คนงานแพลตฟอร์มและอธิปไตยเหนือเวลา - Decode
Reading Time: < 1 minute

ก้อนอิฐในมือสามัญชน

ดร.เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร

ลองจินตนาการกันว่าหากเวลาส่วนใหญ่ในการทำงานของคุณหมดไปกับการรอ เวลาที่ถูกใช้ในการทำงานอาจมีน้อย แต่ตราบเท่าที่คุณได้รับค่าตอบแทนจากเวลาที่คุณใช้ไปทั้งหมด ก็คงไม่มีปัญหาอะไรกับการต้องรอ

ตราบใดที่ความสัมพันธ์ระหว่างงานกับเวลาของเรายังคงอยู่ในกรอบความคิดแบบเก่า ที่เวลาตอกบัตรเข้า-ออกถูกกำหนดแน่นอนและเราได้รับค่าตอบแทนสม่ำเสมอ เหมือนอย่างบรรดาข้าราชการไทย คนทำงานคงยินดีมากหากไม่ได้รับมอบหมายงานมากนัก

คราวนี้ลองจินตนาการใหม่ว่าใครสักคนมีอำนาจเข้ามาปรับเปลี่ยนกติกาในการทำงาน ประการแรก ให้คุณได้รับค่าตอบแทนเฉพาะเวลาที่คุณทำงาน ประการสำคัญ เขาผู้นั้นยังเป็นคนกำหนดนิยามว่ากิจกรรมอะไรถือเป็นการทำงาน และกิจกรรมอะไรไม่ถือว่าเป็นการทำงาน ซึ่งการรอถูกกำหนดเป็นกิจกรรมนอกการทำงาน

ในปัจจุบัน คนงานแพลตฟอร์มที่ถูกนายจ้างเรียกว่า “พาร์ทเนอร์” นั้น ตกอยู่ในสถานการณ์ข้างต้นนี้ กรรมสิทธิ์เหนือเทคโนโลยีทำให้เจ้าของแพลตฟอร์มสามารถกำหนดนิยามและออกแบบความสัมพันธ์และกติกาใหม่ในการทำงาน ส่งผลให้คนงานใช้เวลาระหว่างวันมากขึ้นในการรอ ซึ่งไม่ได้รับค่าตอบแทน ที่แย่ไปกว่านั้น ในบางวัน พวกเขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าต้องรอนานแค่ไหนจึงจะได้รับงาน

กลุ่มไรเดอร์ส่งอาหาร ที่ให้บริการแบบ “ทันทีที่ต้องการ (on-demand)” นั้น อาจใช้เวลารอระหว่างแต่ละงานเป็นชั่วโมงหรือมากกว่านั้น ปัญหานี้ ยังถูกทับซ้อนด้วยการไม่มีสถานที่พักที่เหมาะสม อย่างที่เราได้สังเกตเห็นไรเดอร์ในเมืองต้องใช้ฟุตบาทหรือทางเท้า ร่มเงาของต้นไม้และสะพานสูงเป็นจุดรอ ส่วนแม่บ้านดิลิเวอรีที่ให้บริการแบบนัดหมายจองงานล่วงหน้า อาจโชคดีกว่าไรเดอร์ที่ไม่ต้องรองานกลางถนน กลางแดดหรือฝน แต่เช่นเดียวกับเพื่อนกลุ่มไรเดอร์ พวกเธอตั้งคำถามกับคำว่า “ยืดหยุ่น” และ “อิสรภาพ” มากขึ้น

คนงานแพลตฟอร์มกลุ่มต่าง ๆ จึงกำลังตั้งคำถามอย่างถึงรากกับข้อกล่าวอ้างที่ว่าการทำงานกับแพลตฟอร์มเปิดโอกาสให้พวกเขาสามารถจัดสรรเวลาส่วนตัวและการทำงานได้ตามที่ตัวเองต้องการได้

งานและสำนึกของเวลาแบบทุนนิยม

เวลา เป็นสิ่งประดิษฐ์ทางสังคมที่เราคุ้นชินจนถือเป็นสิ่งธรรมชาติ แต่สำนึกเรื่องเวลาในมิติของการทำงาน เช่น เราควรทำงานในเวลาไหน และไม่ควรทำงานในเวลาไหน เป็นผลผลิตของระบบทุนนิยมที่ถูกสร้างขึ้นในช่วงเวลาไม่กี่ร้อยปีมานี้

ในศตวรรษที่ 18 การเกิดขึ้นของเครื่องจักรไอน้ำและกระแสไฟฟ้า อนุญาตให้เกิดระบบโรงงาน ที่นายทุนสามารถจำกัดสถานที่และกำหนดเวลาการทำงาน จากที่มนุษย์เคยพึ่งพาแสงแดงและสภาพลมฟ้าอากาศ มนุษย์สามารถควบคุมให้กิจกรรมการผลิตมีความต่อเนื่อง เป็นไปตามท่วงทำนองที่ตนต้องการได้ และประหยัดต้นทุน นอกจากนี้ แรงงานสัตว์หรือกำลังของมนุษย์ที่เคยเป็นตัวกำหนดจังหวะในการทำงาน ถูกแทนที่ด้วยพลังงานของเชื้อเพลิงที่เผาผลาญในระหว่างเครื่องจักรทำงาน

พูดง่าย ๆ ก็คือจิตสำนึกของเวลาแบบทุนนิยมก่อตัวขึ้นภายหลังจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 18

นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษคนสำคัญ อี พี ธอมสัน (E. P. Thompson) เป็นผู้อธิบายว่าเมื่อมนุษย์เดินออกจากระบบเกษตรกรรมเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรรม เราได้เปลี่ยนความสัมพันธ์กับเวลาที่เคยอ้างอิงกับเวลา “ภายนอก” มาเป็นความสัมพันธ์กับเวลา “ภายใน” ที่เหมือนทุกคนมีนาฬิกาของการทำงานภายในเป็นเครื่องกำกับกิจกรรมในชีวิตประจำวัน จากในอดีตที่ กิจกรรมเก็บเกี่ยวและเลี้ยงสัตว์ เป็นการทำงานเข้มข้นในบางช่วงเวลาที่มีแสงแดด สลับกับเวลา “พัก” ทำงานบ้านเมื่ออากาศไม่อำนวย

มนุษย์โรงงานจึงเป็นมนุษย์ที่ถูกกำกับจากเวลาของนาฬิกาที่มีความเป็นสากล และที่สำคัญอย่างยิ่ง ถูกกำหนดจากมูลค่าของเวลา เพราะในระบบทุนนิยม นายทุนสร้างบรรทัดฐานใหม่ว่า “เวลาคือเงิน”

ภาพยนต์คลาสสิกเรื่องโมเดิร์นไทม์ของชาร์ลี แชปลินสะท้อนความสัมพันธ์ของเวลาและการบงการหรือจัดระเบียบ  (discipline) ร่างกายของมนุษย์โรงงานได้อย่างตรงไปตรงมา อย่างที่แชปลินทำให้เราเห็น มนุษย์โรงงงานไม่ได้ถูกกำกับจากเวลาที่เป็นนามธรรมเท่านั้น พวกเขายังถูกกำกับจากนาฬิกาของหัวหน้างานและความต้องการผลิตสินค้าป้อนตลาด

พัฒนาการขั้นต่อจากระบบโรงงานจึงเป็นเรื่องการแบ่งงานกันทำในเชิงเทคนิค (rationalization) เพื่อสร้างหลักประกันของ “ประสิทธิภาพการผลิต” เช่น หัวหน้างานถูกจ้างมาเพื่อสอดส่องและควบคุมไม่ให้คนงานหลบเลี่ยงหรือถ่วงเวลาการทำงาน

หากการก่นด่าและการประเมินผลงานจากหัวหน้างานยังไม่พอ การนับผลงานเป็นรายชิ้นเป็นอีกกลไกหนึ่งที่จะถูกเพิ่มเข้ามาเพื่อสร้างหลักประกันการเร่งรัดและจัดระเบียบของร่างกายให้รวดเร็วยิ่งขึ้น การทำงานรายชิ้น (piece rate work) ของคนงานกิ๊กในปัจจุบัน จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ มันเกิดขึ้นมาตั้งแต่ก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมซะอีก แต่เครื่องจักรในระบบการผลิตแบบแมสอนุญาตให้การแบ่งงานเป็นชิ้นทำได้ง่ายขึ้น สิ่งที่ต่างออกไปในปัจจุบันก็คือ ระบบการผลิตแบบทุนนิยมได้พัฒนาขึ้นไปอีกจากระบบการผลิตแบบแมสหรือสายพาน ที่เรียกกันว่าระบบการผลิตแบบฟอร์ดิสม์ (Fordism) ที่ตั้งชื่อตามเฮนรี ฟอร์ด เป็นระบบหลังฟอร์ดิสม์ (Post-Fordism) ที่การผลิตกลายเป็นระบบยืดหยุ่น

นักวิชาการในยุคหลังอาจวิจารณ์ว่าคำอธิบายของอี พี ธอมป์สัน ที่ว่าการเกิดขึ้นแพร่หลายของสิ่งประดิษฐ์เกี่ยวกับเวลา ไม่ว่าจะเป็นนาฬิกาพกพาและโดยเฉพาะหอนาฬิกาสาธารณะ ไม่ได้มีอิทธิพลต่อการสร้างสำนึกของเวลาแบบทุนนิยมอย่างหมดจดราบคาบขนาดที่เขากล่าวไว้ และความสัมพันธ์ระหว่างกิจกรรมมนุษย์และเวลาแบบสังคมเกษตรกรรมยังคงดำรงอยู่ควบคู่กันไปในโลกทุนนิยม ที่ดูเหมือนจะสามารถดูดซับและหลอมรวมทุกอย่างเข้าไว้ในความสัมพันธ์ของการแลกเปลี่ยนด้วยเงินตราอย่างไม่มีขีดจำกัด

อย่างไรก็ตาม อี พี ธอมป์สันทำให้เรามองเห็นบทบาทที่สำคัญของเทคโนโลยีและอิทธิพลของนวัตกรรมต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงานของมนุษย์ เช่น ระบบโรงงาน สถานที่ทำงานที่ทุกคนทำงานร่วมกัน เป็นจุดเริ่มต้นการก่อตัวของจิตสำนึกของเราในฐานะมนุษย์เงินเดือนแบบเข้า 9 โมงเช้าออก 5 โมงเย็น (9 to 5) อย่างไร

ในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างชั่วโมงการทำงานกับการขูดรีด คาร์ล มาร์กซ์ได้เขียนไว้ในหนังสือ “ทุน” เล่มที่หนึ่ง ว่านายทุนมีกลยุทธ์ในการเพิ่มความเข้มข้นของการขูดรีดกำลังแรงงานส่วนเกิน (surplus labor) ได้สองกลยุทธ์หลัก คือ หนึ่ง เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยเพิ่มชั่วโมงการทำงาน หรือสอง เพิ่มประสิทธิภาพผ่านเทคโนโลยี

ทั้งนี้ คำว่า “เทคโนโลยี” ในที่นี้ หมายรวมถึงทั้งเทคโนโลยีที่จับต้องได้ ซึ่งเป็นความหมายที่เข้าใจกันทั่วไป เช่น เครื่องจักร คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน และเทคโนโลยีในรูปของการบริหารจัดการ เช่น การออกแบบโครงสร้างองค์กร (organizational structure) ของบริษัทและความสัมพันธ์ในการจ้างงาน (employment relations) ตัวอย่างที่เด่นชัดของความสัมพันธ์ในการจ้างงานในยุคหลังฟอร์ดหรือยุคการผลิตแบบยืดหยุ่นคือ การจ้างเหมาช่วงและการจ้างคนงานชั่วคราว

สิ่งที่บริษัทแพลตฟอร์มทำเพื่อเพิ่มความเข้มข้นของการขูดรีดก็คือ นำระบบอัลกอริทึมเข้ามาติดตามสอดส่อง และบันทึกข้อมูลการเคลื่อนไหวของคนงานอย่างละเอียด ประกอบกับการจ้างงานรายชิ้นที่ทำให้เกิดความเร่งรีบและการเรียกคนงานแพลตฟอร์มด้วยคำว่า “พาร์ทเนอร์”

การนิยามความสัมพันธ์ใหม่ให้คนงานเป็น “พาร์ทเนอร์” จึงเป็นกลยุทธ์ในด้านเทคโนโลยีในเชิงความสัมพันธ์การจ้างงาน ที่ไม่ต่างจากการจ้างเหมาช่วงที่เกิดขึ้นและเป็นปัญหามานานแล้ว แต่ใครจะเชื่อว่านวัตกรรมเชิงวาทกรรมง่าย ๆ แค่นี้จะสามารถดิสรัปกฎหมายแรงงานที่เราใช้กันมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ ราวกับการเล่นกลซ่อนอาคารขนาดใหญ่ของนักมายากลระดับโลก

ในแง่นี้ ระบบแพลตฟอร์มซึ่งเป็นพัฒนาล่าสุดของระบบการจ้างงานแบบยืดหยุ่น สามารถทำลายทั้งสถานที่ทำงาน ชั่วโมงการทำงานและความสัมพันธ์นายจ้างลูกจ้างในความหมายเดิม และปลดปล่อยให้คนทำงานกลายเป็นอิสระอย่างเคว้งคว้าง

ความเป็นอิสระภายใต้การบงการแบบใหม่ของเทคโนโลยีนั้น สร้างความตึงเครียดในเรื่องความไม่แน่นอน ทั้งในมิติของเวลาการทำงานและจิตสำนึกร่วมของคนทำงานอย่างซับซ้อน

เวลาของทุนนิยมยืดหยุ่น ความไม่แน่นอน และการเมืองเรื่องเวลา

สำหรับคนชั้นกลางที่ทำงานนั่งโต๊ะ ที่การทำงานจากบ้าน (WFH) เริ่มกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ นาฬิกาภายในร่างกายของเรากลับเล่นเล่ห์และปะทะกับความล้มเหลวในการจัดสรรเวลาสำหรับการทำงานแบบใหม่ ที่เส้นแบ่งระหว่างงานและเวลาว่างพร่าเลือนไปพร้อมกับการซ้อนทับของขอบเขตและพรมแดนของที่ทำงานและที่พักอย่างสับสน

สำหรับคนงานแพลตฟอร์ม ปัญหาการทำงานในมิติเวลาของพวกเขากลับต่างออกไป เพราะพวกเขาไม่ได้กำลังเผชิญกับการรุกรานของงานในอาณาบริเวณส่วนตัวเหมือนกับคนงาน “คอปกขาว” อย่างเช่นฟรีแลนซ์ ทั้งนี้ คนงานแพลตฟอร์มกลับเผชิญกับปัญหาที่ตรงกันข้าม คือ การต้องออกไปเคว้งคว้างอยู่ในพื้นที่สาธารณะโดยรู้สึกว่าตัวเองกลับไม่ได้ทำงาน

คนงานไรเดอร์ที่ฝากความหวังกับงานบนแพลตฟอร์ม ใช้เวลาอยู่บนถนนยาวนานมากขึ้น มากกว่าวันละแปดชั่วโมงต่อวัน นอกจากนี้ พวกเขาต้องรอนานขึ้นกว่าที่จะได้รับงานผ่านแพลตฟอร์ม โดยไม่ได้รับค่าตอบแทนชดเชยอะไรเลยในระหว่างที่รอคอย

ในทางกลับกัน ในช่วงเวลาที่ไรเดอร์ได้รับงานและกำลังทำงาน พวกเขากลับต้องทำงานอย่างเร่งรีบ และในหลายกรณี ได้รับค่าตอบแทนน้อยลงจากการทำงานมากขึ้นเช่น งาน “แบทช์” ที่แพลตฟอร์มผูกออเดอร์หลาย ๆ ชิ้นเข้าด้วยกันและลดค่าส่งลง

สำหรับกลุ่มคนงานแพลตฟอร์มหญิง ที่ทำงานด้านความสะอาดและให้บริการดูแลด้านการฟื้นฟูเช่น การนวด นอกจากสองกลุ่มนี้ต้องใช้เวลาในการเดินทางในสัดส่วนที่มากขึ้นแล้ว พวกเธอต้องรองานนานขึ้นเช่นเดียวกันด้วย

เนื่องจากคนงานแพลตฟอร์มหญิงส่วนมากมีภาระส่วนตัวที่ต้องรับผิดชอบงานภายในบ้านตัวเอง ปัญหาสำคัญของพวกเธอจึงเป็นความสามารถในการบริหารจัดการเวลาของตัวเอง สำหรับทำงานบ้านและงานนอกบ้าน รวมถึงการมีเวลาเหลือสำหรับพักผ่อนดูแลตัวเอง

เราทุกคนรู้ดีว่าการรออย่างไม่มีกำหนดนั้น ต่างจากการรอที่เรารู้กำหนดเวลาชัดเจนอย่างไร อันหลังทำให้เราสามารถวางแผนในชีวิตประจำวันของเราได้ดีขึ้น เช่น ระหว่างที่รอ เราสามารถทำงานบ้านของตัวเองส่วนไหน จะทานอาหารแต่ละมื้อเมื่อไหร่ หรือหลังจากเสร็จงาน จะสามารถเดินทางไปรับลูกที่โรงเรียนทันเวลาหรือไม่โดยที่พวกเขาจะไม่ต้องรออย่างไม่มีกำหนด

ภายใต้ทุนนิยมแพลตฟอร์มที่ยืดหยุ่นถึงขีดยอด คนงานจึงรู้สึกไม่ต่างจากหุ่นยนต์ที่ถูกบงการและกำกับจากแพลตฟอร์ม ดังนั้น สำหรับพวกเขา การทวงคืนอธิปไตยเหนือเวลา (time sovereignty) ในการทำงาน ที่พวกเขาเป็นผู้กำหนดจังหวะและเวลาในการทำงานและพักด้วยตัวเอง จึงเป็นพรมแดนของการต่อสู้ในระดับการเมืองของชีวิตประจำวันที่สำคัญมาก