย ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านกลายเป็นวาระสำคัญในระดับโลกตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา เพราะหลักการเรื่องสิทธิมนุษยชนได้กลายเป็นคุณค่าสากลบวกกับบรรทัดฐานที่ถูกสร้างขึ้นในระดับนานาชาติว่าอาชญากรรมของรัฐในอดีตเป็นสิ่งที่ต้องถูกชำระสะสางและเป็นภาระหน้าที่ที่รัฐบาลประชาธิปไตย รวมทั้งประชาชนในทุกประเทศต้องไม่เพิกเฉยและต้องช่วยกันป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้นอีก

เงื่อนไขสำคัญที่ทำให้กระบวนการแสวงหาความยุติธรรมและชำระสะสางอดีตบังเกิดขึ้นได้ในแต่ละประเทศก็คือการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง (political transition) ตั้งแต่ระดับโครงสร้าง คือการเปลี่ยนระบอบการเมืองจากระบอบเผด็จการไปเป็นระบอบประชาธิปไตย หรือหากโครงสร้างยังไม่เปลี่ยนอย่างน้อยก็ต้องมีการเปลี่ยนตัวรัฐบาลหรือผู้นำที่รับผิดชอบสั่งให้มีการใช้ความรุนแรงต่อประชาชนสิ้นสุดอำนาจลง

เพราะในความเป็นจริง ไม่เคยมีรัฐบาลที่ลงมือสังหารประชาชนในประเทศใดตั้งกรรมการขึ้นมาไต่สวนเอาผิดตัวเอง เช่น ในประเทศเผด็จการบางประเทศอย่างอูกันดาและชาติที่ผู้นำยังครองอำนาจอยู่ คณะกรรมการแสวงหาความจริงถูกตั้งขึ้นมาเพื่อลบล้างความผิดให้กับรัฐบาลมากกว่าที่จะค้นหาความจริง ฉะนั้นข้อสรุปทั่วไปในประเด็นเรื่องความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านจึงมีอยู่ว่าการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองและการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยเป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่สุดอันขาดเสียมิได้ในการได้มาซึ่งความยุติธรรม

จุดมุ่งหมายหลักของกระบวนการสร้างความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านคือ หนึ่งแก้ไขโศกนาฏกรรมความรุนแรงที่เคยเกิดขึ้นในอดีตและสองป้องกันไม่ให้โศกนาฏกรรมอันเลวร้ายอย่างที่เคยเกิดขึ้นกลับมาซ้ำรอยอีก ซึ่งกระทำได้ผ่านการคืนความยุติธรรมและชดเชยให้กับเหยื่อของความรุนแรง สถาปนาความจริงให้สังคมได้รับทราบพร้อมกับสถาปนาหลักนิติรัฐและหลักสิทธิมนุษยชนให้ลงหลักปักฐานในสังคม 

กลไกหลักที่ประเทศต่าง ๆ นำมาใช้ในภารกิจแสวงหาความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน มีอยู่ 4 ประการด้วยกัน คือ

1.การดำเนินคดีทางอาญากับผู้กระทำผิด

กลไกนี้เป็นกลไกที่จำเป็นในการสถาปนาความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน แต่รัฐบาลต้องทำการสืบสวนสอบสวนและดำเนินคดีที่เที่ยงธรรมเพื่อมิให้เกิดข้อครหาว่ามันถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ทั้งนี้การดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดมีความสำคัญเพราะมันช่วยส่งสัญญาณเตือนไม่ให้มีผู้นำหรือเจ้าหน้าที่รัฐคนใดกล้าที่จะใช้ความรุนแรงต่อประชาชนอีกในอนาคต โดยทำให้เห็นว่าผู้ที่กระทำผิดจะไม่สามารถลอยนวลพ้นผิดได้ มันยังเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ดีสำหรับรัฐบาลในอนาคตว่าจะต้องเคารพหลักสิทธิมนุษยชนและสร้างค่านิยมใหม่ว่าไม่มีอภิสิทธิ์ชนเหนือกฎหมาย ที่สำคัญมันเป็นการเยียวยาเหยื่อและครอบครัวผู้ประสบความรุนแรงโดยรัฐ ทำให้พวกเขาเห็นว่ารัฐสามารถมอบความยุติธรรมให้กับพวกเขา ทำให้พวกเขาไม่สิ้นศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรม

2.การแสวงหาความจริง  

รูปแบบหลักที่นิยมใช้กัน คือ การตั้งคณะกรรมการค้นหาความจริง (truth commission) ประเด็นสำคัญที่ควรคำนึงถึงคือคณะกรรมการมิได้มีหน้าที่เพียงแค่บรรยายถึงข้อเท็จจริงว่า ใครทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร อย่างไรเท่านั้น แต่มีภารกิจที่จะต้องวิเคราะห์ถึงสาเหตุ ที่มาที่ไป บวกกับการตัดสินเชิงคุณค่าให้สังคมตระหนักว่าการตัดสินใจและการกระทำของสถาบัน หน่วยงาน หรือตัวบุคคลในฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมีความผิดพลาดหรือไม่ถูกต้องเหมาะสมอย่างไรด้วยเพื่อสร้างบรรทัดฐานสำหรับอนาคต นอกจากนั้น กรรมการยังมีหน้าที่ให้การศึกษาสังคมเกี่ยวกับปัญหาความรุนแรงและสิทธิมนุษยชนและยังมีหน้าที่เปิดโอกาสให้เหยื่อและครอบครัวมีพื้นที่ในการบอกเล่าความทุกข์ร้อนของพวกเขาให้สังคมรับรู้ด้วย

3.การชดเชยและเยียวยา

การชดเชยและเยียวยาทำหน้าที่สำคัญ 3 ประการ หนึ่งช่วยเหลือเหยื่อของความรุนแรงให้สามารถดำรงชีวิตต่อไปได้อย่างเป็นปรกติในแง่ที่เป็นปัจจัยพื้นฐาน สองเป็นการแสดงออกอย่างเป็นทางการว่ารัฐและสังคมตระหนักรับรู้ถึงความเจ็บปวดสูญเสียที่เหยื่อและญาติได้รับ ซึ่งเท่ากับสร้างบูรณาการทางสังคม ให้คนคลายความรู้สึกว่าตนเองไม่ถูกเหลียวแลหรือถูกปล่อยให้ทุกข์ทรมานแต่เพียงลำพัง ในแง่นี้หมายความว่าการชดเชยและเยียวยาไม่ได้มีความสำคัญในเชิงรูปธรรมที่เป็นสิ่งของเงินทองเท่านั้น แต่มันสำคัญในเชิงนามธรรมที่เป็นเรื่องของสภาพจิตใจและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ด้วย คำขอโทษและการยอมรับผิดจากรัฐบาลต่อความผิดที่ได้กระทำลงไปจึงนับเป็นการชดเชยที่สำคัญอย่างยิ่ง สามมันอาจจะช่วยทำให้รัฐมีความยับยั้งชั่งใจมากขึ้นที่จะใช้ความรุนแรงอีกในอนาคตเพราะการชดเชยสร้างภาระผูกพันให้กับการกระทำดังกล่าว

4. การปฏิรูปสถาบันและองค์กรที่มีส่วนทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอดีต

ตำรวจ ทหาร หน่วยงานด้านความมั่นคงและกลไกรัฐอื่น ๆ กลไกนี้เป็นกลไกเชิงป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดวงจรของการใช้ความรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่รัฐต่อพลมืองของตัวเองอีกในอนาคต มีหลายมาตรการครอบคลุมตั้งแต่การปลูกฝังหลักการสิทธิมนุษยชนให้เจ้าหน้าที่รัฐ การอบรมหลักสากลในการสลายการชุมนุมให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ การไม่ใช้ทหารมาดูแลรักษาความสงบภายในประเทศ การปรับขนาดกองทัพให้เล็กลง ลดงบประมาณของกองทัพ การทำให้กองทัพต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของพลเรือน

เป้าหมายที่เป็นอุดมคติที่ทุกประเทศควรยึดถือไว้ในการสร้างความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านคือการผลักดันให้มีการใช้กลไกทุกอย่างไปพร้อมกันเพื่อบรรลุความยุติธรรมและความจริงอย่างสมบูรณ์ เกาหลีใต้ผลักดันทั้ง 4 กลไกอย่างแข็งขัน (แม้ว่าจะมีการอภัยโทษให้กับอดีตผู้นำรัฐประหารในท้ายที่สุด) และมันคือรากแก้วของสังคมประชาธิปไตยเกาหลีใต้ในยุคใหม่ที่ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่เรื่องของการเลือกตั้งและการแข่งขันขึ้นสู่อำนาจ แต่คือการสร้างสังคมที่มีหลักนิติรัฐและเคารพสิทธิมนุษยชนที่ไม่มีผู้มีอำนาจคนใดอยู่เหนือกฎหมาย กระทั่งสามารถทำร้ายและทำลายชีวิตประชาชนโดยไม่ต้องรับผิด

ที่ผ่านมาสังคมไทยล้มเหลวในทุกด้าน เป็นกรณีที่ห่างไกลจากอุดมคติที่สุดและถือว่าล้มเหลวที่สุดคือเราเป็นสังคมที่ไม่เคยพยายามนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ (ไม่ว่าจะปลาเล็กหรือปลาใหญ่) ซ้ำยังปล่อยให้คณะรัฐประหารชุดต่าง ๆ ออกนิรโทษกรรมอย่างเหวี่ยงแหให้กับการกระทำผิดของตนเอง ไม่เคยมีความพยายามค้นหาความจริงอย่างเป็นระบบรอบด้าน ไม่เคยปฏิรูปหน่วยงานรัฐด้านความมั่นคงไม่ว่าจะเป็นตำรวจหรือทหาร และเพิกเฉยที่จะเยียวยาชดเชยให้กับเหยื่อและครอบครัวที่สูญเสีย

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่สังคมไทยของเรามีโศกนาฏกรรมความรุนแรงที่รัฐปราบปรามประชาชนซ้ำแล้วซ้ำเล่าใจกลางพระนครโดยไม่เคยมีใครต้องรับผิดชอบจนถึงปัจจุบัน  

ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านจึงมิใช่เรื่องของการจมปลักหรือหมกมุ่นอยู่กับอดีต หากคือการเผชิญหน้ากับปัจจุบันคือการเผชิญหน้ากับบาดแผลที่อดีตทิ้งไว้ให้กับเราเพื่อที่ว่าสังคมจะเดินต่อไปข้างหน้าและสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติในอนาคต  การเพิกเฉยไม่ชำระสะสางอดีตเท่ากับการปล่อยให้อดีตตามหลอกหลอนสังคมรวมถึงลูกหลานของพวกเราทุกคน สังคมที่ปล่อยให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงและการละเมิดสิทธิต้องติดอยู่กับฝันร้าย อยู่กับการปกปิดและบิดเบือนความจริง อยู่กับความอยุติธรรมย่อมมิอาจสร้างสันติสุขหรือการปรองดองอย่างยั่งยืน