วิถีแห่งการตายดี: พื้นที่ว่างเพื่อความโศกเศร้า และอำนาจเหนือธุรกิจจัดการศพ - Decode
Reading Time: 4 minutes

ไม่ช้าก็เร็ว…เราต้องจากกัน
ไม่ใช่เรา ก็เป็นเขา…ที่ต้องจัดแจง-จัดการงานศพให้แก่กัน
แต่อาจไม่ใช่เรา หรือเขา ที่สามารถมีช่วงเวลาใกล้ชิดกับศพ กับความตาย และดื่มด่ำความอาลัยจนเยียวยาความโศกในใจได้จนหมดจด

เพราะหนึ่ง…เราไม่รู้วิธีจะจัดการกับมันอย่างไร เมื่อมันไม่เคยถูกทำให้ “ปกติ” เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต
เพราะสอง…ความตายของคนใกล้มักเกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด ฉับพลัน
เพราะสาม…ความตาย งานศพ ถูกทำให้เน่าเหม็น น่ากลัว ลี้ลับ และไม่สะอาด
และเพราะสี่…รูปแบบและวิถีจัดการศพ-งานศพที่เปลี่ยน และเคลื่อนที่ด้วยเงิน

ทั้งหมด “หด” ช่องว่างเวลาระหว่างผู้ที่สูญเสีย-ผู้ที่จากไป ได้บอกกันครั้งสุดท้าย

ยิ่งในช่วงโควิด-19 ใครเสียชีวิตช่วงนี้ ใครมีคนจากไปเพราะโรคนี้ เป็นเรื่องที่เศร้าอย่างมากที่พวกเขาเหล่านี้ต้องถูกตัดทอน และลดกระบวนการของการลาจากไปมากมาย คนจากไปก็โดดเดี่ยว คนอยู่ข้างหลังก็เดียวดาย  

จงทำความคุ้นเคย ล้อเลียน และสัมผัสความตายอย่างรักใคร

เรา…ผู้สนใจเรื่องความตาย มีสมุด Death Note ของตัวเอง บันทึกเรื่องราวของคนรู้จักที่จากไป บันทึกหนังสือที่อ่าน ภาพยนตร์ที่ดู และ Workshop ที่เข้าร่วม ลงในสมุด เราไม่รู้เพราะอะไรเราถึงสนใจมันมาก ที่ตอบได้ชัด ๆ คือ ความตายช่วยให้เรามีพลังในการใช้ชีวิตให้ดีก่อนวันสุดท้าย และก่อนหน้านี้ MOVE TO HEAVEN ซีรีส์เกาหลีกับวิถีการเก็บของคนตายก็ได้ใจเราไปมาก จึงไม่แปลกว่าในวันที่เราซื้อหนังสือเล่มนี้ทันทีที่มันโปรโมตอยู่หน้า Timeline

หนังสือเล่มนั้นคือ จากดับสูญสู่นิรันดร์ : ส่องวิถีหลังความตายจากหลากหลายวัฒนธรรม From Here to Eternity: Traveling the World to Find the Good Death หนังสือบันทึกวัฒนธรรมการจัดงานศพ การจัดการกับศพ ความเชื่อ และธุรกิจงานศพในแต่ละประเทศ เล่าผ่านสัปเหร่อ Caitlin Doughty มี กัญญ์ชลา นาวานุเคราะห์ เป็นผู้แปล หนังสือเล่าสนุก เห็นภาพ-ที่ไม่แหวะ และถ้าแหวะก็ไม่เห็นจะเป็นเรื่องใหญ่เลยในหนังสือเล่มนี้

ความหลากหลายทางวัฒนธรรม และมีความเฉพาะตัว วิถี/วัฒนธรรม/ประเพณี ทำให้การจัดการกับศพ มักถูกตัดสินเสมอว่า วิถีแบบนั้นเถื่อน ไม่เคารพ หรือน่ากลัว เช่น ครั้งหนึ่งเมื่อ 2,000 ปีก่อน การเผาศพน่าสยดสยอง แต่การกินเนื้อศพไม่น่ากลัวเท่า กลับมาที่ยุคปัจจุบัน ซูมอินไปที่อเมริกาที่การปฎิวัติวิถีการจัดงานศพมาเป็นธุรกิจร่วม 100 ปี จนวันนี้มันกลายกลืนเป็นรากของรูปแบบการจัดงานศพไปแล้ว จากศพที่ต้องจัดการโดยครอบครัว หรือชุมชน เปลี่ยนมาเป็นต้องทำโดยบริษัท และสถานประกอบการเท่านั้น แต่ Caitlin นักเขียนและสัปเหร่อ ไม่ต้องการเช่นนั้น เธอต้องการให้ผู้คนมีทางเลือก และหลุดออกจากโปรโมชัน ลด แลก แจก แถม และการหากินกับช่วงเวลาที่เศร้าหมองของคน ซึ่งเป็นเวลาแห่งการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ของชีวิต

การมีคนจัดการ “วิธี” ให้นั้น มีประโยชน์อย่างมาก แต่จะไม่มีประโยชน์หากครอบครัว คนใกล้ชิดผู้ตาย “ไม่มีส่วนร่วม” ในการจัดการนั้น เพราะนั่นหมายความว่า “การอาลัยอาวรณ์” ถูกลดบทบาทลง และปิดกั้นพวกเขาไม่ให้เจอความจริงของสภาพศพ เนื้อตัวที่เย็นนิ่ง แข็งตึง หรือทำความเข้าใจกับร่างที่เคยเป็นที่อยู่อาศัยของวิญญาณดวงหนึ่ง เราจึงขอเลือก 3 พื้นที่ในหนังสือ และ 1 พื้นที่จากชีวิตจริงมาเล่าให้ฟัง

M E X I C O
เม็กซิโก: มิโชอากาน
ประเทศที่สนิทชิดเชื้อกับความตายอย่างเบิกบาน

ผู้เขียนพร้อมกับซาราห์คนอเมริกันเชื้อสายเม็กซิกัน เดินทางไปเม็กซิโกเพื่อร่วมเทศกาล ดิอาส เด โลส มูเอโตส (Días de los Muertos) หรือวันแห่งผู้ล่วงลับ ในเมืองมิโชอากาน ซาราห์เป็นผู้สูญเสียลูกน้อยระหว่างตั้งครรภ์ได้ 6 เดือน เธอไม่สามารถเยียวยาตัวเองได้ในแบบฉบับการจัดการศพของอเมริกา คำปลอบโยนจากกลุ่ม Peer (คนที่เหมือนกัน) ก็ไม่ช่วยอะไร ความเป็นเชื้อสายเม็กซิกันที่ครอบครัวต้องย้ายถิ่นไปสหรัฐฯ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ซาราห์ไม่สามารถเปิดใจ และเป็นปลดปล่อยความเศร้าได้เพราะถูกสั่งสอนว่าคนเม็กซิกันที่มาอยู่สหรัฐจะต้อง “กลมกลืน” กับถิ่นใหม่ให้มากที่สุด จะต้องเป็นเหมือนคนขาวให้แนบเนียน ดังนั้นการจัดการความเศร้าแบบไม่แตะลงรากของตัวเอง ผู้เขียนเดาว่า มันทำให้ซาราห์ไม่อาจเยียวยาเสี้ยวแหว่งที่หายไปได้ตลอด 3 ปี

พื้นที่จัดงานวันแห่งผู้ล่วงลับ Caitlin พูดบรรยากาศนอกจากความบันเทิงรื่นเริง หน้าตาที่เพ้นท์เป็นรูปกระโหลก อาหารที่ขายรายทาง เคล้าด้วยเสียงดนตรีพื้นเมืองแล้ว แสงเทียนสว่างไสวก็นำพามวลอารมณ์ของการ “ระลึกถึงคนที่จากไป” ด้วยความคิดถึง ในค่ำคืนนั้นความเชื่อที่ว่าโลกของ “คนเป็น-คนตาย” นั้นมันมีอยู่จริง เชื่อมประสานขนาดข้ามไปมาหากันได้ ซาราห์พบคู่สามี-ภรรยาที่เสียลูกไปในวัย 1 ขวบ ผ่านมา 20 ปี หลุมศพของลูกน้อยยังเต็มไปด้วยเทียนและดอกไม้ ไม่ใช่แค่ความคิดถึงที่ยังอยู่ แต่คือการบอกว่าความเจ็บปวดนั้นก็ไม่เคยหายไป

แต่ความรู้สึกนั้นตรงข้ามกับซาราห์ เธอบอกว่าที่ที่เธออยู่กดดันให้เธอ “รักษาความสง่างาม” ให้เก็บกอดความเศร้าเอาไว้ อย่าได้ให้เป็นภาระของผู้อื่น และพิธีกรรมต้องตามกฎหมายที่ระบุไว้เท่านั้น ซาราห์ปลดเปลื้องความเศร้าในสถานที่สุดท้ายที่บ้านของฟรีดา คาห์โล ที่นั่นมีภาพวาดของฟรีดาถูกผ่าท้อง และนอนข้าง ๆ ทารกที่ครอบกำหนดคลอดแล้ว ชะตาชีวิตไม่แตกต่างจากเธอ ภาพนั้นแสดงถึงความเจ็บปวดของผู้หญิงคนหนึ่งได้อย่างชัดเจน เป็นความเจ็บปวดที่ไม่ต้องปกปิดหรืออับอายใด ๆ ความเจ็บปวดนั้นเยียวยาหัวใจซาราห์ได้

ก่อนหน้านี้เทศกาลดิอาส เด โลส มูเอโตส เคยถูกทำให้เสื่อมคลายลง โดยเฉพาะในเม็กซิโกซิตี้ ด้วยผู้คนมองว่าเป็นประเพณีที่ล้าหลัง ไม่ทันสมัยกับการระลึกถึงคนที่ตายไปแล้ว เป็นช่วงเวลาเดียวกันที่เทศกาลฮาโลวีนของอเมริกาเริ่มเข้ามา ต่อมาคนจำนวนหนึ่งเห็นว่ามันเป็น “ประเพณีฝรั่ง” ทำให้เทศกาล ดิอาส เด โลส มูเอโตส กลับมาอีกครั้งในฐานะการแสดงจุดยืนของความเป็นชาติ และการต่อสู้ให้กับกลุ่มที่อยู่ในเงามืดของสังคม ตั้งแต่ Sex Worker คนพื้นเมือง และกลุ่ม LGBTQIA+ จนวันนี้เทศกาล ดิอาส เด โลส มูเอโตส กลายเป็นเทศกาล และวัฒนธรรมทั้งด้านการท่องเที่ยว การประท้วง และเม็กซิโกกลายเป็นผู้นำในการแสดงความโศกเศร้าในที่สาธารณะ

I N D O N E S I A
อินโดนีเซีย: สุสานเวสีใต้
ความตายไม่ใช่เขตแดน ไม่ใช่กำแพง เราอยู่ด้วยกันได้

ประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดเซีย มีพื้นที่ห่างไกล ชื่อ โทราจา เกาะสุลาเวสี หมู่บ้านที่นั่น พวกเขาอาศัยอยู่กับศพคนตายอย่างเป็นปกติ คอยพูดคุย เปลี่ยนเสื้อผ้า บางบ้านเก็บศพไว้หลายปี นานนับ 10 ปีก็มี ก่อนที่จะมีการจัดพิธีศพขึ้นอย่างใหญ่ แล้วแต่ว่าบ้านไหนจะพร้อม ที่นี่เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวที่ไม่ได้ถูกโปรโมตเหมือนบาหลี หรือชวา แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่างานศพของพวกเขาจะร้างนักท่องเที่ยว คนที่มาร่วมงานศพที่โทราจาจะต้องนำเครื่องดื่มและวัวควายมาด้วย ซึ่งเหล่านี้มีจดบันทึกอย่างเป็นระบบระเบียบ เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการตอบแทนงานศพของกันและกันในวันข้างหน้า นอกจากนี้ยังมีงานเคลื่อนศพ เรียกว่าพิธีมาเนเน พวกเขาเอาศพที่อยู่ในบ้านมาทำความสะอาด จับแต่งตัวใส่ชุด ใส่เครื่องประดับ แขวนรูปของผู้ตายเพื่อให้รู้ว่าเป็นใคร

อีกหนึ่งสิ่งที่ชาวโทราจาทำคือการทำความสะอาดหลุมศพ ด้วยการขุดศพขึ้นมา ศพที่อยู่ในหลุม-สร้างไว้คล้ายบ้าน บางบ้านเมื่อขุดหลุมศพขึ้นมาก็ร่ำไห้คร่ำครวญ แต่มือก็ถือแปรงทำความสะอาด เพื่อลูบไล้ให้เนื้อตัวของเขาอย่างทะนุทนอม แม่คนหนึ่งสัมผัสใบหน้าลูกชายที่กลายเป็นศพอย่างปกติ แม่ดีใจและเศร้าโศกพร้อม ๆ กัน แต่วิธีการปฏิบัติต่อศพนั้นท่วมท้นด้วยรัก และความอาลัย ที่สำคัญคือเพื่อบอกว่า “ยังไม่เคยลืม” วิธีนี้ช่วยยังคงความสัมพันธ์ระหว่างคนเป็นคนตาย แบบไร้กำแพงมากั้น ได้แนบแน่น ที่สำคัญพวกเขาเชื่อว่านี่คือวิถีของการแสดงความเคารพต่อศพอย่างสูงสุด

“ฉันไม่เคยเห็นความโศกเศร้าเสียใจหรือไว้ทุกข์ในแบบนี้มาก่อน” ผู้เขียนเล่า

ความธรรมดาและเป็นไปอย่างธรรมชาติของการขุดหลุมศพขึ้นมาทำความสะอาดนั้น แฝงไปด้วยการต้องเผชิญหน้าอยู่ความจริง ความจริงที่ไม่ต้องจินตนาการว่า หลังจากคนรักตายจากไป 10, 20 ปี พวกเขาหน้าตาเป็นอย่างไร – ซึ่งมันอาจไม่ได้กลัวอย่างที่เราคิด หรือถูกทำให้คิดก็เป็นได้

J A P A N
ญี่ปุ่น: โตเกียว
เทคโนโลยี และความสะอาดสะอ้าน เพื่อการตายที่ไม่เดียวดาย

ประเทศที่พื้นที่ใช้สอยในเมืองน้อย กระจิ๊กริ๊ด ประเทศที่โครงสร้างประชากรเป็นผู้สูงอายุเสียส่วนใหญ่ การตายโดดเดี่ยวเดียวดาย ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ ออกจะธรรมดาไปด้วยซ้ำ ดังนั้นการจัดการศพของโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นที่ได้อ่านนั้นค่อนข้างสร้างความประหลาดใจให้ไม่น้อย เพราะญี่ปุ่นนำเทคโนโลยีเข้ามาแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างน่าสนใจ ตั้งแต่การมีพิธีศพให้ให้กับ “หุ่นยนต์หมา” ที่บริษัทเลิกผลิต และไม่มีที่ซ่อม หมาเพื่อนคู่ใจตายไปก็ต้องจัดการ สถานที่ที่ Caitlin เล่าในหนังสือล้วนผูกโยงศาสนา เทคโนโลยีเข้าด้วยกันทั้งสิ้น ตั้งแต่อาคารเก็บอัฐิรูริเด็น ซึ่งมีรูปพระพุทธรูป 2,000 องค์ บรรจุกระดูก และอัฐิในกล่องเล็ก ๆ บนผนังเต็มไปหมด ผนังนี้ควบคุมด้วยข้อมูล และดาต้าของผู้ตาย หากใครต้องการมาเคารพศพก็สามารถใช้การ์ดแตะ แสงจากกล่องอัฐิของครอบครัวจะสว่างขึ้นมา หรือเพียงแค่ผู้ดูแลกดดูว่าวันนี้เป็นวันครบรอบวันตายของใคร ระบบจะทำให้กล่องนั้นส่องแสง ผู้ดูแลก็ให้สวดมนต์ระลึกหากผู้ตายนั้นไม่มีญาติพี่น้อง

“เป็นการนำศาสนาพุทธกับเทคโนโลยีมาผนวกัน ซึ่งอาตมาคิดว่าไม่ขัดแย้งนะ”

นอกจากพื้นที่เก็บอัฐิ การจัดการพิธีด้วยการเผาถูกทำให้เป็นพื้นที่ที่ไม่ต่างจากสวนสาธารณะในช่วงตลอดหลายสิบปี เพื่อขจัดภาพความกลัว เปลี่ยนพื้นที่นี่เป็นการจัดการสุนทรียะ มีสวน มีสนามเด็กเล่น มีโรงเรียนเด็กเล็กใกล้ ๆ ด้วย ขณะที่ศูนย์จัดการศพรินไกที่บริการอย่างครบวงจร หนึ่งในสิ่งที่การจัดการศพคือการ “คีบกระดูก” หลังจากเผาแล้วโดยครอบครัว สมาชิกจะได้รับแจกตะเกียบคนละคู่แล้วค่อย ๆ คีบกระดูกจากด้านล่างขึ้นข้างบน ส่วนกระโหลกที่ใหญ่เกินจะใส่ในโหล จะมีเจ้าหน้าที่มาทุบให้แหลกเป็นชิ้นเล็ก พิธีการนี้มีหลายคนทำใจไม่ได้ที่จะต้องคีบกระดูก หลายคนเลือกที่จะบดกระดูกให้ละเอียดและนำลอยทะเล หรือนำไว้ใต้ต้นเชอรี่

