#ทวงสัญญารัฐสวัสดิการ นโยบายหาเสียงพรรคพลังประชารัฐ “ค่าแรง-รัฐสวัสดิการ” สอบตกทุกประเด็น - Decode
Reading Time: 2 minutes

เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม We Fair จับมือเครือข่ายสลัมสี่ภาค และเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน จัดกิจกรรม WE FAIR ON TOUR #ทวงสัญญารัฐสวัสดิการ ทวงสัญญานโยบายหาเสียงพรรคการเมือง ในวาระครบรอบ 2 ปี การเลือกตั้ง 24 มีนา 62

นิติรัฐ ทรัพย์สมบูรณ์ เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม We Fair บอกว่าวันนี้เป็นวันที่ 3 ของกิจกรรมทวงถามสัญญาของนโยบายด้านสวัสดิการสังคม โดยเดินทางมาพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะหัวหน้าพรรครัฐบาล ซึ่งภาพรวมของพรรคการเมืองทั่งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลก็ยังไม่ได้ทำนโยบายนี้อย่างเป็นรูปธรรม

“ไม่มีเหตุผลในการแก้ตัว แต่เราก็อยากมาฟังจากพรรคการเมืองว่าได้ทำอะไรไปแล้วบ้างใน 2 ปีนี้ ในเรื่องรัฐสวัสดิการ ประชาชนมีสิทธิทวงถาม และมันเป็นเรื่องพื้นฐานไม่ใช่การมาโจมตี”

ในการมาครั้งนี้มีการอ่านแถลงการณ์รีวิวว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานั้นรัฐบาลล้มเหลวในการจัดสรรงบประมาณเพื่อสวัสดิการของประชาชน มี Mindset จัดสวัสดิการแบบอภิสิทธิชน และยังมองว่าสวัสดิการนี้เป็นภาระงบประมาณ โดยทีม We Fair ให้คะแนนการดำเนินรัฐสวัสดิการของรัฐตั้งแต่ประเด็น เงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า การเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ และเพิ่มเบี้ยสำหรับคนพิการ

แม้ในห้วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยจะเจอวิกฤตทั้งเศรษฐกิจ โรคระบาด และการเมือง ซึ่งอาจถูกนำเอามาเป็น “เหตุผล” ที่ยังไม่ได้ดำเนินการหรือล่าช้า นิติรัฐมองว่ารัฐอาจชูประเด็นเรื่องโรคระบาด แต่นั่นไม่สำคัญเท่ากับว่าหากรัฐเริ่มต้นทำสวัสดิการตั้งแต่แรกคนที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดก็ไม่หนักเท่านี้ หรือไม่ใช่ว่าแค่ให้เงินแล้วจะจบ หรือหยุดเรียกร้อง เพราะว่าการเรียกร้องนโยบายรัฐสวัสดิการนี้มันผูกโยงกับความเป็นประชาธิปไตยในประเทศด้วยว่ามีมากแค่ไหน

สำหรับนโยบายของพรรคพลังประชารัฐที่ใช้หาเสียงเมื่อ 2 ปีก่อน เน้นไปที่การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400-425 บาท การจ้างงานบัณฑิตจบใหม่อาชีวะ 18,000 บาทต่อเดือน ปริญญาตรี 20,000 บาทต่อเดือน เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 1,000 บาทต่อเดือนทุกช่วงอายุ รวมไปถึงนโยบายมารดาประชารัฐฯ และลดภาษีแม่ค้าออนไลน์ ส่วนพรรคร่วมรัฐบาลก็ยังไม่ได้ดำเนินการตามที่พูดไว้ เช่น พรรคประชาธิปัตย์ ที่หาเสียงด้วยนโยบายเงินอุดหนุน 800-1,000 บาท เรียนฟรีถึง ปวส.จบแล้วมีงานทำ โครงการอาหารกลางวัน ส่วนพรรคภูมิใจไทยหาเสียงด้วยนโยบายด้านการสาธารณสุข ทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ หรือแก้ไขหนี้ กยศ.

นิติรัฐบอกว่า ประเด็นที่เร่งด่วน และสามารถทำได้เลยในเรื่องรัฐสวัสดิการมี 3 เรื่อง ได้แก่ อุดหนุนเงินเด็กเล็กถ้วนหน้า / เพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โดยใช้เกณฑ์เส้นความยากจน 2,760 บาทต่อคนต่อเดือน เปลี่ยนให้มันเป็นบำนาญพื้นฐาน และการเพิ่มเบี้ยคนพิการ ทั้งหมดหากมองสวัสดิการนี้ในรูปของชั้นปิ่นโต สิ่งเหล่านี้เป็นชั้นขั้นพื้นฐานที่ทุกคนต้องได้รับอย่างถ้วนหน้า และจึงเพิ่มชั้นอื่น ๆ เข้าไป เช่น สวัสดิการจากการทำงาน หรือสวัสดิการที่มีให้เฉพาะกลุ่มคนที่ต้องการการช่วยเหลือเฉพาะด้าน

งบประมาณจากไหนที่สามารถนำมาจัดสรรได้ นิติรัฐเสนอการเก็บภาษีคนที่ร่ำรวย 1% ปรับลดงบประมาณที่ไม่สอดคล้องกับการแก้ปัญหาโรคระบาด และปฏิรูประบบภาษี

ด้านธนพร วิจันทร์ ตัวแทนเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน บอกว่าพรรคการเมืองที่หาเสียงแล้วไม่ได้ทำตามเสี่ยงเข้าข่ายผิดกฎหมาย ม.258 ตามรัฐธรรมนูญ และอยากให้ทำได้อย่างที่พูดไว้ ไม่อย่างนั้นจะเป็นเหมือนการหลอกลวงประชาชน

ทั้งนี้ ในการเปิดสมัยประชุมวิสามัญในช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 เครือข่ายฯ เตรียมไปยื่นหนังสืออีกครั้งเพื่อขอให้รัฐบรรจุเรื่องนี้เข้าไปในวาระการพิจารณางบประมาณรายจ่ายปี 2565