เพราะรัฐบกพร่อง ประชาชนจึงต้องตื่นรู้ - Decode
Reading Time: 3 minutes

เพราะมันคือเมืองของเรา

ศานนท์ หวังสร้างบุญ

“วัคซีนที่ดีที่สุดตอนนี้ ก็คือวัคซีนที่คุณได้รับการเสนอให้ฉีดนั่นแหละ”

ผมได้ฟังคำพูดเหล่านี้มาไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง และคิดว่ามีเหตุผลเพียงพอที่จะเรียบเรียงข้อมูลต่าง ๆ ในบทความของ De/code เพื่อชวนแลกเปลี่ยน และเพื่อไม่ให้ผมวนเวียนนอยู่ใน Echo Chamber ของความคิดเหล่านี้ไปมากกว่านี้ เพราะวินาทีนี้คงไม่มีเรื่องอะไรสำคัญกว่าการระบาดครั้งใหม่

จวบจนวันนี้ เรายังวนเวียนอยู่กับคำถามเกี่ยวกับการฉีดวัคซีน ประสิทธิภาพของวัคซีน การนำเข้าจากภาคเอกชน การกลายพันธุ์ของไวรัส และมาตรการในการหลุดออกจากวงโคจรนี้

ในฐานะเจ้าของกิจการผู้รับความเสี่ยงสูง แบกภาระทั้งตัวเอง ทีมงาน และหนี้สินหลายอย่าง ความไม่แน่นอนจากการระบาดระลอกแล้วระลอกเล่าของ COVID-19 คือสิ่งที่ไม่อยากให้เกิดที่สุด แต่สิ่งที่แย่กว่าคือความไม่แน่นอนจากมาตรการของรัฐ ที่ยังไม่เห็นอนาคตอันสดใส หลายประเทศกำลังจะหลุดออกจากวงโคจรการระบาด แต่เรากำลังวนกลับมาเหมือนปีที่แล้ว ไม่ไปไหนจริง ๆ

“Pandemics are no longer natural disasters, they’re political failures” – Prof. Yuval Noah Harari  ผมชอบโควทคำพูดนี้ของคุณฮารารี่มาก คุณฮารารี่พูดเปรียบเทียบให้ฟังว่านวัตกรรมของมนุษย์ในยุคนี้มันล้ำมาก หลายประเทศสามารถควบคุมการระบาดได้อย่างอัศจรรย์ด้วยเทคโนโลยี ด้วยดิจิทัล เช่น เกาหลี ไต้หวัน เป็นต้น ดังนั้นการระงับการระบาดจึงไม่ใช่สิ่งที่ควบคุมไม่ได้อีกต่อไม่ การระบาดจึงไม่ใช่ภัยธรรมชาติ แต่เป็นการจัดการที่ผิดพลาดของภาครัฐมากกว่า

เมื่อรัฐบกพร่อง ประชาชนต้องตื่นรู้

ผมจึงไม่มีเหตุผลอื่นอันใดที่เราจะไม่เอาข้อมูลมาแชร์กันและถกเถียงเพื่อเรียกร้องให้รัฐทำงานให้ดีขึ้นกัน บทความนี้อุทิศเพื่อสิ่งนี้ และเพื่อให้อ่านง่ายขึ้น ผมพยายามสรุปออกมาเป็น 9 ข้อดังนี้

1.สิ่งที่ทุกประเทศต้องทำเพื่อให้ระบบเศรษฐกิจเดินได้

เราต้องทำทั้งสองอย่างนี้ไปด้วยกัน เลือกอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ คือ (1) หยุดยั้งการระบาด และ (2) การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ Herd Immunity ให้ถึง 70% เร็วที่สุด ไปพร้อม ๆ กัน ไม่สามารถทำอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างเดียวได้ โดยข้อแรกเรื่องการหยุดยั้งการระบาด ประเทศเราถือว่าทำได้ดีระดับหนึ่งแล้ว เราทำได้โดยการใส่หน้ากากตลอดเวลา 100% การหมั่นล้างมือบ่อย ๆ เจลแอลกอฮอล์ หรือที่บ้านเราเรียกกันว่าการ์ดไม่ตก ส่วนข้อสองสำหรับผมเรียกได้ว่าบกพร่องอยู่มาก

2.การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity)

ที่สมมติฐานจากการคำนวณทางคณิตศาสตร์บอกว่าเราต้องทำให้ได้อย่างน้อย 70% ของประชากรทั้งประเทศ เพื่อให้ค่าการระบาด R0 ต่ำกว่า 1 แปลว่าจะระบาดน้อยมากหรือเรียกได้ว่าไม่ระบาดเป็นวงกว้างแล้ว โดยการสร้าง Herd Immunity นั้นสามารถทำได้ 2 ทาง คือ (1) เคยเป็นโรคโควิด-19 มาก่อนจึงมีภูมิคุ้มกัน หรือ (2) การฉีดวัคซีน

3. ก่อนจะพูดถึงวัคซีน

ผมอยากย้ำอีกครั้งว่า วัคซีนไม่ใช่ทุกอย่าง วัคซีนเป็นเพียงกลไกหนึ่งเท่านั้น ยกตัวอย่างที่ประเทศชิลี มีการฉีดวัคซีนไปแล้วเกือบ 30% ถือว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่ฉีดวัคซีนเร็วมากอันดับต้นๆของโลก แต่ปัจจุบันก็ยังระบาดหนักมาก เพราะการ์ดตก และทำให้ระบบเศรษฐกิจยังไม่กลับมาเป็นปกติได้ หรือที่ไต้หวัน แม้ว่าจะมีการฉีดวัคซีนน้อยมาก แต่การ์ดไม่ตก

เขามีวิธีการหยุดยั้งการระบาดที่ดีมากตั้งแต่วันแรก มีการทำ data tracking ผ่านระบบสาธารณสุขของประเทศที่มีประสิทธิภาพมาก ๆ เพราะเป็นผลพวงการสร้างระบบนี้ตั้งแต่ครั้งการแพร่ระบาดโรค SARS ที่ประเทศเขาเจอหนัก ปัจจุบันถึงต่อให้ไม่มีวัคซีน แต่ก็ควบคุมทุกอย่างดีมาก แต่ก็อย่างทีเรียนข้างต้นครับว่าสุดท้ายเขาก็จำเป็นต้องเร่งฉีดวัคซีนเพื่อสร้าง Herd Immunity ให้ได้เช่นกัน เป็นต้น ดังนั้นจึงอยากสรุปอีกครั้งว่า เราจำเป็นต้องทำทั้งสองอย่างไปด้วยกัน ต้องการ์ดไม่ตก ต้องใส่หน้ากาก ต้องล้างมือ และต้องจัดสรรหาวัคซีนไปพร้อม ๆกันทั้งหมด

4.เรามาพูดกันถึงวัคซีนดีกว่า

ปัจจุบันการฉีดวัคซีนทั้งโลกตอนนี้เป็นการฉีดในระบบฉุกเฉินหมด (Emergency use) ไม่ใช่การอนุมัติเต็มรูปแบบ ดังนั้นต้องให้รัฐบาลแต่ละประเทศรับรองก่อนจึงจะสามารถฉีดได้ โดยที่บางประเทศรัฐเป็นผู้ฉีดเองทั้งหมด แต่หลายประเทศก็ขอความร่วมมือจากเอกชนมาช่วยกระจายฉีด เช่น สหรัฐอเมริกาเป็นต้น ที่ผนึกกำลัง เร่งฉีดวัคซีนเป็นอาเจนด้าของประเทศ ทั้งรัฐ ทั้งเอกชน ร่วมมือกันอย่างแข็งขัน

5.แล้วทำไมไทยถึงช้า ?

เท่าที่ฟังจาก ศบค. ทุกวันและฟังข่าวสารจากประเทศอื่นประกอบ แนวทางการฉีดวัคซีนนั้นมีการถกเถียงกันใหญ่ๆ 2 ทาง ฝ่ายแรกบอกว่าเราควรรอให้วัคซีนมันเสถียรก่อน ให้มีการพิสูจน์ และให้มีการอนุมัติให้ใช้เต็มรูปแบบก่อนแล้วค่อยเอามากระจายให้ประชาชน มิเช่นนั้นก็เหมือนเป็นการเอาเชื้อโรคให้ประชาชน เอาประชาชนมาเสี่ยง สร้างอันตรายกันมากกว่ารักษา หรือบ้างก็ว่าการรีบเร่งฉีดนั้นมีเบื้องหลังหรือไม่ เป็นการไปส่งเสริมทุนผูกขาดรึเปล่า ฯลฯ

ส่วนอีกฝ่ายก็สนับสนุนให้เร่งฉีด เพราะวัคซีนเหล่านี้ถึงแม้ว่าจะเป็นการใช้แบบฉุกเฉินแต่ก็มีการพิสูจน์ประสิทธิภาพมาแล้วเบื้องต้นจากกลุ่มอาสาสมัครหลายหมื่นคนก่อนที่จะออกสู่ตลาด หากยิ่งฉีดช้า ก็ยิ่งทำให้เศรษฐกิจเดินต่อไม่ได้ เปิดประเทศยาก มาตรการการเยียวยาก็ต้องใช้งบประมาณมหาศาล ทุกวันที่ช้าคือทุกวันที่ระบบเศรษฐกิจกำลังจะพังทลาย เราไม่ตายหากควบคุมการระบาด แต่การอดตายอาจจะมาหาคนจำนวนมหาศาลก่อนก็เป็นได้ ยิ่งถ้าการ์ดตก แล้วต้องกลับมาปิดประเทศ กลับมา Lock down กันอีก เศรษฐกิจก็วนลูปไม่เดินหน้า เงินเยียวยาก็ไม่มีแล้ว ประชาชนลำบาก อดตายกันหมดเป็นแน่แท้

สองทางแยกแห่งการจัดการ มีผลสำคัญต่อปากท้อง มีผลสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนมาก

6.ตอนนี้รัฐไทยเลือกทางไหน ?

ศบค.ชี้แจงเสมอมาเมื่อถูกถามเรื่องการกระจายวัคซีน คำตอบที่ผมได้ยินเสมอก็คือ เรายังดำเนินตามแผนคือนำเข้ามาแล้ว เฟสแรกเร่งฉีดให้กับทีมแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มเสี่ยงสูงทั้งหมดก่อน หลังจากนั้นเฟสสองจะเริ่มฉีดให้ประชาชนทั่วไปในช่วงครึ่งหลังของปี เป้าหมายคือฉีดให้ได้เดือนละ 10 ล้านโดส ตอนนี้ยังถือว่าเป็นไปตามแผน ยังไม่ช้าไป…

ถ้าเป็นตามนี้ จากแผนนี้ เราจะมีภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) ครบ 70% หรือ 40 ล้านคนช่วง Q1 ปี 2021 หรือไม่เกินเดือนมีนาคมปีหน้า

โดยสรุปนั่นแปลว่ารัฐเลือกเดินทางแรก เลือกที่ทำให้ Herd Immunity ทั้งประเทศครบประมาณช่วง Q1 ของปีหน้า แปลว่าอีกเกือบหนึ่งปีหลังจากนี้ ก่อนหน้านั้นก็ต้องภาวนาให้ทุกคนในประเทศการ์ดไม่ตก ไม่มีตลาดกลางกุ้ง ไม่มีเลานจ์ ไม่มีสถานบันเทิง ไม่มีคลัสเตอร์จากผู้หลักผู้ใหญ่ที่ไหนกันอีก และก็ต้องภาวนาให้ทุกคนเข้มงวดกับมาตรการควบคุมอย่างจริงจังกันต่อไป

เราเชื่อกันไหมครับว่าจะไม่มีระลอก 4 ระลอก 5 ฯลฯ

แน่นอนว่าต้องห้ามการ์ดตก แต่ส่วนตัวผมคิดว่าเราจะวนที่เดิมถ้าเราไม่เร่งฉีดวัคซีน หากเราไม่เร่งสร้าง Herd Immunity ให้กับคนในประเทศให้เร็วที่สุด เป็นอาเจนด้าเหมือนกับสหรัฐอเมริกา และหลายประเทศที่อัตราการฉีดวัคซีนเร็วขึ้นอย่างน่าตกใจ

7.แล้ววัคซีนตัวไหนดีที่สุด ?

ปัจจุบันเป็นตลาดของผู้ขาย ไม่ใช่ตลาดของผู้ซื้อ เราได้ยินคำนี้มาตั้งแต่ช่วงที่มีการพูดถึงการผูกขาดกับแอสตร้าเซเนก้าและซิโนแวค และเหมือนว่ามันจะยิ่งช้าไปแล้วในวันนี้ในการนำเข้าวัคซีนตัวอื่น แต่ข้อดีก็คือยิ่งนับวันตัวเลือกก็ยิ่งมีมากขึ้นเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น วัคซีน Novavax ของสหรัฐที่มีประสิทธิภาพสูงมาก เป็นต้น

ตัวไหนดีที่สุด ? คำถามนี้เป็นข้อถกเถียงมาก ถึงแม้ว่าการฉีดวัคซีนจะยังเป็นแบบฉุกเฉินอยู่ก็ตาม ผมเจอข้อมูลจาก vox.com ที่ไปสัมภาษณ์คุณ Deborah Fuller จาก Department of microbiology, University of Washington ไว้และผมคิดว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจมาก

เขาว่าไว้ว่า…

ปัจจุบันนี้ เราไม่สามารถเปรียบเทียบเรื่องประสิทธิภาพได้เลย ถึงแม้จะมีข้อมูลยืนยันบอกว่าประสิทธิภาพของวัคซีนไฟเซอร์คือ 95% โมเดอนา 94.5% จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน 67% ฯลฯ เพราะ 2 เหตุผลคือ (1) เรื่องกลุ่มตัวอย่างคนละกลุ่มกัน และ (2) ช่วงเวลาที่ใช้ตรวจคนละช่วงเวลา

ประสิทธิภาพของวัคซีน ในการทดลองระยะที่ 3 ใช้วิธีการตรวจโดยแบ่งกลุ่มอาสาสมัครเป็น 2 ประเภทคือ กลุ่มแรกได้รับวัคซีนจริง อีกกลุ่มได้รับวัคซีนหลอก และจับตาดูอาสาสมัครทั้ง 2 กลุ่มว่าได้รับเชื้อเป็นอย่างไรในสถานการณ์เดียวกัน ซึ่งประสิทธิภาพของแต่ละอันจะเกิดจากการเอากลุ่มอาสาสมัครของ 2 กลุ่มนี้มาเทียบกัน เช่น กรณีศึกษาของวัคซีนไฟเซอร์(Pfizer) กลุ่มอาสาสมัครที่ฉีดวัคซีนจริงติดเชื้อ 8 คน และกลุ่มอาสาสมัครที่ฉีดวัคซีนหลอกติดเชื้อ 162 คน จึงสามารถสรุปได้ว่าได้ผล 95% เมื่อเป็นการเทียบกันเองจากกลุ่มอาสาสมัคร 2 กลุ่ม และแต่ละชนิดของวัคซีนก็ไม่ได้ใช้อาสาสมัครกลุ่มเดียวกัน เป็นคนละกลุ่มอาสาสมัคร จำนวนอาสาสมัครก็ไม่เท่ากัน แบบนี้จึงไม่สามารถใช้ข้อมูลจากคนละสถานการณ์มาเปรียบเทียบกันได้

มากกว่านั้น การทดลองคนละช่วงเวลาก็มีผลมาก เพราะไวรัสโควิด-19 มีการกลายพันธุ์อยู่ตลอดเวลา เมื่อทดลองคนละช่วงเวลา ก็หมายถึงปัจจัยของโรคที่ไม่เหมือนกัน เช่นในภาพด้านบน วัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสันมีการทดลองในช่วงที่ระบาดหนัก เทียบกับทั้งไฟเซอร์(Pfizer)และโมเดอร์นา (Moderna)ที่ทดลองในช่วงก่อนปีใหม่ที่มีการระบาดและหมายถึงอาจจะเกิดการกลายพันธุ์น้อยกว่า เป็นต้น

ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่พูดยากว่าเราจะเปรียบเทียบว่าวัคซีนตัวไหนดีกว่าตัวไหน

ผมคิดว่าเรื่องนี้สำคัญมาก การมีทางเลือกให้กับประชาชนจึงสำคัญกว่าการพุ่งเป้าไปที่ตัวใดตัวหนึ่ง การเผื่อเลือก เผื่อได้ เผื่อเสีย และการให้ประชาชนได้มีสิทธิในการเลือกในการสร้างภูมิคุ้มกันบนร่างกายของเขาจึงเป็นสิ่งจำเป็น

8.ไวรัสกลายพันธุ์ วัคซีนจะป้องกันได้ไหม ?

การกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 เกิดจากความผิดพลาดในการคัดลอกตัวไวรัส เพราะมีเซลล์จำนวนมาก WHO เปรียบเทียบให้เห็นว่ามันเหมือนกับโซ่ล็อกของจักรยาน พอมันเคลื่อนผิดเลขก็ทำให้มันกลายพันธ์ุ แล้วลองจินตนาการว่ามันมีโซ่แบบนี้อยู่ถึง 30,000 อันที่ต้องถูกคัดลอกพร้อมกัน จึงเป็นธรรมดาที่เมื่อมีการระบาดมากแล้วจะเกิดความผิดพลาดของการคัดลอกตัวไวรัสจนเป็นที่มาของการกลายพันธุ์ได้ เมื่อกลายพันธุ์แล้ว บางความผิดพลาดทำให้ไวรัสอ่อนแอลง บางความผิดพลาดทำให้มันแข็งแรงขึ้น

จากการสัมภาษณ์ ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2564 และบอกว่าไวรัสกลายพันธ์ุที่มีข้อมูลทั้งหมดในปัจจุบันยังอยู่ในสถานะที่ไม่น่าเป็นห่วงเพราะวัคซีนยังดูแลได้ครอบคลุมทั้งหมด แต่ก็ย้ำกับผู้สัมภาษณ์ว่าไม่ได้แปลว่าวันข้างหน้าจะไม่น่าเป็นห่วงเพราะไวรัสกลายพันธุ์อยู่ตลอดเวลา

โดยที่ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้เป็นสายพันธุ์ที่ได้รับการจับตามองที่สุด เรียกว่าเป็นบอสใหญ่สุดในขณะนี้ และเป็นสายพันธุ์ที่ประเทศไทยเอามาใช้เพื่อจัดทำวัคซีนในปัจจุบันโดยมีสมมติฐานว่าจะสามารถครอบคลุมการป้องกันของสายพันธุ์เดิมที่ระบาดอยู่ได้ด้วย

วัคซีนทำให้ไม่ป่วยเลยใช่ไหม?

ผมชอบการอธิบายในชาร์จนี้ เพราะไม่ว่าประสิทธิภาพของวัคซีนจะมากแค่ไหน มันจะวิ่งอยู่ในช่วงตั้งแต่ซ้ายสุดคือ (1) เสียชีวิต – (2) การต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล – (3) อาการรุนแรง – (4) อาการไม่รุนแรง – (5) ไม่มีอาการ – (6) ไปจนถึงไม่ติดเชื้อ

โดยที่ก่อนที่วัคซีนทุกตัวจะได้รับอนุมัติจากองค์การอนามัยโลก อย่างน้อยทุกตัวต้องรักษาอาการรุนแรงได้ นั่นแปลวัคซีนจะไม่ได้ป้องกันให้เราไม่ติดเชื้อ แต่มันจะป้องกันไม่ให้อาการเราหนัก ป้องกันไม่ให้เราต้องไปโรงพยาบาล และแน่นอนที่สุดคือป้องกันไม่ให้เราเสียชีวิตจากโรคโควิด-19

ดังนั้น เมื่อมีคำถามว่าวัคซีนตัวไหนดีที่สุด ผมชอบคำตอบของเดบอร่าห์ ฟูลเล่อร์ว่า “วัคซีนที่ดีที่สุดตอนนี้ ก็คือวัคซีนที่คุณได้รับการเสนอให้ฉีดนั่นแหละ”

อีกครั้งครับ ทั้ง 9 ข้อนี้เป็นข้อมูลที่ผมพยายามสรุปมาให้อ่าน ผมไม่ได้คิดว่าถูกต้องที่สุด มากไปกว่าการอยากแชร์สิ่งที่ค้นคว้า และฝันเห็นการถกเถียง และการช่วยกันผลักดันให้รัฐบาลผู้ปกครองเราเร่งสร้าง Herd Immunity ให้เกิน 70% เร็วที่สุด เพื่อให้ทุกอย่างกลับมาดีขึ้น

เหมือนที่ข่าวเพิ่งออกว่า อังกฤษกำลังจะเป็นประเทศแรกที่มีภูมิคุ้มกันหมู่ครบและพร้อมจะเปิดประเทศแล้ว และนั่นคือชัยชนะที่เรียกว่า “เราชนะ” ที่แท้จริง

อ้างอิง
https://www.ft.com/content/89992bc9-051a-42b5-8be0-60edad4165cb
https://www.vox.com/22362894/which-covid-vaccine-is-better-moderna-vs-pfizer-video
https://www.forbes.com/sites/leahrosenbaum/2021/03/11/novavax-says-vaccine-is-96-effective-at-preventing-original-covid-19-virus/?sh=c1a8a2e9c2a3
https://covid.cdc.gov/covid-data-tracker/#vaccinations
https://www.ft.com/content/f1b30f2c-84aa-4595-84f2-7816796d6841
https://www.who.int/news-room/feature-stories/detail/the-effects-of-virus-variants-on-covid-19-vaccines?gclid=Cj0KCQjw6-SDBhCMARIsAGbI7Ug69hiwJvawlXs1_SvEzKWs34s82X2q1H_L-D-IP7f9UXEGwludGzcaAt4hEALw_wcB