โลกของคนตาบอดจำเป็นต้องมีเสียงบรรยายภาพ (เสียง)สะท้อนสิทธิพลเมือง - Decode
Reading Time: 3 minutes

อมีนา มีความบกพร่องทางการเห็นแบบที่เรียกว่าสายตาเลือนราง หนึ่งในรูปแบบของความพิการทางสายตาที่มีตั้งแต่ยังพอมองเห็นบ้างไปจนถึงบอดสนิท ก่อนหน้านี้เธอยังพอมองเห็นสีและรูปทรงอยู่บ้าง ปัจจุบันเธออายุเข้าสามสิบปลายและเห็นเพียงเค้าโครงอย่างเลือนราง ช่วงโควิด-19 ระบาดแบบนี้ อมีนาเล่าว่า การใช้ชีวิตของคนตาบอดลำบากมาก เธอยังโชคดีที่ทำงานด้านข้อมูลอยู่ที่บ้านได้ แต่ผู้พิการส่วนใหญ่ที่ทำอาชีพนวดหรือขายล็อตเตอรี่เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก เมื่อถามว่าแล้วดูทีวีติดตามข่าวสารเรื่องโควิดยังไง มีบริการเสียงบรรยายภาพ (Audio Description : AD) บ้างหรือไม่ อมีนาตอบว่า เท่าที่ติดตามตอนนี้ยังไม่มี

“ข่าวหรือการประกาศอะไรที่มีการใช้เสียง อาจจะไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับคนตาบอดขนาดนั้น แต่ส่วนที่เป็นกราฟหรืออินโฟกราฟฟิกอาจจะงงบ้าง บางทีพอเขาบอกว่าดูกราฟอันนี้ หรือภาพแผนที่นั้นที่เป็นสีแดง สีส้ม หรือสีเหลือง ตรงนั้นจะมีปัญหา เพราะเราเห็นไม่ชัดว่าคือภาพไหน ตรงนี้น่าจะใช้ AD เข้าไปเสริม”

บริการเสียงบรรยายภาพเรื่องเดียวกันกับเข้าถึงสื่ออย่างเท่าเทียม

“ความจำเป็นของ AD คือ การที่สื่อต้นฉบับยังไม่สามารถอธิบายให้คนตาบอดเข้าใจได้มากพอ จึงต้องมี AD ขึ้นมา นอกจากนั้นแล้วหน้าที่อีกอย่างของ AD คือทำให้เราพูดคุยกับสังคมในเรื่องเดียวกันได้ เช่น พอเพื่อนหรือครอบครัวของเราพูดถึงละคร ซีรีส์ หรืออะไรที่มันแมส กำลังเป็นเรื่องดังในกระแส แต่ว่าคนตาบอดก็ดูไม่ค่อยรู้เรื่อง AD จะเข้ามาช่วยตรงนี้ด้วย ทำให้ช่องว่างระหว่างคนตาดีกับคนตาบอดลดลง”

อมีนาอธิบายเพิ่มเติมถึงความสำคัญของ AD หรือบริการเสียงบรรยายภาพ คำตอบของเธอช่วยไขความกระจ่างในเรื่องนี้อย่างชัดเจน เพราะสำหรับคนที่อาจสงสัยว่า AD จะต่างจากการฟังละครวิทยุ หรือแม้แต่ฟัง Podcast ในปัจจุบันอย่างไร คำตอบคือ AD ทำให้ผู้พิการทางสายตาเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสื่อต่างๆ ที่ทันยุคทันเหตุการณ์ไปพร้อมๆ กับคนในครอบครัวหรือสังคมส่วนใหญ่ นอกจากนั้นสำหรับผู้พิการกลุ่มสายตาเลือนรางที่ยังพอมองเห็นอยู่บ้าง AD จะทำให้การรับชมสื่อโทรทัศน์มีความเข้าใจและเพิ่มอรรถรสได้มากขึ้น

การตระหนักถึงความสำคัญของ AD ในประเทศไทย เกิดขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2557 โดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ริเริ่มสนับสนุนในเรื่องนี้ เช่น มีการฝึกอบรมเรื่อง AD ภายใต้หลักสูตรผู้บรรยายสำหรับการจัดทำบริการเสียงบรรยายภาพ” โดยความร่วมมือของมูลนิธิคนตาบอดไทย ร่วมกับ Audio Description Associates แห่งอเมริกา นอกจากนั้นยังได้มีการพัฒนาด้านวิชาการและการผลิต AD คู่ขนานกันไปในระยะแรก โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จนค่อย ๆ กระจายไปสู่สถาบันการศึกษาและช่องสถานีอื่น ๆ

กระทั่งในปี พ.ศ. 2559 กสทช. ได้มีประกาศเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนพิการให้เข้าถึงหรือรับรู้และใช้ประโยชน์จากรายการของกิจการโทรทัศน์ โดยให้โทรทัศน์ดิจิทัล 26 ช่อง ต้องมีบริการสำหรับผู้พิการ 3 รูปแบบ คือ บริการเสียงบรรยายภาพ, บริการล่ามภาษามือ และบริการคำบรรยายแทนเสียง โดยระบุให้ต้องมี AD ไม่น้อยกว่า 60 นาทีต่อวัน หากคำนวณแล้วมีระยะเวลาน้อยกว่า 60 นาที จะต้องจัดทำบริการให้ครบตามที่กฎหมายกำหนด

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังไม่สามารถผลักดันให้แต่ละช่องสถานีเกิดการผลิต AD ได้ตามสัดส่วนเวลาที่ กสทช.ได้กำหนดไว้ จนทำให้เกิดการเลื่อนและผ่อนผันการบังคับใช้กฎหมายนี้มาหลายต่อหลายครั้ง แม้กระทั่งไทยพีบีเอสซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์สาธารณะซึ่งมีนโยบายค่อนข้างสอดคล้องกับภาครัฐ ปัจจุบันยังมีขอบเขตของการให้บริการ AD ได้เพียงบางรายการ รวมทั้งช่วงเวลาในการออกอากาศยังไม่สอดคล้องกับการรับชมของผู้พิการทางสายตา จนทำให้พวกเขาเลือกที่จะเปิดรับสื่อออนไลน์มากกว่า ตามที่อมีนาได้สะท้อนไว้ว่า

“ปัจจุบันที่ดูอยู่คือ AD ที่อยู่ใน Netflix ซึ่งมีเยอะขึ้น แต่ไม่ได้มีทุกเรื่อง อย่างเราอยากดูซีรีส์บางเรื่องของต่างประเทศก็ไม่มี AD เพราะเค้าทำเป็นออริจินัลของเค้า แต่ถ้าเป็นหนังไทยของบ้านเราเอง ก็มี AD ให้ ส่วน AD ของไทยในรายการโทรทัศน์ จะเป็นรายการรีรันส่วนใหญ่ ซึ่งเราดูไปแล้ว เราก็จำได้ เลยไม่ได้อยากดูซ้ำ นอกจากนั้นรายการยังไปอยู่ช่วงเที่ยงคืนตีหนึ่ง ซึ่งเราก็หลับไปแล้ว”

เรื่องนี้ พัชรากร สมศรี ฝ่ายพัฒนาผลผลิตเนื้อหา ของสำนักสร้างสรรค์เนื้อหาของไทยพีบีเอส ได้อธิบายถึงข้อจำกัดต่าง ๆ ของทางสถานีว่ากระบวนการผลิต AD นั้นต้องใช้เวลาค่อนข้างมาก ทั้งการเขียนบท ลงเสียงพากย์ และผ่านกระบวนการเซ็นเซอร์ต่างๆ ซึ่งต่างจากบริการ CC ซึ่งจะมีความเรียลไทม์มากกว่า จึงทำให้การเลือกรายการเพื่อผลิต AD ไม่สามารถทำได้สอดคล้องกับเวลาที่ออกอากาศจริง

“ในการพิจารณาทำ AD รายการที่เราเลือกมาคือรายการที่เราออกอากาศไปแล้ว เพราะถ้าเราเลือกรายการที่เป็น First run แล้วขึ้น AD และCC พร้อมกัน มันค่อนข้างที่จะทำได้ยาก ดังนั้นหลักเกณฑ์คือ หนึ่งเป็นรายการรีรัน แล้วจากนั้นจึงนำมาพิจารณาตามหลักเกณฑ์การผลิต AD ว่ามี Sound gap ที่พอต่อการการเขียนเสียงบรรยายภาพได้ไหม ถ้าได้ถึงส่งเขียน ตอนนี้รายการที่เราผลิตตามผังคือ “ข.ขยับ” (รายการออกกำลังกาย) ออกอากาศเช้ากับเย็น แล้วก็มีรายการที่มี AD อีกทีตอนช่วงเที่ยงคืน ซึ่งเป็นรายการรีรัน”

นอกจากนั้น ข้อจำกัดในการผลิต AD ของสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ ยังติดขัดในเรื่องค่าใช้จ่ายในการผลิต บุคลากร ความพร้อมของแต่ละสถานีที่แตกต่างกัน ไปจนถึงความรู้เกี่ยวกับเรื่อง AD โดยเรื่องนี้  ตรี บุญเจือ ผู้อำนวยการสำนักรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภค ของสำนักงาน กสทช. ได้ให้มุมมองในเชิงนโยบาย โดยเน้นในการสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ผู้ผลิตสื่อช่องต่างๆ เกี่ยวกับสิทธิของพลเมืองซึ่งผู้พิการเป็นหนึ่งในความหลากหลายนั้น

“กฎหมายเป็นสิ่งที่ต้องบังคับ แต่การจะทำให้เกิดประโยชน์จริงๆ คือความตระหนักของทุกภาคส่วน ผมอยากให้เราพูดถึงเรื่องสิทธิ พูดถึง Universal design อย่างการมีลิฟท์สำหรับคนพิการที่จะใช้บริการของรถไฟฟ้า ซึ่งถ้าพูดกันในแง่นี้ AD คือเรื่องเดียวกันเลย เพียงแต่จัดอยู่ในส่วนของบริการในด้านการสื่อสาร ดังนั้นจึงอยากให้มองการทำงานของทุกส่วน เป็นเรื่องของการเคารพสิทธิมากกว่าการตอบโจทย์ทางธุรกิจ นอกจากนั้นเรื่องนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่มาตรการพื้นฐานเพียงอย่างเดียว แต่สามารถเข้าไปอยู่ในมาตรการของการส่งเสริมด้วย อีกเรื่องหนึ่งคือสิ่งที่ภาครัฐควรมองคือภาพเชิงนโยบาย ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์และบริบททางสังคมของสื่อให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานที่ไม่มีข้อจำกัดแค่เฉพาะเครื่องรับโทรทัศน์เท่านั้น”

ตามให้ทันภูมิทัศน์สื่อ แก้ที่กฎหมายไม่ได้ก็เริ่มจากเปลี่ยนทัศนคติ

สำหรับบุญฤทธิ์ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ซึ่งเป็นผู้พิการทางสายตาแบบ 100% พูดถึงการรับสื่อของตัวเองว่าเขาแทบไม่ได้ใช้บริการของ AD เพราะความสนใจของเนื้อหารายการไปอยู่บนช่องทางออนไลน์มากกว่า ประกอบกับความสะดวกในการเข้าถึงผ่านมือถือและแท็ปเล็ต รวมทั้งแอปพลิเคชันต่างๆ ซึ่งสามารถรับสื่อได้ตลอดเวลา ดังนั้นรายการทางโทรทัศน์ที่มีบริการ AD เพียงบางรายการ จึงยังไม่ตอบโจทย์เท่าที่ควร

“ผมคิดว่าสื่อไม่ควรจำกัดว่าเป็นเรื่องอะไรที่คนพิการสนใจ แต่คำว่าสื่อคือต้องรวมทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นรายการอะไร เพื่อให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกในการเสพ ถ้าเราพูดว่าสื่อคือสิ่งที่ทุกคนควรเข้าถึงได้ แล้วทำไมการบรรจุ AD เข้าไป เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ตามหลักของสิทธิขั้นพื้นฐาน ทำไมถึงทำไม่ได้ ผมคิดว่าขั้นตอนการผลิต AD อาจจะมีค่าใช้จ่าย แต่ถ้ามองในแง่ Social Enterprise ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องยากที่จะหาโมเดลธุรกิจที่จะมาสนับสนุนตรงนี้ เพื่อให้สื่อรูปแบบนี้เกิดขึ้นจริง หรือกองทุนส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ที่มีอยู่มากมาย จะดีกว่ามั๊ย ถ้าเราจะนำเงินตรงนี้มาสนับสนุนให้สื่อมี AD ผมคิดว่าในการเสพสื่อบางอย่างมันมีค่าใช้จ่ายอยู่แล้ว ไม่แปลกที่เราจะคิดค่าบริการ ผมไม่อยากให้มองแต่ว่า เราจำเป็นจะต้องให้ผู้พิการได้ดูฟรี”

เมื่อสะท้อนเรื่องนี้ไปยัง กสทช. จึงได้รับคำตอบว่าทางภาครัฐเองไม่ได้นิ่งนอนใจเกี่ยวกับเสียงสะท้อนและการเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นของกลุ่มประชากรที่หลากหลาย โดยผู้อำนวยการสำนักรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภค ของ กสทช. ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการบริหารจัดการในเรื่องนี้ว่าในความเป็นจริง ภาครัฐมีนโยบายและกองทุนต่างๆ ที่รองรับในเรื่องนี้อยู่แล้ว

“ในการผลิต AD นั้น ด้วยความที่กฎหมายไม่ได้บอกว่าจะต้องครอบคลุมทุกรายการ ดังนั้นคงต้องขึ้นอยู่กับสถานีที่จะทำเพิ่มเติมมากกว่ากฎหมายรึเปล่า ซึ่งอยู่ในส่วนของมาตรการส่งเสริม ซึ่ง กสทช.กำหนดไว้ว่า ถ้าสถานีหรือผู้ผลิตรายการ ต้องการจะทำมากกว่ามาตรการพื้นฐานที่ถูกกำหนดให้ทำ สามารถที่จะขอเงินสนับสนุนจาก “กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ(กทปส.)” ได้ เรามีกลไกนี้อยู่ ถ้าสถานีมองว่าผู้บริโภคสื่อมีความหลากหลาย ทั้งกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส และผู้พิหการที่มีข้อจำกัดในเรื่องของการได้ยินและการเห็น แล้วคุณต้องการที่จะทำให้คนเหล่านี้สามารถเข้าถึงหรือใช้ประโยชน์จากทีวีได้ สามารถที่จะทำมาตรการส่งเสริมเพิ่มเติมได้ ด้วยเงินของตัวเองก็ได้ หรือสามารถที่จะให้ กสทช.สนับสนุนก็ได้”

ส่วนประเด็นของการก้าวให้ทันภูมิทัศน์สื่อ (Media Landscape) ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว บริการของ AD ควรมีอยู่ในสื่อออนไลน์ด้วยหรือไม่นั้น เขามีความเห็นว่าหากต้องการให้เกิดการ Convergent ของสื่อได้อย่างเป็นจริง อาจจะต้องมองภาพจากหน่วยงานที่ใหญ่กว่า กสทช. เพราะ กสทช.เข้าไปกำกับดูแลหรือวางนโยบายเรื่องสื่อออนไลน์ไม่ได้ จะมีส่วนที่เกี่ยวข้องเพียงกิจการออนไลน์ที่เกิดจากกิจการ Broadcast ดังนั้นเมื่อใช้กระบวนการทางกฎหมายไม่ได้ จึงอาจพิจารณากระบวนการอย่างอื่น

“คืองานของกสทช.มีสองด้าน คือด้านบรอดแคสท์กับด้านโทรคมนาคม ซึ่งด้านโทรคมนาคมก็พูดถึงเรื่องการเข้าถึงของคนพิการเหมือนกัน แล้วกสทช.มีโครงการที่เรียกว่า USO (Universal Service Obligation) ซึ่งเป็นแผนของด้านโทรคมนาคม ซึ่งมีทั้งแผนด้านการตั้งศูนย์อินเตอร์เน็ตในพื้นที่ห่างไกล  การซัพพอร์ทศูนย์เดซี(Daisy)ของคนตาบอด และศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารแห่งประเทศไทย (TTRS) สำหรับผู้พิการหูหนวกให้วิดีโอคอลเข้าไปสอบถามข้อมูล ซึ่ง กสทช.สามารถที่จะมีโครงการนี้อยู่ในยูนิเวอร์แซลได้ เราอาจจะต้องเข้าไปคุยกับ USO หรือในกระบวนการของบอร์ดชุดใหม่”  

ตรียังเสริมในเรื่องของแนวคิดในการตั้งศูนย์ AD และ CC โดยเฉพาะ ซึ่งเป็นโมเดลของประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นแนวคิดแบบ Public Service แต่เมื่อสำรวจบริบทที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน พบว่าได้มี Business Model ของอุตสาหกรรมการผลิต AD เกิดขึ้นแล้ว รวมทั้งห่วงโซ่อุปทานต่างๆ ที่เกิดจากกระบวนการผลิต AD ดังนั้นการเข้าไปแทรกแซงของภาครัฐในการทำอุตสาหกรรมนี้ อาจถูกตีความได้ว่า กสทช. เข้าไปแข่งขันกับผู้ประกอบการในการผลิตเอดี

“บางเรื่องเราจะมองในมิติของ Public Service อย่างเดียวไม่ได้ เพราะอาจจะกระทบกับอุตสาหกรรมในภาพรวมหลายอย่าง แต่สิ่งที่จำเป็นผมมองว่าถ้าจะให้ยั่งยืนต้องประกอบกันหลายอย่างมาก ต้องมีคนที่เข้ามาแล้วสามารถประกอบอาชีพนี้ได้ บริษัทที่ผลิต AD อาจจะทำบริการ 3 อย่างครบเลย หรืออาจจะเป็นโปรดัคชั่นเฮาส์รับผลิตรายการ แต่มีทักษะของการผลิต Ad ด้วย สิ่งที่รัฐจะเข้าไปช่วยคือการพัฒนาคน พัฒนาองค์ความรู้ การมีศูนย์อย่างไรที่ไม่ทำให้คนที่ทำงานอยู่แล้ว หรือผู้ที่รับจ้างทำงานตรงนี้ ไม่เดือดร้อน”

การปรับตัวเพื่อให้มี AD ในสื่อออนไลน์นั้น ล่าสุดไทยพีบีเอสได้พยายามผลักดันในเรื่องนี้ โดยพัชรากรได้ให้ข้อมูลว่า ไฟล์หลักที่ใช้งานในส่วนการแพร่ภาพทางโทรทัศน์ จะส่งต่อให้ศูนย์ New Media ที่ดูแลในส่วนของออนไลน์ เพื่อขยายช่องทาง AD ให้ไปสู่ยูทูป หรือช่องทาง OTT ผ่านแอปพลิเคชัน VIPA ของทางสถานี นอกจากนั้นยังมีความเป็นไปได้ที่ AD จะมีความเรียลไทม์มากขึ้นด้วยโปรแกรมที่กำลังถูกคิดค้นขึ้นโดยบริษัทกล่องดินสอ ผู้ผลิตแอปพลิเคชัน “พรรณนา” ซึ่งเป็นแอปที่ให้บริการ AD มาก่อนหน้านี้

“เขากำลังพัฒนาโปรแกรมอยู่ ต่อไปเราอาจจะแค่เขียนบทลงไปในซาวด์แก็ป แล้วมีเสียงพากย์เป็น AI บริษัทเขาเน้นรายการที่หมุนเร็ว คือเป็นรายการที่ให้มีบริการ AD อย่างรวดเร็ว โปรแกรมนี้จะคำนวณซาวด์แก็ปออกมาเลยว่าการบรรยายเกินจำนวนเวลาที่ว่างอยู่รึเปล่า เมื่อนำคลิปมาลงโปรแกรม มันจะ generate ให้ทั้งหมด”

สุดท้ายแล้วสำหรับฝั่งของผู้รับสารอย่างอมีนา นอกจากปัญหาต่างๆ ในระดับนโยบาย และเรื่องการเข้าถึง AD ไม่ว่าจะเป็นสื่อใหม่หรือสื่อเก่า เธอมองลึกไปถึงต้นตอของเรื่องนี้ ว่าสิ่งสำคัญที่สุดในการทำให้บริการ AD เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางและครอบคลุมความต้องการของผู้พิการทางสายตาในสังคมไทยได้ จำเป็นต้องเปลี่ยนกันตั้งแต่ระดับทัศนคติ ซึ่งนั่นเป็นเพียงวิธีเดียวที่จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสถาบันสื่อได้อย่างแท้จริง

“ทุกวันนี้คนในสังคมอาจไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าเรามีอยู่ ซึ่งทำให้เขาไม่รู้ว่าจะมาบริการเราแบบใดได้บ้าง เรามองว่าเรื่องของความรู้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด แต่คนมักพูดกันว่าเป็นเรื่องยากที่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับคนพิการจะเข้าไปอยู่ในหลักสูตร ในเมื่อพึ่งการศึกษาไม่ได้ เราต้องหันมาพึ่งสื่อ แต่คำถามคือแล้วสื่อเสนอภาพของคนพิการยังไงตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน มักจะเป็นภาพของความเวทนา น่าสงสาร ที่สื่อออกไปถึงสาธารณชน ในขณะที่สื่อหรือซีรีส์ต่างประเทศ เขาเสนอภาพคนพิการนั่งวีลแชร์โดยไม่ได้น่าสงสาร แต่ให้เห็นความเป็นจริงว่าเขาใช้ชีวิตยังไง ซึ่งมันทำให้สาธารณชนเข้าใจได้ง่าย เราใฝ่ฝันว่าเมืองไทยจะมีเรื่องแบบนี้บ้าง ซึ่งจะช่วยเปลี่ยนทัศนคติของผู้คนและผู้ผลิตสื่อได้ในระยะยาว”

ขอบคุณภาพจาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์