กลายเป็นคนไร้บ้าน วิ่งได้วิ่ง วิ่งช้าอด บทสนทนาจากข้าวกล่อง มาเฟีย และความตาย - Decode
Reading Time: 4 minutes

“ไม่มีใครเขาอยากมาอยู่สภาพแบบนี้หรอก ที่จะต้องรอว่า วันนี้ใครจะเอาข้าวมาให้กิน ผมเคยเป็นคนปกติแบบพี่ มีห้องนอน มีงานทำ ผมพยายามหางานอยู่ แต่มันหาไม่ได้จริง ๆ”

ก่อนโควิดอาจมีคนจำนวนหนึ่ง สูญเสียบ้านในเชิงความรู้สึก อันเกิดจากความผิดพลาดในชีวิต ทำให้รู้สึกไร้ศักดิ์ศรี ไม่ได้รับการยอมรับจากครอบครัว จนเลือกทางเดินโดยสมัครใจในการออกมาเป็น “คนไร้บ้าน”

แต่วันนี้มีคนสูญเสียบ้าน,ห้องพัก ทางกายภาพเพราะตกงาน จากคนที่มีงานเป็นหลักเป็นแหล่งทำ ไม่ว่าจะเคยเป็นศิลปิน, พนักงานโรงงาน, คนทำงานร้านอาหาร, หรือพ่อค้า พวกเขาเหล่านี้ที่ผมได้พบเจอ ล้วนต้องยอมออกมาเป็น “คนไร้บ้านโดยจำเป็น”

จากคนเป็นถึงคนตาย

เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 64 ข่าวที่กลายเป็นกระแสสังคม ถูกพูดถึงมากที่สุดคงหนีไม่พ้น “วันเดียว พบผู้เสียชีวิต 3 คน ริมถนน กทม.” เป็นเรื่องหดหู่ของสังคม ก่อนเราจะเริ่มชินชา เมื่อเห็นภาพเหล่านี้ซ้ำ ๆ ในทุกวัน

โดยหนึ่งในสามศพวันที่ 20 ก.ค. เป็นคนไร้บ้านอายุ 60 ปี นอนเสียชีวิตอยู่บริเวณ หน้าร้านศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ ถ.ราชดำเนิน ตั้งแต่เวลา 16.00 น. ภายใต้สิ่งที่เกิดขึ้น และคำถามจากสังคมว่า เรื่องราวการเสียชีวิตนั้นมีที่มาอย่างไร เขาติดโควิดหรือไม่? ทำไมถึงไม่มีหน่วยงานใดเข้าไปช่วยเหลือ? ผมเก็บคำถามเหล่านี้ไว้ เพื่อลงไปสืบหาเรื่องราวจากผู้อยู่ในเหตุการณ์จริง 

22 ก.ค. 64 ยามบ่ายวันฟ้าอึมครึม ถ.ราชดำเนิน แน่นขนัดไปด้วยคนไร้บ้านทั้งขาจร และขาประจำ ผมเดินดุ่ม ๆ จนไปถึงบริเวณที่ผู้เสียชีวิตล้มลง มีข้าวกล่องกับน้ำเปล่าวางไว้บริเวณดังกล่าว ชายไร้บ้านคนหนึ่งแสดงตัวว่า “วางข้าวกล่องและน้ำตามความเชื่อที่ว่า วิญญาณของผู้ตายยังคงวนเวียนอยู่บริเวณนี้” ยังไม่ทันที่ผมจะได้ถามอะไรเขาต่อ ผมสัมผัสได้ถึงมือปริศนาเอื้อมมาแตะบริเวณหัวไหล่ 

“พี่เป็นนักข่าวใช่ไหม ผมมีเรื่องเล่าของคนตาย ที่ออกข่าวดังเมื่อวันก่อน แต่ผมบอกพี่ตรงนี้ไม่ได้ ไปเจอกันตรงหน้าแมคโดนัลด์ และผมจะเล่าเรื่องราวทั้งหมดให้พี่ฟัง”

ผมลังเลว่าจะเดินตามเขาไปดีไหม…แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจเดินตามไป 

“ตอนเขาตายพี่เชื่อไหม ไอคนเป็นมันก็ต้องหาข้าวกินต่อไป มันสะเทือนใจผมตรงที่ พวกคนที่อยู่ตามข้างทาง จะต้องเดินข้ามศพเพื่อไปรับข้าว ‘นี่คือคนตายนะเว่ยพี่’  ไม่ใช่หมู หมา แต่เราก็ทำอะไรไม่ได้ ถ้าผมไม่ไปเอาข้าวพวกผมก็อดตาย”

หนุ่มไร้บ้านนิรนาม อดีตพนักงานโรงงาน เริ่มเล่าเรื่องราวของผู้เสียชีวิต เขาบอกว่าเห็นตั้งแต่วินาทีที่ผู้เสียชีวิตล้มลงในเวลา 16.00 น. จนถึงเวลาที่มีรถมาเก็บศพในเวลา 22.30 น. เป็นเวลากว่า 7 ชั่วโมง ที่ศพกองอยู่ตรงนั้น

“ตอนนั้นผมนึกว่าแกเมาเลยตะโกนไปว่า ‘เห้ยคนเมาล้ม’ ไปๆ มาๆ ไม่ใช่ แกชักกระตุก และมีคนตะโกนมาว่า ‘เขาหายใจไม่ออก เจ็บหน้าอก เรียกรถพยาบาลที’”

ผ่านไปไม่กี่นาทีหลังจากผู้ตายล้มลง มีรถของมูลนิธิคันหนึ่งขับผ่านมา เหล่าคนไร้บ้านจึงตะโกนขอให้รถช่วยจอด  รถจอดห่างจากจุดเกิดเหตุไป 200 เมตร หนุ่มนิรนามวัย 30 เล่าเรื่องราวต่อมาให้ฟังอย่างระทึก

“ผมตะโกนบอกว่า ‘พี่มีคนล้ม แกกำลังจะตาย’ ตอนนั้นแกยังหายใจอยู่นะ แต่รถมูลนิธิตอบกลับมาว่า ‘ผมไม่รู้ครับ’ แล้วก็ขับออกไป ผมเชื่อว่าวันนั้น รถคันนี้ช่วยเหลือเขาอาจจะรอด”

จนกระทั่งเวลา 19.30 น. ทุกคนต่างคิดว่าคนที่ล้มลงสิ้นลมหายใจแล้ว หลังจากนั้นมีทั้งรถจาก รพ. และจากมูลนิธิหลายต่อหลายคัน ขับวนเวียนมาดูศพ แต่ไม่มีเลยสักคันที่จะเก็บศพผู้เสียชีวิตไป

“ไปหาตำรวจเขาบอกว่า ‘ไม่ใช่หน้าที่ของพวกคุณ พวกคุณออกไป ถ้าผมเก็บศพได้ผมเก็บไปนานแล้ว’ เขาพูดมาแบบนี้ผมก็ไม่หวังอะไรจากเขาแล้ว”

เมื่อหวังพึ่งตำรวจไม่ได้ ชายหนุ่มนิรนามจึงตัดสินใจเดินมาบริเวณแมคโดนัลด์ เพื่อหวังว่าจะเจอคนที่พอช่วยเหลือได้ จนกระทั่งมาเจอกับพลเมือง 2 คนที่นั่งอยู่ เขาจึงตัดสินใจเดินเข้าไปขอความช่วยเหลือ

“ผมเดินไปบอกเขาว่า ‘พี่ครับผมขอความช่วยเหลือหน่อยได้ไหม’ เขาคงคิดว่าผมจะมาขอเงิน เราก็บอกกลับไปว่า ‘ไม่ใช่พี่มันมีคนตาย ตายไปตั้งนานแล้วยังไม่มีคนมาเก็บศพเลย’ สักพักเขาช่วยประสานงานให้ ถึงมีรถมารับศพไป”

เรื่องราวคลี่คลายลงเมื่อมีคนมารับศพ แต่ในฐานะคนไร้บ้านคนหนึ่ง หนุ่มนิรนามก็มีสิ่งที่เขาอยากจะพูดสะท้อนออกมาในฐานะคนไร้บ้านจำเป็น

“ไม่มีใครเขาอยากมาอยู่สภาพแบบนี้หรอก ที่จะต้องรอว่า วันนี้ใครจะเอาข้าวมาให้กิน ผมเคยเป็นคนปกติแบบพี่ มีห้องนอน มีงานทำ ผมพยายามหางานอยู่ แต่มันหาไม่ได้จริง ๆ 

“เอาจริง ๆ ถ้ารัฐบาลเขาอยากจะช่วยพวกผม ผมอยากให้เขาออกไปจากตำแหน่ง และเอารัฐบาลที่มีคุณภาพ มีความสามารถ  แค่นี้ผมก็รู้แล้วว่าเขาไม่มีความสามารถในการจัดการวิกฤตครั้งนี้ มีปัญหาอะไรท่านก็เอาแต่แจกเงิน ซึ่งมันไม่ได้แก้ไขปัญหาให้คนไร้บ้านอย่างพวกผมเลย”  

ก่อนที่ผมจะขอตัวเดินจากหนุ่มนิรนามคนดังกล่าว ผมไม่ลืมถามว่าทำไมเขาต้องให้ผมออกมาคุยไกลๆ เช่นนี้ เขาบอกว่า “ผมไม่รู้หรอกว่ามีใคร จับจ้องมองดูพวกผมอยู่บ้าง หากผมพูดอะไรออกสื่อไป ตอนนี้อาจจะยังไม่เป็นไร แต่ตอนที่พวกพี่กลับไป ใครจะรู้ว่าชีวิตผมจะยังคงปลอดภัยเหมือนเดิม”

ผมผละออกมาจากชายนิรนามคนดังกล่าว เดินเรียบ ถ.ราชดำเนินจากร้านแมคโดนัลด์ มุ่งตรงไปทางสี่แยกคอกวัว บนท้องถนน มีรถเมอร์เซเดส-เบนซ์สีขาวคันหนึ่ง วิ่งมาในเลนซ้ายสุด ก่อนเปิดไฟกะพริบ เทียบจอดริมฟุตบาท ผมไม่มั่นใจว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ดูเหมือนว่าคนไร้บ้านทุกคน จะวิ่งแบบไม่คิดชีวิต…วิ่งให้เร็วที่สุดเท่าที่จะวิ่งได้

จากข้าวกล่องถึงมาเฟีย

คนไร้บ้านทุกคนต่างวิ่งกันอย่างไม่คิดชีวิต เมื่อมีรถยนต์มาจอดริมฟุตบาท เพราะมันคือสัญญาณบ่งบอกว่า จะมีคนมาแจกของ ใครวิ่งเร็วก็ได้ ใครวิ่งช้าก็อด แต่มีบางกลุ่มคนไม่ต้องวิ่งแต่กอบโกยหาผลประโยชน์จากพวกเขา

ผมสังเกตเห็นว่า เวลามีคนมาแจกของ จะมีคนกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะวินมอเตอร์ไซค์ และคนหน้าเดิม ๆ ที่คาดว่าเป็นคนในพื้นที่แถวนั้น จะสถาปนาตนเองเป็นผู้คุมกฎ ในการช่วยผู้บริจาคดูแลความเรียบร้อยจัดแถว แต่ภายในความเรียบร้อยที่เกิดขึ้น ผมเห็นว่าพวกเขาเหล่านั้น จะให้พวกพ้องของตัวเองมาแซงคิวเพื่อรับของ บางครั้งก็หยิบของส่วนหนึ่งออกไปกันไว้ให้ตัวเอง จนทำให้หลายครั้ง คนไร้บ้านที่อยู่รั้งท้าย ไม่มีโอกาสได้สิ่งของเหล่านี้ 

สถานการณ์วันที่ลงพื้นที่พบว่า มีเพียงภาคเอกชนประชาชนที่นำของมาแจก ยังคงไร้วี่แววจากภาครัฐ ในการเข้ามาดูแลจัดระเบียบ จึงทำให้เกิดการฉวยโอกาสจากคนกลุ่มหนึ่ง ที่มีอิทธิพลภายในพื้นที่ และนอกจากนี้ กลุ่มคนที่มาคอยรับข้าวกล่องสิ่งของ ไม่ได้มีเพียงคนไร้บ้าน แต่ยังมีคนที่มีบ้านแต่ได้รับความเดือดร้อน รวมทั้งผู้คนในบริเวณใกล้เคียง ที่ใช้ช่วงเวลาในยามกลางวัน มาหาข้าวกินบน ถ.ราชดำเนิน ที่ตอนนี้แปรสภาพกลายเป็นชุมชนย่อม ๆ ที่มีผู้คนมากมาย ก่อนจะค่อย ๆ ลดน้อยลงในช่วงเวลาพลบค่ำ

“แย่เลยนะลุง วันนี้เขาแจกเงิน 100 บาท อีกนิดเดียวก็ถึงคิวลุงได้รับแล้ว แต่ของดันหมดซะก่อน”

“ช่างมันเถอะ ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เดี๋ยวก็มีมาแจกเรื่อย ๆ”

ชายคนที่ผมคุยด้วยและได้รู้จักมีชื่อว่าพี พีรพงศ์  พีเป็นอดีตพ่อค้าขายของตามตลาด เคยมีบ้าน มีมรดกจากพ่อแม่ แต่จนถึงวันที่เศรษฐกิจตกต่ำลงมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2557 พีเล่าว่าชีวิตความเป็นอยู่ก็เริ่มแย่ลง เคยลองทั้งไปขออยู่อาศัยกับเพื่อนก็แล้ว หนีไปบวชก็ไม่รอด จนนำเงินก้อนสุดท้ายมาลงทุนขายของช่วง พ.ย. 63 แต่ก็ถูกหัวขโมยยกเค้าไปทั้งร้าน เมื่อดิ้นจนหมดหนทางพีบอกว่า

“ขโมยมันยกไปหมดจนไม่เหลืออะไรเลย เลยมานั่ง ๆ นอน ๆ อยู่แถว ถ.ราชดำเนิน เห็นเขามีข้าวมาแจกทั้งวัน ก็เออออ ตาม ๆ เขาไป จนสุดท้ายเราก็กลืนกลายเป็นคนไร้บ้านตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา”

พีอธิบายต่อถึงพื้นที่อยู่อาศัยของคนไร้บ้าน ใน ถ.ราชดำเนินตอนนี้ แบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง ฝั่งแรกคือหน้าศูนย์เมอร์เซเดส-เบนซ์ ทอดยาวถึงบริเวณหน้ากองสลากกินแบ่ง จะเป็นพื้นที่ ที่คนจากในเมืองขับรถมาแจกของเยอะที่สุด เพราะเป็นจุดแรกหากขับรถมาถึง เป็นจุดที่คนไร้บ้านอยู่กันพลุกพล่าน และจะมีคนในพื้นที่คอยเป็นผู้ควบคุมดูแลการบริจาคสิ่งของ

ถัดมาฝั่งตรงข้าม บริเวณร้านศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ จะเป็นจุดที่สอง ที่คนไร้บ้านรวมกลุ่มกันเองในการอยู่อาศัย จะค่อนข้างเงียบสงบกว่าฝั่งแรก และไม่มีเจ้าถิ่น นอกจากนี้ถัดขึ้นไปทางแยกผ่านฟ้า ก็จะมีกลุ่มคนไร้บ้าน แยกย่อยออกไปอีก แต่จะเป็นกลุ่มที่ดื่มสุรา จึงทำให้คนไร้บ้านไม่นิยมไปหลับนอนแถวบริเว…

ยังไม่ทันที่พีได้อธิบายจบ รถอีกคันหนึ่งก็เทียบท่ามาจอดที่ริมฟุตบาทอีกแล้ว  ทุกคนรีบกระโจนวิ่งไปหารถคันนั้น และคาดว่า คนมาแจกคงตกใจกลัว ที่เห็นฝูงชนกรูเข้ามา ยังไม่ทันได้ลงจากรถเพื่อเอาข้าวกล่องที่เตรียมมา หยิบยื่นให้แต่ละคน ผู้บริจาคเลือกเปิดกระจก หย่อนถุงข้าวกล่องลงบนพื้น และเลือกจะขับรถออกไปอย่างรวดเร็ว และเมื่อไม่มีคนแจกจึงเหลือแต่คนรุม คนไร้บ้านต่างพากันเข้าไปแย่งข้าวกล่อง จนสุดท้ายทุกอย่างกระจุยกระจาย ข้าวกล่องที่ควรจะได้ตกถึงท้อง บางกล่องหกกระจายอยู่กลางพื้น

ผมถามพีว่าจริง ๆ แล้วอยากให้รัฐ มาช่วยเหลือเรื่องอะไรมากที่สุดตอนนี้ คำตอบของเขากลับไม่ใช่เรื่องวัคซีน หรือการตรวจโควิด แต่กับเป็นเรื่องปากท้อง การแจกข้าวกล่อง ที่พีอยากให้รัฐลงมาช่วยเหลือ ดูแลให้เป็นระเบียบกว่านี้ 

“อยากให้รัฐลงมาช่วยดูแล แต่ก็ไม่ใช่ส่ง จนท.มาประจำ ถ้าเป็นแบบนั้น พวกผมคงอยู่กันลำบากขึ้น อยากให้มีคนกลางที่สามารถเข้ามาดูแลบริหารจัดการได้”

แม้ตอนนี้ยังไม่เกิดคลัสเตอร์โควิดระบาด ในกลุ่มคนไร้บ้าน แต่ใช่ว่าจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ และหากเกิดขึ้นคงเป็นเรื่องยากในการติดตามดูแล ที่ผ่านมาเรามีบทเรียนเสมอว่า การแก้ไขปัญหามักต้องจ่ายแพงกว่าการป้องกันปัญหา และในตอนนี้ รัฐสามารถป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด ในกลุ่มคนไร้บ้านได้อย่างไรบ้าง?

ล้อมรั้วป้องกัน ก่อนโควิดมาเคาะประตูคนไร้บ้าน

“การตรวจต้องทำอย่างทั่วถึงและทำอย่างต่อเนื่อง ส่วนวัคซีนต้องเลือกชนิด และออกแบบกระบวนการการฉีดที่เหมาะสมกับบริบทของคนไร้บ้าน”

คือสิ่งสำคัญที่ เอ๋ สิทธิพล ชูประจง หัวหน้าโครงการผู้ป่วยข้างถนนและจ้างวานข้า มูลนิธิกระจกเงา บอกกับผม ในวันที่รัฐยังไม่สามารถทำงานตอบโจทย์วัตถุประสงค์สำคัญได้

“สิ่งที่รัฐลงมาช่วยเหลือ จะมีการตรวจหาเชื้อเชิงรุก พาไปฉีดวัคซีน และมีการพาคนไร้บ้านเข้าไปอยู่ในศูนย์ที่เขาจัดไว้ให้ แต่ทั้งนี้ก็เป็นการลงไปช่วยเพียงครั้งเดียว คือในวันที่ 7 กรกฎาคมที่หัวลำโพง และ 9 กรกฎาคมที่ ถ.ราชดำเนิน”

สิทธิพลกล่าวว่า การที่รัฐนำโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและสวัสดิการมนุษย์ ทำการตรวจและฉีดวัคซีนให้กลุ่มคนไร้บ้านประมาณ 100 คน และทำเพียงครั้งเดียวแบบนี้ แทบไม่ใช่หลักการควบคุมโรคระบาดที่ถูกต้อง

โดยล่าสุดวันที่ 27 ก.ค.  64 หลังการพูดคุยกับสิทธิพล กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้ทยอยฉีดวัคซีนของ “ซิโนฟาร์ม (Sinopharm)” เพิ่มได้อีก 100 ราย รวมเป็น 200 ราย (เข็มแรก) 

ข้อมูลจาก พม. เปิดเผยว่า ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด มีตัวเลขผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะในกรุงเทพมหานคร 1,033 คน หลังเกิดสถานการณ์โควิด มีจำนวนเพิ่มขึ้น 30% หรือประมาณ 1,300 คน ทั้งนี้สิทธิพลให้ความเห็นเพิ่มเติมในเรื่องของวัคซีนว่า

“จำเป็นต้องเลือกยี่ห้อวัคซีนที่เหมาะกับคนไร้บ้าน โดยยี่ห้อ Johnson & Johnson (ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีการนำเข้ามาในประเทศไทย) เป็นวัคซีนที่ทั่วโลกให้การยอมรับในการฉีดให้กับคนไร้บ้าน เพราะฉีดแค่เข็มเดียว ซึ่งจะเหมาะกับวิถีชีวิตที่มีการพเนจรไปตามที่ต่างๆ ไม่เป็นหลักแหล่ง

“นอกจากนี้กระบวนการการฉีดวัคซีน ต้องไปคิดตั้งแต่การจะมารับวัคซีนอย่างไร ที่ไหน ฉีดแล้วจะให้เขามีพื้นที่สังเกตอาการ เพื่อที่จะดูผลข้างเคียงได้อย่างไร กระบวนการออกแบบควรแตกต่างออกไปจากคนทั่วไป เพราะเขาไม่มีวิถีชีวิตแบบที่เราเป็น”  

โดยนอกจากเรื่องการตรวจคัดกรองและวัคซีน ที่ตอนนี้ไม่สามารถกระจายได้อย่างทั่วถึง แม้ทางกระทรวง พม. จะบอกว่าติดปัญหาตรงที่คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่รักอิสระ ไม่ให้ความร่วมมือจึงยากต่อการดูแล

แต่ก็ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่สิทธิพลมองว่า รัฐสามารถเข้ามาช่วยบริหารจัดการ เพื่อบรรเทาความรุนแรงของสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นได้ก่อน

“สิ่งแรกที่รัฐทำได้คือ การทำให้พวกเขาสามารถปกป้องตัวเองจากการติดเชื้อได้คือ มีอุปกรณ์ป้องกันเพียงพอ มีสถานที่ ที่ให้เข้าถึงการทำความสะอาดตัวเอง” 

โดยจากการลงพื้นที่บริเวณ ถ.ราชดำเนินพบว่า มีการมาแจกหน้ากากอนามัยจากภาคประชาชน แต่หลายคนจำเป็นต้องใช้หน้ากากซ้ำหลายวันต่อ 1 ชิ้น นอกจากนี้การทำความสะอาดตัวเอง ยังจำเป็นต้องอาศัยห้องน้ำสาธารณะ ตามพื้นที่ต่างๆ กระจายกันออกไป 

ต่อมาคือเรื่องของอาหารการกิน ซึ่งก็เชื่อมโยงไปกับภาพความชุลมุน ของการแจกข้าวกล่อง ที่กำลังเป็นอยู่ ณ ตอนนี้ที่ ถ.ราชดำเนิน สิทธิพลเองมองว่า

“รัฐนำโดย กทม. ในฐานะเจ้าของพื้นที่ ควรทำหน้าที่เป็นคนกลาง ในการกำหนดจุดแจกจ่ายอาหาร และอาจต้องกำหนดกติกากับคนมาแจกว่า หากคุณจะมาแจก คุณต้องโทรมาจองคิวตามเวลาที่คุณสะดวกมา และเหมาะสมกับปริมาณความต้องการ

“แต่พอรัฐไม่ทำ ประชาชนจะรู้สึกว่า คุณไม่ทำงั้นฉันทำเอง เพราะฉันอยากช่วยเพื่อนร่วมสังคม รัฐคงต้องทำระบบตรงนี้ขึ้นมารองรับ และไม่ใช่การไปห้ามประชาชนแจก จะทำอย่างไรให้ทรัพยากรของคนที่อยากให้ เอามาบริหารจัดการต่อ เพื่อลดปัญหาความไม่เป็นระเบียบ และความไม่ทั่วถึงของคนรับ”

เรื่องสุดท้ายที่สิทธิพลอยากจะให้รัฐเข้ามาช่วยเหลือคือ “เรื่องของที่พัก โดยคำนึงถึงบริบทของสถานการณ์โรคระบาด และโจทย์ที่จะต้องเชิญชวนให้เขาอยากเข้ามาอยู่ เพื่อลดจำนวนคนไร้บ้านข้างถนน ที่ควบคุมการระบาดได้ยาก”

วัคซีน / การตรวจคัดกรองเชิงรุก / อุปกรณ์ป้องกัน / อาหารถูกสุขลักษณะ /และที่พัก คือ 5 สิ่งสำคัญในมุมมองของสิทธิพล หัวหน้าโครงการผู้ป่วยข้างถนนและจ้างวานข้า มูลนิธิกระจกเงา ต่อการป้องกันการระบาดของโควิดในกลุ่มคนไร้บ้าน 

“ผมคิดว่าคนไร้บ้านที่อยู่ ถ.ราชดำเนิน คงไม่มีใครติดโควิดหรอก เพราะที่มันโล่งไงคุณ อากาศมันเปิดลมพัดตลอด  พวกคุณอาจมีโอกาสติดโควิดมากกว่าพวกผมอีกก็ได้นะ เพราะอยู่ในห้องแอร์กัน”

เป็นอีกหนึ่งประโยคที่พี พีรพงศ์ คนไร้บ้าน กล่าวกับผมในยามบ่ายวันนั้น บ่ายวันอากาศอึมครึม ที่มีละอองฝนโปรยปราย และโควิดยังไม่แพร่กระจายในหมู่คนไร้บ้านหรือไม่?…ไม่มีใครตอบได้จนกว่ารัฐจะลงมาตรวจเชิงรุกอย่างจริงจัง หรือถ้าไม่อย่างนั้นคงต้องรอให้ถึงวันที่ คนนอนเจ็บนอนตายอยู่เกลื่อนข้าง ถ.ราชดำเนิน ใจกลางกรุงเทพมหานคร

“แล้วคิดว่าจะเป็นคนไร้บ้านต่อไปอีกถึงเมื่อไหร่” 

“ตอบไม่ได้ เราก็พยายามดิ้นรนหาทางต่อไปนะ ลงขายของในเน็ตมันก็ไม่มีคนเข้ามาซื้อ ลงไปตั้งหลายเดือนแล้ว มีคนคลิกเข้ามาดูคนเดียวเป็นตำรวจ ไม่รู้จะมาซื้อหรือมาจับ ถ้ามีทางไปผมก็คงไม่มาอยู่แบบนี้”

ข้อมูลอ้างอิงจาก : วิทยานิพนธ์ พลวัตความหมายคำว่า “บ้าน” ของคนไร้บ้าน ของ ญาณิกา อักษรนำ