อ่านแถลงการณ์ คณะราษฎร ฉบับที่ 1: 24 มิถุนายน 2475 ความเหลื่อมล้ำที่ไม่จางหาย และความปรารถนาความเสมอภาคที่ไม่เคยลดลง - Decode
Reading Time: 2 minutes

ประกายไฟลามทุ่ง

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

วันที่ 24 มิถุนายน 2475 นับเป็นการปฏิวัติโดยมีความมุ่งหวังในการสถาปนารัฐประชาธิปไตยที่มากกว่าสิทธิทางการเมืองที่เสมอภาคกันตามรัฐธรรมนูญ หากแต่พูดถึงความเสมอภาคและประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ และเป็นจุดเริ่มต้นของการพูดถึงนโยบายรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าอย่างเป็นรูปธรรม แต่เช่นเดียวกัน แนวคิดรัฐสวัสดิการกลายเป็นหนามยอกอกชนชั้นนำ

เค้าโครงเศรษฐกิจของปรีดี พมยงค์ เนื้อหาระบุถึง พระราชบัญญัติความสุขสมบูรณ์ของราษฎร นำสู่ความขัดแย้งอย่างรุนแรงกับฝั่งอนุรักษ์นิยม ความขัดแย้งนี้นำสู่การรัฐประหารและการลดบทบาทของซีกสังคมนิยมประชาธิปไตยในคณะราษฎร แม้รัฐธรรมนูญปี 2489 จะมีความพยายามพูดถึงความเสมอภาคทางเศรษฐกิจในรัฐธรรมนูญ แต่บทบาทของกองทัพ ฝั่งอนุรักษ์นิยม รวมถึงจักรวรรดินิยมในช่วงสงครามเย็นทำให้แนวคิดเรื่องรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าถูกทำให้จางหายไปในสังคมไทย พร้อม ๆ กับการทำลายประชาธิปไตยอย่างเป็นระบบและยาวนาน เนื่องด้วย 89 ปี แห่งการอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475

ผมอยากชวนทุกท่านอ่านเอกสารชิ้นแรกของการอภิวัฒน์สยาม “แถลงการณ์คณะราษฎรฉบับที่ 1” ว่าความเหลื่อมล้ำที่ไม่จางหายแม้เวลาผ่านไป 89 ปี และการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมที่หวนกลับมาในปัจจุบันโดยกระแสการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน


“ปล่อยให้ข้าราชการใช้อำนาจหน้าที่ในทางทุจริต มีการรับสินบนในการก่อสร้างและการซื้อของใช้ในราชการ หากำไรในการเปลี่ยนเงิน ผลาญเงินของประเทศ…ให้สิทธิพิเศษมากกว่าราษฎร กดขี่ข่มเหงราษฎร ปกครองโดยขาดหลักวิชา ปล่อยให้บ้านเมืองเป็นไปตามยถากรรม ดังที่จะเห็นได้จากความตกต่ำในทางเศรษฐกิจและความฝืดเคืองในการทำมาหากินซึ่งพวกราษฎรได้รู้กันอยู่โดยทั่วไปแล้วมิสามารถแก้ไขให้ฟื้นขึ้นได้”

อ่านแถลงการณ์ฉบับเต็ม: https://pridi.or.th/th/libraries/1583202126

ปี 2475 เมื่อเทียบแล้วคือปี 1932 อันเป็นยุคสมัยวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำ อันพ้องกับยุคปัจจุบันที่วิกฤติเศรษฐกิจถดถอยจากโรคระบาดนับว่ารุนแรงที่สุดในรอบเกือบศตวรรษ สำหรับประเทศไทยในยุคสมัยของเศรษฐกิจตกต่ำในช่วงปี 2475 เป็นส่วนที่เปลือยให้เห็นถึง การคอรัปชันเชิงระบบของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ทำงานอย่างเต็มที่ในประเทศไทยมาราวสี่ทศวรรษ การแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงที่ไร้ความสามารถ

ขณะที่เศรษฐกิจของโลกมีความผันผวน ความเหลื่อมล้ำขยายออก ทั้งในหมู่คนในเมือง ชนบท ผู้ใช้แรงงาน ข้าราชการ เกษตรกร ลักษณะนี้มีความคล้ายกับ วิกฤติเศรษฐกิจถดถอยระหว่างปี 2563-2564 ที่แนวทางของรัฐบาลที่ขาดความชัดเจน ไม่สามารถรักษางาน ไม่สามารถรักษาความฝันของผู้คน แรงงานภาคบริการสูญเสียงานและเงินเก็บแทบทั้งหมด แรงงานนอกระบบมีรายได้ลดลงและไม่ได้รับการเยียวอย่างทั่วถึง

“รัฐบาลของ….ได้ถือเอาราษฎรเป็นทาส (ซึ่งเรียกว่าไพร่บ้าง ข้าบ้าง) เป็นสัตว์เดียรัจฉาน ไม่นึกว่าเป็นมนุษย์ เหตุฉะนั้น แทนที่จะช่วยราษฎร กลับพากันทำนาบนหลังราษฎร จะเห็นได้ว่า ภาษีอากรที่บีบคั้นเอาจากราษฎรนั้น….ได้หักเอาไว้ใช้ปีหนึ่งเป็นจำนวนหลายล้าน ส่วนราษฎรสิ กว่าจะหาได้แม้แต่เล็กน้อย เลือดตาแทบกระเด็น”

