"บ้านนี้เมืองนี้ เราช่วยสร้าง ทำไมไม่ดูแลเราบ้าง" แรงงานข้ามชาติ ร้องนายกฯ เยียวยาผลกระทบปิดแคมป์ - Decode
Reading Time: 2 minutes

เวลา 10.00 น. วันนี้ (30 มิ.ย. 2564) กลุ่มสหภาพคนทำงาน Workers’ Union พร้อมด้วยตัวแทนแรงงานข้ามชาติในแคมป์ก่อสร้าง เดินทางมายังทำเนียบรัฐบาลยื่นหนังสือเรียกร้องถึงนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อให้ลดผลกระทบจากคำสั่งปิดแคมป์แรงงานก่อสร้าง

ข้อเรียกร้องของกลุ่มแรงงงานชาติครั้งนี้ส่งผ่านไปยังนายอิทธิพล ช่วยกลึงดี ผู้อำนวยการศูนย์บริการประชาชน ในฐานะตัวแทนจากรัฐบาลเป็นผู้รับหนังสือ ซึ่งข้อเรียกร้องจากแรงงานข้ามชาตินแคมป์ก่อสร้างมี 7 ข้อ ได้แก่

  1. ยุติการจับกุม ประกาศนิรโทษกรรม ให้แรงงานข้ามชาติทุกคนในประเทศชั่วคราว 6 เดือน
  2. ผ่อนผันแรงงานข้ามชาติที่มีนายจ้าง แต่ไม่ได้เข้าประกันสังคม ให้เข้าประกันสังคมย้อนหลังได้ 3 เดือน เพื่อสิทธิการรักษาพยาบาลทันที
  3. ผ่อนผันแรงงานข้ามชาติ ที่ไม่ได้เป็นผู้ประกันตน ให้มีสิทธิในประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวชั่วคราว 6 เดือน โดยขยายสิทธิครอบคลุมการตรวจโควิด19 ทันที
  4. ยกเลิกมาตรการปิดแคมป์ก่อสร้าง เพิ่มมาตรการเชิงรุก เช่น การตั้ง รพ.สนาม ศูนย์พักรอสำหรับกลุ่มเสี่ยง และศูนย์ตรวจโควิดสำหรับแรงงานในทุกพื้นที่
  5. ต้องปรับปรุงที่อยู่อาศัยของแรงงานข้ามชาติ โดยยึดหลักปฏิบัติตามข้อเสนอของ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ ILO ค.ศ. 1961 (ฉบับที่ 115) เรื่องที่อยู่อาศัยของคนงาน
  6. ต้องจ่ายเงินชดเชยเท่ากับรายได้ปกติของคนงาน กรณีที่รัฐบาลปิดแคมป์คนงาน
  7. ต้องให้ความสำคัญในการแสวงหาการมีส่วนร่วมจากผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเพิ่มผู้แทนจากแรงงาน ภาคประชาสังคม ในคณะทำงานของ ศบค. ในทุกระดับ นอกเหนือจากตัวแทนหน่วยงานราชการ สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า และสมาคมธนาคารเท่านั้น

ธนพร วิจันทร์ ผู้แทนสหภาพคนทำงาน กล่าวกับเราถึงความสำคัญของข้อเรียกร้องทั้ง 7 ข้อ เป็นปัญหาที่ได้รวบรวมมา ถ้าวันนี้รัฐบาลแก้ไขปัญหาโดยไม่ดูต้นเหตุ ก็จะไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้

“วันนี้มีแรงงานก่อสร้างที่ยังผิดกฎหมายอยู่ประมาณ 200,000 คน รัฐต้องยอมรับว่ามีและควบคุมไม่ได้ ถ้าอยากจะควบคุม ก็ต้องให้เขาเข้าถึงสิทธิเรื่อง วัคซีน การตรวจคัดกรอง การดูแลรักษา มันถึงจะแก้ไขปัญหาได้ แต่วันนี้รัฐบาลบอกว่าปิดแคมป์คนงาน เราไม่เห็นด้วย มันไม่ได้ช่วยอะไรเลย ทั้งยังเสียงบประมาณในการเยียวยา”

นอกจากนี้ยังมีเสียงจากฝั่งตัวแทนของแรงงานข้ามชาติ พูดถึงความรู้สึกและผลกระทบที่พวกเขาได้รับตลอดมา

เล็ก (Seng Sreytouch) ชาวกัมพูชา ตัวแทนจากแรงงานข้ามชาติในแคมป์ก่อสร้าง กล่าวว่า “ตอนนี้แทบไม่มีอะไรกิน อยากให้รัฐบาลเห็นใจพวกเราบ้าง เราไม่ได้เรียกร้องอะไรมากมาย ขอแค่ให้พวกเราได้อยู่รอด พวกเราแรงงานข้ามชาติ เข้ามาสร้างมามีผลประโยชน์ให้ประเทศไทย เราเข้ามาเสียเงิน เสียภาษี มาช่วยดูแลเราบ้าง ตอนนี้พวกเราได้แต่นอนรอความตายอยู่ในแคมป์ ใครบ้างจะอยากตาย คนที่ไม่ติดโรคเขาก็ไม่อยากอยู่กับคนที่ติดโรค เขาก็ต้องหนีออกมาอยู่แล้ว.

“ถ้าคุณเรียกใช้พวกเรามาทำงาน คุณก็ต้องดูแลพวกเราด้วย”

สิงหา อีกหนึ่งตัวแทนแรงงานข้ามชาติชาวกัมพูชา ได้กล่าวเสริมต่อว่า “ทำไมรัฐบาลไม่เคยปกป้องพวกเราบ้าง เราเป็นคนช่วยสร้างบ้าน สร้างถนนให้พวกคุณ ดูแลพวกเราด้วย ตอนนี้ปิดแคมป์ก่อสร้าง พวกเราจะอดตายแล้ว ท่านควรออกมาตรการให้ชัดเจน ปิดแคมป์ป้องกันโควิด แต่ตอนนี้คนงานในแคมป์ก็ใช้ห้องน้ำ อาบน้ำร่วมกัน แล้วอย่างนี้จะป้องกันได้อย่างไร

“ตั้งแต่เกิดโควิด19 ขึ้นมา เงินเยียวยาจากรัฐบาลแม้แต่บาทเดียวพวกเราก็ไม่ได้ ทั้งที่แรงงานข้ามชาติก็จ่ายภาษีให้รัฐบาล ไม่ใช่แค่ช่วงโควิด แต่หลายปีที่ผ่านมา ไม่เคยมีความช่วยเหลืออะไรจากกฎหมายไทย เรามีกฎหมายแรงงานสากล แต่รัฐบาลไม่เคยนำกฎหมายสากลมาช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติเลย

“ถ้ารับเราเข้ามาแล้วไม่ดูแลเรา ก็ยกเลิก MOU ไม่ต้องมารับเรา แล้วคอยดูว่าใครจะทำงานหนักๆ แบบพวกเรา เราใช้แรงงานก็จริง แต่เราก็ใช้ความบริสุทธิ์ของพวกเรา”

ก่อนที่เวลา 13.00 น. ทางกลุ่มสหภาพคนทำงานจะเดินทางไปยื่นหนังสือที่รัฐสภา และหากข้อเรียกร้องทั้ง 7 ข้อไม่มีความคืบหน้าทางกลุ่มสหภาพคนทำงาน จะออกมายืนหยัดข้อเรียกร้องต่อไป จนกว่าสิทธิการเยียวยาช่วยเหลือจะได้รับอย่างเป็นธรรม