อัลกอริทึมลิขิต “ความน่าจะรักระหว่างเรา” - Decode
Reading Time: 2 minutes

แค่ได้ยินคำว่า “คณิตศาสตร์” ความยุ่งเหยิง ซับซ้อน และน่าโมโห ปรากฏในหัว
ฉันไม่สามารถบอกเหตุผลได้เลยว่าทำไมฉันจึงชอบคณิตศาสตร์ ไม่ใช่หาไม่เจอ
…แต่เพราะมันไม่มี

แต่ก็ต้องมาสะดุดตากับหนังสือชื่อ THE MATHEMATICS OF LOVE บวก ลบ คุณ ฉัน : ความน่าจะรักระหว่างเรา ความสงสัยเกิดขึ้นตามด้วยคำสบถในใจ “สองอย่างนี้มันจะไปด้วยกันได้เหรอ” ฉันพลิกไปพลิกมาอ่านดีเทลคร่าว ๆ จากคนที่เกลียดเลขเข้ากระดูกดำก็แง้มประตูทีละนิด ได้อ่านจนถึงประโยคสุดท้ายหลังหนังสือ “…คนที่กำลังมองหาความรักไม่ควรพลาด” มาลองดูกันสักตั้งว่าจะรอดไหม

บางคนอาจอาจผ่านหน้าผ่านตา ฮันนาห์ ฟราย (Hannah Fry) บนเวที TED Talk มาบ้าง เธอยังเป็นผู้เขียนหนังสือขายดีของ TED Books เล่มนี้ จุดประสงค์ของการเขียนหนังสือคือเธอสารภาพในบทนำว่าไม่ใช่ผู้เชี่ยวด้านความรักแต่อย่างใด ไม่เคยเรียนหลักสูตรด้านจิตวิทยามาก่อน และประสบการณ์เดตของเธอก็มีทั้งสำเร็จและล้มเหลวปะปนเหมือนคนทั่วไป แต่เธอเป็นนักคณิตศาสตร์ งานแต่ละวันคือการค้นหาข้อมูลและทำความเข้าใจรูปแบบพฤติกรรมของมนุษย์ ซึ่งทำให้รู้ว่าคณิตศาสตร์เปิดมุมมองใหม่ได้เกือบทุกเรื่อง แม้แต่เรื่องที่ลึกลับอันยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตคนเราอย่าง “ความรัก”

หนังสืออธิบายภาพรวมของความรักทั้งหมด ไล่ไทม์ไลน์ตั้งแต่เริ่มต้นที่จะมีความรัก ไปจนถึงการครองรักอย่างมีความสุขตลอดไป ในแต่ละบท ฟรายอธิบายคณิตศาสตร์ลงไปในความรัก ซึ่งมันเป็นเรื่องใกล้ตัวที่เราเองก็คาดไม่ถึงว่าเรื่องนามธรรมจะสามารถอธิบายได้เป็นตัวเลข กราฟ การประมาณค่าหรือเป็นสมการได้ ยกตัวอย่างเช่น เรามีโอกาสพบรักได้มากเท่าไร ฟรายเสนอวิธีหาคำตอบด้วยการประมาณค่าที่มีชื่อว่า “การประมาณของเฟอร์มิ (Fermi Estimation)” ซึ่งก็คือการประมาณค่าออกเป็นการคาดเดาด้วยหลาย ๆ เหตุผล แทนที่จะเดารวบยอดครั้งเดียว ผลลัพธ์ของเทคนิกนี้ทำให้ได้ค่าประมาณที่ใกล้เคียงกับคำตอบที่แท้จริงอย่างน่าทึ่ง ฟรายหยิบยกนักคณิตศาสตร์ที่ครองชีวิตโสดมานานชื่อว่า ปีเตอร์ แบ็กคัส เขามีวิธีคำนวณความเป็นไปได้ที่จะมีคนรัก นี่คือเกณฑ์ที่เขาตั้งไว้

  1. มีผู้หญิงที่อาศัยอยู่ใกล้ผมกี่คน
    (ในลอนดอน มีผู้หญิงประมาณ 4,000,000 คน)
  2. มีกี่คนที่น่าจะอยู่ในช่วงอายุที่เหมาะสม
    (20% = ผู้หญิงประมาณ 800,000 คน)
  3. มีกี่คนที่น่าจะโสด
    (50% = ผู้หญิงประมาณ 4000,000 คน)
  4. มีกี่คนที่น่าจะจบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย
    (26% = ผู้หญิงประมาณ 104,000 คน)
  5. มีกี่คนที่น่าจะดูดีมีเสน่ห์
    (5% = ผู้หญิงประมาณ 5,200 คน)
  6. มีผู้หญิงกี่คนที่น่าจะมองว่าผมมีเสน่ห์ดึงดูดใจ
    (5% = ผู้หญิงประมาณ 260 คน)
  7. มีกี่คนที่น่าจะเข้ากับผมได้ดี
    (10% = ผู้หญิงประมาณ 26 คน)


หมายความว่าโลกนี้เหลือผู้หญิงแค่ 26 คนที่แบ็กคัสเต็มใจจะออกเดตด้วย
ฟรายมองว่าแบ็กคัสเป็นคนช่างเลือกไปหน่อย แล้วถ้าเปลี่ยนเป็นแบบนี้ล่ะ

  1. มีผู้หญิงที่อาศัยอยู่ใกล้ผมกี่คน
    (ในลอนดอน มีผู้หญิงประมาณ 4,000,000 คน)
  2. มีกี่คนที่น่าจะอยู่ในช่วงอายุที่เหมาะสม
    (20% = ผู้หญิงประมาณ 800,000 คน)
  3. มีกี่คนที่น่าจะโสด
    (50% = ผู้หญิงประมาณ 4000,000 คน)
  4. มีกี่คนที่น่าจะจบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย
    (26% = ผู้หญิงประมาณ 104,000 คน)
  5. มีกี่คนที่น่าจะดูดีมีเสน่ห์
    (20% = ผู้หญิงประมาณ 20,800 คน)
  6. มีผู้หญิงกี่คนที่น่าจะมองว่าผมมีเสน่ห์ดึงดูดใจ
    (20% = ผู้หญิงประมาณ 4,160 คน)
  7. มีกี่คนที่น่าจะเข้ากับผมได้ดี
    (10% = ผู้หญิงประมาณ 832 คน)

ถ้าต้องการตัวอย่างที่เข้าใจง่ายกว่านี้ เสียใจด้วยเพราะอันนี้ง่ายสุดจากทั้งหมด จะเห็นได้ว่าถ้าแบ็กคัสคลายเกณฑ์ของเขาลง หรือพูดให้เข้าใจคือ ตั้งความคาดหวัง/สเป็กให้น้อยลง จากผู้หญิงประมาณ 26 คน ก็เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเป็น 832 คน จะมีจำนวนผู้หญิงที่เหมาะสมเพิ่มขึ้นมากอีก ยิ่งตัดเรื่องจุกจิกออกไปมากเท่าไร โอกาสก็จะยิ่งมากเท่านั้น ไม่มีประโยชน์ที่จะกำจัดการค้นหาไว้ภายในกลุ่มคนที่ตรงเกณฑ์ของเราทุกข้อ เพราะนั่นคือการล้อมกรอบตัวเองด้วยโจทย์ที่เป็นไปไม่ได้ บ่อยครั้งที่เรามักจะเพิ่มรายการคุณสมบัติที่ต้องมีและห้ามมีทั้งหลายเข้าไป ซึ่งยิ่งเป็นการตัดโอกาสตัวเอง แทนที่จะทำแบบนั้น ลองเลือกสัก 2-3 ข้อที่คิดว่าสำคัญจริง ๆ แล้วเปิดโอกาสให้คนอื่นบ้าง เราอาจได้พบกับความประหลาดใจที่น่ายินดี ยังมีตัวอย่างที่น่าสนใจอีกหลายชิ้นในหนังสือ

พรหมลิขิตหรืออัลกอริทึมลิขิต ?

ฉันเชื่อว่าตอนนี้มีประชากรโสดหลายคนกำลังเปิดโอกาสให้ตัวเองได้เจอความรัก หนึ่งในวิธีการคือใช้เว็บไซต์หาคู่/แอปฯหาคู่ (dating site/dating app) จำนวนผู้ใช้พุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากพวกเรายังคงอยู่ในสถานการณ์รักษาระยะห่างท่ามกลางโควิด-19 ฉันที่แม้จะยังมีความเชื่อโบราณอยู่บ้าง ฉันก็เป็นหนึ่งในนั้นที่ใช้วิธีหาคู่ออนไลน์เพื่ออ้าแขนรับหนทางใหม่ในการหาคนที่ใช่ บางคนไม่มีเวลานัดเจอใคร โลกที่เร่งรีบบังคับให้เราก้มหน้าก้มตาทำมาหากิน ปากท้องต้องมาก่อนแต่ก็ไม่อยากปิดประตูหัวใจ สถิติล่าสุดระบุว่าคนโสดเกือบ 3 ใน 4 ของสหรัฐอเมริกาเคยทดลองใช้เว็บหาคู่ และพบว่าคู่แต่งงานใหม่จำนวน 1 ใน 3 รู้จักกันผ่านช่องทางออนไลน์

เว็บไซต์หาคู่คือแค็ตตาล็อกที่รวมคนแปลกหน้าที่พร้อมออกเดตที่สมบูรณ์และเข้าถึงง่าย ซึ่งเปิดโอกาสให้กำหนดช่วงอายุและย่านที่อยู่อาศัยเพื่อเริ่มต้นการค้นหา แต่มีเว็บไซต์หาคู่อยู่เว็บไซต์หนึ่งที่พัฒนาไปไกลกว่านั้น เพราะนำวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้การจับคู่ ก่อตั้งโดยกลุ่มนักคณิตศาสตร์ ซึ่งมีหัวใจหลักอยู่ที่ระบบการคำนวณหรืออัลกอริทึมอันประณีตบรรจง ความพิเศษของเว็บไซต์นี้ คือ อัลกอริทึมสามารถคิดคำนวณจากคะแนนที่คุณตอบคำถามเพื่อประมวลความเหมาะสม โดยมีส่วนสำคัญ 3 ส่วนนี้

1.คำตอบของคุณ
2.คำตอบที่คุณอยากให้เป้าหมายคุณตอบ
3.แต่ละคำถามสำคัญอย่างไร

ฉันมีประสบการณ์และรู้จักเว็บไซต์นี้ดี ยืนยันอีกเสียงว่าเท่าที่ทดลองเล่นมาหลาย ๆ เว็บไซต์/แอปพลิเคชัน เว็บไซต์นี้มีฟิลเตอร์ในเราได้เลือกละเอียดที่สุด! ละเอียดขนาดที่เราสามารถรู้ว่าคนไหนเหมาะสมกับเรากี่เปอร์เซ็นต์ ตัวเลขจะปรากฏบนหน้าโพร์ไฟล์ของคน ๆ นั้น มีเบื้องหลังวิธีคิดคำนวณคะแนนจากการตอบคำถามของเรา คุณสามารถไปตามอ่านวิธีคิดคำนวณแสนละเอียดได้ในหนังสือ เอาเป็นว่าฉันไม่ได้ต้องการจะมาบอกว่าเว็บไซต์ไหนหรือแอปฯ หาคู่ไหนดีที่สุด นั่นไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด สิ่งที่ฟรายกำลังจะบอกต่อหลังจากนี้คือเราอาจจะโดนอัลกอริทึมหลอก!

ความเหมาะสม (Match) ที่อัลกอริทึมคำนวณให้ มีประโยชน์ตรงที่คนเรามีแนวโน้มที่จะเปิดใจกล้าเริ่มบทสนทนาก่อนเมื่อรู้ว่าอีกคนมีความเหมาะสมเปอร์เซ็นต์สูง ๆ มากกว่าคนที่มีเราเห็นว่าความเหมาะสมมีตัวเลขต่ำ ซึ่งบอกเป็นนัยว่าผู้ใช้บริการเชื่อมั่นในอัลกอริทึมระดับหนึ่ง ในทางกลับกันอัลกอริทึมก็ใช่ว่าจะเป็นตัวการันตีความสัมพันธ์ในระยะยาวได้เสมอไป เพราะมีการทดสอบประสิทธิภาพของอัลกอริทึมที่บริษัทใช้ในการจับหาคู่ โปรแกรมเมอร์ออกแบบให้โปรแกรมบอกข้อมูลเท็จแก่กลุ่มผู้ใช้บริการที่คัดเลือกไว้ โดยแจ้งว่าพวกเขาเหมาะสมกับสมาชิกอีกคนหนึ่งถึง 90% ทั้งในความจริง คู่นี้มีคะแนนความเหมาะสมแค่ 30% ผลการทดลองน่าสนใจเพราะความเป็นไปได้ที่คนโสดจะส่งข้อความไปทักทายอีกฝ่ายเพิ่มจาก 12.4% เป็น 14.5% เมื่อพวกเขาถูกหลอกให้เชื่อว่ามีคะแนนเหมาะสมที่สูง

ความเหมาะสมไม่ใช่สิ่งการันตี

การใช้เว็บไซต์หาคู่หรือแอปฯ หาคู่ คือการเปิดโอกาสให้ตัวเองได้เจอกับโอกาสใหม่ คนคุยใหม่ เพื่อนใหม่ เดตใหม่ ๆ เป็นแพลตฟอร์มที่คนทั้งโลกมาเจอกันได้แค่ปลายนิ้วในเวลาอันรวดเร็ว ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน สภาพเป็นอย่างไง ตอนนั้นคุณอาจอยู่ในชุดนอนตัวเก่าสีซีด สภาพขาดย้วย หน้าเปลือย นอนอย่างสบายใจในห้อง มันก็ง่ายแสนง่ายต่อการเข้าถึงเพียงแค่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต คุณสามารถย่นระยะเวลาในการเตรียมตัวไปเจอใครสักคน ไม่จำเป็นต้องพกความมั่นใจเต็มกระเป๋าก็สามารถทำความรู้จักคนในเว็บฯ/แอปฯได้ แถมยังมีคณิตศาสตร์เข้ามาช่วยคิดคำนวณความเหมาะสมผ่านอัลกอริทึมที่มีระบบซับซ้อน ซึ่งแปลงสิ่งที่เป็นนามธรรมออกมาเป็นความรูปธรรมเห็นได้ ช่วยคัดกรองจากคนเป็นล้านให้เหลือเพียงคนจำนวนหนึ่งที่เราเชื่อว่า เขาหรือเธอตรงสเป็ก ตามอุดมคติในฝันเรามากที่สุด ได้เจอคนที่มีภาพยนตร์เรื่องโปรดเรื่องเดียวกัน ชอบอะไรคล้ายกัน แต่นั่นก็ไม่มีอะไรการันตีได้ว่า…รักนั้นจะไปรอดตลอดรอดฝั่งหรือไม่ ปัญหาคือเราไม่มีทางรู้เลยจริง ๆ ว่าตัวเองต้องการอะไรจนกว่าจะเจอสิ่งนั้น

เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบ สำหรับฉันมันไม่ง่ายที่จะเข้าใจคณิตศาสตร์อย่างกระจ่างทั้งหมด ไม่ได้รู้สึกชอบตัวเลขมากขึ้นแต่อย่างน้อยเราก็เห็นประโยชน์ คณิตศาสตร์เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยคำนวณให้ได้เจอคนมากมายและได้เข้าไปทำความรู้จัก ในอีกแง่หนึ่ง…หนังสือก็เผยให้เห็นเบื้องหลังความร้ายกาจของอัลกอริทึม ซึ่งบางทีมันก็โกหกและแอบมีผลกับชีวิตเรามากกว่าที่คิด พูดได้อย่างเปิดเผยว่า ฉันก็คือหนึ่งในผู้ประสบภัยทางความรักจากการใช้เว็บไซต์/แอปฯหาคู่ ไม่ได้มีเส้นทางรักหวานชื่นเหมือนเปอร์เซ็นต์ความเหมาะสมสูงลิบที่อัลกอริทึมบอก พูดให้ง่ายกว่านั้นฉันไม่เคยมีแฟนจากการใช้แอปฯเลย หลักฐานดูได้จากซากปรักหักพังความเศร้าในแชตบ็อกซ์และการออกเดต แย่สุดคือเจอมิจฉาชีพ และดีสุด ๆ ก็ได้ ‘เพื่อน’ เพิ่มมาอีกคน ความสัมพันธ์แอปฯ กับฉันจะเรียกแบบ Love-Hate เลยก็ว่าได้

อัลกอริทึมจะทำงานได้ต้องอาศัยตัวเลขที่ได้มาจากการเก็บข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ เซ็ตตัวแปร แทนค่า เป็นสมการเพื่อหาคำตอบสุดท้าย แต่ความรักในนิยามของฉันมันซับซ้อนกว่านั้น ก็เพราะความรักไม่เรียกร้องคำตอบสุดท้าย ความรักคือ “อสมการ” รูปแบบหนึ่ง ความหมายของอสมการคือการไม่เท่ากับ การไม่เท่ากับในที่นี้ไม่ได้แปลว่าจะไม่มีคำตอบอะไรเลย มันมีคำตอบแต่เป็นคำตอบไม่ตายตัว (Infinity) พูดง่าย ๆ คือ ถ้ายังไม่เจอคนที่ใช่ ก็มีโอกาสเจอความรักได้ตลอด ไม่ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม ไม่ขึ้นอยู่กับอัลกอริทึมกำหนด ใช้สัญชาตญาณนำทาง ข้างหน้ายากจะคาดเดาแต่เราก็พร้อมเสี่ยง-ทำลายกฎหรือเงื่อนไขบางอย่าง กล้าหาญในการแบกรับความผิดหวัง นั่นคือสิ่งที่ต้องแลกเพื่อหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ สิ่งเหล่านี้จะเป็นไปไม่ได้เลยถ้าไม่วางมือถือลง ล็อกเอาต์ และลองออกไปเดตกับคนที่คิดว่าเขาหรือเธอคือ “ความน่าจะรักของคุณ

จะดีหรือจะเฟล การได้เจอ-ใช้เวลาร่วมกัน…แบบออร์แกนิก
สำหรับฉันยังไงก็ดีกว่าบทสนทนาบนหน้าจอ

MATHEMATICS OF LOVE บวก ลบ คุณ ฉัน : ความน่าจะรักระหว่างเรา
ผู้เขียน ฮันนาห์ ฟราย (Hannah Fry)
ผู้แปล วิไลรัตน์ เอมเอี่ยม

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน) ขึ้นไว้บนเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี