ยากที่สุดของสื่อทางเลือก ชายขอบของสื่อมวลชน - Decode
Reading Time: 2 minutes

ขยายประเด็น

นวลน้อย ธรรมเสถียร

มินดานิวส์ สื่อทางเลือกไม่ใช่แหล่งทำมาหาเลี้ยงชีพ

หลายปีมาแล้วในช่วงที่ความขัดแย้งภาคใต้ ทำให้วงการสื่อไทยต้องปรับตัวกันอย่างหนัก เพราะอยู่ดี ๆ ต้องรับมือกับข่าวความขัดแย้งที่แสดงออกอย่างรุนแรง ถึงขั้นพลเรือนที่ไม่ติดอาวุธต้องเสียชีวิต  ครั้งหนึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว เคยมีการจัดงานเสวนาสื่อ และมีนักข่าวที่เป็นช่างภาพชาวฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นตัวแทนของสื่อในมินดาเนา (เกาะแห่งหนึ่ง ในหมู่เกาะฟิลิปปินส์) ได้เดินทางไปร่วมงานเสวนาดังกล่าวในปัตตานี   

เขาเป็นตัวแทนของสื่อรายเล็ก ๆ ชื่อว่า “มินดานิวส์” ซึ่งรายงานเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในมินดาเนา เป็นสื่อประเภทที่ในปัจจุบันเราเรียกกันว่า “สื่อโซเชียล” กล่าวคือกลุ่มที่นำเสนอข่าวสารข้อมูล โดยอาศัยเฟซบุ๊กเป็นแพลตฟอร์มหลัก

ตัวแทนจาดมินดานิวส์เล่าว่า คนทำมินดานิวส์นั้นไม่ได้เป็นคนหน้าใหม่ในวงการแต่อย่างใด แต่เป็นสื่อที่เกิดจากการรวมตัวกันของนักข่าว และคนทำงานสื่อหลายคนที่ทำข่าวความขัดแย้งในมินดาเนา ต้นสังกัดของพวกเขาส่วนใหญ่เป็น “สื่อหลัก” นั่นเอง 

แต่คนเหล่านั้นนำเสนอข้อมูลนานเข้า ก็พบจุดบอดว่าพื้นที่ในสื่อของพวกเขา มีข้อจำกัดสำหรับรายละเอียดหรือเรื่องราวหลายอย่าง ที่เกี่ยวกับความขัดแย้งในมินดาเนา ทั้ง ๆ ที่เป็นประเด็นใหญ่และสังคมควรรับรู้ แต่หลายสิ่งหลายอย่างไม่ได้พื้นที่ข่าว  หลังจากอึดอัดใจอยู่เนิ่นนาน ในที่สุดพวกเขาหลายคนจึงตกลงใจรวมตัวกันเป็นกลุ่ม เอาวัตถุดิบที่มีซึ่งสื่อของตัวเองไม่ใช้นั่นเอง ไปนำเสนอออกทางเพจที่ตั้งขึ้นมาใหม่   

มินดาเนานั้นเป็นพื้นที่ที่มีความขัดแย้งซับซ้อนและทับซ้อนกันหลายเรื่อง ทั้งเรื่องของการต่อสู้เพื่อพื้นที่ปกครองตนเองโดยมุสลิมโมโรภายใต้ชื่อกลุ่มต่าง ๆ ในบางส่วนยังมีการต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งต้องถือว่าเป็นการต่อสู้ที่ยาวนานกว่าห้าสิบปี ทั้งนี้ยังไม่นับความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างนักการเมืองท้องถิ่น ความขัดแย้งระหว่างตระกูลที่มีพื้นที่อิทธิพลแข่งขันกันเอง และมักลงเอยด้วยการสังหารกันดุเดือด ไม่แพ้การปะทะกันของกลุ่มต่อต้านกับทหารรัฐบาล 

