คำถามที่หายไปจากดราม่าฟู้ดแพนด้า กรอบคิดใหม่และกติกาที่สังคมไทยต้องการ - Decode
Reading Time: 2 minutes

ก้อนอิฐในมือสามัญชน

ดร.เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร

น่าเสียดายอย่างมากที่ “ดราม่าฟู้ดแพนด้า” ที่เกิดขึ้นหลังจากชุมนุมวันที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา กลับไม่ทำให้คนจำนวนมากตั้งคำถามในสองประเด็นใหญ่คือ เรื่องอำนาจของแพลตฟอร์มและสถานะคนงานของไรเดอร์ ในฐานะประเด็นสำคัญของสิทธิแรงงานแพลตฟอร์มในภาพรวม

ในอดีต หากพนักงานของบริษัทคนหนึ่งถูกนายจ้างประกาศเลิกจ้าง ด้วยเหตุผลว่าทำให้บริษัทเสื่อมเสียชื่อเสียงหรือภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กร หรือด้วยข้ออ้างอื่นใดก็ตาม พนักงานคนนั้นยังสามารถพึ่งพากระบวนการยุติธรรมช่วยชี้ว่าการเลิกจ้างดังกล่าวเป็นธรรมหรือไม่ เพื่อนำไปสู่ทางออกไม่ว่าจะเป็น การเรียกร้องค่าชดเชยหรือการคืนสภาพพนักงาน 

ถึงแม้กลไกที่มีอยู่เดิมจะมีข้อจำกัดอย่างมาก อย่างน้อยมันก็ยังพอเป็นช่องทางให้คนงานได้ร้องทุกข์ ต่างจากในกรณีของคนงานแพลตฟอร์ม อย่างเช่นไรเดอร์ฟู้ดแพนด้านั้น เมื่อมีการเลิกจ้างเกิดขึ้น คนงานกลับไม่มีช่องทางได้ร้องเรียนและอุทธรณ์ “การเลิกจ้าง”​ ดังกล่าวเลย เพราะบริษัทแพลตฟอร์มอย่างฟู้ดแพนด้า แกร็บหรือไลน์แมน ไม่เคยยอมรับว่ามีความสัมพันธ์ของการจ้างงานในรูปแบบนายจ้าง-ลูกจ้างเกิดขึ้น 

พูดให้ง่ายก็คือ บริษัทแพลตฟอร์มทั้งหมดในปัจจุบัน ยังคงปฏิเสธสถานะ “นายจ้าง” ของตน และทำให้คนงานแพลตฟอร์มต้องสูญเสียสถานะทางกฎหมายไปโดยปริยาย ทั้งที่แนวปฏิบัติในการจ้างงานที่เกิดขึ้นจริงนั้น ค่อนข้างชี้ชัดว่า ไรเดอร์คือคนงานที่ถูกจ้างโดยแพลตฟอร์มแรงงานเหล่านี้

ตามที่ผมชี้ให้เห็นในคอลัมน์นี้อย่างต่อเนื่อง แนวปฏิบัติแบบนี้ทำให้บริษัทแพลตฟอร์มสามารถละเมิดกฎหมายคุ้มครองแรงงานฯ ที่วางหลักปฏิบัติในสิ่งที่นายจ้างควรหรือไม่ควรทำ อย่างลอยนวลปราศจากความรับผิด

การประกาศ “เลิกจ้าง” ไรเดอร์ฟู้ดแพนด้าทางทวิตเตอร์ จึงเป็นตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจของปัญหาที่ใหญ่กว่า เพราะเอาเข้าจริงแล้ว ในทางปฏิบัติ แพลตฟอร์มแรงงานอย่างเช่นฟู้ดแพนด้า “เลิกจ้าง”​ คนงานตลอดเวลาโดยไม่ต้องออกประกาศใด ๆ อยู่แล้ว ไม่ว่าการเลิกจ้างนั้นจะทำผ่านการลงโทษ โดยปิดสัญญาณชั่วคราวหรือการปิดสัญญาณถาวรก็ตาม

ถึงแม้ว่าต่อมาในภาพหลัง ฟู้ดแพนด้าจะกลับหลังหันแบบ 180 องศา ประกาศคืนสถานะให้ไรเดอร์คนดังกล่าว ไม่ว่าจะเพราะแรงกดดันของสังคมหรืออะไรก็ตาม แต่การประกาศเลิกจ้างตามสถานการณ์ดังกล่าว สะท้อนอำนาจที่มีล้นเหลือของแพลตฟอร์มที่จะทำอะไรก็ได้กับไรเดอร์ โดยไม่ต้องสนใจกฎหมายแรงงานตั้งแต่ต้น

