"รัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตย สื่อจะสะท้อนความจริงยังไง" - คุยกับ 'นภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์' WorkpointTODAY - Decode
Reading Time: < 1 minute

3 พ.ค. วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ด้าน RSF องค์การสื่อไร้พรมแดนระดับโลก เผยเสรีภาพสื่อไทยรั้งอันดับที่ 137 จาก 180 ประเทศทั่วโลก De/code จึงชวน “เอม-นภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์” บรรณาธิการบริหาร WorkpointTODAY และอดีตนักข่าว Nation Channel พูดคุยถึงเสรีภาพและทิศทางสื่อในระยะเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย

สื่อไทยมีเพดานและเสรีภาพก็มีไม่มากเท่าไหร่ ยิ่งสถานการณ์ปัจจุบันประเด็นการเมืองขยับไปไกลกว่าเมื่อก่อน บางเรื่องที่ไม่เคยถูกพูดถึงในอดีตมาวันนี้ก็ได้ยินกันมากขึ้น รัฐบาลจึงปรับเตรียมเพื่อรับมือกับคลื่นการเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ สิ่งอย่างเข้มข้น จนบางทีก็ขึงตึงเกินกว่าสื่อจะพูดได้

สำหรับนภพัฒน์จักษ์ ซึ่งทำงานในนามสื่อกระแสหลักบอกว่า “ความจริงเป็นเรื่องน่าเศร้าตั้งแต่ต้นแล้วที่สื่อกระแสหลักไม่อาจแตะบางเรื่องได้ บางประเด็นที่ประชาชนอยากให้กระจ่าง ในฐานะคนทำสื่อเราเองก็อยากทำหน้าที่คัดกรองข้อเท็จจริงแล้วมาเผยแพร่ให้คลายความสงสัย จะได้ move on กันไปเรื่องใหม่ ๆ ไม่ใช่ติดตรึงอยู่กับบางประเด็น จนตอบไม่ได้เพียงเพราะสื่อไม่พูด แต่นั่นแหละความจริงคือสื่อในประเทศนี้ไม่สามารถพูดทุกเรื่องได้”

แล้วรัฐบาลแบบไหนกันล่ะที่สื่อสามารถส่งเสียงและมีบทบาทมากขึ้น นภพัฒน์จักษ์ มองว่า ในรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ การนำเสนอข้อมูลข่าวสารมันจะอิสระและสร้างผลกระทบได้มากกว่า เพราะรัฐบาลจะคำนึงถึงความคิดความอ่านของคนและสิ่งที่สื่อนำเสนอก็มีผลต่อคะแนนเสียง หรือความนิยมของเขา ซึ่งตรงนี้มันกระตุ้นให้รัฐหันลำกลับมาเห็นความสำคัญของมติมหาชนมากขึ้น แต่ในรัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ ถึงสื่อจะสะท้อนความจริงยังไงเขาก็ไม่สะทกสะท้าน เพราะอำนาจเบ็ดเสร็จอยู่ในมือชนิดที่ไม่ต้องสนใจความนิยมมากนัก ตรงนี้บ่งบอกได้ว่าใต้รัฐบาลประชาธิปไตยที่แท้จริงสื่อจะเสรีมากกว่า

นอกจากโครงสร้างรัฐที่กดทับแล้ว โครงสร้างทุนก็เป็นปัจจัยกำหนดทิศทางสื่อไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน แต่อาจเป็นไปกันคนละลักษณะ นภพัฒน์จักษ์ กล่าวว่า “พูดอย่างตรงไปตรงมาทุนไม่ได้แสดงบทบาทในฐานะตัวปิดกั้นสื่อต่อการนำเสนอประเด็นสำคัญอย่างสิทธิมนุษยชน เพียงแต่กลุ่มทุนเขาคิดหน้าคิดหลังถึงผลได้ผลเสียในเชิงธุรกิจ ผลกระทบจึงเป็นเรื่องของการไม่สนับสนุนทุนให้ทำบางประเด็นที่ไม่ก่อผลในเชิงธุรกิจมากกว่า ซึ่งตรงนี้มันก็กระแทกสื่อ เพราะยังไง สื่อเองก็ต้องพึ่งทุน”

ถามต่อไปถึงทางออกที่จะปลดแอกข้อจำกัดต่าง ๆ เขามองว่าที่ผ่านมามีความพยายามพูดถึงพื้นที่ ปลอดภัยสำหรับสื่อหลายครั้ง แต่บางทีมันก็เป็นแค่คำพูดเท่ ๆ เพราะในทางปฏิบัติจริงไม่รู้ว่าจะมีใคร เป็นตัวตั้งตัวตีที่จะทำให้มันเกิดขึ้นได้จริง ๆ

“สำหรับผมซึ่งอยู่ในวงการนี้มานานก็ไม่ได้หวังมากขนาดนั้นแล้ว เพราะมองไม่เห็นว่าใครจะมาเป็นเจ้าภาพหลักในการขับเคลื่อน หรือถ้าทำกันแล้วก็ไม่แน่ใจเต็มร้อยว่าที่ สุดแล้วจะปลอดภัยจริง ๆ รวม ๆ แล้วการจะหาทางออกให้เสรีภาพสื่อจึงมองแค่กรอบเรื่องนิเทศศาสตร์ อย่างเดียวคงไม่ได้ มันมีกรอบของการเมืองและกรอบกฎหมายที่ต้องคำนึงร่วมด้วย”

“ท้ายที่สุดสื่อเองก็อยากเอื้อมแขนไปให้ไกลกว่านี้ อยากเป็นนักข่าวเหมือนประเทศอย่างสวีเดนหรือนอร์เวย์ ที่นอกจากมีเสรีภาพแล้ว ข่าวที่นำเสนอก็มีแต่ข่าวในมิติดี ๆ หรือข่าวเบา ๆ เพราะสังคมเขาพัฒนาไปมาก ส่วนเราก็คงต้องขยับไปทีละนิด สังคมปรับด้วย สื่อปรับด้วย เพราะสำคัญสุดคือสื่อเป็นตัวสะท้อน ชีวิตและตัวตนของคนในประเทศ สำหรับไทยถ้าสื่อทำแต่ข่าวด้านบวกแต่ละเลยความจริงทางสังคม ปัญหาคนถูกกดขี่หรืออดอยากปากแห้งก็จะไม่ถูกส่งต่อไปสู่การแก้ไขที่จริงจัง หากบนหน้าจอมีแต่เรื่องราว ยิ้มแย้มอิ่มสุข แต่ในบ้าน ในห้องนอน ยังมีคนร้องไห้ต้องการความช่วยเหลือ แบบนี้สื่อเองก็คงทำไม่ได้ เพราะจะเป็นการเสนอความจริงหนึ่งโดยหลับหูหลับตาลืมอีกความจริง”

สำหรับ WorkpointTODAY ที่ นภพัฒน์จักษ์ รับบทบาทเป็นบรรณาธิการบริหาร ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในสื่อข่าวออนไลน์แนวหน้าของไทยที่มียอดผู้ติดตามบนเฟซบุ๊กกว่า 4.7 ล้าน Follower ด้วยเนื้อหาที่ครอบคลุมข่าวสารการเมือง ธุรกิจ สังคม ทั้งไทยและต่างประเทศ และมีรูปแบบการนำเสนอที่หลากหลายตั้งแต่บทความ วิดีโอ ไปจนถึง Podcast ซึ่งตอบโจทย์คนตามข่าวสารออนไลน์ในยุคปัจจุบันได้เป็นอย่างดี