สมาคมฯกระสุนตก คนข่าวขอ Restart องค์กรวิชาชีพสื่อ - Decode
Reading Time: 4 minutes

ขอให้อดทนอดกลั้น
ปลอกแขนป้องกันความไม่รุนแรงไม่ได้
นักข่าวต้องประเมินสถานการณ์-แนวทางรายงานข่าวในสถานการณ์วิกฤต

ท่อนหนึ่งในแถลงการณ์ 6 องค์กรวิชาชีพสื่อต่อเหตุการณ์สลายการชุมนุม #ม็อบ20มีนา ที่นำมาสู่การตั้งคำถามถึงการมีอยู่ทั้งจากคนในวิชาชีพเดียวกัน และประชาชน แถลงการณ์นี้ถูกพูดถึงในความหมายที่ว่ามันไม่ได้ออกมายืนข้าง ๆ และปกป้องเพื่อนร่วมวิชาชีพ ไม่เห็นด้วยกับความรุนแรง แต่ไม่ประณามความรุนแรง หรือการยืนยันสิทธิเสรีภาพของสื่อ โดยเฉพาะวันนั้น ซึ่งเป็นวันจำนวนนักข่าวถูกรายงานว่าได้รับบาดเจ็บเยอะมากที่สุดวันหนึ่ง

คืนนั้น,
การชุมนุมของกลุ่ม REDEM หรือ Restart Democracy บริเวณท้องสนามหลวง
20 มีนาคม 2564

นักข่าวถูกสั่งให้ออกจากพื้นที่ระหว่างการสลายการชุมนุม
นักข่าว 1 คนจาก The Matter ถูกเจ้าหน้าที่รัฐปัดมือถือขณะไลฟ์เหตุการณ์ และถูกขอให้หยุดทำหน้าที่
นักข่าว 3 คน ถูกยิงด้วยกระสุนยาง
คนหนึ่งจากช่อง 8 เข้าที่หัว จนต้องเข้าห้องไอซียู ตอนนี้อาการปลอดภัย
อีกคนหนึ่งจากประชาไท โดน 2 นัด กลางหลังและชายโครง
อีกคนหนึ่งจากข่าวสด ถูกยิงที่ต้นขา

แม้แถลงการณ์ฉบับเดียวไม่อาจเอามาตัดสินทุกอย่างได้ แต่คำถามที่เกิดขึ้นกับองค์วิชาชีพสื่อจำเป็นต้องเริ่มหาคำตอบ De/code คุยกับ 3 คนข่าว คนหนึ่งเป็นคนที่ถูกยิง คนหนึ่งเป็นบรรณาธิการข่าว และอีกหนึ่งคนในฐานะนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย บทสนทนา 3 วง 3 มุม พอทำให้เห็นว่าอย่างไรเสียองค์กรวิชาชีพหรือกลุ่มก้อนของวิชาชีพสื่อยังสำคัญ ส่วนทิศทางและหน้าตาว่ามันควรเป็นไปแบบไหน ถอดรื้อหรือปรับประคองก็ขึ้นอยู่กับว่าเราอยู่ตรงไหนของสนามนี้

คืนนั้นของ กุ้ย-ประชาไท
ใส่ตีนหมา เพราะไม่สู้กระสุน

แผลกลมซึมเลือดที่ชายโครงลำตัวของ กุ้ย-ศรายุธ ตั้งประเสริฐ ผู้สื่อข่าวประชาไท ถูกบันทึกและรายงานออกมาให้เห็นร่องรอยของกระสุนยาง ศรายุทธโดนยิงทั้งหมด 2 นัด นัดแรกยิงเข้าที่กลาง นัดที่ 2 ที่ชายโครง

“เหมือนกับว่าเจ้าหน้าที่กดดันเข้ามา เด็กแหย่บ้าง ขว้างขวดบ้าง เจ้าหน้าที่ก็กดดันเข้ามาอยู่แบบนั้น แล้วก็ใช้กระสุนยางโดยไม่ประกาศ ผมไม่สู้กระสุนยางก็วิ่งหนี วิ่งเข้ามาตรงแยกข้าวสาร ตรงนั้นมีไทยมุง ผู้ชุมนุม นักข่าวบางค่าย นักท่องเที่ยว คฝ.ก็วิ่งตามมา ไม่รู้ว่ากี่คน ผมก็ใส่ตีนหมาโกยเลย โดนไป 2 นัด”

อาจไม่ใช่ครั้งแรกที่ศรายุธได้รับบาดเจ็บในการทำหน้าที่สื่อในพื้นที่ชุมนุม ปี 2553 เขาเจอแก๊สน้ำตาที่ถูกโปรยจากเฮลิคอปเตอร์ ปี 2556-2557 เขาบาดเจ็บจากเหตุการณ์ปิดสนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง ปี 2564 ปีนี้เป็นครั้งแรกที่เขาโดนกระสุนยาง ทุกครั้งในการทำข่าวเขาใส่หมวกกันน็อกสีขาวมีคำว่า PRESS ตัวใหญ่ บวกกับปลอกแขนสื่อและบัตรประจำตัวผู้สื่อข่าว เขารู้ดีว่าไม่ควรอยู่ตรงกลางระหว่างการปะทะ และไม่อยู่ฝั่งใดฝั่งหนึ่ง เพื่อทำหน้าที่และดูให้เห็นชัดว่า “เกิดอะไรขึ้น”

“ผมไม่คิดว่าบังเอิญ แสดงว่าเขาต้องการยิงผม ผมไม่ได้สู้เขา หนีอย่างเดียว ที่เป็นปัญหาคือชาวบ้าน นักท่องเที่ยวอยู่กันเยอะแยะ ยิงโดนผมก็โอเค แต่ถ้าโดนคนอื่นล่ะ” 24 มีนาคม 2564 ศรายุธประสานทนายความภาคีนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน ยื่นฟ้องแพ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในความผิดตาม พ.ร.บ.รับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 กรณีที่ศรายุธได้รับบาดเจ็บถูกกระสุนยาง โดยขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวและไต่สวนฉุกเฉิน และเรียกร้องค่าเสียหาย 370 บาท คือค่ารักษาพยาบาล ไม่รวมค่าเดินทาง แต่สุดท้ายศาลมีคำสั่งยกฟ้อง

ศรายุธเป็น 1 ในนักข่าวคืนนั้นที่บาดเจ็บอย่างประจักษ์
เขาเองไม่ได้พูดถึงแถลงการณ์ขององค์กรสื่อใด ๆ จนเราถามเขานั่นแหละ

“ไม่ได้คาดหวัง เพราะไม่ได้เป็นกลุ่มที่ทำหน้าที่ปกป้องวิชาชีพ เขาไม่ได้ยืนหยัดในเรื่องอิสระ ไม่ได้ยืนยันในเรื่องสิทธิของผู้สื่อข่าว ในการที่แสดงออกมาว่าทำได้เท่านี้แหละหรือการแสดงออกที่พึงมีต่อเพื่อนร่วมวิชาชีพคือแบบนี้ ก็ไม่ได้อะไร เอาปลอกแขนมาก็พอ”

“คนด่า” แปลว่าคนยังคาดหวังการทำหน้าที่

แม้ศรายุธไม่ได้คาดหวังกับแถลงการณ์ที่ออกมา แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าคนวิชาชีพเดียวกัน แม้แต่ประชาชนก็คาดหวังอย่างมากต่อท่าทีขององค์กรวิชาชีพสื่อ

“คนคาดหวังว่ามันจะ Tailor-made กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตรงหน้า แต่พอแถลงการณ์ออกมาแบบนั้น คนก็ผิดหวัง ซึ่งเข้าใจได้เลย ความรุนแรงที่มี 2 ฝ่ายเลเวลมันต่างกัน 20 มีนาคม 2564 มันมีอะไรพิเศษที่สมาคมฯจะออกแถลงการณ์ มันคือการที่นักข่าวโดนกระสุนยาง”

หวี-พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ บรรณาธิการอาวุโส (Senior Editor) The MATTER พงศ์พิพัฒน์ทำงานข่าวการเมือง และงานข่าวเชิงข้อมูล (Data Journalism) เขาเองเคยทำงานร่วมกับองค์กรวิชาชีพอยู่นาน 10 ปีจึงพอเข้าใจเงื่อนไขบริบทของแถลงการณ์ ขณะเดียวกันเขาก็มองเห็น “ช่อง” ที่องค์กรวิชาชีพสื่อควรจะเป็น

“คนไม่ได้อยากให้สมาคมฯ ถึงขนาดลุกขึ้นมาด่าตำรวจ แต่อย่างน้อยยืนยันว่านักข่าวมีสิทธิเสรีภาพในการทำข่าว ตำรวจต้องเคารพการทำข่าว พูดในเชิงหลักการ แต่ที่ออกมาเหมือนโยนมาว่าดูแลกันเองนะ มีปลอกแขนก็ไม่ช่วยอะไร แล้วถ้าไปดูรีแอคในเพจองค์กรวิชาชีพสื่อในแต่ละเพจ คอมเม้นต์มันผิดวิสัยคือ 90% ด่าหมดเลย ปกติก็น่าจะครึ่ง ๆ หรือมีการถกเถียงกัน ดังนั้นแถลงการณ์นี้ในเชิงฟังก์ชันมันเลยเฟล”

พงศ์พิพัฒน์ยกตัวอย่างแถลงการณ์ขององค์กรวิชาชีพสื่อทำได้ดีคือเมื่อปี 2557 ตอนนั้นแถลงการณ์ขอให้หน่วยงานรัฐที่ชื่อ ศอรส. เคารพการทำหน้าที่สื่อ เคารพสิทธิประชาชน นักข่าวที่ใส่ปลอกแขนอยู่ขอให้อำนวยความสะดวก ซึ่งเป็นการพูดในเชิงหลักการ

“คิดว่าอันนี้ควรเป็นบาร์ขั้นต่ำ ไม่ควรเกินจากมาตรฐานที่คุณสร้างไว้ พี่พูดเสมอว่าคนเขาด่าแสดงว่าเขายังคาดหวังกับเราอยู่ แต่ถ้าวันหนึ่งเขาไม่พูดถึงคุณเลย คุณอาจไม่มีค่าแล้วในวงการ”

“เขาเข้าใจเรื่องเสรีภาพ แต่เขาคิดถึงข้อจำกัดมากกว่า แต่เดิมไม่ต้องการเป็นผู้ขัดแย้ง อย่างที่สองเขาคิดว่าเขาต้องดีลกับรัฐจึงไม่ประณาม ก่อนหน้านี้มีการแถลงการณ์ประณามการใช้ความรุนแรง แต่ว่าอันนี้คือยิงกระสุนยาง มีคนเข้าโรงพยาบาลนะ มันรุนแรงกว่า”

“การทำข่าวม็อบมันง่ายมากคือหาสมดุล ความปลอดภัยในสนามกับการที่เรายังสามารถทำหน้าที่สื่อได้ ปลอดภัยสุดคือนอนอยู่บ้าน แต่ถามว่าคุณมาเป็นนักข่าวทำไม คนคาดหวังจากสื่อขนาดนี้ต้องรายงานข้อเท็จจริง”

สื่อยังเสรีภาพเต็มที่
ถูกลิดรอนองค์กรวิชาชีพไม่มีทางอยู่เฉย

ทุกครั้งเมื่อความรุนแรงถึงตัวผู้สื่อข่าว และทีมข่าว
ทุกครั้งที่การทำงานถูกกีดกัน ละเมิดสิทธิ
ท่าทีขององค์กรวิชาชีพสื่อต่อเหตุการณ์นั้น ๆ ก็ถูกคาดหวังและจับตา

มงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย หนึ่งใน 6 องค์กรวิชาชีพสื่อที่ออกแถลงการณ์นี้บอกว่า ไม่เคยคิดโยนภาระ หรือให้กอง บก.ดูแลกันเอง องค์กรวิชาชีพมีความพยายามในการ “สร้างพื้นที่ทำข่าวปลอดภัย” มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการออกแถลงการณ์ในวันที่ 20 มีนาคม 2564 พบว่าสื่อมวลชนเข้าใจว่าปลอกแขนเป็นการได้รับสิทธิทุกประการในการทำข่าว

“บางสถานที่ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐเห็นว่า มีความสุ่มเสี่ยงเกิดอันตรายก็แจ้งผู้สื่อข่าวได้ว่า เป็นพื้นที่ปิดกั้นในการเข้าไปตรวจสอบ แต่เราก็หวังว่า รัฐจะไม่ใช้ข้ออ้างนี้เพื่อไม่ให้สื่อเป็นสักขีพยานในทุกเหตุการณ์ เพราะทุกพื้นที่ที่มันปราศจากสักขีพยาน มันเกิดเหตุที่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดความรุนแรงจากทั้งสองฝ่ายได้เสมอ”

ส่วนประเด็นที่คนบอกว่าไม่มีการพูดถึงสิทธิเสรีภาพในการรายงานของสื่อมวลชนเลย นายกสมาคมนักข่าวฯ ชี้แจงว่าในสถานการณ์ความเป็นจริงตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2564 สมาคมฯ และองค์กรวิชาชีพสื่อยังมองว่า สื่อยังมีพื้นที่ในการนำเสนอข่าวตามเสรีภาพที่พึงมีอยู่พอสมควร แตกต่างจากก่อนหน้านี้ที่มีการใช้อำนาจรัฐปิดสื่อ ซึ่งสมาคมฯ ก็เคยออกแถลงการณ์คัดค้านการใช้อำนาจปิดกั้นสื่อเช่นกัน มีตัวอย่างแถลงการณ์ในอดีต จนรัฐบาลเห็นว่าเป็นเรื่องซีเรียสและแก้ปัญหาในที่สุด

“วันที่ 20 มีนาคม โดยภาพรวมสื่อยังสามารถรายงานข่าว ชี้จุด-สะท้อนปัญหา ความผิดพลาด หรือความรุนแรงที่เกิดขึ้น จากทุกฝ่ายในพื้นที่ได้ แถลงการณ์จึงไม่ได้มุ่งไปที่ประเด็นการละเมิดเสรีภาพสื่อ”

และที่ผ่านมาสมาคมนักข่าวฯ มีจุดยืนไม่สนับสนุนความรุนแรง และ Hate Speech มานาน 3-4 ปีนี้ ไม่ว่าความรุนแรงนั้นจะจากฝ่ายใด สื่อมวลชนจะเป็นผู้ที่ตกอยู่ในความเสี่ยงเสมอ โดยเฉพาะการเสนอข่าวยุคใหม่ในการไลฟ์สดมากกว่าที่เป็นกล้องเทเล สมาคมฯ และองค์กรวิชาชีพสื่อไม่ได้ปกป้องสื่อแค่แถลงการณ์เท่านั้น แต่พยายามสื่อสารทั้งฝ่ายตำรวจ และผู้ชุมนุมให้เข้าใจบทบาทของสื่อในพื้นที่การชุมนุม

แม้ปลอกแขนจะไม่ใช่เกราะป้องกันอันตรายได้ แต่สิ่งนี้ก็เป็นสิ่งที่ศรายุธ และนักข่าวภาคสนามจำเป็นต้องใช้มัน Official สุดแล้ว พงศ์พิพัฒน์เองก็บอกว่าต้องชื่นชมสิ่งนี้กับสมาคมฯ เพราะรู้ว่ามีการต่อสู้ข้างหลังเยอะมาก เบื้องหลังนั้นคือตำรวจต้องการทำปลอกแขนสื่อเช่นกัน นายกสมาคมนักข่าวฯ บอกสั้น ๆ  “ปลอกแขนตำรวจก็อยากทำ เราก็บอกว่าอย่าทำเลย ถ้าตำรวจทำมันจะกลายเป็นสื่อของตำรวจหรือเปล่า แบบนี้เป็นต้น”

ปลอกแขนคือส่วนหนึ่ง แต่ความรู้สึกว่าได้รับการปกป้องจากเพื่อนร่วมวิชาชีพเป็นหลักใหญ่สำคัญที่ศรายุธคิดว่าต้องทำให้ชัด เขายกตัวอย่างเหตุการณ์ปี 2563 ที่นักข่าวประชาไทและนักข่าวหนังสือพิมพ์แนวหน้าโดนจับ เหตุการณ์นี้มีการออกแถลงการณ์ที่ยืนยันเสรีภาพในการรายงานข่าวของผู้สื่อข่าว ขอให้รัฐเลี่ยงการใช้อำนาจที่อาจลิดรอนเสรีภาพสื่อ

“การที่สมาคมฯ แสดงว่าการจับสื่อมวลชนไปว่าไม่ถูก แทนที่จะออกมายืนข้างผู้สื่อสาร กลายเป็นการล็อบบี้นิด ๆ หน่อย ๆ เสียค่าปรับ ยอมรับข้อหาเบา ๆ จะได้ไม่มีความกับเจ้าหน้าที่ ภาพเจ้าหน้าที่ก็ดูสวยไป ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับสื่อมันเกิดจากนานแล้ว แต่การใช้วิธีเจรจาระหว่างเจ้าหน้าที่-องค์กรวิชาชีพสื่อ จนทำให้ความรุนแรงมันไม่ถูกเผยแพร่ หรือทำให้เห็นว่ามันเกิดขึ้นจริง พอไม่ทำหน้าที่พวกนี้มันก็จะเกิดความรุนแรงกับสื่อภาคสนามอย่างไม่สิ้นสุด เพราะมันไม่มีใครต้องรับผิด สื่อต้องรับผิด ต้องเสียค่าปรับ ต้องถูกดำเนินคดี”

องค์กรวิชาชีพสื่อควรทำอะไร
เมื่อเกิดเหตุรุนแรงอย่างสลายการชุมนุม

“พูดยากถ้าสถานการณ์ยกระดับความรุนแรงกว่านี้ ผมไม่กล้าเรียกร้องความกล้าหาญจากสื่อ โดยเฉพาะสื่อภาคสนาม ปัจจัยแต่ละคนมันไม่เท่ากัน ไม่อยากเห็นใครกล้าหาญในเหตุการณ์พวกนี้ เสียชีวิตมามันแย่ คนที่ไปเรียกร้องความกล้าหาญจากเขา สื่อต้องกล้าหาญ ๆ ***จริง ๆ กูกลัวนะเว้ย มันขึ้นอยู่กับวิจารณญาณ กองบรรณาธิการจะพิจารณายังไง ถึงเวลาดึงออกไม่ไหวก็ต้องดึงออก”

ศรายุธพูดถึงการประเมินสถานการณ์วันนี้ที่จำเป็นแค่ไหนว่า ต้องได้จากทีมต้นสังกัดเอง หรือจากองค์วิชาชีพสื่อ

