รับบทเป็นนักสืบไซเบอร์ เมื่อคนใกล้ตัวตกเป็นเหยื่อข่าวลวง - Decode
Reading Time: 2 minutes

ขณะนี้คุณอยู่ในที่เกิดเหตุคดีฆาตกรรม ซึ่งอาจจะเป็นบนเตียงของคุณ ในห้องน้ำ หรือที่โรงเรียนก็ได้ ความจริงบางอย่างถูกฆ่าตาย ใครบางคนกลบเกลื่อนหลักฐานและทิ้งร่องรอยข่าวลวงไว้เต็มไปหมด เราขอชวนคุณสวมบทบาทเป็นนักสืบ และสิ่งแรกที่คุณต้องทำ คือเลือกผู้ช่วยของคุณ ซึ่งตัวเลือกที่ทีมงาน De/code เตรียมไว้ให้คุณนั้นมีความแตกต่างกันมากทีเดียว

เราขอแนะนำผู้ช่วยคนแรกให้คุณรู้จัก เก๋-สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งภาคี COFACT กับข้อความแปะหน้าเว็บไซต์สะดุดตาชวนให้เราระแวดระวังเหลียวหลังมองไปรอบ ๆ ทันที

 ‘พื้นที่เปิดให้ทุกคนมาช่วยกันตรวจสอบข่าวลวง คนใกล้ชิดของคุณ อาจตกเป็นเหยื่อของข่าวลวง หรือ ส่งต่อข่าวลวงบนอินเทอร์เน็ตโดยไม่รู้ตัว’

ถ้า Cofact กลายร่างเป็นผู้ช่วยของคุณขึ้นมาจริง ๆ เขาหรือเธอคือคนที่มีความเป็น FEMININE (ความเป็นผู้หญิง)ในตัวสูงกว่าความเป็น MASCULINE (ความเป็นผู้ชาย) ไม่ได้จำกัดว่าเป็นเพศสภาพไหน คุณใช้จินตนาการได้เลยเต็มที่ บางทีภาพจำที่คนส่วนใหญ่นึกถึงเกี่ยวกับเทคโนโลยีอาจจะเป็นผู้ชาย แต่วันนี้เราอยากให้คุณลืมภาพจำนั้นไปก่อนและพบกับผู้ช่วยที่เป็นมิตรกับคุณมากขึ้น นี่คือคน FRIENDLY อัธยาศัยดี เป็นคน GEN Y ที่เปิดกว้าง เปิดรับ เน้นร่วมมือกับคุณเต็มที่

ผู้ช่วยของคุณคือ Platform ที่ทำหน้าที่เป็น DATABASE ด้วยไปในตัว ความจำของเธอดีมาก เป็นเหมือน GOOGLE เล็ก ๆ ประจำตัวของคุณที่คอยช่วยคุณกรองข้อมูล นอกจากนั้นคุณยังสามารถแลกเปลี่ยนความเห็นกับเธอได้อย่างไม่ต้องเขินอาย (เพราะเธอเป็นคนอัธยาศัยดีมาก) เธอจะคอยถามคุณอย่างสุภาพว่าคุณจะให้คะแนนความน่าเชื่อถือข้อมูลของคุณอยู่ที่เท่าไหร่ มีให้จัดระดับตั้งแต่ จริง จริงบางส่วน ไม่จริง มีความเห็น จนถึงรอตรวจสอบ แล้วเธอยังพร้อมที่จะช่วยคุณกรองข้อมูลอีกทีด้วย

เพราะสุดท้ายแล้วข้อเท็จจริงมีหลายมุมและเปลี่ยนแปลงได้ตลอด เราอยากชวนกันค้นหาข้อเท็จจริงด้วยตัวเอง ฝึกการใช้ดุลยพินิจ สร้าง FACT CHECKER ให้กับสังคมไปด้วยกัน

ดูเหมือนผู้ช่วยของคุณจะได้เบาะแสบางอย่างเกี่ยวกับคนร้ายแล้ว ไปฟังเธอกันว่าในความคิดเห็นของเธอ ใครกันที่เป็นคนบิดเบือนความจริง

“ตัวร้ายของเราคือความไม่รู้ คือข่าวลวงอาจเกิดขึ้นมาได้จากทั้งความไม่รู้และตั้งใจ ซึ่งสามารถก่อให้เกิดความขัดแย้ง สับสน และนำไปสู่ความเกลียดชังได้ นอกจากความไม่รู้ บางครั้งเค้ารู้นะ แต่มันมีอคติและจุดยืนทางการเมืองที่ทำให้เขาเลือกเชื่อ หรือ ไม่เชื่อข่าวสารต่าง ๆ ทั้งที่มันมองเห็นว่าอาจเป็นข่าวลวงได้ง่าย ๆ มันมักไม่เกิดการอยากค้นหาความจริง ไม่โต้เถียง เพราะมัน ‘ตรงจริต’ กับเขา”

ผู้ช่วยของคุณเริ่มให้ข้อมูลเกี่ยวกับคนร้ายที่แท้จริง ซึ่งใกล้ตัวคุณมากกว่าที่คิดเอาไว้ในตอนแรก

“หรือบางที… คนที่ปล่อย FAKE NEWS ก็อาจจะเป็นพ่อแม่ของเราก็ได้ อาจจะเป็นหัวหน้างาน อาจจะเป็นอาจารย์ ซึ่งเราก็จะเกิดความเกรงใจขึ้นมา”

ผู้ร้ายดูใกล้ตัวเรามากขึ้นเรื่อย ๆ ถึงตรงนี้ใครที่รับไม่ไหว หรือเริ่มใจเต้นแรง แนะนำให้สูดอากาศลึก ๆ หรี่ตาเล็กน้อย แล้วค่อยติดตามการสืบสวนของเราต่อไป

เราต้องกล้าแหวกวัฒนธรรมความเกรงใจนี้ ต้องสร้างวัฒนธรรมแก้ไขที่จะไม่โกรธกัน”

“แต่ผู้ร้ายของเรา ไม่ได้มีเพียงแค่คนใกล้ตัวเราเท่านั้น” ผู้ช่วยของคุณพูดขึ้นด้วยท่าทีเป็นมิตรยิ้มแย้ม (ยังมีอีกหรือนี่ ??!!)

“ที่น่ากลัวอีกก้อนคือ IO ลักษณะของ FAKE NEWS ที่เป็นเชิงจัดตั้ง มันมีประสิทธิภาพสูง เราต้องตื่นตัวและช่วยเตือนกัน ยิ่งถ้ารัฐเป็นคนปล่อย FAKE NEWS เอง มันจะเหมือน SUPER SPREADER เราต้องเรียกร้องให้เกิดการแก้ไขใน SCALE ที่เสมอกัน ทั้งทางด้านจำนวนและความน่าเชื่อถือ สื่อมวลชนเองต้องช่วยกันสร้างวัฒนธรรมการแก้ไข (CULTURE CORRECTION ) ด้วย”

แล้วจู่ ๆ ผู้ช่วยของคุณก็เปิดเผยเป้าหมายต่อไปของคนร้ายขึ้นมา หรือนี่จะเป็นคดีฆาตกรรมต่อเนื่อง ??!!   

“กลุ่มเป้าหมายคือผู้สูงอายุ แต่ไม่ต้องห่วง เราได้ออกแบบให้หน้าเว็บไซต์ Cofact มีลักษณะการใช้งานที่เหมือนเว็บพันธุ์ทิพย์ และมี CHATBOT ทางไลน์ที่โต้ตอบได้ทันทีโดยไม่ต้องเปลี่ยน PLATFORM จะได้ตอบโจทย์ LIFESTYLE พวกเค้ามากที่สุด”

มันน่าสนใจจริง ๆ ที่ผู้ช่วยของคุณช่างเป็นมิตรได้ขนาดนี้ แต่คน FRIENDLY ขี้เล่นอย่างเธอเคยเจอคดีที่หนักหนาและท้าทายบ้างมั้ยนะ

“มีสิ อย่างฟ้าทลายโจรแก้โควิดนี่ก็เป็นอะไรที่ท้าทายเรามาก ๆ เพราะข้อมูลมีการอัปเดตตลอดเวลา แหล่งข้อมูลก็มาจากหลายทาง เราจะไปแปะป้ายเลยไม่ได้ว่าใช่ หรือไม่ใช่ FAKE NEWS นะ มันต้องการคำอธิบายที่ยาวขึ้น เช่น วิธีใช้ ปริมาณ ระยะเวลาการใช้ ก่อนหลังติดโรค เราอยากให้ทุกคนเป็น FACT CHECKER เป็นนักตรวจสอบความจริง และต้องทำหน้าที่เป็นนักข่าวช่วยกันเอาความจริงออกมาด้วย ต้องเป็นคนละเอียด ตรวจสอบให้รอบด้านก่อน”

“เวลาเกิด FAKE NEWS เรามักจะเห็นว่าคนพยายามให้หน่วยงานรัฐมาลงโทษผู้กระทำผิด จริงอยู่ที่ควรเป็นแบบนั้น แต่นั่นก็เป็นตัวสะท้อนเหมือนกันว่าประชาชนไม่เชื่อมั่นในศักยภาพของพลเมืองที่จะจัดการกับข่าวลวงพวกนี้ด้วยตัวเอง เราจัดการมันได้ เริมจากสร้างภูมิคุ้มกัน เริ่มจากฉีดวัคซีนให้ตัวเอง

 “อย่าเชื่ออะไรง่าย ๆ เด็ดขาด”

มาถึงคำถามสุดท้ายก่อนที่คุณจะตัดสินใจเลือกว่าจะรับเธอเป็นผู้ช่วยในการสืบหาความจริงดีหรือไม่ น่าสนใจไม่น้อยว่าผู้ช่วยของคุณคนนี้มองอนาคตของข่าวลวงและการตรวจสอบข้อเท็จจริงไว้เป็นแบบไหนกัน

“ปรากฎการณ์ไทยชนะทำให้เราได้เห็นแล้วว่ามีคนที่ยังเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต หรือ SMART PHONE อีกมาก มันก็มีโอกาสที่ในอนาคตผู้คนจะเข้าถึงได้มากขึ้นเรื่อย ๆ มันจะมีคนที่เพิ่งเห็นข่าวอุกกาบาตจะชนโลกครั้งแรก มะนาวรักษามะเร็งได้ครั้งแรกอีกเรื่อย ๆ จะมีคนที่ยังไม่รู้ หรือเพิ่งรู้เกิดขึ้นเสมอ”

“อีกเรื่องที่น่าเป็นห่วงคือ Gen alpha ชีวิตที่เกิดมาพร้อมกับ internet ทันที เรากำลังต้องรับมือกับเจนที่โตมาพร้อมกับการเปรียบเทียบ การแข่งขัน และโอกาสในการถูกคุกคามตลอดเวลา มีโอกาสสูงมากที่ลูกหลานของเราจะมีเพื่อนเป็นหุ่นยนต์หรือคนในบ้านถูกตัดต่อพันธุกรรม เราจะต้องคุยกันในเรื่องการป้องกันอาชญากรรม เส้นทางอาชีพ การทำ DIGITAL DETOX และการแยกระหว่างโลกจริงกับโลกเสมือนมากขึ้น”

ในช่วงเดือน พ.ค. Cofact กำลังจะจัดหลักสูตรฝึกอบรมออนไลน์ร่วมกับ International Fact-Checking Network หรือ IFCN ติดตามได้ที่หน้าเว็บไซต์ของ Cofact ผู้ช่วยที่จะร่วมตรวจสอบความจริงไปกับคุณได้แล้ววันนี้

เราโบกมือลาเธอไปด้วยความประทับใจ แต่อย่าลืมว่าการไขคดียังไม่จบ และเรามีตัวเลือกอีกคนมาให้คุณพิจารณา ถ้าคุณพร้อมแล้ว นี่คือแฟ้มประวัติของเขา

ผู้ช่วยของคุณคนนี้นายทหารจากศูนย์ไซเบอร์กองทัพบก ภายใต้นามปากกา โบราณคดีแมน’ มาพร้อมกับคำขวัญของหน่วยงานที่แสนปลุกเร้าว่า ไซเบอร์มั่นคงปลอดภัย เฝ้าระวังภัยในโลกไซเบอร์ ’ ภาพที่แนบมาในแฟ้มอาจทำให้คุณรู้จักเขาได้มากขึ้น

เขาคือผู้ชายที่ดูธรรมดา ๆ ไม่สะดุดตาอะไร อยู่ในวัยทำงานอายุระหว่าง 25-35 ปี ดูเป็นคนละเอียด ใส่ใจ ช่างสังเกต ใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล และออกจะขี้ระแวงสักหน่อยนึง เป็นคนเรียบร้อย และเป็นคนนอนน้อยชัวร์ ๆ

อย่าเพิ่งตัดสินหนังสือจากหน้าปก ตัดสินคนจากรูปลักษณ์ภายนอก เพราะหน้าที่ที่ระบุไว้ในใบสมัครดูน่าสนใจดีทีเดียว

หน้าที่หลักคือการดูแลความมั่นคงของประเทศทางด้านไซเบอร์ เขากำลังปกป้องข้อมูลข่าวสารให้กับทั้งหน่วยงานรัฐและข้อมูลส่วนตัวของประชาชนอยู่ (INFORMATION WARFARE ) ไม่ว่าจะเป็นฐานข้อมูลของธนาคาร โรงพยาบาล โรงงานไฟฟ้า มันอาจจะเกิดขึ้นตอนไหนก็ได้ ต้องมีคนเฝ้าระวังเรื่องนี้อยู่ตลอด ถึงแม้จะทำไม่ได้ขนาดนั้น เพราะแต่ละหน่วยงานเองก็มีชั้นความลับของพวกเขาอยู่ แต่การที่คนส่วนใหญ่ไม่เคยได้ยินชื่อองค์กรของเรานับว่าเป็นเรื่องดี เพราะแปลว่ามันยังปกติอยู่นั่นเอง

เหมือนงานบ้าน จะมีคนสังเกตเห็นมันก็ต่อเมื่อคุณไม่ได้ทำมันเท่านั้น

นอกจากการแนะนำตัว โบราณคดีแมนยังแนบความเห็นเกี่ยวกับผู้ร้ายที่ลงมือฆาตกรรมความจริงมาให้คุณอีกด้วย

ตัวร้ายของเราคือพวก HACKER มักไม่ได้มาจากประเทศเราเอง กลุ่มเป้าหมายคือคนวัยทำงานที่เริ่มมีเงิน มีทรัพย์สินของตัวเอง มี MOBILE BANKING บัญชีหุ้น คริปโต E-WALLET สบายเลย ใช้เป็นหลักฐานกู้เงินก็ได้ รูดซื้อของก็ได้”

“ส่วนใหญ่จุดที่พลาดกันมักเป็นอะไรง่าย ๆ อย่างเหตุการณ์ HACK ระบบของโรงพยาบาลเร็ว ๆ นี้ก็เกิดจากบุคลากรภายในเปิด E-MAIL ขึ้นมา แล้วไวรัสก็แพร่กระจายเข้าระบบส่วนกลางทันทีเพราะมันเชื่อมต่อกันหมด หรือบางทีชอบอัปรูปพักเที่ยงค่ะ ทำงานหนักครับ ถ่าย SELFIE ติดบัตรพนักงาน ติดหน้าจอคอมที่แปะรหัสผ่านกับ USERNAME ไว้ข้าง ๆ หนักกว่านี้คือซื้อกระเป๋ามาใหม่ ถ่ายรูป วางบัตรเครดิตข้าง ๆ อัพลง IG

จำไว้เลยว่า พวกข้อมูลส่วนตัวอย่าพยายามให้อยู่บนโลกออนไลน์ เช่น ทะเบียนรถ บัตรประชาชน ข้อมูลบัตรเครดิต รหัสต่าง ๆ ไม่ควรตั้งด้วยข้อมูลส่วนตัวที่เกี่ยวข้องกับเรา ควรมีทั้งตัวเลข อักษรพิมพ์ใหญ่เล็ก และอย่าโหลดไฟล์ที่ไม่รู้แหล่งที่มา แม้แต่หน่วยงานราชการเองก็ควรเลิกส่งไฟล์ลับสุดยอดทางไลน์ได้แล้ว

นอกจากข้อมูลของฆาตกร มีกระดาษโน้ตแผ่นเล็ก ๆ หล่นออกมาจากแฟ้มประวัติของเขา เหมือนเป็นข้อความสำคัญที่อยากเน้นย้ำเตือนคุณเป็นพิเศษ คุณหยิบมันขึ้นมาอ่านอย่างระมัดระวัง

“อย่าเพิ่งเชื่อ แชร์ ไลก์ คอมเมนต์ อยากให้อ่านทบทวนรายละเอียดอีกครั้ง แล้วลองไป CROSS CHECK กับหน่วยงานที่น่าเชื่อถืออื่น ๆ ที่ยืนยันตัวตนได้ เช่น ฟ้าทลายโจรรักษาโควิด กระทรวงสาธารณสุขพูดถึงเรื่องนี้ว่ายังไง มีหลายหน่วยงานที่เป็นประโยชน์มาก ๆ กับเรื่องนี้ เช่น ศูนย์ต่อต้าน FAKE NEWS ลองทำการ CROSS CHECK แหล่งข้อมูลหลาย ๆแหล่งดูก่อน”

“หากมันมีลักษณะเริ่มเป็นองค์กร มีการจัดตั้งขึ้นมาในการปล่อย FAKE NEWS อยากให้มองว่ามันมี 3 ระดับ คือยุทธวิธี ยุทธการ และยุทธศาสตร์

ยุทธวิธีคือระดับปฏิบัติการ ปฏิบัติการทางข้อมูลข่าวสาร (INFORMATION OPERATION) คือทางเลือกหนึ่งเท่านั้น ฝ่ายรัฐก็ใช้ หน่วยงานอื่น ๆ ก็ใช้ เขาทำแบบนี้แปลว่ามันต้องมีการวางแผน หรือยุทธการคิดมาก่อนว่าจะเลือกใช้เครื่องมือแบบไหน สื่อสารยังไง กลุ่มเป้าหมายคือใคร เพื่อที่จะได้ตรงกับยุทธศาสตร์ หรือแนวคิดของคนสั่งการมากที่สุด ลองคิด 3 ชั้นแบบนี้ บางทีที่เราไม่อิน ไม่ซื้อ อาจเพราะเราไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายเขาก็ได้”

“ส่วน IO (Information Operation) มันก็แค่เครื่องมือหนึ่ง ใช้กันมาตั้งแต่สมัยสงครามโลก สมัยพระนเรศวรที่หลอกเจ้าเมืองหนึ่งว่ามีทหารเยอะแต่ความจริงอ้อมหลอกไปตีด้านหลัง นั่นก็ IO การโฆษณาสินค้าก็คือกิ่งหนึ่งของ IO แล้ว อยากให้คิดว่าจริง ๆ มันเป็นสิ่งที่เราเจอในชีวิตประจำวันตลอด จะดีจะร้ายก็ขึ้นอยู่ที่คนใช้ จะใช้เพื่ออะไร”

คุณไล่อ่านไปตามแต่ละบรรทัดอย่างสนใจ ถึงแม้ว่าผู้ช่วยของคุณทั้ง Cofact และโบราณคดีแมนจะแตกต่างกันมาก แต่ทั้งคู่มีจุดร่วมเหมือนกันอย่างหนึ่ง คือเชื่อว่าการบิดเบือนความจริงแบบนี้จะต้องมีอีกในอนาคตแน่ ๆ

“ประเทศไทยตอนนี้ด้านความปลอดภัยทางข้อมูล (Cyber security) เหมือนเด็กเพิ่งหัดเดิน ยังไม่รู้จักอันตราย ด้านข้อมูล เป็นเด็กวัยรุ่นใจร้อน ต้องการแต่ข้อมูลที่รวดเร็ว และถูกใจตัวเองเท่านั้นการให้องค์ความรู้เรื่องความปลอดภัยทางข้อมูลจึงสำคัญมาก ๆ เพราะตอนนี้การใช้จ่ายต่างๆมันมารวมกันอยู่ใน ACCOUNT เดียวได้หมดแล้ว แม้แต่คริปโต หรือ สกุลเงินดิจิทัลเอง ก็ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นเพียงเครื่องมือแลกเปลี่ยน แต่ยังเป็นสินทรัพย์ (ASSET) ด้วย ต้องระวังเรื่องการจัดการความปลอดภัยเรื่องพวกนี้มากขึ้น”

ในฐานะนักสืบหาความจริง อย่าลืมตรวจสอบความจริงรอบตัว ชัวร์ก่อนแชร์ และรักษาข้อมูลส่วนตัวของคุณไว้ให้ดี โดยเฉพาะจากตัวคุณเอง

หวังว่าแฟ้มคดีข่าวลวงครั้งหน้า คุณจะยังเป็นนักสืบค้นหาความจริงอยู่ ไม่ใช่กลายเป็นเหยื่อซะเอง

อ้างอิง
Cofact
ศูนย์ไซเบอร์กองทัพบก