อายุน้อยร้อยล้าน มายาคติที่ทำลายการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ : กรณีศึกษาจากฟินแลนด์ - Decode
Reading Time: < 1 minute

ประกายไฟลามทุ่ง

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ยิ่งเริ่มทำงานไวอาจไม่ได้ทำให้รวยแต่ทำให้การต่อรองเพื่องานที่มั่นคงน้อยลง

“อายุน้อยร้อยล้าน”
“อย่าเสียเวลากับทฤษฎีให้รีบทำมาหากิน”
“โลกความจริงไม่เหมือนกับตำรา”

คำอธิบายเหล่านี้ปรากฏในคำอธิบายในหนังสือแนว How to จำนวนมาก โดยอธิบายบนพื้นฐานที่ว่าโลกปัจจุบันนี้คือโลกของการแสวงหากำไรอย่างเต็มที่ โอกาสของความมั่งคั่งร่ำรวยในวิชาชีพ หรือการทำธุรกิจต่าง ๆ เปิดกว้างโดยที่ไม่จำเป็นต้องไปเสียเวลากับการศึกษา หรือการค้นหาตัวเองทางปรัชญาอื่นใด

เพราะโลกนี้มีความจริงเพียงชุดเดียวคือ การที่เราต้อง “พิชิตความสำเร็จ” ให้ได้เร็วที่สุด ไวที่สุด รวยที่สุด จนน่าตั้งคำถามว่าอยู่สองประเด็นหลักคือ ประการแรก โลกนี้มีที่พอให้ทุกคนหรือไม่หากเราต้องการที่จะครอบครองทรัพยากรมากมายขนาดนั้น ตามด้วยคำถามที่สอง แล้วตัวเราอยู่ตรงไหนของคำอธิบายนี้ เป็นคนส่วนน้อยที่รุ่งโรจน์ประสบความสำเร็จหรือเป็นเพียงคนส่วนใหญ่ที่ล้มเหลว 

งานวิจัยกรณีศึกษาในประเทศฟินแลนด์ได้ช่วยคลี่คลายคำถามนี้ แม้ฟินแลนด์จะเป็นประเทศที่มีระบบสวัสดิการที่ก้าวหน้าที่สุดประเทศหนึ่งของโลก แต่จากการศึกษาพบว่า การที่ปัจเจกชนคนหนึ่งต้องเข้าสู่ตลาดแรงงานเร็วขึ้นมีเหตุปัจจัยหลัก มาจากความเหลื่อมล้ำทางโอกาสที่ได้รับน้อยกว่าเมื่ออยู่ในวัยเด็ก และส่งผลให้มีแนวโน้มที่ไม่สามารถต่อรองในตลาดแรงงานได้ดีเท่าไรนัก

งานวิจัยจากสถาบันสวัสดิการและสาธารณสุขแห่งฟินแลนด์ได้ระบุว่า เมื่อพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างการจ้างงานในช่วงเริ่มแรกของชีวิต กับประสบการณ์ในวัยเด็กของประชาชนในฟินแลนด์ที่เกิดช่วงปลายทศวรรษ 1980 พบว่ากลุ่มประชากรที่มีแนวโน้มเสียเปรียบทางสังคมหรือสุขภาพในวัยเด็ก เช่น มีพ่อแม่อยู่ในวัยรุ่น อยู่ในครอบครัวที่มีปัญหาสุขภาพ หรือมีสถานะทางสังคมที่ไม่มั่นคง

เมื่อเติบโตขึ้น กลุ่มที่เสียเปรียบนี้จะมีแนวโน้มเข้าสู่ตลาดแรงงานเร็วกว่ากลุ่มคนที่มีความได้เปรียบทางสังคม และกลุ่มที่เสียเปรียบทางสังคมในช่วงห้าปีแรกของการเริ่มทำงานมีโอกาสที่จะเสียงานมากกว่า ไม่สามารถกลับไปศึกษาต่อในระดับการศึกษาที่สูงขึ้นได้ รวมถึงการไม่สามารถยกระดับงาน และรายได้ของตนเองได้ในช่วงเวลาห้าปีแรก พร้อมกันนั้นในระยะยาวก็มีแนวโน้มมของช่วงที่ขาดรายได้ยาวนานมากกว่ากลุ่มที่มีโอกาสทางสังคมมากกว่าซึ่งเข้าสู่ตลาดแรงงานช้ากว่า

เมื่อพิจารณาเช่นนี้ ปรากฏการณ์อายุน้อยร้อยล้าน ที่เราเคยพูดถึงในสังคมไทยมาตลอดหลายปี ในการกระตุ้นคนรุ่นใหม่ให้รีบทำงานและรีบรวย กลายเป็นสิ่งที่เป็นปัญหาหรือไม่ เพราะเมื่อพิจารณาแล้วก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรกับการที่คนรุ่นใหม่จะมุ่งมั่นและรีบไขว่คว้าความสำเร็จ

แต่ผลการศึกษาชิ้นนี้อาจชวนมองปรากฏการณ์ใหม่ว่า จริง ๆ แล้วเราน่าตั้งคำถามว่า

ความรวย = ความสำเร็จ หรือไม่

และจริง ๆ มนุษย์จำเป็นต้องรีบเข้าสู่ตลาดแรงงานมากขนาดนั้นหรือไม่ ? หรือมนุษย์ควรที่จะมีเวลาว่าง ศึกษา ขบคิด พูดคุย แลกเปลี่ยนความฝัน ลองผิดลองถูกก่อน เพราะตามจริงแล้วคนที่มีโอกาสทางสังคมมากกว่า ก็ล้วนได้รับโอกาสเหล่านี้ แต่คนที่มีโอกาสทางสังคมน้อยกว่ากลับถูกผลักให้ต้อง “รีบทำงานให้ตรงกับตลาดแรงงาน” หรือ “คิดทำธุรกิจตอบสนองความต้องการของตลาด ณ ขณะนั้น”

สุดท้ายแล้วคนส่วนใหญ่ไม่ได้กลายเป็นอายุน้อยร้อยล้าน พวกเขาจบลงที่งานที่ถูกจำเพาะให้กับชนชั้นของเขา มีอำนาจต่อรองต่ำเพราะขาดทักษะและประสบการณ์การต่อรอง สุดท้ายกลับกลายเป็นสิ่งที่ทำลายจินตนาการของคนรุ่นใหม่โดยไม่รู้ตัว เมื่อทุกอย่างถูกลดทอนให้พวกเขาต้องคิดแต่เรื่องเอาตัวรอดในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งต่างจากกลุ่มที่มีโอกาสทางสังคม ที่สามารถคิดฝันถึงเรื่องอนาคตทั้งของตัวเองและสังคม

เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ในงานวิจัยได้ทำการวิเคราะห์ถึงเหตุปัจจัยที่มีความสัมพันธ์เช่น กรณีที่พ่อหรือแม่มีโรคประจำตัวไม่ว่าทางกายหรือทางจิตใจ ลักษณะเช่นนี้อาจทำให้การสนับสนุนการพัฒนาตัวตนของลูกได้น้อยลงในช่วงก่อนวัยรุ่น ซึ่งส่งผลสำคัญต่อวิธีการคิดเรื่องการศึกษาต่อในการศึกษาในระดับสูง (แม้ว่าฟินแลนด์จะมีการศึกษาฟรีให้ทั้งระบบแล้วก็ตาม)

หรือกรณีการที่ครอบครัวมาจากพ่อแม่วัยรุ่น ที่เริ่มชีวิตครอบครัวก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน ก็อาจทำให้พ่อแม่มีอำนาจในการต่อรองในตลาดแรงงานต่ำ ไม่มีประสบการณ์ในการเปลี่ยนงานเพื่อให้ได้รายได้เพิ่มขึ้น หรือการต่อรองกับนายจ้างในแบบรวมหมู่ร่วมกับสมาคมสหภาพต่าง ๆ ลักษณะเช่นนี้ส่งผลสำคัญให้รุ่นลูกที่เติบโตขึ้นมา ก็มีแนวโน้มขาดประสบการณ์จากการต่อสู้ต่อรองเพื่องานที่มั่นคงเช่นเดียวกัน จึงชี้ให้เห็นว่าการเข้าสู่ตลาดแรงงานเร็ว ไม่ว่าจะเป็นแรงงานหรือผู้ประกอบการ กลายเป็นตัวบ่งชี้ความเหลื่อมล้ำมากกว่า การขยายโอกาสของผู้คนในวงกว้าง

เช่นนั้นทางแก้ไขอยู่ที่จุดใด ? สิ่งที่ควรทำมากกว่าการส่งเสริมให้กลุ่มคนที่ด้อยโอกาส

ไม่ต้องเรียนรีบออกมาทำงาน หรือเรียนสิ่งที่ตรงสายเป็นหลักสูตรระยะสั้นเพื่อให้รีบออกมาทำงาน  คือการเร่งแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำที่พวกเขาเผชิญตั้งแต่ในช่วงวัยเด็ก

การขยายสวัสดิการในทุกมิติ ขยายการบริการทางสังคม ขยายการให้บริการทางสาธารณสุขให้ครอบคลุมมากขึ้น ปรับเปลี่ยนการศึกษาเพื่อเพิ่มความหลากหลาย ไม่ให้เกิดการกลั่นแกล้งกันในโรงเรียน ไม่ตีตราจำเพาะว่าอาชีพใดสูงส่งกว่าอีกอาชีพ ให้พวกคนรุ่นใหม่เติบโตขึ้นมาในทางเลือกที่ใกล้เคียงกันที่สุดก่อนที่จะได้ตัดสินใจเลือก ได้เลือกและเริ่มทำงานเมื่อพร้อม ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ทักษะต่องานชิ้นนั้น แต่หมายถึงความพร้อมต่อการที่จะต่อสู้รักษาสิทธิของชนชั้นแรงงาน รวมถึงรักษาจินตนาการในชีวิตของตนเองด้วย

อาจมีคนตั้งคำถามว่าเหตุใด ประเทศที่มีระบบรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าแบบฟินแลนด์ ยังคงมีปัญหาอยู่ ทำไมเรื่องเล็ก ๆเหล่านี้ยังแก้ไม่ได้ ผมคิดว่าคำอธิบายที่น่าจะดีที่สุดคือ เมื่อเราอยู่ในสังคมที่เสมอภาคมาก ๆ เมื่อเราเห็นความเหลื่อมล้ำเพียงเล็กน้อยก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ เช่นเดียวกัน หากเราอยู่ในประเทศที่เหลื่อมล้ำมาก ๆ ความเท่าเทียมเพียงเล็กน้อยเราก็อาจมองว่าเป็นเรื่องไกลตัวจนเป็นไปไม่ได้

อ่านงานวิจัยเพิ่มเติม
Predicting the stability of early employment with its timing and childhood social and health-related predictors: a mixture Markov model approach  (2021)
โดย :Satu Helske Markus Keski-Säntti Juha Kivelä Aapo Juutinen Antti Kääriälä Mika Gissler Marko Merikukka Tea Lallukka
เผยแพร่ทาง https://osf.io/preprints/socarxiv/qkcxs