มากกว่าการออกแถลงการณ์ขององค์กรวิชาชีพสื่อที่เห็นกัน คือ หน้างานจริง ตั้งแต่การประเมินสถานการณ์จากองค์กรวิชาชีพ การประเมินจากกองบรรณาธิการแต่ละแห่ง รวมไปถึงการกรองข่าวจากฝ่ายรัฐ และฝ่ายผู้ชุมนุม บทบาทตรงนี้อาจไม่สามารถโยนให้เป็นหน้าที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ และสำหรับเหตุการณ์ลักษณะนี้ สิ่งที่องค์กรวิชาชีพต้องทำและควรทำในมุมมองของพงศ์พิพัฒน์คือ “รวบรวมข้อเท็จจริง” เพื่อประเมินสถานการณ์จริง ๆ ว่าแล้วต่อไป “ความรุนแรงที่คาดว่าจะเกิดนั้นมันจะคืออะไร” และเก็บข้อเท็จจริงเพื่อกำหนดเท่าที่การตอบสนองสิ่งตรงหน้า เขาตั้งข้อสังเกตว่า เหตุการณ์ถูกยกระดับขึ้นมาอย่างเป็นขั้นตอน และเป็นระบบ ข้อเท็จจริงจึงจำเป็นอย่างมากต่อการวางแผนทำงาน

“ข้อเท็จจจริง คือ ข้อเท็จจริง ท่าทีคนมันเปลี่ยนได้ แต่ข้อเท็จจริงมันเปลี่ยนไม่ได้ อย่างน้อยให้มันนิ่งก่อนกำหนดอะไร ตอนนี้เรารู้หรือยังว่า นักข่าวที่โดนยิงอยู่จุดไหน โดยสวนไหนบ้าง ใครเป็นคนยิง ทำไมอยู่ดี ๆ ยิง การที่ตำรวจอ้างว่ามีการยิงก่อน มันจริงเหรอ แทบจะไม่มีใครสรุปให้เลย

ถ้าเรามีข้อเท็จจริงอะไรบางอย่างที่เห็นว่าที่ผ่านมาตำรวจยกระดับมาจนมาถึงเวลาหนึ่งมันจะเลยกระสุนยางแล้วไหม ถ้าเป็นกราฟเราแทบไม่รู้ว่าเลยเราสามารถย้อนกลับมาได้อีกไหม ข้อเท็จจริงมันกระจาย ตำรวจพูดแบบหนึ่ง ม็อบพูดแบบหนึ่ง นายกยิ่งพูดไม่รู้เรื่อง”

“ปี 2551 7 ตุลาคม สมาคมฯ เรียกนักข่าวไปคุยและให้เล่าถึงการทำงานข่าวของตัวเองในแต่ละมุมซึ่งไม่เหมือนกัน ปี 52/53 ก็มีการรวมข้อเท็จจริงและเผยแพร่ และทำรายงานสถานการณ์สื่อที่มันกระทบ ซึ่งอันนี้คิดว่าสามารถทำได้”

สมาคมสื่อฯ บอกว่าที่ผ่านมามักเชิญนักข่าวในภาคสนามมาแลกเปลี่ยนประเด็นกัน มีมาตรการช่วยเหลือฉุกเฉินตลอด “เป้าหมายของเราคือการทำให้สื่อมีพื้นที่ปลอดภัยในการนำเสนอ เพื่อให้มีสักขีพยานไม่เป็นคู่ขัดแย้งในพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่าสื่อไม่ใช่ไอโอของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อยากเรียกร้องให้ผู้อยู่ในวิชาชีพสื่อใช้การสื่อสารให้เป็นประโยชน์ เรามีเว็บไซต์ มีกลุ่มไลน์ที่เข้ามาได้” มงคลกล่าว

นอกเหนือจากเก็บข้อเท็จจริง แลกเปลี่ยนประเด็นอย่างเป็นระบบ “การทำความรู้จักคนข่าว-สำนักข่าว” ให้มากขึ้น พงศ์พิพัฒน์ยังเห็นว่าเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก

“สมาคมนักข่าวฯ ทำงานมาตอนนี้รู้จักใครบ้าง คนในสนามมีใครบ้าง รู้ยังสื่อออนไลน์มีใครบ้าง ถ้าประสานสื่อนี้ต้องประสานใครยังไง โดยเฉพาะกรรมการรู้จักคนในวงการหรือยัง ปีก่อน (2563) มันมีเรื่อง 10 ข้อเรียกร้อง คนในสื่อวงการสื่อ พี่กับพี่แยม (ฐปนีย์ เอียดศรีไชย-The Reporter) ไปคุยกับสมาคมฯ จนได้เพดานบางอย่าง จนมันก็พูดได้ประมาณนึง เราคิดว่าสมาคมฯ ควรเป็นแหล่งกลางที่รวมคนแตกต่างหลากหลาย ยังไม่รวมการที่มีองค์กรวิชาชีพหลายอัน มีทุกแพลตฟอร์ม บางทีวนกันเป็นต่อให้คน Active ในการเรียนรู้ แต่ก็มีข้อจำกัดบางอย่าง”

มีองค์กรวิชาชีพสื่อไว้ทำไม
ต้องเป็นแบบไหน ?
หรือต้องแยกตัวตั้งสมาคมใหม่

จากจุดเริ่มต้นของแถลงการณ์ (ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ครั้งนี้ แต่ครั้งนี้อาจเป็นตัวกระตุ้นแรง?) ทำให้มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะมีการตั้งสมาคมวิชาชีพสื่อแยกย่อยออกมาเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาองค์กรวิชาชีพเดิม

“คุณไม่เข้าใจคนในวงการมากพอ และไม่รู้ว่าเขาต้องการอะไร”

พงศ์พิพัฒน์บอกว่า จากการที่เขาทำงานกับองค์กรวิชาชีพมานานนับสิบปี เขาเห็นสื่อเปลี่ยนไปเยอะมาก มีปีนี้ที่เห็นสมาคมฯ เริ่มคุยกับคนในสนาม คนในวงการว่าเขาคิดอย่างไรมากขึ้น

“แต่ก็ยังทำงานเหมือนสื่อมีหนังสือพิมพ์ ทีวี วิทยุ เขายังไม่เข้าใจเพียงพอ…เราได้ฟีดแบกจากนักข่าวกันเองที่คิดว่า จะตั้งสมาคมฯ ใหม่ขึ้นมาด้วยซ้ำ เพราะมีแล้วไม่เกิดประโยชน์กับเขา ซึ่งมันไม่ได้มีวงเดียวมันมีหลายวงเลย เราก็เคยสะท้อนกลับไปที่สมาคมฯ เขาก็รับไว้ และก็เห็นการปรับตัวประมาณนึงแต่ก็ยังไม่พอ และไม่ทันการณ์”

“ความหวังในครั้งนี้ นักข่าวมาทำงานกับสื่อออนไลน์เยอะมากแทบจะเท่ากับสื่อเดิมแล้ว เราต้องใช้เวลานานมากว่า สื่อออนไลน์ต้องมีบัตร สมาคมฯ ก็ช่วยต่อรองได้ ก็เหมือนมีสมาคมฯ แล้วมีประโยชน์ เช่นกันถ้าการชุมนุมและเกิดเหตุอันตรายกับนักข่าว แล้วองค์วิชาชีพสื่อมาเทคแอคชั่นเขาก็รู้สึกว่า เป็นที่พึ่งและได้รับการปกป้อง แล้วทำไมเขาไม่รู้สึกว่าสมาคมฯ มีประโยชน์เหรอ”

ฝั่งศรายุธแม้ได้คุยเรื่องรวมตัวกันสร้างองค์กรสื่อวิชาชีพใหม่มาบ้าง แต่เขาเองก็ไม่คิดว่าจะต้องยุบล้างอันเดิม “ผมเอาเขาออกไม่ได้ เพราะผมไม่ได้ตั้งเขาเข้ามา” แต่ไม่ว่าจะเป็นอันเดิม หรืออันใหม่ การปกป้องเพื่อนร่วมวิชาชีพด้วยกันเองต้องเผื่อแผ่ไปถึงสื่อที่วันนี้ยังไม่ถูกนับเป็นสื่อด้วย ภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนไป การเกิดใหม่ของเพจการสื่อสาร ช่องยูทูบต่าง ๆ หรือสื่อพลเมืองทั้งหลาย ควรถูกนับรวมเข้ามาอยู่ใต้การช่วยเหลือปกป้องความปลอดภัยในการทำหน้าที่สื่อด้วย

สุดท้ายไม่ว่าจะเป็นที่พึ่งได้ เป็นที่คาดหวัง หรือไม่เป็นที่คาดหวังของคนทำงานสื่อ จนอาจมีบางกลุ่มออกอยากมาตั้งกลุ่มก้อนวิชาชีพด้วยกันเอง นายกสมาคมนักข่าวฯ บอกว่าสิ่งนี้เป็นสิทธิเสรีภาพ และมันเป็นเรื่องดีที่มีหลายคนช่วยกัน ยิ่งสถานการณ์แบบนี้ยิ่งดี แต่ขอให้ดูแลกันว่าเพื่อให้สื่อทำหน้าที่ไม่เป็นคู่ขัดแย้งกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่ใช้สื่อเพื่อโจมตีผู้ชุมนุม หรือใช้สื่อเพื่อโจมตีฝ่ายรัฐ ซึ่งสิ่งนี้มันจะกระทบกับการทำหน้าที่ของสื่อโดยรวม

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง:
ไม่ได้เป็น gatekeeper ไม่ใช่ agenda-setter สื่อไทยในวันที่สังคมเดินนำหน้า
เพดานของคนข่าว ในวิกฤต(ศรัทธา)มีข้อจำกัด และการกลับมาของสื่อมืออาชีพ-พื้นที่กลาง ทำยากแต่จำเป็นต้องทำ
Voice From The JOURNALISTS

UPDATE:
25 มี.ค.64
พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ บรรณาธิการอาวุโส (Senior Editor) The MATTER ติดตามตัวแทน 6 องค์กรวิชาชีพสื่อพบ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ถึงแนวทางการทำงานของสื่อในสถานการณ์ชุมนุม หลังเหตุการณ์วันที่ 20 มี.ค.64 มีนักข่าวได้รับบาดเจ็บ ในเฟสบุ๊กของเขาได้เขียนสรุปการพูดคุยที่น่าสนใจหลายข้อ เช่น สื่อยังใช้ปลอกแขนที่ออกโดยองค์กรวิชาชีพสื่อ แต่อาจปรับสีให้สะท้อนและสังเกตได้ขึ้น จะมีงานประสานงานระหว่างคนข่าวภาคสนามและองค์กรวิชาชีพสื่อ และทีมประสานจากตำรวจ รวมไปถึงจะมีการอบรมนักข่าวสำหรับการรายงานข่าวสถานการณ์ฉุกเฉินด้วย แบบเร่งด่วน 1 วันจบ และสมาคมเตรียมทำข้อมูลผลกระทบและรวบรวมข้อเท็จจริง (อ่านรายละเอียดอื่นๆ ที่นี่)

จีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง เลขาธิการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย แจ้งว่า ภาคีนักเรียนสื่อจาก 5 สถาบัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยศิลปากร, มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร, และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จะเข้ายื่นหนังสือและแถลงการณ์ต่อสมาคมฯ โดยจัดกิจกรรมชื่อ “การทํางานของสื่อไม่ใช่อาชญากรรม #Journalism’sNotACrime” ซึ่งสมาคมฯ ถือโอกาสนี้ในการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับนิสิตนักศึกษาที่จะได้พบปะกับตัวแทนองค์กรสื่อ