การสังหารหมู่ 58 ศพ ที่คนส่วนใหญ่เป็นนักข่าว ที่เมืองอัมปาตวนเมื่อปี 2009 ก็เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งที่ขย่มมินดาเนาเรื่อยมา ยังมีความขัดแย้งใหม่ ๆ เช่นเมื่อปี 2017 ก็มีกลุ่มในพื้นที่ที่มีสายสัมพันธ์กับไอซิส ยึดเมืองชื่อมาราวีจนเกิดการสู้รบกับทหารรัฐบาลอยู่ร่วมห้าเดือน ผลของต่อสู้กันส่วนสำคัญของเมืองถูกถล่ม จนต้องบูรณะกันแม้กระทั่งถึงปัจจุบันก็เชื่อว่ายังไม่แล้วเสร็จดี  

เรื่องราวมากหลายเหล่านี้อาจเป็นไปได้ว่า ทำให้มินดาเนาจำเป็นต้องมีพื้นที่การสื่อสารพิเศษ ที่ต้องเจาะไปที่พื้นที่หรือเฉพาะเรื่องราว ในช่วงที่ความขัดแย้งรุนแรง มินดานิวส์เป็นแหล่งข้อมูลที่ถือว่าน่าสนใจอย่างมาก  แต่สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนและแน่นอนก็คือว่า สื่ออย่างมินดานิวส์ไม่ใช่แหล่งทำมาหาเลี้ยงชีพ แต่เป็นที่ปล่อยของ สำหรับคนที่คิดว่าอยากให้สาธารณะรับรู้ และมีส่วนในการแก้ปัญหาสำคัญในประเทศตน 

“ดราม่า” แย่งชิงพื้นที่ข่าวที่มีอยู่อย่างจำกัด

ในเมืองไทยก็มีคนที่ต้องการพื้นที่การสื่อสารแบบเดียวกันนี้เช่นนี้  ต้องยอมรับว่า มีนักข่าวที่มีสังกัดจำนวนไม่น้อยอึดอัดใจกับข่าวบางข่าวที่พวกเขาทำแต่ไม่ได้พื้นที่อย่างที่อยากให้เป็น  หรือที่จริงแล้วอาจจะมากไปกว่านั้น อาจจะพูดได้ด้วยซ้ำว่า มีนักข่าวจำนวนไม่น้อย ไม่ได้โอกาสที่จะได้ทำข่าวที่อยากทำ หรือคิดว่าควรจะได้ทำ 

สื่อหลักนั้นเป็นสื่อที่อยู่ได้ด้วยความสามารถในเชิงธุรกิจ  แน่นอนว่าภายใต้เงื่อนไขนี้ สิ่งที่ผู้เสพข่าวให้ความสนใจถือเป็นตัวกำหนดรายได้ของสื่อ และแม้ว่าสื่อจะพยายามแค่ไหน ก็ต้องยอมรับว่าข่าวสำคัญหลายเรื่อง ไม่ใช่สิ่งที่คุ้มค่าในการลงทุนในเชิงธุรกิจข่าว เนื่องจากคนเสพข่าวนั้น ๆ เป็นคนกลุ่มเล็ก 

ข่าวความขัดแย้งที่ซับซ้อนลงลึกไม่หวือหวาก็เป็นส่วนหนึ่ง ข่าวความขัดแย้งในสามจังหวัดภาคใต้ มีลักษณะหลายอย่างเช่นนี้ คือมีความซับซ้อนอยู่ภายใน แต่ก็มีความ “ดราม่า” เคลือบเป็นเปลือก  สิ่งที่เรียกความฮือฮาได้กระแสความสนใจ มักจะเป็นสิ่งที่ดราม่า เช่นมีความรุนแรงเป็นองค์ประกอบ แม้แต่ในบรรดาข่าวความรุนแรงด้วยกัน บางครั้งข่าวความรุนแรงที่ไม่ “มากพอ” ก็อาจจะยังไม่เรียกคนอ่านหรือคนดูจำนวนมากได้ ในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งที่มีการเข่นฆ่าสังหารกันเป็นประจำ 

สิ่งที่จะทำให้กลายเป็นข่าวสำคัญได้บางครั้ง มันคือความรุนแรงระดับที่มากขึ้นกว่าเดิม 

บรรณาธิการข่าวนสพ.รายวัน ฉบับหนึ่งในกรุงเทพฯ เคยยอมรับกับผู้เขียนว่า ช่วงที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นถี่ยิบเป็นรายวันนั้น ข่าวคนตายหนึ่งหรือสองคนมักจะถูกโยกไปอยู่หน้าหลัง ๆ เพราะว่ามัน “ไม่มีอะไรใหม่” ในเชิงข่าว แน่นอนว่ายังมีอีกหลายเรื่องที่เป็นองค์ประกอบ ทำให้คุณค่าความเป็นข่าวของเรื่องบางเรื่องมีน้อยกว่าเรื่องอื่นในเวลานั้น 

แต่เหตุผลข้อนี้ บ่งชี้ความสำคัญของลักษณะดราม่าของข่าวที่ทำให้ได้พื้นที่อย่างสำคัญ ขณะที่การอธิบายความซับซ้อนที่นิ่งเงียบงันอยู่ภายใน เป็นเรื่องที่ต้องใช้ความพยายาม หากคนทำมือไม่ถึงยิ่งมีโอกาสผิดพลาดได้มาก แถมไม่ดราม่าไม่เรียกกระแส เทียบกันแล้ว ทั้งความยากง่าย ต้นทุน และผลลัพธ์ล้วนทำให้ตัดสินได้ไม่ยาก แม้จะฟังดูโหดร้ายแต่นั่นก็เป็นแรงกดดันของคนทำสื่อ แม้ว่าในเชิงการทำงานจะมีการผลิตงานเชิงลึกกันไม่น้อย แต่ก็เช่นเดียวกันกับกรณีมินดาเนา ความขัดแย้งในภาคใต้ของไทย ต้องการสื่อที่อุทิศพื้นที่ให้กับมันอย่างเต็มที่เช่นกัน  

ตัวอย่างอีกเรื่องที่พอจะมองเห็นได้คือ เรื่องคดีกับกระบวนการยุติธรรม คดีสำคัญหลายคดีที่เป็นคดีความมั่นคงในสามจังหวัดภาคใต้ ตกหล่นหายไปจากพื้นที่สื่ออย่างชัดเจนมาก ในช่วงเวลาหลังปี 2547 มีการดำเนินคดีจนยอดสะสมเพิ่มจำนวนมาก จนถึงขั้นที่ว่าในบางจังหวะเรียกว่าหลายพันคดี 

แต่มีเพียงคดีใหญ่ ๆ ที่สาธารณชนให้ความสนใจเท่านั้นที่ได้พื้นที่ข่าว ส่วนหนึ่งเพราะกระบวนการดำเนินคดีมีรายละเอียดที่ต้องใช้เวลา แต่กลับมีความคืบหน้าน้อยในแต่ละครั้งที่ขึ้นศาล นักข่าวอาจใช้เวลาที่ศาลหมดไปหลายชั่วโมงโดยที่ไม่มีความคืบหน้าของคดีนั้น ๆ ให้กับผู้อ่าน สภาพเช่นนี้ทำให้สื่อจำนวนมาก เลือกรายงานเฉพาะคดีดังที่ผู้คนสนใจ  ก็ส่งผลให้บางคดีที่มีนัยทางด้านการต่อสู้ทางกฎหมาย หรือคดีที่เป็นจุดหักเหของวิธีการพิจารณาของศาล ฯลฯ ไม่ปรากฏตัวบนพื้นที่ข่าว   

ความรุ่มรวยในการสื่อสาร และการเข้ามาของสื่อทางเลือก

ในช่วงเวลาปัจจุบันที่มีการต่อสู้อย่างดุเดือดบนท้องถนนในกรุงเทพฯ โชคดีที่องค์กรทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ให้ความสนใจกับการสื่อสารเรื่องราวในกระบวนการยุติธรรม เราจะเห็นได้ว่าแพลตฟอร์มของนักกฎหมายหรือนักสิทธิมนุษยชน ให้ข้อมูลเรื่องราวของกระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นประจำสม่ำเสมอ ในขณะที่คนจำนวนมากที่สนใจเรื่องของการต่อสู้ทางการเมือง ก็ตามติดการดำเนินคดีอย่างที่เรียกได้ว่าใกล้ชิด มากกว่าการติดตามคดีความมั่นคงในภาคใต้หลายเท่า 

