ไปต่อไม่ไหว ใจบอบช้ำ ในหุบเหวโควิด สู่จักรวาลของการโอบกอดตัวเองและคนรอบข้างกับ 'ดุจดาว วัฒนปกรณ์' - Decode
Reading Time: 3 minutes


ถ้าต้อง work from home นาน ๆ จนหมดไฟ
ถ้าเพื่อนกำลังตกงานเพราะพิษโควิด
ถ้าคนในครอบครัวต้องกลับมาอยู่บ้านนาน ๆ พร้อมกัน
ถ้าคนในซอยเดียวกันติดโควิด-19

ถ้ากำลังเผชิญกับสิ่งที่ว่ามา คุณจะเลือกทำหรือไม่ทำอะไรเพื่อพาหัวใจตัวเองและคนรายรอบก้าวข้ามความบอบช้ำทั้งมวลไป สำหรับ ดุจดาว วัฒนปกรณ์ นักจิตบำบัดด้วยการเคลื่อนไหวแล้ว เธอมีคำตอบเป็นของตัวเองที่อาจเหมือนใครหรือไม่มีใครเหมือน แต่ทุกคำตอบของเธอยึดโยงอยู่กับความเป็นมนุษย์อย่างลึกซึ้ง De/code จึงชวนอ่านคำตอบของดุจดาวจากคำถามเดียวกันข้างต้น

ภาพโดย: ภัทรินทร์ เชาว์พานิช

ถ้า ต้อง work from home นาน ๆ จนหมดไฟ
ฉันจะ ไม่โทษตัวเอง, เพิ่มกิจกรรมทางร่างกาย, อยู่ในที่ ๆ ชุบชูหัวใจ

“หมดไฟ คือภาวะที่ภายในร่างกายของเราบอกว่ามันไม่ได้ต้องการแบบนี้  สิ่งที่ทำหรือเป็นอยู่ไม่ใช่สิ่งที่ร่างกายหรือจิตใจปรารถนา เราจึงต้องหยุดและตั้งคำถามกับชีวิตว่าตอนนี้อะไรกันแน่ที่ต้องการหรือแบบไหนที่อยากให้เป็น แล้วทบทวนดูว่าพอมีทางไหนบ้างที่จะพาเราเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งนั่น”

สำหรับการหมดไฟเพราะ work from home ขั้นแรกฉันคงไม่โทษตัวเองที่หมดไฟ มันเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ เพราะเดิมเราคุ้นชินอยู่กับกิจกรรมที่เคลื่อนไหวทางร่างกายและพบปะผู้คนมากมาย แต่พอวันหนึ่งการเดินทางถูกสั่งให้หยุด การปฏิสัมพันธ์ถูกตัดขาดมันก็ต้องหมดไฟกันบ้าง โจทย์สำคัญอยู่ที่ว่าหมดไฟแล้วจะยังไงต่อ จะให้เลิกทำงานหรือเลิกเรียนเหรอ เป็นฉัน ๆ ก็ไม่เลือกอย่างนั้นเพราะทั้งสองยังเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับชีวิต แต่จะมานั่งดูว่าทำอะไรได้บ้างที่จะช่วยให้ค่อย ๆ จุดไฟกลับมา

โดยส่วนตัวจะเลือกเพิ่มกิจกรรมเคลื่อนไหวทางร่างกายโดยแทรกเป็นระยะ ๆ ระหว่างทำงาน เพราะการนั่งที่เดิมนาน ๆ ทั้งวันสำหรับบางคนอาจจะไหวอยู่ แต่คิดว่าหลายคน โดยเฉพาะคนที่เบื่อง่ายหรือขี้เหงาอาจจะหมดแรงไปได้ เหมือนฉันเองก็เป็นหนึ่งในคนพวกนั้น ตลอดปีที่ผ่านมาจึงหากิจกรรมมาทำอยู่ตลอด ตั้งแต่กวาดบ้าน ถูพื้น ไปจนถึงปลูกต้นไม้ สลับกันไปกับการทำงาน

อีกสิ่งที่น่าจะช่วยได้คือพาตัวเองไปอยู่ในที่ ๆ ชุบชูหัวใจ อาจเปลี่ยนไปนั่งทำงานในร้านกาแฟ ห้องสมุด หรือที่ ๆ อากาศดี ๆ ได้เจอะเจอคนอื่นบ้าง แต่ถ้าข้างนอกไม่ปลอดภัยหรือเป็นคนไม่ชอบอยู่ท่ามกลางคนเยอะ ๆ ก็อาจเนรมิตห้องพักหรือบ้านให้ชุบชูหัวใจแทนได้ ตั้งแต่หาสิ่งที่ดูแล้วสดชื่น เช่น แคคตัสเขียว ๆ สักต้น หรือภาพวาดสวย ๆ สักภาพมาติดฝาผนัง ทำให้แสงในห้องอบอุ่น อากาศปลอดโปร่ง ไปจนถึงตั้งน้ำหอมกลิ่นที่ชอบให้อบอวล

พร้อมกันก็อย่าบังคับจิตใจตัวเองว่าต้องปรับสภาพให้ได้ตลอดเวลา มันกดดันเกินไป คิดว่าการสร้างสิ่งแวดล้อมภายนอกเช่นที่ว่ามาช่วยประคับประคองหัวใจน่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า

ภาพโดย: ภัทรินทร์ เชาว์พานิช

ถ้า เพื่อนกำลังตกงานเพราะพิษโควิด
ฉันจะ เคารพความรู้สึก, เป็นผู้ฟังที่จริงใจ, ยื่นมือไปช่วยเหลือ


“อย่าคาดเดาว่าเขาต้องการอะไร เพราะบางทีการคิดไปเองอาจทำให้เราหยิบยื่นความเห็นใจออกไปแบบผิด ๆ ที่เขาไม่ได้ต้องการ ดังนั้นการถามและฟังด้วยใจจริงจะทำให้รู้ว่าจะช่วยเขายังไงได้บ้าง”

เบื้องต้นต้องเข้าใจก่อนว่าในภาวะโควิด เหตุที่หลายคนต้องตกงานไม่ใช่เพราะศักยภาพของเขาแย่ลง แต่มันเกิดจากความจำเป็นแห่งยุคสมัยที่ผลักไสให้เขาไม่มีที่ยืนมากกว่า การโทษหรือโหมความรู้สึกให้เขากลัวจึงไม่มีประโยชน์อะไรเลยเว้นแต่เพิ่มภูเขาแห่งปัญหาในหัวอกของเขาให้สูงขึ้น และอย่าคิดเข้าข้างตัวเองว่าที่บ่นหรือเคี่ยวกรำใส่เขาเพียงอยากให้เขาได้ดี เพราะมันไม่ช่วยให้เขารู้สึกดีและลุกขึ้นจากก้นเหวของความล้มเหลวได้ เว้นแต่เขาจะขอให้บ่นหรือดุใส่เพราะอยากมีแรงขับเช่นนี้ก็เป็นอีกแบบนึง แต่สำหรับฉันนาทีนี้สิ่งที่จะทำลำดับแรกคือเคารพความรู้สึก ด้วยคำพูดที่ไม่ซ้ำเติมให้บอบช้ำไปกว่าที่เป็น และไม่ตัดสินว่าปัญหาที่เขาเผชิญนั้นเล็กหรือใหญ่โดยอิงจากตัวเองหรือคนอื่น ๆ บนโลก เช่น

ฉันจะไม่พูดว่า “เรื่องแค่นี้เอง” หรือ “ไม่ใช่แกคนเดียวที่ตกงาน คนเป็นล้าน ๆ ทั่วโลกก็ต้องเจอแบบแก” เพราะเอาเข้าจริง ๆ เงื่อนไขของแต่ละคนแตกต่างกัน

เมื่อได้อยู่ข้าง ๆ เขา ฉันก็จะถามไถ่ด้วยคำถามปลายเปิด เช่น เป็นยังไงบ้าง? อยากเล่าอะไรให้ฟังไหม? คิดจะเดินหน้าต่อยังไง? หากเขายินดีเล่า ฉันก็จะทำหน้าที่เป็นผู้ฟังที่จริงใจไม่ใช่แกล้ง ๆ ฟังให้พ้น ๆ ไป เพราะการฟังอย่างตั้งใจอาจช่วยให้เขารู้สึกว่ายังมีคนที่อยู่ข้าง ๆ และรับฟังความเจ็บปวดของเขา เขายังไม่โดดเดี่ยวไปเสียทีเดียว

และก่อนจะผละออกมา ฉันคงกระซิบถามต่อสักหน่อยว่ามีอะไรที่อยากให้ช่วยไหม ถ้าสิ่งที่เขาร้องขอฉันช่วยได้ ฉันก็จะช่วยด้วยความเต็มใจ แต่ถ้าเขาไม่ได้ขอก็อย่าคะยั้นคะยอให้เขาอึดอัดเพราะไม่ใช่ทุกคนที่อยากจะขอให้คนอื่นช่วย บางคนแค่อาจอยากก้าวข้ามปัญหานั้น ๆ ไปได้ด้วยตัวคนเดียว ก็แค่นั้น


ถ้า คนในครอบครัวต้องกลับมาอยู่บ้านนาน ๆ พร้อมกัน
ฉันจะ จัดระยะความสัมพันธ์, เข้าใจกันและกัน, พาตัวเองออกมา


“บางคนคิดว่าการกลับมาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันแล้วจะอบอุ่น สุขสันต์ แต่ภาวะแบบนั้นมันไม่ได้เกิดกับทุกบ้านเสมอ บางบ้านมีอุปสรรคมากมาย ตั้งแต่พื้นที่ กฎกติกา ไปจนถึงระดับความสัมพันธ์ที่แปรเปลี่ยน การกลับบ้านจึงอาจไม่ใช่คำตอบของบางคน”

หลายคนออกจากบ้านไปอยู่ที่อื่นนาน ๆ แต่เมื่อต้องหวนสู่บ้านอีกหนในวันที่โตขึ้น มีภาระมากขึ้น กลับพบว่าคนที่บ้านยังปฏิบัติต่อตัวเขาเหมือนอดีต เช่นคนเป็นพ่อเป็นแม่อาจยังรู้สึกว่าลูกยังเป็นเด็ก เลยยังบังคับด้วยคำสั่งเหมือนเก่า ซึ่งมันก็ไม่ใช่ความผิดของพวกเขาเสียทีเดียวเพราะบางทีพวกเขาเองก็ไม่รู้ว่าเราต้องการให้เขาปฏิบัติต่อตัวเรายังไง  การพูดคุยเพื่อจัดระยะความสัมพันธ์จึงจำเป็น บอกคนในบ้านว่าอะไรที่ทำแล้วเรารับได้ และอะไรที่เราไม่อยากให้ทำอีก นี่คือสิ่งที่ฉันจะทำเป็นลำดับแรก ๆ เมื่อต้องกลับบ้าน อาจเกรงใจบ้างที่จะต้องบอกตรง ๆ แต่เชื่อเถอะว่าจะส่งผลดีต่อการอยู่ร่วมกันในระยะยาวมากกว่า


ขณะเดียวกันฉันก็คิดว่าตัวเองไม่ใช่ศูนย์กลางของบ้าน จึงต้องโอบกอดคนอื่น ๆ ด้วยการเข้าอกเข้าใจและใส่ใจกัน สมาชิกในบ้านบางคนอาจกำลังเผชิญปัญหารุมเร้า ถ้ายิ่งซ้ำเติมหรือกดดัน บรรยากาศในบ้านก็คงตึงเครียดกว่าเดิม แต่ถ้าเปลี่ยนมาถามไถ่และหยิบยื่นความช่วยเหลือให้กันแทนก็คงจะช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาได้มากกว่า

อย่างไรก็ตามแม้จะสนิทกันแค่ไหนฉันก็คิดว่าต้องมีขอบเขต ไม่อย่างนั้นอาจกลายเป็นว่าไปล่วงเกินพื้นที่ความเป็นส่วนตัวของเขาก็ได้

สุดท้ายถ้าทั้งจัดระยะความสัมพันธ์แล้ว ทั้งพยายามเข้าใจคนในบ้านก็แล้ว แต่ความสัมพันธ์อันย่ำแย่ยังวนเวียนกลับมาซ้ำ ๆ ทุกวัน ฉันคิดว่าก็คงต้องพาตัวเองออกไปในที่ ๆ ปลอดภัยต่อทั้งหัวใจและร่างกาย อย่าทนอยู่แบบนั้นเพราะมันเคยเป็นมาแบบนี้  ซ้ำร้ายถ้าปัญหาที่ต้องเผชิญอยู่บานปลายเป็นความรุนแรง ซึ่งเข้าใจว่าเกิดได้ทั้งจากความเครียด ความแตกหักอันร้าวลึกที่สั่งสมอยู่ภายใน ก็ยิ่งต้องถอยออกมา และร้องขอความช่วยเหลือจากข้างนอก


ถ้า คนในซอยเดียวกันติดโควิด-19
ฉันจะ ไม่โทษเขา, ไม่รังเกียจ, ยื่นมือไปช่วยเหลือ


“โควิด-19 คือโรคระบาดที่ไม่มีใครอยากเป็น หลายคนดูแลตัวเองดีมาก ๆ แล้ว แต่ก็อาจติดเชื้อได้ เพราะมันเกินจะควบคุม คนที่เป็นจึงไม่ใช่คนผิด อย่าตีโพยตีพายใส่เขาเลย”

ก่อนหน้าเป็นยังไง หลังติดเชื้อโควิด-19 ฉันก็คงปฏิบัติกับเขาเช่นนั้น แค่เว้นระยะห่าง ไม่พบปะกัน แต่ฉันจะไม่โทษเขาเป็นอันขาด และไม่คิดว่าต้องไปด่ากราดใส่เขาด้วยที่ติดเชื้อ เพราะคำพูดร้าย ๆ ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นเว้นแต่ซ้ำเติมจิตใจคนที่เป็นทุกข์อยู่แล้วให้บอบช้ำไปกว่าเดิม และแม้จะเข้าใจว่าสภาวะแบบนี้ทุกคนกลัว อยากจะระเบิดอารมณ์ใส่เขาเพราะการติดเชื้อของเขาคือข่าวร้าย

แต่ลองคิดกลับกันว่าถ้าวันหนึ่งคนติดเชื้อเป็นเราเองล่ะ ก็คงไม่อยากยินคำพูดที่กดทับความรู้สึกเช่นกัน

สำหรับฉันแล้ว คิดว่าการไม่โทษคนที่ติดเชื้อต้องทำคู่กันไปกับอีกอย่างนั่นคือการไม่รู้สึกรังเกียจ โควิด-19 เป็นโรคระบาด ตรงนี้ทุกคนทราบดี แต่ก็ไม่ใช่โรคที่จะสลายความเป็นมนุษย์ในตัวของคนที่เป็นให้สูญสิ้น อย่างหลังนี้เหมือนความกลัวจะชวนให้ทุกคนหลงลืม


และหากใครสักคนที่ฉันรู้จักหรือสนิท อาจเป็นเพื่อน เป็นญาติ หรือคนในซอยเดียวกันถูกต่อว่าด่าใส่เพียงเพราะป่วยเป็นโควิด-19 ฉันก็คงต้องเป็นคนหนึ่งที่ปฏิบัติต่อเขาในทางกลับกัน คือจะบอกให้เขารับรู้ว่าฉันเองก็เสียใจที่มีใครบางคนทำแบบนั้น และจะเป็นอีกเสียงที่คอยสร้างความมั่นใจว่าเขา “ไม่ได้ผิด”พร้อมกันนั้นฉันคิดว่าหน้าที่ของเขาตอนนี้คือเข้ารับการรักษาอย่างเต็มที่เพื่อให้ปลอดภัยจากโรคร้าย ส่วนเรื่องข้างหลังที่ช่วยได้ฉันก็ยินดีจะยื่นมือไปช่วย

ถึงตรงนี้ อยากให้แต่ละคนเริ่มจากสิ่งที่ตัวเองทำได้ก่อน เพราะคำตอบข้างต้นอาจไม่ใช่คนทุกคนจะทำแบบนั้นได้ทั้งหมด สังคมไทยของเราเหลื่อมล้ำสูง บางคนอาจติดขัดเรื่องพื้นที่ บางคนอาจมีความจำเป็นเรื่องปากท้องจึงต้องทนอยู่กับสิ่งที่ดูดพลังใจ จึงคิดว่านอกจากประชาชนจะโอบกอดหัวใจตัวเองและหัวใจกันและกันแล้ว รัฐก็ต้องเข้ามาโอบกอดหัวใจประชาชนด้วย ซึ่งมีร้อยพันวิธีที่ทำแบบนั้นได้ เช่น สื่อสารกับประชาชนด้วยคำพูดดี ๆ ไม่โยนความผิดให้ประชาชนอยู่เสมอ ไปจนถึงจัดสรรพื้นที่ให้คนได้มีส่วนกลางดี ๆ ใช้ร่วมกัน