รุ่งอรุณของผู้ถูกกดขี่ (ไม่)จำเป็นต้องเจ็บปวดเพื่อหลาบจำ - Decode
Reading Time: 3 minutes

ในปัจจุบันหลายคนก็จะได้เห็นการที่เด็กเริ่มออกมาประท้วงถึงการบริหารงานที่ย่ำแย่ของรัฐบาล ปัญหาระบบการศึกษาที่ไม่เป็นไปตามยุคสมัย หรือปัญหาอื่น ๆ เหตุผลที่เด็กต้องออกมาประท้วงก็เพื่อให้ปัจจุบันที่เด็กต้องมานั่งทนทุกข์จากการศึกษา สังคม หรืออะไรต่าง ๆ ไม่ต้องมาทนทุกข์อีกแล้ว

หรือในอนาคตเด็กรุ่นใหม่ที่เกิดมาก็จะได้ใช้ชีวิตในประเทศที่มีคุณภาพไม่ต้องมานั่งเสียโอกาส เวลา หรือความฝันไปกับความล้มเหลวของรัฐบาล พวกเขาเพียงแค่ต้องการเห็นประเทศดีขึ้น

แต่สิ่งที่ได้กลับมาจากรัฐก็คือ ความรุนแรง ไม่ใช่แค่ความรุนแรงจากรัฐอย่างเดียว แต่ยังมีความรุนแรงจากผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่ในสังคม ผู้ใหญ่ในโรงเรียน หรือผู้ใหญ่ในครอบครัว ซึ่งเป็นสิ่งที่ใกล้ชิดกับเด็กมากที่สุด และความใกล้ชิดนั้นทำให้ความรุนแรงมีผลกระทบต่อจิตใจเด็กมากขึ้นหรือเปล่า

ด้วยความสงสัยนี้ เราเลยได้ไปที่งานเสวนา “เมื่อผีเสื้อตัวน้อยขยับปีก: สิทธิเด็ก ความหวัง ความฝัน ผลกระทบ เมื่อเด็กต้องการมีส่วนร่วมทางสังคม” แล้วประทับใจกับประโยคหนึ่ง เป็นกำลังใจต่อคนที่กำลังสู้กับความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากรัฐหรือครอบครัวอยู่  

“เด็กทุกคนอย่าพึ่งท้อถอย ถึงทุกวันนี้เราจะอยู่ท่ามกลางหนามแหลมคม แต่สักวันเราจะหลุดพ้น แล้วพบกับทุ่งท่ามกลางแสงอาทิตย์อันสดใส เพียงแค่ให้ทุกคนยังมีความฝันในโลกที่ดีกว่า รักษาตัวตนของตัวเองเอาไว้ วิ่งไปด้วยกัน แล้วสักวันหนึ่งมันจะเป็นของเรา” ธญานี กล่าว  

ย้อนไปเมื่อวันเสาร์ที่ 27 มีนาคม 2564 ในช่วงเช้าวันหยุด เราตื่นมา ใช้เวลาไม่นานก็แต่งตัวเรียบร้อย นั่งวินมอเตอร์ไซค์ และขึ้นรถไฟฟ้าไปลงที่สถานีสยาม โดยงานนี้จัดที่ Lido Connect  ชั้น 2

เราเดินไปที่นั่นด้วยความเงียบเหงา  เมื่อเดินไปถึงพบว่างานเสวนายังไม่เริ่ม เราจึงเดินเลยไปชมนิทรรศการ “เมื่อความเงียบกู่ก้อง” เพื่อฆ่าเวลา

เมื่อเราค่อยๆ เดินเข้าไปก็พบกับเสียงของเด็กและเยาวชนที่เรียกร้องให้ผู้ใหญ่ได้ยิน แต่ก็ไม่รู้ว่าเสียงนั้น ดังไม่พอหรือเปล่าเลยทำให้ผู้ใหญ่บางคนกลับเมินเฉยต่อสิ่งที่เด็กโดนกระทำ ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงที่ได้รับ การถูกกดดันจากครอบครัว โรงเรียน หรือสังคม และปัญหาอื่นๆ อีกมากมายที่เด็กต้องเผชิญ เมื่อเราชมงานเสร็จ งานเสวนาได้เริ่มขึ้น โดยเปิดมาด้วยคำถามของพิธีกรและจินดาที่ได้ตอบกลับไปว่า  

