กับดักความรุนแรง สันติวิธียังมีหวัง - Decode
Reading Time: 3 minutes

เฉพาะเดือนสิงหาคมมานี้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการเข้าร่วมม็อบอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากการยิงกระสุนยาง แก๊สน้ำตา และกระสุนจริง โดยมีอย่างน้อยหนึ่งคนได้รับบาดเจ็บที่ดวงตาข้างหนึ่ง และอีกหนึ่งคนถูกกระสุนจริงยิงเจาะคอ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่านี้คือสัญญาณบ่งบอกว่าความขัดแย้งขยับเข้าสู่ความรุนแรงมากขึ้น 

De/code ชวน กิตติชัย งามชัยพิสิฐ ฟาซิลิเตเตอร์และผู้ขับเคลื่อนประเด็นสันติวิธี พร้อมด้วยตัวแทนจากกลุ่ม OctDem (นักการเมือง นักวิชาการ และนักกิจกรรมที่ผ่านเหตุการณ์ชุมนุมเดือนตุลาคม 2516 และ 2519) มาพูดคุยถึงสถานการณ์ม็อบปัจจุบัน ว่ากำลังขยับหรือตกอยู่ในภาวะความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน สันติวิธียังเป็นทางออกที่ดีที่สุดอยู่ไหม อย่างไร รวมไปถึงการทวนถามบทบาทของฟากฝ่ายนิติบัญญัติและตุลาการว่าจะจัดตำแหน่งแห่งที่ของพวกเขาอย่างไรเพื่อนำสังคมไปในทิศทางที่ยังคงมีหวังกับกระบวนการสันติวิธี


ความขัดแย้ง ไม่เท่ากับ ความรุนแรง 

กิตติชัยบอกว่า “จริง ๆ ความขัดแย้งไม่ได้เท่ากับความรุนแรง แต่คนไทยมักถูกทำให้เข้าใจว่าการไม่ทะเลาะเป็นเรื่องที่ดี การไม่ขัดแย้งจะอยู่สงบ และเวลาเราพูดถึงความสงบจึงมักหมายถึงการเห็นตรงกันกับผู้มีอำนาจ ไม่มีใครพูดถึงปัญหา ปัญหาจึงถูกซุกไว้ใต้พรม คนไทยจึงควรเปลี่ยนมุมมองว่าความขัดแย้งไม่ใช่เรื่องผิดปกติ ความขัดแย้งเกิดขึ้นได้ แค่ต้องมาคุยว่าจะจัดการความขัดแย้งนั้นอย่างไร ความหมายของความรุนแรงจึงควรไปไกลกว่าแค่ผูกโยงไว้กับความขัดแย้ง แต่มันคือการไปจำกัดหรือการกดทับความต้องการพื้นฐานในการดำรงชีวิต การอยู่ดี มีเสรีภาพของมนุษย์คนอื่นต่างหาก”

ความสงบไม่ใช่ทั้งหมดของสันติวิธี

ส่วนความเข้าใจเรื่อง “สันติวิธี” กิตติชัยก็มองว่ามีปัญหา  

“เดิมทีมันเป็นคำแปลแรก ๆ ของคำว่า “non violence”  ในไทย แต่ผมมองว่ามันควรแปลว่า “การไม่ใช้ความรุนแรง”  คือหยุดความรุนแรงไม่ให้เกิดขึ้นมากกว่า และที่สำคัญคำว่า “สันติวิธี” ในไทยถูกทำให้ความหมายมันกลืนไปกับค่านิยมของสังคมที่เคารพผู้ใหญ่ ผู้มีอำนาจ คนในสังคมมักกลัวและสยบยอมด้วยการร้องขอมากกว่าร้องถาม สันติวิธีในประเทศนี้จึงกลายเป็นเรื่องร้องขอ ให้เขารู้สึกเมตตา และมักจะพาไปเกี่ยวโยงอยู่กับศีลธรรมทางศาสนา ความรัก ความสงบสุข แบบที่ว่ามานี้ก็เป็นสันติวิธี แต่มันไม่ใช่ความหมายทั้งหมดของคำดังกล่าว

สันติวิธียังเปิดกว้างให้กับความสนุก ความตื่นเต้น ความโกรธ รวมถึงความก้าวร้าวก็เป็นสันติวิธีอยู่”

“ขณะที่ความหมายของสันติวิธีของคนรุ่นใหม่ก็เปลี่ยนไปเช่นกัน พวกเขาไม่จำกัดมันไว้แต่เฉพาะความหมายเดิม แต่สร้างสรรค์และทดลองวิธีสันติใหม่ ๆ ออกมาต่อเนื่อง ตั้งแต่การด่า การสาดสี การแสดงความโกรธ และการขว้างปาข้าวของ ซึ่งวิธีหลังสุดเข้าใจว่าอาจยังเป็นที่ถกเถียงของคนในสังคมว่านับว่าสันติไหม แต่สำหรับผมมองว่ายังเป็นสันติวิธีครับ” 

สังคมไทยกำลังขยับใกล้ความรุนแรงแค่ไหน

การชุมนุมประท้วงกำลังบานปลายไปเป็นความรุนแรงแล้วหรือไม่?

เป็นคำถามที่สังคมไทยกำลังกำลังถกเถียงกันในเวลานี้  สำหรับกิตติชัยมองว่า “สถานการณ์ในฟากของผู้ชุมนุมยังไม่ถึงขั้นรุนแรง แต่เป็นความขัดแย้งโดยปกติที่มีการปะทะกัน  ยังเป็นเพียงการตอบโต้ปฏิกิริยาของตำรวจเป็นหลัก คือตำรวจมายึดพื้นที่พวกเขา พวกเขาไม่ยอมเพราะต้องการพื้นที่ ๆ จะส่งสารของตัวเองออกไป ตำรวจยิงแก๊สน้ำตามา พวกเขาก็ขว้างข้าวของกลับบ้าง แต่มันไม่ได้มุ่งไปทำร้ายตำรวจ มุ่งไปที่การรบกวนมากกว่า สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงแค่ภาพของความไม่ยินยอม ส่วนสิ่งที่น่าเป็นห่วงอาจจะมีเรื่องการใช้กระสุนจริง ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่าฝ่ายรัฐหรือฝ่ายอื่นเป็นคนทำ แต่ไม่ว่าใครทำก็เป็นความรับผิดชอบของรัฐที่ต้องค้นหาความจริง กระนั้นรัฐกลับบอกว่าจะจับคนที่ถ่ายวิดีโอตอนยิงกระสุนจริง แบบนี้คืออะไร?”

ขณะที่ฟากฝ่ายของรัฐมีการใช้กระสุนยาง แก๊สน้ำตา ฉีดน้ำ มาตลอด กิตติชัยก็ให้ความเห็นว่า “มันค่อนข้างชัดนะว่าการสลายการชุมนุมค่อนข้างรุนแรง เพราะจริง ๆ มันมีขั้นตอนของมัน ตั้งแต่การแสดงตัว การประกาศขอบเขตการชุมนุม หลังจากนั้นก็มาแสดงอาวุธ จากนั้นก็อาจแยกผู้ชุมนุมออกเป็นฝ่ายย่อย ๆ

แต่ปัจจุบันบางครั้งการสลายการชุมนุมเกิดขึ้นก่อนที่การชุมนุมจะเริ่มด้วยซ้ำ”

ดังกล่าวสอดคล้องกับความเห็นของตัวแทนกลุ่ม OctDem ที่ระบุว่า “การชุมนุมเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน แต่ ณ เวลานี้คนไม่ทันได้เริ่มชุมนุมก็ปราบปรามเลย ตอนนี้คนที่ไม่ยึดสันติวิธีไม่ใช่ประชาชนแต่เป็นฝ่ายรัฐมากกว่า โดยเฉพาะการยั่วยุให้ผู้ชุมนุมตอบโต้ ซึ่งเราเกรงว่าตรงนี้จะซ้ำรอยและกลายเป็นข้ออ้างให้ใช้ความรุนแรงมากขึ้นเหมือนในอดีต”

เพราะไม่ฟัง ไม่ไว้ใจ จึงรู้สึกเหมือนเป็นศัตรู 

ตัวแทนกลุ่ม OctDem กล่าวถึงชนวนที่ขยับช่องว่างระหว่างรัฐกับฝ่ายผู้ชุมนุมให้กว้างขึ้นคือความรู้สึกว่าอีกฝ่ายเป็นศัตรู ยิ่งช่องว่างไกลขึ้น จากที่ไม่ฟังเสียงกันอยู่แล้วก็ยิ่งไม่ได้ยินเสียงมากขึ้น เมื่อไม่ได้ยินเสียงก็ไม่ไว้ใจ

“ปัจจุบันเด็ก ๆ ที่เข้าร่วมชุมนุมเพราะพวกเขามองไม่เห็นอนาคตในประเทศนี้ แต่ผู้ที่กุมอำนาจกลับไม่ฟัง ไม่นำไปคิดแก้ไข เพราะมองว่าพวกเขาเป็นศัตรู ทั้งที่เด็ก ๆ เยาวชนที่ต่อสู้อยู่บนถนนเวลานี้ ต่อไปอีกสิบปี ยี่สิบปีข้างหน้า เขาอาจเป็นมันสมองที่สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ แต่ถ้ารัฐบาลมองว่าเขาเป็นศัตรู มันก็เป็นความคิดที่ผิดพลาดมาก และเป็นการทำร้ายประเทศชาติอย่างยิ่ง มันไม่ควรเกิดขึ้น

ดังนั้นวิธีการเดิม ๆ ที่เคยใช้กับคนรุ่นพวกผม นี่มันไม่ได้ผลหรอกครับ คนรุ่นใหม่ที่ลุกขึ้นสู้มีอยู่เรื่อย ๆ เพราะปัญหามันไม่ถูกแก้ ปัญหาถูกซุกใต้พรมตลอดในหลายสิบปีที่ผ่านมา

เด็กเหล่านี้นำเอาปัญหาขึ้นมาพูดอย่างเปิดเผย ซึ่งแม้กระทั่งคนรุ่นผมยังไม่กล้าพูดเลย แต่เด็กรุ่นนี้เขากล้าพูด กล้าเปิดเผยปัญหาที่แท้จริงออกมา เพราะฉะนั้นควรอย่างยิ่งสำหรับใครที่ยังเป็นห่วงประเทศนี้อยู่ ควรจะรับฟังและพูดคุยกับพวกเขา ไม่ใช่มุ่งแต่จะปราบปราม”

ความรุนแรงของความ(พยาม)ชอบธรรม

“การนำเสนอความรุนแรงของการชุมนุมเป็นความพยายามเบี่ยงประเด็นของความรุนแรงแบบอื่นที่มีอยู่ เหมือนมีความพยายามทำให้ประเด็นความขัดแย้งครั้งนี้เป็นเรื่องระหว่างตำรวจกับผู้ชุมนุม เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่รัฐกับวัยรุ่นที่คึกคะนอง จริง ๆ มันไม่ใช่เลย เพราะที่เขาพยายามทำอยู่มันเป็นการส่งสารต่างหาก ให้นายกรัฐมนตรีลาออก ให้บริหารจัดการโควิดให้ดี แต่ปฏิกิริยาของรัฐกลับดื้อรั้น จับเข้าคุก ตั้งข้อหาต่าง ๆ นานา นี่คือสัญญาณของการไม่ฟัง ไม่ยอมรับข้อเรียกร้อง ลดทอนข้อเรียกร้องของมวลชน” 

กิตติชัยชวนมองอีกมุมของสถานการณ์ความรุนแรงปัจจุบัน ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของตัวแทนกลุ่ม OctDem ที่เห็นว่า “การใช้ตำรวจออกหน้ามีส่วนเบี่ยงประเด็น ทำให้คนหันมาสนใจว่าวันนี้จะเกิดความรุนแรงหรือเปล่า โดยลืมไปว่าจริง ๆ แล้วนักศึกษาเรียกร้องอะไรกันบ้าง เพราะเสียงปืน หมอกควัน ความวุ่นวายมากลบข้อเรียกร้องให้หายไป แต่ที่ไปไกลกว่านั้นคือความรุนแรงและความวุ่นวายอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมในการกอดเก้าอี้ของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ เพราะอย่าลืมว่าสภาพของความวุ่นวายแตกหักสองฝ่ายคือข้ออ้างว่าที่ต้องมีคณะทหารมาบริหารบ้านเมืองเพื่อความสงบสุขในปี 2557 เป็นการสร้างระบบคิดอย่างหนึ่งให้กับสังคมที่ได้ผลมาก ดังนั้นถึงแม้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์จะล้มเหลวแค่ไหน แต่ก็เขาก็มีข้ออ้างที่จำเป็นต้องอยู่ต่อ ข้ออ้างนั้นคืออยู่เพื่อรักษาความสงบ” 

นอกจากนี้กิตติชัยยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า “สิ่งที่ตำรวจควบคุมฝูงชนทำในวันนี้ มันเกินหน้าที่สิ่งที่ตำรวจควรจะทำ

ผมเป็นห่วงว่าตำรวจจะกลายเป็นเพียงเครื่องมือของรัฐ เป็นหนังหน้าไฟ ที่สุดท้ายก็ซวยเอง

ถ้าฝ่ายรัฐชนะ ตำรวจชั้นผู้น้อยก็คงไม่ได้อะไรเพิ่มขึ้นมาก ส่วนคนที่ได้ประโยชน์จริง ๆ กลับกลายเป็นตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่ออกหน้าว่าสามารถสนองนโยบายของผู้กุมอำนาจรัฐได้  แต่ถ้าผู้กุมอำนาจรัฐสูญเสียอำนาจ ตำรวจชั้นผู้น้อยจะเป็นยังไง ผมว่าพวกเขานี้ลำบากทั้งขึ้นทั้งล่องน่ะ”

ความรุนแรงเชิงโครงสร้างและวัฒนธรรม

เรามักมุ่งความสนใจไปที่ความรุนแรงบนท้องถนนเพราะมันเป็นความรุนแรงที่เห็นได้ชัด แต่สังคมยังมีความรุนแรงอีก 2 แบบ ที่ก็ทำร้ายชีวิตประชาชนอยู่ทุกวัน หนึ่งคือความรุนแรงเชิงโครงสร้าง สองคือความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม

กิตติชัยอธิบายว่า “ความรุนแรงเชิงโครงสร้างคือความรุนแรงที่มาจากตัวระบบกฎหมาย สถาบันต่าง ๆ ในสังคม เช่นกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่ผู้คนรู้สึกว่ามันไม่ยุติธรรม กลไกการตรวจสอบต่าง ๆ ที่มันไม่สามารถทำงานได้ หรือนโยบายที่ผิดพลาดของภาครัฐ อะไรเทือกนี้มันไปกดทับชีวิตประชาชนให้รู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือลำบากขึ้น ซึ่งนี่น่าจะเป็นคำตอบว่าทำไมผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ถึงเป็นเยาวชนรุ่นใหม่ เพราะพวกเขารู้สึกว่าวันนี้บ้านเมืองเรามีความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่พวกเขาไม่สามารถอดทนต่อมันได้แล้ว มันกดทับอนาคตของเขาและประเทศ จึงปะทุมาเป็นความขัดแย้ง แต่คนที่กุมอำนาจนำไม่ยอมฟังเขา เบี่ยงหน้าไปใช้ความรุนแรงจัดการมากกว่า เจ้าหน้าที่รัฐ ตำรวจ ทหาร ถูกฝึกมาให้ใช้ความรุนแรงจนเป็นเรื่องปกติ  ทั้งยังมีทรัพยากรพร้อม คนพร้อม เป็นผู้ผูกขาดความรุนแรงแต่ฝ่ายเดียว ปัญหาที่ตามมาคือแล้วใครเล่าคุมรัฐ ถ้าสังคมไทยของเราเป็นประชาธิปไตยคนคุมรัฐก็คือประชาชน ส่วนความขัดแย้งเชิงวัฒนธรรม การมีอยู่ของระบบชนชั้น ระบบข้าราชการนิยม ระบบของการไม่ตรวจสอบอย่างจริงจังใช้คำว่าคนดีมาปิดปากปิดตากัน ทั้งสองนี้กดทับชีวิตของคนในสังคม”

สันติวิธีของม็อบ

สันติวิธีในฝ่ายของมวลชน กิตติชัยแนะนำว่า “อย่างแรกอย่างเพิ่งชี้หน้าใครว่าใช้ความรุนแรงหรือไม่ใช้ความรุนแรง เช่นม็อบที่ดินแดงวันก่อน บางคนออกมาร้องบอกว่าคนกลุ่มหนึ่งใช้ความรุนแรง มาต่อสู้ด้วยความคึกคะนองทำให้ขบวนการประท้วงเสีย แต่ผมมองว่าจริง ๆ พวกเขายังไม่ใช้ความรุนแรง เขาแค่ตอบโต้ตำรวจ โดยยังไม่ได้ทำร้ายใครให้บาดเจ็บเลย เป็นการตอบโต้ตำรวจเป็นหลัก ดังนั้นอย่างเพิ่งรีบผลัก เพราะไม่งั้นจะกลายเป็นการประทับตราความรุนแรงให้พวกเขา ซึ่งพวกเขาก็จะขาดความชอบธรรม”

“ที่สำคัญคือมวลชนมีกลยุทธ์มากมายที่จะต่อกรกับอำนาจรัฐ ส่วนตัวผมมองเห็นกลยุทธ์หลัก ๆ อยู่ 3 แบบ หนึ่งคือชักจูงโน้มน้าวคู่กรณีให้เข้าใจและเปลี่ยนใจไม่ทำในสิ่งที่กดทับประชาชน หากโน้มน้าวไม่เป็นผลต่อมาคือการถอนความร่วมมือ ในสังคมเราโดยปกติคนมีอำนาจอยู่ได้ เพราะมีคนยอมให้เขามีอำนาจ อาทิช่องโทรทัศน์อยู่ได้ก็ด้วยเงินสนับสนุนจากบริษัทต่าง ๆ ขณะที่บริษัทเหล่านั้นอยู่ได้ก็ด้วยการอุดหนุนสินค้าจากประชาชน หลายครั้งทางออกของการถอนความร่วมมือจึงเป็นการบอยคอตแบรนด์สินค้า เพื่อส่งเสียงให้พวกเขาทำหรือไม่ทำในสิ่งที่ประชาชนต้องการ ส่วนวิธีสุดท้ายคือการแทรกแซง ขัดขวาง โดยทำให้คู่กรณีมีต้นทุนที่สูงขึ้น เช่นการขวางถนน ปิดสถานที่บางอย่าง ซึ่งสามกลยุทธ์นี้มวลชนสามารถมาออกแบบได้หลายร้อยวิธีตามแต่จะสร้างสรรค์” 

กล่าวอย่างย่นย่อ เสรีภาพการชุมนุมยังคงเป็นของมวลชนเสมอ เพียงแต่ทุกการใช้เสรีภาพต้องตามมาด้วยความรับผิดชอบ วิธีการไปถึงเป้าหมายของการเรียกร้องซึ่งทำได้หลากหลายจึงต้องไม่อาศัยความรุนแรง

และหากจะรักษาขบวนไว้ให้มีพลัง มวลชนอาจต้องทำความเข้าใจความรุนแรงในความหมายที่กว้างขึ้น

เมื่อคนร่วมขบวนก่นด่า สาดสี ขว้างปาข้าวของ หรือกระทำอื่นใดที่ยังไม่ส่อว่ากดทับชีวิตพื้นฐานของผู้คน ก็อย่าเพิ่งชี้หน้าว่าคน ๆ นั้นใช้ความรุนแรง เพราะไม่เพียงแต่จะทำให้เสียขบวน หากแต่อาจบานปลายกลายเป็นความขัดแย้งกันเอง

วิธีสันติของรัฐ

ขณะที่ฝ่ายรัฐต้องทบทวนอำนาจและหน้าที่ของตนเอง ไม่ให้เกินขอบเขตและใช้ผิด กิตติชัยเน้นย้ำว่า “แม้ประชาชนบางกลุ่มใช้ความรุนแรง ก็ไม่ได้หมายความว่าคนกลุ่มนั้นสมควรถูกฆ่า หรือถูกทำร้ายเกินกว่าเหตุ ว่ากันโดยปกติคือเมื่อสองฝ่ายทะเลาะกัน รัฐก็ไม่มีสิทธิ์ฆ่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ต้องตรวจสอบก่อนว่าเกิดอะไรขึ้น รัฐต้องหยุดตัวเอง เพราะรัฐไม่มีสิทธิ์ทำร้ายประชาชน การเรียกร้องของเขาไม่ใช่อาชญากรรม”

“อย่างไรก็ดีรัฐที่ว่านี้ไม่ได้หมายถึงเฉพาะรัฐบาล แต่หมายรวมถึงทุกภาคส่วน ตั้งแต่เจ้าหน้าที่ ข้าราชการ ตำรวจ ทหาร และหน่วยงานอื่น ๆ ผมว่าคนเหล่านี้ต้องตั้งคำถามนะครับว่าจะรับใช้ใคร ประชาชนหรือคนที่กุมอำนาจเหนือตน ส่วนตัวรัฐบาล ผมว่าช่วงนี้ก็ต้องหาทางลงดี ๆ ถ้าเลือกเดินหน้าใช้ความรุนแรงคงจบไม่สวย แต่ถ้าบอกว่ารักประเทศชาติจริง ๆ ต้องไม่ทำร้ายประชาชน หาทางลงยังทัน ตอนนี้ประชาชนยังมีหวัง ไม่มีใครบอกจะรุมประชาทัณฑ์คนในรัฐบาล ไม่มีใครเกลียดรัฐบาลขนาดนั้น อย่าให้สังคมไทยถึงขั้นนั้นเลย ตอนนี้สังคมยังมีทางออกอยู่ยังไม่ตัน การแก้รัฐธรรมนูญ การลาออก การยุบสภา เหล่านี้ล้วนเป็นทางออกได้ทั้งนั้น”

เช่นนั้น หากไม่ปรารถนาความรุนแรง รัฐจึงต้องจัดตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองใหม่ ถอยกลับไปยืนในตำแหน่งของผู้ทำหน้าที่รักษาความสงบ และอำนวยความสะดวกให้การใช้เสรีภาพของประชาชนเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

หากเกิดเหตุรุนแรงในม็อบ ก็ต้องไม่ลัดขั้นตอน ทุกการขยับแต่ละก้าวมีหลักกฎหมายและหลักสากลกำกับไว้ ถ้าตระหนักถึงหน้าที่และกฎกติกาอย่างจริงจัง ก็เพียงพอแล้วที่จะเป็นการดำเนินการด้วยวิธีที่สันติ


นิติบัญญัติและตุลาการที่พึ่งที่ยังพึ่งได้ (ใช่ไหม)

อย่างไรก็ดีประชาธิปไตยคือระบอบถูกที่ออกแบบให้มีการถ่วงดุลอำนาจกันสามฝ่าย หากประชาชนรู้สึกว่าพึ่งพิงฝ่ายบริหารไม่ได้ ฝ่ายนิติบัญญัติและตุลาการก็ต้องเคียงข้างประชาชนในการตรวจสอบ ท้าถาม การใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร 

ตัวแทนกลุ่ม “OctDem” มองว่า “ผู้แทนประชาชนในรัฐสภาต้องมีส่วนช่วยขับเคลื่อนการเคลื่อนไหวของประชาชน ซึ่งปัจจุบันนี้ก็น่ายินดีว่ามี ส.ส. ที่ทำหน้าที่ตรงนี้จริง ๆ ทำหน้าที่ในการตรวจสอบรัฐบาลอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะการอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้นถ้าทำได้ดี หาหลักฐานที่มีน้ำหนักมาประกอบ ก็จะช่วยแสดงให้เห็นว่าคู่ขนานกันไปกับการต่อสู้ของประชาชนนั้นมีการต่อสู้ในสภาอยู่”

“เรื่องน่ายินดีอีกเรื่องคือมี ส.ส. ที่พยายามเรียกร้องผ่านการออกแถลงการณ์ให้ยุติการใช้ความรุนแรงต่อประชาชน มันทำให้รู้สึกว่าประชาชนไม่โดดเดี่ยว เพราะการต่อสู้นอกสภาก็ยังไม่ถูกทอดทิ้งจากคนในสภา”

ขณะที่เมื่อขยับไปถามถึงการทำหน้าที่เป็นที่พึ่งของกระบวนการยุติธรรมบ้าง ตัวแทนกลุ่ม OctDem ก็แสดงความกังวล เพราะที่ผ่านมาพอจะเห็นร่องรอยกันบ้างแล้วว่าเมื่อการเคลื่อนไหวอย่างสันติวิธีของมวลชนต้องขึ้นโรงขึ้นศาลก็มักไม่ได้รับความยุติธรรมอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งก่อนหน้านี้กลุ่ม OctDem เองก็เคยไปยื่นหนังสือต่อประธานศาลฎีกาให้ทบทวนกรณีไม่ให้ประกันตัวผู้ต้องหา

“กระบวนการยุติธรรมเริ่มมามีปัญหาเด่นชัด ก็เมื่อเกิดแนวความคิดเรื่องตุลาการภิวัฒน์ขึ้น จุดนี้เองที่ดึงตุลาการมายุ่งเกี่ยวกับการจัดการทางการเมือง เพราะพวกเขาถูกมองจากสังคมว่าน่าเชื่อถือ แต่ผลกลายเป็นว่าเป็นการดึงสถาบันที่มีความน่าเชื่อถึงมาเล่นกับความขัดแย้ง มันจึงเสี่ยงมากต่อความน่าเชื่อถือของทั้งตัวบทกฎหมาย

ความน่าเชื่อถือของสถาบันศาล รวมถึงตำรวจที่ก่อนหน้านี้ได้ชื่อว่าเป็นผู้ทักษ์สันติราษฎร์ ก็กลายมาเป็นผู้ขัดแย้งกับราษฎร์แทน”


เชื่อว่าคนในสังคมไทยคงไม่อยากเห็นใครถูกทุบตีเหมือนในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ถูกเหยียบกระทืบเหมือนในเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 หรือถูกลอบยิงเหมือนในเหตุการณ์พฤษภาคม 2553 อีก เหล่านั้นล้วนเป็นประวัติศาสตร์บาดแผลที่สร้างทั้งความเจ็บปวดทางกายและใจให้คนจำนวนไม่น้อย วันนี้เราจึงควรเปิดอกยอมรับความเห็นต่างและเผชิญหน้ากับความขัดแย้งอย่างไม่รู้สึกว่ามันเป็นสิ่งผิดปกติที่จะมากระชากความสงบสุขของสังคมให้หายไป แต่ควรคิดเห็นว่าความขัดแย้งคือโอกาสของการเผยเปิดปัญหาซึ่งซุกอยู่ใต้พรมมากกว่า ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมระยะยาว ในวันที่ความเคลื่อนไหวของมวลชนยังอื้ออึงอยู่นี้ทุกฝ่ายจึงยังมีเวลา ยังมีพื้นที่ทบทวนความเข้าใจว่าด้วยสันติวิธี เพื่อหยิบมาใช้จัดการความขัดแย้งโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาความรุนแรงอีก