เปลี่ยน(สื่อสาร)วิกฤตเป็นความหวัง เลิกข่มขู่ สอนสั่งนะจ๊ะ - Decode
Reading Time: 3 minutes

ในสถานการณ์วิกฤตโควิดที่ 19 สังคมไทยมีคู่ขัดแย้งเดียวกันคือโรคระบาด การสื่อสารที่ดีช่วยปลอบประโลมเพื่อนร่วมชาติ ลดความเจ็บปวดว่าเราจะผ่านไปด้วยกัน สารที่จริงใจด้วยถ้อยคำที่รู้สึกร่วมกับหายนะ คือสิ่งที่สังคมคาดหวัง

นะจ๊ะ-ชูสองนิ้ว ท่าทีขำขันจากท่านผู้นำในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาถูกวิจารณ์อย่างหนักจากประชาชน ในขณะที่คนล้มตายจากความล้มเหลวของนโยบายรัฐ

รัฏฐาธิปัตย์ ประยุทธ์ จันทร์โอชาและคณะกลับหัวเราะขบขัน
ราวกับไม่สะทกสะท้านกับหายนะที่ตนมีส่วนร่วม

De/code พูดคุยกับ ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมถอดรหัสเอกภาพการสื่อสารในภาวะวิกฤตที่ประชาชนคาดหวังจากผู้นำ

การระบาดสี่ระลอกของโควิด 19 รัฐบาล และศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ปรับเปลี่ยนทีมสื่อสารไปพร้อม ๆ กับสถานการณ์ที่รุนแรงขึ้น หากย้อนกลับไปปีที่แล้วทีมสื่อสารที่คนไทยคุ้นชิน คือ การสื่อสารจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอธิบายผ่านโทรทัศน์ถึงที่มาและความสำคัญของโรคที่อุบัติใหม่ ผู้นำการสื่อสารช่วงแรกคือบุคลากรทางการแพทย์ รมว.กระทรวงสาธารณะสุข และนายกรัฐมนตรี

ความไม่รู้ ทดลองผิดพลาด คือ นิยามการสื่อสารช่วงแรกของรัฐบาลที่ประชาชนให้อภัยและเข้าใจได้ ประเทศไทยควบคุมโรคได้ดีอันดับต้น ๆ ของโลกเพราะศักยภาพของระบบสาธารณะสุขและความตระหนักรู้ของคนไทย คือคำชมเชยจากอาจารย์ทวิดา

ทีมสื่อสารถัดมาที่เราคุ้นชินถึงทุกวันนี้ คือทีมโฆษก ศบค. นำโดย นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล และ พญ.พิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. นับเป็นทีมที่ดีสุดที่เคยมีมา ระยะแรกของการเปลี่ยนทีมสื่อสาร หมอร่วมกับทีมเชี่ยวชาญด้านอื่น ๆ เพื่อบอกกล่าวกับประชาชนให้เข้าใจครอบคลุมนอกเหนือเรื่องการแพทย์ ทีมนี้คือทีมที่ดีที่สุดและน่าชื่นชมในทัศนะของอาจารย์ทวิดา

ขณะเดียวกันก็ตั้งข้อสังเกตกับท่าทีที่เปลี่ยนไป คำบอกเล่ากลายเป็นสั่งสอน ข่มขู่ประชาชน

ถอดรหัสทีมสื่อสารในภาวะวิกฤต เพิ่มดีกรีขู่-สั่งสอนด้วยกฎหมาย

ผู้นำด้านการสื่อสารทุกคนมีบุคลิกต่างกันที่ติดตัวมา จึงต้องออกแบบการสื่อสารให้เหมาะกับข้อมูล ในช่วงแรกยังสับสนว่าควรให้หมอหรือผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารเป็นผู้นำสาร อาจมีผิดพลาดบ้างเพราะเป็นเรื่องใหม่ที่ต้องเรียนรู้ไปด้วยกัน เมื่อเปลี่ยนทีมสื่อสารเป็นทีมหมอทวีศิลป์ในฐานะโฆษก ศบค. ร่วมกับทีมเชี่ยวชาญด้านอื่น นับเป็นทีมสื่อสารที่เก่งและน่าชื่นชม

โรคโควิดกระจอกงอกง่อย
(5 ธันวาคม 63)

คุณอนุทิน ชาญวีรกุล รมว.สธ. มีบุคลิกห้าวเป้ง นักธุรกิจ นักอุตสาหกรรมที่มีลูกล่อลูกชน และติดต่อกับเรื่องเหล่านี้บ่อยจึงไม่มีปัญหาเรื่องบุคลิก แคล่วคล่องให้สัมภาษณ์สื่อ แต่บางครั้งเนื้อหาขัดแย้งกับการทำงานในภาคส่วนอื่น สะท้อนให้เห็นปัญหาการทำงานหลังบ้านและหน้าบ้าน

ทีมหมอทวีศิลป์มีข้อดีคือ หมอพูดความรู้ทางการแพทย์เข้าปาก ซึ่งเป็นศิลปะและความสามารถเฉพาะตัวของหมอที่เข้าใจภาษาแพทย์และสื่อความเป็นภาษามนุษย์ให้เข้าใจง่าย การแสดงออกทางอวัจนภาษาคล้องกันไปหมดถือเป็นการช่วงชิงจุดเด่น ทั้งคุณหมอทวีศิลป์และหมอพิศมัยมีข้อดีจุดนี้  แต่พอมีคำถามละเอียดไปเรื่องเศรษฐกิจและการบริหารจัดการจึงให้ทีมเชี่ยวชาญเฉพาะด้านนั้น ๆ มาสื่อสารร่วม การประกอบทีมเช่นนี้คือทีมที่ดีที่สุด แต่ระยะหลังมีข้อบกพร่องเกิดขึ้นมีถ้อยคำลักษณะกล่าวโทษ ดุ ขู่ใช้กฎหมายสอนสั่งผ่านทางวาจาและอวัจนภาษา อาจารย์ทวิดาแสดงทัศนะว่า

ในกรณีสื่อสารวิกฤตเพื่อก่อให้เกิดความร่วมมือและทิศทางในอนาคตร่วมกัน เราไม่สั่งสอนผ่านการสื่อสาร ไม่ตำหนิกล่าวโทษในบรรยากาศเช่นนี้  สิ่งที่ผู้สื่อสารควรทำคือรับว่าเรามีความบกพร่อง แม้ว่าความบกพร่องนั้นจะไม่ใช่ภาคส่วนของรัฐ

เวลาพูดว่าการ์ดตก ภาคประชาชนเรื่องนึง ภาครัฐด้วยเช่นกัน

คำว่าการ์ดตกไม่ใช่ 50-50 แต่คือ 70-30 หมายความว่าขอให้ประชาชนมีการ์ดเป็นของตัวเองและกำกับควบคุมโดยตัวเอง 30 อีก 70 ต้องเป็นการ์ดรัฐ และการควบคุมโดยรัฐ  ดังนั้นคุณหมอต้องระลึกไว้เสมอว่าการสื่อเพื่อบอกให้ทราบและขอความร่วมมือ เราไม่สั่งสอน กล่าวโทษในภาวะนี้

“ผู้นำเพียงคนเดียวสื่อสารในภาวะวิกฤตไม่ได้ แต่ผู้นำไม่สื่อสารไม่ได้ จึงต้องวางบทบาทว่าผู้นำควรสื่อสารลักษณะใด และทีมควรสื่อสารลักษณะไหน” อ.ทวิดากล่าว

