นิยายซีไรต์ในความหลัง ความหลง และความอยาก(อ่าน)ที่ถูกจริตกับคนรุ่นใหม่ - Decode
Reading Time: 2 minutes

“อยากอ่านงานแนวดิสโทเปียแบบรวมเรื่องสั้นสิงโตนอกคอก ที่แม้จะนำเสนอเรื่องจินตนาการแต่ก็ชวนให้คิดต่อว่าจินตนาการเทือกนั้นมันก็เป็นความจริงในสังคมของเราด้วย” – ฟ้าประทุม ผิวเนียม

“ประเด็นสำคัญที่อยากเห็นในงานซีไรต์ก็คือความเหลื่อมล้ำร่วมสมัยที่ไม่ใช่แค่ความรวยความจนหรือชนชั้นวรรณะ แต่อาจเป็นความเหลื่อมล้ำระหว่างครูกับนักเรียน” – จิรภัทร คงถนอมธรรม 

ฤดูประกวดซีไรต์วนเวียนกลับมาอีกครั้ง ปีนี้เป็นคิวของงานเขียนเรื่องยาวอย่างนวนิยาย แต่ดูเหมือนว่ากระแสความคึกคักแม้แต่ในแวดวงวรรณกรรมยังคงเงียบเชียบไม่แพ้สองสามปีก่อนหน้า หลายคนบอกว่าซีไรต์กลายเป็นเวทีประกวดขึ้นหิ้งที่ขาดความนิยมในปัจจุบันไปแล้ว? De/code ชวนฟังเสียงของนักอ่านและนักเขียนรุ่นใหม่ที่พูดคุยถึงความหลัง ความหลง และความอยากจะอ่านซึ่งพวกเขามีต่อนิยายซีไรต์กัน

พลอย ฟ้าประทุม ผิวเนียม – นักเขียนรางวัลเรื่องสั้นสภาสังคมสงเคราะห์ฯ ปี 2563

#ความหลังครั้งแรกอ่าน

อ่านหนังสือซีไรต์ครั้งแรกตอน ป.2 จากเรื่อง “ความสุขของกะทิ” ของงามพรรรณ เวชชาชีวะ ตอนนั้นก็ชอบน่ะ เพราะมันเป็นเรื่องราวที่เรียบง่าย ไม่ซับซ้อน ส่วนตัวรู้สึกว่าเล่มนี้เป็นเล่มเดียวที่ก้าวข้ามความอ่านยากของหนังสือซีไรต์ เด็ก ๆ สามารถเข้าถึงได้ในมุมมองตามช่วงวัย และยังเป็นเรื่องเดียวที่ตามต่อในภาคถัด ๆ มา ซึ่งตอนนี้ก็มีถึงภาค 4 แล้ว จนรู้สึกว่าตัวเองผูกผันและเติบโตไปพร้อมกับตัวละครเอกอย่างเด็กหญิงกะทิด้วย แต่มารู้เอาจริง ๆ ว่าเป็นหนังสือที่ได้รางวัลซีไรต์ก็ตอน ม. 1 จากนั้นมาพอเห็นตราซีไรต์ประทับบนปกเล่มไหนก็จะรู้สึกว่ามันต้องมีความโดดเด่นกว่าหนังสือทั่วไปแน่ ๆ จึงหาซีไรต์เล่มอื่น ๆ มาอ่านต่อ แต่ก็พบความจริงว่าไม่ใช่ทุกเล่มที่จะอ่านง่ายเหมือน “ความสุขของกะทิ” 

#ความหลง(รัก)ในบางเล่ม

คำพิพากษา ของชาติ กอบจิตติ เป็นนิยายซีไรต์ที่อ่านแล้วหลงรักมากที่สุด เนื้อหามันจับใจและชวนให้รู้สึกร่วมไปกับตัวละคร ตอนอ่านจบก็สัญญากับตัวเองว่าจะไม่กลับไปอ่านซ้ำอีกเพราะมันเศร้าและชวนหน่วงมาก ๆ เนื้อหาหลัก ๆ สะท้อนถึงการตีตราของคนในสังคมที่นำมาสู่การกีดกันชีวิตคน ๆ หนึ่งจนหมดสิ้นความหวัง ตัวละครอย่าง “ฟัก” ที่ถูกคนยัดเยียดว่ามีเพศสัมพันธ์กับ “สมทรง” แม่เลี้ยงของตน ทั้งที่เขาไม่ได้ทำ สะท้อนได้เป็นอย่างดี ซึ่งแก่นเรื่องนี้เองที่เข้ามาเปลี่ยนชุดความคิดเดิมของเราที่ว่า “ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย” เป็น “ความจริงจะตายไปพร้อมกับเราหากสังคมไม่ให้โอกาสเราได้พูดความจริง” และแม้เรื่องนี้จะเขียนขึ้นตั้งแต่สี่สิบปีที่แล้ว ถึงตอนนี้ก็นับว่ายังร่วมสมัยน่ะ เพราะสังคมไทยปัจจุบันคนยังคงตัดสินกันที่ภายนอก มองกันแค่เปลือกแบบผิวเผิน และส่งต่อความเข้าใจผิดกันรวดเร็ว โดยเฉพาะพอสื่อออนไลน์นี่เป็นพื้นที่ประณามกันชนิดไม่ค่อยจะสนความจริงสักเท่าไหร่

#ความอยากจะอ่านในยุคสมัย

อยากอ่านงานแนวดิสโทเปียแบบรวมเรื่องสั้นสิงโตนอกคอก ที่แม้จะนำเสนอเรื่องจินตนาการแต่ก็ชวนให้คิดต่อว่าจินตนาการเทือกนั้นมันก็เป็นความจริงในสังคมของเราด้วย ความพิเศษอีกอย่างคืองานแนวนี้ส่วนตัวรู้สึกว่ามันไปไกลกว่ากรอบขนบแบบไทย ๆ แต่มีความร่วมสมัยและเป็นสากล ส่วนประเด็นที่อยากเห็นคือความหลากหลายทางเพศ ที่ไม่ใช่แค่จิ้นฟินจิกหมอนกันน่ะ เพราะแนว ๆ นี้ก็มีให้เห็นในซีรีส์หรือนิยายทั่วไป แต่อยากเห็นประเด็น LGBTQ ที่มองบริบทรอบด้านและเผยปัญหาในเชิงลึกมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นความอัดอั้นในครอบครัวหรือที่ทางในสังคมเพราะพูดกันให้ถึงที่สุดทุกวันนี้แม้แต่จะทำความดีเช่นการบริจาคเลือดก็ยังเป็นเรื่องยากสำหรับ LGBTQ เลย และยังมีเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างการสมรสเท่าเทียมและอื่น ๆ อีกมาก ที่พวกเขายังถูกกดทับ เลยคิดว่าถ้าซีไรต์มีหนังสือที่เสนอประเด็นนี้บ้างก็น่าจะช่วย educate คนทุกช่วงวัยเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศได้ 

กอล์ฟ จิรภัทร คงถนอมธรรม – ยุวศิลปินไทย สาขาวรรณกรรม ปี 2563

#ความหลังครั้งแรกอ่าน

ตอนเด็ก ๆ ไม่ได้เติบโตมากับการอ่านวรรณกรรม หันมาอ่านซีไรต์จริง ๆ จัง ๆ ก็ตอนสนใจจะเขียนหนังสือ เล่มแรกที่อ่านคือรวมเรื่องสั้น “สิงโตนอกคอก” ของพี่ลี้ จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท เริ่มต้นจากที่ติดตามอ่านงานเขียนแนวชายรักชายของพี่ลี้ จนมารู้ว่าเขาเคยได้ซีไรต์เลยไปหามาอ่าน ซึ่งว่าไปแล้วความเป็นดิสโทเปียของแต่ละเรื่องก็ชวนให้ตื่นตาตื่นใจน่ะ เพราะในไทยไม่ค่อยเจองานประเภทนี้ซักเท่าไหร่ เมื่ออ่านแล้วก็ติดใจเลยไปหาเล่มอื่น ๆ มาลองอ่านดูบ้าง แต่พออ่านหลาย ๆ เล่มก็รู้สึกว่าซีไรต์แต่ละเล่มจะมีความเฉพาะกลุ่ม บางเล่มเหมาะกับคนวัยเรา แต่บางเล่มก็เหมาะกับวัยผู้ใหญ่มากกว่า

#ความหลง(รัก)ในบางเล่ม

ชอบเล่ม “ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต” ของพี่แหม่ม วีรพร นิติประภา ที่สุด ถึงเนื้อเรื่องจะไม่ได้เกี่ยวพันกับการสะท้อนสังคมการเมือง แต่ที่เรื่องนี้ทำได้ดีคือมันชวนให้เราได้สำรวจจิตใจของมนุษย์ด้วยกัน  ชวนให้เห็นความบอดใบ้ทางปัญญาและการยึดติดกับมายาคติที่ลวงล่อให้เราเป็นมนุษย์อย่างสมมติที่ควรจะเป็น อีกอย่างคือชอบวิธีการเล่าที่สลับฉากไปมาถึงจะเวียนหัวบ้างแต่ก็เป็นความแปลกใหม่ที่ชวนให้คนอ่านได้ขบคิดและปะติดปะต่อเรื่องเพื่อไปสู่ปลายทางที่ผู้เขียนซ่อนไว้ เสมือนหนึ่งว่าอ่านไปก็หลุดหลงไปในเขาวงกตด้วย

#ความอยากจะอ่านในยุคสมัย

อยากอ่านงานแนว ๆ ที่คนรุ่นก่อนและคนรุ่นใหม่เข้าถึงได้ และประเด็นสำคัญที่อยากเห็นในงานซีไรต์ก็คือความเหลื่อมล้ำร่วมสมัยที่ไม่ใช่แค่ความรวยความจนหรือชนชั้นวรรณะ แต่อาจเป็นความเหลื่อมล้ำระหว่างครูกับนักเรียน ความเหลื่อมล้ำระหว่างเพศที่ไม่ใช่เฉพาะชาย-หญิง แต่ระหว่าง LGBTQ ที่บุคลิกภาพดีกับที่ไม่ใช่พิมพ์นิยมก็ถูกจัดวางให้อยู่ในตำแหน่งแห่งที่ที่ต่างกันน่ะ สำคัญสุดคือคิดว่าเรื่องเหล่านี้มันเป็นเรื่องที่คนไทยอ่านแล้วจะรู้สึกร่วม ไม่จุกก็คงต้องพยักหน้าเห็นด้วยไปกับมันบ้างแหละ เพราะอะไรนะเหรอ? ก็เพราะสังคมไทยสุดจะเหลื่อมล้ำในทุก ๆ ด้านไง

หญิง สิริพร เชษฐสุราษฎร์ – ยุวศิลปินไทย สาขาวรรณกรรม ปี 2562

#ความหลังครั้งแรกอ่าน

เริ่มได้ยินคำว่าซีไรต์ ตอน ม.2 เพราะในห้องสมุดโรงเรียนครูสั่งหนังสือซีไรต์มาเพิ่มเยอะโดยเฉพาะหนังสือของวินทร์ เลียววารินทร์ เริ่มแรกเราก็เลยได้อ่านงานของวินทร์ก่อนงานอื่น ๆ จำได้ว่าตอนนั้นมี 2 เล่มหลัก ๆ คือประชาธิปไตยบนเส้นขนาน กับสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน แต่ว่ากันตามตรงก็ไม่รู้หรอกนะว่าซีไรต์คืออะไร พอขึ้นมัธยมปลายถามเพื่อนว่าอ่านซีไรต์กันไหม เหมือนเพื่อนเองก็แทบไม่มีใครรู้จัก จนเข้าเรียนมหาวิทยาลัยถึงได้เข้าใจจริง ๆ ว่ารางวัลซีไรต์คืออะไร หลายคนอาจบอกว่าซีไรต์อ่านยากแต่จริง ๆ มันก็ไม่ได้ยากทุกเล่มน่ะ มีหลายเล่มที่ลำดับเรื่องตามแนวขนบด้วยซ้ำ

#ความหลง(รัก)ในบางเล่ม 

เลือกนิยายเรื่อง “อมตะ” ของวิมล ไทรนิ่มนวล เพราะเป็นหนังสือแนว Sci-Fi ที่หยิบยกเอาปรัชญาศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง แก่นที่ฉายชัดคือการปะทะกันระหว่างวิทยาศาสตร์กับพุทธศาสนา คนเขียนสร้างตัวละครที่เป็นคนกับตัวละครที่เป็นโคลนนิ่งให้ท้าถามกันถึงความสำคัญเชิงเปรียบเทียบระหว่างจิตกับกายหยาบ ระหว่างความเป็นอมตะของกายวิภาคกับสุขสุดแท้อย่างการนิพพาน แล้วเราเองที่เป็นคนอ่านก็ฉุกคิดกับตัวเองด้วยคำถามเหล่านั้นน่ะ

#ความอยากจะอ่านในยุคสมัย

ใจจริงอยากอ่านงานที่พูดถึงเรื่องตัวตนและอัตลักษณ์ของมนุษย์ แนว ๆ งานเขียนเรื่อง “ลับแลแก่งคอย” ของอุทิศ เหมะมูล เพราะเรื่องนี้เขาถ่ายทอดตัวตนความเป็นคนสระบุรีที่ก่ำกึ่งว่าเป็นคนอีสานก็ไม่ใช่หรือจะเป็นภาคกลางก็ไม่เชิง ที่อยากเห็นงานแนว ๆ นี้เพราะมันจะชวนให้คนอ่านได้สำรวจความเป็นตัวเองกันอีกครั้ง อีกอย่างคืองานแนวนี้ยังมีน้อยมากในวงวรรณกรรมไทย หากความเป็นใต้ เป็นเหนือ หรืออีสานถูกหยิบมาฉายผ่านตัวอักษรโดยการเล่าที่เรียบง่าย เป็นสากล ไม่ว่าใครก็สามารถเข้าใจได้ อาจช่วยเปิดมุมมองต่ออัตลักษณ์ ความเป็นตัวตน สิ่งที่หล่อหลอมคนคนหนึ่งขึ้นมา ให้เราเข้าใจความเป็นมนุษย์มากขึ้น 

บทสรุป

คงไม่เกินเลยไปมากนักหากจะกล่าวว่าซีไรต์กำลังเลือนรางไปจากความทรงจำของคนรุ่นใหม่ที่กำลังเบ่งบานทั่วท้องทุ่งยุคสมัย พวกเขาถวิลหาวรรณกรรมที่พูดถึงความจริงและความเป็นไปของสังคมปัจจุบันมากกว่าจะย้อนย่ำกลับสู่อดีต เพราะสังคมปัจจุบันที่ดำรงอยู่มีปัญหามากมายที่วรรณกรรมอาจช่วยเผยเปิดและต่อยอดทางความคิดได้  ความอยากจะอ่านเรื่องความหลากหลายทางเพศของพลอย ความอยากเห็นเรื่องความเหลื่อมล้ำร่วมสมัยของกอล์ฟ และความสนใจเรื่องอัตลักษณ์ของหญิง ล้วนคือความหวังที่ไหลบ่าจากภายในซึ่งอยากจะสร้างยูโทเปียในโลกวรรณกรรม ทว่าความปรารถนาเช่นว่าคงไม่ใช่เพียงเพราะรสนิยมในการเสพอักษรเท่านั้น มันชัดเจนที่พอจะสรุปได้ว่าในโลกจริงพวกเขาเองก็หวังให้สังคมเปลี่ยนสู่ความเป็นยูโทเปียเช่นกัน

เเละหากให้เลือกหนังสือซีไรต์สักเล่มโดยไม่แบ่งแยกประเภทเพื่อยืนยันอีกหนึ่งความเห็นของคนรุ่นใหม่ “สิงโตนอกคอก” ก็น่าจะเป็นเล่มที่ประทับใจเพราะถ่ายทอดโลกความจริงร่วมสมัยที่น่าจะจับต้องได้มากที่สุดแม้เรื่องราวจะร้อยเรียงจากจินตนาการที่ล้ำเลิศก็ตาม เมื่ออ่านเล่มนี้และพินิจสังคมไปพร้อม ๆ กัน จะเห็นประเด็นหลากหลายที่ชวนให้ขบคิด ตั้งแต่สังคมจารีตกับการปิดกั้นเสรีภาพทางความคิด ความเหลื่อมล้ำ ความกล้าหาญทางจริยธรรม ไปจนถึงสตรีนิยมเช่นในเรื่องอดัมกับลิลิธ  กระนั้นแม้สิงโตนอกคอกคือเล่มที่ถูกจริตคนรุ่นใหม่ไม่น้อยแต่ท้ายสุดซีไรต์คงไม่สามารถเสกสรรค์หนังสือที่ถูกใจคนทุกคนได้ แต่สิ่งที่ซีไรต์น่าจะทำได้ในเร็ววันคือ การปรับนิยามความสร้างสรรค์เดิม ๆ ที่ยึดมั่นมาแต่อดีตสู่ความสร้างสรรค์ที่สดใหม่และเข้าใจยุคสมัยมากขึ้น