สู่ความเวิ้งว้างอันไกลโพ้น เรื่องราววิทยาศาสตร์ในประเทศที่การประกาศทะยานสู่ดวงจันทร์นั้นน่าชวนหัว - Decode
Reading Time: 2 minutes

“เราจะไปดวงจันทร์กันทำไม ?” 

คงเป็นคำถามที่อยู่ในใจหลาย ๆ คน เมื่อได้อ่านข่าวว่า ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) คนปัจจุบัน ประกาศว่าไทยจะเป็นชาติที่ 5 ของเอเชีย ที่สามารถส่งยานอวกาศไปโคจรรอบดวงจันทร์ภายใน 7 ปี 

ความทะเยอทะยานเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ให้ก้าวหน้าเป็นเรื่องดี แต่ก่อนจะทะยานสู่ความเวิ้งว้างอันไกลโพ้น อาจต้องกลับมาดูโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยก่อนว่า เอื้อต่อความทะเยอทะยานนี้ขนาดไหน ไม่ให้เป้าหมายมันเคว้งคว้างหาประโยชน์ไม่ได้ 

โครงสร้างพื้นฐานวิทยาศาสตร์ไทยจะดีได้ ไม่ใช่แค่การปฏิรูปภายในวงการวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่การปฏิรูปการเมืองตามวิถีประชาธิปไตยก็เป็นเรื่องที่ต้องทำควบคู่ไปด้วยกัน 

แล้ววิทยาศาสตร์เกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างไร ? ทำไมสองเรื่องนี้ถึงเกี่ยวข้องกันได้ ? 

แอดมินเพจ “วิทยาศาสตร์และการเมือง – Scientists for Thai Politics” ทั้ง 4 คน ได้แก่ หมี แบล็ค  ลองกอง และเอฟ (นามสมมุติ) กลุ่มคนเรียนสายวิทยาศาสตร์ หรือ “คนรุ่นเดียวกับคนที่ไปม็อบ” ที่ต้องการเสียดสีแนวคิดวิทยาศาสตร์กระแสหลักในสังคมไทย จะมาให้มุมมองและคำตอบ (ที่ไม่ใช่สูตรสำเร็จ) ว่าวิทยาศาสตร์ไม่ได้ขาวบริสุทธิ์เหมือนแป้งอย่างที่เราคิด ในความเป็นจริงแล้วมันปนเปื้อนสกปรกเสมอมา 

“ถ้าการเมืองดี นักวิทย์ประเทศนี้คงไม่ตกงาน” 

ประโยคข้างต้นคือคำอธิบายของเพจวิทยาศาสตร์และการเมือง ที่ชวนให้คนนอกวงการวิทยาศาสตร์อย่างผู้เขียนใคร่รู้ว่า นักวิทยาศาสตร์ในไทยประสบปัญหากับการหางานทำมากน้อยขนาดไหน 

เอฟยกกรณีตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรมว่า “สาขาฟิสิกส์ในมหาวิทยาลัยหนึ่งที่จบมา ประกาศรับตำแหน่งอาจารย์ฟิสิกส์ 3 ตำแหน่ง มีคนสมัคร 50 คน เท่ากับว่าจะมีอีก 47 คนที่ตกงาน” 

สาเหตุที่ทำให้คนตกงานจำนวนมากขนาดนี้ แบล็คมองว่าเกี่ยวกับการที่รัฐไม่ได้สนับสนุนคนที่จบสายวิทยาศาสตร์เท่าที่ควร 

“คนที่เรียนจบทางด้านวิทยาศาสตร์ไม่ว่าจะสาขาไหน ความเสี่ยงทุกคนไล่เลี่ยกันหมดเลย สุดท้ายแล้วต่อให้คุณจบอะไรมา ต่อให้คุณเชี่ยวชาญแค่ไหน ถ้ารัฐไม่ได้สนับสนุนเรื่องของทุนหรือทรัพยากรมันก็จบ” 