การประสานงานขอความร่วมมือคือจุดเริ่มต้นของการสื่อสารในภาวะวิกฤต เมื่อผู้นำผสานการทำงานและความร่วมมือจากทุกภาคส่วนได้จะเป็นบันไดขั้นแรกที่สังคมเคลื่อนไปพร้อมกัน การบอกเล่าข้อมูลรายวันสำคัญเทียบเท่ากับการบอกแนวทางในอนาคต อาจารย์ทวิดาเรียกบันไดขั้นที่สองนี้ว่า “การสื่อสารอนาคต” คือ การบอกว่าเราจะทำอะไรในอนาคตข้างหน้า วิ่งไปดักหน้าวิกฤตที่กำลังจะเกิด ไม่หมกมุ่นกับอดีตที่และปัจจุบันที่กำลังทำอยู่เท่านั้น

จากซิงเกิล คอมมานด์ สู่จิตวิทยาตีกลับ

บันไดขั้นสุดท้าย ในสังคมที่มีความหลากหลายเราทุกคนมีศัตรูเดียวกันในภาวะวิกฤต (Common Enemies) เป็นมาตรการทางการทูต การสื่อสารที่ดีต้องไม่สร้างความขัดแย้งและศัตรูอื่นเพิ่ม ที่ผ่านมารัฐบาลประสานงามากกว่าประสานงาน ซึ่งก่อกวนการสื่อสาร บันไดทั้งสามขั้นไม่ได้แยกขาดกัน แต่เชื่อมร้อยและสัมพันธ์กันอย่างยิ่งในห้วงวิกฤตครั้งนี้

เรามีนายคนเดียวกัน แต่ไม่จำเป็นต้องมีนายคนเดียวกัน

คือคำอธิบายของ เอกภาพการบริหารในภาวะวิกฤตในความหมายของอาจารย์ทวิดา การบริหารจัดการวิกฤตคือการบริหารเอกภาพของทีมผ่านระบบ Single Command  หมายถึง ถือคำสั่งเดียวทุกหน่วย บริหารจัดการตามหน้าที่และหัวหน้าหน่วยนั้น ๆ ไม่ใช่การรวมศูนย์ทุกอย่างไว้ที่ส่วนกลาง

รวมศูนย์ข้อมูลชุดเดียวทั้งประเทศ แต่ต้องไม่รวมศูนย์การตัดสินใจ เรามีนายได้คนเดียว แต่ไม่จำเป็นต้องมีนายคนเดียวกัน แปลว่าคำสั่งเดียวที่ลงมาจะถูกส่งทอดตั้งแต่ระดับบนจนถึงผู้ใหญ่บ้าน อนุญาตให้แต่ละส่วนสามารถตัดสินใจได้บนบริบทของตนภายใต้มาตรการกลางที่รัฐบาลส่งไปให้เลือกปรับใช้ เพื่อจัดการเอกภาพ เพราะข้อมูลวิ่งได้เร็วทั่วประเทศทุกวัน แต่คนตัดสินใจไม่สามารถวิ่งทั่วประเทศ และรัฐต้องเชื่อมั่นเพราะเขารู้จักท้องถิ่นของเขาดี

ภาวะวิกฤตที่ผิดปกติจากชีวิตเดิมของมนุษย์ส่งผลให้เกิดความเครียด ไม่มีความสุขและไม่อดทนกับสภาวะที่เชิญหน้า คนส่วนใหญ่จะรู้สึกว่าตนได้รับผลกระทบไม่เท่ากับคนอื่น อีกทั้งการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าเป็นเรื่องของตน สิ่งนี้คือคำอธิบายของ จิตวิทยาวิกฤต

จิตวิทยาวิกฤตเรียกร้องให้ตัดสินใจแบบพิเศษและมีอำนาจเหนือกฎเดิมในภาวะปกติที่ทำไม่ได้ การสื่อสารไปข้างหน้าเพราะทุกคนมีความหวังลึก ๆ ในใจว่าทางออกของวิกฤตครั้งนี้อยู่ตรงไหน ทุกครั้งที่สื่อสารต้องคำนึงว่าคนฟังมีความหวัง แต่ต้องเป็นความหวังที่ให้และรัฐทำงานไปด้วย มิเช่นนั้นจะเรียกว่าให้เพ้อฝัน

ตอนที่ประเทศเพื่อนบ้านเริ่มมีข่าวระลอก 2 ในขณะที่เราหมกมุ่นกับตัวเลขผู้ติดเชื้อ 0 ขู่ประชาชนว่าถ้าไม่ร่วมมือจะเกิดระลอก 2 แบบเพื่อนบ้าน การทำเช่นนี้ทำให้คนรู้สึกว่าอยู่ภายใต้ข้อกำกับของกฎหมายไม่ใช่อยู่ในแนวปฏิบัติที่เคยทำมา การเว้นระยะห่างช่วงก่อนหน้านี้ไม่เคยมีข้อบังคับทางกฎหมาย  แต่ใช้การลงโทษทางสังคม (Social Sanction) ถูกตำหนิจากคนรอบข้างหรือไม่สามารถเข้าพื้นที่ต่าง ๆ ได้ เมื่อรัฐบาลเริ่มใช้กฎหมายบังคับ คนจะรู้สึกว่าทำเพราะถูกบังคับไม่ใช่เพื่อป้องกันตัว ทุกวันนี้คนหยิบหน้ากากใส่เพราะกลัวถูกตำรวจจับมากกว่ากลัวติดโรค เมื่อการระมัดระวังตัวลดลงการระบาดระลอกที่สามที่ผ่านมาเกิดจากติดกันในครอบครัวมากกว่าติดจากข้างนอก สิ่งนี้คือจิตวิทยาตีกลับ 

จิตวิทยาตีกลับอีกด้านนึงคือ เมื่อคุณดูแลตัวเองอย่างดี แต่รัฐบอกว่ามีคนกลุ่มนึงแย่ จะก่อให้เกิดความรู้สึกโยนความผิดให้กันในสังคม ทำแบบนี้ยิ่งมีความบาดหมางในสังคมมากขึ้น สะท้อนบุคลิกของรัฐบาลคุณประยุทธ์ที่มีลักษณะนี้ตั้งแต่ต้น ผู้นำต้องดึงบุคลิกด้านดีมาใช้ร่วมสื่อสาร คุณประยุทธ์เป็นคนพูดจาตรง หนักแน่น กล้าตำหนิคน แต่ควรเลือกตำหนิหน่วยงานและมาตรการรัฐที่ไม่มีประสิทธิภาพ หากคิดจะตำหนิภาคประชาชนควรออกมาในรูปแบบที่หลีกเลี่ยงการสั่งสอนและการตำหนิ ควรพูดว่า  ถ้าเราพยายามอีกนิดเดียว ขออีกนิดนึงนะ แทนการบอกว่าเป็นเพราะพวกเราบางคน บางจุดที่ไม่ทำ

การสื่อสารในภาวะวิกฤตทุกครั้งคือการสื่อสารเพื่อขอความร่วมมือ ถ้ารัฐมีบุคลิกแข็งกร้าวเป็นทุนเดิมจะสื่อสารในภาวะวิกฤตไม่ดีตั้งแต่แรก ไม่ใช่เพราะการบริหารไม่ดี คุณประยุทธ์ชอบพูดว่าตัวเองไม่ใช่นักการเมือง การตั้งต้นการสื่อสารแบบนี้ทำให้มุมนึงประชาชนเชื่อว่าคุณประยุทธ์เป็นคนตรง ๆ ไม่อ้อมค้อม แต่ไม่ได้หมายความว่าจะโยนให้ทุกคนรับผิด โดนดุไปทั้งหมด อาจารย์ทวิดากล่าว

นอกจากการสื่อสารผ่านผู้นำ สื่อออนไลน์หลักของรัฐบาลเป็นอีกหนึ่งช่องทางสำคัญที่มีผลต่อการรับรู้และแนวปฏิบัติของประชาชนในภาวะวิกฤตครั้งนี้ De/code ติดตามการรายงานสถานการณ์โควิด 19 ของเพจไทยรู้สู้โควิด ตลอดเดือนมิถุนายน 2564 เพจมีผู้ติดตามกว่า 2.8 ล้านคนอยู่ภายใต้การดูแลของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณะสุข พบว่า จุดเด่นของเพจดังกล่าวคือ การย่อยข้อมูลทางสติถิและเนื้อหาแนวปฏิบัติที่ยิบย่อยให้เข้าใจง่าย มีข้อมูลอ้างอิงที่เชื่อถือได้จากรัฐโดยตรง รวดเร็วทันเหตุการณ์โดยเพจจะลงเนื้อหาข้อมูลภาพ (Infographic) หลังแถลงข่าวรายวันของศบค.ทันที อีกทั้งด้วยคุณสมบัติของสื่อใหม่ (New Media) ที่ผู้ส่งสารและผู้รับสารในฐานะแอดมินและลูกเพจสามารถตอบโต้กันได้ผ่านการแสดงความเห็น (Comment) เป็นสื่อที่ผู้รับสารเข้าถึงง่ายและรู้สึกเป็นมิตรใกล้ชิดมากกว่าการแถลงข่าวผ่านโทรทัศน์

จากการติดตามและตั้งข้อสังเกตการณ์เลือกนำเสนอข้อมูลของเพจไทยรู้สู้โควิด พบนัยยะการสื่อสารในภาวะวิกฤตผ่านข้อเท็จจริงที่ศบค.ชี้นำการรับรู้ของประชาชน โดยผู้เขียนมุ่งเน้นที่ข้อมูลรายงานสถานการณ์ COVID-19 ในประเทศไทยซึ่งมีสรุปข้อมูลประจำวัน ดังนี้

  1. ผู้ป่วยใหม่รายวัน
  2. ผู้ป่วยยืนยันสะสม
  3. หายป่วยวันนี้
  4. เสียชีวิตสะสม
  5. ผู้รับวัคซีนสะสม

ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตการลำดับข้อมูล สี ขนาดตัวอักษร และการเลือกใช้ชุดข้อมูลส่วนใหญ่พบว่า ข้อมูลภาพ (Infographic) ส่วนใหญ่ขึ้นต้นด้วยยอดหายป่วยกลับบ้าน สีเขียวหรือฟ้า ขนาดใหญ่ ตัวหนา เห็นชัด รองลงมาคือหายป่วยสะสมและเลขติดเชื้อใหม่รายวัน สีแดง หรือสีแดงอ่อน สีฟ้า ขนาดเล็ก ตัวอักษรบาง ไม่ปรากฎยอดติดเชื้อสะสม เนื่องจากข้อมูลมีจำนวนมากเพจดังกล่าวจึงย่อยข้อมูลเป็นหลายชุดบางอันปรากฎยอดเสียชีวิตรายวัน ยอดผู้รับวัคซีน ข้อมูลการระบาดเปรียบเทียบกับเอเชียและสถิติโลก

การจัดลำดับและนำเสนอเช่นนี้ทำให้สามารถชี้นำกำหนดการรับรู้ของมนุษย์ที่จดจำสีได้เร็วกว่าข้อมูลเลข การรับรู้แรกมีผลอย่างมากต่อวิธีคิดของผู้รับสารเมื่อเริ่มด้วยยอดหายป่วยกลับบ้านหลักพัน ผู้รับสารส่วนใหญ่จึงจดจำและให้ค่ามากกว่ายอดผู้ติดเชื้อรายวันที่ไต่ระดับถึง 5,000 ราย และยอดตายที่มากถึง 50 คนต่อวัน การเลือกคู่สีสดใสโทนเย็นช่วยลดอุณภูมิของสารในภาวะวิกฤตได้แวบแรกของการรับสาร

รูปแบบการรายงานข้างต้นมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเนื่องจากถูกวิพากษ์วิจารณ์ ในระยะหลังที่มีผู้ติดเชื้อมากกว่าสองพันราย ข้อมูลวันที่ 19 มิถุนายน 64 ประเทศไทย มีผู้ติดเชื้อ 3,232 ราย แตะสามพันครั้งแรกในเดือน แต่เพจยังคงนำเสนอให้เลขผู้ติดเชื้ออยู่ลำดับล่างสุด ตัวบาง สีแดงอ่อน และเน้นตัวเลขหายป่วยเป็นลำดับแรกใหญ่สุดในภาพ หลังจากโดนวิจารณ์อย่างหนักเพจไม่ได้เปลี่ยนแปลงลำดับข้อมูล แต่ค่อย ๆ เพิ่มขนาดตัวอักษรผู้ติดเชื้อ ใส่ตัวหนา และลดขนาดเลขผู้หายป่วยลง แต่ยังเด่นสุดในข้อมูลภาพ คาดว่าเพจไทยรู้สู้โควิดปรับจากคำทักท้วงจากประชาชนที่แสดงความคิดเห็นเรื่องข้อเท็จจริง ความโปร่งใสและการลำดับข้อมูลที่ตั้งใจลดอุณหภูมิความรุนแรงของสถานการณ์ติดเชื้อในประเทศ

นอกจากนี้พบว่าเพจไทยรู้สู้โควิดเลือกสื่อสารยอดฉีดวัคซีนรายวันและยอดสะสมเพื่อบรรลุเป้าฉีดวัคซีนให้ประชากรไทยครบ 10 ล้านโดส และนับถอยหลังเปิดประเทศใน 120 วันตามคำประกาศของนายกรัฐมนตรี โดยไม่มีข้อมูลการฉีดวัคซีนต่อจำนวนประชากรในประเทศ อันเป็นข้อมูลสำคัญที่บ่งบอกถึงประสิทธิภาพการเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในประเทศ  ไม่ปรากฎข้อมูลผู้ติดเชื้อต่อประชากร ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญยิ่งต่อการประเมินสถานการณ์การระบาดของโรค ข้อมูลที่หายไปทั้งสองนี้เป็นข้อมูลที่ทั่วโลกเปิดเผยต่อประชาชน เพื่อรายงานสถานการณ์การควบคุมโรคและทางรอดของประเทศ

ข้อมูลจากเว็บไซต์ Our world in data (https://ourworldindata.org/) เว็บไชต์รวบรวมข้อมูลฉีดวัคซีนต่อจำนวนประชากรแต่ละประเทศทั่วโลก ข้อมูล ณ วันที่ 29 มิถุนายน 64 ระบุว่า ไทยฉีดวัคซีนต่อจำนวนประชากรภายในประเทศเพียง 9.90% นับตั้งแต่เริ่มฉีดวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ภูมิคุ้มกันหมู่จะเกิดขึ้นได้เมื่อประชากร 60% ของประเทศได้รับวัคซีนที่มีคุณภาพ

เหตุใดเพจหลักที่น่าเชื่อถือของรัฐจึงไม่เปิดเผยหรือตั้งใจบิดเบือนประเด็นต่อผู้รับสารในฐานะประชาชนที่เสี่ยงตายรายวัน เลขความตายที่ผู้ส่งสารย่อส่วนจนเล็กสุดบนกระดานภาพ สะท้อนชีวิตคนไทยและหายนะที่รัฐย่อส่วนให้เล็กลง หากมองในแง่สื่อสารสาธารณะให้ประชาชนตระหนักและมีหวังต่อผู้รอดชีวิต การสื่อสารเช่นนี้สร้างพลังบวกและความหวังให้ประเทศไปยรอดพ้นและชนะไปด้วยกัน