แต่กระนั้นก็ตาม ก็ไม่ได้หมายความว่า คดีทุกคดีจะเป็นข่าว แม้แต่คดีที่เรียกกันว่ากลุ่มคดี 112 ที่ผู้คนจับตา คนที่นำเสนอเรื่องราวในกระบวนการยุติธรรมก็ยังคงมีโจทย์เดิม คือจะทำอย่างไรให้สังคมสนใจประเด็นเหล่านี้มากขึ้น  

ยังมีอีกหลายเรื่องที่เป็นเช่นนี้ ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจ เมื่อโอกาสผ่านเข้ามาด้วยการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และโลกโซเชียลมีเดีย มีแพลตฟอร์มที่ต้นทุนต่ำ แต่ทำให้ผู้ผลิตคอนเทนต์สามารถเข้าถึงผู้รับข่าวสารได้ง่ายขึ้น  ผู้คนที่ต้องการให้เรื่องของตนได้รับความสนใจจากสังคม จึงพยายามนำเสนอเรื่องราวของตนเองจนแทบจะดูล้นหลามก็ว่าได้  

บางคนแทบไม่ได้สนใจด้วยซ้ำว่าจะมีคนอ่านสักกี่มากน้อย เหมือนกับว่า การได้นำเสนอถือเป็นเป้าหมายสูงสุดของพวกเขาแล้ว มันทำให้มีคนที่ใช้ช่องทางโซเชียลมีเดีย นำเสนอเรื่องราวที่เฉพาะด้าน มากไปกว่าที่สื่อหลักทำ

คนที่มองเห็นความสนใจของกลุ่มคนกับประเด็น ที่เป็นเรื่องอาณาบริเวณเช่น เรื่องภาคอีสาน สามจังหวัดภาคใต้ ภาคเหนือ หรือมองเห็นความสนใจต่อปริมณฑลข่าวในเชิงประเด็น เช่นคอนเทนต์ภายใต้ปัญหาหรือหัวข้ออันใดอันหนึ่งผุดขึ้นมากมาย เรื่องราวของประวัติศาสตร์ ์ สิ่งแวดล้อม การเมือง สุขภาพ บางหัวข้ออาจจะแคบ บางเรื่องอาจจะกว้าง  เราได้เห็นการจำลองภาพของสื่อพื้นที่ใหญ่ระดับประเทศ ลงสู่พื้นที่ที่เล็กระดับภูมิภาคหรือจังหวัด 

ในขณะที่อีกด้าน เราได้เห็นการรายงานของเพจที่เน้นเฉพาะเรื่องที่ข้ามขอบเขตพื้นที่ แต่ทั้งหมดนี้เสริมความหลากหลายให้กับความพยายามแสวงหาความรู้ของสังคมในเรื่องนั้นๆ มากขึ้น เชื่อมโยงผู้คนที่สนใจในเรื่องเดียวกันมากขึ้น การก้าวเข้ามาบริหารจัดการพื้นที่และวิธีการนำเสนอเอง ทำให้มีเรื่องต้องเรียนรู้กันไป ในช่วงหนึ่งเราเห็นความพยายามที่จะเลียนแบบสื่อหลักในแทบทุกเรื่อง เรื่องวิธีการนำเสนอ จริยธรรมสื่อ ฯลฯ   

แต่การยึดโมเดลมีข้อจำกัด เป็นที่รู้กันว่าสื่อดั้งเดิมหรือสื่อหลักเอง ล้วนแล้วแต่เผชิญความท้าทายจากการเข้ามาของโลกอินเทอร์เน็ต ทำให้พวกเขาต้องปรับตัวกันขนานใหญ่ ในกระบวนการปรับตัว รวมไปถึงการทำให้ตัวเล็กลงซึ่งก็ทำให้นักข่าวหลายคนที่มีทั้งประสบการณ์และฝีมือตกงาน หรือไม่ก็ต้องหันไปทำอาชีพอื่นก็หลายคน  

