สะพรึง: เมื่อคุณเล็งกระสุนปืนและแก๊สน้ำตาไปที่ลูกหลาน - Decode
Reading Time: 2 minutes

ถ้าเกิดคนที่อยู่ในฝูงชนเป็นลูกและหลานของคุณจริง ๆ คุณจะยังคงยิงกระสุนยางและแก๊สน้ำตาเข้าไปอีกไหม ? 

นี่เป็นคำถาม ที่หลายคนอาจอยากถามถึงคฝ.หรือหน่วยควบคุมฝูงชนในการปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 18 กรกฎาคมและ 1 สิงหาคม 2564 อยากจะให้คฝ.มาอ่านและตอบ เมื่อคนที่คุณเล็งอยู่ตรงหน้า กลับเป็นคนใกล้ชิด เป็นชีวิตที่คุณรู้จัก มิใช่เป้าหมายหรือศัตรูที่ต้องจัดการตามคำสั่งบนหน้ากระดาษ หรือสายโทรศัพท์ของผู้บังคับบัญชา

แน่นอนว่าคำตอบต่อคำถามที่เกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์นั้นไม่ง่าย เช่นเดียวกับที่อัยการถามจำเลยใน “สะพรึง”
และทำให้จำเลยถึงกับไปต่อไม่ได้ จำเลยผู้ซึ่งมั่นใจในปฏิบัติการของตนเองมาตลอดไม่สามารถตอบคำถามนี้ได้

อัยการถามว่า
“คุณยังจะยิงเครื่องบินนั่นไหม ถ้าภริยาของคุณอยู่บนเครื่องด้วย”

จำเลย
“อะไรนะครับ?”

อัยการ
“ภริยาและลูกของคุณ คุณจะทำอย่างไร ถ้าพวกเขาอยู่เครื่องบินด้วย คุณจะฆ่าพวกเขาด้วยไหม?”

จำเลย
“ผม…ผม…”
“ผมไม่สามารถ…”

ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ จำเลยเพิ่งจะพูดต่อหน้าศาลว่า เขาเชื่อว่ามันถูกต้องที่จะฆ่าคนจำนวนน้อยกว่า เพื่อช่วยชีวิตคนจำนวนมากไว้

ด้วยความเชื่อนี้ เขา – ในฐานะนักบินขับไล่ตัดสินใจยิงเครื่องบินซึ่งบรรทุกผู้โดยสาร 164 คนที่ถูกจี้ เพื่อรักษาชีวิตของผู้ชมจำนวน 70,000 คนในสนามฟุตบอลที่เครื่องบินกำลังมุ่งหน้าไปถึง 

จำเลยถูกควบคุมตัวเพื่อดำเนินคดีทันที หลังจบปฏิบัติการดังกล่าว

สะพรึงหนังสือที่แปลมาจากบทละครจำลองเหตุการณ์สมมติเรื่อง Terror

รากของบทละครเรื่องนี้มาจากกฎหมายฉบับหนึ่งในเยอรมนี ที่มีขึ้นหลังเหตุการณ์ 9/11 ในช่วงเวลาที่สังคมโลกต่างหวั่นเกรงต่อการก่อการร้าย กฎหมายนี้ที่มีชื่อว่า “รัฐบัญญัติความมั่นคงทางอากาศ” มาตราหนึ่งในกฎหมายระบุให้อำนาจกองทัพใช้อาวุธกระทำต่อเครื่องบินพาณิชย์ที่ถูกจี้และถูกใช้เป็นอาวุธ แต่ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้มาตรานี้เป็นโมฆะ เพราะการสละชีวิตคนบริสุทธิ์เพื่อช่วยชีวิตคนบริสุทธิ์อีกกลุ่มหนึ่งนั้น เป็นสิ่งที่ขัดต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ที่ถูกรับรองไว้ในมาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญเยอรมนี

บทละครเรื่องนี้ได้พาผู้อ่านไปสำรวจข้ออภิปราย – การชั่งน้ำหนักความขัดแย้งระหว่างศีลธรรม และกฎหมายผ่านบทสนทนาของตัวละครที่มีฉากหลังเป็นการพิจารณาคดีในศาล 

ที่น่าสนใจของละครจำลองเรื่องนี้ คือการให้ผู้ชมเป็นคณะลูกขุนที่ร่วมรับฟังการพิจารณาคดี และเป็นผู้ตัดสินผลลัพธ์ของคดีผ่านการโหวต  

แน่นอนว่าระหว่างบรรทัดภายใต้บทสนทนาของผู้พิพากษาหัวหน้าคณะ – อัยการ – จำเลย – ทนายจำเลย และพยานได้ช่วยย้ำ – ทบทวน – ท้าทายจุดยืนทางศีลธรรมที่เปราะบางไม่เท่ากันของผู้ชม – ผู้ฟัง และผู้อ่าน รวมถึงการได้เห็นทางเลือกอื่นที่อาจเป็นไปได้ ในการตัดสินใจของมนุษย์ในสถานการณ์แห่งความเป็นความตาย

จำเลย:  ลาร์ส ค็อค อายุ  31 ปี เป็นทหารยศพันตรีแห่งกองทัพอากาศ มีภรรยาและลูกชายอายุ 2 ขวบ 1 คน 

เขาถูกฟ้องในความผิดอาญาฐานฆ่าคนโดยเจตนา เป็นเหตุให้คนบนเครื่องบินทั้งหมด 164 คนถึงแก่ความตาย

“ถ้าผมไม่ยิงเครื่องบิน มันก็จะระเบิดในสนามอยู่แล้ว เท่ากับว่าในตอนนั้น ผู้โดยสารบนเครื่องมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อีกไม่กี่นาที คือแม้ผมจะไม่ยิง พวกเขาก็ต้องตายอยู่ดี”

“ผู้โดยสารเหล่านั้นได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของอาวุธ อาวุธของผู้ก่อการร้าย ผู้ก่อการร้ายได้ใช้เครื่องบินลำนั้นเป็นอาวุธ และผมต้องต่อสู้กับอาวุธนั้น”

พยาน: ไมเซอร์ อายุ 34 ปี อาชีพพยาบาล
สามีของเธอเป็นผู้โดยสารเครื่องบินลำนั้น ก่อนเกิดเหตุ เธอกำลังไปรับสามีที่สนามบินและเธอได้รับข้อความจากสามีว่า

“มีผู้ก่อการร้ายจี้เครื่องบิน เรากำลังพยายามเข้าไปในห้องนักบิน อย่ากลัวไปนะ เราต้องทำสำเร็จ”

อัยการ:
“เมื่อมีการตัดสินใจเกี่ยวกับมนุษย์คนหนึ่ง โดยที่เขาไม่สามารถมีส่วนร่วมในการตัดสินใจนั้นเลย เท่ากับว่าเมื่อนั้นเขาจะตกเป็นวัตถุแห่งการกระทำ ดังนั้น มันจึงชัดเจนว่ารัฐไม่อาจชั่งน้ำหนักชีวิตมนุษย์หนึ่งกับอีกชีวิตได้เลย และแม้แต่ 100 ชีวิต ก็ไม่เท่ากับ 1,000 ชีวิต ก็เช่นกัน มนุษย์ทุกคน – รวมถึงทุกท่านด้วย ท่านสุภาพบุรุษและสุภาพสตรี – เป็นเจ้าของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์นี้ มนุษย์ไม่ใช่สิ่งของ ชีวิตไม่สามารถถูกวัดเป็นจำนวนได้ นี่ไม่ใช่ตลาดสำหรับซื้อขายสินค้า”

ทนายจำเลย:
“มันถูกต้องแล้วหรือที่จะยึดถือหลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในการช่วยชีวิตคน ? ท่านลองพิจารณาดูครับ ลาร์ส ค็อคได้ช่วยชีวิตคน 70,000 ชีวิต และเพื่อที่จะทำเช่นนั้นเขาจำเป็นต้องฆ่าคนอีก 164 ชีวิต เรื่องเป็นแบบนั้น มันเลวร้ายมากเลยหรือครับ ? ไม่เลยครับ ลาร์ส ค็อคได้ชั่งน้ำหนักดูแล้วและเขาตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง ถ้าท่านสามารถเข้าใจได้ในระดับหนึ่ง ท่านจะตระหนักได้ว่าไม่มีหลักการใดสำคัญไปกว่าการช่วยชีวิตคน 70,000 ชีวิต”

อย่างนี้แล้ว ผู้อ่านจะพิพากษาจำเลยในคดีนี้อย่างไร ? 
และจะใช้จุดยืนแห่งตนข้อใดมาพิพากษาจำเลย 

จะเป็นแนวทางแบบ อิมมานูเอล คานส์ นักปรัชญาที่มุ่งเน้นไปที่การกระทำที่มีคุณค่าทางจริยธรรม มากกว่าผลลัพธ์หรือเป้าหมาย การปฏิบัติต่อมนุษย์ในฐานะที่เขาเป็นเป้าหมายในตัวเอง ไม่ใช่เป็นเครื่องมือสู่เป้าหมายอื่น มาตรวัดทางจริยธรรมแบบนี้จะไม่ผันแปรตามสถานการณ์ การกระทำที่ถูกต้องย่อมจะถูกต้องเสมอ ไม่ว่าปัจจัยแวดล้อมอื่นจะเป็นอย่างไร 

ซึ่งตรงกันข้ามกับ เจเรมี เบนแธม และทฤษฎีอรรถประโยชน์นิยมที่กล่าวว่า “ประโยชน์สุขมากที่สุดของคนจำนวนมากที่สุด คือรากฐานแห่งศีลธรรมและการตรากฎหมาย” ซึ่งจะมุ่งพิจารณาที่ “ผล” จากการกระทำเท่านั้น ไม่ได้พิจารณาเนื้อหาหรือลักษณะของการกระทำ  

คำถามใจกลางของเรื่องนี้ที่ดูเหมือนไม่ซับซ้อน

“การทำลายชีวิตเพื่อรักษาชีวิต” 
“การยอมสละชีวิตของคนจำนวนน้อยกว่า เพื่อรักษาชีวิตของคนจำนวนมากกว่าเป็นสิ่งที่สมควรกระทำหรือไม่”

คำตอบอาจยากกว่าที่คิด หรืออาจไม่ได้มีคำตอบตายตัวระหว่างสถานการณ์บนเส้นด้าย

แต่จะไม่ตอบเลยก็คงไม่ได้

เหมือนอย่างที่จำเลยในเรื่องไม่สามารถตอบคำถามสำคัญของอัยการ เพราะเขาไม่เคยคิดถึงคำถามนี้มาก่อน 164 อาจเป็นเพียงตัวเลข ที่ไม่เห็นชีวิตเลือดเนื้อความสัมพันธ์เท่ากับหน้าลูก – เมีย 

เฉกเช่นเดียวกับสถานการณ์การชุมนุมของไทยที่กำลังร้อนแรงและมีคนตั้งคำถามกับปฏิบัติการของคฝ. ถ้าคนในฝูงชนเป็นลูกและหลานคุณ คุณจะยังคงทำแบบนั้นไหม ?

เป็นคำถามที่น่าจะมีคนคิดคำตอบเผื่อไว้บ้าง

“การเคารพหลักการ เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในทุกที่และตลอดไปเท่านั้น ที่จะทำให้เราสามารถอยู่รอดและก้าวผ่านห้วงเวลาแห่งความหวาดกลัวไปได้เยี่ยงสังคมอันเสรี”  ส่วนหนึ่งของคำแถลงปิดคดีของอัยการ


หนังสือ: สะพรึง
ผู้เขียน: เฟอร์ดินันด์ ฟอน ชีรัค
ผู้แปล: ศศิภา พฤกษฎาจันทร์
สำนักพิมพ์: Illuminations Editions

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน) ขึ้นไว้บนเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี