(ถูก)ทิ้งไว้กลางกรุง กับคำขอครั้งสุดท้าย “งั้นกลับมาตายที่บ้านเกิด” - Decode
Reading Time: 3 minutes

ภายใต้ห้องสี่เหลี่ยมขนาด 33 ตร.ม. ในเคหะบึงกุ่ม เสียงชายชราไอดังสะท้านจากลำคอ ตลอดทั้งคืน เสียงนั้นไม่เคยดังไปถึงความช่วยเหลือจากผู้มีอำนาจในมหานคร ทั้งที่อยู่ใกล้แค่เอื้อม แต่ผู้ช่วยเหลือกลับเป็นผู้ที่อยู่ห่างไกลออกไป 600 กว่ากิโลเมตรที่เรียกว่าบ้านเกิด

ในห้องที่มืดมิด: กรุงเทพมหานคร

บุญยิ้ม สมขำ อายุ 50 ปี อาชีพแม่ค้าร้านลาบยโสธร และ วิกาล สมขำ อายุ 57 ปี อาชีพขับแท็กซี่ สองสามีภรรยาคนยโสธร เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ได้ 30 ปีแล้ว จนเมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทั้งคู่ตกอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูงที่จะติดโควิด

ในวันนั้น (1 พ.ค. 64) ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังไม่สูงเท่าวันนี้ แต่ทั้งคู่กับถูกทอดทิ้งจากระบบสาธารณสุข ให้นอนรอความตายอยู่ในห้อง ไม่สามารถเข้าถึงการตรวจคัดกรองได้ และเมื่อความตายมาจ่ออยู่ตรงหน้า สองสามีภรรยาตัดสินใจกลับบ้านเกิด เรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นในวันที่ วิกาลรับผู้โดยสาร ไปส่ง ณ ที่แห่งหนึ่ง…

ทำไมวันนี้คนมาเยอะจัง มีเต็นท์ มีอะไรมากางเต็มไปหมด” วิกาลกล่าวกับผู้โดยสาร
“เขามีตรวจโควิดกันน่ะลุง” ผู้โดยสารกล่าวตอบรับ
“แล้วหนูมาแถวนี้ทำไม” 
“ก็มาตรวจโควิดนี่แหละ”
“อ้าว…แล้วทำไมหนูไม่บอกลุงก่อน”

บทสนทนาข้างต้น เป็นเสียงบอกเล่าจากวิกาล ในวันที่รู้ว่าตนมีโอกาสติดโควิด เพราะผู้โดยสารที่รับมานั้นเป็นกลุ่มเสี่ยง และผู้โดยสารไม่ได้แจ้งกับวิกาลก่อนว่า ตัวเองมีความเสี่ยง จึงทำให้วิกาลไม่มีโอกาสในการป้องกันตัวเองอย่างเต็มที่ จนกระทั่ง 4-5 วันต่อมา วิกาลเริ่มมีอาการ

“เราเริ่มมีไข้ ครั่นเนื้อครั่นตัว ที่สำคัญคือไอและมีเสมหะ ตอนกลางคืนยิ่งไอหนักมาก ทนอยู่ประมาณ 4-5 วัน จนคืนนั้นเดินขึ้นหอพัก 2 ชั้น ก็เหนื่อยจนแทบไม่ไหว จึงปรึกษากับแฟนว่าจะไปหาหมอ”

สองสามีภรรยาขับรถไปหาหมอที่คลินิกแถวบ้าน หมอบอกว่าอาการคล้ายคนติดโควิด ให้รีบไปตรวจเชื้อ ทั้งคู่จึงพากันไปตรวจที่ รพ.ราชวิถี แต่ทาง รพ. ไม่รับตรวจ ให้เหตุผลว่าคิวเต็ม ออกใบนัดให้มาอีกทีวันที่ 18 พ.ค. 

“เรากลับมาจาก รพ.ราชวิถี เดินทางไปต่อที่ รพ.ลาดพร้าว หมอตรวจเลือดและเอกซเรย์ปอดให้ เขาบอกว่าปอดของลุงเป็นฝ้า ให้รีบกลับไปที่ รพ.ราชวิถี เพราะสิทธิการรักษาของลุงอยู่ที่นั่น  

“เราขับรถกลับไปที่ รพ.ราชวิถี ไปคลินิกพิเศษ เขาบอกว่า ‘พรุ่งนี้เช้าค่อยมาอีกที ตอนนี้คนเยอะ เตียงไม่มี’ สุดท้ายเราจำใจขับรถกลับมาถึงบ้านตอนตีสาม เพื่อที่หกโมงเช้าเราจะต้องเดินทางกลับไปที่ รพ. อีกรอบ”

บุญยิ้มกล่าวถึงความทรงจำสุดท้าย ที่เมืองกรุงแห่งนี้ฝากไว้ให้กับเธอ ทั้งคู่ดิ้นรนจนสุดท้ายวิกาลได้รับการตรวจเอกซเรย์ปอดอีกครั้ง ที่ รพ.ราชวิถี พบว่ามีอาการปอดบวม แต่ถึงอย่างไรทั้งคู่ก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดีว่าทำไม รพ. ถึงไม่ตรวจโควิดให้

“ตรวจโควิดให้หน่อยได้ไหม เสียตังค์เท่าไหร่ก็ยอม” บุญยิ้มกล่าวกับทาง รพ. แต่ก็ได้รับคำตอบกลับมาว่า “ไม่เป็นไร เดี๋ยวจ่ายยาให้และกลับไปพักรักษาตัวอยู่ที่บ้าน”

เป็นไปได้หรือไม่ว่า ที่ทาง รพ. ไม่ตรวจให้ เพราะหากผลตรวจออกมาเป็นบวก จะทำให้ทาง รพ. ไม่สามารถปฏิเสธการรักษาวิกาลได้  แต่เหตุการณ์นี้ก็เกิดขึ้นตั้งแต่เดือน พ.ค. ที่สถานการณ์เตียงยังไม่วิกฤตเท่าปัจจุบัน (12 ก.ค. 64) หรือจริง ๆ แล้วสถานการณ์เตียง มันวิกฤตมานานเพียงแต่เราไม่รู้?

เมื่อไม่ได้สิทธิในการตรวจ ทั้งคู่ก็หมดสิทธิ์เข้าถึงเตียง ทำได้เพียงกลับมานอนเตียงที่ห้อง รอคอยให้อาการทรุดลงต่อไป บุญยิ้มกล่าวต่อถึงเหตุการณ์เมื่อเดินทางกลับมาจาก รพ. 

“เรารอด้วยกันอยู่ในห้อง พยายามอยู่ห่างกันให้มากที่สุด ส่วนเรื่องอาหารอาศัยไปซื้อข้าวกล่องสำเร็จรูปจากร้านสะดวกซื้อมาตุนไว้ ไปซื้อที่นึงหมดเงินไปพันกว่าบาท

“เวลาผ่านไปเกือบ 1 สัปดาห์ อาการของลุงไม่ดีขึ้น แกไอตลอด จนโทรไปปรึกษากับน้องสาวที่เป็น อสม. อยู่ยโสธร สุดท้ายได้ข้อสรุปกันว่า งั้นก็กลับมาตายที่บ้านดีกว่า

ในชีวิตที่ได้กลับมา: ยโสธร

วันรุ่งขึ้นวิกาลและบุญยิ้ม โทรหาลูกเขยให้นั่งเครื่องบินจาก จ.อุบลราชธานี มาลงสนามบินดอนเมือง เพื่อมาขับรถพาทั้งคู่กลับยโสธร บุญยิ้มเล่าว่าการเดินทางครั้งนี้ เธอต้องเตรียมเสบียงทุกอย่างให้พร้อม เพราะตลอดการเดินทาง 600 กิโลเมตร 8 ชั่วโมง จะไม่มีการจอดแวะพัก หรือเข้าห้องน้ำที่จุดใดเลย จนในท้ายที่สุด ทั้งคู่เดินทางมาถึงบ้านที่ ยโสธร ในเวลา 03.00 น.

“ตอนกลับมาถึงที่นี่ เหมือนเราทั้งคู่ได้ชีวิตกลับมาอีกครั้ง อยู่ที่ กทม. เรารู้สึกไม่มีใครพร้อมช่วยเหลือ ต่างคนต่างเอาตัวรอด เหมือนอยู่ในห้องมืด” 

วันรุ่งขึ้นบุญยิ้มกับวิกาล เดินทางไปตรวจโควิดที่ รพ. เอกชนแห่งหนึ่ง และก็เป็นไปตามคาดหมายทั้งคู่ติดโควิด โดยวิกาลที่อาการทรุดหนักนั้น ได้รับการส่งตัวไปรักษาที่ รพ.ยโสธร 

“ตอนอยู่ที่นี่(ยโสธร) ต่างจากที่นู่น(กรุงเทพฯ) มาก ที่นี่จะมีเจ้าหน้าที่ โทรมาเกือบทุก ชม. ให้เราวัดความดัน มียา มีอะไรดูแลเราอย่างดี”  วิกาลกล่าวกับเราด้วยน้ำเสียงสดใส ผิดกับการบรรยายเหตุการณ์เมื่อก่อนหน้า

ในขณะที่บุญยิ้ม ได้รับการส่งตัวไปรักษาที่ รพ.สนาม ของ จ.ยโสธร

“โอ้ยย…ป้าอยู่ รพ.สนาม มันบักสำราญ แต่ก็ดีมีเพื่อนเยอะ  มีคนอยู่ในนั้น 40 คน กิจวัตรประจำวัน  ตีห้าครึ่งเขาจะให้เราลงมาเต้นแอโรบิคแดนซ์ สวดมนต์ จากนั้นก็ไปอาบน้ำ และก็มาวัดความดันซักประวัติ สิบโมงเช้าคุณหมอจะมาให้ยา พูดคุย ส่วนเรื่องอาหารมีกับข้าวมาบริจาค จากหลายๆ หน่วยงาน”

หลังจากทั้งคู่พักรักษาตัวจนหายดี ก็เลือกอาศัยอยู่ต่อที่ จ.ยโสธร โดยให้เหตุผลว่า

“มันรู้สึกกลัวไม่สนิทใจ เหมือนคนวิตกกังวลถ้าต้องเข้าเขต กทม.  ผิดกับตอนนี้กลับมาอยู่บ้าน จิตใจเต็มร้อย ไม่ฟุ้งซ่าน เมื่อก่อนยังคิดเลยว่า ตัวเองจะตายไหมถ้าไม่ได้กลับมา” 

ในสภาวการณ์ที่ระบบสาธารณสุข กทม. ไม่อาจรองรับคนทุกคนในเมืองแห่งนี้ได้อีกต่อไป จึงเป็นหน้าที่ของแต่ละท้องถิ่น ที่จะต้องจัดเตรียมระบบสาธารณสุข และอ้าแขนรับพลเมืองของตนเองกลับสู่มาตุภูมิบ้านเกิด แต่การอ้าแขนรับนั้น ไม่ได้ทำได้โดยง่าย จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือ ร่วมใจ ของหลายภาคส่วน ทั้งรัฐและประชาชน ดังที่เกิดขึ้นใน จ.ยโสธร 

ถ้าไปอยู่หม่องอื่นแล้วมันบ่ดีขึ้น กะให้เมือบ้านเฮา ‘ยโสธร’

“ทุกครั้งที่เกิดปัญหา หรือเกิดความท้อแท้ในการทำงาน สิ่งหนึ่งที่ทุกคนคิดถึงคือบ้านเกิด  อย่างน้อยกลับมาบ้านเรายังมีกิน ผู้เฒ่าผู้แก่คนอีสานจะมีคำหนึ่งที่พูดกับลูกๆ หลานๆ เสมอว่า ‘ถ้าไปอยู่หม่องอื่นแล้วมันบ่ดีขึ้น มันหนัก มันบ่ไหว กะให้กลับเมือบ้านเฮา’”

เข้าสู่เดือนกรกฎาคม หลายจังหวัดเริ่มประชาสัมพันธ์ให้คนที่ติดโควิด สามารถกลับไปรักษาตัวที่บ้านเกิดได้ ยโสธรจังหวัดเล็กๆ ที่มีจำนวนประชากร 538,729 คน เป็นหนึ่งในจังหวัดที่อ้าแขนรับคนกลับบ้าน วารินทร์ ทวีกันต์ จากสมาคมคนยโสธร จะมาเล่าถึงเบื้องหลังการทำงาน ของโปรเจคพาคนยโสธรกลับบ้านครั้งนี้

“แนวโน้มคนยโสธร กลับบ้านเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ต้นเดือนในอำเภอมหาชนะชัยของผม มีคนกลับมาแล้ว 20 คน ยิ่งกลับมาเยอะ ชาวบ้านจะเกิดความกังวลและกลัวว่าสถานที่จะเพียงพอไหม”

สถานการณ์ระบบสาธารณสุขของยโสธรตอนนี้ วารินทร์กล่าวว่า จากเดือนเมษายนมีการสำรองเตียงสนามไว้ 60 เตียง ตอนนี้ทาง รพ.ยโสธร กำลังจะเพิ่มศักยภาพให้ได้ 200 เตียง และกำลังประชุมเพื่อจัดเตรียม รพ.สนามแห่งที่ 2 ที่อำเภอคำเขื่อนแก้ว

นอกจาก รพ.สนามแล้ว ยังมีการจัดเตรียม Local Quarantine (LQ) : สถานกักกันโรคสำหรับผู้ที่เดินทางมาพร้อมผู้ป่วย ซึ่งจะตั้งอยู่ตามอำเภอและตำบลต่างๆ และจะมีการใช้ Home quarantine (HQ) การกักตัวที่บ้านด้วย แต่ทั้งนี้ระบบ Home quarantine ยังคงก่อให้เกิดความกังวลต่อชาวบ้านในพื้นที่อยู่

“การสร้างความเข้าใจกับคนในพื้นที่เป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะเราไม่สามารถใช้กฎหมายไปบังคับได้ รพ.สต. / ผู้ใหญ่บ้าน / อสม. จะต้องไปทำความเข้าใจ จนกว่าชาวบ้านจะเข้าใจ จะไปอีกกี่รอบก็ต้องไป รวมทั้งการสื่อสารในโซเชียลมีเดีย”

ปัจจัยสำคัญในการทำงานของวารินทร์คือการสื่อสารให้ทุกคนเข้าใจ โดยการทำงานของ จ.ยโสธรนั้น ข้อมูลข่าวสารจะมาจากหน่วยงานราชการ  ส่งต่อให้ภาคประชาสังคม หรือภาคประชาชนที่เป็นนักสื่อสาร ทั้งทางออฟไลน์และออนไลน์ กระจายข่าวสารต่อ วารินทร์ให้เหตุผลที่ทางราชการไม่จำเป็นต้องลงไปสื่อสารเองตลอดเวลาว่า 

“การที่ราชการลงไปเอง มันมีกำแพงระหว่างชาวบ้านกับราชการอยู่ แต่ถ้ามีตัวกลาง ภาคประชาชนเข้ามา มันจะเกิดความไว้วางใจกันมากกว่า พอรู้สึกว่า พวกเฮา เมื่อไหร่การพูดขอความร่วมมือมันง่ายขึ้นเยอะ

“ภาคราชการจะต้องไว้ใจภาคประชาชน ภาคประชาชนเองก็ต้องให้เกียรติ และไว้ใจภาคราชการด้วย ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกัน” 

แต่ถึงแม้จะมีการสื่อสารที่ดีเพียงใด ก็ยังพบปัญหาหลงเหลืออยู่ เพราะวัฒนธรรมของคนอีสานเวลากลับมาจากที่อื่น มักคิดว่าการกลับบ้านมาเลี้ยงสังสรรค์ เป็นหน้าเป็นตาสำหรับเขา มันมีค่านิยมที่ว่า ‘บ้านหลังไหนใครกลับมา และมีคนไปหาเยอะที่สุด จะเป็นภาพของความภาคภูมิใจ’

สิ่งที่ทางคนทำงานทำได้จึงเป็นการสร้างความตระหนัก ทำให้เกิดกระแสสังคมว่า ‘กลับมาไม่เลี้ยงเหล้า เป็นเรื่องดี เป็นเรื่องเท่ห์’

นอกจากนี้หมู่บ้านใน จ.ยโสธร เป็นสังคมเล็กๆ แขกไปใครมาจะรู้กันหมด หากพบเจอใครกลับมา ทาง อสม. ก็จะเข้าไปพูดคุย และทาง รพ.สต. จะนำเอกสารไปให้กรอกข้อมูลว่าคุณมาจากพื้นที่ไหน

อสม. ถือเป็นหนึ่งกลไกสำคัญ ในการช่วยสาธารณสุขส่วนกลางสอดส่องดูแล วารินทร์ยกตัวอย่างหมู่บ้านของตนเองที่มีกันอยู่ 100 กว่าหลังคาเรือน จะมี อสม.อยู่ 11 คน โดยแต่ละคนจะแบ่งกันว่าใครดูแลบ้านหลังไหน ดังนั้นใครที่มาจากพื้นที่อื่น จึงแทบไม่มีโอกาสหลุดรอดสายตาไปได้

โดยกระบวนการสำหรับคนที่ติดโควิดและต้องการกลับบ้านที่ จ.ยโสธร มีกระบวนการดังต่อไปนี้ 

  1. แสดงผลตรวจยืนยันว่าติดโควิด
  2.  ประสานงานมาที่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม. หรือติดต่อส่วนกลางตามเพจต่างๆ
  3. เจ้าหน้าที่แนะนำการเดินทางตั้งแต่ก่อนออก ระหว่างเดินทาง จนถึงเวลาที่เจ้าหน้าที่มารอรับ

สำหรับผู้ที่ไม่ติดโควิดแต่กลับมาจากพื้นที่เสี่ยงก็ยังคงต้องปฏิบัติตามข้อ 2-3 รวมถึงกักตัว 14 วันด้วย แต่ทั้งนี้วารินทร์เน้นย้ำว่า ก่อนที่จะตัดสินใจกลับมาอยากให้คิดดีๆ เสียก่อน

“ต้องประเมินสถานการณ์ตนเอง ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สุขภาพ ความเสี่ยง ถ้ายังสามารถรับความเสี่ยงเหล่านั้นได้อยู่ ก็อยู่ไปก่อนได้ ผมอยากให้สถานการณ์ในต่างจังหวัด อยู่ในระดับที่ประคับประคองมี Safety zone เหลือไว้บ้าง แต่ถ้าใครไม่ไหววิกฤตจริงๆ ก็สามารถโทรประสานผู้นำท้องที่ ผมเชื่อว่าทุกที่พร้อมต้อนรับคนกลับบ้าน แต่ต้องปฏิบัติตามกระบวนการ” 

ทั้งนี้วารินทร์ให้เหตุผลเรื่องพื้นที่ปลอดภัย และการประคับประคองสถานการณ์ในจังหวัดยโสธรว่า อย่างไรแล้วทรัพยากรทางการแพทย์ของต่างจังหวัด ก็ไม่สามารถสู่ส่วนกลางได้ หากเกิดกรณีเตียงเต็มขึ้น มันจะยิ่งวิกฤต เพราะทางยโสธรเองก็มีเครื่องมือทางการแพทย์ที่ไม่ได้ทันสมัยเท่า กทม. และที่สำคัญคือเรื่องบุคลากรทางการแพทย์ ที่ไม่สามารถหาเข้ามาเสริมกำลังได้อย่างง่าย ๆ

จึงเป็นจุดที่น่าเป็นห่วงว่า สถานการณ์ตอนนี้ คนต่างจังหวัดที่เข้าไปทำงาน หรือพักอาศัยไม่มั่นใจระบบสาธารณสุขใน กทม. จนเกิดคำติดปากของหลายคนว่า ‘ขอกลับมาตายที่บ้านดีกว่า’ เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะพวกเขาหมดความเชื่อมั่นที่จะได้เข้าถึงเตียงรักษา เขาคิดว่าตอนนี้คนที่ได้เข้าถึงเตียง คือคนที่ต้องมีเส้นสายเท่านั้น นี่คือสิ่งที่สะท้อนออกมาจากคนที่เดินทางกลับมายโสธร และบอกกล่าวกับวารินทร์

วารินทร์เองในฐานะคนทำงานกับท้องถิ่น ก็มีสิ่งที่อยากสะท้อนกลับไปยังรัฐส่วนกลาง ถึงเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นใน กทม. เช่นกัน

“ผมคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นใน กทม. อันนำผลกระทบมาสู่ภูมิภาคอื่น เรื่องหนึ่งคือเรื่องการบริหารจัดการข้อมูลจากความเป็นจริง ควรเปิดเผยข้อมูลกับประชาชน อย่าปกปิด เหมือนที่ทางส่วนกลางมาประกาศอีกที ตอนที่สถานการณ์มันหนักแล้ว 

“หากคุณบอกความจริงประชาชนมาตั้งแต่เนิ่นๆ ประชาชนจะรู้วิธีการตั้งรับ ว่าจะรับปัญหาอย่างไร ในการเดินทางกลับบ้านหรืออยู่ต่อ  ถ้าทุกคนรู้ข้อมูลจริงมันจะมีเวลาเตรียมตัว แต่ถ้าไม่รู้ความจริง หรือถูกปิดบังเช่นนี้  มันก็จะเกิดปัญหาผึ้งแตกรัง อย่างที่พอรัฐประกาศปิดแคมป์ก่อสร้าง คนก็ตกใจรีบอพยพกลับมาในทันที”

คงต้องยอมรับว่า สถานการณ์ที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบัน ระบบสาธารณสุขของกรุงเทพมหานคร ไม่สามารถรองรับจำนวนประชากรทั้งหมดที่ป่วยได้

และเมื่อชีวิตในเมืองกรุงฯ คือชีวิตที่ต้องดิ้นรนของคนหาเช้ากินค่ำ ทั้งในยามปกติและยามคับขันเช่นวันนี้ แต่เมื่อดิ้นจนสุดแรงแล้วไม่เห็นทางรอด การขอไปเสี่ยงดวงตายเอาดาบหน้าที่บ้านเกิด ดูเป็นทางเลือก ที่มีโอกาสรอดสูงกว่า

ถ้าวันนั้นไม่กลับมายโสธรลุงคงไม่รอด เขาบอกแต่ให้เรารออยู่ที่ห้อง มันน่าน้อยใจนะ การเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่กรุงเทพฯ เรารู้สึกเหมือนขอทาน ต้องไปขอต้องไปกราบถึงจะได้รับการดูแล

“แต่มันก็ไม่มีทางเลือก เราอยู่กรุงเทพฯ มา 30 ปี ที่ทำมาหากินเราอยู่ที่นั่น เมืองนี้มันก็ให้อะไรกับป้าหลายอย่าง เลือกได้ก็ยังไม่อยากกลับมา แต่คงต้องทำใจสักพักหนึ่ง รวมทั้งให้สถานการณ์ดีขึ้น ค่อยตัดสินใจกันอีกทีว่าจะกลับไปดีไหม” บุญยิ้ม สมขำ หนึ่งในผู้ป่วยโควิดจากกรุงเทพฯ ที่ตัดสินใจเดินทางกลับไปรักษาตัวที่บ้านเกิด จ. ยโสธร