“เขาเห็นชีวิตประชาชนเป็นชีวิตที่ล้อเล่น” แรงงานแพลตฟอร์มบุกทำเนียบฯ “ขอวัคซีนให้คนด่านหน้า” - Decode
Reading Time: 2 minutes

“เขาเห็นชีวิตประชาชนเป็นชีวิตที่ล้อเล่นแล้วอ่ะ พี่คิดอย่างนั้น”

แม่บ้านหมวย-สุมนา สุดารามพาณิชย์ พูดความในใจหลังถูกเลื่อนการฉีดวัคซีนตั้งแต่วันที่ 6 มิ.ย.2564 แม้การลงทะเบียนครั้งนั้นจะเป็นการลงทะเบียนในฐานะญาติของพนักงานบริษัทเอกชน แต่ข้อความ SMS แจ้งเตือนการเปลี่ยนวัคซีนกระทันหันจากกรมการแพทย์ก็ทำให้ความหวังของดับวูบ เธอเตรียมตัวอย่างดี ดูแลตัวเองและงดรับงาน ยอมเสียรายได้ราว 2,000 บาท เพื่อให้ร่างกายพร้อมที่สุดในวันที่ฉีดวัคซีน สุดท้ายแม่บ้านหมวยไม่ได้อะไรเลยทั้งวัคซีน และรายได้

“เงิน 2,000 บาท เราใช้ได้หลายวันเลยนะ เงินเยียวยาของรัฐบาลยังให้เราไม่พอเลย”

ทำไมวัคซีนถึงสำคัญกับเหล่าแรงงานบนแพลตฟอร์ม นั่นเป็นเพราะว่าเธอทำงานที่ต้องพบเจอลูกค้าหลากหลาย และต่างฝ่ายต่างกังวลซึ่งกัน ลูกค้าจำเป็นต้องขอเอกสารยืนยันความปลอดภัย เช่น ใบตรวจโควิด-19 หรือใบฉีดวัคซีนแล้ว แต่การตรวจนั้นไม่ฟรี และการเข้าถึงวัคซีนก็ยังไม่ได้อีก

นี่จะเป็นเหตุให้วันนี้ (8 มิ.ย.64) กลุ่มแรงงานแพลตฟอร์มทั้งไรเดอร์ แม่บ้าน และหมอนวด จากที่ต่าง ๆ เขียนจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ ศบค. และรวมตัวกันที่ทำเนียบรัฐบาล แสดงออกเชิงสัญญาลักษณ์ ด้วยการทำความสะอาดรั้วทำเนียบ และอ่านแถลงการณ์ขอให้รัฐจัดสรรวัคซีนให้แรงงานแพลตฟอร์มที่ถือว่าเป็นแรงงานด่านหน้า ซึ่งข้อเรียกร้องของพวกเขามีทั้งหมด 5 ข้อได้แก่

1) ตรวจเชื้อโควิด-19 ถ้วนหน้าฟรี ไม่มีเงื่อนไข
2) ใช้วัคซีนประสิทธิภาพสูง ตัดตอนการแพร่เชื้อ
3) หากติดเชื้อโควิด-19 ต้องรักษาฟรี ถึงมือหมอเร็ว
4) จ่ายเงินเยียวยาถ้วนหน้า
5) คืนสิทธิพื้นฐานให้แรงงานแพลตฟอร์มด้วยการตีความสถานะการจ้างงานใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาการจัดหมวดหมู่คนงานผิดประเภท (misclassification) ที่ทำให้คนงานไม่ได้รับการคุ้มครองหรือสิทธิประโยชน์จากบริษัทแพลตฟอร์ม

ทั้งนี้ ข้อเรียกร้องที่ 1)-4) แม้จะเน้นที่แรงงานแพลตฟอร์ม แต่ก็มีการเขียนให้ครอบคลุมถึงประชาชนที่ประกอบอาชีพอื่น ๆ ด้วย

ในการยื่นหนังสือเรียกร้อง และจดหมายครั้งนี้มีนายประทีป กีรติเรขา รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง กรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งกล่าวสั้นๆ ระหว่างการรับหนังสือว่าจะรับเรื่องไว้ และจะติดตามประเด็นนี้

ชนฐิตา ไกรศรีกุล เจ้าหน้าที่วิจัย สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม (JELI) บอกว่า กิจกรรมทวงคืนวัคซีนให้คนงานด่านหน้า (บนแพลตฟอร์ม) ตั้งต้นจากเสียงของแม่บ้านเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมากที่กลุ่มแรงงานต้องการสะท้อนเสียงของตัวเอง และการเรียกร้องครั้งนี้ไม่ได้เรียกร้องให้เขากลุ่มเดียว แต่เพราะแรงงานแพลตฟอร์มก็เป็นกลุ่มเปราะบางของสังคมเช่นกัน แต่กลับไม่ได้ถูกพูดถึง

“เวลาเราพูดถึงกลุ่มเปราะบางหรือแนวหน้าเรามักจะนึกถึงแพทย์ พยาบาล แต่ด้านหนึ่งกลุ่มแรงงานแพลตฟอร์มก็เป็นคนทำงานในด่านหน้าเช่นกัน ข้อเรียกร้องทั้ง 5 ข้อ

“เวลาเราพูดถึงกลุ่มเปราะบางหรือแนวหน้าเรามักจะนึกถึงแพทย์ พยาบาล แต่ด้านหนึ่งกลุ่มแรงงานแพลตฟอร์มก็เป็นคนทำงานในด่านหน้าเช่นกัน ข้อเรียกร้องทั้ง 5 ข้อ มี 4 ข้อแรก ห้อยท้ายประชาชนทุกคน มีเพียงข้อสุดท้ายที่เป็นประเด็นเฉพาะของคนงานแพลตฟอร์มและไม่เกี่ยวกับวัคซีน นั่นเพราะเรามองว่าในการสร้างภูมิคุ้มหมู่ คนงานควรได้ฉีดก่อนก็จริง แต่คนอื่นๆ ก็ควรได้ฉีดด้วย”

“ตอนนี้แม่บ้านมีงานน้อยมาก เราจะเห็นว่าหลายคน Work From Home ได้ แต่แรงงานแพลตฟอร์มจำเป็นต้องไปพบเจอลูกค้า ไปสัมผัสคนนั้นคนนี้ โดยเฉพาะแม่บ้าน และหมอนวดที่ต้องสัมผัสหลายอย่าง และต้องอยู่ในบ้านของลูกค้าอย่างน้อย 2 ชั่วโมง ไม่เหมือนกลุ่มไรเดอร์ที่สัมผัสน้อยกว่า คือ ไปส่งของ หย่อนของเป็นหลัก และเป็นระยะเวลาสั้น ๆ”

“ถ้าไม่ทำก็ไม่ได้ เพราะว่างานเป็นรายชิ้น ไม่ทำก็ไม่ได้เงิน”

“ถ้าเราฉีดในจำนวนที่มากพอโดยเฉพาะแรงงานแพลตฟอร์มเนี่ย เขาจะสามารถกลับไปทำงานได้ เศรษฐกิจมันก็จะเดิน คือเงินเยียวยามันก็สำคัญ แต่มันไม่ยั่งยืน เขาอยากกลับไปทำงานแบบมีศักดิ์ศรีเหมือนเดิมมากกว่า ซึ่งเท่าที่รู้มาว่ามีคนได้ฉีดบ้างแต่มันน้อยมากๆ”

ทั้งนี้ สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม ให้ข้อมูลว่า แรงงานบนแพลตฟอร์มนับเป็นหนึ่งในคนงานกลุ่มใหม่ที่สังคมขาดไม่ได้ (essential worker) เพราะเป็นผู้ขนส่งลำเลียงอาหารและสินค้าไปสู่มือประชาชน และเป็นกลุ่มคนงานดูแลสุขภาพที่เอื้อให้ประชากรในสังคมสามารถดำเนินกิจกรรมต่อไปอย่างต่อเนื่องไม่หยุดชะงัก คนงานกลุ่มนี้จึงทำงานสัมผัสใกล้ชิดกับผู้รับบริการจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม พวกเขากลับเป็นกลุ่มที่เปราะบางที่สุดกลุ่มหนึ่งเพราะเข้าไม่ถึงการคุ้มครองทางสังคม เป็นสาเหตุหลักให้คนงานไม่สามารถหยุดงานหรือเว้นระยะห่างได้ในช่วงวิกฤติ