แม้ปี 2475 จะมีการเลิกทาสมาได้หลายสิบปีแล้ว แต่หลักการปฏิบัติยังไม่มีความต่างกันมากนัก ผู้คนถูกกำหนดโดยชาติกำเนิด โอกาสในการศึกษา การทำงาน การลงทุนยังคงมีจำกัด งบประมาณของประเทศถูกจัดไว้ปริมาณมหาศาลเมื่อเทียบกับรายจ่ายประจำปีให้แก่กลุ่มชนชั้นนำ

เมื่อเทียบกับปี 2564 แม้เวลาจะล่วงไปเกือบศตวรรษสิ่งที่เกิดขึ้นคืองบประมาณจำนวนมหาศาลก็ถูกกันไว้ให้แก่ฝ่ายความมั่นคง คุก ศาล ทหารตำรวจ เพื่อปราบปรามประชาชนมากกว่าการดูแลความปลอดภัยของประชาชนขณะที่งบประมาณในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประชาชน กลับถูกคำนวณจัดสรรอย่างเข้มงวด ดังจะเห็นได้จากการที่ รัฐบาลปัดตก พระราชบัญญัติบำนาญฯ ถึง 5 ฉบับ แต่ไม่เคยติดขัดกีดขวาง งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงที่ใช้ในการปราบปรามประชาชน ซึ่งดำเนินการในลักษณะนี้มาหลายปี

รัฐบาล….ปกครองอย่างหลอกลวงไม่ซื่อตรงต่อราษฎร มีเป็นต้นว่าหลอกว่าจะบำรุงการทำมาหากินอย่างโน้นอย่างนี้ แต่ครั้นคอย ๆ ก็เหลวไป หาได้ทำจริงจังไม่ มิหนำซ้ำกล่าวหมิ่นประมาทราษฎรผู้มีบุญคุณเสียภาษีอากร ว่าราษฎรยังมีเสียงทางการเมืองไม่ได้ เพราะราษฎรโง่ …..เป็นเพราะขาดการศึกษาที่…ปกปิดไว้ไม่ให้เรียนเต็มที่ เพราะเกรงว่าเมื่อราษฎรได้มีการศึกษา ก็จะรู้ความชั่วร้ายที่ทำไว้ และคงจะไม่ยอมให้ทำนาบนหลังคนอีกต่อไป

เมื่อเทียบกับลักษณะของรัฐบาลในปี 2564 พรรคพลังประชารัฐมีนโยบายหาเสียงด้านที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการมากมาย เช่นเดียวกับพรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล การหาเสียงเรื่องเงินเลี้ยงดูเด็ก เงินบำนาญเงินประกันสังคม หรือการเพิ่มค่าแรงปรากฏอย่างแพร่หลาย แต่นายกรัฐมนตรีที่อยู่ในตำแหน่งมากว่า 7 ปี และรัฐบาลที่จัดตั้งมามากกว่า 2 ปี ไม่ได้ตอบสนองต่อนโยบายหาเสียงแม้กับของตัวเอง จนขบวนการภาคประชาชนได้มีการติดตามทวงถามหลายครั้ง แต่ก็ไม่มีการตอบสนองแต่อย่างใด

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ยกมาจากแถลงการณ์คณะราษฎรฉบับที่ 1 เมื่อ 89 ปีที่แล้ว สภาพหลายอย่างแทบไม่ได้แตกต่างไปแม้เวลาล่วงมานานเกือบร้อยปี ความเมินเฉยของรัฐบาลทั้งสองยุค ย่อมสร้างให้เกิดกระแสความไม่พอใจของประชาชน

ในปี 2475 การต่อสู้กับรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์รวมศูนย์ อาจมีช่องทางในการระดมทรัพยากรเพื่อต่อต้านขัดขืน แต่เมื่อเทียบกับการต่อสู้ของประชาชนในปัจจุบัน แม้ผู้คนจะมีการรวมตัวกันมากขึ้น และตระหนักต่อการกดขี่เอาเปรียบที่สูงกว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 มากนัก แต่เช่นเดียวกันกระบวนการควบคุมและปราบปรามของรัฐบาลปัจจุบันก็มีการใช้เทคโนโลยี กำลังคน และทรัพยากรที่ควบคุมผู้คนอย่างเด็ดขาดมากขึ้นทั้งโดยตรงและโดยอ้อม แม้ความเหลื่อมล้ำจะเป็นตัวเดียวกัน ความไม่พอใจตัวเดียวกัน แต่การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้อย่างไรในยุคสมัยที่อำนาจรัฐควบคุมเราทุกมิติ

แม้แนวทางวิธีการอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปแต่วิธีการสำคัญที่เราเรียนรู้ได้จากการเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 จน 24 มิถุนายน 2564 สงครามสำคัญคือสงครามความคิดเพื่อช่วงชิงอดีตความหมาย ความทรงจำ ช่วงชิงปัจจุบันเพื่อร้างความชอบธรรม รวมถึงช่วงชิงความเป็นไปได้ในอนาคต และพลังที่เพิ่มเติมมากขึ้นคือการมองถึงพลังการผลิตแบบใหม่ที่สร้างการกดขี่มหาศาลในกลุ่มแรงงานเสี่ยง การประสานรวมระหว่างกลุ่มคนรุ่นใหม่ และขบวนการแรงงานรุ่นใหม่ที่ถูกกดขี่มากขึ้น

การต่อสู้เพื่อสร้างสังคมใหม่ต่อจากนี้จึงเป็นโจทย์สำคัญที่ต้องรวมผู้ถูกกดขี่ทั้งหมดเข้าไว้ด้วยกัน และส่งต่อความเป็นไปได้เพื่อสืบต่อ จิตวิญญาณที่ค้างคาในการอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475