หนึ่งปียังไม่ชนะ: เเพ้น็อกยกสาม ลุกอย่างไรไม่ให้ล้มอีก - Decode
Reading Time: 3 minutes

“เฟซบุ๊กแจ้งเตือนว่า วันนี้ของปีที่แล้วดิฉันให้สัมภาษณ์ถึงการระบาดระลอกสองของประเทศจีนและเกาหลี ซึ่งตอนนั้นรัฐบาลไทยมัวแต่ทำขึงขังเอาระลอกสองของประเทศอื่นมาเตือน (ปนดุและขมขู่) ประชาชน โดยไม่ได้ตามไปดูว่าเขาเจอระลอกสองด้วยเหตุผลอะไร เขาจัดการกันด้วยวิธีไหน เผื่อเราเองจะเจอระลอกสอง ระลอกสามด้วย จะได้นำมาเป็นบทเรียนตั้งรับได้ทัน แต่ที่ต้องชื่นชมคือส่วนของแพทย์และสาธารณสุขเพราะเขาเรียนรู้จึงตั้งรับกับระลอกสองได้”

โควิด-19 อยู่กับเรามาครบปี ความโดดเดี่ยว สิ้นหวัง และวิถีชีวิตใหม่ก็ไม่ได้หายไปไหน หลายประเทศอาจฟื้นตัวดีขึ้น ขณะที่ประเทศซึ่งถูกยกยอว่าจัดการกับโควิด-19 ระลอกแรกได้ดีติดอันดับต้น ๆ ของโลกอย่างไทย สภาพตอนนี้กลับไม่ต่างจากคนแพ้น็อกบนเวทีมวยเท่าไรนักเพราะถูกซัดหมัดใส่หน้าอย่างจังทั้งที่กำลังลุก แล้วปัจจัยสำคัญคืออะไรกัน ประชาชนการ์ดตก รัฐล้มเหลว หรือเพราะเชื้อโควิดกลายพันธุ์เกินกว่าจะควบคุม เพื่อไม่ให้โทษปี่โทษกลอง De/code จึงชวน ผศ.ดร ทวิดา กมลเวช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการภัยพิบัติ มาพูดคุยถึงปัจจัยที่ทำให้ไทยน็อกหมัดรอบสาม พร้อมกับทางออกของความร่วมมือที่น่าจะช่วยให้ลุกแบบไม่ต้องล้มอีก

จาก “วิกฤติ” สู่ “ภัยพิบัติ” เกือบจะรอดแต่ก็ร่วง

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกแรกและระลอกสอง อาจเรียกได้ว่าเป็น “วิกฤติ” เพราะระยะแรกที่เพิ่งเผชิญแม้รัฐค่อนข้างไร้ความสามารถในการจัดการ ซึ่งมาจาก 2 ปัจจัยหลัก ๆ หนึ่งคือความไม่รู้ (Unknown) ต่อโรคใหม่ และสองคือความไร้ศักยภาพในการบริหารป้องกันการแพร่ระบาด แต่เมื่อผ่านไปสักระยะรัฐก็ยังกู้สถานการณ์ให้กลับมาควบคุมได้ ขณะที่ระลอกสามครั้งนี้แตกต่างออกไปและคงเรียกได้เต็มปากว่าขยับเป็น “ภัยพิบัติ” แล้ว เพราะหากพิจารณาในแต่ละมุม จะพบว่าปัญหาซึ่งหน่วยงานที่ข้องเกี่ยวต้องจัดการนั้นหนักเกินกว่าความสามารถจะรับไหว อันดับแรกเลยคือโรงพยาบาลหลักไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วย จนต้องเปิดโรงพยาบาลสนามเพิ่มขึ้นหลายแห่ง และโรงพยาบาลสนามก็ล้นจนไม่อาจรับผู้ป่วยได้หมดเช่นกัน ในโซเชียลมีเดียจึงได้เห็นคนจำนวนหนึ่งต้องออกมาโพสต์ขอความช่วยเหลือ บางคนถูกปฏิเสธรับเข้ารักษาด้วยเหตุที่โรงพยาบาลรับไม่ไหวแล้ว ซึ่งภาวะแบบนี้ว่ากันตามตรงน่าหดหู่ใจมาก

ระบาดระลอกใหม่จึงเหมือนพาหวนกลับไปในระลอกแรกหรืออาจหนักกว่าด้วยซ้ำ อย่างไรก็ดีควรกล่าวด้วยว่าการผันเปลี่ยนสู่สภาวะภัยพิบัติเช่นว่าเกิดจากปัจจัยหลัก ๆ อย่างน้อยสามประการ หนึ่ง คือรัฐลักลั่นในการจัดการ ช่วงก่อนการระบาดประเทศเหมือนกำลังลุกจนแทบกลับมายืนได้ เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว แต่เมื่อมีการระบาดอีกในรอบสามรัฐจึงกลืนไม่เข้าคายไม่ออกว่าจะเทน้ำหนักไปทางไหนดี จะใช้มาตรการขั้นสูงเช่นล็อกดาวน์ ปิดร้านค้าโดยเร็วเพื่อจำกัดวงการแพร่เชื้อ หรือควรผ่อนคลายให้คนระมัดระวังตัวเองก็พอ สุดท้ายจะเห็นว่ารัฐเลือกวิธีแบบกลาง ๆ ซึ่งแง่หนึ่งก็ดีกับเศรษฐกิจแต่อีกแง่ก็คือคนติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นจนยากจะรับมือไหว สอง คือเชื้อเป็นเชื้อสายพันธุ์ใหม่ที่แพร่ระบาดได้ง่ายและอาการรุนแรงกว่า สุดท้าย คือการระบาดรอบนี้มีความขาดพร่องในการติดตามต้นตอของการแพร่ระบาด จะเห็นว่าช่วงต้นเดือนเมษายนที่การระบาดถูกป่าวประกาศออกมาอึกทึกครึกโครม เราก็จะมุ่งสนใจแต่จุดคลัสเตอร์ตรงผับย่านทองหล่อ และไม่ได้ให้ความสำคัญกับกลุ่มคนที่เป็นต้นตอของเชื้อจริง ๆ เพราะการรู้ต้นตอจะช่วยให้รัฐและสาธารณสุขวางแผนได้ดีกว่า คนทั่วไปถ้าเข้าถึงข้อมูลก็สามารถ Trace ธรรมชาติได้ด้วยตัวเอง

การสื่อสารของความเชื่อมั่น

นอกจากปัจจัยทั้งสามแล้ว ระลอกใหม่นี้ถ้าพูดถึงการสื่อสารของรัฐก็ต้องยอมรับว่ายังคงมีปัญหา ประการสำคัญคือมุ่งแต่ปรับปรุงตัวผู้ส่งสาร (Sender) เป็นหลัก แต่ละเลยข้อมูลสำคัญของสารที่จะสื่อออกไป ถ้ารับฟังการแถลงไม่ว่าจะจาก ศบค. หรือนายกรัฐมนตรีเราจะเห็นรูปแบบซ้ำ ๆ คือมักจะเป็นไปในลักษณะของการตีโพยตีพายโทษประชาชนและให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน บวกกับพยายามบังคับให้ประชาชนต้องทำหนึ่ง สอง สาม สี่ โดยไม่แสดงให้เห็นถึงข้อมูลที่น่าเชื่อถือว่าทำแล้วจะเกิดผลดียังไง ไม่ทำจะมีผลเสียอะไรบ้าง เขาจะได้เห็นว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวไม่ใช่บอกว่าทำเพื่อชาติอย่างเดียว ซึ่งถ้ายังเป็นแบบเดิมแม้จะเปลี่ยนตัวผู้ส่งสารอีกกี่คนหรือจะเปลี่ยนช่องทางสื่อสารอีกกี่วิธี ประชาชนก็คงไม่ได้รับข้อมูลที่อยากจะรู้หรือควรจะรู้ซึ่งเป็นประโยชน์แก่การปฏิบัติในเวลานั้น ๆ ฉะนั้นเพื่อสร้างความเชื่อมั่นรัฐจึงต้องประเมินว่าวันนี้ เวลานี้ ประชาชนอยากรู้หรือต้องรู้เรื่องอะไรก็เตรียมข้อมูลมาพูดให้เขาฟัง

อย่างไรก็ตามความเชื่อมั่นจะเกิดขึ้นจริง ๆ ไม่ใช่แค่ Message ที่สื่อสารดีเท่านั้น อีกสิ่งสำคัญคือต้องมี Active Action ด้วย อย่างเช่นการที่รัฐบาลตอบรับว่าจะจัดสรรให้ Walk in เข้ามาฉีดวัคซีนได้ นับว่าเป็นการตอบรับที่ดี ทว่าก็ต้องถามต่อด้วยว่าวางระบบพร้อมหรือยัง เพราะในแง่การจัดการ สื่อสารอะไรออกมาแล้วก็ควรทำได้ในทันที หากประชาชนตัดสินใจมาเลือกฉีดก็ต้องจัดสรรให้ได้ ถ้าทำแบบนี้ได้คนก็เชื่อมั่นในวัคซีนและการจัดการของรัฐมากขึ้นแน่นอน

ลุกอย่างไรให้กลับมายืนได้อย่างมั่นใจ

“ลุกขึ้นทำพร้อมกัน” คือโจทย์ที่ทุกภาคส่วนต้องตระหนักถ้าอยากยืนขึ้นแบบไม่ล้มอีก และเรื่องที่ควรร่วมกันทำอย่างเร่งด่วนตอนนี้หลัก ๆ มี 5 เรื่อง ได้แก่ การจัดการเรื่องวัคซีน การจัดการระบบการแพทย์และสาธารณสุข การจัดการกับพื้นที่และกลุ่มเสี่ยง และการ resume เชิงพื้นที่

อันดับแรกที่ควรทำให้สำเร็จคือการบริหารจัดการวัคซีน เพราะจะเป็นบันไดขั้นแรกไปสู่การทำข้ออื่น ๆ จำนวนวัคซีนมีเท่าไหร่ตรงนี้ไม่ทราบชัด แต่โจทย์สำคัญตอนนี้คือประชาชนส่วนหนึ่งขาดความเชื่อมั่นไปแล้วเห็นได้จากการลงทะเบียนผ่านแพลตฟอร์มหมอพร้อมที่เปิดมานานกว่าครึ่งเดือนแต่จำนวนคนที่ลงทะเบียนมีเพียง 4.9 ล้านคน จากกลุ่มเป้าหมาย 16 ล้านคน รัฐบาลจึงควรสร้างความเชื่อมั่นกลับมาให้ได้  ส่วนการบริหารจัดการวัคซีนก็ต้องวิเคราะห์ด้วยฐานข้อมูลจากสาธารณสุขบวกกับฐานข้อมูลด้านอื่น ๆ โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ แนวทางการฉีดวัคซีนที่ควรทำจึงเป็นไปในสองลักษณะ หนึ่ง คือพิจารณาฉีดให้กับคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงด้านสุขภาพ สอง คือพิจารณาเชิงพื้นที่ โดยดูว่าจังหวัดไหนที่มีความจำเป็นต้องพยุงภาคบริการและท่องเที่ยวก่อนก็อาจจัดให้มีการฉีดแบบครอบคลุมทั้งพื้นที่เพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยวและฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาได้  ทั้งนี้นอกจากการบริหารเชิงพื้นที่แล้ว ระบบที่จะรองรับการฉีดวัคซีนก็ต้องมีความสะดวกและเข้าถึงง่ายด้วย เพราะถ้าต้องฝ่าฟันเฝ้ารอหลายกระบวนท่าประชาชนก็อาจหน่ายใจได้

เรื่องต่อมาที่สำคัญไม่แพ้กันคือการจัดการระบบสาธารณสุขให้มีความเพียงพออย่างมีศักยภาพต่อการรองรับผู้ป่วย โดยผู้ป่วยที่มีอยู่ขณะนี้ต้องเข้าสู่ระบบการรักษาให้ได้หมด เริ่มจากการบริหารทรัพยากรบุคคลที่มีอยู่ให้ตรงจุดและเกิดประโยชน์สูงสุด แพทย์ พยาบาลที่มีความรู้ในเรื่องการรักษาก็ควรออมแรงพวกเขาให้สามารถจดจ่อกับการการรักษาอย่างเต็มที่ ส่วนการบริการฉีดวัคซีนตรงนี้คิดว่าสามารถฝึกฝนอบรมกลุ่มสาธารณสุขหรืออาสาสมัครชุมชนมาร่วมช่วยได้ ด้านการเพิ่มพื้นที่รองรับ แนวคิดการสนับสนุนให้โรงแรมทำบริการเชิง Quarantel (Quarantine+Hotel) ก็เป็นอีกประการที่ควรทำ คนที่เฝ้าดูอาการจะมีทางเลือกในการกักตัวมากขึ้น ขณะที่โรงแรมก็จะมีรายได้ แต่จะทำเช่นนี้สำคัญคือรัฐบาลก็ต้องสนับสนุนข้อมูลรวมถึงทรัพยากรจำเป็นต่าง ๆ ด้วย อาจจะพบกันที่ครึ่งทางก็น่าจะทำได้

เรื่องที่สามคือการจัดการพื้นที่และกลุ่มเสี่ยง ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างหน่วยจัดการระดับพื้นที่และหน่วยงานทางสาธารณสุข อย่างแรกเลยคือจัดการให้คนพื่นที่เสี่ยงสูงได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึง และหากพื้นที่ไหนต้องล็อกดาวน์จริง ๆ เหมือนกับกรณีของสมุทรสาครที่ผ่านมา รัฐก็ต้องสนับสนุนทรัพยากรอันจำเป็นให้เขาด้วย ส่วนพื้นที่ ๆ ยังไม่เสี่ยงมากก็ต้องได้รับข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนด้วยนะ เพื่อว่าเมื่อจัดการกับพื้นที่เสี่ยงเรียบร้อยการดำเนินวัคซีนแก่พื้นที่เสี่ยงจะได้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและทันท่วงที ด้านการจัดการต่อกลุ่มคนที่เป็นกิจกรรมจำเป็นอันเสี่ยง อาทิ กลุ่มอาชีพไรเดอร์ คนทำงานบริการ พนักงานขับรถประจำทาง รัฐต้องสร้างทางเลือกที่ปลอดภัยให้แก่พวกเขา อย่างคนขับรถโดยสารประจำทางหรือคนขับรถแท็กซี่ถ้าจะส่งเสริมให้เขาได้ติดแผ่นกั้นระหว่างตัวเองกับผู้โดยสาร อาจจะเป็นแผ่นใสหรือวัสดุอะไรก็แล้วแต่ ก็น่าจะช่วยคลายความเสี่ยงได้มากขึ้น

สำหรับสองเรื่องสุดท้ายเป็นเรื่องของการฟื้นฟูเศรษฐกิจและ exit strategy กับเรื่องการ resume เชิงพื้นที่ กล่าวคือขณะใช้มาตรการทางสาธารณสุขก็ต้องคำนึงถึงมาตรการทางเศรษฐกิจควบคู่ไปด้วย โดยอาจเริ่มจากการ resume พื้นที่ภายในประเทศก่อน ตั้งแต่การเปิดพื้นที่ให้ท่องเที่ยวข้ามจังหวัดระหว่างกลุ่มจังหวัดที่มีการจัดการได้ดี จากนั้นก็ขยับไปทำในระดับระหว่างประเทศ โดยหากสามารถจัดการตัวเองให้พร้อมทั้งเรื่องวัคซีนและการรักษา การยื่นมือไปจับกลุ่มกับประเทศอื่นเพื่อทำ “Travel Bubble” ก็จะมีความเป็นไปได้สูง 

ถึงแม้จะแบ่งออกเป็นเรื่อง ๆ แต่ก็ไม่ได้หมายถึงว่าให้ทำเรื่องนึงและหยุดทำอีกเรื่องก่อน ถ้าจะให้เกิดผลก็ควรทำไปพร้อม ๆ กัน เพราะทั้ง 5 เรื่องนี้เกี่ยวโยงและส่งผลต่อกันหมด

ทั้งนี้การจะลุกได้หรือไม่ ตัวผู้นำเองก็เป็นปัจจัยหลักประการหนึ่ง ถ้าพิจารณาโควิด-19 เฉพาะในบริบทสังคมไทยแล้ว ผู้นำที่มีความเหมาะสมควรมีลักษณะสำคัญอย่างน้อยสองประการ หนึ่ง เป็นคนที่มีเหตุมีผลในการวิเคราะห์และรับมือกับสถานการณ์  สอง เป็นคนที่กล้าตัดสินใจและกล้าทำ เมื่อเจอข้อผิดพลาดแล้วต้องสามารถแก้ไขได้รวดเร็วและป้องกันไม่ให้กลับไปผิดพลาดซ้ำสองอีก และก็ต้องตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วน คณะทำงานของรัฐบาลจึงต้องเตรียมพร้อมข้อมูลเพื่อให้ผู้นำสามารถใช้ประกอบการตัดสินใจได้ทันท่วงที เพราะสถานการณ์ภัยพิบัติมันคือการตัดสินใจบนความไม่แน่นอนจึงต้องหาสิ่งที่ช่วยให้ตัดสินใจได้ดีที่สุด

อย่างไรก็ดีการจัดการวิกฤติทุกครั้งมักมีความขัดแย้งเสมอ ถึงที่สุดจะมีทั้งคนที่ถูกใจและส่ายหัว ดังนั้นผู้นำจึงต้องเข้าใจข้อสำคัญประการนี้ด้วย โดยพยายามทำให้การบริหารจัดการของตัวเองให้ไปไกลกว่าแค่ในฐานะคนตัดสินใจ แต่ควรรู้สึกร่วมว่าตัวเองเป็นผู้ประสบกับภัยนั้นด้วย

สิ่งนี้จะทำให้การแก้ไขในเชิงความร่วมมือดำเนินไปได้ง่ายมากขึ้น ท้ายที่สุดหากถามว่าบทเรียนของประเทศไหนบ้างที่สามารถนำมาปรับใช้กับบริบทสังคมไทยได้ โดยส่วนตัวชื่นชอบการจัดการของไต้หวันมากที่สุดแต่ก็เชื่อว่ารัฐบาลไทยคงทำตามเขาไม่ได้ เพราะมีบริบททั้งในเชิงวัฒนธรรมและพัฒนาการการแพร่ระบาดที่แตกต่างกัน แต่คิดว่าอังกฤษน่าจะเป็นประเทศที่เราสามารถถอดบทเรียนมาใช้ได้มากสุดเพราะพัฒนาการของระลอกระบาดมีความใกล้เคียงกับไทย แนวทางสำคัญคือเขามีความเข้มงวดในเชิงมาตรการบวกกับความพยายามให้การกระจายการตรวจโรคและการฉีดวัคซีนแก่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย ขณะนี้อังกฤษจึงเริ่มฟื้นตัวได้แล้ว

นอกจากนี้สิ่งที่ผู้นำไทยสามารถเรียนรู้จากผู้นำอังกฤษได้โดยตรงก็คือสื่อสาร เพราะผู้นำของเขาสื่อสารโดยยึดผู้ฟังเป็นศูนย์กลาง (ผู้เรียบเรียง)

เรื่องโดย: ผศ.ดร ทวิดา กมลเวช / เรียบเรียงโดย: อติรุจ ดือเระ