เส้นบาง ๆ ระหว่างเกษตรกรกับอาชญากรเมล็ดพันธุ์ จากหมู่บ้านอาข่าสู่เวทีการค้าโลก - Decode
Reading Time: 2 minutes

ที่บ้านอาแย ตำบลป่าไหน่ อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ สมาชิกในหมู่บ้านที่เป็นพี่น้องชนเผ่าอาข่ายังคงคัดสรรและเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์พืชจำนวนกว่า 30 เมล็ดพันธุ์ด้วยวิธีการตามธรรมชาติ เพื่อให้ได้เมล็ดพันธุ์ที่สมบูรณ์ที่สุดเพื่อใช้เพาะปลูกในแต่ละปี ลูกหลานของบ้านอาแยที่โตเป็นหนุ่มใหญ่อย่าง ทรงวุฒิ แลเซอะ เฝ้ามองความเปลี่ยนแปลงของชุมชน ผ่านการรุกคืบเข้ามาของบริษัทเมล็ดพันธุ์ และผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรรมท้องถิ่นและวิถีความเชื่อในชุมชน เมื่อถามเขาถึงประเด็นที่รัฐไทยกำลังจะทำข้อตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership) ว่าคิดเห็นอย่างไร ทรงวุฒิตอบว่า 

“ผมกังวลว่าจากเดิมที่เราเก็บเมล็ดพันธุ์พืชเพื่อใช้แค่กิน เป็นยา หรือใช้ทำตามความเชื่อของเรา เราปลูกและเก็บรักษาเอง แต่เมล็ดพันธุ์จากภายนอกเราไม่สามารถเก็บไว้แล้วนำไปปลูกต่อได้ เพราะว่าความสมบูรณ์ของเมล็ดพันธุ์ไม่มี หรือมันอาจจะกลายพันธุ์ไป แล้วถ้าต่อไปเมล็ดพันธุ์ราคาแพงขึ้น หรือเขาไม่ผลิตแล้ว ในขณะที่ชาวบ้านไม่มีกรรมสิทธิ์ในเมล็ดพันธุ์ บริษัทเขาผูกขาดไปหมดแล้ว สุดท้ายเมล็ดพันธุ์ของเราก็จะหายไปจากชุมชน”

ประเทศเกษตรกรรมที่ไร้กรรมสิทธิ์ในเมล็ดพันธุ์ ?

ทรงวุฒิเป็นชนเผ่าอาข่ารุ่นใหม่ที่เข้าไปร่ำเรียนในตัวเมืองเชียงใหม่ เมื่อกลับคืนหมู่บ้านอาแยที่อยู่สูงเหนือระดับน้ำทะเลกว่า 1,000 เมตร มีพืชเฉพาะถิ่นหลากหลายที่ไม่สามารถหาได้จากแหล่งอื่น เขาจึงเริ่มตระหนักถึงคุณค่าของการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์

เมื่อได้ทำงานเป็นสมาชิกสภาเทศบาลตำบลป่าไหน่ และมีโอกาสทำงานกับเครือข่ายพัฒนาชุมชนจากภายนอก ทรงวุฒิจึงชวนเพื่อน ๆ ที่เป็นหนุ่มสาวชาวอาข่ารุ่นเดียวกันเริ่มต้นทำวิจัยในโครงการ “การศึกษาวิจัยองค์ความรู้การเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์พืชของชนเผ่าอาข่า” โดยได้รับการสนับสนุนจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เพื่อรวบรวมองค์ความรู้ในการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์พืชอย่างเป็นระบบ ยิ่งค้นลึกลงไปพวกเขายิ่งรู้ว่าองค์ความรู้ชุดนี้คือทรัพยากรที่มีค่าทั้งในแง่เศรษฐกิจ สุขภาพ และวัฒนธรรม เป็นความมั่นคงทางอาหารที่สืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น

“พืชมีความเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมของชุมชนเรา เช่น ถ้าทารกเกิดมาใหม่ต้องนำข้าว ขิง เกลือ มาต้มกับไก่ เราถือว่าเป็นอาหารที่สะอาดและบริสุทธิ์ ที่ต้องใช้ขิง เพราะมีความเชื่อว่าขิงสามารถปกป้องเด็ก และปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายได้ ถ้าไม่ทำพิธีกรรมนี้แสดงว่าเด็กคนนั้นยังไม่สมบูรณ์ ที่เราต้องรักษาเรื่องเมล็ดพันธุ์ไว้ เพราะพี่น้องอาข่าเราอยู่บนดอย ห่างไกลโรงพยาบาล เราก็เลยต้องมีวิธีที่รักษาดูแลตัวเอง”

ผลการศึกษาเรื่องการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์พืชในหมู่บ้านอาแยของทรงวุฒิ พวกเขาได้สะท้อนบทสรุปออกมาในงานวิจัยอย่างชัดเจนว่า การเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์พืชคือแกนหลักของความมั่นคงทางอาหาร เชื่อมร้อยผู้คนจากรุ่นสู่รุ่น ผลการวิจัยพบว่าในกลุ่มประชากรบ้านอาแยราว 300 คน ซึ่งแบ่งเป็นกลุ่มผู้สูงวัย(50 ปี ขึ้นไป) , วัยกลางคน(30-50 ปี) และคนหนุ่มสาว (ต่ำกว่า 30 ปี) ภูมิปัญญาด้านการรักษาเมล็ดพันธุ์พืชจะอยู่ในกลุ่มผู้สูงวัยและวัยกลางคนเป็นหลัก ผู้สูงวัยยังมีการเก็บเมล็ดพันธุ์เป็น 100 ชนิด ในขณะที่วัยกลางคนอยู่ที่ประมาณ 30-40 ชนิดพันธุ์ ส่วนคนหนุ่มสาวมีการรักษาเมล็ดพันธุ์พืชอยู่เพียง 10-20 ชนิดพันธุ์เท่านั้น

การถดถอยลงขององค์ความรู้และปริมาณของเมล็ดพันธุ์ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผลกระทบจากภายนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรุกคืบเข้ามาของพืชเชิงเดี่ยวเช่น ข้าวโพด ปัญหาที่ตามมาคือด้วยพื้นที่ปริมาณมากในการปลูกข้าวโพดทำให้ต้องใช้ปุ๋ยเคมีในการบำรุง รวมทั้งใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูพืช

นอกจากนั้นพื้นที่เกษตรที่ใช้ปลูกพืชเชิงเดี่ยวในลักษณะนี้ ยังไม่สามารถปลูกพืชท้องถิ่นในแบบเกษตรผสมผสานดังเดิมได้ ซึ่งจุดนี้กระทบกับการเพาะปลูกและเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ตามวิถีชุมชนที่เคยเป็นมา มากไปกว่านั้น เมล็ดพันธุ์พืชใหม่ ๆ ที่มาพร้อมกับเกษตรเชิงเดี่ยว ยังเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ไม่สามารถจัดเก็บและขยายพันธุ์ต่อได้

วิถีเกษตรที่เปลี่ยนไปทำให้ชาวบ้านมีพืชพันธุ์ไม่เพียงพอต่อการบริโภค จนต้องไปซื้อจากตลาดในเมือง ไม่ว่าจะเป็น ตลาดบ้านห้วยน้ำขุน และตลาดในเวียงพร้าว ผลกระทบที่เกิดขึ้นนี้ไม่เพียงแต่กระทบต่อระบบนิเวศทั้งดิน น้ำ และป่าเท่านั้น แต่ภาวะสั่นคลอนในความมั่นคงทางอาหารที่เกิดขึ้น ยังทำให้คนหนุ่มสาวต้องเข้าเมืองไปหางานทำ สายธารความรู้ในการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์จึงลดถอยลง

แต่คนรุ่นกลางอย่างทรงวุฒิและเพื่อนพ้อง ยังมีความพยายามทุกวิถีทางที่จะรักษาองค์ความรู้เหล่านี้เอาไว้ จึงทำให้ในหมู่บ้านอาแยยังมีการเก็บรักษาและเพาะปลูกเมล็ดพันธุ์พืชราว 30-40 ชนิด เอาไว้เพื่อส่งต่อถึงรุ่นลูกหลาน

เรื่องราวจากหมู่บ้านอาแย เป็นเพียงหนึ่งในภาพสะท้อนของวิถีเกษตรกรรมชุมชนในประเทศไทย ไม่ว่าชาวดอยหรือชาวบ้านต่างให้คุณค่ากับการรักษาเมล็ดพันธุ์ไม่ต่างกัน ดังนั้นเองหากรัฐทำข้อตกลงใด ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิในการเก็บเมล็ดพันธุ์เหล่านี้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นย่อมทำลายอย่างถึงรากถึงโคน ด้วยเหตุนี้การที่ประเทศไทยจะพิจารณาเข้าร่วมในข้อตกลง CPTPP จึงเป็นเรื่องที่ต้องทบทวนอย่างระมัดระวัง เพราะหลายเงื่อนไขในการเข้าร่วมข้อตกลงนี้ มีส่วนที่คาบเกี่ยวกับการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์พืชในประเด็นต่าง ๆ เช่น ข้อสงสัยว่าเกษตรกรจะยังคงมีกรรมสิทธิ์ในเมล็ดพันธุ์หรือไม่ รวมทั้งการผูกขาดการตลาดโดยบริษัทเมล็ดพันธุ์ ซึ่งอาจกระทบต่อวิถีเกษตรกรรมยิ่งกว่าที่ผู้คนในหมู่บ้านอาแยกำลังเผชิญอยู่ในเวลานี้

ปมผูกขาดเมล็ดพันธุ์ CPTPP อาจได้ไม่คุ้มเสีย

จุดประสงค์ในการเข้าร่วม CPTPP ของไทยนั้น เกิดขึ้นเพราะเล็งเห็นประโยชน์ทางการค้าระหว่างประเทศ ทำให้เกิดการลงทุนระหว่างประเทศสมาชิกในกลุ่ม Trans-Pacific Partnership  จำนวน 11 ประเทศ ที่มีจำนวนประชากรรวมกว่า 500 ล้านคน การเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีนี้อาจทำให้ไทยมีรายได้เพิ่มสูงแตะหลักแสนล้านบาทในอนาคต ครอบคลุมทั้งการส่งออก การลงทุนจากต่างประเทศ การจัดซื้อจัดจ้างของรัฐ และการยกระดับในการพัฒนาทางการแข่งขันทั้งเรื่องมาตรฐานแรงงานและการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา รัฐบาลไทยยังอยู่ในระหว่างการตัดสินใจเข้าร่วมเจรจาเพื่อเป็นสมาชิกลำดับที่ 12 ของ CPTPP โดยเลื่อนเวลาออกไปเรื่อย ๆ ด้วยความที่ยังมีบางประเด็นปัญหาที่ได้รับการทักท้วงจากนักวิชาการและภาคประชาชน

มีข้อถกเถียงสำคัญเรื่องผลกระทบต่อเมล็ดพันธุ์พืชของประเทศที่เข้าร่วมข้อตกลงนี้ โดยเฉพาะเรื่องของ “อาชญากรรมเมล็ดพันธุ์” ที่เกษตรกรในประเทศอาจตกเป็นจำเลยหากเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้และเพาะปลูกเช่นที่เคยเป็นมา เพราะหนึ่งในเงื่อนไขของการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ CPTPP คือต้องเข้าร่วม UPOV 1991 หรืออนุสัญญาการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ซึ่งมีเงื่อนไขหลายอย่างที่อาจนำไปสู่การผูกขาดเมล็ดพันธุ์ และทำให้เกษตรกรไม่สามารถมีกรรมสิทธิ์ในเมล็ดพันธุ์ของตน วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) ได้ชี้ให้เห็นถึงข้อควรระวังและผลกระทบที่จะเกิดกับเกษตรกรในประเด็นนี้ว่า

“เพราะเงื่อนไขของ UPOV 1991 ให้สิทธิผูกขาดกับบริษัทเมล็ดพันธุ์เพิ่มขึ้น นั่นคือนอกจากการคุ้มครองสายพันธุ์พืชใหม่ของบริษัทที่เขาขึ้นทะเบียนแล้ว ยังขยายความไปยังสายพันธุ์พืชเหล่านี้ในกรณีที่มันเกิดกลายพันธุ์ไป ไม่ว่าจะโดยธรรมชาติหรือเกิดการผสมข้ามก็ดี ถือว่าพันธุ์พืชนั้นยังเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท ยกตัวอย่างว่ามะละกอที่เราได้มาจากเมล็ดพันธุ์ของบริษัทนั้น กลายพันธุ์ไปอีกมากมาย แล้วเราเลือกมาพันธุ์หนึ่งที่มีวิตามิน A สูงมาก แต่บริษัทบอกว่า ดูรูปร่างลักษณะแล้วเหมือนมะละกอของบริษัทเขาอยู่ ถ้าเป็นแบบนั้นบริษัทถือว่ายังเป็นกรรมสิทธิ์ของเขาอยู่”

ผู้อำนวยการ BIOTHAI มีความเห็นว่าประเด็นอาชญากรรมเมล็ดพันธุ์นี้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะว่าในวิถีเกษตรกรรมที่เป็นมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน การเก็บคัดเลือกสายพันธุ์คือจุดกำเนิดของความหลากหลายทางชีวภาพ คือหัวใจสำคัญที่ทำให้โลกนี้มีความหลากหลายของอาหาร สายพันธุ์พืชที่ถูกคัดเลือกโดยวิถีเกษตรกรรมดั้งเดิมนั้น จะเกิดความยั่งยืนในภัยธรรมชาติต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้ง น้ำท่วม พืชเหล่านี้จะปรับตัวได้เพราะเกษตรกรได้คัดเลือกสายพันธุ์ในวิถีเกษตรกรรมของเขา

“สิ่งนี้จึงเป็นเรื่องใหญ่มากที่จะส่งผลกระทบต่อวิถีเกษตรกรรมและความมั่นคงทางอาหารต่อมนุษยชาติ แต่ว่าคนที่มองเรื่องทางเศรษฐกิจสมัยใหม่ เขาไม่มองความสำคัญตรงนี้ คิดว่าวิธีนี้ไม่มีประสิทธิภาพ สู้การปล่อยให้บริษัทใหญ่ ๆ เข้ามาลงทุนเพื่อนำไปสู่การทำการเกษตรแบบทันสมัยไม่ได้ แล้วการทำเกษตรกรรมแบบเดิมนี้ จะไปขัดขวางการพัฒนาเกษตรสมัยใหม่แบบที่เขาว่า เพราะอย่างนั้นระบบคิดที่อยู่ภายใต้ UPOV-1991 จึงเอื้อให้กับการปรับปรุงพันธุ์แบบสมัยใหม่”

“โจรสลัดชีวภาพ” การล่าอาณานิคมในระบบห่วงโซ่อาหาร

จากเชียงใหม่ถึงเชียงราย เมื่อถามถึงผู้รู้ในกระบวนการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์พืชของพี่น้องชาวอาข่า ทรงวุฒิได้แนะนำให้คุยกับพี่สาวที่นับถือกัน ชื่อ หมี่จู-ชุติมา มอเลกู่ หญิงวัย 52 ปี ซึ่งอาศัยอยู่ในชุมชนอาข่าในอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เธอและคนในชุมชนยังคงเก็บเมล็ดพันธุ์พืชไว้ใช้ทุกปี โดยเล่าว่าเมล็ดพันธุ์พืชที่คัดเลือกและเก็บไว้ใช้เหล่านั้น มีทั้งพืชไร่ที่ปลูกไว้เก็บกิน และพืชที่ขึ้นเองโดยธรรมชาติ โดยชนเผ่าอาข่านั้นจะวางบทบาทในการเก็บเมล็ดพันธุ์พืชให้ผู้หญิงเป็นผู้ทำหน้าที่หลัก

เมล็ดพันธุ์เหล่านั้นจะถูกเก็บมาแขวนตรงชานบ้านเพื่อผึ่งแดดไว้ ถ้าเป็นพืชที่มีเมล็ดที่ต้องแกะออกจำพวกถั่ว หรือพืชผักสวนครัว เช่น เม็ดผักชี พริก มะเขือ จะถูกนำไปบรรจุไว้ในน้ำเต้าที่ควักไส้ออกแล้วนำไปอังไฟให้แห้งเพื่อใส่เมล็ดพันธุ์ ปิดจุกด้วยไม้ที่เหลาทำเป็นฝา หรือก้านข้าวโพดที่แกะเมล็ดออกแล้ว เมล็ดพันธุ์บางชนิดอาจถูกเก็บไว้ในกระบอกไม้ไผ่ที่แห้งแล้ว โดยการเก็บจะวางไว้บนแคร่ที่ด้านล่างมีเตาไฟ เพราะบนดอยมีความชื้น การเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้บนแคร่เหนือเตาเพื่อให้ควันไฟลอยสุมขึ้นไปลดความชื้น ป้องกันไม่ให้เมล็ดพันธุ์ขึ้นรา

“เวลาใกล้ฤดูเพาะปลูก เมล็ดพันธุ์อะไรที่เรามี เราก็แบ่งปันให้คนอื่น อะไรที่เขามีแต่เราไม่มีก็ขอปันเขามา เมล็ดพันธุ์เราจะเลือกที่สมบูรณ์ที่สุด ดีที่สุด เช่น ผักชีเราจะเลือกที่ดอกสะพรั่ง เมล็ดเต่งตึง เราจะเก็บจนแห้งสนิท ต้องรีบเก็บก่อนมันจะร่วง เพราะถ้าเราทิ้งไว้นานถึงตอนนั้น เม็ดมันจะร่วงแล้วขึ้นอยู่ใต้ต้น นำไปปลูกไม่ได้”

องค์ความรู้ กระบวนการเก็บรักษาพันธุ์พืช และการแบ่งปันทรัพยากรกันในชุมชนของหมี่จู อาจจะกลายเป็นอดีตไป เพราะอีกหนึ่งข้อกังวลที่นักวิชาการได้ยกมาเป็นข้อทักท้วงในการเข้าร่วม CPTPP คือเรื่องของ “โจรสลัดชีวภาพ” (Bio-piracy) ที่เกิดจากการผูกขาดอนุพันธ์ของพันธุ์พืชใหม่โดยบริษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติ โดยสิ่งที่อาจจะเป็นผลพวงจากการทำข้อตกลงนี้ คือการใช้ประโยชน์จากพันธุ์พืช หรือทรัพยากรพันธุกรรมของประเทศหรือของชุมชนโดยไม่ขออนุญาต ไม่แบ่งปันผลประโยชน์ โดยวิฑูรย์ได้ขยายความว่า

“ภายใต้บริบทที่ประเทศไทยกำลังพิจารณาจะเข้าร่วม CPTPP เราต้องเข้าร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญา UPOV 1991 ประเทศไทยจะต้องแก้กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชปี 2542 ของไทย ซึ่งกฏหมายฉบับนี้มีหลักการสำคัญอยู่เรื่องหนึ่งคือ หลักการในการเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพ ถ้าบริษัทเมล็ดพันธุ์นำเอาพันธุ์พืชที่เป็นพันธุ์พืชป่าก็ดี หรือพันธุ์พืชทั่วไปก็ดี ไม่ว่าจะเป็นสมุนไพรหรือพืชอื่นใดก็ตาม เขาต้องขออนุญาตก่อน เขาถึงจะนำเอาพันธุ์พืชเหล่านั้นไปใช้ได้ แต่ UPOV ระบุอย่างชัดเจนว่า ที่เราเขียนไว้ในกฎหมายนี้มันขัดกับ UPOV 1991 เขาไม่ต้องการให้เรามีข้อความที่เป็นรายละเอียดเกี่ยวกับการขออนุญาตให้แบ่งปันผลประโยชน์และการเข้าถึง อยู่ในกฎหมาย เพราะฉะนั้นเรื่องนี้จะถูกฉีกทิ้งออกไป”

ผู้อำนวยการ BIOTHAI  ยังได้ยกกรณีศึกษาจากประเทศเวียดนามที่ได้รับผลกระทบจาก UPOV 1991 ว่าก่อนหน้าที่จะเข้าร่วมอนุสัญญานี้เวียดนามเคยพึ่งพาตนเองเรื่องเมล็ดพันธุ์ แต่ปัจจุบัน 80% ของข้าวโพดและพันธุ์ผักกลับเป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ นอกจากนั้นในการศึกษาเทียบเคียงกับในสหรัฐอเมริกาและในบางประเทศ เมื่อให้สิทธิผูกขาดกับบริษัทเอกชนในระดับที่ห้ามชาวบ้านไม่ให้เก็บพันธุ์พืชไปปลูกต่อ จะส่งผลให้ราคาเมล็ดพันธุ์แพงขึ้น เพราะในปัจจุบันเกษตรกรมีทางเลือกอันหลากหลาย แต่การผูกขาดจะทำให้ทางเลือกน้อยลง ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ทุกฤดูกาลเพาะปลูก นอกจากนั้นราคาเมล็ดพันธุ์จะแพงขึ้นประมาณ 2-6 เท่าตัว

จากหมู่บ้านอาข่าถึงเวทีข้อตกลงการค้าโลก เรื่องของความหลากหลายทางชีวภาพจึงอาจเป็นโจทย์ใหญ่ที่วิ่งสวนทางกับมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ และผลกระทบใด ๆ ที่จะเกิดจากการตัดสินใจครั้งนี้ อาจจะไม่ส่งผลในชั่วอายุของคนรุ่นนี้ แต่จะส่งผลสะเทือนมหาศาลถึงเจเนอเรชั่นหน้า ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ความล่มสลายของวิถีชุมชนที่ยึดโยงกับการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ รวมไปถึงปัญหาเรื่องพืชดัดแปลงพันธุกรรม(Genetically modified organisms-GMOs) ที่อาจทะลักเข้ามาพร้อมกับการเข้าร่วม CPTPP วิฑูรย์ได้สะท้อนถึงรัฐบาลว่า

“ถ้าวันหนึ่งตัวเมล็ดพันธุ์ทั้งหลายหลุดจากมือของเกษตรกรในประเทศ ไปเป็นทรัพย์สินของบริษัทต่างชาติขนาดใหญ่ เราเป็นประเทศเกษตรกรรม แต่เรากลับไม่มีเมล็ดพันธุ์เป็นของตัวเอง นี่คือหลักคิด ซึ่งใครจะหาว่าเป็นการคิดที่โรแมนติกเกินไปหรือไม่ก็ตาม แต่สักวันหนึ่งถ้าเขาเห็นวิกฤติการณ์ต่าง ๆ เช่น โรคระบาด วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดปัญหาจาก Supply chain ในระดับโลก หรือปัญหาสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นและรุนแรงมากขึ้นในอนาคต เขาจะตระหนักในเรื่องนี้เอง แม้ว่าวันนั้นเขาจะไม่ได้อยู่ในโลกนี้แล้วก็ตาม

ถามว่าคุณมีสิทธิอะไรในการสร้างผลกระทบต่อคนในอนาคต หรือลูกหลานเราในวันข้างหน้า