ไรเดอร์ไลน์แมน มหากาพย์ที่เพิ่งโหมโรง - Decode
Reading Time: 2 minutes

ก้อนอิฐในมือสามัญชน

ดร.เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร

ปกติผมไม่ค่อยอยากเอ่ยชื่อบริษัทใดบริษัทหนึ่งในคอลัมน์ ไม่ใช่เพราะกลัวถูกฟ้อง แต่เพราะเชื่อว่าปัญหาการละเมิดสิทธิคนงานในเศรษฐกิจแพลตฟอร์มเป็นปรากฎการณ์เชิงโครงสร้างที่ต้องแก้ตรงโครงสร้างก่อน ที่สำคัญไม่อยากชี้นิ้วไปที่บริษัทใดบริษัทหนึ่ง เพราะแนวปฏิบัติของแพลตฟอร์มเกือบทั้งหมดถอดแบบมาจากโมเดลธุรกิจเดียวกัน

แน่นอน ฝ่ายธุรกิจพึงใจที่จะอ้างข้อเท็จจริงของตลาดว่าธุรกิจเป็นเรื่องของการแข่งขัน การแข่งขันนั้นจะเชือดเฉือนกันรุนแรงเพียงใดขึ้นอยู่กับกฎเกณฑ์ในสนามนั้น ๆ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือ บทบาทของแพลตฟอร์มดิจิทัลในการสั่งการและควบคุมคนงานกลับทำให้รัฐซึ่งเป็นผู้คุมกฎปรับตัวตามภาคธุรกิจไม่ทัน ในทางปฏิบัติ นักธุรกิจจึงกลายเป็นผู้ตั้งกฎเกณฑ์ใหม่ด้วยตนเอง

กฎเกณฑ์ใหม่ที่ว่าจึงถูกลดทอนเหลือเพียงกฎธรรมชาติ ฝ่ายที่มีทุนหนากว่ากลายเป็นผู้อยู่รอด

เมื่อกฎเกณฑ์ไม่เป็นธรรม จึงเป็นธรรมดาที่การแข่งขันย่อมไม่เป็นธรรมตามไปด้วย และผู้เล่นที่กำลังเสียเปรียบในสนามรบอันป่าเถื่อนของธุรกิจแพลตฟอร์มกลับเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่เหลือทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นคนงาน ผู้บริโภค หรือร้านค้า-ผู้ค้ารายย่อย

อันที่จริง ผมได้เน้นย้ำในคอลัมน์นี้เสนอว่าโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรมนี้เกิดจากส่วนผสมของหลายองค์ประกอบ ไม่ว่าช่องว่างของกฎหมาย ความไร้ประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง ความล้มเหลวของรัฐไทยในการสถาปนาการคุ้มครองสิทธิแรงงานและระบอบแรงงานสัมพันธ์ที่เป็นธรรม ไปจนถึงการเพิกเฉยของผู้บริโภค

จากมุมมองนี้ ความโลภของนักธุรกิจไม่ได้ผิดกฎหมายข้อไหน ผมจึงไม่ได้ต้องการตราหน้าบริษัทหรือนายทุนบางราย กฎหมายที่ปฏิเสธความเหลื่อมล้ำของอำนาจต่อรองระหว่างคนงานและบริษัทต่างหากที่ผมต้องการฉายไฟส่อง

เศรษฐกิจแพลตฟอร์มที่เรารู้จัก
สองโลกคู่ขนานของ CEO และคนงานแพลตฟอร์ม

เศรษฐกิจแพลตฟอร์มของไทยเหมือนโลกคู่ขนาน 2 โลกที่ไม่น่ามาบรรจบกันได้ โลกหนึ่ง คือ โลกที่สวยงาม ที่คนทำงานหน้าตาดี ดูแจ่มใสสุขภาพดี และยินดีทำงานนี้อย่างมีความสุขไร้ปัญหาขัดแย้งใด ๆ ในโลกที่สวยหรูและเคลือบพลาสติกใสนี้ ผู้บริโภคเห็นแต่ภาพคนงานในโลกจินตนาการที่ธุรกิจเป็นผู้บรรจงสร้างขึ้น

