Reading Time: 2 minutes

เมื่อความสวยแทรกไปยังทุกบริบทของสังคมไทย แต่ความสวยของแต่ละคนคืออะไร หากคุณไม่สวยตามแบบของสังคม คุณจะถูกผลักออกจากสังคมไหม ความฝัน ความปรารถนา ชีวิตของคุณจะเลือนหายไปไหม เพียงเพราะคุณไม่สวยเหมือนคนอื่น

De/code เลยจับเข่าคุยกับ ลิลลี่ ผู้ที่ภายนอกแล้ว อาจดูไม่ค่อยมีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับ Beauty Privileges แต่ข้างในใจของเธอกลับมีอดีตช่างแสนขมขื่นและเต็มไปด้วยความทรงจำแสนโหดร้าย

สวยไม่สวย เอาปากกามาวง

ก่อนที่เราจะเริ่มถามลิลลี่เกี่ยวกับ Beauty Privileges เราเลยอยากรู้ว่า เวลาเธอเจอคนที่ทั้งสวยและไม่สวย เธอรู้สึกอย่างไร หรือเธอรู้สึกถึงการแบ่งแยกไหม ลิลลี่ได้ตอบกลับมาว่า

“เฉย ๆ เพราะคนเรามีสไตล์หรือหน้าตาแตกต่างกัน เราไม่ชอบใช้คำว่า ใครสวยไม่สวย น่ารักไม่น่ารัก เพราะแต่ละคนมีสไตล์ หน้าตาคนละแบบ บางคนหน้าตาเขาอาจไม่ได้เป็นตาม Beauty standard แต่นิสัยเขาอาจจะน่ารักหรือดีกว่าคนที่หน้าตาเป็นไปตามความนิยมก็ได้”

เราเชื่อว่าหลายคน คงเคยโดน Beauty Privileges หลายคนก็มักจะบอกว่า Beauty Privileges เกิดจากตัวบุคคลมากกว่า รวมถึงลิลลี่ด้วย

“ผิดตรง คนที่ชอบตัดสิน หรือคนที่มัวแต่ติคนอื่น”

เราอยากให้ทุกคนลองสังเกตดูว่า Beauty Privileges นั้นไม่ได้มีเพียงแค่ในยุคสมัยนี้ แต่มันมีตั้งแต่อดีต และฝังรากลึกมาจนปัจจุบัน อย่างกิจกรรมดาวเดือนที่หลายคนคุ้นชินดี เป็นกิจกรรมที่มักจะคัดเลือกคนหน้าตาดี แล้วเมื่อใครเป็นดาวหรือเดือน ก็จะได้เป็นดั่งเซเลบในคณะหรือมหาลัย ทำให้หลายคนให้ความสนใจและตั้งตารอ แต่คนบางส่วนที่ตั้งตารอแต่ก็ไม่สามารถก้าวไปสู่กิจกรรมนี้ได้ เพราะกรอบของความสวย

เมื่อความสวยดึงดูดผู้คน

ความสวยมักถูกเรียกว่า เป็นแรงดึงดูดผู้คนชนิดหนึ่ง ตัวอย่างเช่น B สวยมาก หน้าตาเป็นที่จับตามองของผู้คน และมักจะมีเพื่อนเยอะ เพราะแรงดึงดูดทางความสวยเหล่านี้

ลิลลี่ ผู้ที่ (เคย) เป็นเพื่อนของผู้ที่สวยตามมาตรฐานสังคม เป็นที่จับตามองและกำลังครองบัลลังก์ของความสวย ด้วยแรงดึงดูดของความงาม

“เห็นครั้งแรก เราแบบสวยจัง แล้วแบบเขาก็มีผู้ชายมาจีบโคตรเยอะ มีแต่คนอยากเป็นเพื่อนด้วย แล้วพอเขามีเพื่อนเยอะขึ้น เราเหมือนกำลังโดนเขาทอดทิ้งไปเรื่อย ๆ เหมือนที่เขาทิ้งเราไปเพราะเราอาจดูไม่เก่งพอ คือเราตอน ม.1 เป็นคนที่แบบค่อนข้างติ๊งต๊อง มันเกี่ยวอยู่นะ เพราะว่าเขาเป็นผู้หญิงสวย เขาเลยไม่ต้องการคนติ๊งต๊อง เขาต้องการคนที่แบบรักความสวยความงาม แล้วเราชอบพูดเรื่องอะไรตลก เขาไม่อินกับเรา ความคิดไม่ตรงกัน เขาเลยตีตัวออกห่าง โดยไม่บอกลากันสักคำ”

Beauty Standard กรอบคิดที่ปิดกั้น

นอกจะ Beauty Privileges ก็ยังมีสิ่งที่เรียกว่า Beauty Standard มันเป็นสิ่งที่ไม่รู้ว่าใครเป็นคนตั้งขึ้น อย่างเช่น กิจกรรมดาวเดือนที่มักจะคัดเลือกคนที่สวยหรือหล่อเป็นส่วนมาก ซึ่งก็จะมีทั้งคนที่สนใจและไม่สนใจ คนที่สนใจหากหน้าตาไม่ดีตามคติของสังคม ก็มักจะโดนกีดกั้นไม่ให้เข้าร่วม

ข้อใดเป็นความสวยตาม Beauty Standard ในไทย

ก.สวยแบบสายฝอ ผิวแทน
ข.สวยแบบขาว ๆ หมวย ๆ
ค.สวยแบบธรรมดา
ง.อื่น ๆ

ลิลลี่ได้ตอบว่า “ข. ถ้าตอน ม.ต้น คนที่จะเป็นจุดสนใจมากที่สุด จะเป็นกลุ่มที่แบบสวย ๆ ขาว ๆ เขาจะสนใจแต่กลุ่มนั้น กลุ่มนั้นเลยจะมีเพื่อนเยอะมาก ในขณะที่กลุ่มเราเป็นพวกติ๊งต๊องไม่มีใครสนใจเลย แล้วพวกเราก็เลยแทบจะไม่มีตัวตนเลย ในขณะคนที่แบบขาว ๆ สวย เดินไปไหนก็จะมีแต่คนทักทายแทบจะทุกที่ในโรงเรียน”

มงกุฎแห่ง Beauty Privileges

เป็นมงกุฎที่ไม่ได้มีเป็นชิ้นส่วน แต่เป็นการยกย่องกับบุคคลที่มีความสวยตามคติ แล้วบุคคลเหล่านั้นจะได้สวมมงกุฎนี้ไปโดยปริยาย

เราจึงได้ถามลิลลี่ว่า หากเธอได้สวมมงกุฎนั้น เธอจะเลือกทุบมันให้แตกสลาย หรือ เลือกที่จะสวมใส่มันต่อ

ลิลลี่ตอบว่า

“เลือกที่จะทุบมงกุฎให้แตกสลาย”

เธอได้บอกเหตุผลกับเราว่า “เพราะมันเป็นกิจกรรมที่คัดคนที่หน้าตาตามแบบที่สังคมนิยม”

จริง ๆ การเรียกร้องให้ยกเลิกกิจกรรมดาวเดือนนั้นมีเพิ่มมากขึ้น เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่ยกเลิกจัดกิจกรรมดาวเดือนเมื่อวันที่ 20 กันยายน 63 โดยการสำรวจความคิดเห็นของนิสิต มีผู้เข้าร่วมทำแบบสอบถามจำนวน 1,272 ค่าเฉลี่ยออกมาว่า 56.6% เห็นด้วยกับการยกเลิกกิจกรรมนี้ 28.7% เห็นควรว่าควรปรับเปลี่ยนรูปแบบไม่ใช้หน้าตาเป็นเกณฑ์การประกวด 15.7% เห็นด้วยกับกิจกรรมนี้

เราจะเห็นว่า ผู้คนส่วนมากไม่ค่อยจะเห็นด้วยกับกิจกรรมนี้สักเท่าไหร่ เพราะอาจจะด้วยในยุคปัจจุบัน คนเริ่มไม่เอาหน้าตาหรือรูปลักษณ์เป็นตัวตั้งแล้ว

