“เราต้องรอด” 2 คน 2 สื่อ กลางสมรภูมิกระสุนยางและแก๊สน้ำตา - Decode
Reading Time: 3 minutes

15.00 น. โดยประมาณของวันที่ 7 สิงหาคม 64 เสียงระเบิด (ประทัด) ลูกแรก จากฝั่งผู้ชุมนุมดังสนั่นไปทั่วแยกดินแดง เป็นอันเปิดฉากการปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่นานนักหลังจากนั้น เสียงปั้ง..ปั้ง..ปั้ง จากปลายกระบอกปืนของตำรวจก็ดังอย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 2 ชั่วโมง ในระหว่างที่การปะทะกันเป็นไปอย่างดุเดือด ทีม De/code ได้ตามติด 1 ผู้สื่อข่าวภาคสนาม กับอีก 1 ช่างภาพอิสระ บนการทำงานที่ขึ้นอยู่กับความเป็นความตาย พวกเขาทั้ง 2 คนต่างบอกออกมาไม่ต่างกัน…ไม่ว่าอย่างไร    

“เราจะต้องรอดออกจากพื้นที่ เพื่อเอาสิ่งที่เกิดขึ้นจริงกลับมาเผยแพร่ออกไป”

ผู้สื่อข่าวภาคสนาม: ทุกคนตรงหน้าคือมนุษย์ และไม่มีใครสมควรได้รับความรุนแรง

“ถ้าเราทำงานบนความเชื่อที่ว่าทุกคนตรงหน้าคือมนุษย์ และไม่ควรถูกกระทำด้วยความรุนแรง มันไม่สมควรที่จะมาเจ็บ ด้วยสิ่งที่ไม่ชอบธรรมทางกฎหมาย เราคิดว่าการรายงานจากจุดนี้ มันจะทำให้งานของเรามีประโยชน์ และเราจะไม่ลืมว่าเรากำลังทำอะไรอยู่” 

พลอย วศินี พบูประภาพ  ผู้สื่อข่าวภาคสนามของ workpointTODAY ที่ติดตามความเคลื่อนทางการเมือง โดยเฉพาะเรื่องการชุมนุมที่เริ่มต้นขึ้นมาตั้งแต่ปี 2563 กล่าวกับเราในยามบ่ายของวันที่ 6 สิงหาคม ในขณะที่เธอกำลังเตรียมตัวสำหรับการทำงานในวันพรุ่งนี้ ซึ่งความพร้อมในทุก ๆ อย่างคือสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับสื่อภาคสนาม ที่ต้องเผชิญกับความรุนแรงได้ทุกเมื่อ

“ต่างประเทศมีสิ่งที่เรียกว่า Risk Assessment (การประเมินความเสี่ยง) มันคือการประเมินความปลอดภัยของเหตุการณ์ เพื่อให้เราเตรียมอุปกรณ์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เช่นวันพรุ่งนี้เราต้องเตรียม เสื้อกันฝน, แบตเตอรี่สำรอง (Power bank), หน้ากากกันแก๊ส, หมวกนิรภัย เพราะเราประเมินว่าช่วงหลัง 10 การชุมนุมที่ผ่านมา มีความรุนแรงเกิดขึ้นตลอด”

โดยนอกจากเรื่องของอุปกรณ์ป้องกัน วศินียังกล่าวว่า ถ้าเป็นไปได้นักข่าวภาคสนามควรผ่านการอบรม safety มาก่อน แต่ในประเทศไทยอาจไม่ค่อยให้ความสำคัญกับสิ่งนี้เท่าไหร่ เมื่อเทียบกับสื่อต่างประเทศที่เป็นเรื่องสำคัญและจริงจัง 

“ถ้านักข่าวเป็นอะไรไป ใครจะทำข่าว หลักฐานที่เก็บมาได้มันก็ไปไม่ถึงมือคนดู ซึ่งถ้าเกิดเราไม่สามารถที่จะตีแผ่สิ่งที่เกิดขึ้นได้ ไม่รู้ว่าจะลงไปทำข่าวทำไม เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญคือ เราจะต้องรอดออกจากพื้นที่ตรงนั้น เพื่อเอาข่าวกลับมาเผยแพร่ทุกคน”

โดยเรานัดเจอวศินี ในการลงพื้นที่ทำข่าวม็อบ 7 สิงหาคม เพื่อขอติดตามการทำงานของเธอ ณ บริเวณแยกดินแดง หลังการปะทะเริ่มขึ้น วศินีประจำการคอยบันทึกเหตุการณ์อยู่บริเวณตรงกลางระหว่าง ฝั่งจนท.ตำรวจและผู้ชุมนุม เธอกล่าวกับเราว่า พื้นที่ตรงกลางจะทำให้เห็นความเป็นไปของทั้ง 2 ฝั่ง แต่ก็มิอาจการันตีความปลอดภัยได้ 

“มันมีความกลัวตลอดเวลา แก๊สน้ำตา กระสุนยาง ก้อนหิน ก้อนอิฐ เสียงประทัด เรารู้สึกตัวเราอยู่กลางถนน แต่มันเคว้งมาก ไม่รู้ว่าชีวิตจะยึดเกาะกับอะไร ทุกจังหวะมันคือการใช้สติ ที่เราต้องดูว่าเราจะไปทางไหน ดังนั้นเราต้องรู้จักพื้นที่อย่างดี เดินไปให้ทั่วเพื่อเปิดแผนที่ในหัว จริง ๆ การเตรียมตัวของเรา มันก็เติบโตไปพร้อมกับการชุมนุม”

เวลาผ่านไปจนกระทั่งแกนนำประกาศยุติการชุมนุมในเวลา 17.40 น. จนท.ตำรวจเริ่มกระชับพื้นที่ขึ้นมาบริเวณสะพานลอยเชื่อม BTS อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จนท. รุกคืบเข้าใกล้เรามาเรื่อย ๆ พร้อมอาวุธครบมือตามคำสั่งที่ได้รับ ให้ไล่ทุกคนออกจากพื้นที่ ในขณะที่วศินีเอง ยังทำหน้าที่บันทึกเหตุการณ์ตามหน้าที่ของเธอเช่นกัน เราถามเธอถึงข้อดี-ข้อเสีย ของการทำงานอยู่สำนักข่าวใหญ่

“ข้อดีคือเวลารายงานอะไรออกไป เสียงมันดังและหนักแน่น นอกจากนี้ยังทำให้ จนท. เกิดความลังเลที่จะเข้ามาสกัดกั้นการทำงานของเรา

“แต่พออยู่สื่อใหญ่ทุกคนรู้จักเรา สามารถตามตัวได้ง่าย อีกทั้งยังต้องแบกรับความคาดหวังของผู้ติดตาม ที่ไม่ได้มีแค่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง มันมีความพยายามที่จะบอกคนอื่นว่า ‘เราอยู่ตรงกลาง’ ซึ่งคำว่าตรงกลางมันก็เป็นที่ถกเถียงกันอยู่ แต่เราปฏิเสธไม่ได้ว่าเราถูกจับจ้องทั้งฝั่งที่เชียร์รัฐบาล และฝั่งที่ไม่ได้เชียร์ เพราะฉะนั้นพอเราถูกตรวจสอบจากทั้ง 2 ฝ่าย มันคือภาระหน้าที่ ที่เราต้องระมัดระวังการสื่อสาร”

เวลาผ่านไปจนกระทั่ง 19.00 น. ฝนตกลงมาอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย แต่ไม่อาจช่วยหยุดการปะทะจากทั้ง 2 ฝ่ายได้ วศินิเลือกเดินกลับขึ้นไปบนสถานีรถไฟฟ้า เพื่อให้เห็นสถานการณ์โดยรอบ ในขณะที่จังหวะดังกล่าวเจ้าหน้าที่ตำรวจยิงแก๊สน้ำตา ควันฟุ้งกระจายไปทั่วสถานี กลับกันมีประชาชนบางส่วนเพิ่งเลิกงาน และได้รับผลกระทบจากแก๊สน้ำตา จนไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และในบริเวณดังกล่าวก็ไม่เหลือใครแล้ว นอกจากสื่อมวลชน

วศินีและสื่อมวลชนที่อยู่ตรงจุดนั้น หยุดการบันทึกเหตุการณ์ และได้เข้าไปช่วยเหลือเบื้องต้นจนสามารถพาประชาชนออกจากสถานีรถไฟฟ้าได้ทั้งหมด เราถามเธอเป็นคำถามสุดท้าย ถึงคุณค่าที่คนทำงานสื่อภาคสนามเช่นเธอ ยังคงเก็บรักษาไว้ในการทำงาน

“มันคือความเป็นมนุษย์ หมายความว่าถ้าเรานึกถึงความเจ็บปวดของคนที่โดนอาวุธ เรารู้สึกว่ามันสมควรแล้วเหรอที่เขาจะโดนกระทำ เราไม่สามารถทนดูคนคนหนึ่งโดนทำอะไร โดยที่เราปล่อยผ่าน ไม่ได้บันทึก ไม่ได้ทำอะไรสักอย่าง”

เวลา 20.00 น. เราขอตัวออกมาจากพื้นที่ชุมนุม ในขณะที่วศินี ยังคงทำหน้าที่รายงานสถานการณ์ต่อไป จนกระทั่งเหตุการณ์การชุมนุมในวันที่ 7 สิงหาคม 64 คลี่คลายลงในเวลา 20.30 น.

ช่างภาพอิสระ: การอยู่จนถึงวินาทีสุดท้าย อาจไม่ใช่สิ่งสำคัญถ้าคุณไม่รอด

หากมุมมองของวศินี คือเบื้องหลังการทำงานภายใต้สำนักข่าวขนาดใหญ่  การได้พูดคุยกับ จิ๊บ วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ ช่างภาพอิสระ ทำให้ได้เห็นมุมมองที่แตกต่างกันออกไป ทั้งในฐานะช่างภาพกับผู้สื่อข่าว และทั้งในด้านคนทำงานอิสระกับคนที่ทำงานภายใต้องค์กรขนาดใหญ่ เราเจอวรุตม์ครั้งแรก อยู่ในท่ามกลางดงแก๊สน้ำตาของวันที่ 7 สิงหาคม ในขณะที่มือของเขา กดรัวชัตเตอร์บันทึกเหตุการณ์

“ทุกสิ่งที่มันจะเกิดขึ้น อย่างไรมันก็เกิดขึ้น หน้าที่ของเราคือบันทึกมันเท่านั้น เราไม่มีสิทธิ์ไปบอกว่า ‘ไม่อยากให้ความรุนแรงเกิดขึ้นว่ะ’ ถ้าไม่อยากแล้วเราห้ามอะไรมันได้ไหม ฉะนั้นสิ่งที่ทำได้คือ ถ่ายมันออกมา”

วรุตม์ทำงานภายใต้หมวก 2 ใบ คือ 1.เป็นช่างภาพและบก.ภาพของเว็บไซต์สารคดีเชิงข่าว PLUS SEVEN ที่ก่อตั้งขึ้นมาร่วมกับเพื่อน ๆ ของเขา และอีกบทบาทคือการเป็นช่างภาพข่าวอิสระ (Stringer) ให้กับ News Photo Agency ของต่างประเทศแห่งหนึ่ง

“ปกติถ้าเราทำงานคนเดียว เราอาจจะโฉบออกไปเลยถ้าเกิดความรุนแรง แต่ในหมวกอีกใบหนึ่งที่เราอยู่กับทีม เราต้องคิดว่าจะวางทีมอย่างไร ต้องยืนเป็นคู่ ยืนห่างกันเท่าไหร่ เผื่อคนหนึ่งล้มอีกคนจะได้ช่วย มันต้องวางแผนกันล่วงหน้า อย่างทีมเราใช้วิธีการวัดระยะกันเป็นเมตร ถ้าสถานการณ์ดูมีแนวโน้มรุนแรง เราจะบอกกันในทีมว่า ห่างกันประมาณ 30 เมตร เวลายืนกันเป็นคู่ ต้องอยู่ในสายตากันตลอด 30 เมตร ถ้ามันเกิดเหตุเร่งด่วนมันจะได้ช่วยกันได้”

วรุตม์ พยายามเน้นย้ำถึงความสำคัญของการทำงานเป็นทีมเวลาลงภาคสนาม โดยหยิบยกเหตุการณ์ประท้วงหน้าสถานทูตเมียนมาร์เมื่อปี 2563 ว่าในวันดังกล่าว ช่างภาพรุ่นน้องในทีมของเขาลงไปทำงานคนเดียว ปรากฏว่ามีก้อนหินปาลงมาบริเวณที่ช่างภาพคนนั้นยืนอยู่ แต่โชคดีที่ได้ช่างภาพจากสำนักข่าวต่างประเทศแห่งหนึ่ง ดึงตัวช่วยไว้ได้ทัน  สิ่งนี้จึงยืนยันความสำคัญของการมีทีม หรืออย่างน้อยที่สุดวรุตม์บอกว่า ถ้าต้องลงไปทำงานคนเดียว ก็ควรมีคนรู้จักจากสำนักข่าวอื่น ๆ ที่พอจะช่วยเหลือกันได้ เพราะการมีสื่อมวลชนอยู่ตรงนั้น ไม่สามารถเป็นสิ่งการันตีได้ว่า จะช่วยลดหรือทำให้ไม่เกิดความรุนแรงจากทั้ง 2 ฝ่าย

“ถ้าพูดแบบสุดโต่ง หน้าที่ของสื่อไม่ใช่หน้าที่ของการลดความรุนแรง เราเป็นคนบอกเล่าว่ามันเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น เป็นผู้บันทึกเหตุการณ์ ยอมรับว่าในภาพมันอาจจะมีอคติปะปน อาจจะด้วยจากมุมมอง แต่สิ่งที่สำคัญคือ เราต้องเล่าให้ตรงไปตรงมา อย่างมีศิลปะและชั้นเชิง อันนั้นคือหน้าที่ของเรามากกว่า”

วรุตม์มองว่า สื่อไม่มีสิทธิ์ที่จะไปก้าวก่ายเหตุที่เกิดขึ้นตรงหน้า เพราะการที่สื่อสามารถไปอยู่ตรงจุดนั้นได้ คือการที่สื่อเองอยู่ในสถานะพิเศษ และเมื่อได้อภิสิทธิ์ตรงนั้น สิ่งที่จะต้องยืนยันตัวตนให้ได้คือ การวางตัวเป็นผู้ดูที่ดี 

“แต่ถ้ามันถึงจุดหนึ่งที่มันถึงชีวิตหรือบาดเจ็บสาหัส ก็คงต้องช่วย เพื่อยังคงสภาพความเป็นมนุษย์ในใจ”

โดยสำหรับข้อดีของการเป็นสื่ออิสระนั้น วรุตม์กล่าวว่า เขาสามารถตัดสินใจได้ในทันทีว่า ถ่ายแค่ไหนจึงพอ หากสถานการณ์การมันเสี่ยงเกินไปที่จะอยู่ต่อ หรือถ้าอยากได้ภาพเยอะ ๆ เขาก็กล่าวว่าการเป็นสื่ออิสระสามารถทำให้เขาอยู่ในเหตุการณ์ได้จนถึงวินาทีสุดท้าย  

แต่ข้อเสียคือเขาก็ต้องแบกรับความเสี่ยงด้วยตัวเอง  เพราะไม่มีคนให้คอยพิงหลังหากเกิดอะไรขึ้นมาเช่น ได้รับบาดเจ็บ อุปกรณ์เสียหาย ซึ่งแตกต่างกับสื่อขนาดใหญ่ ที่สามารถยื่นฟ้องร้อง หรือมีเรื่องอุปกรณ์ที่คอยสนับสนุนให้ จึงเป็นความเสี่ยงที่แลกมากับอิสระในการทำงานและการตัดสินใจ

“คือเราสามารถอยู่จนถึงวินาทีสุดท้ายของเหตุการณ์ได้ และมันก็ควรอยู่ แต่ถ้าเหตุการณ์มันชุลมุน การอยู่จนถึงวินาทีสุดท้าย อาจจะไม่ได้ประโยชน์อะไรถ้าเราไม่รอด แต่ถ้าเรารอดแล้วไปเล่าต่อได้ นั่นคือประโยชน์ต่อโลก และความจำเป็นของอาชีพเรา ถ้าคุณอยู่แล้วคุณตาย คุณไม่ได้เล่าเรื่องนี้ การอยู่ต่อไปบางทีมันก็สูญเปล่า”

เมื่ออันตรายเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับช่างภาพที่ต้องเอาตัวเอง เข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ให้ได้มากที่สุดเพื่อบันทึกภาพ และในบริบทที่รัฐเองไม่ได้สนใจว่า ปลายกระบอกปืนที่ยิงออกไปนั้น จะไปถูกสื่อมวลชนหรือไม่ สื่อภาคสนามเองควรปรับตัวอย่างไร ในสถานการณ์ความรุนแรงเช่นนี้?

เราคิดว่าในชั่วโมงนี้สื่อต้องทำกระดูกสันหลังให้ตรง และสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรลืมคือ ความจริงมันเกิดอะไรขึ้น เราต้องรายงานมันอย่างตรงไปตรงมาที่สุด คือวิธีการลูกเล่นมันอาจจะแตกต่าง แต่ความจริงคือความจริง ถ้าคุณไม่พูดความจริงแล้วคุณจะพูดอะไร การไม่พูดความจริง มันคงไม่ใช่อาชีพของคนที่ต้องทำงานเพื่อเล่าความจริง ถ้าคุณเชื่อว่าคุณเป็นสื่อมวลชน ความจริงมันคือสิ่งที่คุณต้องยึดถือมาก ๆ และมันเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด”


สถานการณ์ในวันที่ 7 สิงหาคม การชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอกและภาคีเครือข่าย จบลงด้วยความรุนแรง ทั้งจากฝั่งผู้ชุมนุมและฝั่งตำรวจ ภาพและเหตุการณ์ทั้งหมดเป็นความจริงที่เกิดขึ้น ถูกบันทึกไว้โดยสื่อมวลชนที่อยู่ตรงหน้า ในขณะเดียวกันก็เป็นตัวพวกเขาเองที่ได้รับบาดเจ็บแทบทุกครั้ง 

เมื่อการบันทึกความจริงในวันนี้ ต้องแลกมากับการหลบกระสุนปืนและแก๊สน้ำตา และยังไม่มีกฎเกณฑ์ใดออกมาคุ้มครองสื่อมวลชน หรือการันตีความปลอดภัยอย่างชัดเจน สื่อภาคสนามทุกคนจึงต้องอาศัยสติและไหวพริบวินาทีต่อวินาที เพื่อให้รอดออกมาอย่างปลอดภัย และเล่าขานทุกสิ่งที่เกิดขึ้นออกไป ด้วยความเป็นจริงและไม่ละทิ้งความเป็นมนุษย์คนหนึ่ง

“บางทีก็มีความรู้สึกอยากอยู่บ้านนะ แต่ว่าในขณะเดียวกันหน้าที่ ความอยากรู้อยากเห็น และความต้องการที่จะไปจดบันทึกทุกอย่าง มันก็ผลักให้ออกไป คือฉันกลัวแต่ก็คิดว่าอย่างไร ก็ต้องไปอยู่ตรงนั้น คือถ้าไม่อยู่มันก็ไม่ใช่ตัวเอง ถ้าเป็นตัวเองมันก็ต้องไป”  วศินี พบูประภาพ

“ทุกสิ่งที่มันจะเกิดขึ้น อย่างไรมันก็เกิดขึ้น หน้าที่ของเราคือบันทึกมันเท่านั้น เราไม่มีสิทธิ์ไปบอกว่า ‘ไม่อยากให้ความรุนแรงเกิดขึ้นว่ะ’ สำหรับเราคือถ้าไม่อยาก แล้วห้ามอะไรมันได้ ฉะนั้นสิ่งที่ทำได้คือ ถ่ายภาพทำงาน แต่ถ้ามันถึงจุดหนึ่งที่มันถึงชีวิตและคุณต้องช่วย เพื่อยังคงสภาพความเป็นมนุษย์ในใจ ‘เออก็ทำไปเถอะ’” วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์