สี่แสนถ้วน ราคาชีวิตคนไทย...Too little, too late. - Decode
Reading Time: 3 minutes

สถาพร ม่วงวัง ได้รับเงินเยียวยา 400,000 บาท จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นรายแรก จากกรณีที่พ่อของเขา สมชาย ม่วงวัง เสียชีวิตหลังฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 สถาพรพูดถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นว่า

“การที่รัฐบาลช่วยเหลือตรงนี้ ผมก็รู้สึกดีที่เขายังไม่ทอดทิ้งคนรากหญ้าหรือว่าประชาชนทั่วไปที่เขาไม่มีเงิน แต่ถ้าถามว่ามันพอไหม มันไม่พอหรอกครับ ผมพูดตรง ๆ นะพี่  ผมว่าพ่อผมอยู่ได้อีกยี่สิบสามสิบปีแน่นอน การที่ผมไปเรียกร้อง ผมอยากให้เขารับผิดชอบ ถ้าผมไม่ไปเรียกร้องคือพ่อผมตายฟรีไปเลย เหมือนพ่อผมไม่มีตัวตน ผมจะเล่าให้พี่ฟังตั้งแต่แรกนะ”

29 เมษายน

3 พฤษภาคม

4 พฤษภาคม


5 พฤษภาคม

6 พฤษภาคม 

7 พฤษภาคม 

8 พฤษภาคม



24 พฤษภาคม 





1 มิถุนายน


4 มิถุนายน  

พ่อไปฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้วกลับมาพัก มีอาการแน่นหน้าอก

แน่นหน้าอกมากจนทนไม่ไหว ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล

ผมและคนในครอบครัวโทรสอบถามโรงพยาบาล รับรู้ว่าพ่อเสียชีวิตแล้วด้วยอาการกล้ามเนื้อหัวใจวายเฉียบพลัน

นำศพพ่อกลับบ้าน เสียค่าใช้จ่ายไป 12,700 บาท ยังไม่รู้ว่าพ่อตายเพราะอะไร

ผมรู้ว่าพ่อไปฉีดวัคซีนเพราะเจอเอกสาร จึงไปยื่นเรื่องขอให้ชันสูตรศพอีกครั้ง

ทางโรงพยาบาลโทรแจ้งผลคร่าว ๆ ว่าพ่อตายด้วยโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ

ไปยื่นใบคำร้องที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานีอีกครั้ง พร้อมกับรวบรวมไทม์ไลน์และหลักฐานการเสียชีวิตของพ่อแนบไปด้วย

(…….เรื่องเงียบ………)

ผมเข้าไปที่กระทรวงสาธารณสุขตามลำพัง ยืนชูป้ายที่เรียกร้องความเป็นธรรมให้พ่อ กลายเป็นข่าวใหญ่ทั้งในสื่อกระแสหลักและโลกออนไลน์

“เขาส่งลูกน้องลงมาบอกว่า น้องต้องทำตามขั้นตอนนะ ผมก็บอกเขาว่าผมทำตามขั้นตอนทุกอย่าง แต่เรื่องมันก็เงียบไป”

ไปยื่นคำร้องต่อคณะอนุกรรรมการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือ เบื้องต้นฯ ในระดับเขตพื้นที่ ที่สสจ.ปทุมธานี อีกครั้ง

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 4 โอนเงินเยียวยาเบื้องต้นเข้าบัญชีของสถาพรเป็นจำนวน 400,000 บาท


เราทุกคนคือ สมชาย ม่วงวัง

“ถ้าเรื่องนี้เกิดขึ้นกับใคร ผมจะบอกให้นะว่าเราต้องมีหลักฐานอะไรไปยื่นบ้าง มีใบการตายของพ่อ มีบัตรประชาชนพ่อ แล้วก็บัตรประชาชนของเรา เขียนไทม์ไลน์ของพ่ออย่างละเอียด ตั้งแต่วันที่ไปฉีดวัคซีนจนถึงวันที่ตาย แล้วก็หน้าสมุดบัญชีธนาคารของเรา”

สถาพรให้ข้อมูลจากประสบการณ์ตรง เขาเพิ่มเติมว่าการที่ได้รับเงินโดยเร็ว อาจเป็นเพราะการที่เขาเดินทางไปชูป้ายเรียกร้องด้วยตัวเองถึงกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งรายละเอียดต่าง ๆ ได้อยู่ในไทม์ไลน์ที่เขาได้เล่าให้ฟังไปแล้ว อาจฟังดูเศร้าที่ประชาชนต้องมาแชร์ข้อมูลกันเอง ว่าเราจะเรียกร้องอย่างไรได้บ้าง ต้องมีหลักฐานสำคัญอะไรบ้าง เพื่อจะได้มาซึ่งสิทธิในการเยียวยาต่อการตายของคนที่เรารัก แต่ต้องยอมรับว่าการต่อสู้ของสถาพร นับเป็นด่านแรกในการทวงสิทธิที่ประชาชนควรจะได้รับโดยเร่งด่วน ชายหนุ่มวัย 27 ปีคนนี้ไม่ได้มีวาระซ่อนเร้นทางการเมืองใด ๆ เป็นเพียงความสงสัยของลูกชายคนหนึ่งที่พ่อด่วนตายจากไปอย่างไม่รู้สาเหตุแน่ชัด

“ตั้งแต่วันที่พ่อผมตายไป ผมพูดไม่ถูกเลย ทุกวันผมกลับจากที่ทำงานก็ต้องเจอพ่อผมที่วินมอเตอร์ไซค์ พอเจอหน้ากันเขาก็ถามผมว่า “เออ เป็นไงบ้าง” ผมเป็นผู้ชายก็ไม่ค่อยได้คุยอะไรกับพ่อมาก แต่ผมก็มองหาเขาทุกวัน ถ้าเรื่องนี้ไม่มีผมก็คงแย่ เพราะทั้งปู่ย่าผมก็พูดว่า “เฮ้ยหยุดเถอะ ไม่ต้องไปเรียกร้องอะไรเขาแล้วถ้าเขาไม่ให้” แต่ผมประกาศตรงนั้นเลยว่าผมจะสู้”

เมื่อย้อนกลับไปถามถึงกระบวนการในการดำเนินงานของรัฐบาลต่อการเยียวยาในเรื่องนี้ นายแทพย์ชลอ ศานติวรางคณา ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 4 สระบุรี หน่วยงานซึ่งดูแลในกรณีการตายของสมชาย ม่วงวัง ได้อธิบายถึงขั้นตอนในการพิจารณาเพื่อช่วยเหลือเคสนี้ว่า เมื่อลูกชายของผู้ตายได้ยื่นคำร้องกับสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานีแล้ว เรื่องได้ถูกส่งมายัง สปสช.เขต 4 เพื่อให้อนุกรรมการได้พิจารณา โดยคณะอนุกรรมการ 5 คนประกอบด้วยผู้อำนวยการเขตในฐานะประธาน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ 2 คน ผู้ทรงคุณวุฒิ 1 คน และภาคประชาชนอีก 1 คน ทำการพิจารณาว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ตายเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่ พร้อมกับพิจารณาในประเด็นเรื่องเศรษฐานะของผู้เสียหาย ซึ่งคณะอนุกรรมการลงความเห็นว่าผู้เสียหายฐานะค่อนข้างยากจน และได้รับผลกระทบจากวัคซีนถึงขั้นเสียชีวิต จึงร่วมกันพิจารณาให้สนับสนุนเงินช่วยเหลือเบื้องต้นเป็นเงิน 400,000 บาท

“หลักการของ สปสช.คือช่วยเหลือเบื้องต้น ไม่ได้พิสูจน์ว่าสาเหตุระยะสุดท้ายจริงๆ เป็นเรื่องของวัคซีนหรือไม่ ถ้าฉีดวัคซีนแล้วเกิดเหตุฉับพลัน ใช้คำว่า “อาจ” เกี่ยวข้องกับวัคซีน ให้ทำหนังสือโดยตรงมาถึงสปสช. โดยตรง เราจะพิจารณาในอาทิตย์นั้นเลย ในกรณีนี้วันพุธพิจารณาเห็นชอบว่าอนุมัติสี่แสน วันศุกร์ก็โอนเงินถึงญาติผู้เสียหายเลย น่าจะประมาณสองวันในกระบวนการโอนเงิน หากรอกระบวนการนิติวิทยาศาสตร์จะช้ามาก ซึ่งเคสนี้เราไม่รอตรงนั้น เพราะหลักการคือช่วยเหลือเบื้องต้นโดยไม่ได้บอกว่าเกิดจากวัคซีน อาจจะใช่หรือไม่ใช่ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะวัคซีนนี้เป็นวัคซีนฉุกเฉิน ไม่ได้ผ่านการทดลองตามขั้นตอนที่ถูกต้องตามระบบ เรายังไม่สามารถบอกได้ว่าผลกระทบชัดเจนเกิดจากวัคซีน ถ้าเกิดรอให้ชัดเจนมันยาก ถ้าผลออกมาว่าไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน เราก็ไม่ได้เรียกเงินคืนจากญาติผู้ป่วย”

ผู้อำนวยการสปสช.เขต 4 ได้ให้ข้อมูลสำหรับประชาชนทั่วไปที่อาจได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีนว่า โดยแนะนำทั้งการสังเกตอาการที่เกิดขึ้นและขั้นตอนในการยื่นเรื่องขอรับการเยียวยา โดยแนะนำว่าเมื่อประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยทั่วไปจะมีอาการปวดเมื่อยตามตัว หรือมีไข้ต่ำ ๆ บ้างในวันแรกซึ่งลักษณะนี้ถือว่าเป็นปกติของวัคซีน

แต่ถ้าฉีดแล้ว 2-3 วันยังมีอาการไข้ ป่วยเมื่อยตามตัว หรือเป็นผื่นคัน รวมทั้งกรณีที่ฉีดวัคซีนแล้วมีอาการร้ายแรง เช่น มีอาการผื่นขึ้นอย่างรุนแรง ช็อก ให้รีบดำเนินการยื่นคำร้องทันที

หากมีอาการเกิดทันทีให้ประชาชนทำเรื่องยื่นคำร้องที่จุดฉีดวัคซีน ซึ่งจะมีเอกสารใบคำร้องตรงนั้น  ส่วนกรณีอาการต่างๆ เกิดขึ้นในสองสามวันเมื่อกลับบ้านไปแล้ว ให้ไปยังโรงพยาบาลที่ฉีดวัคซีนแล้วขอใบคำร้อง หรือไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดซึ่งเป็นที่ตั้งของจุดที่ฉีดวัคซีน หน่วยงานนั้น ๆ จะส่งใบคำร้องไปให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพเขตที่รับผิดชอบ หรือสามารถโทรสอบถามรายละเอียดการดำเนินการต่าง ๆ ได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 1330 ของสปสช. โดยเมื่อยื่นใบคำร้องตามขั้นตอนนี้ สปสช.จะพิจารณาคำร้องและดำเนินการภายในสัปดาห์ที่ยื่นเรื่องเข้าไป

ภายหลังจากการเยียวยาเป็นจำนวนเงิน 400,000 ให้แก่ครอบครัวของสมชาย ม่วงวัง ซึ่งเป็นผู้เสียชีวิตจากกรณีนี้ไปแล้ว นพ.ชลอ ได้เล่าถึงสถานการณ์ภายหลังจากนั้นว่าได้มีประชาชนทยอยส่งใบคำร้องเข้ามาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยแต่ละรายจะมีการพิจารณาช่วยเหลือเยียวยาแตกต่างกันไป

“เมื่อประชาชนรู้ปุ๊บ เรื่องจะเริ่มเยอะขึ้นเรื่อย ๆ อาทิตย์ก่อนสองเคส อาทิตย์ถัดมา 6 เคส อาทิตย์นี้กำลังจะเพิ่มขึ้นเป็น 10 กว่าเคส ส่วนใหญ่จะเป็นเคสที่แพ้เล็กน้อย มีผื่นคัน แต่ก็มีแพ้รุนแรง มีอัมพฤกษ์ อัมพาต 2 ราย ในกรณีเสียชีวิตจ่ายมากสุดคือสี่แสน แต่อาจจะลดลงในบางกรณีที่เรายังไม่มั่นใจ อาจจะสามแสนกว่า ต้องแล้วแต่กรรมการพิจารณา ถ้าอัมพาตรุนแรง ถาวร ก็ 240,000 ต่ำสุดประมาณ 2-3 พัน อาจจะแพ้สามสี่วัน เป็นแค่ผื่นคัน อาทิตย์หนึ่งก็หาย”

ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องหลักประกันสุขภาพของประชาชนทั้งประเทศ รวมทั้งในความเป็นแพทย์ นพ.ชลอ ได้สะท้อนความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่า “ตรงนี้สังคมหรือระบบควรมีการช่วยเหลือกับผู้ที่ได้รับความเสียหาย ซึ่งหลักการนั้นเราคงไม่ต้องไปรอพิสูจน์ถูกผิดหรอกครับ สิ่งสำคัญคือโรคตัวนี้คือรอไม่ได้ เราต้องช่วยเหลือทั้งระบบในการป้องกันโรค คือการที่ประชาชนยินดีไปฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคตัวเอง และเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ เพราะฉะนั้นระบบจะต้องรองรับด้วยว่าเมื่อมีความเสียหายที่เกิดขึ้น ระบบซึ่งหมายถึงรัฐจึงต้องช่วยเยียวยา”

นายแพทย์พรเทพ โชติชัยสุวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารแผนและงบประมาณ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้แสดงความเห็นในวงเสวนา การบริหารจัดการแก้ไขปัญหาโควิด-19 : คำถามที่ประชาชนไม่มั่นใจ และยังไม่ได้รับคำตอบจากรัฐ” ที่จัดโดยเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน เกี่ยวกับสิทธิของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ว่า

“ในกรณีของคนไข้ที่ใช้บัตรทอง ให้อาศัยความตามอำนาจของมาตรา 41 แต่มาตรานี้ไม่สามารถคุ้มครองให้คนอีกสองสิทธิได้คือประกันสังคมกับข้าราชการ ทางรัฐบาลเลยออกมติครม.เป็นกรณีพิเศษว่า เงินที่จะใช้เยียวยาเรื่องวัคซีน ไม่ได้ใช้จากกองทุนหลักประกันสุขภาพ แต่ใช้จากงบที่กู้มาล้านล้านบาท จัดสรรมาส่วนหนึ่งให้ สปสช.เป็นผู้จ่าย ซึ่งจะจ่ายให้คนไทยได้ทุกสิทธิ และจะมีคณะกรรมการที่แต่งตั้งไปตามแต่ละเขตสุขภาพเป็นผู้พิจารณา เพราะฉะนั้นใครฉีดแล้วมีปัญหาก็ส่งเรื่องเข้ามาได้ แต่งบดังกล่าวเป็นการเยียวยาเบื้องต้นเท่านั้น”

ในวงเสวนาครั้งนี้มุมมองและคำแนะนำเพิ่มเติมจาก นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว แพทย์และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในกรณีที่มีผู้ฉีดวัคซีนแล้วถึงแก่ความตาย และต้องการจะเรียกร้องค่าเสียหายจากรัฐ ผู้ที่ได้รับผลกระทบต้องให้คณะผู้เชี่ยวชาญตรวจชันสูตรสาเหตุการตายให้ชัดเจน โดยอาศัยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ทางพยาธิสภาพต่าง ๆ ว่าเหตุแห่งการตายที่แท้จริงเป็นผลจากวัคซีนโดยตรงหรือไม่ หรือเกิดจากภาวะอื่น โดยเรื่องนี้เขามีความเห็นว่าในแง่หนึ่งเป็นภาระหน้าที่ของ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)โดยตรง

“ต้องทำ เพื่อจะได้ให้ทุกคนที่มีภาวะกลัวหรือกังวลจนไม่กล้าไปออกวัคซีนได้เห็นความชัดเจน ตรงนี้เป็นหน้าที่ของศบค. ต้องทำอย่างเร่งด่วน อย่ากลบเกลื่อน อย่าปิดบัง”

นพ.ชลน่าน ให้ข้อมูลต่อเนื่องในกรณีเสียชีวิตจากการรักษาพยาบาลหรือการให้ยา โดยระบุว่าผู้ที่เข้ารับการรักษาต้องได้รับความคุ้มครองอยู่แล้ว หากกรณีนั้น ๆ เกิดจากความผิดพลาดบกพร่องของเจ้าหน้าที่ จะมีพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ที่สามารถจะฟ้องร้องกับรัฐได้ โดยยกตัวอย่างว่า

“สมมติว่าโรงพยาบาลที่ฉีดวัคซีนมีความประมาทเลินเล่อ ฉีดแล้วปล่อยไม่ดูแล พิสูจน์ได้ว่ามีประมาทเลินเล่อ ญาติสามารถที่จะฟ้องกระทรวงสาธารณสุขได้เลย ตาม พ.ร.บ.การรับผิดทางละเมิด แต่นั่นต้องไปพิสูจน์เหตุให้ชัดก่อนว่าเป็นความรับผิดทางละเมิดหรือไม่ พ.ร.บ.รับผิดทางละเมิดไม่ได้ฟ้องที่บุคคล แต่ฟ้องหน่วยงานรัฐ เพราะฉะนั้นจำเลยคือกระทรวงสาธารณสุข หรือหน่วยงานที่เป็นต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการนั้น เช่น ถ้าเป็นของกรมการแพทย์ จะเป็นกระทรวงสาธารณสุข ถ้าเป็นแพทย์ของกทม. ก็จะเป็นความรับผิดชอบของกทม. แต่ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าเกิดจากความผิดพลาดบกพร่องของเจ้าหน้าที่”

รักษาสิทธิรักษาพยาบาล- สิทธิแรงงานกรณีถูกเลิกจ้างช่วงโควิด

นอกเหนือจากผลกระทบในกรณีการเสียชีวิตแล้ว สิทธิขั้นพื้นฐานอื่น ๆ ของประชาชนเป็นประเด็นที่รัฐต้องให้ความสำคัญเช่นเดียวกัน “การบริหารจัดการแก้ไขปัญหาโควิด-19 : คำถามที่ประชาชนไม่มั่นใจ และยังไม่ได้รับคำตอบจากรัฐ” เพื่อระดมความเห็นจากทั้งภาคแรงงาน รัฐ และนักเคลื่อนไหวทางสังคม ได้หาแนวทางในการรับมือกับปัญหาด้านสิทธิต่าง ๆ ที่ประชาชนยังสับสนและมีเข้าไม่ถึง

สำหรับประเด็นสิทธิในการเข้าถึงการฉีดวัคซีน นพ.ชลน่านได้แสดงความเห็นในประเด็นวัคซีนทางเลือกที่ประชาชนยังมีความสับสนต่อสิทธิของตนอยู่ว่า

“การประกาศเรื่องวัคซีนทางเลือกเป็นเรื่องไม่ยุติธรรมสำหรับประชาชนคนไทย การกำหนดมาตรการแบบนี้ทำให้เหลื่อมล้ำ คนที่มีเงินก็จะรอวัคซีนทางเลือก สิทธิตามรัฐธรรมนูญถูกละเมิด ที่สำคัญภาคเอกชนเขามีศักยภาพ ต้องให้เข้ามามีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ จะทำให้วัคซีนมีการเข้าถึงได้อย่างทั่วถึง รัฐต้องประกาศว่า เป็นของรัฐทั้งหมด ส่วนใครจะได้อะไรให้ดูตามข้อบ่งชี้ให้เหมาะสมสอดคล้อง ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง”

ส่วนประเด็นการคุ้มครองสิทธิในเรื่องการตรวจวินิจฉัย และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่อง สปสช. เป็นผู้ดูแล เช่น การนอนโรงพยาบาล การใช้ยา การใช้ออกซิเจน และค่าฉีดวัคซีน 20 บาทต่อราย ส่วนค่าวัคซีนนั้นผู้รับผิดชอบคือกรมควบคุมโรคที่เป็นทั้งผู้ตั้งงบประมาณและจัดหาทั้งหมด โดยหลักเกณฑ์ในการใช้สิทธิเบิกจ่ายของผู้ป่วยในส่วนนี้ต้องเข้าข่าย 3 ข้อ หนึ่งคือสัมผัสเสี่ยงสูง มีการติดต่อกับคนไข้โดยตรง อยู่ด้วยกัน 15 นาทีขึ้นไป สองเป็นกรณีที่โรงพยาบาลต้องทำหัตถการ เช่น ผ่าตัดหรือทำฟัน จำเป็นต้องตรวจคนไข้ก่อนลงมือทำ ข้อที่สามคือพิจารณาตามดุลยพินิจของแพทย์ ซึ่งปัญหาเกิดจากข้อสุดท้ายนี้ ที่หลายโรงพยาบาลตัดข้อนี้ทิ้งไป โดยนพ.พรเทพ ฝากให้ประชาชนรักษาสิทธิในเรื่องนี้

“ถ้าคนไข้ยังเสี่ยงปานกลางหรือเสี่ยงต่ำ แล้วโรงพยาบาลบอกว่าเบิกไม่ได้ ถ้าอยากตรวจต้องจ่ายเอง ซึ่งเรื่องนี้ยังเป็นปัญหาในการเบิกจ่ายที่ยังเป็นประเด็นอยู่ ฝากไปถึงประชาชนว่าท่านไม่ต้องไปจ่าย ถ้าจ่ายก็ร้องเรียนมาที่ 1330 ได้ครับ”

นอกจากผลกระทบเรื่องสุขภาพและความเจ็บป่วยไปจนถึงกรณีเลวร้ายที่สุดอย่างการเสียชีวิตแล้ว ผลกระทบที่สร้างความทุกข์ให้ประชาชนอย่างสาหัส คือผลกระทบด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกรณีที่นายจ้างอาจจะฉวยโอกาสเลิกจ้างงานโดยอ้างว่าเกิดจากผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 ในประเด็นนี้ ธนพร วิจันทร์ ตัวแทนเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน เล่าถึงสถานการณ์ในปัจจุบันว่า

“แม้ว่าจะมีกระบวนการฟ้องศาลเรื่องการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม แต่ตอนนี้ศาลแรงงานอาจจะตีความว่าในสถานการณ์โควิดทำให้บริษัทได้รับผลกระทบ สุดท้ายมันทำให้เลิกจ้างได้ ยิ่งตอนนี้อุตสาหกรรมยานยนต์จะมีการเปลี่ยนจากรถเป็นรถไฟฟ้า โควิดอาจจะเป็นตัวเร่งให้ปรับคนออก เพราะไม่ต้องใช้พนักงานจำนวนมากแล้ว คนงานที่ได้รับผลกระทบอาจจะอาศัยกระบวนการศาล กระบวนการร้องเรียนต่างๆ แต่ว่าคำวินิจฉัยหรือแนวคิด ดุลยพินิจ องค์ประกอบแวดล้อม ปัจจัยภายนอกที่เกี่ยวข้อง มันเหมือนจะไม่เอื้อกับคนงาน ดังนั้นรัฐอาจจะต้องมาดูว่าจะมีกลไกหรือกฎหมายอะไรที่จะเข้ามาช่วยดูแลตรงนี้ คือคนงานสายป่านเราสั้นอยู่แล้ว เงินจะไปศาลไม่ค่อยมี ยังจะมาตกงานอีก กระบวนการยุติธรรมต่าง ๆ มันต้องใช้เงิน ดังนั้นคิดว่าเป็นหน้าที่ของรัฐ  หากในสถานการณ์โควิดแล้วมีการฉวยโอกาสเลิกจ้างงานแบบนี้ มันจะมีมาตรการ มีกลไกอะไรที่จะออกมาดูแลเพื่อให้คนยังมีงานทำ และเศรษฐกิจยังไปได้”

นอกจากช่องทางในการฟ้องศาลแรงงานแล้ว ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่ายังมีอีกช่องทางหนึ่งในการช่วยเหลือแรงงานที่ประสบปัญหา โดยเน้นว่าหากแรงงานรู้สึกว่าถูกกระทำโดยไม่เป็นธรรม ลองพิจารณาใช้ช่องทางของกรรมาธิการแรงงานของสภาผู้แทนฯ ซึ่งเป็นช่องทางที่ในช่วงปีสองปีที่ผ่านมา มีผู้ใช้แรงงานเข้าไปขอความช่วยเหลือจำนวนมาก ดังนั้นถ้าสหภาพแรงงาน หรือว่าผู้ใช้แรงงานรู้สึกว่าถูกกระทำโดยไม่เป็นธรรมจากสถานการณ์โควิดหรือไม่ก็ตาม ช่องทางนี้เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งตามกระบวนการประชาธิปไตย ท้ายที่สุดแล้ว เขาฝากไว้ในเรื่องของสิทธิในการเข้าถึงวัคซีน โดยเฉพาะการยกเลิกเรื่องมาตรการวัคซีนทางเลือก แต่ประชาชนควรได้รับการปฏิบัติจากรัฐอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม

ไม่มีใครบอกได้ว่าโควิดระลอกสามจะอยู่กับเราไปอีกนานเท่าใด แต่ที่บอกได้คือความทุกข์ยากของประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยถ้วนหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้คนรากหญ้าที่สูญทั้งงาน เงิน หรือแม้แต่ชีวิต  เหมือนที่เกิดขึ้นกับสมชาย ม่วงวัง ผู้ล่วงลับ สถาพรลูกชายของเขา ได้ฝากข้อความเรียบง่ายถึงรัฐบาลว่า

“ผมพูดตั้งแต่วันแรก ๆ แล้วว่า การที่ผมออกมาพูดไม่ได้หมายความว่าไม่อยากให้คนไปฉีดวัคซีน ผมอยากให้ทุกคนฉีด แต่อยากให้รัฐบาลเข้ามาคอยดูแลเราด้วย ผมอยากให้รัฐบาลช่วยพูดออกมาตรง ๆ ด้วยครับ ว่ายาตัวนี้มันมีผลอะไรบ้างเพราะว่าคนทั่วประเทศเขาจะได้รู้ว่าผลตรงนี้มันเป็นยังไง ควรที่จะฉีดกับคนแบบไหน”