ในภาพรวมปรากฏการณ์นี้จึงสะท้อนความย้อนแย้งพื้นฐาน ของเศรษฐกิจแพลตฟอร์มที่แพลตฟอร์มสามารถเลิกจ้างคนงาน ที่ตัวเองไม่เคยยอมรับว่าเป็นลูกจ้างตั้งแต่ต้น คิดในมุมกลับกัน การประกาศเลิกจ้างนี้กลับสะท้อนว่า ไรเดอร์คือพนักงานในสังกัดของแต่ละแพลตฟอร์มมาโดยตลอด เพียงแต่แพลตฟอร์มไม่เคยยอมรับเพราะต้องการปฏิเสธความรับผิดชอบตามกฎหมาย

ลองคิดกันดูเล่น ๆ ถ้าหากคนงานแพลตฟอร์มเช่น ไรเดอร์ ไม่ได้เป็นลูกจ้างหรือพนักงานของบริษัท แต่เป็นพาร์ทเนอร์อย่างที่ถูกกล่าวอ้าง ทำไมพวกเขาจึงถูกบังคับให้สวมใส่เครื่องแบบหรือยูนิฟอร์มของบริษัทในการทำงาน โดยไม่สามารถเลือกได้ หรือกระทั่งต้องทำงานภายใต้เงื่อนไขการทำงานที่เข้มงวด ทั้งในวิธีการทำงาน รวมทั้งถูกกล่อมเกลาทั้งพฤติกรรมรวมและทัศนคติให้เป็นไปแนวทางที่แพลตฟอร์มต้องการ 

ในทางกลับกัน การสวมใส่ยูนิฟอร์มทำให้คนงานเองมีความผูกพันกับแบรนด์ไม่ต่างจากพนักงานของบริษัท ในมุมมองของแพลตฟอร์มเอง กลุ่มก้อนของไรเดอร์จำนวนมากในพื้นที่สาธารณะ กลายเป็นเครื่องมือชั้นดีในการสร้างความรับรู้ของสังคมต่อแบรนด์ของแพลตฟอร์ม ดังนั้น สิ่งที่แพลตฟอร์มทำทั้งหมด ชี้ไปในทางเดียวกันว่าคนงานเหล่านี้คือพนักงานที่แพลตฟอร์มจ้างงาน

ความไม่ลงรอยระหว่างแนวปฏิบัติของการจ้างงาน กับสถานะทางกฎหมายของคนงานกลุ่มนี้ จึงเป็นหลุมดำใหญ่ ที่ยังคงรอการแก้ไขทั้งในเชิงการบังคับใช้กฎหมาย และการออกกฎระเบียบใหม่

คำถามที่เราควรจะถามจึงไม่ใช่แค่ “ทำไมฟู้ดแพนด้ามีอำนาจในการเลิกจ้างไรเดอร์ได้ตามอำเภอใจ” ไม่ว่าข้ออ้างที่ถูกนำมาใช้จะมีมูลเหตุทางการเมืองหรือไม่ก็ตาม แต่สังคมต้องถกเถียงกันในประเด็นที่สำคัญมากกว่านั้นว่า เมื่อกฎหมายแรงงานที่เราใช้อยู่ ไม่สามารถคุ้มครองคนงานแพลตฟอร์มจากการถูกละเมิดสิทธิแรงงาน เพราะอำนาจที่ต่างกันอย่างมาก ระหว่างแพลตฟอร์มแรงงานและแรงงานแพลตฟอร์มแล้ว เราจะออกแบบชุดของกฎหมายแรงงานในอนาคต เพื่อคุ้มครองแรงงานอนาคตกลุ่มนี้ได้อย่างไร

จะว่าไปแล้วสำหรับผม ปฏิกิริยาของฟู้ดแพนด้า รวมทั้งการละเลยไม่ตั้งคำถาม ถึงอำนาจของแพลตฟอร์มและสถานะของคนงานที่ชัดเจนในรอบนี้ สะท้อนถึงวิธีคิดเกี่ยวกับงานและความเข้าใจของเราต่อจ้างงานรูปแบบเก่า ซึ่งเป็นสิ่งตกค้างของเศรษฐกิจแบบเก่า และเป็นต้นตอของความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เกี่ยวกับการจ้างงานในเศรษฐกิจแบบกิ๊กในปัจจุบัน