อีกหนึ่งพื้นที่คือ LASTEL ลาสเทล โรงแรมสำหรับคนตาย ที่นี่ไม่ได้ถูกทำให้ดูหลอกหลอนน่ากลัว ตรงกันข้ามที่นี่ถูกทำให้สะอาดหมดจด ศพจะเข้ามาพักอยู่ที่นี่ เฉลี่ยประมาณ 4 วัน ในห้องที่ขนาดใหญ่มากพอที่ครอบครัวหนึ่งจะสามารถเข้ามาอยู่ได้ 10-15 คน มีเครื่องอำนวยความสะดวกทุกอย่าง ชั้น 9 ของลาสเทลคือพื้นที่อาบน้ำครั้งสุดท้าย พิธีนี้เรียกว่า “ยูกัน” สมาชิกในครอบครัวจะทำพิธีนี้ มันคือการ “อุดรูรั่วของอารมณ์” บนมาตรฐานและความเป็นไปของสังคมวันนี้ที่ว่ามันเร็วเกินไป จนทำให้การพิจารณาความตายนั้นจางความหมายลง

ยูกันทำให้คนเป็นเห็นเนื้อตัวคนรัก พ่อแม่ เพื่อน ญาติพี่น้อง ตรงหน้า เป็นตัวตนที่จับจ้องได้ ให้ระลึกถึงครั้งหนึ่งระหว่างความสัมพันธ์ระหว่างกัน เราพบ เราผ่านอะไรกันมาบ้าง การอาบน้ำเป็นช่วงเวลาของการขอบคุณและขอโทษ ขอบคุณที่เขาได้ทำหน้าที่ความสัมพันธ์นี้ได้อย่างสมบูรณ์

ครั้งหนึ่งญี่ปุ่นเคยคิดว่าศพไม่สะอาด และมีมลทิน ต้องรีบจัดการให้เร็วที่สุด วันนี้ญี่ปุ่นเอาชนะความกลัวนั้น และพยายามสื่อสารว่า ร่างในโลง ไม่ใช่ ศพแต่เป็นคน ที่ครั้งหนึ่งเคยอยู่ในร่างนี้ ร่างนี้ไม่ใช่ความโศกเศร้า แต่เป็น คนที่รัก พิธีศพของญี่ปุ่นจึงเป็นทำให้ผู้เสียแน่ใจว่า พวกเขาได้ใช้เวลาสุดท้ายด้วยกันอย่างเพียงพอแล้ว

T H A I L A N D
ไทย: ตราด

การตอบแทน และการแสดงความกตัญญู

ใกล้เคียงที่สุดกับการจัดงานศพของชีวิตเรา คือ งานศพของย่าที่พ่อและแม่จัดขึ้นเมื่อปี 2017 เราโทรไปหาพ่อถามว่า พ่อเสียเงินไปเท่าไหร่ และมันมีความหมายอย่างไรกับการต้องการงานศพให้ดีที่สุด พ่อกับแม่เสียเงินไปราว ๆ 160,000 บาท สำหรับงานศพ 6 วัน 5 คืน ที่รายจ่ายส่วนใหญ่อยู่ที่อาหารการกินเลี้ยงแขกที่มาร่วมแสดงความเสียใจ และค่าโลง+การประดับตกแต่ง ซึ่งแน่นอนว่าส่วนใหญ่ ๆ มาจากซองของแขกที่มาร่วมงาน

พ่อบอกว่า มันเป็นครั้งสุดท้ายที่พ่อจะได้แสดงความกตัญญูต่อแม่ของตัวเอง ได้ระลึกสิ่งที่แม่ทำให้และตอบแทนย่าที่ทำงานหนักเพื่อพ่อ และลูก ๆ พ่อบอกด้วยว่างานศพเป็นช่วงที่แขกเหรื่อที่มาร่วมงานจะได้รับรู้สิ่งที่คน ๆ หนึ่งได้ทำมาตลอดชีวิต

“สำหรับชีวิตย่า ย่าเป็นตัวอย่างของคนที่อดทน ขยัน และไม่ทอดทิ้งใครเลย”

ด้วยพ่อกับแม่เป็นคนย้ายถิ่นจากเมืองนครสวรรค์มาหากินที่ จ.ตราด งานศพที่นี่จึงมีวัฒนธรรมบางอย่างที่ทั้งคู่ไม่เคยเห็น คือ คืนสุดท้ายก่อนวันปลง หรือวันเผา จะมีพิธีขอขมา หลังเสร็จงานศพ พ่อแม่ยังคงทำบุญงานศพ 100 วัน ทำบุญให้วันสำคัญ และประจำปีอยู่เสมอ ๆ นอกจากนั้นพ่อกับแม่พยายามช่วยกันจำว่า ใครเคยมาร่วมงานศพย่าบ้าง พวกเขาจะต้องกลับไปช่วยในงานของเขาเอง หรือญาติพี่น้อง

สุดท้ายจากวันตายของย่าจนวันนี้สิ่งที่เราทำขำขันกันในครอบครัวเสมอคือ “ขอหวย” เรามักแซวกันเองเวลาฝันถึงว่า “ยายสำเนียง มาหาแล้วก็ให้หวยถูก ๆ หน่อยจ้า ขอเบอร์ใหญ่ ๆ” มันเรียกเสียงหัวเราะให้กับคนครอบครัวได้เสมอ และยืนยันว่าเราไม่เคยลืมย่า

S P A C E
ช่องว่างเพื่อความโศก
ช่องว่างเพื่อการออกแบบงานศพตัวเอง

“เว้นช่องว่าง” คำนี้สำหรับ Caitlin เคยคิดว่ามันเป็นคำคมของชาวฮิปปี้เท่านั้น แต่ประสบการณ์ทำงานจัดการศพ เธอบอกว่ามันสำคัญอย่างมากที่พิธีศพ ไม่ว่าจะพื้นที่ไหน ประเทศใด และครอบครัวใด คือการมีช่องว่างทั้งเวลา และพื้นที่ที่ปลอดภัยมากพอสำหรับ “ความโศกเศร้า” พวกเขาสามารถเศร้าสร้อยได้โดยไม่ถูกตัดสิน ซึ่งมันหาได้จากทุกประเทศที่เธอไปมา แต่สิ่งที่เธอชวนพินิจให้มากขึ้นคือ แล้วเรามีทางเลือกนั้นมากพอหรือไม่ โครงสร้างการจัดงานศพของประเทศ หรือพื้นที่ที่คุณอยู่มีพื้นที่ให้ “คนข้างหลัง” ได้ไว้อาลัยคุณ หรือคุณไว้อาลัยใครหรือไม่ เธอยกตัวอย่างโรงพยาบาลแห่งหนึ่งที่เมื่อมีคนตาย แพทย์เข้ามาจัดการแทบจะทันที และขอให้ญาติออกจากห้องนี้ หรือสถานที่จัดการศพซึ่งไร้หัวใจ แม้มีแพจเกจครบจบที่เดียว

ลองออกแบบงานศพ และการจัดศพตัวเองไม่ใช่เรื่องแย่เท่าไหร่ อ่านจบ เราอยากเลือกวิธีฝังศพ ใส่ชุดประโปรงที่เราชอบ มีมงกุฎดอกไม้ และมีดอกไม้สีสันสดใสโปรยปูเต็มพื้นที่รอบตัวเรา เราอยากย่อยสลายกลายเป็นดิน ถ้าเป็นไปได้จริงเราคิดว่าส่วนสำคัญของชีวิตนี้สมบูรณ์แล้ว.

หนังสือ: จากดับสูญสู่นิรันดร์ : ส่องวิถีหลังความตายจากหลากหลายวัฒนธรรม From Here to Eternity: Traveling the World to Find the Good Death
ผู้เขียน: Caitlin Doughty  
ผู้แปล: กัญญ์ชลา นาวานุเคราะห์
สำนักพิมพ์: BOOKSCAPE

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน) ขึ้นไว้บนเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี