The Why Café ความเหนื่อยล้า คาเฟ่ข้างทาง และคำถาม “ทำไมฉันมาอยู่ที่นี่” - Decode
Reading Time: 2 minutes

“ครูเอาหนังสือมาฝากเป้ คิดว่ามันน่าจะมีประโยชน์กับเป้”
เรารับหนังสือจากครูด้วยความเคารพและขอบคุณที่ครูนึกถึงเราเสมอ ครูเป็นครูสมัยเรียนมหาวิทยาลัย “ความล้า คำถาม และความห่อเหี่ยว” ในชีวิตและความฝันที่เราพยายามอยู่กระมังเป็นเหตุผลที่ครูมอบหนังสือเล่มนี้ให้เรา

เราไม่ค่อยอ่านหนังสือที่เป็นเรื่องสั้น ไม่อ่าน How To เท่าไหร่ แต่วันนี้เราอ่านความปรารถนาดีของครู และทุกครั้งที่อ่านหนังสือหรือเสพอะไรก็แล้วแต่ เราอยากรู้ว่าสิ่งนั้น “ทำงานกับข้างใน” ของเราแบบไหน สำหรับ The Why Café คาเฟ่สำหรับคนหลงทาง: บางครั้งชีวิตก็ทำให้เราหลงทางไปบ้าง ลองแวะคาเฟ่ข้างทางเพื่อเยียวยาหัวใจ ทำงานกับเรา “หนัก” แบบเราไม่คาดคิดมาก่อน หลายจังหวะที่เราผละหนังสือลง และนั่งนิ่ง-คิด และลองทบทวนดู กับคำถาม 3 ข้อที่วนในหนังสือ

เหตุใดคุณจึงมาที่นี่
คุณกลัวตายไหม
คุณพอใจกับชีวิตหรือยัง

แม้ทั้งเล่มจะออกแนว Life Coach มีประโยค Cliche จำเจ คือสอนให้เราใช้ชีวิตตามที่เราต้องการ แต่มันก็ไม่ใช่เครื่องผลิตทางออกสำเร็จรูปให้เรา มันค่อนข้างยืดหยุ่น และมีพื้นที่ให้เราได้คิดถึงชีวิตนี้และอีกหลาย ๆ ชีวิตรอบตัว คิดถึงความเป็นไปได้ว่าจะตอบ 3 คำถามนั้นได้ไหม ท้ายหนังสือผู้เขียนมีคำแนะนำ 14 ข้อให้ผู้อ่านลองใช้เรื่องของจอห์น และย้อนกลับมาถามตัวเอง และคนที่ไปคาเฟ่ด้วยกันถึงจังหวะชีวิตในวันนี้

“บางครั้งในยามที่คุณคาดหวังน้อย แต่ต้องการมันที่สุด คุณจะพบตัวเองอยู่ในสถานที่แห่งใหม่กับผู้คนแปลกหน้า และได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ” – The Why Café

วันพักร้อนของจอห์นในคาเฟ่แห่งหนึ่ง

วันนั้น,, จอห์น ชายหนุ่มกลางคนตัดสินใจลาพักร้อนหลังทำงานมาหนักหน่วง เขาติดอยู่บนทางด่วนที่ทุกคนก็มุ่งหน้าไปทางเดียวกันอยู่นานสองนาน เมื่อไม่มีทีท่าจะขยับ เขาตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทาง หวังว่าจะไปถึง “ที่นั่น” เร็วขึ้น ดีกว่าติดแหง็กอยู่ที่เดิม เขาขับรถไปเรื่อย ๆ เข้าสู่ความมืด ความเป็นเมืองข้างถนนค่อย ๆ หายไปจนไร้แสงไฟ น้ำมันใกล้จะหมดเต็มที่ บ่าก็ล้า ตาก็จะปิด จอห์นหมุนแขนเลี้ยวรถไปยังคาเฟ่แห่งหนึ่งที่อยู่กลางดงความเงียบงัน สถานที่แห่งนั้นเป็นพื้นที่ที่จอห์นได้เจอคำถาม 3 ข้อบนเมนู มีพนักงานในร้าน เคซีย์และไมค์คอยบริการเสิร์ฟอาหาร ขณะเดียวกันก็คอยทำหน้าที่เหมือน “กระบวนกร” คอยฟัง คอยถาม คอยชี้เป้าให้จอห์นให้ได้คิดทวนเรื่องต่าง ๆ ผ่านเมนูอาหารตรงหน้า เอาเข้าจริงคำถามที่จอห์นโดนถาม มันก็เหมือนถามมาถึงเราที่เป็นผู้อ่านด้วย

ปมช. = เป้าหมายของชีวิต
เป้าหมายของเราไม่เท่ากัน และมาไม่พร้อมกัน

น่าเหนื่อยใช่ไหมเมื่อเห็นคำนี้ “เป้าหมายของชีวิต” เราเองก็เบื่อ แต่มันน่าจะเป็นคำที่ช่วยเราตอบได้เหมือนกันว่าเราเกิดมาทำไม และอยากทำอะไร มันเพิ่มแรงให้ตัวเราน่ะ จอห์น เคซีย์ และไมค์ คุยกันไปมา เขาเริ่มต้นถามว่า “ทำไมคุณจึงมาที่นี่” ที่นี่คือคาเฟ่ แต่ถ้าจะตีความอีกอย่าง อะไรที่พาเขามาที่นี่ ตัวจอห์นอยากพัก เพราะเขาเหนื่อยจากการงานที่แม้เงินดี เป็นอาชีพที่หลายคนต้องการ แต่ก็แทบไม่มีช่วงที่ทำให้เขาได้รู้สึกว่านี่คือความพึงพอใจในชีวิต เขาดึงเรื่องราวของเพื่อนร่วมงานรอบตัวมาเล่าเช่นกัน ทั้งในมุมที่เขาตอบสนองเป้าหมายอย่างแรงกล้า บางคนใช้ชีวิตแบบไร้จุดหมาย บางคนเข้า ๆ ออก ๆ

เคซีย์และไมค์จึงช่วยกันอธิบายว่าเป้าหมายนั้นมันต้องค้นพบด้วยตัวเอง ทุกคนมียูเรก้าโมเม้นต์ที่ไขปริศนาชีวิตได้ด้วยตัวเองว่าเพราะอะไร และทำไมฉันจึงมาที่นี่

ที่นี่,,ที่คาเฟ่นี้
ที่นี่,,โลกนี้
ที่นี่,,ในชีวิตนี้

และแม้ว่าตอบคำถามนั้นได้ว่า “มาทำไม” แต่การบรรลุเป้าหมายนั้นไม่ง่ายเลย เพราะว่าวันนี้ทุกคนกำลังอยู่ในร้านคาเฟ่ขนาดใหญ่กว่าที่จอห์นไป ร้านคาเฟ่ที่จัดสรรและบอกคุณมาให้ครบหมดแล้วว่า คุณควรมีเป้าหมายชีวิตอย่างไรถึงจะโอเค โดยไม่ได้สนใจว่า คุณพอใจกับมันไหม หรือมันใช่อย่างที่คุณต้องการหรือเปล่า มีแรงกระตุ้นบางอย่างจากสังคมบอกเสมอว่า “มีสิ่งนี้สิ แล้วเธอจะพอใจในชีวิต” จะขัดขืนก็ลำบากเมื่อคนอื่น ๆ ก็ทำแบบเดียวกันหมด

การต้องมีเป้าหมายชีวิตดูเป็นหน้าที่ของการเกิดมาบนโลกใบนี้ หลายคนล่วงเลยเข้าสู่วัยรุ่น วัยเรียน วัยทำงาน วัยผู้ใหญ่โดยที่ยังไม่พบว่าแล้วอะไรคือเป้าหมายของชีวิต คำถามคือแล้วถ้าเราไม่มีล่ะ เราจะยังพึงพอใจในชีวิตของเราได้อยู่ไหม? แล้วการไหลตามเป้าหมายที่เขากำหนดมาให้เราแล้วล่ะ เราจะเป็นอย่างไร?

หนังสือไม่ได้ตอบคำถามนี้ แต่เล่าถึงเต่าตนุตัวหนึ่ง

เส้นทางของเต่าตนุและการไหลตามคลื่น

ชีวิตที่วิ่งตาม “สิ่งที่เขาบอกมา” และฝันถึงวันที่จะพอใจ มันตัดขาดตัวเองจากตัวเองไปมากเหมือนกัน และยิ่งทำให้ตัวเองท้อแท้ เมื่อใจไม่ไปแต่ร่างกายต้องวิ่งตาม เคซีย์ไปเที่ยวดำน้ำและเจอเต่าตนุ เธอว่ายน้ำตามมัน แต่ก็ตามไม่ทันแถมเหนื่อยแทบตาย ต่อมาเธอสังเกตว่าเต่าถีบขาบ้าง ลอยนิ่งบ้าง สุดท้ายเคซีย์มารู้ตัวว่า เพราะเต่าตนุใช้ประโยชน์จากคลื่นที่พัดลงทะเล ไม่ใช่คลื่นที่พัดขึ้นฝั่ง

“เต่าตนุไม่เคยต้านกระแสคลื่น แต่มันใช้ประโยชน์จากคลื่น ที่ฉันว่ายไม่ทันเพราะฉันตีขาตลอดเวลา” เต่าตนุตีขาเฉพาะช่วงที่คลื่นพัดลงทะเลเท่านั้น เคซีย์บอกว่าเธอเหนื่อยมากกับการว่ายน้ำครั้งนั้นและรู้สึกว่าตัวเอง “ไร้ค่า” แทบไม่มีประสิทธิภาพเอาเสียเลย

จอห์น ไมค์ เคซีย์ สรุปคร่าว ๆ จากเรื่องนี้ว่า ถ้าเราไม่เป็นหนึ่งเดียวกับสิ่งที่เราทำ เราจะเสียพลังงานไปจำนวนมาก โดยไม่ได้อะไรกลับมา พอถึงวันที่อยากทำสิ่งที่ชอบจริง ๆ ก็น่าจะหมดแรงแล้ว มาถึงตรงนี้เราไม่แน่ใจว่าการตามน้ำ หรือการฝืนการไหลของน้ำ อันไหนแย่กว่ากัน

แล้วความจริงล่ะ เราสามารถใช้ชีวิต หรือเลือกใช้ตาม ปมช.ได้จริงหรือ ?
หนังสือ,,ไม่สิ ตัวละครเล่าแบบไม่โลกสวยว่า การได้ทำตาม ปมช.ของตัวเองไม่ใช่เรื่องของใครของมันเท่านั้น แต่มันมีเรื่องภายนอก คือ สังคม วัฒนธรรม หรือแม้แต่ระบบเศรษฐกิจทุนนิยม วงการโฆษณา ที่ป่าวประกาศสร้างมาตรฐานให้เราด้วย เขายกตัวอย่างวงการโฆษณาที่พยายามกรอกหูเราให้มาทำสิ่งนั้นสิแล้วชีวิตจะดี คุณก็ไปโดยไม่แคร์ว่ามันใช่หรือไม่ มาถึงตรงนี้ทำให้เรานึกไปถึงว่า แล้วหาก ปมช.ของเราไปสอดรับกับระบบนั้นพอดีล่ะ? มันก็คงดีใช่ไหม

แล้วถ้าสวนทางกันเลย อย่างการผลักดันสังคมให้เกิดประชาธิปไตยในประเทศเผด็จการ อยากทำงานศิลปะเลี้ยงชีพ แต่ระบบค่าแรงงานของวงการนี้ต่ำเตี่ยเรี่ยดิน อยากมีที่อยู่อาศัยของตัวเอง แต่เข้าถึงยากเพราะคนที่ถือครองที่ดินส่วนใหญ่เป็นคนข้างบน อยากมีเวลาเหลือทำงานที่ชอบ แต่ดันเสียเวลา 3-4 ชม.ต่อวันบนถนนที่แก้ปัญหาจราจรไม่ได้ ฯลฯ

ในสถานการณ์นี้ เราควรฝืนว่ายน้ำแบบเคซีย์ หรือควรตีขาแบบเต่าตนุดี

อย่างที่บอกว่าหนังสือไม่มีคำตอบสำเร็จรูปให้เรา แต่ก็แนะนำว่าใต้เงื่อนไขสังคมที่เราปลีกตัวลำบาก และชีวิตที่มีเวลาจำกัดให้ลองหาเวลาเหลือให้เราได้ทำสิ่งที่เป็น ปมช.ของเราเพื่อตอบว่า “ทำไมฉันมาที่นี่” เพราะมันจะช่วยเราให้พอจะชอบการมีชีวิตอยู่บ้าง คำถามคือ เรา-ที่อยู่ในสังคมวันนี้ มีเวลานั้นเหลืออยู่แค่ไหน

เส้นทางสู่ความตาย

คำถามสุดท้ายในเรื่องนี้ “คุณกลัวตายไหม” ถามใครใครก็กลัวไหม ? คุณว่ายังไง เคซีย์บอกว่าคนที่กลัวตายคือคนที่ยังไม่ได้มีชีวิตตาม ปมช.ของตัวเอง เลยกลัวว่าถ้าตายแล้วจะยังไม่ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ

เคซีย์ จอห์น และไมค์ไม่ได้บอกว่า ให้เลิกทำงานเพื่อเงิน
เงินจำเป็น แต่มาตั้งคำถามกันว่า เราจำเป็นแบ่งเวลาให้สิ่งที่ชอบเพื่อเติมเต็มหัวใจบ้างไหม
คนอื่นที่หมายถึงเพื่อนร่วมงาน คนรอบข้างจำเป็นต้องเห็นด้วยไหมว่า ทุกคนต้องมีเวลาเป็นของตัวเองเพื่อที่จะได้เติมเต็มชีวิตที่มาที่นี่

สุดท้ายหนังสือเป็นเครื่องมือที่ทำให้เราเห็นจริง ๆ ว่าพื้นที่ที่เราอยู่ คาเฟ่ร้านปัจจุบันวันนี้มันมีภาพลวงอะไรบ้าง เพื่อตาสว่าง ล้างความรู้สึกผิดในใจไปบ้าง ลองนับดูว่ามีโฆษณาชวนเชื่อกี่ตัวที่หลอกเราอยู่บ้าง ให้เราเท่าทันว่าเรากำลังเจอกับอะไร เราเลือกมาเอง หรือเราหลงทาง แล้วมันจะเลี้ยวกลับไปได้อย่างไรบ้าง

หนังสือ: The Why Café
นักเขียน: John Strelecky
นักแปล: ธิดารัตน์ เจริญชัยชนะ
สำนักพิมพ์: Be(ing)

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน) ขึ้นไว้บนเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี