เรียนออนไลน์ “ค่าปกติใหม่” ของการศึกษาไทย? - Decode
Reading Time: 3 minutes

“พรุ่งนี้ไปโรงเรียนไหม”

ประโยคนี้คล้ายกับเป็นคำถามต้องคำสาปในวัยเยาว์ของใครหลายคน ได้ยินทีไรก็เหมือนโดยดูดพลังงาน อ่อนเปลี้ยเพลียแรงไปทันที แต่ในปี 2564 ใครจะไปคิดว่าโควิด-19 โรคระบาดที่ทำโลกปั่นป่วนมาเข้าปีที่ 2 นี้จะถูกล้างอาถรรพ์ด้วยคำถามที่ว่า “เรียนออนไลน์ไหม”

เมื่อนโยบายเลื่อนเปิดเทอมถูกประกาศใช้เพื่อรับมือการระบาดระลอก 3 โดยเฉพาะในพื้นที่ใจกลางการระบาดอย่างกรุงเทพมหานคร “เรียนออนไลน์” กลายเป็นค่าปกติใหม่แรก ๆ ที่ถูกงัดกลับมาเป็นไม้ตายของการศึกษาอีกครั้ง

De/code ชวนไปสำรวจความคิดเห็นต่อการเรียนออนไลน์ว่า ควรเป็น “ค่าปกติใหม่” จริงหรือภายใต้ข้อจำกัดของสังคมไทย และถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่การศึกษาไทยต้องตามหาแนวทางใหม่ในการเรียนการสอน เพื่อฝ่าวิกฤติโรคระบาด รวมถึงคลายปมปัญหาทางการศึกษาเสียที

จาก “กระดานดำ สู่ “กล่องข้อความ”

“ต่อให้เราไม่ได้ใช้อินเทอร์เน็ต ให้แค่การบ้านที่เขาสามารถทำเองได้แล้ว แต่บ้านบางหลังยังไม่มีไฟ ไม่มีโต๊ะนั่งเขียนดี ๆ เลย”

นี่เป็นอีกเสียงยืนยันของ นิชกุล เรืองภูวา หรือครูณัท ในวัย 24 ปี ตามคำเรียกขานของบรรดานักเรียน สะท้อนถึงสิ่งที่นักเรียน รวมถึงคุณครูอย่างเธอต้องประสบนับตั้งแต่เกิดสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19

หากจะกล่าวว่าครูณัทเป็นครูรุ่นโควิดเลยก็ไม่แปลก ด้วยเธอเริ่มต้นการทำงานหลังจบการศึกษา ผ่านการเข้าร่วมโครงการครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง ภายใต้องค์กร Teach For Thailand นั่นจึงเป็นที่มาให้เธอได้สวมบทบาทคุณครูภาษาอังกฤษมากว่า 1 ปี 6 เดือนแล้ว

แม้สะเมิงพิทยาคม โรงเรียนระดับมัธยมศึกษาขนาดกลาง ที่ครูณัทสอนอยู่ในปัจจุบัน ตั้งอยู่ใน อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ และใช้เวลาเดินทางจากตัวเมืองเชียงใหม่ราวหนึ่งชั่วโมงเท่านั้น แต่หากใครเคยได้มีโอกาสเดินทางไปท่องเที่ยว ก็ต้องออกปากถึงเส้นทางที่คดเคี้ยวไปตามแนวหุบเขา นั้นจึงเป็นเหตุผลหนึ่งให้นักเรียนเกือบ 600 ชีวิต จากหลากหลายดอยโดยรอบมารวมตัวกันที่นี่

“บริบทของโรงเรียนสอนออนไลน์ไม่ได้เลย เด็กไม่มีอินเทอร์เน็ตไม่มีเครื่องมือสื่อสาร ครูก็ไม่สะดวก ช่วงโควิดโรงเรียนต้องปิด ครูก็ต้องให้งานทางเฟซบุ๊กไลฟ์สอนเท่าที่ทำได้”

ย้อนกลับไปในช่วงสถานการณ์การระบาด แม้พื้นที่สะเมิงไม่ได้พบผู้ป่วยจำนวนมาก แต่มีบุคลากรในโรงเรียนมีผลยืนยันติดเชื้อ จึงทำให้โรงเรียนหลีกเลี่ยงที่จะต้องปิดทำการเรียนการสอนไปไม่ได้ ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า “ไม่สามารถสอนออนไลน์ 100% ได้”

ครูณัท เล่าถึงรูปแบบบทเรียนที่เธอพยายามปรับให้เข้ากับชีวิตประจำวันมากขึ้น อย่างการดึงข่าวเกี่ยวกับวัคซีนมาเป็นบทเรียนการสอน หรือแม้แต่บทเรียนเกี่ยวกับดิจิทัล เธอก็หยิบยกประเด็นคริปโตเคอเรซีที่กำลังเป็นกระแสมาพูดถึง เพื่อสร้างบรรยากาศการเรียนให้นักเรียนกระตือรือร้นขึ้น ประกอบกับการใช้เทคโนโลยีเท่าที่จะอำนวย

“ถ้าเป็นซูม ครูก็ใช้ไม่คล่อง นักเรียนก็ไม่มีโน้ตบุ๊ก ใช้มือถือมากสุด อีกอย่างคือเขาไม่มีไวไฟ เขาจะใช้เน็ตเติมเงิน โปรแกรมที่มีภาพแบบนั้นมันจะเปลืองเน็ต เพราะฉะนั้นแชทมันประหยัด เข้าถึงได้มากกว่า”

นั่นจึงเป็นเหตุผลให้ “แชทเฟสบุ๊ก” กลายเป็นห้องเรียนออนไลน์ที่สะดวกที่สุด ทั้งการส่งการบ้าน หรือแม้แต่การอัปโหลดวิดีโอสั้น ๆ ประกอบการเรียน

ความยากของบริบทครอบครัวต่างจังหวัด
ปรับโหมดสะดวกเรียนและการบ้านฤดูร้อน

“เด็กส่วนมากเกิน 80% ที่บ้านทำการเกษตร ทำไร่ ทำนา ช่วงปิดเรียนเขามองว่าเขาจะไปช่วยพ่อแม่ เขาก็จะไม่ว่างที่จะรอเรียนเป็นเวลา การให้งานในแชท เขาเอาไปบริหารเวลาเองได้ว่า เขาทำไร่เสร็จเขามาทำงานถ่ายรูปส่ง อย่างนั้นมันโอเคกว่าสำหรับโรงเรียนเรา”

บริบทเช่นนี้มักเกิดขึ้นกับโรงเรียนในต่างจังหวัดหลายแห่ง ซึ่งน้อยนักที่จะเกิดขึ้นในเมืองใหญ่ จนหลายคนถึงกับตั้งคำถามว่าเป็นไปได้หรือ เหตุใดนักเรียนจะไม่สามารถตั้งเงื่อนไขได้ชัดเจนว่านี่ไม่ใช่ช่วงปิดภาคเรียนตามปกติ เป็นเพียงการเรียนจากบ้านเท่านั้น

ครูณัทย้ำว่า นี่เป็นสถานการณ์ที่คุณครูรวมถึงโรงเรียนไม่อาจเอาชนะได้ แต่ก็ “ไม่ได้จำเป็น” ที่จะต้องเอาชนะเช่นเดียวกัน หน้าที่เธอคือพยายามทำอย่างไรก็ได้ให้นักเรียนสะดวกกับการเรียนมากที่สุด 

“เพื่อนครูที่อยู่โรงเรียนอื่น บางโรงเรียนเขาก็ไม่พร้อมแต่ต้องพร้อมแล้ว ผอ.มีนโยบายแจกแท็ปแล็ต ทำสำรวจบ้านไหนไม่มีไวไฟ ครูพยายามทำให้พร้อมที่สุด ใครที่ผ่านมาทำไม่เป็นก็มาเรียน ซึ่งเท่าที่คุย มันคือความมุ่งมั่นของคนในโรงเรียน”

นั่นจึงเป็นเหตุผลตลอดปีที่ผ่านมา เธอรวมถึงเพื่อนครูในรุ่นราวเดียวกัน หาข้อมูลแนวทางการเรียนช่วงโควิดระบาดของประเทศอื่น ๆ อย่างในประเทศญี่ปุ่นที่ได้รับการพูดถึงมาตลอด กับแนวทางการบ้านฤดูร้อน ที่ให้เด็กได้เขียนบรรยายสารพัดเรื่องในชีวิต ตั้งแต่สิ่งที่กิน สารอาหารที่ได้ เป็นต้น เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ตามบทเรียนจากชีวิตประจำวัน 

คงเป็นเรื่องที่ปฏิเสธได้ยากว่าตลอดปีที่ผ่านมา ความไม่ต่อเนื่องของการเรียนกระทบกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนไม่น้อย แต่ครูณัทตั้งคำถามกลับว่า “สุดท้ายแล้วเราให้ความสำคัญกับการศึกษาในมุมไหน”

เธอเล่าว่า โรงเรียนแต่ละแห่งมีนโยบายที่ต่างกัน บางแห่งให้ความสำคัญกับผลคะแนน โดยเฉพาะผลคะแนนโอเน็ต เพื่อเปรียบเทียบอันดับระหว่างโรงเรียน ขณะที่โรงเรียนบางแห่งให้ความสำคัญกับกฎระเบียบ ทั้งหมดจะสะท้อนผ่านวิธีการรับมือกับสถานการณ์ที่ผ่านมา

“อย่างที่โรงเรียนค่อนข้างสมดุล ยังให้ความสำคัญกับคะแนน แต่ก็ฝึกทักษะชีวิต เลยไม่ได้รู้สึกว่ามีอำนาจบางอย่างที่กดดันให้เราต้องทำแต่คะแนน แต่การวัดผลยังไงเราต้องตอบได้ในทุก ๆ ชม.ที่เราสอนว่า เราจัดเพื่ออะไรแล้ววัดผลยังไง”

แม้ว่าเธอจะเตรียมรับมือเพียงใด แต่การปรับเปลี่ยนการเปิดเทอมอีกครั้งในปีนี้ ทำเอาครูณัทปวดหัวอยู่ไม่น้อย จึงคาดหวังให้ส่วนกลางมีส่วนร่วมที่เป็นรูปธรรมเสียที

“เราดีใจทุกครั้งเวลามีการเคลื่อนไหวมาจากกระทรวง อย่างเว็บไซต์ครูพร้อมมา แต่พอเราเข้าไปดูมันไม่พร้อมเลย…เรานึกภาพว่ามันจะมีแบบ 100 วิธีการทำกิจกรรมจากที่บ้าน หรือวิธีการจัดการชั้น พอเราเข้าไปมันไม่มีอะไรแบบนั้นเลย มีแต่วิดีโอเก่า ๆ”

“การที่ครูต้องใส่แมสสอน นักเรียนต้องใส่แมสมันทรมานมาก” ครูณัททิ้งท้ายอย่างติดตลก

เรียน 7 วันต่อสัปดาห์

“ตอนนี้ที่โรงเรียนตั้งเป้าแค่อย่าให้เด็กซนเกิน อะไรก็ได้ที่อยู่บ้านแล้วทำร่วมกับผู้ปกครองได้ ครั้งนี้อะไรก็ตามที่จะให้เด็กกลับไปทำต้องเป็นเรื่องง่าย ๆ เด็กทำได้ ไม่ลำบากผู้ปกครอง”

ด้วยอายุราชการกว่า 35 ปีกับการรับราชการในโรงเรียนประถมศึกษาในภาคใต้ ทำให้ครูหญิง (นามสมมุติ) ผ่านมาหลายช่วงเปลี่ยนผ่านของการศึกษา แต่ไม่เคยมีครั้งไหนที่ผ่านไปอย่าง “ทุลักทุเล” เช่นนี้มาก่อน

ย้อนกลับไปในปีการศึกษาที่ผ่านมา โรงเรียนขนาดเล็กที่ครูหญิงประจำการอยู่ มีนักเรียนราว 100 คน ได้รับผลกระทบจากมาตรการเลื่อนเปิดเทอมเช่นเดียวกับที่อื่น ๆ ซึ่งทำให้ภายหลังที่โรงเรียนกลับมาทำการสอนได้อีกครั้ง นักเรียนจำเป็นต้องเรียนชดเชยในวันหยุด จนบางสัปดาห์แทบจะต้องเรียนกันตลอด 7 วันเลยทีเดียว

“ปิดไปนานมันสอนไม่ค่อยจะทัน แบบฝึกที่เคยให้เด็กทำไปแล้ว เปิดเทอมมาก็ต้องสอนอีก แถมสอนชดเชยเสาร์อาทิตย์ เพราะเวลาเรียนขาดไปมาก”

สืบเนื่องจากข้อจำกัดตามเกณฑ์การศึกษา ที่โรงเรียนต้องดำเนินการสอนให้ครบ 200 วัน แต่ครูหญิงก็ออกปากว่า “ขึ้นอยู่กับผอ.แหละ จริง ๆ แค่เด็กมีเวลาเรียนครบ 80% ตามกำหนดก็พอแล้ว”

สำหรับโรงเรียนแห่งนี้การเรียนออนไลน์ในช่วงที่โรงเรียนจำเป็นต้องปิดนั้น มาในรูปแบบ DLTV หรือที่คนเรียกติดปากว่าทีวีไกลกังวล ครูหญิงเล่าว่า “ได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง” ด้วยข้อจำกัดพื้นฐานของนักเรียนแต่ละครอบครัว

ขุดปัญหาเดิมของการศึกษาไทย

ประเด็นหนึ่งที่หลายฝ่ายอาจมองข้ามไปคือ ธรรมชาติของคุณครูโรงเรียนขนาดเล็กจำเป็นต้องสอนเกือบทุกวิชา และในกรณีที่โรงเรียนขาดแคลนครู ครูคนหนึ่ง ๆ อาจมีวิชาหลักที่ต้องสอนมากกว่า 1 รายวิชา

อย่างกรณีของครูหญิง เธอต้องสอนทั้งวิชาคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษ นี่ยังไม่ได้นับรวมวิชาพื้นฐานอื่น ๆ นั่นทำให้ภาระการเตรียมแบบฝึกหัดให้นักเรียนกลับไปทำที่บ้านหนักหน่วงเป็นเท่าตัว

อย่างไรก็ตามเมื่อกลับมาพร้อมหน้ากันได้ในห้องเรียน การเรียนออนไลน์ที่ผ่านมาเหมือนไม่ได้เกิดขึ้นจริง ด้วยครูหญิงจำเป็นต้องสอนเนื้อหาเดิมซ้ำอีกครั้ง ด้วยนักเรียนเกินกว่าครึ่งหนึ่งไม่เข้าใจบทเรียนที่ผ่านมา

“คนที่เรียน(ออนไลน์)เข้าใจก็มี ไม่เข้าใจก็มี แต่เปิดเทอมมาก็สอนซ้ำเนื้อหาเดิม ที่ทำ ๆ ไปเหมือนอยู่กับที่ ครั้งนี้เลยจะไม่ทำแบบนั้นแล้วทั้งเสียเงิน เสียเวลา จะไม่ตั้งหน้าเตรียมแบบฝึกอย่างปีก่อนแล้ว ถึงค่าใช้จ่ายโรงเรียนเป็นคนออก สพฐ.บอกจะสนับสนุนแต่จะได้เท่าไหร่ พอกระดาษหมดจะทำไง ก็ต้องซื้อจะให้เบิกตลอดคงไม่ใช่”

“ปีที่แล้วผู้ปกครองบ่น ว่าโรงเรียนให้แบบฝึกหัดยาก ผู้ปกครองไม่สามารถสอนการบ้านลูกได้เอง หลักสูตรใหม่ สสวท.ก็ยาก ขนาดเป็นครูเองถ้าไม่ได้ศึกษาให้ดียังสอนลำบาก”

ครูหญิงเล่าว่า การปรับรูปแบบการเรียนที่ยืดหยุ่น โดยเฉพาะการเรียนรู้นอกห้องเรียนจากเรื่องใกล้ตัว ยังต้องใช้เวลาวางรากฐาน โดยเฉพาะ “วินัย” ในการเรียนที่มากกว่านี้ตั้งแต่ต้น การที่จะเปลี่ยนแปลงได้ทันทีเป็นเรื่องยาก เพราะท้ายที่สุดก็ตกเป็นภาระหนักของผู้ปกครอง

“การใช้ทักษะชีวิตปรับมาใช้เป็นคะแนนทำได้ การคิด เขียน วิเคราะห์ เพราะท้ายที่สุดโรงเรียนก็ไม่ได้อยากให้นักเรียนเรียนเป็นอย่างเดียว แต่ทำอะไรไม่เป็น…ความเป็นจริงบางครั้งเด็กก็ไม่ได้ทำ ผู้ปกครองไม่ได้มีเวลาเอาใจใส่ เด็กที่จะเรียนรู้และมีความรับผิดชอบแบบนั้นได้จริง ๆ เรายังไม่ได้สร้างไปถึงขั้นนั้นเลย ขอแค่มีงานกลับมาครูพร้อมจะปรับเป็นคะแนนได้หมด”

สำหรับการเลื่อนเปิดเทอมในครั้งนี้ แม้นโยบายของโรงเรียนที่ครูหญิงประจำอยู่ยังไม่แน่ชัด ว่าจะรับมือผลกระทบจากการเลื่อนเปิดเทอมได้อย่างไร อีกทั้งยังมีโอกาสที่โรงเรียนจะต้องปิดการเรียนการสอนเป็นระยะๆ อย่างที่ผ่านมาในชุมชนเพิ่งพบผู้ป่วยเป็นครั้งแรก ซึ่งสร้างความตื่นตระหนักให้กับผู้ปกครองไม่น้อย 

ด้วยพื้นฐานของนักเรียน รวมถึงบริบทของโรงเรียนและชุมชน ทำให้ครูหญิงและเพื่อนครูทุกคน ล้วนเฝ้ารอนโยบายที่จะให้บริการวัคซีนแก่คุณครูก่อนเปิดภาคเรียน อย่างน้อยช่วยสร้างความมั่นใจให้ตนเอง รวมถึงผู้ปกครอง ที่จะกล้าปล่อยให้บุตรหลานกลับเข้ามาสู่รั้วโรงเรียนอีกครั้ง

“ได้ฉีดก็ดีสิ บางคนถึงขนาดพูดว่าถ้าทั้งครูและเด็กยังฉีดวัคซีนไม่ครบอย่าเพิ่งเปิด พูดคงพูดได้ แต่เป็นแค่เพียงความฝันแหละ”

ผลลัพธ์สุดท้ายของการเรียนออนไลน์

“เมื่อวันก่อนลูกชายเขาเรียนออนไลน์อยู่ และเขาก็หน้าเครียด และเริ่มน้ำตาไหลเผาะ ๆ เราถามลูกเป็นอะไร ลูกบอกว่าเขาอยากไปโรงเรียน อยากเจอเพื่อนเล่นกับเพื่อน เขาอยากไปเจอคุณครู”

อีกหนึ่งเสียงยืนยันจาก ณิชา พิทยาพงศกร ในบทบาทของคุณแม่ลูกเล็กในวัย 4 ขวบ ไม่ใช่นักวิจัยอาวุโส นโยบายปฏิรูปการศึกษาของ TDRI ว่าการเรียนออนไลน์ไม่ใช่เรื่องปกติ อีกทั้งเด็กไม่ได้มีความสุขที่ไม่ต้องไปโรงเรียน

ในฐานะนักวิจัยเมื่อการลงพื้นที่เป็นไปได้ยาก การเฝ้าสังเกตลูกน้อยในวัยอนุบาลจากการต้องทำหน้าที่ดูแลระหว่างการเรียนออนไลน์ ทำให้เห็นประเด็นสำคัญหลายอย่างเช่นกัน

ประเด็นแรกคือ ผลลัพธ์ของการเรียนออนไลน์ขึ้นอยู่กับช่วงวัย อย่างกรณีของเด็กเล็ก ด้วยข้อจำกัดเรื่องสมาธิ รวมถึงความพร้อมของผู้ปกครองแต่ละบ้าน ที่ต้องทำหน้าที่เสมือนคุณครูไปด้วย ทำให้เกิดข้อแตกต่างบางประการ

“ได้คุยกับคุณครู เขารู้สึกกังวลและสังเกตได้ชัดว่า เด็กรุ่นนี้มีพัฒนาการถดถอยกว่ารุ่นที่ได้เรียนเต็ม ๆ อย่างสมมติว่าเขาอยู่อนุบาลสอง ควรจะทำสิ่งนี้ได้ ปรากฏว่ายังไม่ได้ หรือเคยทำได้ตอนต้นเทอม แต่พอปิดเทอมแล้วเริ่มทำไม่ได้ หรือเปลี่ยนมาเรียนออนไลน์แล้วเริ่มเห็นว่าทำไม่ได้”

ประเด็นที่สองคือ การต้องปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมทางการเรียน ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่ในกลุ่มครอบครัวฐานะยากจนไปจนถึงปานกลางเท่านั้น แม้แต่ครอบครัวที่ฐานะดีก็ได้รับผลกระทบ ซึ่งท้ายสุดผลก็ไปตกที่เด็ก ในประเด็นความต่อเนื่อง รวมถึงการปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมของเด็ก

“เริ่มมีปรากฏการณ์ที่น่าสนใจว่า พ่อแม่เอาลูกออกจากโรงเรียน…สาเหตุหนึ่งอาจจะเป็นเรื่องความคุ้มค่าที่พ่อแม่มองว่ายังไงก็เป็นการเรียนออนไลน์ ลูกก็อยู่ที่บ้าน ผลลัพธ์ก็ไม่ได้มากเท่ากับไปโรงเรียน รายได้ลดลงจนไม่สามารถที่จะจ่ายค่าเทอมได้เหมือนเดิม อันนี้ที่เห็นในกลุ่มพ่อแม่ในโรงเรียนเอกชน โรงเรียนอินเตอร์ต่าง ๆ”

เมื่อสถานการณ์การระบาดได้เข้ามาแทรกแซงหนึ่งกลไกสำคัญของโรงเรียนอย่างเลี่ยงไม่ได้ กับการเป็นสถานที่อนุบาลเด็ก ซึ่งเป็นอีกหนึ่งหน้าที่สำคัญช่วยแบ่งเบาภาระผู้ปกครอง การคิดวิธีการแก้ปัญหาภายใต้สมมติฐานของโลกเก่าที่ว่า การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ในห้องเรียน จึงควรหยุดพักไปชั่วคราว

ถึงเวลาตั้งโจทย์ข้อใหม่

“เรามีคำถามว่าควรจะเปิด-ปิดโรงเรียนเมื่อไหร่ เราจะเรียนออนไลน์กันยังไง ซึ่งตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่าการเรียนรู้เกิดขึ้นได้ผ่านคุณครูเท่านั้น แล้วที่ผ่านมา 1-2 ปี เราใส่ความพยายามลงไปเยอะมากที่จะทำให้สำเร็จ แต่ผลลัพธ์ว่าเด็กเข้าใจสิ่งที่ครูสอนจริงหรือเปล่า มันยังไม่ชัด แล้วพ่อแม่กับคุณครูเองก็เหนื่อย เพราะเราพยายามที่จะยึดอยู่กับสมมติฐานตัวนี้ให้ได้”

เมื่อธรรมชาติของโรคที่เรากำลังประสบ พร้อมที่จะกลับมารุนแรงได้ตลอดเวลา ณิชามองว่า การเตรียมตัวภายใต้สมมติฐานใหม่ กับการตั้งคำถามใหม่ว่าทำอย่างไรเด็กถึงจะได้เรียนรู้ไม่ว่าจะอยู่ที่บ้านหรือโรงเรียน อาจจะทำให้เรามีค่าปกติแบบใหม่ ๆ ให้ทดลองใช้มากไปกว่าการเรียนออนไลน์ 

หนึ่งตัวอย่างสำคัญที่ณิชา หยิบยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างกลับเป็นเรื่องเดียวกันกับที่ครูณัทสนใจ นั่นคือ การค้นคว้าอิสระของนักเรียนญี่ปุ่นในฤดูร้อน ซึ่งมีโรงเรียนในประเทศไทยหลายแห่งจัดหลักสูตรการเรียนลักษณะนี้เช่นกัน เพียงแต่ยังไม่ได้เกิดขึ้นเป็นปกติทั่วไป 

อาจเป็นโอกาสดีที่เราจะได้ปรับจังหวะการเรียน ให้ครูได้กลายเป็นผู้ผลักดันการเรียนรู้อย่างที่นโยบายส่วนกลางย้ำหนักย้ำหนามาตลอดหลายปี 

อีกกรณีศึกษาหนึ่งคือ การจัดการเรียนรู้ทางไกลในฝรั่งเศส ซึ่งมีผู้คนเดินทางไปใช้ชีวิตในประเทศต่างๆ แต่รัฐยังมองว่าพวกเขาจำเป็นต้องจัดการศึกษาที่มีคุณภาพให้บุตรหลานชาวฝรั่งเศสในทุกมุมโลก หรือแม้แต่ในชนบทของประเทศเอง ระบบนี้เปิดให้บริการมากว่า 80 ปีแล้ว เป็นโรงเรียนเสมือนที่ไม่มีที่ตั้งโรงเรียนจริง ทุกคนลงทะเบียนตามระบบจากนั้นก็จะได้รับชุดการเรียน แบบฝึกหัด อุปกรณ์การเรียนในแต่ละเทอมจัดส่งไปถึงบ้าน หนักรวมกันเป็นสิบกก. รวมทั้งยังมีปฏิทินการเรียนกำหนดมาให้ โดยมีการตรวจการบ้าน ส่งงาน และเลื่อนชั้นเรียนจริงกับคุณครูจริงๆ 

“ไม่ว่าเด็กคนนั้นจะอยู่ในพื้นที่ไหนในโลก เขาจะส่งชุดหนังสือเรียนไปให้ได้ โดยที่พ่อแม่ไม่ต้องเสียเงินอะไรเลย ซึ่งตรงนี้ไม่ว่าไฮเทคหรือโลว์เทคก็ทำได้”

ท้ายที่สุดแล้วคืนเด็กให้กับโรงเรียนอาจไม่ใช้ข้อสรุปที่ถูกต้องที่สุด แต่ “คืนนักเรียนให้กับการเรียนรู้” น่าจะเป็นคำตอบที่เหมาะสมที่สุด