แล้วถ้าต้องรับสิทธิ์ Beauty Privileges เธอจะทำอย่างไร เธอคิดสักครู่จึงตอบเราว่า

“เราก็จะพิจารณาดูว่าสิ่งที่ได้รับสิทธิ์มา เราจะทำมันได้ไหม หรือเราคู่ควรกับสิ่งสิ่งนั้นหรือไม่ ถึงจะหน้าตาแบบไหน แต่ละคนก็มีความสามารถคนละแบบ บางทีอาจมีคนอื่นที่เขาควรได้รับสิทธิ์นั้นมากกว่าเราก็ได้”

เธอได้เลือกที่จะหยิบยื่นสิ่งนั้นให้คนอื่น ดังคำกล่าวข้างต้นที่ว่า ทุบมงกุฎให้แตกสลาย แล้วจึงหยิบยื่นให้คนอื่น แต่ถึงอย่างนั้น เราก็ไม่รู้ว่าจะต้องมีการส่งต่อสิทธิ์นี้ไปอีกเรื่อย ๆ ไหม หรือเราต้องช่วยกันหยุดสิทธิ์พิเศษนี้

ฉันเป็นลูกครึ่ง แล้วฉันไม่ใช่คนไทยเหรอ

ด้วยความที่เธอเป็นลูกครึ่ง ไทย – แคนาดา เราก็เลยได้ถามเกี่ยวกับการเหยียดเชื้อชาติในไทย ว่าตั้งแต่เกิดมา เธอเคยโดนไหม

เธอนึกคำตอบสักพัก แล้วจึงตอบกลับมาด้วยน้ำเสียงเป็นกันเองว่า ตอน ม.1 มีรุ่นพี่ที่เขาคิดว่าเราเป็นคนอินเดีย แล้วเขาก็มาล้อว่า “คนแถวนี้น่าจะทำโรตีได้นะ อยากกินโรตีจังเลย” แล้วเขาก็ขำ เพื่อนเราเลยพาเราเดินไปทางอื่น ตอนนั้นเราอยากจะเดินไปตะโกนใส่หน้าว่า เราไม่ใช่คนอินเดีย เราเป็นคนไทย

A: “เฮ้ยเป็นคนอินเดียเหรอ” (พวกเขาทำท่าทางล้อเลียนเป็นเพลงอินเดีย)
ลิลลี่: “ไม่ได้เป็นคนอินเดีย เป็นคนไทย”
A: “ได้ข่าวว่าเป็นลูกครึ่งไม่ใช่เหรอ”
ลิลลี่: “ใช่ ! เป็นลูกครึ่งแคนาดา ไม่ใช่อินเดีย”
A: “ถึงจะเป็นประเทศอะไร ก็ไม่ใช่คนไทยอยู่ดี ออกไปจากประเทศนี้เถอะ”
ลิลลี่: “ทำไมเราต้องออก เราเป็นคนไทย”
A: “แล้วไง หน้าตาเธอไม่เหมือนคนไทย ออกไปเถอะ” (พร้อมกับล้อเลียนต่างๆ)

บทสนทนานี้เกิดขึ้นในตอนที่เธอได้เป็นกองเชียร์ของกีฬาสี อยู่ ๆ ก็มีคนที่ไม่รู้จักมาพูดตามบทสนทนาข้างต้น ด้วยวาจาที่หยาบคายปนไปด้วยรู้สึกสนุกที่ได้ทำ โดยที่ความรู้สึกผิดไม่สามารถกลบความสนุกที่ได้ทำร้ายจิตใจคนได้ จนบางทีอาจเป็นบาดแผลให้ใครหลายๆ คน

เธอได้พูดต่อด้วยประโยคที่เก็บไว้นาน จนวันนี้เธอได้เปล่งเสียงออกมาแล้ว “เหตุผลที่เขาบูลลี่เรา คือ เพื่อความสนุก”

ปมที่คลายไม่ออก

ปัญหาต่าง ๆ มักมีทางแก้ของมัน แต่ในบางทีนั้นอย่างปัญหา Beauty Privileges ที่รณรงค์กันมานานก็ยังไม่หมดไปสักที ถึงอาจจะไม่เท่ากับแต่ก่อน แต่มันก็มีบางส่วนที่ยังติดอยู่จนถึงปัจจุบัน

“คิดว่า…แก้ไม่ได้”

เป็นคำตอบของลิลลี่ เราเลยได้ถามเหตุผลว่าทำไมมันถึงแก้ไม่ได้ ลิลลี่ตอบกลับว่า

“เพราะคนแต่ละคนมีความเห็นต่าง คือเราจะไปเปลี่ยนความคิดใครก็ไม่ได้ แต่อาจจะพยายามหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่จะโดนพูดถึงหรือเปรียบเทียบกับใครเรื่องหน้าตา สมมุติมีใครชมเราต่อหน้าสาธารณะเรื่องหน้าตา แล้วอาจทำให้คนรอบข้างน้อยใจ เราอาจพยายามชมคนอื่นต่ออีกทีว่า วันนี้ดูดีมาก เสื้อสวยจัง แต่งหน้าสวยจัง (ชมด้วยความจริงใจจริง ๆ นะไม่ใช่โกหก) แบบเพื่อไม่ให้เกิดการน้อยใจอะไรกัน ว่าเธอก็สวย เธอก็เด่นกว่าใคร”

ปัญหานี้อาจจะไม่หมดไปสักทีเดียว แต่เราช่วยลดมันได้ ก็อย่างที่ลิลลี่ได้พูดไป เราอาจทำให้ปัญหา Beauty Privileges หมดไปไม่ได้ แต่เราสามารถหลีกเลี่ยงให้มันเกิดน้อยลงได้

บาลานซ์ระหว่างคนหน้าตาดีกับคนหน้าตาธรรมดา

หากเราจะหาความเสมอภาคกัน เราก็ต้องหาจุดกึ่งกลางของทั้งสอง

“ดูที่นิสัยใจคอ ความจริงใจ ความมีมารยาท”

ลิลลี่ได้พูดประโยคดังกล่าว นั้นคือคำตอบของเธอ ซึ่งก็อาจจะเป็นคำตอบของใครหลายคน แต่ถึงอย่างนั้นการเอาหน้าตาเป็นที่ตั้ง ก็ยังแทบจะเป็นเหตุผลหลักในการที่เราจะไปรู้จักใคร แต่เราอยากให้ทุกคนลองมองลึกลงไปที่นิสัยใจคอของบุคคลนั้น มากกว่าที่จะเอาเรื่องหน้าตาเป็นตัวตั้ง

เมื่อ Beauty Privileges กลายเป็นเรื่องธรรมดาของสังคมเรา บุคคลบางกลุ่มก็จะได้ขึ้นเป็นดาวเด่น หรือบุคคลบางกลุ่มก็จะถูกดันออกไป บุคคลที่ได้ขึ้นเป็นดาวเด่นก็ต้องทำให้ตัวเองดูดีขึ้น สวยขึ้นอยู่ตลอด เพราะไม่งั้นพวกเธอจะกลายเป็นบุคคลที่ถูกผลักออกทันที แต่บุคคลที่ถูกผลักออกอยู่แล้ว เขาก็จะถูกผลักออกไปไกลขึ้น วนลูปอย่างนี้ไปตลอด และปัญหาที่ผูกเชื่อมกันทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นระบบกับบุคคลที่เชื่อมกัน บางคนอาจไม่ได้เป็นคนอย่างนี้ตั้งแต่แรก แต่เขาถูกระบบกดทับ จนความเป็นตัวเองสูญหายไปในที่สุด

“เมื่อระบบนี้ยังมีอยู่ ความฝันของหลายคนก็จะถูกกัดกินเรื่อย ๆ จากทั้งระบบและตัวบุคคล จนความฝันของพวกเขาไม่เหลือ และสิ้นสุดที่การเก็บความฝันไว้ในบาดแผลอันเจ็บปวด” ลิลลี่กล่าวในตอนท้าย

 อ้างอิงข้อมูลจาก: https://www.facebook.com/272386132833443/posts/4240260626045954/