สองนักเรียนเลว X สองอาจารย์ ถอดสมการเรียนฟรีถ้วนหน้า พาเด็กกลับห้องเรียน - Decode
Reading Time: 3 minutes

“ถ้า กสทช. นำเงินที่เก็บไว้ไปให้กับบริษัทสตาร์ทอัพผลิตสมาร์ทโฟนหรือแทบเล็ต แล้วแจกให้เด็กในเมืองก็จะอุดช่องว่างของการเข้าไม่ถึงการเรียนออนไลน์ได้ ส่วนเด็กในชนบทอาจต้องเริ่มต้นจากการขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตที่รวดเร็วและครอบคลุมก่อน”– อาจารย์นงเยาว์

“เรียนออนไลน์ไม่จำเป็นต้องสอนผ่านโปรแกรมออนไลน์สด ๆ เสมอไป อาจถ่ายคลิปไว้ให้นักเรียนเข้ามาดู แล้วคาบถัดไปครูมาพูดคุยตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับเนื้อหาในคลิป อย่างนี้ภาระของคุณครูก็จะลดน้อยลง แต่ที่ผ่านมาวิธีการเรียนแทบไม่ถูกออกแบบมาในลักษณะนี้ ผลจึงกลายเป็นว่าแค่เปลี่ยนช่องทางที่เด็กและครูเจอกัน” – อาจารย์เดชรัตน์

ในวันที่รัฐสภากำลังจะลงมติรับหลักการ ร่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ De/code จับเข่าคุยถึงความจำเป็นของข้อเรียกร้องจากแคมเปญหยุดเรียนแต่ละข้อกับ แบม-ธัญชนก คชพัชรินทร์ และ อันนา-อันนา อันนานนท์ สองตัวแทนจากกลุ่มนักเรียนเลว พร้อมกับชวน ศาสตราจารย์ ดร.นงเยาว์ เนาวรัตน์ และ ดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด สองนักการศึกษาไทยร่วมหาคำตอบที่เป็นไปได้ของข้อเรียกเร้องหล่านั้น


5 ข้อเรียกร้องจากเสียงที่จะไม่ทนอีก

“ทำมาหลายวิธีไม่เกิดผล ก็ไม่แน่ใจว่าเขามองว่าเราเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ควรได้รับการศึกษา หรือมองเราเป็นเด็กเหลือขอซึ่งมาขอการศึกษาที่ดีจากเขา”

คือเสียงสะท้อนจาก แบม หนึ่งในแกนนำที่ผลักดันเเคมเปญหยุดเรียนพร้อมกับข้อเรียกร้องที่สำคัญ 5 ข้อ คือ ปรับหลักสูตรให้เหมาะสมกับการเรียนออนไลน์, สร้างช่องทางเยียวยาจิตใจเด็ก, ทำให้การศึกษาฟรีโดยถ้วนหน้า, ช่วยเหลือเด็กที่เข้าไม่ถึงออนไลน์ไม่ให้เสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา และเร่งฉีดวัคซีนให้นักเรียน นักศึกษา และบุคลากรการศึกษา รวมถึงประชาชนทั่วไป

โดยแบม ระบุถึงความจำเป็นที่ต้องปรับหลักสูตรให้เหมาะสมและกระจายอุปกรณ์สำหรับการเรียนออนไลน์ให้ทั่วถึงว่า “ทุกวันนี้เด็กต้องเรียนหลายชั่วโมงในหนึ่งวัน ตื่นมาเรียนตั้งแต่แปดโมงเช้าแล้วเลิกเรียนสี่โมงเย็น บวกกับทำการบ้านอีกสองสามชั่วโมง เป็นลูปเดิม ซึ่งตรงนี้แม้กระทรวงศึกษาธิการจะมีแนวนโยบายให้ลดวิชาเรียนให้เหมาะสมกับสถานการณ์แล้ว แต่เมื่อเป็นแค่แนวนโยบายจึงทำให้หลาย ๆ โรงเรียนไม่ได้ยึดปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ผลคือเด็กก็เป็นผู้รับภาระเหมือนเดิม ตอนนี้ก็มีเสียงจากทั้งนักเรียนและผู้ปกครองว่าการบ้านยังเยอะมาก ปัญหาจึงอยู่ที่ว่ากระทรวงฯ ขยับแบบขอความร่วมมือ แต่ไม่ได้บังคับให้ปฏิบัติจริง ๆ จัง ๆ”

“เมื่อกำหนดให้เด็กเรียนออนไลน์ คนที่เป็นผู้เรียนก็ต้องมีอุปกรณ์เพียงพอ เพราะอย่างน้อยถ้าอุปกรณ์พร้อมเขายังเข้าถึงการศึกษาได้ แต่ถ้าไม่พร้อมเขาอาจหลุดไปเลย ตรงนี้รัฐต้องมีการชดเชยให้ ยิ่งในช่วงเศรษฐกิจเช่นนี้ ใช่ว่าผู้ปกครองทุกคนจะมีความพร้อมในการสนับสนุนทั้งคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต ค่าไฟฟ้า เหล่านี้ล้วนมีต้นทุนที่ต้องจ่าย ส่วนเงิน 2,000 บาท ที่เยียวยาให้นักเรียนก็ยังคงน้อยนักเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายที่ผู้ปกครองของเด็กต้องแบกรับ”


ซึ่งประเด็นของความไม่พร้อมเรื่องอุปกรณ์การเรียน อันนาก็เห็นว่าสะท้อนภาพความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาชัดเจนขึ้น เด็กที่มีความพร้อมอาจไม่รับรู้ปัญหาเลย แต่เด็กที่ไม่มียิ่งตอกย้ำความไม่พร้อมของเขา ซึ่งความเหลื่อมล้ำก็มาจากสวัสดิการอันน้อยนิดของไทยอยู่แล้ว พอโควิดระบาดต้องปรับวิธีเรียน แต่ไม่มีสวัสดิการที่ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับการเรียนออนไลน์อีกด้วย เป็นปัญหาซ้ำปัญหาไปอีกที

“การศึกษาฟรีนี้เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญที่บอกว่าการศึกษาภาคบังคับ 12 ปี ต้องฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น ซึ่งเรายังต้องจ่ายอยู่เลย ทั้งค่าอุปกรณ์ ค่าห้องเรียนพิเศษ ค่าแอร์ ค่าครูต่างชาติ ทำให้เราตั้งคำถามกับนิยามของรัฐว่าการศึกษาฟรีที่รัฐหมายถึงคือห้องเปล่า ๆ กับครูใช่ไหม ?”

ส่วนข้อเรียกร้องที่เกี่ยวกับการเยียวยาจิตใจ อันนาเล่าว่า “เด็กเกือบทุกคนก็หมดไฟกับการเรียนออนไลน์ เพื่อนที่รู้จักก็บอกว่าไม่ไหว ขอเท ไม่อยากเรียน การหานักจิตวิทยาในช่วงนี้จึงสำคัญมาก เพราะจะให้พ่อแม่เป็นที่ปรึกษา ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะความไม่เข้าใจปัญหาด้านการศึกษา แต่เมื่อสำรวจดูจะพบว่า

นักจิตวิทยาในโรงเรียนใหญ่ ๆ มีอยู่แค่ 1-2 คน ซึ่งเมื่อเทียบกับจำนวนเด็กถือว่าน้อยมาก ส่วนโรงเรียนขนาดเล็กหรือในชนบทนี้แทบไม่มีเลย เราจึงมองว่ารัฐต้องจัดหานักจิตวิทยาให้กับแต่ละโรงเรียน”  

สุดท้ายในเรื่องการจัดหาวัคซีน แบมให้ความเห็นว่าเป็นข้อเรียกร้องที่เกิดจากการนั่งคุยกันในวงนักเรียนเลวว่าเรียนออนไลน์แบบไหนดี แต่สุดท้ายพบว่าไม่มีวิธีไหนตอบโจทย์จริง ๆ เพราะการเรียนมันมากกว่าแค่เรื่องการเลกเชอร์ การกลับไปเรียนปกติในห้องเรียนเป็นคำตอบที่พวกเขามองว่าถ้าเกิดขึ้นได้เร็วก็จะยิ่งดี ซึ่งทางออกที่จะไปถึงจุดนั้นคือรัฐควรฉีดวัคซีนที่มีคุณภาพแก่นักเรียน นักศึกษา และบุคลากรทางการศึกษานั่นเอง


ไม่ควรมีเด็กคนไหนหลุดออกจากระบบการศึกษา

6,568 คน คือจำนวนเด็กที่หลุดจากการศึกษาเพราะโรคโควิด-19 ในปีการศึกษา 2564 จากการคาดการณ์ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา 1.8 ล้านคน คือจำนวนของนักเรียนยากจนที่กำลังเสี่ยงจะหลุดจากระบบการศึกษาเนื่องจากภาวะขัดสนเรื่องกำลังทรัพย์ ตัวเลขเหล่านี้ค่อนข้างน่าเป็นห่วงและสะท้อนว่าการศึกษาไทยต้องปฏิรูปให้เอื้อต่อการโอบอุ้มเด็กไว้ในระบบ

ซึ่งต่อประเด็นนี้อาจารย์นงเยาว์ ระบุว่า “เรื่องของค่าใช้จ่ายแอบแฝงและลดค่าธรรมเนียม บางโรงเรียนก็อาจดำเนินการไปแล้วนะคะ แต่คิดว่าแค่นี้เด็กก็ยังหลุดจากระบบการศึกษาได้ ถ้ามองไปยังเด็กทั้งประเทศ สิ่งที่รัฐต้องคิดเพื่อไม่ให้เกิดการหลุดจากระบบการศึกษาในขณะนี้คือต้องเร่งขยายงบประมาณของเด็กกลุ่มเปราะบาง ขณะนี้รัฐบาลให้เงินสนับสนุนงบประมาณกองทุนส่งเสริมความเหลื่อมล้ำประมาณสักแปดแสนราย รายละสามร้อยบาทซึ่งน้อยมาก แต่เพื่อให้เด็กมีศักยภาพเข้ามาสู่สถานศึกษา

เราต้องมีกองทุนพอที่จะครอบคลุมการศึกษาทั้งหมดไม่ใช่แค่ค่าอาหารกลางวัน จึงคิดว่าต้องรีบเพิ่มเงินอุดหนุนเป็นสองหรือสามเท่า”

ด้านอาจารย์เดชรัตน์ มองอีกมุมว่า “เรื่องนักเรียนหลุดออกจากระบบการศึกษามันยังมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อีก ซึ่งแน่นอนบางส่วนอาจจะไม่ได้เป็นความรับผิดชอบของระบบการศึกษาโดยตรง เช่นค่าเดินทาง ค่าที่พักในกรณีที่ต้องอยู่ต่างจังหวัด จึงอาจจะต้องพิจารณาให้มีกองทุนอื่น ๆ เข้ามาช่วย เช่นกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา แล้วจะพบว่าค่าใช้จ่ายที่ยกตัวอย่างมาทั้งสองเรื่องนั้นปรากฏมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ตอนนี้รัฐก็ผลักให้มันเป็นภาระของการกู้ยืมทางการศึกษาทั้งหมดเลย จึงคิดว่านอกจากค่าธรรมเนียมทางการศึกษาแล้ว รัฐบาลน่าจะช่วยดูแลให้ครอบคลุมไปถึงค่าอื่น ๆ ด้วย”


ต้นทุนทางการศึกษาแสนแพง ในภาวะแสนลำบาก

ต่อประเด็นค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาอาจขยายต่อไปได้ว่ายังมีค่าใช้จ่ายแอบแฝงมากมาย ตั้งแต่ค่าชุด กระเป๋า ยูนิฟอร์มโรงเรียน และอื่น ๆ ที่ผู้ปกครองต้องควักกระเป๋าจ่าย และเมื่อต้องเปลี่ยนมาเรียนออนไลน์ก็มีค่าจิปาถะต่าง ๆ เพิ่มเข้ามา เช่นอินเทอร์เน็ต อุปกรณ์การเรียน และค่าไฟฟ้า ตรงนี้เหมือนถ่างระยะของการเข้าถึงการศึกษาให้ไกลขึ้น อาจารย์เดชรัตน์ชวนมองว่าภาวะปัจจุบันไม่สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายเหล่านั้น การมาของโควิดทำให้รายได้ของผู้ปกครองหายไปเยอะบางกรณีหายไปมากกว่าครึ่งหนึ่งและระยะเวลาที่หายค่อนข้างยาวนาน ถ้าจะให้เด็กเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ตามปกติ หนึ่งอาจจะเป็นหน้าที่ของทางกระทรวงศึกษาธิการแต่ว่าในแง่หนึ่งก็ต้องเป็นฝ่ายบริหารอื่น ๆ ช่วยในการกู้วิกฤตการณ์เศรษฐกิจ ทำให้การศึกษาไม่มีค่าใช้จ่ายที่แพง

“ถ้าถามกระทรวงศึกษาฯ โดยตรง เขาก็จะพยายามบอกว่ามันไม่มีค่าใช้จ่ายอะไรมากนัก จึงจำเป็นจะต้องพิจารณาให้ครบถ้วนว่าค่าใช้จ่ายลักษณะแบบไหนที่เกินความจำเป็นไป ซึ่งถ้ามันเกินเลยไปจริง ๆ คำถามคือรัฐบาลจะเป็นผู้จัดให้หรือไม่ก็ต้องตัดออก เช่นถ้าบอกว่าจำเป็นต้องมีชุดนักเรียนสวมไปเรียน รัฐบาลก็ต้องเป็นคนออกค่าใช้จ่ายให้ แต่ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ ก็ต้องให้นักเรียนเป็นผู้เลือกเองว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อ ขณะที่ปัจจุบันมีลักษณะของความจำเป็นแบบที่โรงเรียนบังคับให้จำเป็นโดยที่รัฐบาลไม่รับรู้ว่าจำเป็น เช่นรัฐบาลไม่ได้บอกว่าต้องใช้กระเป๋าแบบนี้แต่โรงเรียนบอกว่าถ้าใช้กระเป๋าแบบอื่นถือว่าผิดระเบียบ ตรงนี้จึงเป็นช่องว่างของความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนกันซึ่งจำเป็นต้องเคลียร์ออกให้หมด”


ด้านอาจารย์นงเยาว์ มองว่า “ถ้าแบ่งเด็กเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกเป็นเด็กในชนบท จะขาดแคลนอุปกรณ์เฉพาะรายอย่างพวกสมาร์ทโฟน โน้ตบุ๊ก แต่ส่วนที่สำคัญไปกว่านั้นคือพื้นที่ ๆ เด็กอยู่ อินเทอร์เน็ตยังเข้าถึงได้ไม่ครอบคลุม ซึ่ง กสทช. เองก็เคยบอกว่าพื้นที่ดังกล่าวมีอยู่ประมาณสี่สิบห้าเปอร์เซ็นต์ของหมู่บ้านในประเทศไทย ถ้าพูดตามสภาพตรงนี้เราก็ต้องยอมรับว่าเด็กที่หลุดไปไม่น้อยในเชิงพื้นที่ อีกกลุ่มคือเด็กเมืองและชานเมือง กลุ่มนี้อาจไม่มีปัญหาเรื่องสัญญาณอินเทอร์เน็ต แต่เพราะยากจนและเปราะบาง พ่อแม่จึงไม่มีเงินที่จะไปซื้อสัญญาณอินเทอร์เน็ตให้ บ้างก็ไม่มีเงินพอที่จะซื้ออุปกรณ์อย่างแท็บเล็ต หรือสมาร์ทโฟนด้วยซ้ำ”

“เรื่องอุปกรณ์การเรียนการสอนและสัญญาณอินเทอร์เน็ตความจริงเรื่องนี้มันควรจะเป็นเรื่องของถาวรไม่ใช่เรื่องเฉพาะช่วงโควิด ก็อยากจะฝากถึงกลุ่มนักเรียนเลวด้วยว่าเรื่องของอุปกรณ์การเรียนนี่ไม่ใช่แค่การเยียวยา แต่มันควรจะเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานของเด็กเพื่อที่จะเข้าถึงการเรียนการสอนในยุคดิจิทัล”

“ทางออกของปัญหานี้ไม่ยากเลย เงินที่เก็บไว้ที่ กสทช. มีจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะที่เก็บจากบริษัทผู้ให้บริการสัญญาณอินเทอร์เน็ตต่าง ๆ  ซึ่งจ่ายไว้ให้ กสทช. นำไปใช้เพิ่มศักยภาพทางการศึกษา ในภาวะเรียนออนไลน์ขณะนี้ ถ้า กสทช. นำเงินดังกล่าวไปให้กับบริษัทสตาร์ทอัพผลิตสมาร์ทโฟนหรือแทบเล็ต แล้วแจกให้เด็กในเมืองก็จะอุดช่องว่างของการไม่ถึงการเรียนออนไลน์ไปได้ส่วนหนึ่ง ขณะที่เด็กในชนบทอาจต้องเริ่มต้นจากการขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตที่รวดเร็วและครอบคลุมก่อน”


เรียนออนไลน์หัวใจไม่ไหว อยากมีใครให้คอยปรึกษา

อาจารย์นงเยาว์ เห็นด้วยว่า “จำเป็นอย่างมากที่ควรมีพื้นที่หรือช่องทางให้เด็กได้ปรึกษาเยียวยาจิตใจ โดยเฉพาะเด็กในช่วงชั้นที่กำลังเปลี่ยนผ่านอย่าง ม.6 จะขึ้นปีหนึ่งหรือ ม.3 จะขึ้น ม.4

เด็กกลุ่มนี้กำลังกังวลกับเป้าหมายที่ไม่แน่นอนของเขาว่าจะก้าวไปตามที่หวังได้ไหมเมื่อต้องเรียนออนไลน์เขาไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือในการเรียน เขากังวลเรื่องการวัดประเมินผล กังวลเรื่องการที่จะไปเรียนที่ใหม่ เขาจึงต้องการที่ปรึกษา ต้องการคนคุย  ซึ่งโปรแกรมเยียวยาจิตใจบางสถานศึกษาก็มีอยู่บ้าง แต่ก็ถือว่าน้อย ยิ่งตอนนี้ทั้งครูและเด็กต้องเรียนที่บ้าน เวลาในการปรึกษาพูดคุยกันก็แทบไม่มีเลย ดิฉันจึงเสนอว่าควรมีนักจิตวิทยาซึ่งอาจจะมาจากโรงพยาบาลหรืออาจจะหาได้จากที่ไหนก็แล้วแต่ที่เป็นอาสาสมัครทั้งหลายมาช่วย ซึ่งคงต้องเป็นหน้าที่ของโรงเรียนและรัฐบาลว่าจัดหาและจัดสรรอย่างไรดี”

“และคิดว่าน่าจะต้องกระตุ้นให้เกิดเป็นกลไกในการดูแลเด็กอย่างถาวร คือไม่ใช่เฉพาะอยู่ในสถานศึกษานะคะขณะนี้เรารู้ว่าในชุมชนเองเราก็มีสามารถมีกลไกที่จะตั้งเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือในการเรียนออนไลน์ อาจเป็นในรูปแบบผู้ช่วยสอนหรือเข้าไปทำกิจกรรมสันทนาการกับเขาผ่านออนไลน์ก็ได้ไม่ต้องลงพื้นที่จริง”


ลดเวลาเรียน ปรับรูปแบบการสอน

อาจารย์เดชรัตน์ ชี้ชวนหาทางออกประเด็นปรับการเรียนการสอนให้เหมาะกับรูปแบบออนไลน์ว่า “สิ่งที่ต้องทำคือการปรับรูปแบบการสอน ปัจจุบันเราเอาครูไปพูดบอกวิชา ห้องนี้คุณครูก็ต้องพูด อีกชั่วโมงถัดไปก็ต้องไปพูดซ้ำเดิมอีกห้อง จริง ๆ เมื่อเป็นการเรียนออนไลน์ ก็ไม่จำเป็นต้องสอนผ่านโปรแกรมออนไลน์สด ๆ เสมอไป อาจมีการถ่ายคลิปไว้ให้นักเรียนเข้ามาดู แล้วคาบถัดไปครูอาจมาพูดคุยตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับเนื้อหาในคลิปได้ อย่างนี้ภาระของคุณครูก็จะลดน้อยลง แต่ที่ผ่านมาวิธีการเรียนแทบไม่ถูกออกแบบมาในลักษณะนี้ ผลจึงกลายเป็นว่าแค่เปลี่ยนช่องทางที่เด็กและครูเจอกัน แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ของการเรียนออนไลน์ได้อย่างแท้จริง”

ขณะที่อาจารย์นงเยาว์ระบุว่า “พูดถึงเรื่องการปรับลดตัวชี้วัดชั่วโมงการเรียนแล้ว ในอดีตกำหนดว่าเด็กมาเรียนไม่ครบแปดสิบเปอร์เซ็นต์ของชั่วโมงเรียนก็ถือว่าหมดสภาพการเรียนไม่ว่าด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ แต่ภายใต้สถานการณ์โควิด-19  เวลาที่เด็กไม่สามารถมาเรียนได้ก็เกินยี่สิบเปอร์เซ็นต์แล้ว จริง ๆ มันเป็นความผิดของรัฐบาลที่ไม่สามารถให้เด็กเรียนเข้ามาเรียนได้ เพราะโควิดมาเราไม่พร้อม เราก็ไม่มีกระบวนการที่จะทำให้เข้าถึงการศึกษาออนไลน์  ครูเองก็ไม่สามารถจะตรวจสอบได้เลยว่าเด็กอยู่ที่ไหนก็เลยถือว่าเด็กไม่มาเรียน ครูก็ไม่ได้นิ่งนอนใจแต่ปัญหาคือไม่สามารถจะเรียกร้องให้กระทรวงยืดหยุ่นในเรื่องระเบียบเหล่านี้ได้ เมื่อเด็กมาเรียนไม่ครบก็เท่ากับว่าเขาเสี่ยงที่จะหลุดจากระบบนั่นเอง”


วัคซีนคุณภาพปูทางพาเด็กกลับห้องเรียน

ข้อเรียกร้องอื่น ๆ เกี่ยวพันอยู่กับความพยายามที่จะประคับประคองการเรียนออนไลน์ให้มีประสิทธิภาพทั้งต่อเด็กและครูมากที่สุด ขณะที่ข้อเรียกร้องว่าด้วยการฉีดวัคซีนนั้นดูจะไปไกลกว่านั้น คือเป็นความพยายามที่จะหาทางกลับไปสู่การเรียนในห้องเรียนในเร็ววัน

อาจารย์นงเยาว์เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องนี้อย่างมาก โดยระบุว่า “เรื่องเรียกร้องให้รัฐบาลหาวัคซีนมาฉีดแก่นักเรียน นักศึกษา และบุคลากรทางการศึกษา คิดว่าเป็นเรื่องที่เร่งด่วนมาก เพราะอย่างน้อยที่สุดสถานศึกษาต่าง ๆ ไม่ว่าในอุดมศึกษาหรือมัธยมศึกษาก็จะกลับสู่ภาวะปกติได้ แต่ถ้ายังไม่ฉีดมันก็จะติดขัดแบบนี้ ซึ่งสันนิษฐานว่าเราน่าจะต้องเผชิญสถานการณ์เช่นนี้ไปอย่างน้อยที่สุดน่าจะอีกสักปีครึ่ง ก็คือว่านักศึกษาต้องอยู่แบบนี้ไปอีกสามเทอม”

“พูดถึงสามเทอมดูเหมือนเวลาไม่มากนัก แต่เป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับคนซึ่งอยู่ในช่วงข้อต่อต่าง ๆ โดยเฉพาะเด็กปี 3 ปี 4 ที่ต้องเรียนเกี่ยวกับทักษะต่าง ๆ เพื่อเตรียมตัวออกไปสู่ตลาดแรงงาน ก็กังวลใจว่าจะจบไหม จะมีความรู้ที่จะเข้าไปสู่ตลาดแรงงานไหม แล้วถ้าไม่สามารถจบสำเร็จการศึกษาได้ตามที่วางแผนต้นทุนตรงนี้เขาจะแบกรับไหวไหม ยังคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ใหญ่มากสำหรับเด็กมากกว่าครึ่งหนึ่งในประเทศไทยเพราะว่าพ่อแม่ก็ถูกกระทบกระเทือน ถ้าเด็กได้กลับสู่ชีวิตการเรียนหนังสือปกติ ก็จะเป็นการปลดปล่อยพ่อแม่ออกไปสู่โลกการทำงานอย่างอื่นได้ด้วย คือมันเป็นห่วงโซ่ซึ่งกันและกัน”

ขณะที่ปัจจุบันภายหลังแคมเปญนี้เกิดขึ้น นับว่าน่ายินดีที่กระทรวงศึกษาธิการเริ่มขยับในการจัดหาวัคซีนมาฉีดแก่นักเรียน อายุ 12-18 ปี โดยตั้งเป้าว่าจะฉีดให้ครบเข็มที่สองในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน ซึ่งจะส่งผลให้โรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานและสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา สามารถเปิดเรียนแบบ On-Site ได้ 100% ทั้งประเทศ


เสียงตอบรับที่เห็นด้วยและเห็นต่าง

หลังจากสิ้นสุดแคมเปญไปตั้งแต่วันที่ 10 กันยายน พบว่ามีทั้งเสียงเห็นด้วยและเห็นต่างกับวิธีการของนักเรียนเลว ที่เห็นด้วยหากดูตัวเลขจากเว็บไซต์ที่เปิดให้ร่วมสนับสนุนแคมเปญมีผู้ร่วมสนับสนุน 8,646 คน อย่างไรก็ดีจำนวนนี้ก็ไม่อาจสรุปได้ทั้งหมดเพราะเว็บไซต์นั้นถูกโจมตีจนล่มไปเกือบสองวัน ส่วนฝั่งที่ไม่เห็นด้วยมีสองประเด็นหลัก ๆ หนึ่งคือหยุดเรียนไปก็ไม่มีประโยชน์อะไรเพราะผู้มีอำนาจเขาไม่ฟังเราหรอก อีกประเด็นคือ สงสารครู ครูบางคนตั้งใจมาสอน แต่ไม่มีเด็กเข้าเรียน

ด้านแบมระบุว่า “พวกเราทำเเคมเปญนี้ไม่ได้ต้องการต่อสู้กับครู แต่ต้องการต่อสู้กับระบบ ซึ่งก็มีทั้งครูที่เห็นด้วย บอกว่าตัวเองไม่ไหวแล้ว เอาใจช่วยเรา และก็มีบางคนอาจไม่เห็นด้วย บอกว่าตั้งใจมาสอนทำไมมาทำเช่นนี้ ตรงนี้คิดว่าเป็นเรื่องของความเข้าใจมากกว่าว่าเขามองว่าเราทำเพื่อต่อต้านหรือสนับสนุนครู แต่ใครจะเข้าร่วมหรือไม่ร่วมก็ไม่ใช่ปัญหานะคะ มันเป็นสิทธิ์ของแต่ละคน”


ท้ายที่สุดแคมเปญหยุดเรียนยื่น 5 ข้อเรียกร้อง ก็คือหนึ่งในพื้นที่ของการถกเถียงเพื่อมองทางออกของการขยับการศึกษาไทยไปข้างหน้า อาจมีทั้งเสียงเห็นด้วย เสียงเห็นต่าง เป็นปกติธรรมดา เช่นที่แบมเคยย้ำว่าการจะร่วมสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนนั้นเป็นเรื่องของความเข้าใจและเป็นสิทธิ์ของแต่ละคน กระนั้นสำหรับแบม อันนา และกลุ่มนักเรียนเลวแล้วพวกเขาเชื่อมั่นว่าการเคลื่อนไหวในวันนี้คือการลุกขึ้นสู้เพื่อสิทธิอันพึงจะได้ในฐานะผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง