Review วัคซีน: Pfizer / Astrazeneca / Moderna จากผู้ฉีดจริงในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ - Decode
Reading Time: 2 minutes

Decode ชวนอ่าน Review จากคนไทยในต่างแดน ที่ให้สัมภาษณ์ไว้ในรายการ ไทยพีบีเอสสู้โควิด-19 ประจำวันที่ 15 พ.ค. 64 ถึงประสบการณ์ฉีดวัคซีนทั้ง  Pfizer / Moderna / Astrazeneca  ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น และวิธีการบริหารจัดการกระจายวัคซีนของประเทศต่างๆ จากพวกเขาทั้ง 3 คน 

พิทยาภรณ์ ธนัญไชย

จี๋ – พิทยาภรณ์ ธนัญไชย เมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา ฉีด Pfizer

ได้ฉีด Pfizer เข็มแรกต้นเดือนเมษายน และเว้นไป 3 สัปดาห์เพื่อฉีดอีก 1 เข็ม ที่ทำงานจะมี Chat Group ไว้คุยกันว่า ใครไปฉีดวัคซีนยี่ห้ออะไรจะมาแชร์กัน

เท่าที่เห็นข้อมูล Pfizer จะเป็นตัวที่เอฟเฟกต์น้อยที่สุดเมื่อเทียบกับ Moderna ประสบการณ์ส่วนตัวหลังฉีด ผลข้างเคียงเข็มแรกแทบไม่มี ส่วนเข็มที่สองจะอ่อนเพลียและปวดแขน บริษัทที่ทำงานถ้าไปฉีดวัคซีนมา วันรุ่งขึ้นถ้าคุณรู้สึกเพลีย สามารถใช้ลาหยุดได้โดยที่ไม่เสียวันลา 

“ก่อนฉีดก็ไม่ได้กังวลอะไร ส่วนใหญ่ที่คุยกับคนที่นี่ เขาอยากจะฉีดเพื่อสังคมจะได้สามารถกลับมาเปิดได้เร็วขึ้น ผู้บริหารเขาก็ให้ข้อมูลออกมาเป็นแนวเดียวกันหมด ไม่ว่าจะนักการเมือง คณะแพทย์ คือสนับสนุนให้คนออกมาฉีดกัน มีที่จอดรถ อาหารว่างฟรี เขามีการกระจายและมีการดึงเอกชนมาร่วมให้ได้มากที่สุด”

ข้อแนะนำถึงประเทศไทย

“ประเทศไทยน่าเสียดาย เพราะจริงๆ ควรเปิดประเทศได้ก่อนคนอื่น ถ้าเราปูพรมฉีดวัคซีนกันมาตั้งแต่ต้นปี ป่านนี้คงได้เปิดรับนักท่องเที่ยวแล้ว  ปัญหาของประเทศไทยคือเรื่องความชัดเจนของนโยบาย และใช้บุคคลที่ไม่เหมาะสมในการสื่อสาร”

สมชัย สุวรรณบรรณ

สมชัย สุวรรณบรรณ เมืองเอสเซ็กซ์ สหราชอาณาจักร
ฉีด Astrazeneca 

“ผมฉีด Astrazeneca เข็มแรกไม่มีอาการผิดปกติ อาจจะเพลียๆ  แต่พอนอนตื่นเช้ามาก็กลับมาปกติไม่มีปัญหาอะไร สำหรับคนที่เห็นข่าวผลข้างเคียงของ  Astrazeneca หมอเคยแนะนำผมว่า คนที่จะเกิดอาการลิ่มเลือด จะเกิดอาการปวดศีรษะรุนแรงต่อเนื่อง ตาพร่ามัว เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก ขาบวมปวดท้อง

“ประเทศอังกฤษ อ่านข้อมูลมามีเคสตัวอย่าง 4 คน จาก 1 ล้านคนที่มีอาการลิ่มเลือด แล้วอาการลิ่มเลือดของที่นี่ ไม่ได้น่ากลัวเท่าไหร่ ถ้าหากรู้ตัวแต่แรกรีบไปรักษาก็จะหาย

“ผมฉีดวัคซีนเข็มแรก 18 กพ. เข็มที่สองเมื่อวันเสาร์ที่ 8 พ.ค โดยประเทศอังกฤษเขาจัดกลุ่มผู้ฉีดวัคซีนตามอายุ  ฉีดไล่มาจากคนที่มีอายุมากๆ  จนมาถึงกลุ่มผมก็จะมีจดหมายมาที่บ้าน มีรายละเอียดบอกว่า ให้คุณเข้าไป Log-in ในเว็ปไซต์ และลงทะเบียนเพื่อฉีดวัคซีน โดยเขาจะกำหนดมาเลยว่าสถานที่ไม่เกิน 10 กิโลเมตรจากบ้านของคุณ โดยจะอ้างอิงจากรหัสไปรษณีย์เป็นหลัก เราสามารถเลือกทั้งวันและศูนย์ที่อยากจะไปฉีดได้เอง ใช้เวลาในการฉีดไม่ถึง 10 นาที

“ที่นี่ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร การฉีดวัคซีนจะได้รับอย่างเท่าเทียมกันหมด โดยยึดตามอายุอย่างนายกรัฐมนตรีอายุ 50 กว่าๆ เขาก็เพิ่งได้ฉีด  คือเขาวางแผนมาอย่างดีแล้วว่า แต่ละกลุ่มประชากรมีเท่าไหร่ ต้องเตรียมวัคซีนเท่าไหร่ โดยการกระจายเปิดศูนย์ฉีดพร้อมกันทั่วประเทศ และแต่ละศูนย์อาจจะเป็น ที่จอดรถห้าง IKEA, สนามกีฬา, สนามแข่งม้า, ศูนย์ประชุม, ร้านขายยา, รถบัส, โบสถ์, วิหาร, สุเหร่า” 

ข้อแนะนำถึงประเทศไทย

“ปัญหาของไทยผมคิดว่าตัวเลือกวัคซีนน้อย  และถ้ามีคนลงทะเบียนเข้ามาเยอะๆ จะสามารถบริหารจัดการได้ไหม มีการกระจายศูนย์ฉีดวัคซีนครอบคลุมทั่วประเทศได้หรือไม่ อย่างที่อังกฤษมีอาสาสมัครจำนวน 5-6 หมื่นคน ที่จะช่วยสนับสนุนการฉีดวัคซีน อีกเรื่องคือจำนวนสต๊อกวัคซีนที่เพียงพอต่อจำนวนประชากร อย่างของอังกฤษมี 4-5 ตัวที่จองไว้ กว่า 500 ล้านโดส จากจำนวนประชากร 66 ล้านคน”

จารยา บุญมาก

อุ้ย -จารยา บุญมาก อลามิด้าเคาน์ตี้ รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ฉีด Moderna 

ฉีด Moderna มาตั้งแต่ต้นปี ผลข้างเคียงหนักตามคำร่ำลือ  หลังจากฉีดเข็มแรกผ่านไป 15 นาทีไม่เป็นอะไร แต่พอผ่านไป 2 ชม. ไข้ขึ้นทันทีปวดแขนมาก มีอาการหนาวสั่น  แต่พอผ่านวันแรกไปไข้ลดลงจาก 99 ฟาเรนไฮต์ค่อยๆลดลงมาเหลือ 97 แต่การฉีดเข็มที่สองไม่ค่อยมีผลข้างเคียง วิธีการดูแลตัวเองคือ กินยาแก้ปวดและนอนหลับพักผ่อน

“เราได้ไปฉีดที่ห้องสมุด ภาครัฐเขาจะมีการอธิบายไว้แล้วว่า วัคซีนแต่ละชนิดจะมีผลข้างเคียงอย่างไร เขามีการเตือนเราอยู่แล้ว

“ในอเมริกากลุ่มแรกที่ได้รับวัคซีนคือ บุคลากรทางการแพทย์ เพราะสถานการณ์ตอนนั้นค่อนข้างหนัก กลุ่มต่อมาคือผู้สูงอายุ ที่นี่เขาจะกระจายวัคซีนตามสภาพของชุมชนที่มีประชากรเยอะ นโยบายหลักของอเมริกาคือ บุคลากรสาธารณสุขต้องไม่เสี่ยงชีวิตกับโควิด”

ข้อแนะนำถึงประเทศไทย

“ประเทศไทยพลาดตั้งแต่ระบบการสื่อสารเรื่องวัคซีน การสื่อสารรัฐต้องจริงใจ ควรให้ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง พอสื่อสารให้สับสนคนก็เริ่มหวั่นไหวแล้วว่า รัฐมนตรีสาธารณสุขพูดอย่าง นายกรัฐมนตรีพูดอีกอย่าง

“สิ่งที่คุณต้องทำอย่างแรกคือ สื่อสารให้คนเข้าใจว่าวัคซีนมันปลอดภัย และมันจำเป็นจริงๆ  อย่างเช่น ถ้าคุณสื่อสารว่า ร้านอาหารที่มีจำนวนบุคลากรฉีดครบจะให้เปิดก่อน หรือว่านโยบายการบินที่คนไม่ฉีดวัคซีนจะบินข้ามจังหวัดไม่ได้ หรืออย่างบริษัทเขาจะมีนโยบายชัดเจนว่า ถ้าคุณไม่ฉีดวัคซีน คุณจะกลับมาทำงานไม่ได้”

ทั้ง 3 คน มีเรื่องราวการฉีดวัคซีนที่แตกต่างกันออกไป ทั้งผลข้างเคียงหลังการฉีด รูปแบบการบริหารจัดการของแต่ละพื้นที่ แต่อย่างไรแล้ววันนี้ทั้ง 3 คน ก็ฉีดวัคซีนกันครบถ้วน และประเทศที่พวกเขาอาศัยอยู่ ก็กำลังกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติในเร็ววัน

แต่ดูเหมือนว่าสังคมไทย ณ ขณะนี้ เรายังคงย้ำอยู่ในเรื่องการตรวจหาเชื้อ, การสร้างความเชื่อมั่นให้คนกล้าที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีนมากขึ้น ทั้งที่ควรทำเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้นปี 2564

ในขณะที่ประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร ฉีดวัคซีนให้กับประชากรไปแล้วถึง 41% เมื่อเทียบกับประเทศไทยที่มีอัตราการฉีควัคซีนอยู่ที่ 1.5%  (ข้อมูล ณ วันที่ 15 พ.ค.  64)  ยิ่งสังคมได้รับวัคซีนล่าช้าไปเท่าไหร่ ความเสียหายทั้งทางเศรษฐกิจ และชีวิตก็จะยิ่งเรื้อรังและสูงขึ้นตามระยะเวลาที่เรายังคงรอคอยวัคซีนกันต่อไป