ทำไมคนถึงเชื่อฟังอำนาจ และยอมทนต่อความอยุติธรรม ? - Decode
Reading Time: 2 minutes

ในความเคลื่อนไหว

รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ

ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา นอกจากยุ่งกับการสอนและงานอื่น ๆ อีกหลายประการแล้ว ผมใช้เวลาจำนวนมากหมดไปกับการตรวจตราต้นฉบับหนังสือเล่มหนึ่งที่ตนเองรับหน้าที่เป็นบรรณาธิการ (หนังสือมีกำหนดที่จะจัดพิมพ์เผยแพร่ในช่วงกลางปีนี้ในวาระครบรอบ 72 การสถาปนาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ชื่อหนังสือ คือ การเมือง อำนาจ ความรู้: หลักรัฐศาสตร์เบื้องต้นสำนักธรรมศาสตร์ ซึ่งจัดทำโดยคณาจารย์สาขาการเมืองการปกครองของคณะรัฐศาสตร์ โดยตั้งใจให้มันเป็นตำราพื้นฐานทางการเมืองสำหรับประชาชนทั่วไป รวมถึงเยาวชนที่สนใจความรู้ทางด้านนี้

หนังสือเล่มนี้ใช้เวลาในการจัดทำยาวนานพอสมควรเพราะด้วยความตั้งใจที่ให้มันมีเนื้อหาที่ครอบคลุม จึงระดมอาจารย์จำนวนมาก (ซึ่งต่างมีธุระวุ่นวายยุ่งเหยิงกันทุกท่าน) มาช่วยกันเขียน ไล่เรียงมาตั้งแต่อาจารย์อาวุโสอย่างอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, ธเนศ วงศ์ยานนาวา, เกษียร เตชะพีระ ซึ่งหลายคนคงคุ้นชื่อและรู้จักผลงานของท่านเหล่านี้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว มาจนถึงอาจารย์ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์, ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์, วรรณภา ติระสังขะ, อรรถสิทธิ์ พานแก้ว, ภูริ ฟูวงศ์เจริญ และชญานิษฐ์ พูลยรัตน์ ซึ่งแน่นอนว่าแต่ละคนมีความถนัดเชี่ยวชาญแตกต่างกันออกไป เนื้อหาที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้สะท้อนความหลากหลายขององค์ความรู้ของแวดวงรัฐศาสตร์ในปัจจุบัน

ในขณะเดียวกันก็สะท้อนความสนใจที่หลากหลายราวดอกไม้นานาพันธ์ุของนักวิชาการแต่ละท่านตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเกี่ยวกับรัฐ (ล้มเหลว) และชาติในยุคสมัยใหม่ อำนาจนำ ความตึงเครียดระหว่างเสรีนิยมกับประชาธิปไตย เสรีภาพในการพูดกับศาสนาและความมั่นคง การกระจายอำนาจ การแบ่งแยกอำนาจและรัฐธรรมนูญนิยม สถาบันทางการเมืองในรูปแบบต่าง ๆ ระบบพรรคการเมืองและการเลือกตั้ง ความรุนแรงในการเลือกตั้ง การถดถอยและล่มสลายของระบอบประชาธิปไตยกับความคงทนของระบอบเผด็จการ อคติและความรู้ในการมีส่วนร่วมทางการเมือง ไปจนถึงการเมืองเรื่องเพศและเพศสภาพในละครปรมาจารย์ลัทธิมาร

ผมคงยังไม่เล่าหรือสรุปรายละเอียดของเนื้อหาและข้อถกเถียงในบทความแต่ละชิ้น เพราะอยากเปิดโอกาสและชักชวนให้ผู้อ่านแต่ละท่านได้มีโอกาสอ่านด้วยตัวเองเสียก่อน มิเช่นนั้นคงจะถือเป็นการสปอยล์หนังสือ

แต่ที่อยากจะขอนำเสนอเป็นน้ำจิ้มไว้ ณ ที่นี้ คือ บางช่วงบางตอนจากบทความของชัยวัฒน์ สถาอานันท์ นักปรัชญาการเมืองคนสำคัญ ซึ่งเขียนบทเปิดนำให้กับหนังสือเล่มนี้ในชื่อว่า “เส้นทางวิชารัฐศาสตร์กับ 7 คำถามทางการเมือง”

สำหรับอาจารย์ชัยวัฒน์ การศึกษาศาสตร์แห่งการเมือง ควรเริ่มต้นจากการตั้งคำถามที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง คำถามที่ดีจะเป็นดั่งเข็มทิศนำทางเราไปสู่การค้นหาคำตอบที่สำคัญ และแกเห็นว่ามีอยู่ 7 คำถามที่สำคัญที่สุด

ในบรรดา 7 คำถามนั้น ผมคิดว่า 2 คำถามน่าสนใจและชวนขบคิดเป็นอย่างยิ่ง เพราะสอดคล้องกับสถานการณ์หลายอย่างในสังคมไทย คือ คำถามที่ว่า ทำไมคนถึงเชื่อฟังอำนาจ ? และทำไมคนยอมทนต่อความอยุติธรรม ?

สำหรับคำถามแรก นับเป็นคำถามเก่าแก่ แต่ทวีความสำคัญมากขึ้นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่โลกผ่านพบกับโศกนาฏกรรมใหญ่อย่างการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุของระบอบนาซีที่นำโดยฮิตเลอร์และผู้นำรัฐเยอรมันที่ใช้อุดมการณ์ฟาสซิสต์ครอบงำสังคม ปรากฏการณ์ที่ประชากรเยอรมันจำนวนมากสยบยอมและเชื่อฟังรัฐของตนกระทั่งให้การสนับสนุนอย่างเต็มกำลัง แม้รับรู้ว่ารัฐที่ตนสนับสนุนนั้นกระทำผิดมากมาย ก่ออาชญากรรมร้ายแรงต่อประชากรร่วมสังคมและคอร์รัปชันจนถึงราก

มีนักวิชาการหลายคนพยายามตอบคำถามนี้ โดยเฉพาะสายจิตวิทยา การทดลองที่โด่งดังมากงานหนึ่งซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าหลายคนอาจจะเคยได้ยินคือ “การทดลองของมิลแกรม” (Milgram’s experiment) ซึ่งต่อมาตีพิมพ์เป็นหนังสือคลาสสิกในนามว่า Stanley Milgram, Obedience to Authority: An Experimental View (1974) ในงานชิ้นนี้ มิลแกรมสรุปผลการทดลองของเขาว่า คนธรรมดาสามัญทั้งหลายมีศักยภาพที่จะใช้ความรุนแรง (อย่างที่คาดไม่ถึง) ต่อคนที่ตนเองไม่รู้จักหรือไม่ได้เป็นศัตรูของตนได้ภายใต้สถานการณ์ที่ได้รับคำสั่งจากผู้ถืออำนาจที่ถูกมองว่ามีความชอบธรรม โดยเขาชี้ว่าความรุนแรงหรือการสนับสนุนการใช้ความรุนแรงต่อผู้อื่นไม่ได้อยู่ในธรรมชาติของมนุษย์ แต่ภายใต้สถานการณ์บางอย่าง มนุษย์สามารถทำร้ายผู้อื่นได้ นัยด้านกลับของข้อสรุปของงานชิ้นนี้คือ รัฐที่ประสบความสำเร็จในการควบคุมประชาชน มีศักยภาพที่จะออกคำสั่งให้พลเมืองของตนเองเชื่อฟังกระทั่งเชื่องตามในการกระทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องได้

สำหรับชัยวัฒน์ นักคิดที่ตอบคำถามนี้ได้ดีที่สุดคนหนึ่งคือ Gene Sharp ซึ่งเป็นนักคิดด้านสันติภาพที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งของศตวรรษที่ 20 โดยชัยวัฒน์อธิบายความคิดของชาร์ปให้เห็นว่า คนเราเชื่อฟังอำนาจด้วยหลายสาเหตุด้วยกัน ไม่สามารถสรุปฟันธงได้ง่าย ๆ ซึ่งจากการศึกษาของชาร์ป พบว่าสาเหตุที่คนยินยอมเชื่อฟังอำนาจมี 6 ประการด้วยกัน คือ หนึ่ง นิสัยดั้งเดิม สอง ความกลัวถูกลงโทษจากกฎหมายและอำนาจรัฐ สาม พันธะทางใจ บางครั้งประชาชนไม่ได้เชื่อฟังรัฐและผู้ปกครองเพราะหวาดกลัว แต่เพราะเชื่อจริง ๆ ว่า การเชื่อฟังผู้ปกครองจะทำให้สังคมโดยรวมดีขึ้น สงบขึ้น และก้าวไปข้างหน้า หรือประชาชนบางกลุ่มเชื่อในความเหนือมนุษย์ของผู้ปกครองว่ามีบุญบารมีวิเศษ ไม่ใช่คนธรรมดา แต่เป็นผู้มีบุญมาปกครองราษฎร ขณะที่บางกลุ่มเชื่อฟังเพราะเห็นว่าคำสั่งของผู้ปกครองมีความชอบธรรม (ประเด็นที่มิลแกรมย้ำเน้น)

สี่ ผลประโยชน์ส่วนตน คนจำนวนไม่น้อยเชื่อฟังและสนับสนุนรัฐ ไม่ใช่เพราะกลัว และรู้ดีว่ารัฐที่ตนสนับสนุนนั้นไม่มีความชอบธรรมใด ๆ แต่เชื่อฟังรัฐและผู้ปกครองเพราะเล็งเห็นผลประโยชน์ที่ตกแก่ตัวพวกเขาเอง ไม่ว่าจะในรูปของเงินทอง ชื่อเสียง สถานะทางสังคม หรือโอกาสเข้าไปมีส่วนเป็นส่วนหนึ่งของระบอบอำนาจนั้นด้วย ห้า ความไม่ใส่ใจใยดีของประชาชน (indifference) สำหรับข้อนี้ ชาร์ปอธิบายว่าคนจำนวนมากยอมอยู่ใต้อำนาจของรัฐ ไม่ใช่เพราะผลประโยชน์หรือผ่านการใคร่ครวญอะไร แต่เชื่อฟังสนับสนุนเพราะไม่สนใจใยดีอะไร ไม่ใส่ใจแม้แต่จะตั้งคำถามต่ออำนาจเหนือตน (ซึ่งสำหรับผมแล้วถือว่าน่าเศร้าที่สุด) และ ประการสุดท้าย เป็นเรื่องของการขาดความมั่นใจในตนเอง เมื่อประชาชนไม่เชื่อมั่นในพลังและความสามารถของตนเองว่าจะสามารถตัดสินใจหรือเปลี่ยนแปลงสังคมได้ พวกเขาก็จะมอบอำนาจทั้งหมดไปให้กับรัฐและเดินตามสิ่งที่รัฐบอกแบบพลเมืองที่ว่านอนสอนง่าย

อ่านจบแล้วก็ลองตั้งคำถามกับตัวเองและคนรอบข้างว่า ในสังคมไทยสาเหตุใดพบมากที่สุดและน่าจะมีพลังอธิบายการสยบยอมเชื่อฟังรัฐได้ดีที่สุด เพราะนิสัยของคนไทยที่ว่านอนสอนง่าย ? เพราะคนไทยกลัว (และถูกทำให้กลัว) ผลกระทบที่จะเกิดจากการวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจ ? เพราะคนส่วนใหญ่เชื่อว่ารัฐที่ดำรงอยู่มีความชอบธรรม ทำเพื่อชาติและความเจริญของสังคม? หรือเพราะได้ผลประโยชน์ตอบแทน? เพราะไม่สนใจ ไม่ได้ติดตามหาข้อมูลความรู้มากพอ ? หรือเพราะมีความคิดด้อยค่าตนเอง มองไม่เห็นพลังของตนในฐานะกลไกของการเปลี่ยนแปลง ?  

ประเด็นสำคัญ คือ ชัยวัฒน์ชี้ว่า การยอมสยบต่ออำนาจของพลเมืองต่อรัฐนั้น มิได้เกิดขึ้นลอยๆ ในสุญญากาศโดยไม่มีที่มาที่ไป แต่เป็นผลของ “การทำงานอันทรงประสิทธิภาพของระบบสังคมไม่ว่าจะเป็นระบบการศึกษา ความเชื่อ หรือระบบเศรษฐกิจที่มอบประโยชน์รางวัลให้แก่ผู้เชื่อฟัง และทำให้ผู้ไม่เชื่อฟังขาดทุน”

คำถามถัดไป ซึ่งจริง ๆ ก็เกี่ยวเนื่องกันคือ ทำไมคนยอมทนต่อความอยุติธรรม ? ประเด็นนี้ชัยวัฒน์หยิบยกงานของแบริงตัน มัวร์ จูเนียร์ (Barrington Moore Jr.) มาอภิปราย ผ่านงานชิ้นสำคัญเรื่อง Injustice (ความอยุติธรรม) ซึ่งตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1978 ในงานชิ้นนี้มัวร์ตั้งคำถามที่ชวนคิดอย่างยิ่งว่า “มนุษย์ทนอยู่กับการเอารัดเอาเปรียบและความอยุติธรรมนานาชนิดได้อย่างไร?” (หนังสือเล่มนี้มีชื่อรองว่า “พื้นฐานเชิงสังคมแห่งการเชื่อฟังและการขบถ”) มัวร์เสนอคำตอบว่า ความอยุติธรรมดำรงอยู่ได้ก็เพราะคนยอมรับอำนาจเชิงศีลธรรมบางอย่าง (moral authority) เขาอาศัยตัวอย่างมากมายมาประกอบข้อถกเถียงของเขา แต่มีกรณีกลุ่มคน 2 กลุ่มที่น่าสนใจ  

กลุ่มแรกคือเชลยชาวยิวในค่ายกักกันของนาซี ซึ่งเป็นเหยื่อของอำนาจรัฐที่อำมหิต แต่มัวร์พบว่าในค่ายกักกัน เชลยบางคนพยายามเลียนแบบผู้คุมนาซีผ่านการแปลงเครื่องแบบนักโทษของตนให้ดูคล้ายเครื่องแบบทหารนาซีเท่าที่จะทำได้ กระทั่งใช้น้ำลายขัดรองเท้าเชลยขาด ๆ ของตนให้คล้ายรองเท้าของผู้คุมนาซี ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าเชลยเหล่านั้นเห็นว่าการกดขี่ของระบอบนาซีมีความชอบธรรม แต่เป็นเพราะพวกเขาจำต้องปรับชีวิตตนเองให้อยู่รอดได้กับสภาพอันเลวร้าย บางคนจึงพยายามดัดแปลงตัวตนให้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบอบอันอยุติธรรมในค่ายกักกัน 

อีกกลุ่มคือวรรณะจัณฑาลในอินเดีย คนกลุ่มนี้ถูกจัดให้อยู่ในวรรณะต่ำที่สุดของสังคมและยอมรับระบบวรรณะดังกล่าว เพราะพวกเขาเห็นว่าระบบวรรณะเป็นระบบที่เป็นธรรมอยู่แล้วเพราะเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมความเชื่อในศาสนาฮินดูที่ดำรงอยู่มาช้านานตั้งแต่ก่อนพวกเขาเกิด ดังนั้นสำหรับพวกเขา “ความอยุติธรรมที่ดำรงอยู่ในตัวระบบวรรณะจึงกลายเป็นความยุติธรรมในสังคมไป”

สำหรับกรณีนี้ ชัยวัฒน์อธิบายว่ากรณีของจัณฑาลนั้นต่างจากเชลยชาวยิว เพราะพวกเขาเชื่อว่าการตกอยู่ในสถานะที่ต้อยต่ำแบบจัณฑาลนั้นถูกต้องและปรกติดีแล้ว ในเมื่อวัฒนธรรมกำหนดให้คนเกิดมาไม่เท่ากัน และก็เป็นแบบนี้มาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ในแง่นี้ “ระบบวรรณะซึ่งเป็นสิ่งสร้างทางสังคม (social construction) ถูกทำให้เป็นสิ่งคล้ายธรรมชาติ (naturalized)” สภาวะเช่นนี้จึงน่ากลัวที่สุด เพราะคนที่โดนกดขี่เองมองไม่เห็นความผิดปรกติของสภาวะเช่นนั้น และกลับเป็นฟันเฟืองสำคัญในการหล่อเลี้ยงโครงสร้างที่ไม่ยุติธรรมนั้นให้ดำรงอยู่ พวกเขาไม่คิดแม้แต่จะตั้งคำถาม ไม่ต้องพูดถึงการลุกขึ้นท้าทายเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างนั้น

ข้อคิดสำคัญจากงานของมัวร์และจากการอภิปรายขยายความของอาจารย์ชัยวัฒน์ก็คือ ความอยุติธรรม ทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ การเอารัดเอาเปรียบแรงงาน ความไม่เสมอภาคทางกฎหมาย การเหยียดและลดทอนสถานะของคนอื่น ดำรงอยู่ได้อย่างแข็งแรงและยาวนานที่สุด ถ้ามันถูกรองรับด้วยความเชื่อทางวัฒนธรรมที่ปิดบังสายตาของผู้คน ให้ตาบอดต่อความไม่ปรกติที่อยู่ตรงหน้า… ถ้าเป็นเช่นนี้ก็ยากที่ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมจะบังเกิด

อ้างอิง
ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, “เส้นทางวิชารัฐศาสตร์กับ 7 คำถามทางการเมือง” ใน ประจักษ์ ก้องกีรติ (บก.), การเมือง อำนาจ ความรู้: หลักรัฐศาสตร์เบื้องต้นสำนักธรรมศาสตร์ (กรุงเทพฯ: สยามปริทัศน์, 2564).