ลองกองเสริมต่อว่า ไม่ใช่แค่รัฐเท่านั้น แม้แต่บริษัทเอกชนเองก็แทบไม่ได้มีบทบาทในเรื่องงานวิจัย “ถ้าไม่เป็นเพราะบริษัทเล็กไป ก็เพราะเป็นบริษัทลูกจากต่างชาติ ดังนั้น เขาก็ไม่รู้ว่าจะจ้างนักวิจัยมาทำไม สุดท้ายนักวิจัยก็จะกลับไปอยู่ที่ภาครัฐมากกว่า ทำให้ตำแหน่งงานมันน้อยลงไปอีก” 

ปัญหาที่กล่าวมานี้ ในต่างประเทศก็เกิดขึ้นเช่นกัน ทว่าสิ่งที่แตกต่างกันคือ ในต่างประเทศทั้งรัฐและเอกชนต่างก็เปิดรับคนจบสายวิทยาศาสตร์เข้าทำงาน ทำให้มีทางเลือกในการสมัครงานหลากหลายกว่าในไทย แบล็คยกตัวอย่างคนเรียนจบปริญญาเอกให้ฟังว่า “ในต่างประเทศหลาย ๆ บริษัทและหน่วยงานขาดแรงงาน ป.เอก ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาเฉพาะด้าน ดังนั้น พวกเขาจะดำเนินการแบบเชิงรุก เช่น จัดจ๊อบแฟร์ในมหาวิทยาลัย ทุกบริษัทแย่งกันให้ออปชันต่างๆ ” 

หมีเสริมประเด็นด้วยตัวอย่างของกองทัพบกสหรัฐอเมริกา ที่รับสมัครคนเรียนจบปริญญาเอกในแต่ละปีเป็นร้อยคน เป้าหมายการรับคนเข้าทำงานมีความหลากหลาย มากกว่าเอามาทำงานวิจัยเพื่อการทหาร 

“สมมติจบชีววิทยา ถ้ากองทัพบกเล็งเห็นแนวทางที่จะเอาสาขาชีววิทยาไปปรับใช้ได้ก็จะจ้างงานทำ พอกลับมามองในไทยเหตุที่ไม่ค่อยมีใครอยากจ้างนักวิทย์ไปทำงานมาจากเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน สมมติทำวิจัยเรื่องนิวเคลียร์ฟิวชั่นในไทยไม่มีตำแหน่งงานให้แน่นอน โครงสร้างพื้นฐานที่จะมารองรับตรงนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ ถึงแม้จะมีความเชี่ยวชาญมากๆ แต่ไม่มีงานให้ทำมันก็เหมือนตกงาน” 

วิทยาศาสตร์ที่ไม่บริสุทธิ์และเจือปนไปด้วยการเมือง 

“วิทยาศาสตร์มันไม่บริสุทธิ์ มันเละเทะ มันเปื้อน มันสกปรกอยู่ตลอดเวลา เขาพยายามจะทำให้มันดูดี แต่คนที่เข้าไปอยู่ข้างในวงการก็คงรู้กันดีว่ามันสกปรก” 

หมีตอบกลับต่อความเข้าใจของคนทั่วไปที่มักคิดว่าวิทยาศาสตร์ไม่เกี่ยวกับการเมือง และวิทยาศาสตร์ในความคิดของเขาและแอดมินเพจคนอื่น ๆ ก็เห็นในทางเดียวกันว่ามันไม่บริสุทธิ์ เหมือนที่ลองกองกล่าวว่า 

“ไม่ว่าอย่างไรก็แล้วแต่การเมืองมันเกี่ยวกับทุกภาคส่วนในสังคม วิทยาศาสตร์มันอยู่ในทุกอณูของชีวิต จริง ๆ แล้วการเมืองมันมาเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะด้านการวิจัย เพราะว่ารัฐกำหนดงานวิจัยของประเทศว่าให้ไปทางไหน ควรให้งบงานไหน หรืองานไหนไม่ควรได้งบ” 

แบล็คยกตัวอย่างกรณีในประวัติศาสตร์ของนักวิทยาศาสตร์ 2 คนเปรียบเทียบกันคือ กาลิเลโอ กาลิเลอี (Galileo Galilei) ที่อาศัยอยู่ในอิตาลีซึ่งเป็นรัฐคาทอลิก กับโยฮันเนส เคปเลอร์ (Johannes Kepler) ที่อาศัยอยู่ในเยอรมนีและทำงานในราชสำนักโปรเตสแตนต์ 

ในขณะที่งานของกาลิเลโอถูกต่อต้านมาตลอดในช่วงที่เขายังมีชีวิตอยู่ ถูกกล่าวหาว่ามันไร้สาระและหักล้างคำสอนของศาสนาคริสต์ แต่เคปเลอร์ไม่ถูกต่อต้าน ซ้ำยังได้รับการสนับสนุนจากกษัตริย์ให้ทำวิจัย ลงทุนสร้างหอดูดาวให้เอาไว้ใช้งาน มันก็ไม่เหมือนกันแล้ว ดังนั้นการเมืองกับวิทยาศาสตร์มันเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ออกเลยด้วยซ้ำ” 

ลองกองเสริมต่อว่า “ในรัฐคาทอลิกอย่างอิตาลีที่ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการตีความของไบเบิล ถ้าคุณเห็นแย้งอะไรกับไบเบิลขึ้นมา คุณมีสิทธิ์ที่จะโดนจับเข้าคุกหรือไม่ก็โดนกล่าวหาว่าเป็นพวกนอกรีตได้เลย” 

กรณีข้างต้นชี้ให้เห็นว่ารัฐที่อ้างอิงความศักดิ์สิทธิ์และผูกขาดความรู้มากเกินไป มีส่วนทำให้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไม่ก้าวหน้า คงไม่ต่างอะไรกับรัฐเผด็จการที่ยังหลงเหลืออยู่ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งมักผูกขาดความรู้ไม่ต่างกัน ในความเห็นของแบล็ค รัฐ/ระบอบการปกครองที่จะไปได้ดีกับวิทยาศาสตร์จะต้องเป็น “ประชาธิปไตย” ที่มีเสรีภาพทางวิชาการและการแสดงความคิดเห็น อันเป็นองค์ประกอบสำคัญยิ่งของวิทยาศาสตร์ 

“เพราะวิทยาศาสตร์ต้องการความตรงไปตรงมาและความถูกต้อง ดังนั้นสมมติว่ารัฐบาลออกนโยบายอะไรสักอย่างแล้วนักวิทยาศาสตร์ไม่เห็นด้วย เขาก็มีสิทธิ์แย้งว่าทำอย่างนี้ไม่ถูก ต่อให้รัฐถูกวิจารณ์แค่ไหนก็ไม่มีสิทธิ์ไปเก็บเขา ไม่มีสิทธิ์ไปปิดปากเขา แต่ถ้าย้อนกลับไปมองในระบอบการปกครองที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยในอดีต เช่น นาซีเยอรมันหรือสหภาพโซเวียตยุคสตาลิน ถ้านักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการสายอื่น ๆ พูดอะไรที่ไม่เข้าหู ก็โดนเก็บหมดเลย” 

ลองกองเสริมประเด็นต่อเรื่องนาซีเยอรมันที่เอาทฤษฎีวิวัฒนาการของชาร์ลส ดาร์วิน (Charles Darwin) มาสนับสนุนนโยบายเชื้อชาติเยอรมันที่เสนอว่าชาวอารยันเป็นพวกที่สูงส่งเพราะมีวิวัฒนาการสูงกว่า ถือเป็นการใช้วิทยาศาสตร์ในทางที่ผิดและขัดกับทฤษฎีอย่างสิ้นเชิง 

“การที่มีวิวัฒนาการเหนือกว่าไม่ได้หมายความว่าจะเหนือกว่าชนชาติอื่น ๆ มันแค่เหมือนมีขั้นวิวัฒนาการเหนือกว่าเฉย ๆ ซึ่งถามว่าผลของการบิดเบือนข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ทำให้เกิดอะไรขึ้น คนตายไปตั้งเท่าไร วิทยาศาสตร์บิดเบือนนิดนึง คุณฆ่าคนไปแล้วเป็นล้านคน” 

เฉพาะ “โฮโลคอสต์” (holocaust) หรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวโดยนาซีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีชาวยิวเสียชีวิตประมาณ 6 ล้านคน ถ้ารวมกรณีอื่น ๆ ด้วยมีผู้เสียชีวิตทั้งหมดประมาณ 17 ล้านคน แสดงให้เห็นว่า เมื่อวิทยาศาสตร์ถูกบิดเบือนเพื่อใช้ในปฏิบัติการทางการเมืองด้วยมุมมองที่เห็นค่าของความเป็นมนุษย์ไม่เท่ากัน ย่อมนำพามาซึ่งความสูญเสียอันมิอาจประเมินค่าได้ 

ทุนรับใช้รัฐ 

เรื่องของทุนสนับสนุนการวิจัย ไม่ว่าจะเป็นทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) หรือสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้งานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ได้รับการพัฒนา แต่เมื่อวิทยาศาสตร์เกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างไม่อาจแยกออกจากกัน ไฉนเลยเรื่องทุนสนับสนุนจะปราศจากเสียซึ่งการเมืองไปได้ 

หมีกล่าวถึงเครือข่ายกลุ่มนักวิจัยที่จะมีโอกาสได้ทุนว่า “ถ้าอยู่ในกลุ่มวิจัยที่มีชื่อเสียงก็จะมีโอกาสได้ทุนมากกว่า และด้วยทุนที่มีให้มันไม่เยอะ ถ้าดูเฉพาะทุนทางวิทยาศาสตร์ เม็ดเงินก็น้อยจำนวนทุนก็น้อย ดังนั้นโอกาสที่ได้ทุนก็น้อยมาก ถ้าคนที่ได้ทุนเป็นกลุ่มเดิม ๆ มันก็ชัดเจนอยู่ในตัว” 

แต่ทั้งนี้ทุนวิจัยจะถูกใช้ไปในแนวทางไหนรัฐจะเป็นผู้กำหนด ดังที่เอฟอธิบายว่าทุนสนับสนุนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ต้องอิงกับนโยบายของรัฐ โดยเฉพาะนโยบายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี “จะต้องมีคำเชื่อมโยงให้ขอทุนง่ายขึ้น ทั้ง ๆ ที่งานเราไม่ได้เกี่ยวข้อง ประเด็นนี้สะท้อนถึงเสรีภาพทางวิชาการที่ไทยมีน้อยมาก” 

ลองกองยกตัวอย่างงานวิจัยของตัวเองเรื่องหนึ่งว่า “อาจารย์เขาต้องให้เขียนด้วยซ้ำว่ามันโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีอย่างไร อยู่ในหัวข้อไหนไม่รู้จะโยงไปทำไม ทำให้มันยุ่งยากกว่าเดิม แล้วก็ขอทุนยาก ยังไม่นับเรื่องเครือข่ายขององค์กรให้ทุนอย่าง สกสว. หรือ วช.” 

ลองกองทิ้งท้ายก่อนจบประเด็นนี้ว่า “เราพยายามวิจารณ์ระบบหรือเครือข่ายเท่านั้น ไม่ได้วิจารณ์ที่ตัวบุคคล แต่ระบบแบบนี้ที่มันยึดโยงกับตัวบุคคลเป็นสิ่งที่ไม่ยั่งยืน” 

ในเมื่อวิทยาศาสตร์เป็นศาสตร์ที่มีพลวัตไม่หยุดนิ่ง การกำหนดเกณฑ์การให้ทุนที่ผูกโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่วางแผนนโยบายตั้งแต่ปัจจุบันถึงอนาคต (ที่ยังไม่เกิดขึ้น) ในโลกที่เผชิญกับสภาวะความไม่มั่นคงตลอดเวลา จึงเป็นสิ่งที่ย้อนแย้งและขัดกับความเป็นวิทยาศาสตร์ (และศาสตร์อื่น ๆ)  รัฐจะมองเห็นปัญหาและปรับเกณฑ์ให้ยืดหยุ่นไปตามแนวทางที่ควรจะเป็นหรือไม่ ผลงานที่ผ่านมาของผู้ถืออำนาจรัฐในขณะนี้อาจช่วยประเมินทิศทางได้ 

มายาคติในประวัติศาสตร์ของวิทยาศาสตร์ไทย 

“ชนชั้นนำคือผู้วางรากฐานทุกสิ่งทุกอย่างในสังคมไทย” 

ประโยคข้างต้นน่าจะรวบยอดใจความประวัติศาสตร์ไทยกระแสหลักได้ดีที่สุด เพราะแม้แต่ประวัติศาสตร์ของวิทยาศาสตร์ไทยเองก็อยู่ภายใต้โครงเรื่องนี้ เห็นได้จากการถวายพระราชสมัญญานามแด่รัชกาลที่ 4 ให้ทรงเป็น “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” อันเป็นผลจากพระราชกรณียกิจของพระองค์ที่ทรงคำนวณการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงได้อย่างแม่นยำเมื่อปี 2411 

แบล็คเห็นว่าโครงเรื่องข้างต้น “มีความจริงแค่ครึ่งเดียว” ชนชั้นนำไทยไม่สามารถสร้างสรรค์วิทยาศาสตร์ได้ลำพัง แต่ต้องพึ่งวิทยาการหลายอย่างจากชาวต่างชาติ 

“คนไทยได้มารู้จักวิทยาศาสตร์จริง ๆ ก็ไม่ได้มาจากรัฐ แต่เป็นมิชชันนารีชาวต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นหมอบรัดเลย์ (Dan Beach Bradley) และหมอเฮาส์ (Reynolds Samuel House) ที่เข้ามาในสยามตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 เขาไม่ได้มาแค่เผยแผ่ศาสนา แต่มาพร้อมกับองค์ความรู้ทางการแพทย์และแนวคิดวิทยาศาสตร์อีกหลายอย่าง เช่น การผ่าตัดครั้งแรกก็เกิดขึ้นโดยหมอบรัดเลย์” 

กรณีของเจ้าฟ้ามหิดลฯ ผู้ได้รับการถวายพระสมัญญาภิไธยจากแพทย์และประชาชนทั่วไปว่า “พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย” ก็ทรงปฏิบัติหน้าที่ด้านการแพทย์และการสาธารณสุขหลายอย่าง ร่วมกับมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ที่ได้ทำโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศด้อยพัฒนาต่าง ๆ รวมถึงไทยในขณะนั้นด้วย ความร่วมมือนี้ได้นำไปสู่การขอความอนุเคราะห์ให้มูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ มาปรับปรุงวิชาแพทยศาสตร์และวิชาวิทยาศาสตร์ของคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งก่อตั้งขึ้นมาเพื่อสอนวิชาพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ให้กับนิสิตคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล 

ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ รวมถึงการแพทย์และการสาธารณสุข จะมาจากวิทยาการความรู้ของต่างชาติ เพียงแต่โครงเรื่องประวัติศาสตร์ของรัฐไทยที่เน้นชาตินิยม (ไทย) คงจะไม่ยอมให้ใครอื่นที่ไม่ใช่ไทยขึ้นมามีบทบาทเด่นเป็นอันขาด 

จุดเปลี่ยนสำคัญวิทยาศาสตร์ไทยคือหลังการอภิวัฒน์สยาม 2475 ที่อำนาจการเมืองเปลี่ยนมือจากเจ้าสู่คณะราษฎร นโยบายรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยให้ความสำคัญอย่างมากกับวิทยาศาสตร์ แบล็คยกตัวอย่าง ดร.ตั้ว ลพานุกรม หนึ่งในสมาชิกคณะราษฎร ผู้ที่ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์คนแรก ซึ่งต่อมาหน่วยงานนี้ได้รับการพัฒนามาเป็นกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในปัจจุบัน และยังดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกอิสระ (ชื่อตำแหน่งตอนได้รับใน พ.ศ. 2482) เภสัชกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้ส่งเสริมนโยบายด้านวิทยาศาสตร์หลายอย่างให้แก่สังคมไทย โดยเฉพาะด้านเภสัชกรรมที่ส่งเสริมให้ทั้งในแง่ของการศึกษาและการตั้งโรงงานเภสัชกรรมในไทย 

ส่วนผู้นำอย่างจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ออกนโยบายโภชนาการตามหลักวิทยาศาสตร์ เช่น การส่งเสริมให้กินสารอาหารครบถ้วน การส่งเสริมให้ปลูกถั่วเหลืองทั่วประเทศเพื่อเสริมสร้างโปรตีนให้ประชาชน แต่ในอีกมุมหนึ่ง ลองกองกล่าวถึงนโยบายโภชนาการนี้ว่า “จริง ๆ มันค่อนข้างเป็นแนวคิดที่มากับสิ่งที่เรียกว่า ‘ฟาสซิสต์’ เพราะฟาสซิสต์มันเป็นลัทธิชาตินิยมที่ต้องการให้คนในชาติแข็งแรง เป็นกำลังในการทำงานต่าง ๆ” ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรดังที่แบล็คกล่าวว่า “ในบริบทสังคมโลกยุคนั้น ตั้งแต่ยุค 1870 หลังจากที่จักรวรรดิเยอรมันสถาปนาขึ้นมา แนวคิดชาตินิยมและสุขอนามัย มันก็บูมตามไปด้วย” 

ต่อให้คณะราษฎรจะพัฒนานโยบายด้านวิทยาศาสตร์มากขนาดไหน แต่แบล็คมองว่าจะให้เครดิตกับคณะราษฎรอย่างเดียวไม่ได้ เพราะมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ก็ยังคงมีบทบาท แม้จะชะงักไปช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่หลังสงครามก็กลับมาทำโครงการต่าง ๆ ต่อ 

“ย้อนกลับไปที่คำถามว่าชนชั้นนำคือผู้วางรากฐานจริงๆ ไหม มันก็มีส่วนเพราะชนชั้นล่างทำอะไรไม่ได้เลย ทีนี้การปฏิวัติ 2475 ทำให้ชนชั้นล่างเริ่มมีโอกาสที่จะมาเป็นชนชั้นนำมากขึ้น พอเปลี่ยนระบอบการปกครอง ลดอำนาจกษัตริย์ มันส่งผลให้คนธรรมดาอย่าง ดร.ตั้วมามีบทบาทในเรื่องวิทยาศาสตร์ได้” 

ประโยคที่หมีกล่าวทิ้งท้ายข้างต้น ตอกย้ำในสิ่งที่พูดคุยมาก่อนหน้าว่า ระบอบประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะทำให้วิทยาศาสตร์ก้าวหน้า และสามัญชนก็สามารถขึ้นมามีบทบาทสำคัญภายใต้ระบอบนี้ 

วิทยาศาสตร์ไทยใต้ร่มเงาของ อว. 

ย้อนกลับมาที่นโยบายไปดวงจันทร์กันอีกสักครั้งก่อนจะจบบทสนทนา ในมุมมองของแอดมินเพจทุกคนยังคงยืนยันว่า ต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ในประเทศ และปฏิรูปการเมืองให้ดีเสียก่อนจะคิดการใหญ่ทะยานสู่ดวงจันทร์ สังคมจะได้ไม่ต้องตั้งคำถามว่าทำไมต้องไปดวงจันทร์

การที่ อว. มีนโยบายอย่างนี้ ทำให้แบล็คนึกถึง “Space Race” การแข่งขันอวกาศระหว่างสหภาพโซเวียตแข่งกับสหรัฐอเมริกาที่เริ่มจากการแข่งส่งยานอวกาศและคนไปดวงจันทร์ “สหรัฐอเมริกามีอะไร สหภาพโซเวียตก็ต้องมีตาม แล้วกลายเป็นว่าสุดท้ายปลายยุค 1980 สหภาพโซเวียตถังแตก เพราะเอางบประมาณไปทุ่มกับโปรเจค Space Race จากนั้นสหภาพโซเวียตล่มสลาย เศรษฐกิจก็ล่มลงตาม” 

เอฟเสริมกรณีนี้ต่อว่า “กรณีของสหภาพโซเวียตแม้จะล่มสลาย สุดท้ายวิทยาศาสตร์ของสหภาพโซเวียตที่สืบทอดมายังรัสเซียตอนนี้ ก็สร้างรากฐานวิทยาศาสตร์ที่แข็งแกร่งมาก แต่เราจะไปดวงจันทร์เรายังไม่ได้มีวิทยาศาสตร์ที่แข็งแกร่งเลย”  

แล้วเหตุผลที่ต้องการจะไปดวงจันทร์ เหมือนที่ลองกองกล่าวว่า “ไม่มีเหตุผลพอที่จะไป” ถ้าจะประกาศความยิ่งใหญ่ของประเทศแบบยุคสงครามเย็นก็คงจะล้าสมัยไปแล้ว คำถามถึงเหตุผลของความจำเป็นก็ยังคงมีอยู่ต่อไป ตราบที่ อว. ยังไม่ให้เหตุผลที่แน่ชัด

อย่างไรก็ตาม การเกิดขึ้นของ อว. จากการรวมกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติเข้าด้วยกัน อาจเป็นสัญญาณที่ดีในการเปลี่ยนวิทยาศาสตร์ให้ก้าวหน้าขึ้น…หรือไม่ ?  

หมีกล่าวว่า “ถ้าเข้าใจไม่ผิด การรวมโครงสร้างแบบ อว. คล้ายกระทรวง Education and Research ของเยอรมนี ซึ่งเป็นกระทรวงที่ครอบคลุมทั้งการศึกษา วิทยาศาสตร์และงานวิจัย และหน่วยงานวิจัยของเยอรมันเขามีมากมาย แต่ก็นั่นแหละ รีแบรนด์แค่ชื่อ เพราะว่าเจ้าหน้าที่อะไรต่าง ๆ มาจากกระทรวงวิทย์เหมือนเดิมเลย มันไม่ค่อยได้ผลเท่าไร และไม่เชื่อว่าจะทำได้ ถ้าไม่ได้ปรับโครงสร้างภายในให้ดีขึ้น” 

ความคิดเห็นทั้งหมด น่าจะพอชี้ให้เห็นว่าวิทยาศาสตร์แยกไม่ออกจากการเมือง เพราะถ้าการเมืองดี วิทยาศาสตร์ก็จะก้าวหน้า และถ้าเสรีภาพทางวิชาการและแสดงความคิดเห็นไม่ถูกปิดกั้น การสร้างสรรค์ทางวิทยาศาสตร์ก็จะดีขึ้น โครงสร้างรัฐจะต้องถูกปฏิรูปเพื่อเป็นบันไดให้นักวิทยาศาสตร์ได้ก้าวขึ้นไปแตะขอบฟ้าที่อยู่สูง พร้อมประกาศความสำเร็จ ณ บนนั้น 

จงพึงระลึกเถิดว่ากะลาครอบความรู้ที่ถูกเปิดแง้มไว้เพียงน้อยนิด คงไม่มีพลังมหาศาลพอจะทะยานสู่ดวงจันทร์ได้