หน่วยข่าวแกงในชีวิตจริง เมื่อความจริงที่รวดเร็วเท่ากับความปลอดภัยในม็อบและชีวิตจริง - Decode
Reading Time: 2 minutes

ในวันที่ความทรงจำต่อท้องถนนหลายสายเปลี่ยนไป ทั้งตัวตนของเราและสังคมต่างเติบโตจนแทบเป็นคนละบริบทกับเมื่อวาน สถานการณ์โควิดยังไม่มีแนวโน้มว่าจะดีขึ้น การบริหารจัดการของรัฐบาลเต็มไปด้วยข้อกังขาน่าสงสัย ไหนจะการแก้รัฐธรรมนูญแบบสอดไส้อีก หลังฝนซา ปัญหาเริ่มมองเห็นได้ชัดเจน โอกาสที่จะเกิดความเคลื่อนไหวภาคประชาชนบทใหม่ได้กลับมาอีกครั้ง

วันนี้ กรองข่าวแกง ทีมงานอาสาดูแลความปลอดภัยด้านข้อมูลข่าวสารให้กับผู้ชุมนุม และทีมงาน De/code จะชวนคุณถอดบทเรียนเรื่องความปลอดภัยเมื่ออยู่ในม็อบ และนำบทเรียนความปลอดภัยด้านข้อมูลมาปรับใช้ในชีวิตจริงให้มากขึ้น

เพื่อให้เห็นภาพชัดว่าพวกเขาเป็นใคร ทำอะไร เราจะไปติดตามการทำงานที่ผ่านมาในอดีต ความคิดปัจจุบัน และทิศทางการเคลื่อนไหวภาคประชาชนในอนาคตท่ามกลางสถานการณ์โควิดของพวกเขา ไปพร้อมๆกัน

#หมู่บ้านทะลุฟ้า 20 มีนาคม 2564

15.30 พบจนท.ตำรวจในเครื่องแบบประมาณ 10 นาย พร้อมกับคฝ. 12 คน มีคฝ.หญิงรวมอยู่ด้วย
23.38 คฝ.ตั้งแถวเดินมาทางสะพานวันชาติ รถผู้ต้องขังใหญ่มีคนถูกจับ ไม่ทราบจำนวน
23.42 คฝ.ประกาศใช้กำลังเต็มรูปแบบ ยังมีการยิงกระสุนยางเป็นระยะ

สถานการณ์ตึงเครียด ห้องแชทTELEGRAMของทีมงาน ‘กรองข่าวแกง’ดังขึ้นเป็นระยะ ภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหวจากทีมพื้นที่ส่งเข้ามาอัพเดทสถานการณ์กันนาทีต่อนาที ทีม CENTER รับข้อมูลมาตรวจสอบความถูกต้อง ก่อนจะอัพเดทลง ‘TELEGRAM กรองข่าวแกง’ อย่างทันท่วงที

นี่คือรูปแบบการทำงานของกรองข่าวแกงที่พบเห็นได้ทุกครั้งเมื่อมีม็อบ แต่พวกเขา คือใครกันแน่

กรองข่าวแกงคือใคร ?

กรองข่าวแกงคือกลุ่มนักกิจกรรมทางการเมืองและNGOที่มีความหลากหลาย ทั้งในเรื่องประเด็นที่ขับเคลื่อนและวิธีการ พวกเขามารวมตัวกันระหว่างการจัดเวทีชุมนุมของคนรุ่นใหม่ และมองเห็นปัญหาด้านการจัดการเรื่องหนึ่งเหมือนๆกัน นั่นคือข้อมูล และข่าวลวง

ในมุมมองของคนที่ติดตามการเคลื่อนไหว
ประชาชนควรรู้อะไรก่อนไปม็อบ (อีกครั้ง)

นอกจากกำหนดการณ์ วันเวลาสถานที่ มีอะไรอีกบ้างที่เราควรรู้ ?
ไม่มีใครอยากเป็นน้องตาใสถูกใช้เป็นเครื่องมืออย่างไม่สมัครใจ กรองข่าวแกงอยากให้ทุกคนตรวจสอบวัตถุประสงค์ ค่ายผู้จัด และรูปแบบกิจกรรมของม็อบที่ตัวเองจะเข้าร่วมให้ดีว่าตรงกับแนวคิด จริต และ Lifestyle ของคุณหรือไม่ คุณไม่ชอบอากาศร้อนอบอ้าว ม็อบที่นัดบ่ายสองหน้าทำเนียบอาจไม่ใช่คำตอบ คุณไม่อินกับประเด็นปฏิรูปตำรวจ อาจทำให้คุณยืนขมวดคิ้วถ้าต้องไปปาสีหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถ้าคุณอยากขยับเส้นสันติวิธี ม็อบร้องเพลงขายงานศิลปะ อาจยังไม่ตอบโจทย์

การกลับมาอีกครั้งแน่นอนว่าเงื่อนไขและบริบทย่อมแตกต่างไปจากเมื่อวาน วันนี้เรามีผู้เล่นที่เจนสนามกว่าคนรุ่นใหม่กระโดดเข้ามาเป็นตัวเลือกเพิ่มขึ้นบนท้องถนนอย่างมีนัยน่าสนใจ

“ม็อบวันนี้มีประเด็นและทีมจัดงานที่หลากหลายขึ้นมาก แต่ละม็อบชัดเจนว่ามีเฉดความแหลมคมหนักเบาไม่เท่ากัน ประชาชนหยิบจับช้อปปิ้งได้เต็มที่ มติของมวลชน จำนวนคนที่เข้าร่วม จะเป็นตัวสะท้อนไปถึงผู้จัดเองว่าเรากำลังมาถูกทางหรือไม่”

อะไรที่เราไม่รู้เวลาอยู่ในม็อบ

พื้นที่ตรงไหนมีรถน้ำ ? แกนนำสั่งลุยหรือถอย ? เส้นทางไหนที่ยังกลับบ้านได้อย่างปลอดภัย ? จุดไหนที่กำลังเกิดการปะทะ

 ข้อมูลข่าวสารที่ทันท่วงทีอาจเป็นตัวชี้เป็นชี้ตายในจุดที่สถานการณ์แหลมคม และ TELEGRAM ที่ชื่อว่ากรองข่าวแกงนี้เองคือทางออกให้กับคุณ ข้อมูลอัพเดทล่าสุด สรุปสถานการณ์ และแผนที่เส้นทางปลอดภัยแบบเรียลไทม์ ไม่ว่าคุณจะเป็นทีมผู้จัดงานที่อยากได้ข้อมูลรอบด้านเพื่อประกอบการตัดสินใจ หรือเป็นผู้ชุมนุมที่ไม่พร้อมกับการถูกล้อมปราบ กรองข่าวแกงยินดีอย่างยิ่งที่จะช่วยเป็นหูเป็นตาให้กับคุณ

“ต้องเช็คสักหน่อย ไม่เชื่อไว้ก่อน ยังไงก็ปลอดภัยกว่าเชื่อไปเลย”

นี่คือคติในการทำงานอาสาของกรองข่าวแกง

“ถ้าจะให้พูดตรงๆ คือต้องเป็นคนขี้เสือก แต่ต้องเสือกอย่างอดทน และเป็นระบบด้วย ต้องช่างสังเกต” ทีมงานกรองข่าวแกงกล่าวกับ De/code

“มันมีความ เอ๊ะ เรื่องนี้จริงรึเปล่า ต้องเช็คสักหน่อย ไม่เชื่อไว้ก่อน ยังไงก็ปลอดภัยกว่าเชื่อไปเลย”

เราจะมีตำแหน่งที่เรียกว่า CENTER รับข้อมูลมาจากภาคสนามที่กระจายอยู่หลายจุดสำคัญในม็อบ มากรองว่าภาพนี้ถ่ายที่ไหน เวลาเท่าไหร่ จากนั้นเราเอามา CROSS CHECK กับไลฟ์สด สื่ออื่น และข่าวลือต่างๆบนโลกออนไลน์ แล้วจึงเอาลง TELEGRAM

สาระสำคัญคือการสื่อสารว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น อันไหนจริง ไม่จริง ทุกวันนี้ข้อมูลข่าวสารมันมาหลายทิศทางมาก ในวินาทีที่ต้องตัดสินใจว่าจะหนีรถน้ำไปยังไง จะกลับบ้านทางไหน เราเชื่อว่ากรองข่าวแกงเป็นตัวช่วยคุณได้ในเวลานั้น

2 กรกฎาคม 2564 #กูจะม็อบมึงจะทำไม
ก้าวการเดินหมากครั้งใหม่ของภาคประชาชน และกรองข่าวแกง

ภายในห้องที่ถูกจัดเป็น ‘เซ็นเตอร์’ เพื่อเฝ้าสังเกตการชุมนุมในวันนี้ ทีมงาน DECODEได้เห็นการแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน ทีมส่วนหนึ่งถูกส่งกระจายไปตามจุดสำคัญของการเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นแนวหน้า ใจกลางเวที ในขบวนเดิน หรือแม้แต่ด้านหลังกองกำลังควบคุมฝูงชน นี่มันงานสายสืบแบบนาตาชาชัดๆ

ในฝั่งของเซ็นเตอร์เองจะวางเส้นทางหลบหนีที่ปลอดภัยในกรณีฉุกเฉิน โดยคอยอัพเดทให้ทันเหตุการณ์ที่สุด อีกทั้งยังมอร์นิเตอร์โลกออนไลน์เพื่อสกัดข่าวปลอม ทั้งจากกองเชียร์ที่ตัวอยู่บ้านส่งใจมาม็อบ และจากฝั่งตรงข้ามที่รอโจมตีทุกจุดไปพร้อมๆกัน

ความแตกต่างจากม็อบในอดีตอย่างหนึ่งที่ชัดเจน คือมีแนวร่วมที่หลากหลายมากขึ้น หลังจากสถานการณ์โควิดเลยคำว่าวิกฤต ทุกคนต่างเดือดร้อน และกิจกรรมในวันนี้สิ่งสำคัญที่สุดส่วนหนึ่ง คือผู้ประกอบการที่มาร่วมออกร้านกับการชุมนุม หลายๆคนมาร่วมเป็นครั้งแรก บางคนเอาเงินเก็บก้อนสุดท้ายมาฝากไว้กับการออกร้านครั้งนี้ การดูแลความปลอดภัยด้านข้อมูล การสื่อสารที่รวดเร็ว แม่นยำ ถูกต้อง จึงมีความสำคัญมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

ถอดบทเรียนที่ผ่านมา เกิดอะไรขึ้นเมื่อคุณเจอข่าวลวง

หากคุณคิดว่าถูกรัฐบาลแกงหน้ากลัวแล้ว เชิญพบความท้าทายบทใหม่ เมื่อคนที่อยู่ฝั่งเดียวกับเรา กลายเป็นคนที่แกงกันเอง

“รถน้ำมาแล้ว ปะทะแล้ว คฝ.อยู่ตรงจุดนี้”

ข้อความเหล่านี้เป็นชุดข้อมูลที่ถูกส่งต่อกันปากต่อปาก และทางโลกออนไลน์เยอะที่สุด ในวันชุมนุมใหญ่ที่ห้าแยกลาดพร้าว ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด

“เราก็ต้องรีบส่งคนเข้าไปตรวจสอบในจุดที่เป็นข่าวทันที เพื่อยืนยันหรือหักล้างข้อมูล นาทีต่อนาที เราให้น้ำหนักกับหลักฐานที่เป็นประจักษ์พยาน เห็นด้วยตาตัวเองมากที่สุด มีหลายครั้งที่ข้อมูลเท็จได้สร้างความตื่นตระหนกในหมู่ผู้ชุมนุมด้วยกันเอง เราพยายามที่จะทำให้ทุกคนกลับบ้านปลอดภัย ไม่ต้องฟังข้อมูลบนเวทีไประแวงไป พวกเราจะคอยระวังหลังให้คุณเอง”

ศัตรูในนิยามของทีมกรองข่าวแกงไม่ใช่เจ้าหน้าที่กับโล่และกระบองในมือเท่านั้น แต่คือทุกคน ที่ทำให้ความปลอดภัยในการร่วมชุมนุมต่ำลง ไม่ว่าจะเป็นฝั่งไหน ทีมงานพบว่าบางครั้งผู้จัดงานก็ไม่ได้คำนึงถึงความปลอดภัยรอบด้านมากพอ  ด้วยเหตุผลส่วนหนึ่งเป็นเพราะข้อมูลที่จำกัด และสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วต การประเมินสถานการณ์ความรุนแรง ประเมินจำนวนผู้ชุมนุมและกำลังของเจ้าหน้าที่ล่วงหน้า รวมถึงลงพื้นที่หาเส้นทางหลบหนีไว้ก่อนวันจริง จึงเป็นเรื่องที่กรองข่าวแกงให้ความสำคัญอย่างมาก

จากประสบการณ์สามารถเจาะจงได้ไหมว่าพื้นที่ปลอดภัยในม็อบเป็นแบบไหน

ตรงไหนปลอดภัยไม่ปลอดภัยอีกเรื่องหนึ่ง แต่จุดที่ยังไงก็ต้องทำให้ปลอดภัยให้ได้คือรถพยาบาล จะต้องเป็นจุดที่เข้าไปแล้วสามารถออกได้ตลอดเวลา

จุดที่เสี่ยงปะทะ หรือเจอกับเจ้าหน้าที่ คือจุดที่ใกล้สถานที่ราชการ เช่นโรงเรียน วัด หน่วยงานราชการ ลานจอดรถ
จุดที่ควรระวัง คือจุดอับ จุดที่ใช้เวลาเยอะในการออกจากพื้นที่ชุมนุม

“พักหลังมานี้เราสังเกตเห็นว่าเจ้าหน้าที่จะไม่ใช้แก๊สน้ำตาในซอยเล็กๆที่เป็นพื้นที่ชุมชน ถ้าเกิดอะไรขึ้น หนีเข้าพื้นที่ชุมชนก่อนเลย”

ม็อบแผ่วลงหรือเปล่า ในมุมมองของผู้สังเกตการณ์ และประเมินว่าจะเป็นอย่างไรต่อ

“เราต้องกลับมาคุยกันในหลายมุมมอง เราจะใช้อะไรเป็นตัวชี้วัด ใช้จำนวนคน หรือความสำเร็จในการยึดกุมเป้าหมาย การจัดชุมนุมภายใต้สถานการณ์โควิด ในสภาวะที่สถานะทางเศรษฐกิจของคนทั้งประเทศไม่ได้คล่องตัวเหมือนเมื่อก่อน บวกกับเงื่อนไขการประกันตัวของแกนนำ แน่นอนว่าทำให้เราอาจไม่ได้เห็นจำนวนผู้เข้าร่วมชุมนุมเท่ากับที่ผ่านมา แม้แต่ประเด็นที่สื่อสารบนเวที ความเข้มข้นแหลมคมก็อาจแตกต่างไป

แต่คำถามสำคัญคือ หากมีการจัดม็อบ หรือกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองขึ้นอีก นี่เปนม็อบ หรือกิจกรรม ที่ยังมอบเป้าหมายให้ผู้ร่วมชุมนุมอยู่มั้ย มาชุมนุมจะได้อะไรกลับไป สื่อจะได้หน้าข่าวแบบไหน หรือถ้าเป็นม็อบที่มีขึ้นเพื่อ EDUCATE คน ตัวชี้วัดคืออะไร ถ้าเป็นม็อบกดดัน ท่าทีของรัฐต่อข้อเรียกร้องเป็นยังไง ”

“เราต้องไม่ดูเบามวลชน การไม่ตั้งใจผลิตงาน เริ่มขาดความสร้างสรรค์ ไม่ตั้งใจทำงานให้เป็น MASTER PIECE คือการไม่เคารพผู้ชุมนุมแบบหนึ่ง”

นี่อาจไม่ใช่เวลาที่เราต้องการฮีโร่ แต่เรากำลังต้องการแนวร่วม เราหวังให้มีคนคิดแบบเรามากขึ้น นั่นคือเป้าหมายหนึ่งที่เราอยากเห็นในการวางแผนจัดกิจกรรมในแต่ละครั้ง

การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมได้ฝังรากลึกเข้าไปในจิตใจและความนึกคิดของยุคสมัยเรียบร้อยแล้ว การเคลื่อนไหวครั้งต่อไปที่เราจะได้เห็นในอนาคตจะมีหลากหลายกลุ่มมากขึ้น การตัดสินใจของประชาชนที่จะออกมาร่วมม็อบจึงยิ่งต้องสังเกตไตร่ตรองให้ดี อ่านเกมให้ทันว่าเป้าหมายในการจัดม็อบของแต่ละกลุ่มคืออะไร แม้จะเคลื่อนไหวใต้ประเด็นไล่รัฐบาลเหมือนๆกัน แต่วิธีการ และปลายทางอาจจะแตกต่างกัน เช่นบางกลุ่มเรียกร้องให้มีนายกคนนอก ในขณะที่อีกกลุ่มปฏิเสธหลักการนี้ชัดเจน ในฐานะกรองข่าวแกง การสื่อสารให้ผู้ที่กำลังตัดสินใจจะมาร่วมชุมนุมเห็นถึงความแตกต่างนี้ ก็เป็นเนื้องานใหม่ที่ท้าทายเช่นเดียวกัน

ในตลาดจะมีให้เราเลือกช็อปปิ้งมากขึ้น นั่นแปลว่าผู้ร่วมชุมนุมก็ต้องตั้งใจเลือกมากขึ้นเช่นกัน

มาถึงคำถามสำคัญ หากวันนี้เราอยากกรองข่าวแกงในชีวิตจริงบ้าง ต้องเริ่มต้นอย่างไร

“ให้คิดไว้เสมอว่าไม่เชื่อ มีประโยชน์กับชีวิตเรามากกว่าเชื่อโดยไม่สงสัย เราต้องฝึกการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานต่างๆรอบตัวมากขึ้น ถ้าเป็นข้อมูลที่ได้มาจากบุคคลที่สาม บอกเล่าปากต่อปาก อย่าเพิ่งเชื่อ แต่เก็บเป็นข้อมูลไว้ มองหาหลักฐานรูปแบบอื่นๆมา SUPPORT หรือหักล้างอีกที”

“ความจริงข้อมูลต่างๆถ้าไม่ชัวร์ เราแชร์ออกไปได้ เป็นการเช็คข้อมูลไปในตัวด้วย แต่ก็ต้องเจาะจงลงไปว่านี่เป็นข้อมูลที่ไม่ชัวร์นะ แชร์ได้ แต่อย่าผลิตข้อมูลใหม่เอง เพราะการให้น้ำหนักจะต่างกันมาก ระหว่างเพื่อนมาอ่านเจอที่เราแชร์ กับอ่านโพสต์ที่เราเขียนเอง เผลอ ๆ จะเป็นการเพิ่มความน่าเชื่อถือให้สิ่งที่เราเองก็ยังไม่แน่ใจ กลายเป็นกระบวนการหนึ่งที่แกงคนอื่นไปด้วย ตัวเราเองก็จะเสียเครดิตความน่าเชื่อถือเหมือนกัน”

การต่อสู้ครั้งต่อไปเราจะได้เห็นการต่อสู้ในทางความคิดชัดเจนขึ้น จากมิตรอาจกลายเป็นศัตรู จากศัตรูอาจกลายเป็นแนวร่วม ไม่ว่าจะเป็นสนามการแก้รัฐธรรมนูญ หรือการเลือกตั้งใหม่ที่มีการส่งสัญญาณพร้อมรบจากทุกฝ่าย ข้อมูลจะหลั่งไหลมาจากทุกทิศทาง ตัวประชาชนเองที่เป็นเจ้าของอำนาจแท้จริงและกำเสียงโหวตไว้ในมือ ก็ต้องติดอาวุธพร้อมรบเช่นเดียวกัน

อย่าเชื่อทันที, cross check ข้อมูลหลายๆด้าน
ชั่งน้ำหนักความน่าเชื่อถือที่มาของแหล่งข้อมูล
ชัวร์ก่อนแชร์ ไม่แน่ใจ ให้เงียบไว้ อย่าแกงกันเอง

และนี่ คือคำบอกเล่า ผ่านสายตาของผู้อยู่ในเหตุการณ์ กรองมาแล้ว เช็คมาดี การันตีว่าไม่แกงอย่างแน่นอน