ลอกคราบ ผลิใบใน “วอลเดน” - Decode
Reading Time: 2 minutes

ไม่ว่าจะมีชีวิตหรือตายจากไป เรามักจะโหยหาความจริงอยู่วันยังค่ำ

ความจริงจากเรื่องสยองสองสามหลักของการตายรายวันจากโควิด ถูกทำให้เป็นเรื่องปกติและคณิตศาสตร์ของความสูญเสียที่เราไม่เคยรู้จักคนเหล่านั้น แต่รู้ว่าถูกนับเป็นผลรวม หรือไม่ก็ถูกจัดประเภทอยู่ในกลุ่มอ้วน ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ฉันปัดฝุ่นหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาเพื่อค้นหาความจริงและความหวังอันมีชีวิตในค่ำคืนแห่งการระลึกถึงวาระการตายของพี่น้องร่วมชาติ ครุ่นคิดไปกับสภาพชีวิตภายนอกที่ตกต่ำ น้ำตารื้นไปกับผู้คนที่จากไปโดยไม่ยินยอม เฝ้ามองนาฏกรรมชีวิตของแม่อายุ 78 กับลูกชายที่ป่วยเป็นโปลิโอ “แม่สู้ไม่ไหวแล้ว” โดยที่ลูกชายยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า…แม่ได้จากไปแล้ว

คนที่จากไป…

คนที่ยังอยู่…

คนที่ช่วยเหลือ…ล้วนเจ็บปวด

มีวาระของหัวใจสลาย ก็คงมีวาระของความเบ่งบาน ชีวิตจึงไม่ใช่เส้นตรงแต่เป็น…ฤดูกาล ซึ่งธอโรเริ่มและจบที่ฤดูใบไม้ผลิกับการเผชิญหน้าสองฤดูหนาว ซึ่งต้องยอมรับว่า การมีชีวิตในวันนี้ปฏิเสธในสิ่งที่ตนไม่ได้เลือกมันยากขึ้นทุกยุคสมัย เพราะในยุคสมัยนั้น ธอโรปฏิเสธที่จะจ่ายภาษีให้กับรัฐ ด้วยเหตุผลว่าไม่เห็นด้วยกับสงครามและนโยบายเรื่องทาส เขาถูกจับขังหนึ่งคืนและนำไปสู่ความเรียง “อารยะขัดขืน” ที่ทรงอิทธิพลต่อมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ และมหาตมะ คานธี ต้นธารสันติอหิงสาก็ได้รับแรงบันดาลใจจากวอลเดนเป็นอย่างมาก หรืออย่างน้อยก็ส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อความคิด ชีวิตและจิตวิญญาณของคนหนุ่มสาวในฐานะที่เป็นประกายไฟในความมืดมิดจากกฎเกณฑ์ จารีต และการเลียนแบบความฝันของคนอื่น

เชื่อเถอะว่า เขาเป็นคนแปลกหน้าของเพื่อน เป็นแกะดำในสังคมแกะขาว วิพากษ์สังคมอย่างชัดถ้อยชัดคำ ทั้งยังครุ่นคิดอย่างลึกซึ้ง โดยยกให้ธรรมชาติเป็นครูที่เก่าแก่ แต่ไม่ใช่ความดิบเถื่อนหยาบกระด้างไร้วัฒนธรรม หากเป็นความดิบที่ประณีตลุ่มลึก เปล่าเปลือยและจริงแท้ต่อความจริง เลยทำให้ “บางความ” ในวอลเดน ค่อนข้างจะ “เคี้ยวยาก” แต่ “รื่นรมย์จมดิ่ง” ไปในบึงวอลเดนโดยรู้ตัว บางครั้งการอ่านด้วย “สายตาของธอโร” ใน “ภาษาของวอลเดน” สำหรับฉันมันเหมือนตอนผิวปากในจังหวะ 72 บีท เนิบช้า สบาย ๆ เลยไม่แปลกใจที่ทางการแพทย์มักจะใช้จังหวะแบบนี้กับผู้ป่วยที่จะผ่าตัด เหมือนกันก็ตรงที่ในสภาพคับขันแบบนี้ฉันยังมีท่วงทำนองเป็นของตัวเองไม่มีแบบแผนตายตัว โอบกอดตัวเองในวันที่อ่อนแรง และจริงแท้ต่อตัวเองว่ามีแค่สองสามสิ่งในชีวิตเหมือนกับที่ธอโรเปิดเผยให้ฉันเห็นความจริงตรงหน้าจากการลงมือสร้างกระท่อมริมบึงวอลเดน เปิดฉากการทดลองใช้ชีวิตเรียบง่ายตามลำพังอยู่สองปีสองเดือน ห่างไกลจากเพื่อนบ้าน และหาเลี้ยงปากท้องด้วยการเป็นแรงงาน

ด้วยเหตุผลเดียวที่ฉันอ่านใจธอโรออก เขาอยากใช้ชีวิตอย่างไม่มีชีวิตเพื่อเผชิญกับปัจจัยพื้นฐานที่สุดของชีวิตเท่านั้น ลองดูว่าเขาเองจะเรียนรู้ในสิ่งที่สมควรจะรู้หรือไม่ และเมื่อถึงวันที่ต้องตายจากไป “ฉันจะได้ไม่ต้องพบว่า ยังไม่ได้มีชีวิตอยู่อย่างแท้จริงเลย ฉันไม่ปรารถนาที่จะใช้ชีวิตอย่างไม่มีชีวิต” ธอโร ยืนยันความต้องการที่จะดิ่งลงในชีวิต ดูดดื่มแก่นแท้ที่สุดของมัน มีชีวิตอยู่อย่างเรียบง่ายสมถะ ทรหดเยี่ยงชาวสปาร์ตัน

สลัดสิ่งที่ฟุ่มเฟือยไร้สาระออกไป เพื่อต้อนชีวิตไปให้ถึงมุมอับและลดทอนมันให้ต่ำต้อยที่สุด หากว่าชีวิตเป็นสิ่งที่สูงส่ง เขาก็จะทดลองให้รู้จริง ฉันนึกถึงอุปมาจากต้นมะเดื่อที่ต้องยอมรับการเหี่ยวเฉาร่วงหล่นจนหมดต้นกว่าที่กิ่งก้านเขียวสดจะแตกใบอ่อน มันเป็นสัญญาณว่า ฤดูฝนใกล้จะมาถึง 

ความจริง จึงเป็นเรื่องเดียวกับการละเมียดรับรสวอลเดนไปอย่างเนิบช้า ให้ความรู้สึกเหมือนอ่านไบเบิลอยู่บ่อยครั้ง ที่ยิ่งทวนซ้ำ ยิ่งดำดิ่ง ยิ่งปลุกเร้าให้ลิงโลดขึ้นสู่ชีวิตภายในที่สูงขึ้นจากสภาพชีวิตภายนอกที่ตกต่ำ เหมือน ๆ กับชีวิตของ “โยบ”ที่มีสภาพชีวิตตกต่ำจากร่ำรวยเป็นยาจกและจากคนปกติกลายเป็นฝีเต็มตัว หนำซ้ำยังถูกเย้ยหยันจากคนที่ไว้ใจที่สุดทั้งภรรยาและเพื่อนสนิท โยบเปรียบสภาพชีวิตที่ตกต่ำของเขาเหมือนน้ำที่ไหลผ่าน “เราจะลืมความทุกข์ของเรา และจะนึกถึงว่ามันเป็นเหมือนน้ำที่ไหลผ่านไป และชีวิตของเราจะสุกสว่างยิ่งกว่าแสงในเวลาเที่ยงวัน ความมืดของชีวิตจะเหมือนรุ่งอรุณ”

คงมีไม่กี่ครั้งในชีวิตที่เราจะตกต่ำถึงขีดสุด ,ขอให้เป็นครั้งเดียว และคงเป็นครั้งนี้ที่โควิดไล่ต้อนเราให้จนมุม ซึ่งธอโร ไม่มีโอกาสแบบนั้น แต่เขาเลือกเองต้อนตัวเองให้จนมุม หวังจะเรียนรู้ในสิ่งที่สมควรจะรู้ ในสภาพที่อับจนและต่ำต้อยพอกัน ต่างกันเพียงแค่…ฉันไม่ได้เลือกเอง! แต่มาถึงจุดนี้แล้ว ยิ่งสภาพชีวิตภายนอกเลวร้าย เสื่อมทรุด ยิ่งจำเป็นแก่ดูแลสภาพชีวิตภายใน มากเท่าทวีคูณ

แรกสุด ธอโรลอกเปลือกที่ห่อหุ้มชีวิตภายในไปทีละชั้น ชั้นนอกคือเสื้อผ้า แท้จริงมันมีจุดมุ่งหมายของการสวมใส่เพื่อรักษาความร้อนแห่งชีวิต ปกปิดความเปลือยเปล่า บางทีเราอาจไม่มีวันจะได้ชุดใหม่ ไม่ว่าชุดเก่าจะขาดวิ่นสกปรกขนาดไหน กระทั่งได้ลอกคราบ ผลิใบ ดำเนินชีวิตไปในบางวิถีทางที่จะทำให้เราได้รู้สึกเหมือนเป็นคนใหม่ในร่างเก่า

แล้วฤดูกาลผลัดขนก็มาถึง คนเราก็คงไม่ต่างจากนกเป็ดน้ำที่ต้องออกไปในบึงเปลี่ยวในช่วงเวลานี้เพื่อผลัดขนเป็นคนใหม่ในร่างเก่า อย่างที่ธอโร เฝ้าสังเกตสัตว์ปีกทั้งงูและดักแด้ที่ลอกคราบโดยการคลายขยายตัวจากภายใน เสื้อผ้าจึงเป็นเพียงหนังกำพร้านอกสุดเท่านั้น และชั้นต่อมาคือ เคหสถานบ้านเรือน ต้นฤดูใบไม้ผลิปี 1845 ธอโรได้ลงมือสร้างกระท่อมขึ้นในป่าริมบึงวอลเดนตราบเท่าที่มันทำให้เขาสบายใจในราคาไม่เกิน 28 เหรียญ 12 เซ็นต์ครึ่ง อ่านไม่ผิดหรอกค่ะ มันเป็นความตั้งใจจากความเรียบง่ายที่ธอโรย้ำนักย้ำหนา เพราะเขายอมให้เรื่องราวในชีวิตมีอยู่แค่สองหรือสาม ไม่ใช่ร้อยหรือพัน

ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าที่หามาใส่ หรือกระท่อมไม้ซุง ก็ล้วนเป็นแค่เปลือกที่พายุเดือน“กันยา” สักหอบหนึ่งพัดปลิวไป มันเป็นอันเดียวกับที่สร้างโลงศพ สถาปัตยกรรมแห่งสุสานโดยที่ช่างไม้จะว่าไปก็เป็นเพียงอีกชื่อหนึ่งของ “ช่างต่อโลง” ในหมู่ความสิ้นหวัง

มันไม่มีประตู ไม่มีลานหน้าบ้าน ไม่มีทางที่ทอดยาวสู่โลกอารยะ

โลกหนึ่งสู่อีกโลกหนึ่งที่ถูกตกแต่งใหม่ บางทีเราก็เหมือนคนที่กำลังออกเดินทางพร้อมสัมภาระมากมาย หอบหิ้วข้าวของต่าง ๆ นานาที่สะสมไว้ โดยไม่มีความกล้าหาญที่จะเผาทิ้งเลยด้วยซ้ำ ธอโรถึงเลือกจัดวางเครื่องเรือนอยู่น้อยชิ้นไม่ติดยึดกับความรกรุงรังในชีวิต และเชื่อเถอะว่า เขามีเก้าอี้แค่สามตัวในบ้าน

หนึ่งตัวสำหรับความสันโดษ

สองตัวสำหรับมิตรภาพ

สามตัวสำหรับผู้มาเยือน

บ่อยครั้งที่เขาทำความสะอาดบ้าน กลายเป็นจินตนาการใหม่ที่ฉันคาดไม่ถึงว่าจะเป็นมิติใหม่ของการทำงานบ้าน เมื่อพื้นสกปรก ธอโรจะตื่นแต่เช้าตรู่แล้วย้ายข้าวของในบ้านออกทั้งหมดไปกองไว้บนพื้นหญ้านอกบ้าน เตียงและโครงเตียงก็ด้วยใช้ไม้กวาดขัดถูกมันจนขาวสะอาด แล้วจ้องมองมันอย่างมีความหมายเป็นเรื่องน่ารื่นรมย์ที่ได้เห็นเครื่องเรือนของเขาเองกองอยู่ดูเป็นกองเล็ก ๆ เหมือนสัมภาระยิปซี “พวกมันดูเหมือนจะยินดีที่ตัวเองได้ออกไปข้างนอก และประหนึ่งว่าไม่เต็มใจที่ถูกนำกลับเข้ามาอีก” ไม่ต้องสงสัยเลยว่ามนุษย์ได้สูญเสียความยืดหยุ่นไปแล้วและอยู่ในสภาพติดตายกับสัมภาระรุงรัง  อะไรที่เป็นจริงสำหรับคน ๆ นึง ก็ยิ่งเป็นจริงกว่าสำหรับคนนับพัน ทั้งยืนยันถึงความหวังในการมีชีวิตอยู่แค่สองหรือสามเรื่องเท่านั้น แม้แต่เรื่องปากท้อง

ทำไมเราถึงคิดว่าจะอดตายก่อนที่จะหิวซะอีก เขาค้นพบว่าการทำงานในหกสัปดาห์ต่อหนึ่งปีก็พอยังชีพแล้ว และให้คุณค่ากับเสรีภาพของของตนเองเป็นพิเศษ  สำหรับธอโรแล้วเขาได้ค้นพบว่า อาชีพกรรมกรรายวันเป็นอิสระที่สุด เมื่อได้ใช้เวลาเพียงสามสิบถึงสี่สิบวันเท่านั้นก็พอยังชีพแล้ว วันของผู้เป็นแรงงานของตนสิ้นสุดเมื่อตะวันรอน “แต่กระนั้นมนุษย์ก็ได้มาถึงสภาพที่มักจะอดตายบ่อยครั้ง ไม่ใช่เพราะต้องการสิ่งที่จำเป็น แต่เพราะต้องการสิ่งที่ฟุ่มเฟือย” ธอโรเป็นพยานแก่เราผ่านการเป็นชาวไร่ที่ไม่ได้มีที่ดินเป็นของตัวเอง

สำนึกที่ดีเป็นชิ้นเดียวที่เขาคิดว่ามีค่า ควรแก่การรำลึกยิ่งกว่าอนุสรณ์สถานสูงเทียมฟ้า

ฉันเองก็ยินดีที่จะรับเอาชีวิตที่เล็กน้อย แต่เกิดผลเหมือนต้นก้ามปูที่มีวาระของการเบ่งบาน และมีวาระความโรยราเหี่ยวเฉาแต่ก็ไม่ปักใจยึดมั่นในสิ่งที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า

“ฉันไปและมาพร้อมกับเสรีภาพประหลาดชนิดหนึ่งในธรรมชาติ, เป็นส่วนหนึ่งของตัวธรรมชาติเอง

ความหวั่นไหวไปกับใบอัลเดอร์และปอปลาร์เกือบทำให้ฉันลมหายใจขาดห้วง

กระนั้น,เยี่ยงเดียวกับทะเลสาบ, ความสงบของฉันไหวเป็นระลอกแต่มิได้ปั่นป่วน” ธอโร จดบันทึกความแปรเปลี่ยนตามฤดูกาลจากสิ่งที่อยู่ภายนอกและภายในไว้โดยละเอียดเพื่อจะได้ใช้ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติแสดงออกถึงรูปนามทางความคิด ด้วยภาษาที่คมชัดทั้งภาพและซุ่มเสียงของความรู้สึกนึกคิดที่เฉียบคม ราวกับนั่งอยู่บนเก้าอี้ตัวเดียวกันกับที่ธอโรนั่ง ฉันทั้งได้ยิน ได้กลิ่น ได้มองเห็น และได้เก็บเกี่ยวผลแรกจากเรี่ยวแรงตัวเองจริง ๆ บางครั้งสายตาของวอลเดนทำให้ได้ยินเสียงนกและเสียงไก่ป่าที่แหลมใสกังวานไปหลายไมล์เหนือพื้นดิน พาฉันหลีกเร้นไปจากเสียงตะโกนทุกทิศทุกทางจากข่าวสารโควิด บ่ายหน้าออกเดินในฤดูฝนแม้โมงยามของฟ้าฝนคะนองในฤดูใบไม้ผลิ คงเป็นวาระของการหยั่งรากและคลี่คลายตัวเอง

แต่กว่าจะได้ลิ้มรสชีวิตตรงแก่นในซึ่งมักจะเป็นเนื้อที่หวานที่สุด ก็ต้องกล้ำกลืนฝืนกินผลจากชั้นนอกที่มีรสเฝื่อนขมไปก่อน ฉันเริ่มมีวินัยของการเฝ้ามองชะตากรรมของตัวเอง ดูว่า…จะมีอะไรอยู่ตรงหน้าในวินาทีนั้น เพื่อจะค้นหาฤดูใบ้ไม้ผลิในตัวเอง แต่เลี่ยงไม่ได้ต้องเผชิญหน้ากับฤดูหนาวที่ไม่พึงประสงค์

ชีวิตที่ตื่นนอนอย่างซึมเซาเหยียดยาวเวลาของผลิใหม่ ลอกคราบออกไปจนกว่าจะรับรู้ถึงอิทธิพลของฤดูใบไม้ผลิที่กำลังจะมาถึง

หนังสือ: วอลเดน
นักเขียน: เฮนรี่ เดวิด ธอโร
นักแปล: สุริยฉัตร ชัยมงคล
สำนักพิมพ์: ทับหนังสือ

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน) ขึ้นไว้บนเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี