On The Road สู่ท้องถนนกันเถอะพวก - Decode
Reading Time: 3 minutes

“การเขียนนวนิยายสักเล่มไม่ใช่เรื่องง่าย และการที่ใครจะตัดสินใจอ่านมัน ก็ยิ่งยากเย็นแสนเข็ญ”

ถ้าหากผมจะต้องเลือกแนะนำหนังสือ ให้ใครสักเล่มที่ไม่ควรพลาด แน่นอนว่า ผมจะไม่แนะนำหนังสือเล่มใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะแต่ละคนคงมีแนวหนังสือที่ชอบแตกต่างกัน 

แต่ถ้าหากจะให้ผมแนะนำหนังสือ สำหรับเพื่อนแสนดีสักคน ให้มันควรออกห่างมากที่สุด On The Road คงเป็นหนึ่งในหนังสือจำพวกนั้น มันไม่เหมาะกับคนที่แสนดีเป็นอย่างยิ่ง เพราะ…

มันมีแต่คำหยาบคาย
มันมีเรื่องผิดกฎหมายเต็มไปหมดในเนื้อเรื่อง

และยิ่งไปกว่านั้น

หนังสือความหนา 440 หน้าเล่มนี้ ไม่มีแม้สักย่อหน้าเดียว 
ไม่มีบทแบ่งตอน
ไม่มีไฮไลท์ คำคมเพ้อฝัน

On The Road ฉบับม้วนกระดาษพิมพ์ดีด คือหนังสือที่ต้นฉบับ เป็นแผ่นกระดาษมีความยาว 120 ฟุตต่อกัน และถูกประมูลไปในราคา 2.43 ล้านดอลลาร์ 

เป็นหนังสือที่ฝ่าด่านกับดักกาลเวลา (ตีพิมพ์ปี ค.ศ. 1957)  กลายเป็นหนังสือที่ยังคงยืนหยัดท่ามกลางสายธารแห่งการดิสรัปชันข้ามศตวรรษ ทั้งยังเป็นต้นแบบ ให้เหล่าหัวขบถหลายต่อหลายคน ดำเนินรอยตาม ทั้งเหล่าคนยุคบุปผาชน  รวมถึงนักเขียนไทยอย่าง พญาอินทรีแห่งสวนทูนอิน ‘รงค์ วงษ์สวรรค์’

หากภูผาแห่งโลกวรรณกรรมอเมริกันศตวรรษที่ 20 คือคนอย่างเออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมปี ค.ศ. 1954  และหนังสือวรรณกรรมที่ทุกคนให้การยอมรับดั่ง  ‘The Old Man and the Sea’  แจ็ค เครูแอ็ก (Jack Kerouac) ผู้เขียน On The Road คงเป็นนักเขียนที่รู้จักกันในวงแคบ โดยเฉพาะในไทย แต่เขาก็เป็นผู้นำทางให้กับคนหนุ่มสาวเสรีชน ที่ต้องการออกนอกเส้นทางกระแสหลัก ที่สังคมจับยัดใส่หัวสมองพวกเขา

“ไม่ต้องทำงานประจำ, ไม่ต้องการความมั่นคง, ไม่ต้องให้ใครหน้าไหนมายอมรับสดุดี, ไม่ต้องรีบมีบ้านก่อนอายุ 30 เหมือนที่พวกนายทุนเป่าหูให้เฝ้าฝันถึง” สำหรับแจ็ค เครูแอ็ก เขาต้องการเพียงมิตรภาพ และการเดินทาง

แจ็ค เครูแอ็ก คือนักเขียนหัวขบถที่แหวกขนบการเขียนทุกรูปแบบ เขาใช้ภาษาที่มีความเป็นส่วนตัวสูง และมีลีลาเฉพาะตัวในการเขียนที่เรียกว่า “กระแสสำนึกฉับพลัน” ซึ่งพรั่งพรูออกมาจากความทรงจำของผู้เขียน ต่อเหตุการณ์การเดินทางรอบอเมริกาของเขา กับเพื่อนซี้ที่ชื่อว่า ‘นีล แคสซาดี’ ดังนั้นงานเขียน  On The Road จึงไม่มีโครงสร้าง ไม่มีหักมุม  มันทำให้คนอ่านวางใจที่จะอ่านมัน เหมือนอ่านบันทึกของเพื่อนสักคน ที่เขียนแบบปอกหมดเปลือก

เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นในปี 1947 เมื่อแจ็ค เครูแอ็ก ต้องการออกเดินทางจากนิวยอร์กไปเมืองเดนเวอร์ เมืองที่เพื่อน ๆ ของพวกเขาอาศัยอยู่ รวมทั้งนีล แคสซาดี ด้วยเงินห้าสิบดอลลาร์ที่เขามี เขาจึงต้องวิธีการโบกรถไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะไปถึงเมืองเดนเวอร์ และในที่สุดเขาก็เดินทางไปถึงและเจอนีล เพื่อนซี้ของเขาเจ้าของฉายา “เทพเจ้าแห่งความเสเพล”

แจ็คและนีลตัดสินใจเดินทางท่องอเมริกาด้วยกันต่อ ด้วยรถบุโรทั่งของนีล สำหรับแจ็คเขารู้อยู่แก่ใจดีว่านีล ไม่ใช่คนดีนัก เขาเป็นคนที่พร้อมจะทำเรื่องเลวร้ายได้เสมอ เพราะความบ้าระห่ำ และประสบการณ์อันเลวร้ายในวัยเด็ก มันหล่อหลอมให้เขากลายเป็นคนเช่นนี้ แต่แจ็คก็นับถือนีล ทั้งในฐานะเพื่อนและน้องชาย

“ฉันเคยเป็นเด็กเวรพวกนั้น เคยขโมยรถ เพราะอยากจะให้ตัวเองเป็นที่สนใจของทุกคน ให้ตัวเองมีที่ยืน แต่ทั้งหมดก็ไม่ใช่ความผิดใคร  เราต่างผ่านช่วงเวลาที่ยังเป็นเด็ก” – นีล แคสซาดี

ตอนที่ผมอ่าน On The Road จบ มันทำให้ผมครุ่นคิดถึงเรื่องของมิตรภาพ เป็นอันดับแรก ผมพบว่ามันมีความหมายไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการเดินทางแสวงหาตัวตนทั้งหมดในเล่ม

ในชีวิตผมนับว่าการได้พบเจอกับมิตรแท้สักคน เป็นเรื่องที่วิเศษยิ่ง On The Road ทำให้ผมคิดถึงคืนวันบ้า ๆ บอ ๆ  ร่วมกับผองเพื่อนในวัยรุ่น ที่มันมักจะบอกว่า “เอาเลยเพื่อนทุกอย่างที่นายทำมันยอดเยี่ยมอยู่แล้ว” ซึ่งถึงแม้มันจะบรมห่วยก็ตามที 

ถ้าสำหรับแจ็คเขามีนีลเป็นเพื่อนซี้ที่สุด สำหรับผมมันทำให้นึกถึงเพื่อนคนหนึ่ง ผมเจอหน้ามันมาตั้งแต่อนุบาล 1 แต่ไม่มีความพิศวาสอยากเป็นเพื่อนกับมันแม้สักนิด 

แต่ก็นั่นแหละ เรามักได้เพื่อนสนิท จากคนที่เราไม่ค่อยถูกชะตาสักเท่าไหร่ จนแล้วจนรอด ผมกลับได้มาคุยกับมันตอนกำลังจะเรียนจบ ป.6 และจุดเริ่มต้นมิตรภาพระหว่างผมกับมัน นับจากนั้นก็เหมือนเส้นทางที่ไม่มีวันจบ 

จนถึงวันนี้เราทั้ง 2 ยังเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน แม้เราจะเลือกคนละเส้นทางเดินของชีวิต แต่สุดท้ายมิตรภาพระหว่างเราสองคน ก็จะนำพาให้กลับมาเจอกันอีกครั้ง พูดคุยรำลึกความหลัง บทสนทนาไม่เคยมีสาระใด ๆ แต่กับเติมพลังให้เราอย่างที่ไม่สามารถหาบทสนทนาใดมาทดแทนได้ ก่อนจะแยกย้ายไปตามเส้นทางเดินของแต่ละคนอีกครั้ง…แยกย้ายเพื่อรอวันกลับมา 

“เส้นทางของนายคืออะไรวะเพื่อน เส้นทางที่ศักดิ์สิทธิ์ เส้นทางที่บ้าบอ เส้นทางสายรุ้ง เส้นทางที่เกรี้ยวกราด มันมีเส้นทางสำหรับทุกคน อยู่ทุกที่ไม่ว่าทางไหนและที่ไหนที่ใครจะอยู่อย่างไร” -นีล แคสซาดี

เมื่ออ่าน On The Road ไปจนถึงช่วงกลางเนื้อเรื่อง แจ็คค่อย ๆ พาผู้อ่านไปรู้จักกับนีลมากขึ้น ผ่านเรื่องราวการเดินทางของ 2 สหาย ที่การเดินทางของพวกเขามักทุลักทุเล เส้นทางที่ทอดยาวไม่เห็นจุดจบ มันกลับทำให้เราเข้าใจในความเป็นนีลมากขึ้น มันทำให้เราตระหนักได้ว่า คนทุกคนล้วนมีเหตุผล  และเส้นทางเดินชีวิตของแต่ละคนนั้นล้วนแตกต่างกัน แต่สุดท้ายอย่างที่นีลกล่าว มันมีเส้นทางสำหรับทุกคน 

On The Road พยายามบอกเราว่าชีวิตยังมีอะไรให้ทำอีกมากมาย มีโลกที่กว้างใหญ่เกินกว่าที่จะให้คนทุกคนใช้ชีวิตในแบบแผนเดียวกัน บางคนออกเดินทางเพื่อเขียนหนังสือ บางคนออกเดินทางเพื่อหาความรัก บางคนออกเดินทางเพื่อเดินทาง เพราะคำตอบรออยู่ระหว่างทาง

และจริง ๆ แล้วเราไม่ได้ต้องการการเดินทางที่วิเศษวิโสใด ๆ เลย

การเดินทางของแจ็คในเรื่อง ก็ไม่เฉียดใกล้ความวิเศษสุขใด ๆ ทั้งสิ้น บางเวลาเขาต้องอดข้าวถึง 3 วัน เพราะไม่มีเงินติดตัว บางคืนก็ไม่สามารถหารถโบกได้ จึงต้องนอนตามข้างทาง

แก่นของมันคงไม่ได้อยู่ที่การเชิญชวนคนให้มาใช้ชีวิตลำบาก เพราะชีวิตของแจ็ค แม้ต้องการร่อนเร่กลายเป็นคนพเนจร เขาก็ยังอยู่ภายใต้สังคม ที่มันทำให้เขามั่นใจได้ว่า สุดท้ายเขาจะมีงานทำ หรือไม่อดตาย ต่อให้เขาจะต่อต้านสังคมอเมริกาในยุคนั้นเช่นไร แต่ก็เป็นเพราะสังคมแบบอเมริกา ที่หล่อหลอม ความเป็นเขาและสร้างชื่อให้แก่เขา แม้ตัวเขานั้นจะตายไปตั้งแต่ปี ค.ศ. 1969

แต่ในอีกบริบทสังคม กับแตกต่างกันออกไป ผู้คนไม่จำเป็นต้องแสวงหาความลำบาก ด้วยการออกเดินทาง เพราะมีความเหลื่อมล้ำซ่อนอยู่ แทบทุกหัวระแหง ที่ทุกคนต่างดิ้นรนตะเกียกตะกายกันสุดชีวิต เพื่อที่จะคว้าที่ยืนในสังคมที่สูงขึ้น บางทีอาจจะไม่ใช่เพราะค่านิยมของสังคมก็ได้ แต่ทุกคนต่างต้องทำเพื่อเอาตัวเองให้รอด  มิหนำซ้ำการออกมาเรียกร้องขอชีวิตที่ดีกว่า กลับถูกตอบแทนด้วยความรุนแรง และการกดขี่ ให้พวกเขายอมรับในชะตากรรมของชีวิต และอาศัยศาสนาเป็นเครื่องมือ โทษว่ามันคือเรื่องของเวรกรรม

การเดินทางใน On the Road ทำให้พวกเขาต่างเติบโต ระหว่างเส้นทางอันยาวไกล มันทำให้พวกเขาได้มีโอกาสสำรวจความคิดกันอยู่ตลอดเวลา ผ่านการพูดคุยหลังพวงมาลัย ผ่านการครุ่นคิดในยามขับรถผ่านเส้นทางป่าเขา ในรัตติกาล ผ่านเรื่องราวเลวทรามที่พวกเขาได้ทำ ที่วันหนึ่งมันกลายเป็นบทเรียนให้พวกเขาไม่หวนกลับไปทำซ้ำอีก การเดินทางเปิดโอกาสให้พวกเขาสำรวจความรู้สึก เป็นค่าแรงตอบแทนระหว่างการทำงานเดินทาง

“เรารู้จักชีวิตดีแจ็ค ตอนนี้เราต่างแก่ลงเรื่อย ๆ และเราก็รู้ถึงหลายสิ่งหลายอย่าง เรื่องที่นายพูดถึงครอบครัวของนายฉันเข้าใจดี ฉันสำรวจความรู้สึกของฉันเสมอ”

ในขณะนี้ที่สังคมส่วนใหญ่ พยายามให้เราสำรวจความรู้สึกตัวเองให้น้อยที่สุด ผ่านสูตรสำเร็จแบบแผนชีวิต ที่แทบไร้รอยต่อให้เราได้พักหายใจ เราเรียนจบมาด้วยการถูกย้ำว่า ต้องหางานทำให้ได้ ไต่เต้า ทะเยอทะยาน เพื่อไปให้ถึงจุดหมายปลายทางของคำว่าสำเร็จ แต่แล้วมันกับไม่เคยเปิดโอกาสให้เราได้สำรวจความรู้สึกตัวเอง แบบแผนของสังคมพรากจิตวิญญาณภายในจนแทบหมดสิ้น มิหนำซ้ำบางสังคมมันยังเป็นกรงขัง ไม่ให้เราได้ครุ่นคิดนำพาจิตวิญญาณลงสู่ท้องถนน อย่างอิสรเสรี

ทุกการเดินทางย่อมมีจุดจบ การเดินทางของ แจ็คและนีล กินเวลายาวนานถึง 2 ปี มันมีทั้งช่วงที่ สุข ทุกข์ แยกห่าง ผิดใจ แต่สุดท้ายท้องถนนกลับนำพาพวกเขากลับมาเจอกัน และร่วมทางเดินด้วยกันต่อ

“ผู้คนต่างเปลี่ยนไปเพื่อน นั่นคือสิ่งที่นายต้องรู้ ฉันหวังว่านายกับฉันคงจะไม่เปลี่ยนไปนะ เรารู้ดีเพื่อน เรารู้กันดี” นีลกล่าวกับแจ็คในช่วงก่อนสิ้นสุดการเดินทาง

ตัวแทนระหว่างมิตรภาพของคนทั้งสองคือท้องถนน  เราทุกคนไม่ต่างจากแจ็คและนีล เราต่างต้องการตัวแทนอะไรสักสิ่ง เพื่อเชื่อมเราเข้าไว้ด้วยกัน แนวคิด อุดมการณ์ การงาน รสนิยม หรือแม้กระทั่งความรัก และเมื่อวันใดที่ตัวแทนเหล่านี้สิ้นสุดลง หลายครั้งมิตรภาพก็เจือจางลงไปตามกาลเวลา แต่มิตรภาพนั้นไม่เคยหายไป มันย้ายตัวเองจากความจริงไปอยู่แทนที่ในความทรงจำ แล้วในชีวิตนี้อะไรจะมีคุณค่าไปกว่าความทรงจำ

“ลุยเลยพวก!” นีล กล่าวกับแจ็คในคืนหนึ่งของการเดินทางที่เขาต้องอาศัยหลับนอนอยู่บนสนามหญ้าของใครสักคน

หนังสือ: On the Road: the Original Scroll
ผู้เขียน: Jack Kerouac
ผู้แปล: ภู่มณี ศิริพรไพบูลย์
สำนักพิมพ์:  Lighthouse Publishing

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน) ขึ้นไว้บนเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี