เป็นคนดีมีเมตตา(นอก)กรอบคิด “พุทธแบบรัฐ” - Decode
Reading Time: 2 minutes

ผมคิดว่าความช่วยเหลือที่ดีที่สุด คือการที่เราช่วยให้เขารู้สึกได้ว่าสิทธิอำนาจมันอยู่ในตัวเขาเอง ปัญญาญาณอยู่ที่ตัวเขาเอง เราไม่มีสิทธิไปรู้ดีกว่าเขาหรอกว่าจะออกจากความทุกข์ได้อย่างไร เพราะฉะนั้นคนที่ให้ความช่วยเหลือได้ดีที่สุด คือการช่วยให้ผู้อื่นเป็นอิสระจากทุกข์นั้นได้ด้วยตัวเขาเอง ให้เขาได้รับการ Empower ว่าเขามีมือมีเท้าของเขาในการทำงาน ในการทำหน้าที่ ในการสร้างความเปลี่ยนแปลงชีวิตของเขาได้ นี่คือสิ่งที่ประเสริฐที่สุด”

วิจักขณ์ พานิช ผู้อำนวยการสถาบันวัชรสิทธา และนักวิชาการอิสระด้านปรัชญาศาสนา ชวนมองมุมใหม่ต่อการทำบุญทำทาน ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งผูกติดกับหลักคิดของศาสนาพุทธ ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าชุดความคิดนี้มีปัญหาโดยตัวของมันเอง แต่ท่ามกลางสังคมที่เปลี่ยนผ่านสู่ชุดคุณค่าแบบใหม่ การสงเคราะห์ผู้ยากไร้โดยมองข้ามปัญหาเชิงโครงสร้างที่แท้จริง อาจทำให้เราตกหลุมพราง “ความดี” จนไม่สามารถแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจได้อย่างที่สังคมประชาธิปไตยควรจะเป็น

“พุทธแบบรัฐ” บุญทานบารมีที่ผูกติดกับระบบชนชั้น

ปรากฎการณ์แห่บริจาคเงินแก่ผู้ยากไร้เกิดขึ้นตลอดมาในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เช่น กรณีของสองตายายที่รอคิวลงทะเบียนเพื่อรับเงินเยียวยาจากภาครัฐนานจนต้องนั่งป้อนข้าวกันระหว่างรอ เรื่องนี้กระตุ้นต่อมสงสารจนทำ “พี่น้องคนไทยผู้ใจบุญ” บริจาคเงินช่วยเหลือตายายร่วม 6 ล้านบาท เพียงชั่วข้ามคืน ยังมีแนวคิดของการสงเคราะห์คนจนในลักษณะนี้อีกมาก โดยเฉพาะที่เผยแพร่ทางสื่อและกลายเป็นคอนเทนต์หลากหลายของรายการ ทั้งรายการประกวดร้องเพลงและเล่นเกมโชว์ต่าง ๆ ที่ให้ผู้เข้าแข่งขันมาทำภารกิจเพื่อนำเงินไปเยียวยาครอบครัว จุดไคลแม็กซ์ของรายการมักจะวัดกันที่ความน่าสงสารของผู้เข้าแข่งขันแต่ละคน

รายการบีบคั้นอารมณ์จากชีวิตรัดทดของผู้คนในรูปแบบนี้ เราจะคุ้นเคยกับการฉายซ้ำชะตาชีวิตแร้นแค้นของคนกลุ่มเปราะบาง ไม่ว่าจะเป็นความพิกลพิการของร่างกาย ความเจ็บป่วย ความอัตคัตขัดสน กล้องมักจะแพนไปที่บ้านสังกะสีโย้เย้ ซูมเน้น ๆ ไปที่ความแร้นแค้นของครอบครัว และโคลสอัพตรงหยดน้ำตาที่ไหลอาบแก้มของผู้เข้าแข่งขัน เราจะอยู่กับวิธีคิดในการทำบุญช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสแบบนี้ หรือควรตั้งคำถามต่อการบริหารจัดการของภาครัฐในการลดความเหลื่อมล้ำ ให้กระจายรายได้และทรัพยากรออกไป สิ่งไหนน่าจะแก้ปัญหาและเป็นความช่วยเหลือที่กอบกู้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้มากกว่ากัน

เมื่อคำถามตั้งต้นที่แนวคิดเกี่ยวกับการทำบุญทำทาน การหาคำตอบจึงย้อนกลับไปที่ศรัทธาทางพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาหลักที่คนไทยนับถือมากที่สุด โดยสถิติล่าสุดจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่สำรวจสภาวะทางสังคม วัฒนธรรม และสุขภาพจิต ในปี 2561 จากครัวเรือนตัวอย่าง 27,960 ครัวเรือน พบว่า ประชากรไทยนับถือศาสนาพุทธ 93.5% รองลงมาคือศาสนาอิสลาม 5.4% ศาสนาคริสต์ 1.1% และมีผู้ที่นับถือศาสนาอื่นๆ รวมทั้งผู้ที่ไม่มีศาสนา น้อยกว่า 0.1% นอกจากนั้นในรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2560 มาตรา 67 ที่เกี่ยวกับบทบาทของศาสนาพุทธมีข้อความบางส่วนระบุชัดเจนว่า ในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือมาช้านาน รัฐพึงส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและการเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาท เพื่อให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา

การระบุไว้ในรัฐธรรมนูญให้มีการส่งเสริมการเผยแพร่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาท จึงมีความชัดเจนว่ารัฐให้ความสำคัญต่อพุทธศาสนานิกายนี้ วิจักขณ์อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับแก่นแนวคิดของพุทธเถรวาทไว้ว่า

“ความจริงผมไม่อยากให้ตีตราว่าเป็นพุทธอะไร แต่ถ้าจะอธิบายพุทธศาสนาของไทยซึ่งเป็นพุทธแบบเถรวาท จะมีลักษณะที่ค่อนข้างอิงกับคำสอนดั้งเดิม มีพระไตรปิฎก มีคำสอนของพระพุทธเจ้าหรือพุทธวัจนะ ซึ่งพุทธแบบเถรวาทของไทย จะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือเป็นพุทธที่ผูกติดกับอำนาจรัฐ เราอาจจะพูดว่าเป็น “พุทธแบบรัฐ” ซึ่งเมื่อรัฐแบบไทยยังไม่สามารถจะเปลี่ยนผ่านไปสู่สำนึกของประชาธิปไตยได้จริง ๆ เราจึงเป็นพุทธที่มีสถานะแบบชนชั้น ที่จริง ๆ แล้วผมรู้สึกว่ามันเป็นปัญหา”

เขาเชื่อมโยงให้เห็นแนวคิดของการทำบุญทำทานที่เกี่ยวข้องกับกรอบคิดของ “พุทธแบบรัฐ” ที่มักจะสะท้อนผ่านเรื่องเล่าต่าง ๆ ในศาสนาพุทธ เพื่อแสดงให้เห็นตัวอย่างของชนชั้นสูงที่ทำนุบำรุงพระศาสนา เช่น เรื่องเล่าของ “อนาถบิณฑิกเศรษฐี” ผู้เกิดในตระกูลเศรษฐีและมีใจบุญให้ความช่วยเหลือคนทุกข์ยาก แม้แต่ความหมายของชื่อ อนาถบิณฑิกเศรษฐี ยังแปลได้ว่า เศรษฐีผู้เป็นที่พึ่งของคนยาก เศรษฐีผู้นี้ได้ใช้เงินจำนวนมากสร้างวัดเชตวันมหาวิหารถวายแก่พระพุทธเจ้า

“การทำนุบำรุงพระศาสนาของพุทธไทย มักจะผูกโยงกับเรื่องของระบบชนชั้น คำว่า “ทานบารมี” จะถูกเน้นย้ำมาก คือการที่คุณมีเงิน มีสถานะทางสังคม คุณต้องแสดงบารมีของคุณผ่านการให้ทาน ซึ่งการให้ทานส่วนใหญ่นั้น หนึ่งคือให้ทานต่อพระศาสนาเพื่อยกระดับความใกล้ชิดต่อพระซึ่งเป็นเนื้อนาบุญ อีกแบบหนึ่งคือการให้ทานโดยคนที่มีสถานะสูง ให้กับคนที่มีสถานะต่ำ อาจเป็นการทำโรงทานหรือบริจาคให้ในรูปแบบสังคมสงเคราะห์”

ด้วยเหตุนี้เองชุดความเชื่อทางศาสนาและศีลธรรมของสังคมไทยจึงผูกติดกับโครงสร้างอำนาจในสังคม โดยศาสนาทำหน้าที่หนุนเสริมระบบอำนาจและทำให้ศาสนาพุทธแบบไทยมักมองจากข้างบนลงข้างล่าง หรือจากชนชั้นที่ครองอำนาจทางการเงินหรือการปกครอง ลงไปสู่ชนชั้นล่างที่มีความด้อยกว่าในด้านเศรษฐานะ ด้วยแนวคิดนี้จึงทำให้คุณธรรมในเรื่องการให้ทานหรือให้ความช่วยเหลือ ไม่ได้ยืนอยู่บนจิตสำนึกของคนที่เท่าเทียมกัน หรือพูดให้ชัดไปกว่านั้นคือศาสนาพุทธกระแสหลักในประเทศไทย ยังไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับจิตสำนึกแบบประชาธิปไตยได้ โดยผู้อำนวยการสถาบันวัชรสิทธาได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับบทบาทของพุทธศาสนาไทยว่ามีโครงสร้างคล้ายกับข้าราชการ

“ในทางโครงสร้างพระก็เหมือนข้าราชการ เพราะว่าคณะสงฆ์อยู่ในโครงสร้างของรัฐ จึงทำให้แนวคิดทางศีลธรรมและคำสอนไม่สามารถทะลุออกจากโครงสร้างของรัฐได้ แบบเรียนของเด็กไทยหรือเรื่องเล่าอะไรก็ตามในทางศาสนา จึงไม่มีการตีความพ้นจากกรอบคิดแบบรัฐได้”

สร้าง “บุญใหญ่” ด้วยการคืนความเป็นคนให้เท่าเทียมกัน

เมื่อสมาทานแนวคิดแบบชนชั้นให้ผูกติดกับการทำบุญทำทาน จึงเท่ากับเป็นการจำกัดความคิดไม่ให้ทะลุไปสู่กรอบคิดแบบอื่น คนไทยจึงมักจะทำบุญทำทานเพื่อหวังสั่งสมบารมีไปใช้ในชาติภพหน้า แต่ไม่เคยตั้งคำถามกับความด้อยโอกาสของตัวเองหรือเพื่อนร่วมสังคมที่ต้องทุกข์ทนในชาตินี้ วิธีคิดแบบนี้เป็นหลักธรรมการทำบุญทำทานตามแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาจริงหรือไม่ วิจักขณ์ได้เสนอความเห็นว่า

“เรามักจะใฝ่ฝันว่าถ้าฉันทำบุญทำทาน เกิดชาติหน้าถ้าฉันจะมีบารมีบ้าง ชีวิตฉันจะสูงขึ้น ถ้าพูดถึงศาสนาพุทธที่เข้าถึงปัญญาจริง ๆ ด้วยประสบการณ์ของตัวเองไม่ได้เป็นอย่างนั้น แต่มันคือการที่ทุกคนมีสิทธิอำนาจในตัวเอง มีประสบการณ์ที่เราสามารถที่จะเรียนรู้ เติบโต สามารถให้ความรักความกรุณาต่อผู้อื่นในแบบของเราได้ โดยไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนกัน เช่น คนทำบุญด้วยการซื้อสังฆทานให้วัดแล้ว ทุกคนต้องทำบุญด้วยการซื้อสังฆทานให้วัดกันไปหมด ไม่ได้หมายความว่าอย่างนั้น”

พระไพศาล วิสาโล พระนักวิชาการที่ดำเนินงานกิจกรรมด้านสังคมมาอย่างต่อเนื่อง ได้เสนอแนวคิดในการบุญเพื่อขยายขอบเขตของการทำความดีให้กว้างขวางออกไป ไว้ในหนังสือชื่อ “ฉลาดทำบุญ” เพื่อเน้นให้ใช้ปัญญามาเป็นส่วนหนึ่งในการทำบุญ โดยอธิบายหลักคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า

“ฉลาดทำบุญ คือการทำบุญเพื่อมุ่งให้เกิดประโยชน์กับส่วนรวม เป็นประโยชน์กับผู้รับ ในขณะเดียวกันก็เพื่อขัดเกลาตนเองให้เกิดทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน ประโยชน์ตนในที่นี้ไม่ได้หมายถึงได้โชคได้ลาภ แต่หมายถึงลดความเห็นแก่ตัว มีจิตใจผ่องใสที่ได้ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น วิธีการมีหลายอย่าง ทั้งการช่วยเหลือสังคม ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม หรือการทำอะไรก็ตามเพื่อให้สังคมดีขึ้น สิ่งเหล่านี้ถือเป็นการฉลาดทำบุญเหมือนกัน”

นอกจากนั้นยังเพิ่มเติมว่าแนวคิดเกี่ยวกับการทำบุญในลักษณะนี้ มีหลักฐานชัดเจนอยู่ในชาดกของพระโคตมพุทธเจ้ามานานแล้ว นั่นคือเรื่องเล่าเกี่ยวกับ “มฆมาณพ” ซึ่งทำบุญด้วยการทำงานเพื่อส่วนรวมของหมู่บ้าน ทั้งการดายหญ้า ขุดลอกคลอง ดูแลถนนหนทาง สร้างศาลา โดยร่วมใจกับชาวบ้านที่เห็นประโยชน์ในเรื่องนี้ถึง 33 คน จนขยายเป็นกลุ่มก้อนในวงกว้างขึ้นเรื่อย ๆ มฆมาณพเป็นสามัญชนที่ไม่ได้ใช้เงินทองวัตถุในการโปรยทาน แต่ใช้กำลังกายและจิตอาสาของตัวเองในการ “ทำบุญ” ซึ่งพระไพศาลได้ชี้ให้เห็นว่าเป็นแนวคิดที่ยังมีการถือปฏิบัติมาตลอดในพุทธศาสนา เพียงแต่อาจจะไม่สามารถทัดทานกระแสหลักที่เชี่ยวกรากของบริโภคนิยม

“แนวคิดในการทำบุญแบบนี้มีคนทำอยู่ เพียงแต่ว่าเป็นเสียงส่วนน้อย เพราะต้องเข้าใจว่าบริโภคนิยม วัตถุนิยมมันแรงมาก คนทำอะไรมักนึกถึงแต่ตัวเอง ทำบุญหวังเข้าตัว อันนี้ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดเรื่องพุทธศาสนาก็ดี หรือแนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนหรือประชาธิปไตยจึงถูกบั่นทอนด้วยเรื่องนี้ เพราะเป็นกระแสที่มีอิทธิพลในสังคม ซึ่งมันบั่นทอนแนวคิดทุกอย่างที่เราพูดมา”

ดังนั้นประสบการณ์ในการทำบุญของแต่ละบุคคล เมื่อตีความตามศาสนาพุทธโดยใช้ปัญญานำทาง จึงอาจกว้างขวางกว่าขอบเขตของการทำบุญทำทานเพื่อสงเคราะห์ผู้ยาก การช่วยเหลือด้วยข้าวของเงินทองไม่ใช่ปัญหา แต่ความช่วยเหลือที่มากขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง คือการช่วยให้เพื่อนมนุษย์ได้บรรลุถึงศักยภาพที่แท้จริงของเขา เพื่อที่จะได้ยืนอยู่อย่างมั่นคงด้วยตัวเอง มีสิทธิและศักดิ์ศรีเท่าที่มนุษย์คนหนึ่งพึงจะมี เพื่อสนับสนุนให้เพดานของแนวคิดเรื่องการทำบุญทำทานสอดคล้องกับคุณค่าของยุคสมัย พระไพศาลมีความเห็นว่าพุทธศาสนาเองควรปรับตัวให้สอดคล้องกับแนวคิดของสังคมด้วยเช่นกัน

“พุทธศาสนายังมีปัญหาที่จะกลมกลืนหรือดึงเอาคุณค่าของปัจจุบันมาเป็นส่วนหนึ่งของศาสนา อันนี้ยังเป็นปัญหาอยู่ ยังมีความอิหลักอิเหลื่อ ซึ่งจำเป็นต้องขยายแนวคิดพวกนี้ให้กว้างขวางออกไป ให้ค่านิยมหรือคุณค่าใหม่ ๆ ได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของคตินิยมทางพุทธศาสนา”

หากย้อนมองเรื่องนี้ใช้เชิงโครงสร้าง หากรัฐยังคงมีแนวคิดในการช่วยเหลือแบบสังคมสงเคราะห์ตามคตินิยมของพุทธแบบรัฐ ผู้ด้อยโอกาสที่เป็นผลจากความเหลื่อมล้ำของโครงสร้างสังคมคงต้องร้องขอความเมตตาตลอดไป การรับบริจาคที่ต้องแออัดยัดทะนานเข้าคิวรับความช่วยเหลือย่อมไม่ใช่สิ่งที่แสดงให้เห็นว่ารัฐเคารพประชาชนอย่างแท้จริง ยิ่งตอกย้ำให้คำว่า “ชนะ”, “รัก”, “ผูกพัน” ในโครงการเยียวยาทั้งหมดของภาครัฐ เป็นความรักที่กดทับและหนักอึ้งอยู่ในความรู้สึกของคนจน หากเราเกิดและตายเพียงในชาตินี้  “บุญ” ที่ดีงามที่สุด คือการคืนสิทธิอำนาจของความเป็นคนให้แก่กัน รัฐบาลรู้ดีอยู่แล้วว่าต้องทำอย่างไร