ใช้แสง สี เยียวยาภาวะซึมลึก ในวันที่ชีวิตออกแบบอะไรได้ยาก - Decode
Reading Time: 3 minutes

โควิดระลอกใหม่ ชีวิตกึ่งล็อกดาวน์ และรัฐบาลที่มีทีท่าจะอยู่กับเราไปอีกนาน ไหนจะวิกฤตการณ์ WORK FROM HOME ที่ถาโถมไม่หยุดยั้งอีก วันนี้ทีมงาน De/code ขออาสาร่วมพาคุณฝ่าวิกฤต แม้ไม่มีวัคซีนทางเลือก แม้ไม่มีรัฐมนตรีสาธารณสุขคนใหม่ แต่เราจะชวนคุณจัดพื้นที่ในห้องด้วยองค์ประกอบสำคัญที่ใครหลายคนมองข้ามไปอย่างแสง และสี ไม่ว่าคุณจะอยู่ในบ้านที่พลุกพล่านด้วยคนหลายช่วงวัยมากขึ้น หรือคอนโดที่เจอสิ่งมีชีวิตอื่นน้อยลง วันนี้เรามีตัวช่วยให้คุณ ผ่านทางงานวิจัยที่เปี่ยมไปด้วยสีสันและเส้นแสง ของ ผศ.ดร.นวลวรรณ ทวยเจริญ อาจารย์ประจำภาควิชานวัตกรรมอาคาร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

เรามีทางออกให้คุณในวันที่ชีวิตออกแบบอะไรไม่ได้มาก

ในวิกฤตโควิดที่เปลี่ยนวิถีชีวิตของคุณไป มันทำให้คุณรู้สึกโดดเดี่ยวกว่าเดิม เศร้าง่ายขึ้น หรือจำอะไรไม่ค่อยได้ หลง ๆ ลืม ๆ ไปบ้างรึเปล่า ? ถ้าคำตอบของคุณคือ ใช่ งานวิจัยสองชิ้นนี้ของอาจารย์นวลวรรณคือคำตอบที่ช่วยเยียวยาคุณได้

เครียด เหงา เศร้า นอนไม่หลับ แสงและสีจะช่วยเราได้

จากงานวิจัยเกี่ยวกับการใช้แสงและสีบำบัดภาวะโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ ของอาจารย์นวลวรรณ พบว่าสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกเศร้าได้มากที่สุด คือความโดดเดี่ยว

ในวันที่ SOCIAL DISTANCING คือสถานการณ์บังคับ เราขอแนะนำให้คุณใช้แสง และสี เพื่อให้เราอยู่กับตัวเองได้อย่างเป็นมิตรมากขึ้น ตัวเลือกหนึ่ง คือการเพิ่มสีสันของต้นไม้ใบเขียวให้สบายตา และได้เวลาแล้วที่จะทบทวนถึงความสำคัญของการจัดพื้นที่ในห้อง ให้เข้าถึงแสงช่วงกลางวัน (DAY LIGHT) อย่างจริงจัง เพราะไม่เพียงแต่จะทำให้คุณนอนหลับได้ดีขึ้น การรับแสงแดดในช่วงกลางวันอย่างน้อยวันละ 2 ชั่วโมงจะช่วยลดภาวะซึมเศร้าได้อีกด้วย หากพื้นที่ไม่เอื้ออำนวย อาจารย์นวลวรรณยังได้แนะนำให้ใช้ LIGHT BOX เจ้ากล่องแสง LED ที่เลียนแบบแสงธรรมชาติที่มีขายทั่วไป ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ควรมีติดไว้ในพื้นที่ที่แสงธรรมชาติส่องเข้าไม่ถึง

แต่นั่น เป็นทางเลือกที่เข้าถึงได้ของทุกคนจริง ๆ หรือเปล่า ?

ในเวลาที่เราถูกตัดขาดจากโลกภายนอก การจะมีสุขภาพจิตที่ดีกลายเป็นภาระและผลักดันค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นให้กับประชาชน คล้ายกับว่าการมีร่างกายและสภาพจิตใจที่ปกตินั้น กลายเป็นเรื่องของอภิสิทธิชน ในแคมป์คนงานที่หุ้มล้อมด้วยผนังสังกะสี ในห้องเช่าแออัดที่หน้าต่างมีลวดดัดกั้น สภาพแวดล้อมและสถานการณ์โควิดกำลังกีดกันเราออกจากการมีสุขภาพที่ดีซึ่งควรเป็นสิทธิที่รัฐรับประกันให้กับทุกคน ไม่ใช่เพียงแต่ภาคเอกชน การออกแบบบ้านเอื้ออาทร แฟลตข้าราชการ ไปจนถึงเรือนจำ หน่วยงานรัฐให้ความสำคัญถึงเรื่องพื้นฐานของชีวิต อย่างการเข้าถึงของแสงในเวลากลางวันมากน้อยเพียงใด ออกแบบสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการมีสุขภาพกาย และสุขภาพจิตที่ดีของผู้อยู่อาศัยมากน้อยแค่ไหน ?

เมื่อห้องหนึ่งห้อง ต้อง MULTI TASK พอ ๆ กับเจ้าของบ้าน

โต๊ะในห้องของเราต้องเป็นทั้งโต๊ะทำงาน โต๊ะกินข้าว ที่นั่งผ่อนคลาย ไปจนถึงประชุมออนไลน์จริงจัง แสงไฟในห้องจึงต้องถูกออกแบบให้ปรับรับกับกิจกรรมที่หลากหลายยิ่งขึ้น อาจารย์นวลวรรณแนะนำว่าสมองจะทำงานได้ดีในแสงสีขาว แต่อาจไม่เป็นมิตรกับการพักผ่อนเท่ากับแสงสีเหลือง หลอดไฟที่สามารถปรับระดับสี ความเข้ม และขนาดของพื้นที่ที่ไฟส่องถึง จึงเป็นทางเลือกที่สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงนี้ได้เป็นอย่างดี

การทำงานจากที่บ้าน (WORK FROM HOME ) จึงไม่ใช่เพียงการเพิ่มขึ้นของค่าไฟและชั่วโมงการทำงานเท่านั้น แต่คือการเบียดบังพื้นที่ส่วนตัวเพื่อถูกเอาไปใช้เพิ่มผลกำไรให้บริษัทมากขึ้น นี่คือทรัพยากรที่ต้องจ่าย โดยที่ได้เงินเดือนได้เท่าเดิม

ตู้ความหวังไอเทมลับช่วยลดซึมเศร้า

จากงานวิจัยของอาจารย์นวลวรรณพบว่า ผู้สูงอายุที่มีภาวะซึมเศร้าเริ่มหยุดยาหลังจากปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมด้วยแสงและสี ควบคู่ไปกับการจัด ‘ตู้ความหวัง’ พื้นที่ที่บรรจุความทรงจำดี ๆ ในแต่ละวัน วันนี้จึงอยากชวนคุณลุกขึ้นมาทำตู้ความหวังของคุณเองไปพร้อม ๆ กัน

เริ่มต้นด้วยคำถามเล็ก ๆ ที่ชวนคุณคิดทบทวนกับตัวเอง ยกตัวอย่างเช่น อะไรทำให้คุณมีความสุขในวันนี้ มีเรื่องประทับใจอะไรเกิดขึ้นบ้าง สิ่งที่คุณทำสำเร็จในตอนนี้คืออะไร ไม่ว่าจะเล็ก หรือใหญ่ อาจเป็นการตื่นนอนทันทีหลังนาฬิกาปลุกดัง หรือปิดโพรเจกใหญ่ได้อีกครั้ง ตู้ความหวังของบางคน อาจเต็มไปด้วยตั๋วรถเมล์ที่เราเดินทางกับคนที่อยากใกล้ชิด กระดาษจดความคืบหน้าการอ่านหนังสือ หรือออกกำลังกาย ไปจนถึงบัตรบริจาคเลือดใบเก่าที่เต็มจนต้องเปลี่ยนใบ

ไม่ว่าตู้นี้จะอัดแน่น หรือว่างเปล่า แต่แน่นอนว่าคุณจะได้เห็นว่าชีวิตช่วงนี้ของคุณเป็นอย่างไร และคอยกระตุ้นให้คุณออกไปใช้ชีวิตในวันถัดไป ไม่ว่าจะเพื่อสานต่อ หรือแก้ไข ความรู้สึกเหล่านี้คือสิ่งที่คุณจะได้รับจากการจัดตู้ความหวังไว้มุมหนึ่งของห้องอย่างแน่นอน

 การมีมุมเล็ก ๆ บรรจุความหวัง ความภูมิใจในจุดที่เรามองเห็นได้ง่าย จะช่วยกระตุ้นให้เรามีความสุขได้มากขึ้นอย่างคาดไม่ถึง อาจารย์นวลวรรณกล่าวทิ้งท้าย

จัดมุมหนึ่งเพื่อวางความทรงจำให้อยู่กับเราได้นานขึ้น

นอกจากบ้านที่เป็นระเบียบสบายตา งานวิจัยของอาจารย์นวลวรรณเกี่ยวกับการใช้สีและแสงในผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม ยังกระซิบชักชวนเราลุกขึ้นมาจัดพื้นที่ในบ้านและคอนโดเพิ่มเติมดังนี้

ความแตกต่าง คือตัวกระตุ้นสมองให้จดจำ

ไม่ว่าจะด้วยสีที่ตัดกัน การเลือกใช้วัสดุพื้นผิวที่แตกต่าง หรือความเข้มของแสงที่ไล่ระดับเด่นชัด สิ่งเหล่านี้ล้วนช่วยกระตุ้นความทรงจำของคุณได้ ควรหาพื้นที่สักมุมหนึ่งของห้องที่มีสี วัสดุ ความเข้มแสงแตกต่างจากจุดอื่น ๆ ในห้องเพื่อกระตุ้นให้คุณทำอะไรสักอย่างที่สำคัญ และจดจำสิ่งต่าง ๆ ได้มากขึ้น ยิ่งถ้าเป็นกระดานแปะโน้ตเตือนความจำ ถ้ามีการใช้สัญลักษณ์ หรือภาพ ยิ่งเป็นตัวกระตุ้นให้จดจำได้นานยิ่งขึ้น

พื้นที่ตรงนั้นอาจเป็นมุมอ่านหนังสือ โต๊ะทำงาน หรือสักจุดของผนังที่เราจะเห็นก่อนออกจากบ้าน จะได้ไม่ลืมรายการสิ่งของ หรือเรื่องสำคัญที่ต้องทำในแต่ละวัน

ตู้ความทรงจำ สิ่งย้ำเตือนว่ามันเคยเกิดขึ้นจริง

ในกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้สูงอายุโรคสมองเสื่อม อาจารย์นวลวรรณได้จัดทำตู้ความทรงจำซึ่งภายในอัดแน่นไปด้วยสิ่งของที่ชวนระลึกถึงเหตุการณ์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต สิ่งที่รัก หวงแหน ถูกเติมเข้ามาในตู้นี้ในแต่ละวัน ผลลัพธ์ของมันทำให้ผู้เข้าร่วมการทดลองอยู่ติดบ้านนานขึ้น จดจำเหตุการณ์ ชื่อคนในอดีต ได้มากขึ้น ผ่านทางตู้เก็บความทรงจำที่ทำหน้าที่ของมันได้เป็นอย่างดี

ในสถานการณ์ที่ปัจจุบันเต็มไปด้วยภาพที่อยากเบือนหน้าหนี เราอยากชวนคุณกลับมาปัดฝุ่นความทรงจำ จัดมุมหนึ่งของพื้นที่ให้มีแต่สิ่งที่คุณอยากระลึกถึง ไม่ว่าจะเป็นภาพของผู้คน เหตุการณ์ หรือสิ่งของ เราอาจพบเจอเฟรนด์ชิปสมัยมัธยม ภาพถ่ายแต่งงานของพ่อแม่ ดอกไม้แห้งจากรักแรก หรือแม้แต่ซีดีเพลงที่นานมาแล้วไม่ได้ฟังอยู่ตรงนั้น

บางครั้งโดดเดี่ยว บางครั้งก็แน่นขนัดเกินไป

เมื่อทุกคนต่างต้องกักตัว ครอบครัวใหญ่ที่มีหลากหลายช่วงวัยอาจพบปัญหาที่ไม่เคยเจอในช่วงเวลาปกติ เพื่อคำนึงถึงการใช้พื้นที่ในบ้านให้ตอบโจทย์ทุก ๆ คน ทั้งในเรื่องการใช้งาน และช่วงวัย เพศ สุขภาพที่แตกต่างกันของผู้ใช้ จึงเป็นสิ่งสำคัญ เช่น ความเข้มของแสงที่อาจสบายตาวัยรุ่น แต่รบกวนผู้สูงอายุ พื้นที่ทำงานที่ต้องการความสว่างมากกว่าพื้นที่พักผ่อนที่อยู่ติดกัน นี่คือโจทย์ที่ทั้งครอบครัวจะต้องกลับมาออกแบบ สร้างข้อตกลง และทำความเข้าใจความต้องการที่หลากหลายไปด้วยกัน

เราจะต้องเผชิญกับอะไรในภาวะหลังโควิด

ไม่ใช่เพียงภาวะซึมเศร้าและสมองเสื่อม อาจารย์นวลวรรณชวนเราพูดคุยข้ามไปถึงโรคอื่น ๆ ที่อาจตามมา และการใช้แสง สี เพื่อบำบัดฟื้นฟูอาการเหล่านั้นในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นไมเกรน หรือแม้แต่การลดจำนวนวันพักฟื้นในผู้ป่วยหลังผ่าตัด อนาคตของงานออกแบบจะบูรณาการเข้ากับวิถีชีวิตของเรามากขึ้น โดยเฉพาะด้านสุขภาพ ทั้งในมิติการป้องกัน และรักษาฟื้นฟู ไม่ใช่โรคทางกายภาพที่จะเห็นได้ชัดเจนขึ้นเท่านั้น แต่หมายรวมถึงการเจ็บป่วยทางจิตใจ ที่อาจจะเจ็บป่วยง่ายขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน

เป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้แล้วว่า การมาถึงของโรคระบาดและการจัดการที่ไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาล ได้เปลี่ยนแปลงชีวิต ความคิด และความทรงจำของเราไปแล้วตลอดกาล

ในวันที่เราออกแบบอะไรไม่ได้ อย่างน้อยให้ห้องของเรา เป็นมิตรกับเรามากขึ้น เต็มไปด้วยความสุขและความทรงจำที่ดี พร้อมกระตุ้นให้เราตื่นตัวตั้งรับกับเรื่องไม่คาดฝันได้อย่างไม่บอบช้ำจนเกินไป

ขอให้เราผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้โดยบาดเจ็บน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ ไปด้วยกัน
HAVE A GOOD LIGHT AND COLORFUL DAY 🙂