แพลตฟอร์มที่เป็นธรรมนั้นไม่มีขาย อยากได้ต้องทำเอง! กรณีตัวอย่างจากต่างประเทศ - Decode
Reading Time: 2 minutes

ก้อนอิฐในมือสามัญชน

ดร.เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร

คนงานแพลตฟอร์มทั้งหลาย ลองหลับตาจินตนาการว่าจะดีแค่ไหน
หากคุณมีอำนาจกำหนดค่าตอบแทนและสวัสดิการที่คุณต้องการร่วมกับเพื่อนร่วมงานของคุณทุกคน

หากคุณเป็นพนักงานทำความสะอาด ลองจินตนาการใหม่ โดยลบภาพจำเดิมที่ค่าตอบแทนจากการทำงานของคุณแต่ละครั้ง ถูกกำหนดจากใครคนหนึ่งหรือคนกลุ่มหนึ่ง ที่เขาหรือพวกเขาอาจไม่เคยแม้แต่จับด้ามไม้กวาดขึ้นมาทำความสะอาดบ้านตัวเอง และไม่ต้องพูดถึงว่าพวกเขาเข้าใจคุณค่าของงานทำความสะอาดของคุณแค่ไหน

ผมอยากให้คุณลบประสบการณ์เดิมจากการทำงานกับแพลตฟอร์มที่ค่าตอบแทนนั้นถูกลดลงเรื่อย ๆ จนถึงจุดที่หลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว คุณเหลือเงินเข้ากระเป๋าไม่ถึงค่าจ้างขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดด้วยซ้ำ ลองแทนที่ประสบการณ์การถูกขูดรีดเหล่านี้ ด้วยจินตนาการใหม่ที่คุณเป็นส่วนหนึ่งของผู้กำหนดเงื่อนไขการทำงาน แม้กระทั่งอัตราค่าตอบแทนที่คุณต้องการ ในอัตราที่คุณสามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างสมศักดิ์ศรี

มันคงเป็นความรู้สึกที่ดีไม่น้อย ใช่ไหมครับ ที่จะได้รู้สึกถึงอำนาจของเราเองในการกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ของงานที่เราทำ อันที่จริง นั่นคือสิ่งที่เป็นไปได้ และเกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศ ภายใต้รูปแบบของ “สหกรณ์แพลตฟอร์ม (platform cooperatives หรือเรียกย่อๆ ว่า platform co-ops)”

คนจำนวนมากไม่ทราบว่าธุรกิจขนาดใหญ่ทั่วโลกดำเนินการในรูปแบบสหกรณ์มานานแล้ว สโมสรฟุตบอลที่มีชื่อเสียงอย่างบาร์เซโลน่า หรือสำนักข่าวเอพีที่เป็นสำนักข่าวต่างประเทศที่มีมาตรฐานที่สุด ต่างบริหารจัดการในรูปแบบสหกรณ์มาอย่างยาวนานและต่อเนื่อง ทั่วโลก ธุรกิจแบบสหกรณ์ทำให้เกิดการจ้างงานกว่า 250 ล้านตำแหน่ง เฉพาะในสหรัฐอเมริกาเอง หนึ่งในสามของอเมริกันชนเป็นสมาชิกของสหกรณ์อย่างน้อยหนึ่งแห่ง สหกรณ์จึงเป็นธุรกิจที่เก่าแก่และถูกพิสูจน์แล้วว่าดีต่อเศรษฐกิจ ดีต่อชุมชนและดีต่อคนทำงาน

สหกรณ์แพลตฟอร์มเป็นรูปแบบธุรกิจที่เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองกับความล้มเหลวของตลาด (market failures) ในเศรษฐกิจดิจิทัล

ความล้มเหลวของตลาด คือคำศัพท์ที่นักเศรษฐศาสตร์ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อใช้เรียกข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นจริงของหลักการแข่งขันสมบูรณ์ ในกรณีของเศรษฐกิจดิจิทัล ข้อบกพร่องนี้ได้แก่ แนวโน้มของการผูกขาดโดยแพลตฟอร์มน้อยราย, การแข่งขันทางด้านราคา หรือสงครามตัดราคา ที่ทำให้มาตรฐานแรงงานลดลงจนต่ำเตี้ยเรี่ยดิน (race to the bottom), การกระจายความเสี่ยงที่ไม่เสมอกันระหว่างเจ้าของแพลตฟอร์มและผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ, รวมทั้งปัญหารากฐานของงานแบบรายชิ้น ที่เป็นจักรกลหลักของการขูดรีดและทำให้เกิดความไม่มั่นคงของงานและรายได้ (precarity) ที่ส่งผลกระเพื่อมในเชิงสังคมออกไป จนทำให้ภาครัฐต้องคิดค้นออกแบบสวัสดิการใหม่ ในขณะที่ธุรกิจแพลตฟอร์มกลับสามารถหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบผ่านช่องโหว่ของกฎหมายและระบบภาษี

ในบทความที่เผยแพร่ในเดือนกุมภาพันธ์ (ออกไปจากโมเดลแพลตฟอร์มกระแสหลัก สู่เศรษฐกิจใหม่ที่เป็นธรรม) ผมได้แนะนำสหกรณ์แพลตฟอร์มคร่าว ๆ ว่าเป็นรูปแบบธุรกิจแพลตฟอร์มทางเลือก โดยอธิบายความหมายว่าเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เสนอขายสินค้าหรือบริการ เช่นเดียวกับแพลตฟอร์มทั่วไป หากแตกต่างที่แพลตฟอร์มนั้นยึดถือหลักการพื้นฐานของสหกรณ์ โดยเฉพาะความเป็นเจ้าของร่วมกันของสมาชิกสหกรณ์ หรือความร่วมมือและประชาธิปไตยในที่ทำงาน

“เจ้าของ” ของแพลตฟอร์มอาจเป็นกลุ่มของคนงาน ผู้บริโภค หรือชุมชน ที่เป็นเจ้าของทรัพยากรที่แพลตฟอร์มแสวงหากำไร ตัวอย่างของสหกรณ์ที่ผู้บริโภคเป็นเจ้าของนั้นมีให้พบเห็นทั่วโลกในรูปของสหกรณ์ร้านค้า ดังนั้น สหกรณ์แพลตฟอร์มที่ผู้บริโภคเป็นเจ้าของจึงเป็นรูปแบบที่เราสามารถจินตนาการได้ง่ายที่สุด โดยเฉพาะในสังคมที่เราแทบจะซื้อทุกอย่างทางออนไลน์อยู่แล้ว

สำหรับแพลตฟอร์มที่คนงานเป็นเจ้าของร่วมกันนั้น เราเรียกว่า สหกรณ์แพลตฟอร์มที่คนงานเป็นเจ้าของ (worker-owned coops) เช่น กรณีของอัพแอนด์โก (Up&Go) ที่ผมจะพูดถึงในบทความตอนนี้ รูปแบบสุดท้ายคือ สหกรณ์ที่ชุมชนร่วมเป็นเจ้าของ เช่นตัวอย่างของแฟร์บีแอนด์บี (FairBnB) เจ้าของห้องพักสามารถร่วมเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มในฐานะสมาชิกสหกรณ์ นอกจากนั้น แพลตฟอร์มยังนำรายได้ 50% กลับไปพัฒนาชุมชนโดยผู้ใช้บริการมีส่วนร่วมตัดสินใจว่าจะร่วมอุดหนุนโครงการพัฒนาที่ต้องการ ขณะที่แพลตฟอร์มเองเปิดโอกาสให้นักกิจกรรมในชุมชนนั้น สามารถเสนอโครงการเพื่อขอรับเงินทุนที่มาจากผลกำไรของการเข้าพักได้

ในบทความตอนนี้ ผมอยากจะหยิบยกตัวอย่างของแพลตฟอร์มอัพแอนด์โก (Up&Go) เป็นสหกรณ์แพลตฟอร์มที่พนักงานทำความสะอาดร่วมกันเป็นเจ้าของมาเล่าให้ฟัง เนื่องจากธุรกิจแพลตฟอร์มเสนอบริการทำความสะอาดบ้านและสำนักงานกำลังเป็นธุรกิจที่เติบโตขึ้นมากในประเทศไทย

นอกจากนี้ ตัวผมเองได้ดำเนินโครงการวิจัยเกี่ยวกับอำนาจของคนงานแพลตฟอร์มหญิงในธุรกิจทำความสะอาดบ้านและงานนวดในประเทศไทย เป็นเวลาหนึ่งปีกว่าแล้ว ผมจึงสนใจกรณีตัวอย่างของแพลตฟอร์มอัพแอนด์โกเป็นอย่างยิ่ง

“เราต้องการนำงานที่เป็นธรรมมาสู่คนงาน โดยนำเอารูปแบบสหกรณ์เดินหน้าเข้าสู่ศตวรรษที่ 21”

นั่นคือ คำกล่าวของซิลเวีย มอรส์ ผู้ประสานงานโครงการของ Center for Family Life (CFL) เอ็นจีโอในย่านซันเซ็ตปาร์คในบรู๊คลิน เมืองนิวยอร์คซิตี้ ทั้งนี้ มีการสำรวจว่าเกือบครึ่งของผู้อยู่อาศัยในย่านซันเซ็ตปาร์คเป็นผู้ย้ายถิ่นฐานมาจากประเทศอื่น ซึ่งกว่า 7 ใน 10 ของคนเหล่านี้ พูดภาษาอื่นที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษภายในครัวเรือน และกว่า 1 ใน 4 นั้นมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน ซันเซ็ตปาร์คจึงเป็นย่านที่มีแรงงานเคลื่อนย้ายถิ่นอาศัยอยู่หนาแน่นที่สุดย่านหนึ่งในเมืองนิวยอร์คซิตี้ งานหลักขององค์กร CFL คือ จัดหาบริการทางสังคมให้กับชุมชนของคนงานย้ายถิ่นฐานและผู้มีรายได้น้อยดังกล่าว

ในอดีต CFL พยายามสนับสนุนให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อยในชุมชนได้เข้าถึงโอกาสและความมั่นคงในการทำงาน ไม่ว่าจะโดยผ่านการฝึกอบรมและโครงการเสริมสร้างศักายภาพต่าง ๆ แต่ด้วยข้อจำกัดของคนงานเอง โดยเฉพาะทักษะทางด้านภาษาอังกฤษและคอมพิวเตอร์ ที่สำคัญสถานะแรงงานย้ายถิ่นที่เปราะบางนั้น ทำให้พวกเขาพบกับอุปสรรคในการเข้าถึงงานที่มั่นคง หลังจาก CFL ได้ค้นคว้าหาข้อมูล เกี่ยวกับทางเลือกและรูปแบบโครงการที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาอาชีพและเสริมอำนาจทางเศรษฐกิจ (economic empowerment) แก่แรงงานกลุ่มนี้จากในพื้นที่อื่น ๆ ทั่วสหรัฐฯ แล้ว CFL พบว่ารูปแบบสหกรณ์ที่คนงานเป็นเจ้าของนั้น เป็นโมเดลที่ผ่านการพิสูจน์แล้วว่าช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งและสร้างความมั่นคงให้คนงานได้อย่างยั่งยืน ดังนั้น CFL จึงตัดสินใจดำเนินโครงการพัฒนาอาชีพของแรงงานผ่านบทบาทการเป็น “ผู้ฟักไข่ (incubator)” สหกรณ์แพลตฟอร์ม มาตั้งแต่ปี 2549

ก่อนหน้าที่ผมจะได้มีโอกาสเข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุมประจำปีของเครือข่ายพันธมิตรเศรษฐศาสตร์สหกรณ์แห่งนิวยอร์ค (Cooperative Economics Alliance of New York City) เมื่อประมาณสามปีที่แล้วนั้น ผมแทบไม่รู้ว่านิวยอร์คซิตี้เป็นเมืองที่มีธุรกิจขนาดกลางและเล็กจำนวนมากที่ดำเนินการในรูปแบบสหกรณ์ ธุรกิจเหล่านี้ประกอบด้วยบริการเช่น ร้านกาแฟ โรงพิมพ์หรือร้านชำที่คนงานเป็นเจ้าของ, แปลงผักของชุมชน (community garden), ธนาคารที่ดินของชุมชน (community land trust), และโครงการที่อยู่อาศัยแบบพึ่งพา (mutual housing) เป็นต้น

ยิ่งไปกว่านั้น ในเมืองนิวยอร์คซิตี้ เครือข่ายฯ ยังทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้กับธุรกิจเหล่านี้ ในฐานะของขบวนการสหกรณ์ เพื่อผลักดันเชิงนโยบายให้เกิดระบบนิเวศที่เหมาะสมกับโมเดลธุรกิจที่มุ่งเน้นความร่วมมือมากกว่าการแข่งขัน เช่น ผลักดันให้เกิดสถาบันการเงินที่ให้ความสำคัญกับธุรกิจที่ดำเนินการในรูปแบบสหกรณ์

ในสหรัฐอเมริกา เครือข่ายพันธมิตรเศรษฐศาสตร์สหกรณ์ของเมืองนิวยอร์ค ยังเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายเศรษฐกิจสมานฉันท์ (Solidarity Economy) ที่ใหญ่กว่า ซึ่งเป็นเสมือนขบวนการทางสังคมใหม่ในภูมิทัศน์เศรษฐกิจทางเลือก ที่มีบทบาทในการพัฒนาฐานข้อมูลและองค์ความรู้เกี่ยวกับกรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จ อีกบทบาทที่สำคัญมากต่อการให้การศึกษากับผู้กำหนดนโยบาย เพื่อหนุนเสริมการผลักดันกฎหมายให้ประสบความสำเร็จ

กลับมาที่ CFL จนกระทั่งปัจจุบัน CFL ได้สร้างและพัฒนาสหกรณ์แพลตฟอร์มจากโครงการพัฒนาแอปพลิเคชันและธุรกิจที่คนงานเป็นเจ้าของแล้วกว่า 5 กิจการ ประกอบด้วยธุรกิจด้านการทำความสะอาดถึง 3 กิจการ ซึ่งรวมทั้งแพลตฟอร์มทำความสะอาดในระบบแฟรนไชส์ที่ชื่อ ไบรทลี่ (Brightly)

ส่วนอัพแอนด์โกเอง ปัจจุบันมีคนงานเป็นเจ้าของถึง 51 คน เป็นผู้หญิง 49 คนและชาย 2 คน ทั้งหมดเป็นคนงานย้ายถิ่นฐานจากลาตินอเมริกาทั้งหมด

“โปรเจ็กต์อัพแอนด์โก และการเป็นส่วนหนึ่งของสหกรณ์ ทำให้ฉันมีความปรารถนาที่จะเติบโต”

นั่นคือ ประโยคหนึ่งจากคำบอกเล่าของคนงานทำความสะอาด-เจ้าของธุรกิจอัพแอนด์โก การเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอัพแอนด์โก ทำให้คนงานเหล่านี้มีความพึงพอใจในการทำงานมากขึ้น แน่นอน ความพอใจไม่ได้มาจากค่าตอบแทนที่พวกเธอได้รับเพิ่มขึ้นถึงสองเท่าเมื่อเปรียบเทียบกับค่าตอบแทนจากการทำงานให้กับแพลตฟอร์มทั่วไป

เหนือสิ่งอื่นใด ในฐานะคนงาน พวกเธอมีประสบการณ์โดยตรงว่าธุรกิจที่ขูดรีดคนงานและปฏิบัติกับคนงานไม่ต่างจากของที่ใช้แล้วทิ้งนั้นดำเนินการอย่างไร ในฐานะเจ้าของ พวกเธอจึงออกแบบนโยบายและกระบวนการทำงานที่ต่างออกไป เพราะพวกเธอเองสวมทั้งหมวกของคนงานและเจ้าของกิจการ

ทั้งนี้ คนงานที่เป็นเจ้าของมีบทบาทในฐานะคณะกรรมการบริหารที่จะต้องประชุมกันทุกสองสัปดาห์ พวกเธอทุกคนจึงเป็นผู้ตัดสินใจตั้งแต่ว่าจะรับพนักงานเพิ่มหรือไม่ เมื่อใดจะเปลี่ยนแปลงค่าตอบแทน ไปจนถึงนโยบายในเรื่องแนวปฏิบัติและสวัสดิการ บทบาทและอำนาจหน้าที่เหล่านี้ โดยปกติกระจุกอยู่ในมือของผู้บริหารกลุ่มเล็ก ๆ ที่มักไม่เคยเห็นหัวหรือฟังเสียงคนงาน

บทบาทและอำนาจที่มีทำให้คนงานเหล่านี้มีความเชื่อมั่นในตัวเอง เคารพและสนับสนุนซึ่งกันและกัน ที่สำคัญได้รับความไว้วางใจและการปฏิบัติที่ดีจากลูกค้าหรือผู้รับบริการ

อัพแอนด์โกเริ่มต้นดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2560 ก่อนหน้าที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2563 นั้น ธุรกิจดำเนินไปได้ด้วยดีและมีผลกำไร อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในเมืองนิวยอร์ค เคยรุนแรงมากจนถึงกับเมืองทั้งเมืองต้องปิดล็อกดาวน์ ส่งผลให้บริการทำความสะอาดตามบ้านของอัพแอนด์โกต้องหยุดชะงักชั่วคราว เหลือเพียงแต่บริการทำความสะอาดสำหรับสำนักงาน อย่างไรก็ตาม ลูกค้ารายย่อยของอัพแอนด์โกกว่าครึ่งที่เป็นบ้านพักนั้นยังคงสนับสนุนธุรกิจในช่วงล็อคดาวน์ โดยไม่ต้องการรับบริการทำความสะอาด เหตุผลสำคัญ เพราะพวกเขารู้ว่าเงินรายได้นี้ไม่ได้ถูกหักไปเข้ากระเป๋านายทุน แต่ทุกเซ็นต์นั้นไปถึงมือคนงานที่กำลังลำบากอย่างแท้จริง

ในปัจจุบัน ที่คนงานยังคงมีความเสี่ยงจากการติดเชื้อโรคโควิด-19 ระหว่างการทำงาน แม่บ้านของอัพแอนด์โกเองร่วมกันวางแนวปฏิบัติ เพื่อความปลอดภัยหรือคุ้มครองคนทำงานทุกคนของอัพแอนด์โก ซึ่งเป็นแนวทางที่แตกต่างอย่างมากจากธุรกิจแพลตฟอร์มทำความสะอาดในบ้านเรา ที่ขาดการสนับสนุนในเรื่องอุปกรณ์การป้องกันความปลอดภัย และขาดแนวทางการปฏิบัติที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพและความปลอดภัยของคนทำงาน

จนถึงจุดนี้ อาจต้องยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่าตัวอย่างความสำเร็จของอัพแอนด์โกและสหกรณ์แพลตฟอร์มทั่วโลกนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นง่าย ๆ ความสำเร็จนี้เป็นผลมาจากการทำงานอย่างต่อเนื่องยาวนานของเครือข่ายภาคประชาสังคม ทั้งภาควิชาการและการพัฒนาในการสร้างสาธารณูปโภคที่เหมาะสมสำหรับระบบสหกรณ์ ซึ่งไม่สามารถแยกขาดจากปัจจัยที่สำคัญคือ ความตระหนักรู้และความเข้าใจของสังคม โดยเฉพาะผู้กำหนดนโยบายและพวกเราทุกคนในฐานะผู้ใช้บริการ ที่ต้องเห็นคุณค่าของคนงานเหนือผลกำไร

ขณะที่ความเหลื่อมล้ำในเศรษฐกิจดิจิตัลในปัจจุบัน ทำให้เกิดคำถามสำคัญว่าใครควรจะเป็นเจ้าของเทคโนโลยี ? หรือเทคโนโลยีดิจิตัลควรอยู่ในมือใคร ? รูปแบบการบริหารจัดการที่คนงานเป็นเจ้าของนั้นน่าจะเป็นทางเลือกหนึ่ง ที่ช่วยให้เรานำเอาเทคโนโลยีกลับเข้ามาอยู่ในมือของสังคม ทั้งนี้ สหกรณ์แพลตฟอร์มนั้นเป็นการผสมผสานนวัตกรรมที่ดีที่สุดของ 2 โลกคือ ระบบสหกรณ์ ซึ่งเป็นนวัตกรรมทางเศรษฐกิจของโลกเก่า ประกอบเข้ากับนวัตกรรมของโลกดิจิทัล นั่นคือ แพลตฟอร์มดิจิทัล

ถึงแม้มันอาจไม่ใช่คำตอบสุดท้าย แต่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการหันเหทิศทางสู่การนำเอาทุนนิยมกลับมาอยู่ใต้กำกับของสังคม

ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา การยกระดับของจิตสำนึกเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกและประชาธิปไตยของคนรุ่นใหม่ในบ้านเรานั้น เกิดขึ้นควบคู่กับความสนใจในลัทธิสังคมนิยมและสิทธิแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้นตาม ความปรารถนาของผมในบทความตอนนี้ คือ การนำเสนอพิมพ์เขียวเชิงสถาบันของเศรษฐกิจเชิงสังคม (social economy) รูปแบบหนึ่ง หวังว่ามันอาจจะถูกใช้เป็นแผนที่นำทาง ถึงแม้ว่าแผนที่นี้จะยังเลือนราง แต่น่าจะพอช่วยบอกทิศทางพอสังเขป ให้พวกเราหันไปสู่ทิศทางที่ถูกต้อง สำหรับการเดินทางไปสู่ระบบเศรษฐกิจภายใต้การกำกับของสังคมที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้นในอนาคต

ข้อมูลอ้างอิง
-ประสบการณ์ตรงของผู้เขียนจากการร่วมประชุม Platform Cooperative Consortium และ Cooperative Economics Alliance of New York City
-อัพแอนด์โก ซีรีย์วิดีโอเรื่องราวสหกรณ์ หมายเหตุ 8 (A Cooperative Story No. 9 Up&Go) โดยองค์กร Aroundtheworld.coop รับชมได้ทางยูทูป https://www.youtube.com/watch?v=7QnB_jwcl3E
-บทความ “เมื่อใครบางคนจ้างฉัน พวกเขาได้เจ้าของธุรกิจไปบริการให้ (When Someone Hires Me, They Get the Boss Herself),” นิวยอร์คไทม์, 7 กรกฎาคม 2020
-บทความ “ความสำคัญของสหกรณ์ของคนงานย้ายถิ่น (The Importance of Immigrant Worker Cooperatives) จาก https://sites.evergreen.edu/ccc/labor/immigrant-worker-cooperatives/