คลองเตยรายวัน หนี้รายเดือน “เหลือเงินติดตัวแค่ 5 บาท” เฮือกสุดท้ายของชีวิตติดลบ - Decode
Reading Time: 3 minutes

เสียงจากคนคลองเตยในช่วงเวลาที่ต้องกักตัว

“เกิดมาไม่เคยต้องหยุดงานยาวแบบนี้ อึดอัดมากเลยค่ะ” แม่บ้านคอนโดย่านสุขุมวิท
“พูดอย่างไม่อายเลยนะ ตอนนี้เหลือเงินติดตัวอยู่ในกระเป๋าแค่ 5 บาท” คนเก็บของเก่า
“ช่วงนี้ปกติก็แย่อยู่แล้วลูกค้าน้อย เมื่อไม่มีรายได้ก็ต้องกู้ยืมเงินนอกระบบดอกเบี้ยร้อยละ 20” แม่ค้าอาหารตามสั่ง
“ชีวิตช่วงกักตัวในบ้าน ก็ต้องแยกกันนอนคนละมุมทั้ง 6 คน เพื่อจะไม่ให้เชื้อมันแพร่กระจาย” ลูกจ้างรายวัน

4 เสียงจาก 4 อาชีพ ที่อาศัยอยู่ในบ้านหลังเดียวกันช่วงกักตัว บริเวณชุมชนบ้านกล้วย หลังมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เขตคลองเตย การกักตัวของครอบครัวที่พอมีฐานะทางการเงิน คงไม่ใช่เรื่องลำบากนัก แต่ไม่ใช่กับครอบครัวของคนหาเช้ากินค่ำ

10,000 บาทคือตัวเลขเงินกู้นอกระบบ ที่หนึ่งในสมาชิกครอบครัวนี้ ต้องกู้ยืมมาเพื่อใช้จ่าย รายจ่ายคงที่ แต่รายรับตั้งอยู่บนความไม่แน่นอน เมื่อการกักตัวทำให้รายได้ของทุกคนเท่ากับศูนย์ และยังไม่ได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐ พวกเขายอมกักตัว ‘อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ’ แต่ตอนนี้ทั้งครอบครัวต้องเผชิญกับความเดือดร้อน

ช่วงเวลาแสนยาวนานของแม่บ้านที่ทำงานมาตลอดชีวิต

“ก่อนหน้านี้เวลาไปทำงานแม่บ้าน ป้าใส่แมสใส่ถุงมือ ใช้น้ำยาทำความสะอาด สำหรับฆ่าเชื้อตลอดเวลา”

เสียงจากแอ๋ว วาสนา เฉื่อยฉ่ำ พี่สาวคนโตของบ้านอายุ 61 ปี เธอทำงานเป็นแม่บ้านคอนโดย่านสุขุมวิท เพิ่งเริ่มงานใหม่ได้ยังไม่ถึงเดือน แต่เพราะลูกของเธอเป็นผู้ติดเชื้อ ทำให้เธอต้องกักตัวเป็นเวลา 14 วันโดยปริยาย สิ่งที่แลกมาในการกักตัวครั้งนี้คือ รายได้วันละ 331 บาท รวมแล้ว 14 วันเป็นเงิน 4,634 บาทที่หายไป เธอบอกกับเราว่า

“เวลานี้เหลือเงินทั้งตัวอยู่ในกระเป๋า 13 บาท ก็ต้องปล่อยไปตามยถากรรม มันไม่ได้มีรายได้อะไรเข้ามาเสริม ถามว่าอยากไปทำงานไหม เราน่ะอยากไปทำงานมากๆ ไม่อยากหยุดอยู่บ้านแบบนี้หรอก”

เธอเล่าให้เราฟังว่าชีวิตของเธอ เริ่มทำงานมาตั้งแต่ยังเด็กๆ เคยทำทั้งเป็นพนักงานล้างรถ ปีนต้นตาล สุดท้ายมาลงเอยด้วยการยึดอาชีพแม่บ้านตั้งแต่อายุ 46 ปี การกักตัว 14 วันครั้งนี้ ถือเป็นการหยุดงานยาวที่สุดในชีวิต 

ในฐานะคนทำงานมาทั้งชีวิต การกักตัวสร้างความอึดอัดให้กับเธอ วาสนาตั้งตารอให้ถึงวันครบกำหนดกักตัว 16 พ.ค 2564 นี้ เพื่อจะรีบกลับไปทำงาน

บริเวณทางซ้ายมือคือเตียงนอนของวาสนา ที่ต้องแบ่งพื้นที่กันนอนกับคนอื่นๆ ช่วงกักตัว 14 วัน

“เครียดนะ ทุกวันนี้กักตัวอยู่กับคนในครอบครัว ค่าน้ำ ค่าไฟ ประมาณ 1,000 บาทต่อเดือน ปกติช่วยกันหาร แต่ทุกคนโดนกักตัวหมด ป้าเองก็ไม่รู้จะเอาตรงไหนไปเสียค่าน้ำ ค่าไฟ ความช่วยเหลือตอนนี้ที่ได้รับก็มีข้าวสาร ปลากระป๋อง มาม่า น้ำมัน ไข่ พอให้ประทังชีวิตไปวันต่อวัน” 

ต่อมาเราถามเธอถึงเรื่องวัคซีน เพราะเธออยู่ในเกณฑ์อายุ 60 ปีขึ้นไป ที่สามารถลงทะเบียนฉีดวัคซีนได้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2564 และเริ่มฉีดวันที่ 7 มิ.ย. 2564 เธอตอบกลับมาว่า ยังไม่รู้ข่าวสารข้อมูลในเรื่องนี้ มีเพียงประกาศจากทางชุมชนซึ่งยังไม่ชัดเจนเรื่องของช่วงเวลา 

“เรื่องวัคซีนไม่ได้คุณภาพถามว่ากลัวไหม ผลข้างเคียงเรากลัวนะ แต่ยืนยันว่าจะฉีด มันคุ้มที่จะเสี่ยง” 

ก่อนจบการสนทนาเราขอให้เธอ บอกเล่าถึงความรู้สึก ในฐานะประชากรคนหนึ่งในเขตคลองเตย ที่คนภายนอก
กำลังจับตาให้ความสนใจ การแพร่ระบาดของเชื้อโควิดอยู่

“โรคแบบนี้ไม่มีใครอยากเป็นหรอก แต่เหตุการณ์มันเกิดขึ้นมา ก็ต้องเฝ้าระวังป้องกันตัวเองให้ดี อยากให้เข้าใจทุกคนต้องทำมาหากิน เราอยากขอกำลังใจ บางครั้งก็รู้สึกน้อยใจนะ ทุกวันนี้ที่เรากักตัว เพราะกลัวสังคมเขาจะรังเกียจ”

คนเก็บของเก่า ในเวลาที่ไม่มีสิทธิ์เลือก

“ปกติเดินเก็บขวดขายย่านชุมชนใกล้ ๆ บ้าน ก่อนกักตัวเวลาไปทำงานเราใส่ทั้งถุงมือ กางเกงขายาว เสื้อแขนยาว ใส่แมสตลอดเวลา กลับมาก็อาบน้ำสระผม ล้างมือ ล้างเท้า แต่ที่บ้านมีคนติดเชื้อเลยต้องกักตัว พอกักตัวก็หมดรายได้ 

“อยากจะกู้ยืมเหมือนคนอื่นเขา แต่ใครเขาจะให้ ในเมื่อไม่มีงานเป็นหลักเป็นแหล่ง เอ่ยปากขอยืม 20 บาท เขายังไม่อยากให้เลย”

เสียงของดี วรรณดี เฉื่อยฉ่ำ น้องสาวของวาสนา  เธอยึดอาชีพเก็บของเก่าขาย เนื่องจากตกงาน และการหางานใหม่ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเธอ ปกติรายได้หลักร้อยต่อสัปดาห์ แทบไม่พอใช้จ่ายในชีวิต จึงต้องอาศัยเงินในบัตรประชารัฐใช้จับจ่าย ซึ่งในช่วงเวลานี้ก็ไม่สามารถออกไปซื้อของได้ตามปกติ เธอจึงต้องยังชีพด้วยเมนูข้าว มาม่า ไข่ วนไปในแต่ละวัน

บริเวณหน้าบ้านที่ทั้ง 6 คนใช้ในการกักตัวร่วมกัน

“พูดอย่างไม่อายเลยนะ ตอนนี้เหลือเงินอยู่ในกระเป๋า 5 บาท ยังดีมีคนมาแจกอาหารสด อาหารแห้ง ตอนนี้ออกไปไหนไม่ได้เลย อยากกินอะไรก็ไม่ได้กิน ได้แต่ทำกับข้าว ดูทีวี ค่าน้ำ ค่าไฟ ขึ้นแน่ๆ เดือนนี้

“มนุษย์ทุกคนมันกลัวโควิดกันทั้งนั้นแหละคุณ แต่ระหว่างกลัวโควิดกับกลัวอดตาย กลัวอดตายมากที่สุด มันต้องกระเสือกกระสนให้ได้มีกิน โควิดถ้ามันมาเราอาจตาย แต่ถ้าอดตายมันจะพาลูกหลาน คนในครอบครัวตายกันไปด้วยน่ะสิ”

วรรณดีทิ้งท้ายอยากให้ภาครัฐเร่งมือช่วยเข้ามาแก้ไขปัญหา ในเขตพื้นที่คลองเตย เธอบอกว่าตอนนี้จะตายกันอยู่แล้ว หากต้องอยู่อย่างนี้ต่อไป เพราะไม่สามารถออกไปไหนได้เลย

“ยังมีหวังอยู่ไหม…ไม่รู้จะพูดอย่างไร รัฐบาลเขาเป็นคนของประชาชน เขามีหน้าที่ต้องช่วยแก้ไขปัญหา ถ้าภาครัฐเขาไม่ห่วงประชาชนอย่างเรา ไปห่วงอย่างอื่นมากกว่าก็คงแล้วแต่เขา เราจะทำอะไรได้”

วางตะหลิวเก็บกระทะช่วยชาติ

“กักตัวมา 1 สัปดาห์เป็นอย่างไรบ้าง”
“โอ้ย!…เบื่อมาก” พร้อมเสียงหัวเราะจากหญิงสูงวัยอายุ 58 ปี “คนมันเคยทำงานมาทั้งชีวิตแล้วไม่ได้ทำ”
“ถ้ากักตัวเสร็จแล้ว จะกลับมาขายเหมือนเดิมไหม”
“คงต้องกลับมาขายเหมือนเดิม” แม่ค้าอาหารตามสั่ง ตอบกลับมาด้วยเสียงอ่อยๆ
“แต่จะมีคนกินเหรอช่วงนี้”
“เห้อ…พูดแล้วเหนื่อย ปกติก็แย่อยู่แล้ว เมื่อมันไม่มีรายได้ ก็ต้องกู้ยืมเงินนอกระบบ ดอกเบี้ยร้อยละ 20 ต่อไป”

จุไร  เพ็งผล น้องสาวอีกคนของวาสนา เธอเป็นแม่ค้าอาหารตามสั่งในชุมชนบ้านกล้วย บริเวณนี้เป็นชุมชนแออัดบ้านเรือนหลังคาเกยกัน แต่ถือว่ามีความแออัดน้อยกว่าบริเวณชุมชน 70 ไร่ จุไรอาศัยอยู่บริเวณนี้มา 50 ปีแล้ว วิกฤตโควิดรอบนี้ เธอถือว่าหนักหนาสำหรับชาวชุมชนคลองเตย

“อยากให้ภาครัฐรีบจัดการเรื่องวัคซีน เพราะถ้าวัคซีนช่วยได้จริง ก็อยากจะให้ฉีดกันอย่างครอบคลุม สถานการณ์มันคงดีขึ้น”  

เราถามเธอว่าไม่กลัวเรื่องผลข้างเคียงของวัคซีน ตามที่เป็นข่าวอยู่เหรอ จุไรตอบกลับมาอย่างมั่นใจและรวดเร็วว่า

“ชั่วโมงนี้รับได้หมด ขอแค่ให้ได้กลับมาทำมาหากิน โรคก็กลัวแต่กลัวอดตายมากกว่า อันนี้ประเด็นหลักตอนนี้ไม่ไหวแล้ว ผู้ใหญ่ยังอดได้แต่เด็ก ๆ เราปล่อยให้อดไม่ได้”

หลานเธอทั้ง 4 คน คนเล็กสุดอายุ 6 เดือน คนที่สองอายุ 1 ขวบ คนที่สามอายุ 2 ขวบ และคนโตเรียนอยู่ชั้นประถม 1  ตอนนี้ทั้ง 4 คน แยกออกไปอยู่ที่อื่นแล้วเพื่อความปลอดภัย

“มันไม่มีใครอยากเป็นหรอก แต่สภาพชีวิตของแต่ละคนต้องออกหากิน คนคลองเตยเขาก็ป้องกันตัวเองกันนะ”

ก่อนจบบทสนทนาแม่ค้าอาหารตามสั่งวัย 58 ปี บอกวิธีการดูแลตัวเองด้วยการดื่มน้ำขิง น้ำกระชาย ที่ถึงแม้เธอไม่ค่อยอยากดื่มนักก็ตาม แต่ต้องทำเพื่อตัวเองและอยากช่วยส่วนรวม

ที่นอนของจุไร ที่ใช้ในการกักตัวร่วมกับสามีของเธอ

ลูกจ้างรายวัน ค่าใช้จ่ายรายเดือน

ก๊อฟ วิไลวรรณ  มุ่งดี ลูกสาวของจุไร พนักงานรายวันในโรงงานแพคกิ้งแห่งหนึ่ง เธอกักตัว 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 30  เม.ย 2564  หากเป็นลูกจ้างประจำในระบบ ที่อยู่ภายใต้กฎหมายแรงงาน ลูกจ้างสามารถใช้สิทธิลาป่วยได้ 30 วันต่อปีโดยได้รับค่าจ้าง แต่ไม่ใช่กับลูกจ้างรายวันนอกระบบอย่างวิไลวรรณ การกักตัวหมายถึงการที่ต้องขาดรายได้ทั้งหมดไปโดยปริยาย

ถ้าเลือกได้ไม่อยากกักตัวแบบนี้หรอก ถ้าตรวจแล้วไม่พบเชื้อ เราอยากออกไปทำงาน จะได้ไม่เสียรายได้ไปเยอะกว่านี้ กักตัว 14 วัน รายได้ครึ่งเดือนหายไปเลย ค่าเช่าบ้าน ค่ากินไม่พอแน่นอน”

เมื่อรายได้ไม่พอใช้จ่าย ทางออกที่ง่ายที่สุดของคนหาเช้ากินค่ำคือ การกู้ยืมเงินนอกระบบดอกเบี้ยร้อยละ 20 วิไลวรรณจำเป็นต้องกู้ยืมมาเพื่อจ่ายเป็นค่ากิน, ค่าเช่าบ้าน, ค่าน้ำ, ค่าไฟ, ค่างวดรถ และค่าเลี้ยงดูลูก

“เพิ่งมากู้ช่วงหลังนี่แหละ เราก็ไม่ได้อยากกู้นอกระบบ แต่มันไม่มีทางเลือก เพราะเราเคยติดแบล็คลิสต์ ขาดผ่อนชำระค่างวดรถ ทำให้ไม่สามารถกู้เงินลีสซิ่งได้

“อย่างตอนนี้ก็กู้มา 10,000 บาท คำนวณแล้วว่าเงินเดือนนี้จะออกมา 7,000 บาท คงต้องยืมพี่ที่ทำงานอีก 5,000 บาท เพื่อนำไปจ่ายชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ย 12,000 บาท พอเคลียร์หนี้เดิมหมดแล้ว ก็คงต้องกู้มาใหม่อีก 10,000 บาท แล้วนำไปคืนพี่ที่ทำงาน 5,000 บาท เหลือเอาไว้ใช้ 5,000 บาท เราจำเป็นต้องทำแบบนี้ เพื่อจะได้ไม่มีปัญหาในการถูกทวงหนี้ แก้ปัญหาเฉพาะหน้าแบบนี้ไปก่อน”

เต็นท์นอนของวิไลวรรณบริเวณหน้าบ้าน

ตอนนี้วิไลวรรณเป็นเหมือนเสาหลักของครอบครัว เพราะแฟนเธอเป็นช่างซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า ตอนนี้ไม่สามารถรับงานได้ ทั้งยังมีลูกอีก 2 คนที่ต้องเลี้ยงดู (ตอนนี้แฟนและลูกของเธออาศัยอยู่ในบ้านเช่า อีกหลังหนึ่งใกล้ ๆ กับบ้านที่เธอกักตัวอยู่)

ในส่วนของการใช้ชีวิตช่วงกักตัว ด้วยสภาพความเป็นอยู่ของชุมชนคลองเตย ทำให้การกักตัวไม่ใช่เรื่องสบายเท่าไหร่นัก บ้านที่วิไลวรรณใช้กักตัว มีสมาชิกทั้งหมด 10 ชีวิต โดยตอนนี้แยกเด็กๆ 4 คนไปอยู่ที่อื่น

เหลืออีก 6 ชีวิตที่ต้องกักตัวอยู่ในบ้านเช่าคือ วาสนา, วรรณดี, จุไร, วิไลวรรณ และสามีของจุไร กับหลานอีกคนที่กำลังอยู่ในวัยเรียน โดยอาศัย 2 ห้องนอนในการแบ่งพื้นที่กันนอน เมื่อไม่สามารถกั้นห้องให้ทุกคนได้ ในช่วงแรกที่ผลตรวจยังไม่ออก ทุกคนในบ้านจึงต้องใส่แมสตลอด รวมทั้งเวลานอนด้วย วิไลวรรณอธิบายสถานที่กักตัวให้เราฟังเพิ่มเติมว่า

บ้านต้องแยกกันนอนคนละมุมทั้ง 6 คน ส่วนตัวเราเองต้องออกมากางเต็นท์นอนอยู่หน้าบ้าน เพื่อจะไม่ให้เชื้อมันแพร่กระจายติดต่อกัน หากมีใครสักคนติดเชื้อ”  

ตั้งแต่ที่เชื้อเริ่มแพร่กระจายช่วงต้นเดือนเมษายน เธอก็หมั่นล้างมือ เวลาเข้าห้องน้ำสาธารณะ เธอจะใช้แอลกอฮอล์ฉีดพ่นก่อนตลอด 

“คนคลองเตยเราทุกวันนี้ตื่นตัว และป้องกันตัวเองเยอะมาก แค่หน้าบ้านเขายังไม่เดินผ่านกันเลย ถ้าบ้านไหนกักตัว ไม่ใช่ว่าพวกเราไม่ดูแลตัวเองนะ  แต่อย่างที่บอกว่าเชื้อรอบนี้มันไม่ออกอาการ เลยทำให้อาจมีคนในครอบครัวติดเชื้อ และแพร่กระจายต่อมายังคนอื่นๆ ”

เมื่อรัฐไม่สามารถจัดสรรทรัพยากรมาช่วยเหลือคนทุกหย่อมหญ้าได้ จึงเป็นความท้าทายและทำให้การบริหารจัดการโควิด ในพื้นที่เขตคลองเตยเป็นไปอย่างยากลำบาก เราต้องไม่ลืมว่า คนในคลองเตยเป็นแรงงานที่กระจายออกไปทำงานอยู่ในหลายๆ เขตพื้นที่ใน กทม. ด้วยอาชีพที่หลากหลาย วิไลวรรณกล่าวในตอนท้ายของการสนทนาไว้อย่างน่าสนใจว่า

“เอาจริง ๆ นะ บางคนเข้าไปในพื้นที่เสี่ยง มีการใกล้ชิดกับคนติดเชื้อ แต่เขาเองต้องหาเช้ากินค่ำ บางทีเขาก็ไม่ยอมบอกใคร เพราะว่าถ้าบอกต้องกักตัว 14 วัน เขาจะไม่มีเงินใช้ ก็เหมือนกับที่เราเจออยู่ บางคนมีทั้งภาระหนี้สิน ลูกหลานต้องเลี้ยงดู เขาก็คงอยากออกทำงานหาเงิน มากกว่าที่จะยอมกักตัว ด้วยฐานะแบบนี้บางวันไม่ได้กินเลยก็มี เศรษฐกิจมันก็แย่อยู่แล้ว ทำงานหางานแสนยาก ขายของก็ขายไม่ได้ มันเลยทำให้คลองเตยเป็นแหล่งแพร่ระบาดที่ยากต่อการควบคุม

“ถ้าภาครัฐช่วยเยียวยาค่าใช้จ่ายให้เราบ้าง ค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำ-ค่าไฟ ให้สำหรับผู้ที่ยอมกักตัว เรื่องนี้ถ้าทำได้จะทำให้ทุกคนให้ความร่วมมือกับภาครัฐมากขึ้นในเรื่องที่จะไม่ปกปิดข้อมูลผู้ติดเชื้อ”