ก่อนที่พวกเราจะสามารถออกแบบกฎหมายใหม่ จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องรื้อถอน ความเข้าใจเก่าเก็บเกี่ยวกับความหมายของงานและสถานะคนงานแบบเก่า ซึ่งเป็นกรอบพื้นฐานของกฎหมายแรงงานฉบับที่เราใช้มานาน ในบทความตอนนี้ ผมจึงอยากฉกฉวยโอกาส พูดถึงเค้าโครงของกรอบความคิดใหม่ เรื่องสถานะของคนงานในอนาคต ถือเป็นการจุดประกายความคิดให้สังคมไทยนำไปต่อยอด

อันดับแรก ต้องเริ่มต้นตั้งแต่การถอนรากถอนโคนความคิดพื้นฐานที่ว่า “ถ้าคุณไม่ใช่พนักงานประจำที่มีนายจ้างแล้ว คุณก็ต้องเป็นแรงงานอิสระ”

การแบ่งแยกคนทำงานออกเป็นสองกลุ่มอย่างหยาบ ๆ แบบนี้ เป็นพื้นฐานของการนิยามสถานะทางกฎหมายของคนงานที่เราใช้กันมานาน ผลเสียที่สำคัญก็คือ มันทำให้กฎหมายแรงงานไทยมีข้อจำกัดอย่างมาก ในการคุ้มครองคนงานไทยมาโดยตลอด โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นคนงานจ้างเหมาช่วง เพราะคนงานจำนวนไม่น้อยถูกปฏิเสธสิทธิและการคุ้มครองไปตั้งแต่ต้น เพียงเพราะนายจ้างของพวกเขาพยายามหากลยุทธ์ลัดเลาะออกไปนอกกรอบของกฎหมาย

ในเมื่อกรอบของกฎหมายคับแคบอยู่แล้ว จึงเป็นเรื่องไม่ยากสำหรับผู้ประกอบการที่จะเลี่ยงออกไปอยู่ข้างนอกกรอบนั้น

นอกจากนี้ในภาพรวม กฎหมายไทยยังแบ่งแยกคนงาน (อย่างผิด ๆ) ออกเป็นสองกลุ่ม คือ แรงงาน “ในระบบ” และแรงงาน “นอกระบบ”

หน่วยงานราชการกลับไปเอาหลักเกณฑ์เรื่องกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ที่สะท้อนโครงสร้างของตลาดแรงงานมาใช้เป็นเกณฑ์กำหนดอัตลักษณ์ของคนทำงาน ที่มีผลกำหนดสิทธิและการคุ้มครองทางกฎหมายของคนงานทั้งสองกลุ่มตามไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น คนงานที่อยู่ในภาคเศรษฐกิจไม่เป็นทางการทั้งหมดถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม “แรงงานนอกระบบ” 

การกำหนดสถานะแรงงานอย่างหยาบและการกำหนดอัตลักษณ์คนงานอย่างผิด ๆ ทั้งสองลักษณะนี้ เกี่ยวพันกับปัญหาที่ทำให้คนงานแพลตฟอร์ม ซึ่งถูกปฏิเสธสิทธิโดยนายจ้างอยู่แล้ว ต้องพบกับอุปสรรคที่จะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายและเข้าไม่ถึงหลักประกันทางสังคม

เมื่อแพลตฟอร์มที่เป็นนายจ้างตัวจริงของคนงานกลุ่มนี้ หลบเลี่ยงกฎหมายโดยการออกแบบการจ้างงานแบบใหม่ที่เป็นสีเทามีความคลุมเครือ ที่เราอาจจะเรียกว่า “การจ้างงานที่ไม่เป็นทางการในเศรษฐกิจที่เป็นทางการ” คนงานกลุ่มนี้จึงดูเสมือนว่าทำงานอยู่ในภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ ทั้งที่พวกเขาทำหน้าที่เสมือนกับพนักงานของแพลตฟอร์ม ซึ่งเป็นสถานประกอบการที่ดำเนินธุรกิจที่มีรูปแบบชัดเจน

หากเราต้องการปฏิรูปกฎหมายแรงงาน เพื่อให้สามารถคุ้มครองแรงงานแพลตฟอร์มกลุ่มนี้แล้ว อันดับแรก ผมคิดว่าเราต้องทิ้งกรอบความคิดเก่าเหล่านี้ลงถังขยะไปเลย เพราะวิธีคิดที่ล้าสมัยนี้ทำให้เกิดหลักการตีความที่คลาดเคลื่อน ว่าคนงานจะได้รับสิทธิและความคุ้มครองก็ต่อเมื่อพวกเขาเป็นพนักงานของบริษัท ซึ่งเกี่ยวพันกับเงื่อนไขอีกข้อที่ว่า พวกเขาต้องเป็นคนงานที่มีนายจ้างที่ชัดเจนเพียงหนึ่งเดียว

ความซับซ้อนที่เกิดขึ้นจากแนวปฏิบัติ ของการจ้างงานในเศรษฐกิจแพลตฟอร์มก็คือ คนงานหนึ่งคนนั้นอาจไม่จำเป็นต้องทำงานให้บริษัทหรือนายจ้างเดียวอีกต่อไป ยกตัวอย่างของไรเดอร์หรือแม่บ้านออนไลน์ที่ทำงานกับหลายแพลตฟอร์มในเวลาเดียวกัน 

นอกจากนี้ คนงานกิ๊กอาจจะทำงานหลากหลายรูปแบบ และไม่สามารถชี้ชัดไปได้ว่าพวกเขามีอาชีพหลักอะไรกันแน่

ด้วยเหตุผลเหล่านี้ การที่คนงานหนึ่งคนทำงานให้กับหลายแพลตฟอร์มในเวลาเดียวกันนั้น ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาไม่มีนายจ้าง แต่มีนายจ้างหลายคน ซึ่งยิ่งเป็นเหตุผลให้คนงานเหล่านี้ต้องได้รับการคุ้มครองเพิ่มมากขึ้นแทนที่จะน้อยลง

กรอบคิดใหม่ประการสำคัญก็คือ กฎหมายต้องสามารถรับรองสถานะของแรงงานที่หลากหลายมากไปกว่าการเป็นพนักงานที่มีนายจ้างหนึ่งคน

ทั้งนี้ กฎหมายแรงงานในต่างประเทศ อย่างเช่นกรณีของอังกฤษนั้น มีการจำแนกสถานะของแรงงานที่ละเอียดขึ้นเป็นสามชั้น ได้แก่ พนักงาน (employee), คนงาน (worker) และคนงานอิสระ (independent contractor/freelancer) ซึ่งสถานะคนงานที่อยู่ตรงกลางระหว่างพนักงานและคนงานอิสระนั้น อาจเป็นสถานะที่สามารถนำใช้รับรองและคุ้มครองสิทธิของคนงานแบบที่ซับซ้อนกว่าหนึ่งต่อหนึ่ง หรือมีลูกจ้างหนึ่งต่อนายจ้างหนึ่งราย

สถานะ “คนงาน”​ ยังบ่งบอกถึงสิทธิและหลักประกันทางสังคมที่พวกเขาควรจะได้ ในฐานะคนทำงานสร้างมูลค่าให้กับระบบเศรษฐกิจ ที่สังคมโดยรวมจะต้องร่วมกันรับผิดชอบต้นทุนและสวัสดิการของพวกเขา

นอกจากกฎหมายแรงงานจะต้องถูกแก้ไข ให้สามารถรับรองสถานะของคนงานที่มีหลายนายจ้างแล้ว ในทำนองเดียวกัน กฎหมายที่เกี่ยวข้องเช่น แรงงานสัมพันธ์และประกันสังคม ก็จำเป็นต้องถูกทบทวนและออกแบบใหม่ให้สอดคล้องกันตามไปด้วย โดยเป้าหมายต่ำสุดก็คือ ทั้งสองระบบต้องอนุญาตให้นายจ้างหรือบริษัทแพลตฟอร์มแต่ละแห่งที่จ้างงานคนงานได้ร่วมกันแบ่งรับต้นทุนและความรับผิดชอบต่อการคุ้มครองทางสังคมของคนงานตามที่เป็นจริง

แน่นอน จะต้องมีคำถามในเชิงรายละเอียดเกิดขึ้นตามมามากมาย เช่น แพลตฟอร์มแต่ละแห่งจะสามารถสมทบกองทุนประกันสังคมได้อย่างไร หรือกองทุนประกันสังคมจะออกแบบวิธีการจ่ายเงินสมทบอย่างไร เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสุดท้ายของความเป็นธรรมในการจ้างงาน สุดท้าย กระบวนการที่ตัวแทนของคนงานและภาคประชาสังคมจะมีส่วนร่วมในการออกแบบกฎกติกานี้ จะเป็นเงื่อนไขจำเป็นที่จะนำไปสู่ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ

สำหรับคนงานแพลตฟอร์มในสังคมไทย ผมคิดว่าพวกเขารอคอยกฎกติกาที่เป็นธรรมมานานเกินไปแล้ว