ยักษ์ใหญ่ทำอะไรได้มากกว่าเก็บขยะชายหาด - Decode
Reading Time: 3 minutes

ว่ากันว่าภาพยนตร์ฆ่าไม่ตาย ยิ่งหากเป็นเรื่องราวเกี่ยวเนื่องกับประเด็นปัญหาที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบด้วยแล้ว ยิ่งพร้อมจะฟื้นคืนชีพตลอดเวลา เช่นที่เกิดขึ้นกับภาพยนตร์สารคดี The Story of Plastic ที่เปิดดูกี่ครั้งก็คล้ายกับเพิ่งฉายเมื่อวานนี้เอง

“เวลาเราเปิดก๊อกแล้วน้ำล้นออกจากอ่าง สิ่งที่เราทำตอนนี้ คือพยายามเอาช้อนชาตักน้ำออก เพื่อไม่ให้น้ำล้น แต่สิ่งที่ควรทำคือ ‘ปิดก๊อก’ เหมือนที่หลายคนพยายามสื่อสารกับรัฐให้ปิดก๊อก และบอกกับประชาชนว่าจะเอาช้อนชาตักน้ำออกจากอ่างตลอดชีวิตไม่ได้หรอก”

ฉากอุปมาตอนหนึ่งของสารคดี สื่อสารข้อความที่สำคัญที่สุดของเรื่อง นั่นคือการชี้ให้เห็นปัญหาขยะพลาสติกตอนนี้ ว่าอาจเกินกว่าที่มนุษย์คนใดคนหนึ่งจะจัดการได้

อย่างที่ หมิว พิชามญชุ์ รักรอด หัวหน้าโครงการรณรงค์ยุติมลพิษพลาสติก กรีนพีซ ประเทศไทย พยายามสื่อสารมาตลอดว่า โจทย์ขยะพลาสติกจะไม่มีทางประสบความสำเร็จทันเวลา หากสมการตั้งต้นยังขาดตัวแปรสำคัญ อย่าง “นโยบายรัฐ” และ “ความรับผิดชอบของผู้ผลิต”

รักโลก ≠ รักสิ่งแวดล้อม = รักตัวเอง

หลังงานวิจัย “No Plastic in Nature: Assessing Plastic Ingestion from Nature to People” ถูกเปิดเผยเมื่อปี 2563 จากนักวิชาการของประเทศออสเตรเลีย ก็ทำให้หลายคนไม่อาจออกปากได้แล้วว่า เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาของ “คนอิน” เท่านั้น

“คนอาจบริโภคพลาสติกขนาดเล็กเข้าสู่ร่างกาย 5 กรัมต่อสัปดาห์ หรือเท่ากับบัตรเครดิต 1 ใบ อย่างไม่รู้ตัวจากการปนเปื้อนในสิ่งที่กิน” ข้อสรุปของงานวิจัยชิ้นนี้สร้างแรงกระเพื่อมในช่วงเวลานั้นอยู่ไม่น้อย

หมิวเล่าถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา ด้วยสถานการณ์โรคระบาดที่ทำให้คนใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านมากขึ้น ปริมาณขยะภาคครัวเรือนจึงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ “ขยะดิลิเวอรี” ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางของขยะภาคธุรกิจที่ลดลง แม้ว่าตัวเลขอย่างเป็นทางการของปีนี้ยังไม่สรุป แต่เธอคาดการณ์ว่าสถานการณ์ปีนี้ก็คงไม่ต่างไป จากข้อจำกัดที่ยังคงเดิม

“พลาสติกพวกบรรจุภัณฑ์ คิดเป็น 40% ของพลาสติกทั้งหมด ด้วยการผลิตออกสู่ตลาดที่เยอะอยู่แล้ว การใช้มันก็เป็นแค่ปลายทาง ไม่ว่าคุณจะใช้เยอะหรือน้อยแค่ไหน ในเมื่อ 40% นี้มันถูกผลิตออกมาแล้ว มันแค่รอว่าจะเป็นขยะเมื่อไหร่เท่านั้นเอง”

หากใครได้ดูสารคดี The Story of Plastic ตั้งแต่ต้นจนจบ ประเด็นหนึ่งที่ทุกคนคงสรุปได้เป็นเสียงเดียวกัน คือ “พลาสติกเป็นผลผลิตของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี” ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่เว้นกระทั่งประเทศไทยเอง

หลายบริษัทจึงเลือกใช้วิธีการจ่ายค่าจำกัดขยะพลาสติกที่เกิดขึ้น หรือไม่ก็เปลี่ยนขยะเหล่านั้นเป็นผลิตภัณฑ์ชิ้นใหม่ แต่นั่นคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ที่น้อยมาก ยิ่งเมื่อถูกส่งต่อให้ธุรกิจ  FMCG หรือ Fast Moving Consumer Goods ที่ยังมีขยะพลาสติกจากการขนส่งเพิ่มเติมเข้ามาอีก ยิ่งไปกันใหญ่

เช่นนี้แล้วบริษัทเหล่านี้ จะไม่ถูกรวมในสมการแก้ปัญหาเลยหรือ

“ถ้าพลาสติกนั้นเอาไปทำอะไรไม่ได้ มันก็ไปจบที่หลุมฝังกลบเท่านั้นเอง ซึ่งในไทยมีหลุมฝังกลบเยอะมาก ทั้งที่มีและไม่มีมาตรฐาน”

ทั้งหมดจึงเป็นพลังของสารคดีชิ้นนี้ ที่ต้องการสื่อสารถึงต้นทาง ให้ภาคเอกชนปรับเปลี่ยนโมเดลการทำธุรกิจ ซึ่งไม่ได้ยากเกินศักยภาพที่พวกเขาจะเปลี่ยนแปลง

แก้ปัญหาจาก EPR เปลี่ยนวิธีคิดตั้งแต่ผลิตจนถึงมือผู้บริโภค

“ในระบบทุนนิยม มันมีหลักสูตรที่ต้องได้กำไรมากที่สุด แต่เขายังไม่ได้ใส่ต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมเข้าไปคิด ดังนั้นการทำธุรกิจของเขา เมื่อคิดต้นทุนก็ไม่ใช่ต้นทุนที่แท้จริง”

และต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมที่หมิวกำลังพูดถึงอยู่นี้ก็คือ EPR (Extended Producer Responsibility) หรือ การขยายขอบข่ายความรับผิดชอบผู้ผลิตรวมถึงแบรนด์ต่าง ๆ นั่นเอง

โดยเธอออกปากว่า หลักการนี้ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นแต่อย่างใด อย่างในประเทศฝั่งยุโรป หรือไต้หวันเองก็ใช้หลักการนี้มากว่า 30 ปีแล้ว

สำหรับการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตนั้น ครอบคลุมตลอดทั้งชีวิตวงจรผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่เริ่มต้นผลิตจนกระทั่งตกไปอยู่ในมือผู้บริโภค ไม่จบเท่านั้นเมื่อใช้จนหนำใจแล้ว ผู้ผลิตต้องเข้ามามีส่วนในการจัดการบรรจุภัณฑ์เหล่านั้น ไม่เว้นแม้แต่ผลิตภัณฑ์ที่หมดอายุการใช้งาน

“ไม่อยากให้คิดแค่ว่าการผลิตสินค้า มันจบแค่บนชั้นวางขาย เพราะว่าพอไปถึงผู้บริโภค หรือการจัดการของรัฐ มันเป็นภาระของคนอื่น ในขณะที่ผู้ผลิตได้กำไรไปแล้ว”

นอกเหนือจากขยะพลาสติกจะเกิดในขั้นตอนการผลิตแล้ว ในระหว่างทางการขนส่ง ก็มักเป็นจุดอ่อนสำคัญ ยกตัวอย่างซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่ง นอกเหนือจากที่จะต้องคิดว่าจะขายผักโดยไม่ใช้ถุงพลาสติกแล้ว ก็จำเป็นต้องตั้งหลักเกณฑ์ต่อผู้ขนส่งว่า พวกเขาจะขนย้ายอย่างไรให้ใช้พลาสติกน้อยที่สุด อย่างใช้ลังไม้ พลาสติกแข็งแรงใช้ซ้ำได้ เป็นต้น

แม้แต่ในร้านเล็ก ๆ หลักการนี้ก็เป็นแนวทางให้เปลี่ยนวิธีคิดว่า หากลูกค้าจะสั่งข้าวหนึ่งกล่อง คุณจะบรรจุอาหารอย่างไรให้เหมาะสม

หากดำเนินการตามแนวทางนี้ได้ นั่นก็เท่ากับภาระไม่ได้ไปตกอยู่ที่บรรดาคุณน้า คุณลุง ที่ต้องคอยมาเก็บหรือคัดแยกขยะ ขณะเดียวกันยังทำให้ผู้ผลิตมีความรับผิดชอบมากขึ้น ซึ่งนั่นก็จะต่อยอดให้พวกเขาต้องใส่ใจในขั้นตอนการออกแบบผลิตภัณฑ์ ให้น้อยชิ้นเหมาะสม และสะดวกต่อการจัดการ

ตัวอย่างกรณีของประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นประเทศในเอเชียที่มีอัตราการแยกขยะ และรีไซเคิลที่สูงมากแห่งหนึ่ง ก็มีการปรับใช้หลักการนี้เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจคาเฟ่ ที่มีกว่า 90,000 ร้านทั่วประเทศ  ซึ่งก่อให้เกิดแก้วพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งจำนวนมาก

ในปี 2561 รัฐบาลเกาหลีใต้เริ่มต้นด้วยการสนับสนุนนโยบายการมัดจำแก้ว โดยขอความร่วมมือบรรดาคาเฟ่ให้หันมาจัดโปรโมชั่น เพื่อเพิ่มความจูงใจให้ลูกค้าใช้แก้วซ้ำ อย่างยักษ์ใหญ่อย่างสตาร์บัค ใช้การให้ส่วนลด 9 บาทหากลูกค้านำแก้วที่ใช้ซ้ำได้มาเอง

นอกจากนี้ในธุรกิจอย่างพวกยางรถยนต์ น้ำมันหล่อลื่น แบตเตอรี่ รวมถึงบรรดาบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น รัฐมีข้อกำหนดให้ผู้ผลิต ไม่เว้นแม้แต่ผู้นำเข้า จัดทำระบบเก็บรวบรวมซากผลิตภัณฑ์ หรือขยะบรรจุภัณฑ์จากผู้บริโภค เพื่อให้มีการรีไซเคิลและการจัดการอย่างถูกต้อง

เมื่อนี่เป็นหนึ่งในภาระที่พวกเขาต้องร่วมรับผิดชอบหลังการขาย จึงไม่แปลกที่พวกเขาต้องให้ความสำคัญกับการออกแบบ ที่สามารถลดต้นทุนการจัดเก็บ และสร้างมูลค่าจากการรีไซเคิลได้ อย่างแบรนด์เครื่องสำอางดัง ออกแบบถุงบรรจุภัณฑ์แบบเติม ให้ทำจากเม็ดพลาสติกชนิดเดียวทั้งหมด และสามารถรีไซเคิลได้โดยสมบูรณ์

ขอความร่วมมือมักไปไม่ถึงไหน…

เข้าร้านสะดวกซื้อได้ถุงไหม?

คำถามง่าย ๆ ที่ได้รับรอยยิ้มกรุ้มกริ่มเป็นคำตอบแทน ด้วยปฏิเสธไม่ได้ว่าหากตอนนี้ใช้บริการร้านสะดวกซื้อ หรือซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งก็ยังคงมีการให้บริการถุงพลาสติกอยู่

“MOU มันไม่ใช่นโยบาย มันเป็นความตกลงร่วมกัน”

1 ม.ค. 2563 นับเป็นวันดีเดย์ที่ห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ ได้งดการแจกถุงพลาสติกให้กับผู้มาซื้อสินค้า เพื่อเป้าหมายในปี พ.ศ. 2564 ไทยจะปลอดขยะพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง

แม้ในช่วงต้นจะสร้างความไม่สะดวกสบาย แต่ผ่านไประยะเวลาหนึ่งก็ดูเหมือนว่าหลายคนจะปรับตัวกันได้มากขึ้น แต่เมื่อเวลาผ่านไปนาน ก็คล้ายกับว่าจะกลับมาอีหรอบเดิม

หมิวชี้ให้เห็นว่า ปัจจัยหนึ่งที่อาจทำให้หลายแนวทางไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร มาจากส่วนหนึ่งยังคงเป็นเพียงการบันทึกข้อตกลงร่วมกัน โดยไม่มีการพัฒนาไปเป็นนโยบายรัฐจริง ๆ จึงเป็นเหตุของความสำเร็จชั่วครั้งคราว

อย่างเช่นที่เกิดขึ้นกับกรณีการลดใช้ถุงพลาสติกตามร้านค้า ที่ขับเคลื่อนด้วยการอาสาสมัครของผู้ผลิตเอง โดยไม่ได้มีการกำหนดบทลงโทษหากไม่ปฏิบัติ นั่นเท่ากับว่าเขาจะลดหรือเลิกเมื่อไหร่ก็ย่อมได้

“มันให้อำนาจกับผู้เข้าร่วม อย่างเรามาทำข้อตกลงร่วมกันปลูกป่า ไม่ได้บอกเขาว่าต้องปลูกกี่ต้น ปลูกต้นไม้พันธุ์ไหน ต้องคิดถึงระบบนิเวศไหม ปลูกต้นเดียวก็เท่ากับทำแล้ว”

ด้วยเหตุผลเหล่านี้ หมิวจึงไม่ต้องการให้หลักการ EPR เดินรอยตามเช่นนั้น แต่ต้องการให้รัฐเห็นความสำคัญจนนำไปสู่การบรรจุเป็นหนึ่งในนโยบาย เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในทางปฏิบัติ

มิเช่นนั้นแนวทางดี ๆ เช่นนี้ อาจถูกตีความเป็นเพียงกลยุทธ์ที่แยบยลของการทำ CSR ขององค์กร โดยที่ผู้ประกอบการไม่ต้องลงเม็ดเงินแม้แต่บาทเดียว แต่ได้รับการบอกเล่าต่อเป็นวงกว้าง โดยขาดการสื่อสารสำคัญนั่นคือ การสร้างความตระหนักของการลดใช้ถุงพลาสติกอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตามเมื่อภาครัฐเป็นผู้ตั้งนโยบาย ก็ย่อมต้องให้การสนับสนุนในบางอย่าง หมิวยกตัวอย่างกรณีการตั้งจุดทิ้งขวดของโค้ก หากรัฐไม่สนับสนุนเพื่อต่อยอดให้เป็นการทิ้งขวดน้ำอัดลมจากบริษัทอื่น ๆ ด้วย การกระจายจุดวางถังก็จะน้อย ความเป็นไปได้ที่จะประสบความสำเร็จในระยะยาวก็จะลดลงตามไปด้วย

“อะไรที่มาจากรัฐ มันทำให้เกิดความแมส บริษัทเดียวอาจแรงไม่พอ”

แต่หากจะมุ่งหวังการเปลี่ยนแปลงที่มากไปกว่านั้น การให้น้ำหนักกับข้อกำหนดของการผลิตบรรจุภัณฑ์ตั้งแต่ต้นทาง ก็เป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญที่คงไม่มีใครทำแทนได้

เมื่อยักษ์ใหญ่ขยับ แรงกระเพื่อมเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ภาพของการทำกิจกรรมเก็บขยะชายฝั่ง หรือที่เรียกกันว่า Beach Clean Up ถูกจัดขึ้นในหลายหน่วยงาน ไม่เว้นแต่ธุรกิจปิโตรเคมีรายใหญ่ ๆ ด้วยเป้าหมายเพื่อสื่อสารให้คนทั่วไป ได้ตระหนักและลดใช้พลาสติก

“บริษัทต่าง ๆ เน้นรณรงค์ที่ผู้บริโภค หนึ่งให้ลดใช้โดยพกถุงผ้า สองให้เก็บขยะ แต่คุณคือต้นทางของการผลิต คุณน่าจะทำมากกว่านี้ มากกว่าให้คนมาเก็บขยะ”

ตามโรดแมปที่รัฐบาลได้วางไว้ในปี 2561 – 2573 ว่าจะลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งภายในปี 2565 ด้วยการใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ร้อยละ 100 ภายในปี 2570

แม้ข้อมูลหลังผ่านไป 1 ปี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะเปิดเผยข้อมูลว่า สามารถลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วได้กว่า 2,000 ล้านใบ หรือประมาณ 5,755 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 400 ล้านบาท

แต่เมื่อประสบกับโรคโควิด-19 ข้อมูลจากกรมควบคุมโรคพบว่า แม้นักท่องเที่ยวจะหายไป แต่ขยะพลาสติกไม่ได้ลดลงเลย เปรียบเทียบปี 2563 กับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2562 ก่อนที่จะมีโรคระบาด มีขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นถึง 40% และในเดือนเม.ย.ปี 2564 นี้ก็เพิ่มเป็น 45%

เมื่อเป้าหมายและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงดูสวนทางกันเช่นนี้ ในฐานะผู้ปฏิบัติงาน หมิวจึงมองว่าโรดแมป “ยังเป็นแค่แผน แต่ไม่มีแนวทางปฏิบัติ” ที่จะสามารถเห็นภาพถึงปลายทางที่ตั้งไว้ได้เลย

จึงแน่นอนว่าไม่สามารถคาดหวังการเปลี่ยนแปลง จากฝั่งผู้บริโภคเพียงอย่างเดียว การขยับของภาคเอกชนจึงยิ่งเป็นประเด็นสำคัญ “มองง่าย ๆ ตอนนี้ขนาดคนเฉย ๆ กับการรักโลก ยังหยิบถุงผ้าไปซื้อของเป็นนิสัย นี่แหละเป็นพลังเมื่อรัฐและเอกชนขยับ คนที่ไม่สนใจก็จะเปลี่ยนพฤติกรรมโดยอัตโนมัติ”

ต้นทุนของการรักโลก ไม่ควรเป็นภาระของผู้บริโภค

เมื่อแนวทางที่คาดหวัง คือการเพิ่มความรับผิดชอบของผู้ผลิต จึงเป็นข้อกังวลของคนทั่วไป ว่าท้ายที่สุดแล้วจะกลายเป็นการผลักภาระให้ผู้บริโภคต้องแบกรับต้นทุนหรือไม่ เพื่อแลกกับการจัดการขยะพลาสติกที่ดีขึ้น

หมิวยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าระวัง เพราะไม่เช่นนั้นก็จะเป็นเช่นเดิม อย่างงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่เคยมีข้อสรุปว่า ผู้บริโภคยอมจ่ายแพงขึ้น เพื่อจะได้สินค้ารักโลก

“เรายังรู้สึกว่าเงินเดือนเหมือนเงินทอนอยู่เลย จะไปยอมจ่ายเงินมากขึ้นเพื่อได้ของรักโลกแทนเหรอ…คำว่ารักโลก ลดขยะ ไม่ควรเป็นภาระผู้บริโภค ควรเป็น ‘new nomal’ ว่าราคาถูกลง ราคาไม่แพง ทุกคนเข้าถึงได้”

ดังนั้นการสนับสนุนของภาครัฐผ่านนโยบาย จึงเปรียบเสมือนคู่มือการใช้ชีวิตของประชาชน อย่างในกรณีของขยะพลาสติก เมื่อผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมไปตามแนวทางภาคธุรกิจ ผลประโยชน์ก็จะตกกับรัฐบาลที่จะสามารถสร้างระบบการจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น นำไปสู่คุณภาพที่ดีของประชาชน

ไม่ใช่การหวังพึ่งพิง “สายพกของ” อย่างที่หลายคนติดภาพว่า จะเป็นผู้ที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมได้ ต้องเริ่มจากการปฏิบัติของตัวเอง ตั้งแต่การพกกล่องข้าว ช้อน ขวดน้ำ ไปจนถึงหลอดใช้ซ้ำ ซึ่งทุกอย่างเป็นต้นทุนส่วนบุคคลทั้งสิ้น

หมิวชี้ว่าการวางรูปแบบการสื่อสารเป็นกลยุทธ์สำคัญ โดยไม่ต้องรอให้ประชาชนพร้อม แต่รัฐสามารถดำเนินนโยบายตามความเข้าใจดั้งเดิมของประชาชน

“อย่างปัญหาโลกร้อน ยุโรปสื่อสารว่ามันคือการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ แต่บริบทของประเทศเราคือ วันนี้ฝนไม่ตกตามฤดูกาล ทำให้ชาวสวนไม่มีน้ำ นี่คือภาวะโลกร้อน เราไม่จำเป็นต้องใช้ภาษาที่สวยหรู เรื่องนี้ก็เหมือนกัน พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งอาจไม่ต้องพูดเลยก็ได้”

ไม่ว่าหน่วยงานกลางจะขยับไปทางใด หมิวมองว่าควรตอบโจทย์สำคัญ คือ “ไม่จำเป็นต้องเป็นคนรักโลกถึงจะทำสิ่งนี้ คุณสามารถเป็นคนทั่วไปที่ทำสิ่งนี้เป็นเรื่องปกติได้” นั่นจึงจะทำให้นโยบายแก้ปัญหาขยะพลาสติก สัมฤทธิผลได้ในระยะยาว

อย่างไรก็ตามเมื่อต้นทางตื่นตัว การรับลูกของกลางทางและปลายทางของวงจรพลาสติก อย่าง ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ รวมถึงผู้บริโภค จึงสำคัญไม่ต่างกัน

การฉายภาพของประเทศอินเดีย และประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงช่วยถ่ายทอดสองตัวละครนี้ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในประเด็นการยอมรับว่า “วัฒนธรรมการทิ้ง” รวมถึงความเข้าใจที่อาจยังไม่ชัดเจนของกระบวนการ “รีไซเคิล” ส่งผลเพียงใดกับความเร่งด่วนในการจัดการพลาสติกทุกวันนี้

ด้วยการคลานเป็นเต่า ในแข่งขันระดับโลก อย่างการแก้ปัญหาขยะพลาสติก ใช้แค่ความพยายามอย่างเดียวคงไม่พอ