ในระหว่างนี้นักข่าวบางคนทิ้งสังกัดเดิม เพื่อไปเปิดพื้นที่ใหม่ด้วยทีมงานที่เล็กกว่า ใช้เงินน้อยกว่า บางรายมีลักษณะกึ่งสื่อกึ่งอาสาสมัคร แน่นอนว่าการไหลเวียนของคนภายใต้ความท้าทายปัจจุบัน นำมาซึ่งวิธีคิดใหม่ ๆ และมันทำให้วงการสื่อเปลี่ยนไป ในขณะที่สื่อมีปัญหาเรื่องความอยู่รอด แต่อีกด้านก็อาจจะเรียกได้ว่า เรามีความรุ่มรวยในเรื่องของการสื่อสารประเด็น จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลายอย่างไม่เคยมีมาก่อน 

ชายขอบของสื่อมวลชน

มีอีกหลายคนที่ไม่เคยทำงานข่าวและก้าวเข้ามาทำสื่อเล็ก ๆ ใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียเช่นยูทูบ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ เว็บไซต์ ฯลฯ เป็นแพลตฟอร์มในการนำเสนอ เป็นช่องทางที่ทำให้พวกเขามีโอกาสไม่ต่างไปจากสื่อใหญ่ ๆ 

ในความเป็นจริงสื่อทุกสื่อในปัจจุบันต่างใช้โซเชียลมีเดียทั้งสิ้น แต่สำหรับหลายคน คำว่าสื่อโซเชียลยังคงมีความหมายจำเพาะเจาะจงไปที่สื่อรายเล็กที่ใช้ต้นทุนผลิตต่ำ พึ่งพาอินเทอร์เน็ต หรือโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์ม ยิ่งกว่านั้นหลายคนยังคงมองว่าสื่อเหล่านี้เป็นชายขอบของคำว่าสื่อมวลชน  บ้างเห็นว่าสื่อเหล่านี้มีพฤติกรรมไม่รับผิดชอบ กระทั่งมองว่าเป็นผู้ก่อปัญหาเฟคนิวส์ด้วยซ้ำ 

เรื่องแปลกก็คือ เราจะพบว่าหลายครั้งสื่อใหญ่และสื่อหลักเก็บประเด็นและเรื่องราวมาจากโซเชียลมีเดีย ซึ่งก็รวมไปถึง “สื่อโซเชียล” ที่ว่านี้ด้วย ในหลายกรณี หลายเรื่องถูกนำเสนอโดยสื่อรายเล็ก ๆ เหล่านี้ ก่อนที่จะมีสื่อหลักไปนำมาเสนอต่อและกลายเป็นกระแสในเวลาต่อมา 

ในความเป็นจริงแล้วเรื่องนี้ไม่แปลก เพราะสื่อรายเล็ก ๆ เหล่านี้ เป็นสื่อที่อยู่ใกล้ชิดประเด็นเฉพาะทางและเกาะติดประเด็นเหล่านั้น โอกาสที่พวกเขาจะรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นก่อน จึงเป็นเรื่องเป็นไปได้สูง ในวังวนของข้อมูล หลายเรื่องจึงถูกส่งต่อมาจากสื่อรายเล็กเหล่านี้  

ขณะที่สื่อส่วนใหญ่ยังคงดิ้นรน ในเรื่องวิธีทำธุรกิจภายใต้บรรยากาศที่ผู้คนเห็นว่า ข้อมูลข่าวสารเป็นบริการฟรี คนทำสื่อรายเล็กกลับต้องดิ้นรนมากยิ่งกว่า ทีมงานที่ขาดทรัพยากรแทบทุกด้าน ทำให้การติดตามข่าวแบบเกาะติดทำได้แค่จำนวนประเด็นและเรื่องแคบๆเท่านั้น และก็แน่นอนว่า ในเมื่อสื่อรายเล็กส่วนใหญ่เกิดขึ้น เพราะเหตุผลเรื่องการต้องการพื้นที่ให้กับเรื่องราวที่ไม่ค่อยทำเงิน 

การจะสร้างรายได้จากคอนเทนต์ของพวกเขายิ่งยากลำบาก และหลายครั้งเป็นไปไม่ได้ สื่อรายเล็ก ๆ หลายรายจึงทำงานแทบจะกึ่งอาสา ในขณะที่ความคาดหวังที่มีกับพวกเขานั้น ไม่ต่างอะไรไปจากสื่อหลักและสื่อดั้งเดิม 

หลักเกณฑ์ที่ราชการกำหนดเช่น ในการจดทะเบียนสื่อก็ยังคงวางรากฐานจากธุรกิจสื่อรายใหญ่ ซึ่งเพิ่มภาระให้กับสื่อรายเล็ก ๆ ที่สมาชิกจะต้องทำงานกันตัวเป็นเกลียว

หลายครั้งวาทกรรมเรื่องสื่อ จรรยาบรรณ ถูกนำมาใช้เพื่อจัดการสื่อเหล่านี้เรื่อยมา หน่วยราชการบางหน่วยใช้ข้ออ้างเรื่องว่า สื่อต้องเสนอข่าวที่สมดุลและเรียกร้องให้สื่อ เปิดพื้นที่ให้ตัวเองในทุกเรื่องราว ทั้งที่บางเรื่องไม่มีความจำเป็นเนื่องจากฝ่ายตนเองไม่ได้เป็นคู่กรณี   

หลายคนเชื่อว่าสื่อใหญ่ที่อยู่มานานมีคอนเนคชั่นและมีที่ทางที่ชัดเจน ในขณะที่สื่อรายเล็กมักถูกโยนข้อหาเสมอว่าไม่ใช่กลุ่มที่มือโปร กระพือข่าวเกินจริงเพราะต้องการยอดไลค์ยอดแชร์ พร้อมจะทำลายแหล่งข่าว หรือไม่ก็สร้างเฟคนิวส์  ผู้เขียนประสบเหตุการณ์ด้วยตนเองมาแล้วว่า ข่าวในลักษณะคล้ายกัน สื่อใหญ่สามารถนำเสนอได้ แต่เมื่อสื่อโซเชียลมีเดียและรายเล็กทำ จะตกเป็นจำเลยสังคมโดยทันที โดยเฉพาะจากผู้คนที่เป็นกลุ่มอิทธิพลทางสังคม ที่ต้องการจะส่งสัญญาณว่านี่คือสิ่งที่พวกเขาไม่ต้องการให้สื่อทำ  

ในปัจจุบันยังมีวิธีการอื่นอีกที่แยบยลหลายอย่างที่ถูกนำมาใช้  มีเพจที่นำเสนอข้อมูลเรื่องราวแบบเกาะติด ของกลุ่มประชาชนอำเภอจะนะในจังหวัดสงขลา ที่ต่อต้านการทำนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จนถูกเฟซบุ๊กปิดเพจครั้งแล้วครั้งเล่าด้วยเหตุผลว่าเพจนี้ดำเนินการผิดกฎเกณฑ์บางประการของเฟซบุ๊ก เจ้าของเพจเชื่อว่าผู้ที่สูญเสียจากการรายงานของเขา ระดมกำลังกันรายงาน หรือ report กับเฟซบุ๊กทำให้แพลตฟอร์มนี้สั่งปิดเพจของเขาหลายต่อหลายครั้ง ทั้งที่มีผู้ติดตามเป็นจำนวนมาก 

ในระบบที่ไม่รับรองเสรีภาพในการแสดงออก สื่อเป็นเป้าหมายได้เสมอ แต่ในสังคมที่ใช้ระบบอยู่กันแบบแทบจะเป็นก๊กเป็นเหล่า คนที่อ่อนแอกว่ามักตกเป็นตัวอย่างของการเชือดไก่ให้ลิงดู เนื่องจากกลุ่มสื่อรายเล็กรายน้อยนั้นไม่มีองค์กรช่วยปกป้อง แม้แต่องค์กรที่มีอำนาจในเรื่องการหน้าที่ดูแลในเรื่องสิทธิ ก็ไม่ได้ให้ความสนใจสื่อเหล่านี้แต่อย่างใด  

เปิดพื้นที่ และให้ผู้บริโภค(ข่าว)เป็นคนตัดสิน

หลายคนมีมายาคติว่าสื่อนั้นเป็นสิ่งที่ทำแล้วได้เงินอย่างง่ายดาย อันที่จริงคนที่พยายาม “ทำสื่อ” หลายรายต่างล้มลุกคลุกคลานกันมาแล้ว บางคนต้องควักเนื้อตัวเองหรือไม่ก็ไปทำงานอื่น เพื่อเอารายได้มาค้ำจุนกิจกรรมการทำสื่อของตัวเอง โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่การหารายได้ตอบแทน ในการทำสื่อเป็นเรื่องยากมาก คนทำสื่อ ซึ่งในที่นี้หมายถึงผู้ผลิตคอนเทนต์จำนวนหลายราย ใช้วิธีไปหาเงินจากอาชีพอื่นเพื่อจะมาผลิตสิ่งที่ตัวเองต้องการ สื่อรายหนึ่งในภาคใต้ทำรายได้ให้ตัวเองด้วยวิธีทำงานกับชาวบ้านในเรื่องการเกษตร ห่างไกลจากกิจกรรมสื่อที่พวกเขาผลิตอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ 

การทำสื่อมันจึงไม่ใช่เรื่องทำเงินอย่างที่เข้าใจกัน ผู้เขียนเองก็เคยต้องไปรับจ้างทำงานอย่างอื่น เพื่อจะเอาเงินไปผลิตคอนเทนต์สื่อ มันจึงเป็นเรื่องตลกร้าย ที่จะมีคนเชื่อว่าคนทำสื่อรายเล็กรายน้อยนั้นหารายได้ได้ง่าย ๆ จากสิ่งที่พวกเขาทำ 

การมีสื่อรายย่อยรายเล็กนั้นเป็นความสวยงามของระบบ และเป็นการส่งเสริมให้ผู้คนได้ส่งเสียงอย่างที่พวกเขาต้องการ ในขณะที่กลุ่มผู้เสพข้อมูลที่มีความสนใจเฉพาะทาง ก็มีคอนเทนต์ให้ติดตามหรือใช้ได้มากขึ้น เรื่องของข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ด้านเดียว หรือแม้แต่การ “ปั่น” ข้อมูล อย่างที่มีผู้เป็นห่วงนั้น อันที่จริงเป็นเรื่องของการทำงานที่เราจะเริ่มเห็นกันว่าในที่สุด กลุ่มคนทำจะปรับตัวในที่สุด 

เพราะผู้บริโภคข่าวสารที่ได้เสพข้อมูลที่หลากหลาย จะได้เปรียบเทียบแหล่งข้อมูลต่าง ๆ และเมื่อมาถึงจุดหนึ่งจะรู้ว่าข้อมูลแบบไหน และแหล่งข้อมูลชนิดใดที่เชื่อถือได้ รวมทั้งควรค่าแก่การสนับสนุน  ถ้าเราเปิดโอกาสให้สังคมได้ทดลองและได้เสพข้อมูลข่าวสาร จากหลายแหล่งและหลายแบบ ถึงจุดหนึ่งพวกเขาจะเข้าใจได้ว่าข้อมูลแบบที่เป็นพิษที่แท้นั้นเป็นอย่างไร 

ผู้บริโภคข่าวสารจะเป็นผู้คัดเลือกเอง ในขณะที่การเปิดพื้นที่ ให้เสียงแก่คนที่ต้องการพื้นที่เป็นสิ่งจำเป็น ไม่ว่าสังคมใด ๆ ก็มีความขัดแย้งที่ดราม่า แต่ว่าซึมลึกไม่ได้น้อยหน้าไปกว่ามินดาเนา