“การที่เด็กในบ้านเมืองเราออกมาแสดงความคิดเห็น มันไม่ใช่ความผิด เพราะพวกเขาก็ถือเป็นส่วนหนึ่งในสังคมเราด้วย” 

จินดาได้ยกตัวอย่างเด็กในต่างประเทศ ที่เรียกร้องให้ผู้ใหญ่ออกมาแก้ไขปัญหา Climate Chang เด็กที่เริ่มออกมาเรียกร้องปัญหานี้ คือ เกรตา ธันเบิร์ก เธอเริ่มด้วยการยืนถือป้ายหน้าโรงเรียนทุกวันศุกร์ ผ่านไปหลายเดือน 98 ประเทศทั่วโลกได้มองเห็น มันเป็นปัญหาของเด็กหรือเปล่า ผู้ใหญ่หลาย ๆ คน มักจะพูดอย่างนี้ การแก้ไขเรื่องสถานการณ์ Climate Chang มันควรจะเป็นหน้าที่ของผู้มีอำนาจ หรือรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน แต่เธอเป็นเสียงเดียวที่ออกมา จนเกิดการนัดหยุดเรียนประท้วงทั่วโลกให้ผู้ใหญ่แก้ปัญหานี้ ในวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ.2562   

ระบบการศึกษาไทยจุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหว 

ธญานี ได้กล่าวว่า “การศึกษาของเราไม่ได้ตอบโจทย์การใช้ชีวิตมากเท่าไหร่ มันเหมือนการโยนข้อมูลมาอย่างเดียว แล้วการศึกษามันยังลิดรอนสิทธิของเรา เด็กหลายคนก็เลยต้องออกมาชุมนุม แล้วทำไมพวกเขาต้องออกถนน ก็เพราะบางพื้นที่ ที่ควรจะปลอดภัยสำหรับพวกเขา มันกลับเป็นที่ที่เด็กไม่ได้รู้สึกว่าปลอดภัยเลย เช่น ครอบครัว โรงเรียน

สุดท้ายเด็กก็ต้องลงถนน แล้วใช่ว่าถนนจะปลอดภัย แต่เด็กเหล่านั้นต้องทำเพื่อที่พวกเขาจะได้พูด ในสิ่งที่ต้องการจะพูด แล้วการที่เขาลงถนนเขาก็ต้องเจอความรุนแรงจากรัฐ มันเหมือนรัฐเอาอนาคตของชาติมาย้ำยี” 

กรอบวิธีคิดที่กักขังเด็กไว้ และปิดกั้นผู้ใหญ่ 

เกือบทุกสิ่งมันก็จะมีกรอบของมัน ไม่ว่าจะเป็นสิทธิเสรีก็ต้องอยู่ในกรอบ แต่มันมีอีกกรอบหนึ่งที่กักขังคนกลุ่มหนึ่งไว้ และกั้นไม่ให้เกิดความเข้าใจกัน กรอบนี้มีอายุกว่า 100 ปี ซึ่งมันนานมากแล้ว แต่ทำไมมันยังอยู่ 

“ชุดวิธีคิดของผู้มีอำนาจในสังคม พ่อแม่ มันจะมีกรอบเดียวกัน เมื่อเด็กโตขึ้นมาคนละแบบ เราอยากเห็นเด็กรุ่นใหม่ก้าวไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น แต่ผู้ใหญ่ยังใช้วิธีเดิม ควรเลิกที่จะมองแค่จุดยืน หรืออุดมการณ์ แต่ควรมองไปที่ความต้องการที่แท้จริง” อาจารย์กนกรัตน์ กล่าว 

กฎหมายที่ใช้ไม่ได้ในชีวิตจริง 

“ไทยเรานั้นได้มีสัญญากับหลายประเทศซึ่งออกกฎหมายมาดีมาก แต่พอปฏิบัติจริง ๆ กลับทำไม่ได้ ความรุนแรงที่เขาทำกับเด็กมันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ” คุณากร กล่าว 

อย่างที่คุณคุณากรกล่าว ประเทศไทยมีอนุสัญญาระหว่างประเทศ เช่น อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child – CRC) ที่เด็กมีเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบ แต่ในความเป็นจริงมันกลับไม่ได้เป็นไปตามอนุสัญญาที่กล่าวไว้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการที่รัฐกระทำความรุนแรงต่อเด็ก หรือครอบครัวที่เมื่อเด็กเห็นต่าง เด็กก็โดนทำร้าย แทนที่รัฐจะช่วยเด็ก กลับมองเด็กเป็นศัตรูแทน 

พื้นที่ปลอดภัยของเด็กยังพอมีอยู่ ?

พื้นที่ปลอดภัยของเด็กในปัจจุบันยังเหลือไหม พื้นที่ปลอดภัยแรกที่ทุกคนจะคิดก็ต้องเป็นครอบครัวใช่ไหม เพราะครอบครัวเป็นสิ่งที่ใกล้ชิดกับตัวเด็กมากที่สุด แต่ในความเป็นจริงแล้วความใกล้ชิดนั้น กลับทำให้ความรุนแรงทวีคูณขึ้นหรือเปล่า สุดท้ายแล้วพื้นที่ปลอดภัยของเด็กอยู่ที่ไหน ?

ธญานี ได้กล่าวถึงพื้นที่ปลอดภัยของเด็กว่า “เด็กหลายคนไม่ได้รับความรุนแรงจากเพียงแค่รัฐ แต่ยังได้รับความรุนแรงจากครอบครัว จนเด็กบางคนต้องออกจากบ้าน หรือฆ่าตัวตายเลยก็มี เพราะมันไม่มีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กในสังคมเลย เด็กก็ต้องคอยประคับประคองกันเอง”  

หลังจากที่ธญานีได้กล่าวถึงพื้นที่ปลอดภัยของเด็ก พิธีกรก็ได้ถามอาจารย์มานะจากมุมมองของผู้ปกครองถึงการเปิดพื้นที่พูดคุยในครอบครัว 

อาจารย์มานะตอบกลับไปว่า “ผู้ใหญ่ต้องเริ่มออกมารับฟังเด็กได้แล้ว แม้คุณจะไม่เห็นด้วยทุกอย่าง แต่คุณก็ต้องเคารพสิทธิ์ของเด็ก เลิกใช้ความรุนแรงแทนความรัก เด็กเองก็ต้องเข้าใจผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ก็ต้องถอยออกมา หลายอย่างที่เห็นต่างอย่าพึ่งตัดสินกัน ควรเปิดพื้นที่คุยกัน เราต้องคอยประคับประคองลูก เราต้องทำ เพราะมันเป็นหน้าที่ของผู้ปกครอง” 

หลังจากจบงานเสวนา  เราได้โทรศัพท์ไปสัมภาษณ์อาจารย์มานะเพิ่มเติม ถึงประเด็นที่รัฐทำความรุนแรงกับเด็กและการเลี้ยงดูลูกของอาจารย์  

อาจารย์มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ เป็นรองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้า และอาจารย์ยังเป็นพ่อของลูกชายที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 

ถ้าเป็นคนอื่นอาจจะปิดโอกาสในการแสดงออกความคิดเห็น แต่ครอบครัวของอาจารย์เปิดพื้นที่ให้ลูก วันงานเสวนาอาจารย์ได้กล่าวไว้ว่า “บางทีความคิดเราอาจไม่ได้ตรงกับลูก แต่เราก็ต้องเคารพในสิทธิของเขา” 

แล้วสำหรับความรู้สึก ความเข้าใจ ภาพที่รัฐและผู้ใหญ่ทำกับเด็กในทุกวันนี้เป็นอย่างไร และมันจะยังเป็นอย่างนี้ต่อไปหรือเปล่า ? 

Part 1: ความรู้สึก

เราทุกคนมีความรู้สึกกันอยู่แล้ว รวมถึงอาจารย์มานะด้วย เราจะไปถอดรหัสเพื่อทำให้ทุกคนเข้าใจถึงความรู้สึกของอาจารย์มานะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของลูกอาจารย์ หรือเพื่อนของอาจารย์ ความรู้สึกที่หลายคนอาจยังไม่รู้ 

อาจารย์เปิดบทสนทนาด้วยคำพูดที่ดูอบอุ่นแต่ก็มีความเคร่งขรึม ในช่วงเวลานั้นพระอาทิตย์ตกดินแล้ว อาจารย์ได้พูดถึงเพื่อนที่มีจุดยืนต่างกันว่า 

“เราโตเป็นผู้ใหญ่ระดับหนึ่ง บางอย่างเรื่องความคิดทางการเมืองกับเรื่องของความสัมพันธ์ ถ้าคนที่เขาคิดได้ เขาก็จะแยก อย่างเพื่อนของผมเองก็มีความคิดที่หลากหลาย แล้วบางเรื่องที่คุยได้เราก็คุย บางเรื่องคุยแล้วมันจะเกิดปัญหาทะเลาะกัน ผมคิดว่าหลาย ๆ คนเขาก็จะเลี่ยง ในการคุยเรื่องพวกนี้

“มันไม่ใช่เรื่องที่จะเอาชนะกันได้ด้วยคำพูด ปกติความคิดความเชื่อคนมันสั่งสม มันผ่านประสบการณ์โดยเฉพาะผู้ใหญ่ เพราะฉะนั้นมันคงไม่ได้มีผลกระทบมาก เพราะว่าถ้าคนที่อาจจะเห็นต่าง แต่มีความสัมพันธ์ที่ดี ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงาน หรือเพื่อนในชีวิตปกติโดยทั่ว ๆ ไป ก็แยกแยะได้ ผมเลยไม่เจอกับปัญหานี้เท่าไหร่” 

ต่อมา อาจารย์ได้เล่าถึงความรู้สึกที่มีต่อลูกชายของอาจารย์ที่ถูกดำเนินคดี ม.112

“มันไม่ได้ถึงขั้นเสียใจ อาจจะรู้สึกว่าสะเทือนใจมากกว่าที่เกิดปรากฏการณ์นี้ ไม่ใช่เฉพาะในส่วนของลูกอาจารย์คนเดียว แต่กับคนในรุ่นของพวกเขา ที่หลายครอบครัวพัง วันนั้นถ้าคุณอยู่ในเวทีเสวนาก็คงได้ยินว่า หลาย ๆ คน พ่อแม่บางคนอาจจะไม่ได้ตอบรับกับเรื่องที่ลูกอาจมีความเห็นที่แตกต่างกันเท่าไหร่ มันก็เลยอาจมีปัญหากันในหลายครอบครัว

“ซึ่งคนกลุ่มนี้มันจำเป็นต้องพูดคุย หลายครั้งคนรุ่นพ่อแม่โดยเฉพาะรุ่นปู่ย่า อาจจะมีความคิดความเชื่อบางอย่างที่แตกต่างจากเด็กรุ่นหลัง เด็กรุ่นหลังมีประสบการณ์ องค์ความรู้ โลกที่ได้เจอผ่านสื่อ ผ่านอินเทอร์เน็ต ผ่านอะไรต่าง ๆ ที่มีความต่างจากคนรุ่นก่อน เพราะฉะนั้น สังคมควรที่จะมีการพูดคุยทำความเข้าใจกัน ไม่ใช่ไปเปลี่ยนความคิดของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง 

“เด็กเองอาจจะไม่สามารถเปลี่ยนความคิดของพ่อแม่ หรือปู่ย่าตายายได้หมดอยู่แล้ว หรือแม้กระทั่งพ่อแม่ปู่ย่าตายายเองก็คงไม่สามารถเปลี่ยนความคิดความเชื่อของเด็กได้ เพราะว่าความคิดความเชื่อไม่ได้เหมือนกับการกินยาแล้วหาย คือมันไม่ได้ป่วย มันต้องใช้เวลาในการพูดคุย ถึงที่สุดแล้วมันอาจคิดต่างกัน เพียงแต่ว่าเข้าใจกันมากขึ้น ว่าเออ คนรุ่นลูก คนรุ่นหลาน หรือคนรุ่นปู่ย่าตายาย คนเป็นพ่อแม่คิดอย่างนี้เพราะอะไร 

“ทั้งสองฝ่ายอาจจะไม่ได้เห็นเหมือนกันก็ได้ แต่ทำความเข้าใจ แล้วก็เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน ด้วยความเคารพซึ่งกันและกัน ผมคิดว่าอันนั้นมันน่าจะคือสิ่งที่เหมาะสมในยุคนี้ ไม่จำเป็นต้องบังคับเพียงแต่ว่าทำความเข้าใจ อยู่ร่วมกันโดยยอมรับในความหลากหลาย” 

Part 2: ความเข้าใจ 

มนุษย์เราต้องมีความเข้าใจกัน หากพูดคุยกันแต่ไม่เข้าใจกัน สุดท้ายมันก็อาจจะเกิดความรุนแรงกันทั้งสองฝ่าย ใน Part นี้ เราจะพาทุกคนไปพบกับความเข้าใจของอาจารย์ ซึ่งสะท้อนมุมมองในการทำความเข้าใจของคนต่าง Gen กันของสังคม   

ความคิดที่เปลี่ยนไปหลังจากเกิดเหตุการณ์ การถูกดำเนินคดีของลูกชาย

อาจารย์ได้ตอบว่า “ไม่เลย เรื่องนี้ไม่ทำให้เปลี่ยนอะไรมากมาย โดยส่วนตัวก็สอนลูกอยู่แล้วว่าให้มีความรับผิดชอบ เปิดโอกาสให้เขาเลือกทำในสิ่งที่เขาคิดว่าถูกต้อง แน่นอนหลายอย่างเราในฐานะพ่ออาจจะไม่ได้เห็นด้วยทุกอย่าง เราก็พยายามคุยให้เห็นว่ามันจะมีผลกระทบอะไร  ในที่สุดแล้ว เขาก็เป็นคนตัดสินใจเอง และที่สำคัญคือเมื่อเขาเลือกทำหรือไม่ทำอะไรมันก็จะมีผล เขาก็จะต้องรับผิดชอบในสิ่งที่เขาทำหรือไม่ทำนั้นด้วยเช่นเดียวกัน

ด้วยความสงสัย เราเลยถามอาจารย์เกี่ยวกับการเลี้ยงดูลูกของอาจารย์ว่าแตกต่างจากคนอื่นอย่างไร อาจารย์ได้ตอบด้วยน้ำเสียงคงเดิมว่า 

“ผมคิดว่าไม่น่าจะแตกต่างกันมาก เพียงแต่ว่าเน้นให้เขาคิด รับผิดชอบด้วยตัวของเขาเอง พูดยากว่าต่างจากคนอื่นมากน้อยแค่ไหน ผมคิดว่าผมเน้นเขาในเรื่องความคิดมากกว่าในยุคสมัยของเราที่เด็กในโรงเรียนมันไม่มีโอกาสในการคิดตั้งคำถามได้มากนัก ในระบบการเรียนการสอนยุคนั้น ครูจะเป็นคนบอกว่าอะไรถูกอะไรผิดโดยส่วนใหญ่

“นักเรียนก็ไม่ค่อยจะกล้าแย้งมากมายเท่าไหร่ แต่ว่าระบบการเรียนการสอนในหลายที่ โดยเฉพาะฝั่งตะวันตก ครูจะไม่ใช่คนที่บอกว่าอะไรถูก อะไรผิดทุกอย่าง แต่ครูจะกระตุ้นให้เด็กได้คิด ได้ตั้งคำถาม ครูจะทำหน้าที่เหมือนคนที่คอยกระตุ้นให้เด็กได้คิด ซึ่งการคิดหลายครั้งของเด็กอาจจะผิดก็ได้ แต่เขาก็ได้เรียนรู้ด้วยว่า เขาคิดอย่างไร

“ผมคิดว่าอันนี้แหละคือตัวหนึ่งที่สอน ไม่ได้บังคับ100% ยกเว้นว่าบางทีบางอย่างมันจะมีผลกระทบกับร่างกายหรือความปลอดภัย อันนี้อาจต้องห้าม แต่ว่าโดยทั่วไปก็จะให้คิด เขาอาจจะแย้งเราก็ได้ เขาอาจจะมีความคิดที่ต่างกับเราก็ได้ แต่เขาต้องมีเหตุผลในการแย้งว่าเพราะอะไร”   

ตกลงแล้วเด็กต้องวิ่งตามผู้ใหญ่หรือผู้ใหญ่ต้องวิ่งตามเด็กกันแน่ ?

“มันต้องจูนเข้าหากัน มันคงไม่ใช่ฝ่ายใดวิ่งเข้าไปอย่างเดียว คงไม่ใช่ว่าผู้ใหญ่บอกว่าเด็กต้องฟังเขาอย่างเดียว หรือเด็กจะบอกว่าผู้ใหญ่ต้องฟังอย่างเดียว ทั้งสองฝ่ายต้องเข้าหากัน บางเรื่องเด็กเองก็มีเหตุผลของเด็กเอง พ่อแม่เองก็อาจมีเหตุผลของพ่อแม่เอง ต้องคุยกัน ผมเชื่อว่าอย่างน้อยมันมีสายสัมพันธ์

“โดยเฉพาะอย่างเรื่องครอบครัว เรายังมีความรักความผูกพันกันอยู่ เพียงแต่ว่าอย่าให้ความคิดความเชื่อมาทำลายความสัมพันธ์ในครอบครัว ผมคิดว่าตรงนั้นมันอาจเป็นสิ่งสำคัญ 

“ห่วงอยู่เหมือนกันว่าหลายครอบครัว เริ่มแตกมันจะยิ่งเยียวยากันลำบาก ถ้าคุยกับพ่อแม่ไม่ได้ มันก็จะยิ่งแย่กันไปใหญ่ อย่างน้อยคุยกันได้ ไม่ต้องถึงขั้นต้องคิดแบบเดียวกันเชื่อเหมือนกัน ให้ยอมรับว่าคุณคิดอย่างนี้ เราคิดอย่างนี้ อันนั่นแหละน่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้หลายๆ อย่างมันคลี่คลายมากขึ้น” 

Part 3: สิ่งที่รัฐและผู้ใหญ่ทำกับเด็กทุกวันนี้

“จริง ๆ เปรียบให้เป็นภาพ ก็เหมือนกับพ่อแม่แหละที่รักลูก แต่ว่าต้องใช้วิธีการเลี้ยงดูอีกแบบหนึ่งแล้ว แบบถ้าเป็นเมื่อก่อนใช้ไม้เรียวอย่างเดียวเพื่อให้หลาบจำ มันคงใช้ไม่ได้ผลในยุคนี้ จำเป็นที่ต้องทำความเข้าใจ จำเป็นที่ต้องคุย ซึ่งในระดับที่ใหญ่ที่สุดขึ้นไปกว่าครอบครัวก็เช่นเดียวกัน การใช้ความรุนแรง การใช้มาตรการทางกฎหมายเพียงอย่างเดียวมันจะไม่ได้ผลเหมือนในอดีตแล้ว จำเป็นที่จะต้องใช้การพูดคุยทำความเข้าใจ อย่างรอบด้านเพื่อที่จะแก้ปัญหาร่วมกันจะดีกว่า” 

สิ่งที่อาจารย์มานะกล่าวก็อาจจะไปคล้ายกับสำนวนสุภาษิตที่ว่า “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” ในสมัยก่อนนั้นการตีอาจจะเป็นเรื่องปกติ มักจะสอนให้เด็กเจ็บปวดเพื่อจะได้หลาบจำ แต่ในปัจจุบันนั้นใช้ไม่ได้แล้ว 

เพราะถือเป็นการคุกคาม กระทรวงศึกษาจึงออกกฎห้ามครูตีนักเรียน แต่ในปัจจุบันก็ยังมีให้เห็นอยู่ สำนวนสุภาษิตนี้อาจจะไม่เปลี่ยนไป แต่คนต้องเปลี่ยนแปลงไปตามโลก ไม่ใช่ยึดถือสิ่งนั้นไปตลอด โดยไม่ยอมรับการพัฒนา 

สุดท้ายนี้ เราก็หวังว่าจะยังมีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กให้ได้จริง ๆ และความรุนแรงที่รัฐหรือผู้ใหญ่บางคนกระทำต่อเด็กก็ขอให้หายไป เราขอทิ้งท้ายด้วยประโยคของธญานี จากงานเสวนาว่า“เด็กทุกคนอย่าพึ่งท้อถอย ถึงทุกวันนี้เราจะอยู่ท่ามกลางหนามแหลมคม แต่สักวันเราจะหลุดพ้น แล้วพบกับทุ่งท่ามกลางแสงอาทิตย์อันสดใส เพียงแค่ให้ทุกคนยังมีความฝันในโลกที่ดีกว่า รักษาตัวตนของตัวเองเอาไว้ วิ่งไปด้วยกัน แล้วสักวันหนึ่งมันจะเป็นของเรา” 

อ้างอิงข้อมูลจาก

  • งานเสวนา เมื่อผีเสื้อตัวน้อยขยับปีก: สิทธิเด็ก ความหวัง ความฝัน ผลกระทบ เมื่อเด็กต้องการมีส่วนร่วมทางสังคม
  • จินดา ชัยพล ผู้จัดการมูลนิธิสายเด็ก 
  • ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ธญานี เจริญกุล ตัวแทนเยาวชน
  • ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ ตัวแทนผู้ปกครอง
  • คุณากร มั่นนทีรัย ทนายความเครือข่ายเพื่อสิทธิมนุษยชน
  • พิธีกรดำเนินรายการโดย พชร สูงเด่น รองบรรณาธิการ The Momentum