อีกโลกคือ โลกที่เป็นจริงของคนงาน ที่พวกเขาต้องทำงานแลกค่าส่งไม่ถึง 40 บาทต่อรอบด้วยขาหนึ่งข้าง หรืออาจจะชีวิตทั้งชีวิต

ในโลกที่สวยงามของผู้บริหาร พวกเขาพูดถึงเงินร้อยล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่ใช้จ่ายลงทุนภายในหนึ่งปี ในโลกใบนี้ ชีวิตของคนงานไรเดอร์ส่งอาหารหรือพนักงานนวดถูกลดทอนลงจนกลายเป็นแค่ตัวเลขต้นทุนบนกระดาษ ที่การเปลี่ยนแปลงขึ้นลงมีเพียงนัยเชิงปริมาณ พวกเขาไร้หน้าและไร้เสียง

แต่ในโลกความเป็นจริงของคนทำงาน ไรเดอร์หญิงที่สูญเสียขารอรับความช่วยเหลือจากเงินบริจาคของเพื่อนร่วมอาชีพ ไม่ใช่จากบริษัทแพลตฟอร์มที่สามารถลงทุนระดับพันล้านบาท ขณะที่ผมกำลังเขียนข้อความนี้ ผมเพิ่งละสายตาจากวิดีโอที่ซีอีโอบริษัทไลน์แมน-วงใน ให้สัมภาษณ์กับสื่อธุรกิจเป็นภาษาอังกฤษถึงเป้าหมายการระดมทุนรอบใหม่ที่คาดว่าจะได้มากกว่าปีที่แล้ว ผมกวาดสายตากลับมาที่โพสต์จากหน้าเพจ “สหภาพไรเดอร์” ชาวไรเดอร์ที่รวมกลุ่มกัน โพสต์สลิปโอนเงินให้กับไรเดอร์หญิงที่ประสบอุบัติเหตุ หนึ่งร้อยบาทบ้าง สองร้อยบาทบ้าง ทั้งที่พวกเขาไม่เคยเจอหน้ากันมาก่อน

ตลอดหลายปีของการเฝ้าดูการเติบโตของเศรษฐกิจแพลตฟอร์มไทย ผมเห็นภาพจากสองโลกที่ไม่น่าจะมาบรรจบกันนี้เสมอ ผมมักมีคำถามในใจ “ความเป็นธรรมในโลกนี้อยู่ที่ไหน”

ครั้งแล้วครั้งเล่าที่แพลตฟอร์มไลน์แมนเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการทำงานของไรเดอร์ในลักษณะที่ทำให้สภาพการทำงานของพวกเขาย่ำแย่ลง รวมทั้งการแจ้งลดค่ารอบกับไรเดอร์ผ่านช่องทางส่วนตัวในแอปพลิเคชันฝั่งคนขับ เพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนจะมีผลบังคับใช้ สะท้อนการปฏิบัติกับคนทำงานอย่างไม่ให้เกียรติ จนทำให้ไรเดอร์กลุ่มหนึ่งไม่สามารถทนรับได้อีก พวกเขาตั้งคำถามอย่างจริงจังกับวาทกรรมกลวง ๆ ของคำว่า “พาร์ทเนอร์” หรือความเป็นหุ้นส่วนธุรกิจที่ไม่เคยมีอยู่จริง สวนทางกับคำโฆษณาของบริษัทที่ยกไรเดอร์เป็น “ไลน์แมนฮีโร่” หรือฮีโร่ที่คอยช่วยเหลือบริษัทและลูกค้า แต่ฮีโร่คนเดียวกันนี้กลับถูกปฏิบัติด้วยอย่างไร้เกียรติ ค่าตอบแทนต่ำ ไร้สวัสดิการและอำนาจต่อรอง

ไม่ใช่ครั้งแรกที่ลดค่ารอบ
และไม่มีหลักประกันว่าเป็นครั้งสุดท้าย

ต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ด้วยความไม่พอใจที่บริษัทไลน์แมน-วงในประกาศปรับลดค่าส่งในแต่ละรอบ (ที่ไรเดอร์เรียกสั้นๆ ว่า “ค่ารอบ”) ไรเดอร์ของไลน์แมนในหลายจังหวัดของภาคกลาง คือ อยุธยา อ่างทอง และสิงห์บุรี จึงรวมตัวกันเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อหวังยื่นหนังสือกับผู้บริหารที่สำนักงานบนถนนสุขุมวิท

แต่นี่ไม่ใช่การปรับลดค่ารอบลงครั้งแรก ความไม่พอใจของไรเดอร์ครั้งนี้เกิดจากการที่บริษัทปรับลดค่ารอบลงอย่างต่อเนื่อง เช่น ค่ารอบในจังหวัดอยุธยา ลดลงจาก 40 บาทลงมาเป็น 35, 30 และ 24 บาทตามลำดับ (อ่านลำดับเหตุการณ์ของการประท้วงรอบล่าสุด ที่นี่)

ในมุมมองของไรเดอร์ พวกเขาไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่านี่จะเป็นการปรับครั้งสุดท้าย

ย้อนไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ไรเดอร์ไลน์แมนในกรุงเทพได้รวมตัวกันชุมนุมหน้าสำนักงานที่สุขุมวิทไปครั้งหนึ่งแล้ว ในคราวนั้น บริษัทปรับลดค่ารอบจาก 62 บาทเหลือเพียง 50 บาท

และคราวนี้ถึงคิวของไรเดอร์ต่างจังหวัด

ในงวดนี้ ขณะที่กลุ่มไรเดอร์จากจังหวัดต่าง ๆ ตั้งแต่ภาคเหนือ คือ เชียงใหม่ ถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น นครพนม ศรีสะเกษ ข้ามไปถึงภาคตะวันตก เช่น ตาก  จรดหลายจังหวัดในภาคใต้ ได้แก่ ภูเก็ต ปัตตานี และนครศรีธรรมราช ออกมาเรียกร้องค่ารอบให้เท่าเทียมกันทั้งประเทศ บริษัทกลับยืนกรานอย่างไม่อ้างอิงความเป็นจริง (หรือไม่แยแสราคาน้ำมันรถที่ขายราคาเดียวทั่วประเทศ) ว่าราคาค่าครองชีพในแต่ละจังหวัดนั้นแตกต่างกัน

ปมปัญหาใหญ่อีกปมที่พัวพันกับการลดค่ารอบจนทำให้เกิดเป็นเหมือนเงื่อนตายคลายไม่ออกสำหรับบรรดาไรเดอร์ คือ บริษัทแพลตฟอร์มเจ้านี้ (เช่นเดียวกับแพลตฟอร์มใหญ่ ๆ อีกหลายเจ้า) มักใช้อำนาจเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการทำงานโดยพลการ อย่างทันทีทันใด และไม่มีกระบวนการรับฟังความเห็นจากไรเดอร์

ในครั้งนี้ไรเดอร์ออกมาบอกว่า บริษัทประกาศลดค่ารอบก่อนถึงเวลามีผลบังคับใช้จริงเพียงไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น และไรเดอร์ยังกล่าวอีกว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่บริษัทปรับลดค่ารอบ

อันที่จริงความไม่พอใจของไรเดอร์เป็นเสมือนคลื่นใต้น้ำที่สั่งสมมานานจากการถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม

ความเข้มงวดของการควบคุมกำกับไรเดอร์โดยแพลตฟอร์ม

ย้อนกลับไปในเดือนมกราคม การประกาศอย่างกะทันหันของบริษัทไลน์แมน-วงใน ในวันที่ 20 มกราคม ให้ไรเดอร์ลาล่ามูฟ ซึ่งยังมีสัญญาร่วมเป็นคนขับให้กับแพลตฟอร์มไลน์แมน ต้องถูกเก็บค่าประกันการส่งของเพิ่มอีกคนละ 200 บาท เป็นเหมือนประกายไฟในกองฟางที่จุดกระแสให้ไรเดอร์จำนวนหนึ่งต้องลุกขึ้นมาจัดตั้งกลุ่มขึ้นอย่างจริงจัง

ไม่ใช่ว่าพวกเขาไม่ยินดีรับผิดชอบเมื่อทำงานผิดพลาด แต่ในทางปฏิบัติ บริษัทสามารถหักเงินดังกล่าวจาก “กระเป๋าเงินออนไลน์” ของไรเดอร์เมื่อเกิดความเสียหายจากการขนส่งอยู่แล้วโดยไม่จำเป็นต้องออกนโยบายเก็บเงินก้อนแบบเหมาจ่ายจากพวกเขาเพิ่ม

ด้วยความที่แพลตฟอร์มดิจิทัลเชื่อมต่อข้อมูลแอ็กเคานต์ของไรเดอร์ทุกคน และที่สำคัญ สามารถควบคุมกระแสเงินเข้า-ออกจากกระเป๋าเงินออนไลน์ของไรเดอร์แต่ละคนโดยไม่ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของ แพลตฟอร์มจึงมีทั้งอำนาจล้นเหลือและอาจมีแรงจูงใจที่จะให้คุณให้โทษกับไรเดอร์ในการหักเงินค่าเสียหาย โดยไม่มีระบบการตรวจสอบและรับเรื่องร้องเรียนเพื่อตรวจสอบจากหน่วยงานที่สามแต่อย่างใด

ในสายตาของไรเดอร์ การเรียกเก็บเงินซ้ำซ้อนจึงเป็นเสมือนแผนของบริษัทในการมัดมือ “ระดมทุน” คนละ 200 บาท จากไรเดอร์ทุกคนในระหว่างเปลี่ยนผ่านการแยกตัวระหว่างบริษัทลาลามูฟ-ไลน์แมนไปโดยปริยาย ในสมการนี้ ไรเดอร์อาจมีค่าเป็นเพียงถุงเงินราคา 200 บาทให้บริษัทเลือกใช้ โดยไม่มีสิทธิมีเสียงต่อรอง ไม่มีหน้าตา ไม่มีเบื้องหลังความจำเป็นของครอบครัวที่ต้องรับผิดชอบ

แต่มีไรเดอร์กลุ่มหนึ่งไม่ยอมให้บริษัทกระทำ และเลือกที่จะร้องเรียนถึงความไม่เป็นธรรมของการเรียกเก็บเงินในครั้งนั้น กลุ่มดังกล่าวที่ว่า ต่อมาเติบโตขึ้นจนกลายเป็น “สหภาพไรเดอร์ (Freedom Rider Union)” หรือกลุ่มตัวแทนของไรเดอร์ ที่ทำหน้าที่ประสานงานกับไรเดอร์ทั่วประเทศในการประท้วงที่ปะทุขึ้นอยู่ในขณะนี้ โดยไม่แบ่งแยกว่าใครจะมาจากแอปพลิเคชันไหนหรือพื้นที่ทำงานใด

การชุมนุมประท้วงหรือการออกมาส่งเสียงแต่ละครั้งไม่ใช่เรื่องง่าย การตรวจสอบความโปร่งใสของบริษัทแพลตฟอร์มแทบไม่ต่างจากความพยายามตรวจสอบผู้นำเผด็จการ เพราะไม่มีใครในโลกที่ให้อำนาจตรวจสอบตัวเองจะยอมรับว่าตัวเองทำผิด

ปัญหาการใช้อำนาจเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในการทำงานจึงเกี่ยวพันกับอีกปัญหาใหญ่ คือ ความโปร่งใสในการลงโทษไรเดอร์ของแพลตฟอร์ม และการขาดกลไกตรวจสอบกลับไปยังแพลตฟอร์มจากไรเดอร์เอง

ขอยกตัวอย่างแนวปฏิบัติเรื่องการลงโทษเพียงไม่กี่เรื่องจากบรรดาบทลงโทษที่ไม่เป็นธรรมอีกหลายเรื่อง อาทิ แพลตฟอร์มมักระงับสัญญาณหรือปิดระบบไม่ให้ไรเดอร์ทำงานชั่วคราว เช่น 12 ชั่วโมง หากไรเดอร์ยกเลิกงานที่รับกลางคัน หรือ 15 วันในกรณีที่ทำให้เกิดความเสียหายกับสินค้าในระหว่างขนส่ง

ตัวอย่างที่เกิดขึ้นบ่อยจนเป็นความเคยชินของบรรดาไรเดอร์คือ การถูกขอให้ขนส่งเค้กหรือของที่เสียหายง่าย ซึ่งพวกเขาเองไม่มีโอกาสปฏิเสธ ดังนั้น เมื่อเกิดความเสียหาย ระเบียบที่เข้มงวดของการลงโทษปิดระบบครึ่งเดือนนั้นจึงเป็นการบีบอย่างกลาย ๆ ให้ไรเดอร์ต้องยอมควักเงินตัวเองจ่ายชดเชยความเสียหายให้กับลูกค้า แทนที่จะยอมสูญเสียโอกาสในการทำงานและสูญเสียรายได้เป็นเวลากว่าครึ่งเดือน

อีกตัวอย่างของปัญหาที่ยังเป็นข้อโต้เถียงระหว่างบริษัทกับไรเดอร์ที่ประสบปัญหา ที่สั่งสมมานานและยังไม่ได้รับการแก้ไข คือ การที่ไรเดอร์ที่ถูกปิดระบบถาวรต้องสูญเสียเงินที่ค้างอยู่ในกระเป๋าเงินค้ำประกันความเสียหาย ที่บางครั้งมีจำนวนสูงถึงหลายพันบาท

ทั้งหมดทั้งมวลเป็นปัญหาที่เกิดจากแนวปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม ขาดความโปร่งใส และไร้การตรวจสอบกำกับดูแลจากหน่วยงานภายนอก ทางออกเดียวที่ไรเดอร์มีจึงเป็นการรวมตัวกันเพื่อส่งเสียงของตัวเองให้ดังมากขึ้น เราจึงได้เห็นการรวมตัวกันเพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อบริษัท ที่ปรากฎให้เห็นตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563 เดือนมีนาคมและเดือนมิถุนายนของปีนี้ มาเป็นลำดับ

ข้อสังเกตหนึ่งก็คือ ความเดือดร้อนและการเรียกร้องของไรเดอร์กลับเกิดบ่อยขึ้น ขยายวงมากขึ้น และดูเหมือนจะรุนแรงขึ้น ตั้งแต่มีการควบรวมกิจการระหว่างไลน์แมนและวงในที่ตัดสินใจโดยคณะกรรมการของสองบริษัทในเดือนกรกฎาคมของปี 2563

นอกจากนั้น ทุกครั้งที่กลุ่มไรเดอร์ที่เดือดร้อนออกมาเรียกร้องให้ผู้บริหารปรับเปลี่ยนนโยบายและแนวปฏิบัติที่ดีขึ้น ผู้บริหารแพลตฟอร์มที่ฝันจะเป็นสตาร์ทอัพ “ยูนิคอร์น” กลับไม่เคยแก้ไขปัญหาให้กับไรเดอร์ตามที่พวกเขาเสนออย่างตรงไปตรงมา ยิ่งไปกว่านั้น แพลตฟอร์มนี้ยังคงเดินหน้ารับไรเดอร์ใหม่ และกลับให้สิทธิพิเศษกับไรเดอร์ใหม่ เช่น มองเห็นงานก่อนไรเดอร์คนอื่น ๆ 4 วินาที รวมถึงอัดฉีดเงินจูงใจ (incentive) มากเป็นพิเศษในวันที่ไรเดอร์ประกาศนัดหยุดรับงาน ที่ตีความเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้เลยนอกจากพยายามของบริษัทที่จะตัดตอนกระบวนการต่อรองค่าแรงที่ชอบธรรมของไรเดอร์ที่เดือดร้อน

การตอบโต้ในลักษณะเช่นนี้ จึงเหมือนเป็นการ “ตบหน้า” กลุ่มไรเดอร์ที่ออกมาเรียกร้องอย่างจัง ทั้งที่ไรเดอร์เหล่านี้ต้องทำงานอย่างหนัก ในสภาพที่สะบักสะบอมจากพิษโควิดที่คอยซ้ำเติมสภาพเศรษฐกิจในครัวเรือนอยู่แล้ว

ตราบใดที่การกดขี่ยังไม่จบ ก็อีกไกลกว่าจะถึงบทสรุปการต่อสู้

1 มิถุนายน หรือวันแรกที่ไรเดอร์ต่างจังหวัดนัดชุมนุมในกรุงเทพ สหภาพไรเดอร์เผยแพร่ข้อความสะเทือนใจจากการปราศรัยของไรเดอร์รายหนึ่งที่กล่าวว่า “ผมเป็นกู้ภัยเก็บศพ (เพื่อนไรเดอร์) ไลน์แมนมาหลายชีวิตแล้วครับ” ทำให้ผมยิ่งตั้งคำถามกับอนาคตของคนงานแพลตฟอร์ม และอะไรคือความเป็นจริงในโลกของเศรษฐกิจแพลตฟอร์มที่ต่างกันราวฟ้ากับดินของผู้บริหารและคนงาน

ขณะที่ผมกำลังเขียนบทความนี้ กลุ่มไรเดอร์ของไลน์แมนในจังหวัดชลบุรีและนครพนมเพิ่งประกาศแผนการออกมา “ปิดแอปฯ” ประท้วงการลดค่ารอบที่ยังไม่ได้รับการตอบรับ ซึ่งถือเป็นการประท้วงเรียกร้องระลอกล่าสุด และคาดว่าจะยังมีต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าบริษัทจะเลิกมองเห็นคนงานเป็นเพียงเครื่องจักรหรือหุ่นยนต์ และยอมรับฟังความต้องการของไรเดอร์อย่างที่ควรจะเป็น

อันที่จริง แพลตฟอร์มไลน์แมน-วงใน เป็นตัวอย่างที่โดดเด่นของแพลตฟอร์มแรงงานที่กฎกติกาในการทำงานถูกออกแบบให้มีความคลุมเครือ จนอุปมาเหมือนกับกำลังเดินอยู่บนเส้นบาง ๆ ของความถูกและผิดในแง่ของกฎหมายแรงงาน นอกจากแพลตฟอร์มโลจิสติกส์ของไลน์แมน อีกขาหนึ่งของบริษัทแพลตฟอร์มไทยรายนี้ ที่ผู้บริหารหวังจะขายหุ้นในตลาดให้ได้ภายใน 2-3 ปีนี้ ยังมีกิจการแพลตฟอร์มพนักงานนวดตามบ้าน ภายใต้ชื่อ “วงใน” ที่ระบบการทำงานของพนักงานมีความหมิ่นเหม่ไม่แพ้กัน

อย่างที่สื่อในชื่อบทความนี้ครับ มหากาพย์คนงานไลน์แมน-วงในนี้เพิ่งเริ่มต้น ในบทความตอนหน้า ผมจะกลับมาต่อในเรื่องปัญหาสิทธิของคนงานหญิงในแพลตฟอร์มนวด