ถอดรหัสทางวัฒนธรรม ทุนนิยม และการเมืองผ่านเรื่องราวของ BNK48 - Decode
Reading Time: 3 minutes

ในช่วงแรกที่เพลง “Koisuru Fortune Cookie” (คุกกี้เสี่ยงทาย) ถูกปล่อยท่วงทำนองออกมา หลายคนไม่ว่าจะเป็นแฟนคลับ BNK48 หรือไม่ก็ตาม ก็คงจะเคยได้ยินเพลงนี้ผ่านหูกันมาบ้าง ความโด่งดังของเพลงนี้ทำให้ชื่อของ BNK48 ได้รับการจดจำ ถ้านับจากที่มีการเปิดตัวสมาชิกรุ่นแรกในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2560 จนถึงตอนนี้ก็เป็นเวลากว่า 4 ปีแล้ว

คนส่วนใหญ่มักจะจดจำเรื่องราวของวงไอดอลที่มีต้นแบบจากญี่ปุ่นในแง่ของความบันเทิงเท่านั้น แต่ที่จริงแล้ว การปรากฏขึ้นของ BNK48 สะท้อนประเด็นต่าง ๆ ในสังคมออกมาได้ด้วยมุมมองแบบวิชาการ

De/code จึงชวน ผศ.ดร.โดม ไกรปกรณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ นักวิชาการที่สนใจด้านวัฒนธรรมบันเทิงในสังคมไทย และแฟนคลับตัวยงของ BNK48 ที่เคยนำเรื่องราวของวงไอดอลที่ชื่นชอบไปเสนอในเวทีวิชาการชื่อว่า “Akademika Nusa Internasional” (Association of Social Sciences and Humanities, ANISSH) มาแล้ว ในเดือนสิงหาคม ปี 2561 ณ ประเทศเกาหลีใต้ มาสะท้อนมุมมองเชิงวิชาการ ที่ไม่จำเป็นต้องศึกษาแค่เรื่องซีเรียสเสมอไป

เราสามารถทำให้เรื่องวิชาการเป็นเรื่องที่บันเทิงได้ ขณะเดียวกันก็ทำให้เรื่องบันเทิงกลายเป็นเรื่องที่ขบคิดอย่างซีเรียส เพื่อเข้าใจปรากฏการณ์วงไอดอลในสังคมไทยได้เช่นกัน

ขบคิดเรื่องบันเทิงด้วยมุมมองแบบวิชาการ

“ตอนแรกก็ไม่รู้จักเลย วงนี้คืออะไร แต่ด้วยอาชีพสอนหนังสือ ต้องอยู่กับเด็กวัยรุ่น วันดีคืนดีเด็กก็พูดกันถึงวง BNK48 ตอนนั้นซิงเกิลสอง ‘Koisuru Fortune Cookie’ กำลังดัง ลูกศิษย์บอกให้ดูก็เลยไปดู…”

โดมเล่าช่วงเริ่มต้นที่ติดตามวง BNK48 ด้วยสีหน้ายิ้มแย้มและน้ำเสียงที่บ่งบอกชัดว่ากำลังสนุกสนานที่ได้ย้อนความ แต่การที่เขาชื่นชอบวง BNK48 ไม่ใช่แค่การที่ลูกศิษย์บอกให้ไปดูแล้วชื่นชอบในทันใด ทว่าภูมิหลังเมื่อครั้งที่เขาเป็นวัยรุ่นที่เติบโตมาในช่วงทศวรรษ 1990-2000 มีส่วนสำคัญที่ทำให้อินไปกับเพลงต่าง ๆ ของวง BNK48 ได้เร็วขึ้น เพราะในช่วงเวลาดังกล่าววัฒนธรรมบันเทิงญี่ปุ่นกำลังเป็นกระแสในไทย เขาเองก็ได้เสพวัฒนธรรมบันเทิงญี่ปุ่นในหลายรูปแบบจนถึงปัจจุบัน จึงไม่ใช่แปลกเลยถ้าหากนักวิชาการอย่างเขาจะสามารถอินไปกับเพลงของ BNK48 ได้อย่างง่ายดาย

และด้วยอาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ต้องผลิตผลงานวิชาการอยู่สม่ำเสมอ ทำให้โดมคิดถึงความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ที่จะนำเอาเรื่องราวของวงไอดอลที่ชื่นชอบมาเป็นงานวิชาการ

“มันตรงกับรสนิยมส่วนบุคคล ซึ่งผมคิดว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่นักเรียนประวัติศาสตร์ทั่ว ๆ ไปจะต้องมี ดูอย่างพุทธศาสนาก็สอนเรื่องอิทธิบาท 4 จะทำอะไรสำเร็จต้องมีฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ทีนี้ มันสตาร์ตที่ฉันทะ (ความพอใจ) ถ้าคุณไม่ชอบ คุณก็อยู่กับมันไม่ได้”

โดมศึกษาเรื่องราวของ BNK48 ผ่านมุมมองเชิงประวัติศาสตร์ธุรกิจ เพราะวงไอดอลถือเป็นธุรกิจบันเทิงรูปแบบหนึ่งที่มีทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภค การขายสินค้า รวมถึงการจัดการบริหารองค์กรให้บรรลุเป้าหมายทางธุรกิจ

บางคนอ่านมาถึงตรงนี้อาจสงสัยว่า วงไอดอลที่ก่อตั้งได้เพียง 4 ปี สามารถทำการศึกษาเป็นงานประวัติศาสตร์ได้ด้วยเหรอ ?

ตามความรับรู้ทั่วไป งานประวัติศาสตร์มักถูกเข้าใจว่าเป็นเรื่องราวของอดีตอันไกลโพ้นที่สายตาของมนุษย์ในปัจจุบันมิอาจมองเห็นเหตุการณ์ในอดีตด้วยตาเปล่า ประวัติศาสตร์จึงดูไกลตัว เป็นเรื่องเก่าแก่ ไม่มีประโยชน์นักที่จะนำมาใช้ในปัจจุบัน ยิ่งถ้าไปดูประวัติศาสตร์ในตำราเรียนของรัฐแล้วก็เต็มไปด้วยเรื่องราวของชนชั้นปกครองและการสงคราม ที่ห่างเหินเกินสิ่งที่ประสบพบเจอในชีวิตประจำวัน มีประโยชน์เพียงแค่อ่านเพื่อซาบซึ้ง ไม่ก็ฮึกเหิม ตามขนบชาตินิยมแบบไทย ๆ

แต่สำหรับโดมแล้ว งานประวัติศาสตร์ต้องไม่คับแคบ ต้องเปิดกว้างหาสิ่งท้าทายใหม่ ๆ มาทำการศึกษา หากเปรียบงานประวัติศาสตร์เหมือนกับละครเวทีแล้ว นักแสดงหลักที่ได้โลดแล่นอยู่บนเวทีที่โดมเป็นผู้กำกับนั้นคงไม่ใช่ใครอื่น แต่คือวงไอดอลนาม BNK48 นั่นเอง

“วัฒนธรรมบันเทิงเป็นกิจกรรมในชีวิตของมนุษย์ ถ้าบอกว่าประวัติศาสตร์ศึกษามนุษย์ เรื่องบันเทิงก็เป็นสิ่งที่เราต้องเข้าไปทำความเข้าใจมัน ไม่ต่างจากกิจกรรมทางการเมืองหรือเศรษฐกิจ… ฉะนั้น BNK48 ที่เกิดขึ้นมาแค่ 4 ปีก็เป็นประวัติศาสตร์ได้ ถ้าเราทำให้เห็นความเป็นมาและปัจจัยที่ทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นเปลี่ยนแปลงไป ก็เป็นสิ่งที่เราเรียกว่างานทางประวัติศาสตร์แล้วในระดับหนึ่ง”

ส่วนข้อมูลที่จะนำมาใช้ประกอบการศึกษา จำต้องอาศัยบทสัมภาษณ์ของผู้ประกอบการ เมมเบอร์ ผู้บริหาร รวมถึงแหล่งข้อมูลออนไลน์ที่ให้ข้อมูลผลประกอบการ แล้วอาศัยการตีความด้วยมุมมองทางมานุษยวิทยาจึงจะเข้าใจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น

การลงภาคสนามเพื่อเก็บข้อมูลจึงจำเป็น เพราะการศึกษาประวัติศาสตร์ที่ร่วมสมัยกับปัจจุบันมาก ๆ นั้น ต้องพยายามเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกของคนในปัจจุบันตามแบบนักมานุษยวิทยา เพื่อให้งานออกมามีคุณภาพและน่าเชื่อถือมากที่สุด

การศึกษา BNK48 จำเป็นต้องมองทั้งในมุมผู้ผลิตและผู้บริโภค โดมจึงอาศัยสถานะที่เป็นแฟนคลับอยู่แล้ว ลงพื้นที่เก็บข้อมูลในงานคอนเสิร์ตหรืองานจับมือ ทั้งจดบันทึก ถ่ายรูปและวิดีโอเก็บไว้ ถ้าวันไหนไม่ได้ไปงานก็อาศัยเก็บข้อมูลจากแฟนเพจของเมมเบอร์ บริษัท และกลุ่มแฟนคลับ เพื่อนำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์ตีความด้วยทฤษฎี และทำความเข้าใจต่ออารมณ์ความรู้สึกของคนที่มีส่วนร่วมในวงการนี้

เรียกได้ว่าทำงานไปมีความสุขไปพร้อม ๆ กัน

โมเดลธุรกิจแบบ “48”
กับการขยายสาขาจากอากิฮาบาระสู่บางกอก
และจากบางกอกสู่เจียงใหม่เมืองลำดับสองของ “48”

ต้นแบบธุรกิจแบบ BNK48 มาจาก AKB48 ในญี่ปุ่น มีจุดขาย 2 จุด คือ 1. หาเมมเบอร์จากการออดิชั่น เพื่อให้เป็นวงไอดอลที่มีสมาชิกเยอะที่สุดในโลกบันเทิงระดับอินเตอร์ 2. การตั้งชื่อวงจะเป็นชื่อเมืองหรือเขต ตามด้วยเลข “48” อันมีที่มาจากเจ้าของบริษัทที่ชื่อว่า ชิบะ โคตาโร่ (Shiba Kotaro) โดยคำว่า “ชิ” และ “บะ” เป็นคำพ้องเสียงภาษาญี่ปุ่น แปลความได้เป็นเลข “4” และ “8” ตามลำดับ เมื่อมีการขยายสาขาจากวงแรก AKB48 (Akihabara) ไปสู่พื้นที่อื่น ๆ จึงต้องมีชื่อวงและเลข “48” กำกับเสมอ

ในญี่ปุ่น เช่น วง SKE48 (Sakae) NNB48 (Namba) HKT48 (Hakata) ฯลฯ นอกญี่ปุ่น เช่น JKT48 (Jakarta) ประเทศอินโดนีเซีย SNH48 (Shanghai) ประเทศจีน TPE48 (Taipei) ประเทศไต้หวัน ฯลฯ และ BNK48 (Bangkok) ประเทศไทย

เมื่อ BNK48 จะขยายสาขาวงก็ต้องทำตามสัญญาที่ซื้อมาจากญี่ปุ่น ทั้งการตั้งชื่อวง การทำเพลง ชุดที่ใส่ รวมถึงการขายสินค้าแก่แฟนคลับ ทำให้ “วงน้องสาว” (คำที่ใช้เรียกวงที่ขยายสาขาไปจังหวัดอื่น) ซึ่งขณะนี้มีจังหวัดเดียวคือเชียงใหม่ในชื่อ CGM48 ก็ต้องดำเนินตามโมเดลธุรกิจนี้เหมือนกัน

คำถามคือ ทำไมเชียงใหม่จึงกลายเป็นเมืองลำดับสองของ “48” ในไทย ?

ในมุมมองด้านการตลาด/ธุรกิจ โดมสันนิษฐานจากการติดตามดูไลฟ์ของเหล่าเมมเบอร์ว่า ในช่วงเปิดตัววง BNK48 ก่อนเพลงจะดังจนเป็นที่รู้จัก เหล่าเมมเบอร์ได้ไปทัวร์ในหลายพื้นที่ ซึ่งเชียงใหม่เป็นจังหวัดแรก ๆ ที่ไป แล้วปรากฏว่ามีแฟนคลับจำนวนมาก

“แฟนคลับหรือลูกค้าของเขาคือใคร ส่วนใหญ่ถ้ามองในแง่คลาสก็คือ คนชั้นกลาง เมืองไหนที่คนชั้นกลางอยู่เยอะ รองจากกรุงเทพฯ ก็เชียงใหม่ เพราะ Infrastructure มันพร้อม และคนมีกำลังซื้อ”

เพราะเศรษฐกิจเป็นตัวกำหนดการตลาด การเลือกขยายสาขามาที่เมืองใหญ่อย่างเชียงใหม่จึงสำคัญ โดมชวนวิเคราะห์ต่อไปอีกว่า การจะเข้าใจถึงการที่คนชั้นกลางในเชียงใหม่มีจำนวนมาก ต้องย้อนไปดูในบริบททางประวัติศาสตร์ นับตั้งแต่มีการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติขึ้นมา เชียงใหม่ก็ถูกให้ความสำคัญในฐานะเมืองอันดับสองของประเทศ

“ลองนึกภาพดูสิ การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยในแผนพัฒน์ จะมีการสร้างเมืองเซ็นเตอร์ของแต่ละภาค ซึ่งภาคเหนือคือเชียงใหม่ ถ้าดูในแง่งบประมาณ มันน่าอัศจรรย์ใจในมุมหนึ่งนะ งบไปสู่เชียงใหม่มากกว่าเมืองเซ็นเตอร์ในภาคอื่น ๆ ในแง่หนึ่งอาจเป็นเพราะว่า เขาต้องการขายการท่องเที่ยวด้วยหรือเปล่า ? เนื่องจากเชียงใหม่มีครบทั้งภูเขา น้ำตก วัด รวมถึงเที่ยวแบบ exotic ไปดูชาวเขา”

ถ้าคิดตามมุมมองของโดม จังหวัดไหนได้รับการพัฒนาจากรัฐมากเท่าไร มีคนชั้นกลางผู้มีกำลังซื้อมากเท่าไร ก็มีแนวโน้มว่าบริษัทเจ้าของ BNK48 จะลงทุนลงแรงสร้างวงน้องสาวเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น เชียงใหม่ตอบโจทย์เรื่องนี้ จึงทำให้เกิดวง CGM48 ขึ้นมา

ความเป็นกรุงเทพฯ/ไทยและความเป็นท้องถิ่นภายใต้ทุนนิยม

หลังเพลง “BNK48” (เพลงที่ชื่อเดียวกับชื่อวง) หรือที่เรียกกันว่า “เพลงชาติ” ถูกปล่อยออกมา ก็มีบางคนวิพากษ์วิจารณ์ว่าเนื้อเพลงนำเสนอแต่ความเป็นกรุงเทพฯ ที่แทนภาพความเป็นไทยโดยรวมแค่ด้านดีและมุมที่สวยงามเลอค่าชวนน่ามองอย่างเดียว ไม่นำเสนอภาพด้านลบ ความเสื่อมโทรม ความผุพังของเมืองกรุงเทพฯ เลย โดมในฐานะนักวิชาการที่ศึกษาประเด็นนี้อยู่ (และในฐานะแฟนคลับ) ตอบประเด็นดังกล่าวที่ยกขึ้นมา ด้วยการมองในมุมที่ต้องพิจารณาบนเงื่อนไขบางอย่างของวง

โมเดลธุรกิจของวงไอดอลที่มาตั้งนอกญี่ปุ่นอย่าง BNK48 จะต้องมีหนึ่งเพลงที่โฆษณาเมืองที่ตั้งบริษัทของวง ซึ่งกรณีนี้ก็ใช้เพลงชาติ “BNK48” นำเสนอภาพแลนด์มาร์กสำคัญในกรุงเทพฯ เช่น วัดพระแก้ว หัวลำโพง เสาชิงช้า อโศก จตุจักร ฯลฯ การคมนาคมทาง MRT และ BTS ที่แสนจะสะดวก จนถึงอาหารไทยอันโอชะที่น่ารับประทาน เช่น ส้มตำ แกงเขียวหวาน มัสมั่น ทองหยอด ทองหยิบ ฯลฯ ที่ล้วนแต่แสดงถึงความศิวิไลซ์ ฉะนั้น เพลงจึงมีเนื้อหาสอดคล้องกับนโยบายของบริษัทและธีมของวงที่เน้นขายความสดใส

“คนที่วิพากษ์เขาลืมคิดถึงบริบทบางอย่าง ตั้งแต่เนื้อเพลงหรือคอนเซ็ปต์เพลง มันบอกอยู่แล้วว่ากรุงเทพฯ เมืองศิวิไลซ์ ซึ่งเพลงของตระกูล 48 เขาขายความสดใส ขายการให้กำลังใจผู้ฟัง คุณจะเอาดาร์กไซด์มาเล่าให้เมืองนี้มันมีอาชญากรเต็มไปหมดเหรอ สมมติถ้าคุณอยากจะให้เป็นอย่างนั้นจริงก็ต้องมาเขียน Gotham48 ทั้งเมืองมีแต่คนเลว แต่เพลงนี้มันไม่ใช่ คอนเซ็ปต์เขามันเป็นอย่างนี้”

ส่วนกรณี CGM48 โดมตั้งข้อสังเกตว่า ความเป็นท้องถิ่นที่นำเสนอออกมาผ่านเพลงคล้ายกับการนำเสนอความเป็นกรุงเทพฯ/ไทยของ BNK48 ในแง่หนึ่ง คือยังคงคอนเซ็ปต์ขายความสดใส เพราะฉะนั้น ความเป็นท้องถิ่นจึงมีความผสมผสานแบบลูกผสมมากกว่าที่จะเป็นแบบพื้นเมืองดั้งเดิม ทั้งชุดที่ใส่และเนื้อเพลงที่ไม่ได้มีภาษาเหนือหรือกำเมืองแท้ ๆ เช่น ในเพลง “Chiang Mai 106” มีภาษาเหนือคำเดียวคือ “ไปโตยกัน” แปลว่า “ไปด้วยกัน”

จุดขายความเป็นท้องถิ่นจริง ๆ ของ CGM48 จึงอยู่ที่สตอรี่ของเมมเบอร์ที่เกือบทั้งหมดเป็นชาวเหนือมากกว่า หรือชื่อของเมมเบอร์บางคนที่แสดงถึงความเป็นคนเหนือ อาทิ “คะนิ้ง” ที่หมายถึง น้ำค้างแข็ง โดยการขายสตอรี่จะทำผ่านการไลฟ์ให้บรรดาแฟนคลับเข้าไปติดตามชีวิตของเมมเบอร์แต่ละคน นี่เป็นหนึ่งในสิ่งที่ตกทอดมาจาก BNK48 อันถือเป็นจุดขายสำคัญไม่แพ้การแสดงบนเวที

กล่าวได้ว่า ความเป็นกรุงเทพฯ/ไทยและความเป็นท้องถิ่นที่แสดงออกผ่านความศิวิไลซ์ที่เต็มไปด้วยความสวยสดงดงามเช่นนี้ เป็นผลมาจากกลไกทางการตลาดในระบบทุนนิยมที่บังคับให้ต้องดำเนินไปตามความต้องการของผู้บริโภค

“ถามว่าเขาสร้าง identity ของวงขึ้นมาเพื่ออะไร แน่นอนก็เพื่อขายของ คุณขายคนชั้นกลางก็ต้องขายความศิวิไลซ์ที่คนพวกนี้อยากเสพ เราปฏิเสธทุนนิยมไม่ได้ ตอนนี้ทุนนิยมมีพลังอยู่ไม่ว่าในทางใดทางหนึ่ง แม้แต่การจัดการท่องเที่ยวเชียงใหม่ตอนนี้ก็ยังต้องสอดรับกับทุนนิยมและนักท่องเที่ยว ฉะนั้น identity มันจะเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ ตอนนี้คุณจะขายของก็ต้องขายความศิวิไลซ์ แต่เมื่อไรก็ตามที่คุณจะปลุกกระแสให้คนรักท้องถิ่นก็ต้องเอาอย่างอื่นมา”

โมเดลขยายสาขาCGM48 เทียบเท่าผู้ว่าฯ CEO เขย่ารัฐรวมศูนย์

เรื่องราวของวงไอดอลใช่จะเกี่ยวข้องแต่กับความบันเทิงหรือทุนนิยมเท่านั้น ทว่าการขยายสาขาจาก BNK48 สู่ CGM48 สามารถนำมามองเชื่อมโยงกับการเมืองไทยได้เช่นกัน โดมให้ความเห็นประเด็นนี้ว่าการขยายสาขาของวงคล้ายคลึงกับการกระจายอำนาจจากส่วนกลางสู่ท้องถิ่น ซึ่งถ้าย้อนมองไปที่บริบททางประวัติศาสตร์ระยะใกล้จะพบว่าหลักการที่ให้ท้องถิ่นมีอำนาจเป็นผลจากรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 แต่กลไกนี้สะดุดลงเมื่อทักษิณ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้มีนโยบายนำระบบผู้ว่าราชการจังหวัดแบบ CEO มาใช้

“ระบบผู้ว่าฯ CEO มันทำให้ CEO ที่ใหญ่กว่า คือ นายกฯ ที่อยู่กรุงเทพฯ เข้ามาจัดการควบคุมท้องถิ่นได้มากขึ้น อำนาจมันไม่ได้ถูกกระจายอย่างจริง หรือมันไม่ได้ถูกกระจายได้อย่างเต็มที่”

กรณีการขยายสาขาวงก็เปรียบเทียบได้กับนโยบายผู้ว่าฯ CEO ซึ่งทางผู้จัดการวง CGM48 จะทำอะไรก็ต้องฟังผู้บริหารใหญ่ของวง BNK48 เพราะอำนาจบริหารแท้จริงอยู่ที่กรุงเทพฯ แต่ทาง CGM48 ก็สามารถบริหารตนเองได้บางส่วน เช่น ผู้จัดการวงเป็นคนเลือกได้ว่าจะเอาเพลงไหนมาออกเป็นซิงเกิล หรือจะเอาคนไหนเป็น “เซ็มบัตสึ” คือเมมเบอร์หลักของแต่ละเพลง

นอกจากนี้ โดมยังกล่าวว่าวงไอดอลตระกูล 48 ยังมีสปิริตของความเป็นประชาธิปไตยในระดับหนึ่ง นั่นคือ การเลือกตั้งเซ็มบัตสึ โดยให้แฟนคลับซื้อบัตรโหวตให้กับเมมเบอร์ที่ตัวเองชอบ แต่ถือว่าเป็นประชาธิปไตยที่ผูกกับทุนนิยม

“มันเป็นการซื้อแบบโจ่งแจ้ง ไม่เหมือนกับคุณจ่ายเงินทุจริตซื้อเสียงแบบไม่มีใครรู้ ที่นี่ไม่มีระบบล็อก คุณอยากให้คนไหนคุณก็ทุ่มเงินไปเลย”

แฟนคลับเองก็มีสปิริตในการกดดันผู้บริหารเมื่อดำเนินการบางอย่างไม่ถูกใจหรือผิดวัตถุประสงค์ไป ตั้งแต่ปฏิบัติการในโลกออนไลน์ คอมเมนต์วิพากษ์วิจารณ์ในเพจของบริษัท หรือคอมเมนต์กันในกลุ่มของแฟนคลับเอง รวมถึงการที่เมมเบอร์บางคนออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างเปิดเผยในโลกออนไลน์ ซึ่งย่อมเสี่ยงต่อการถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเลือกข้าง แต่สำหรับโดมแล้ว ทั้งหมดนี้คือสปิริตของความเป็นประชาธิปไตย (+ทุนนิยม) ที่พอมีให้เห็นบ้างในวงไอดอล

มากกว่าความบันเทิงคือการเข้าใจวัฒนธรรม

การทำความเข้าใจเรื่องราวของวงไอดอลในเชิงวิชาการ จะช่วยให้คนทั่วไปที่อาจไม่ได้สนใจเรื่องราวของวงไอดอลเข้าใจสังคมไทยได้อย่างไรบ้าง? คำถามสุดท้ายก่อนจบบทสนทนากันไป…

โดมกล่าวว่า เรื่องที่ตนได้ศึกษาคงไม่ได้จำเป็นกับทุกคน เว้นเสียแต่คนที่สนใจในประเด็นนี้จริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นแฟนคลับของวง BNK48 เอง หรือผู้ที่สนใจงานวิชาการ

ประโยชน์ของการศึกษาประวัติศาสตร์วงไอดอลหรือวัฒนธรรมบันเทิงอื่น ๆ ช่วยเปิดมิติใหม่ของหัวข้อการศึกษาประวัติศาสตร์ที่มุ่งทำความเข้าใจชีวิตของผู้คนและสังคม ถ้าทำให้มันเป็นระบบระเบียบมากขึ้น จะเห็นประเด็นที่น่าขบคิดมากกว่าแค่เรื่องของวงไอดอล เช่น การรับวัฒนธรรมญี่ปุ่นของต่างชาติเข้ามาในไทย การผสมผสานวัฒนธรรมบันเทิงต่างชาติกับไทย การนำเสนอตัวตนของท้องถิ่นที่ผูกกับระบบทุนนิยม ความเป็นชายขอบทางวัฒนธรรมของเหล่าแฟนคลับ ฯลฯ

การเปิดพรมแดนใหม่ทางประวัติศาสตร์ต่อการศึกษาเรื่องราวของวงไอดอล ยังคงรอให้มีคนไปศึกษาต่อ
บางทีเราอาจจะเห็นเรื่องซีเรียสที่ซ่อนอยู่ในความไม่ซีเรียสของเรื่องที่ศึกษาก็ได้ ใครเล่าจะล่วงรู้

ดูตัวอย่างงานศึกษาเพิ่มเติมของ ผศ.ดร.โดม ไกรปกรณ์ ได้ที่นี่
ธุรกิจศิลปินไอดอล BNK48 ในกระแสความซบเซาของธุรกิจเพลงไทย: ประวัติศาสตร์ธุรกิจบันเทิงร่วมสมัย http://ejournals.swu.ac.th/index.php/JOH/article/view/12998