7 ความเห็นร่วมสมัยกับประเด็น #ทำแท้งปลอดภัย - Decode
Reading Time: 3 minutes

ณ วันเสาร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ 2564 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 28) พ.ศ.2564 เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมความผิดฐานทำแท้งให้หญิงยุติการตั้งครรภ์ได้เมื่ออายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ และเพิ่มเหตุยกเว้นความผิดอื่น ๆ เพื่อเอื้อประโยชน์แก่ผู้ตั้งครรภ์ให้สามารถ #ทำแท้งปลอดภัย และไม่มีความผิดตามกฎหมาย โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศ(สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่)

แม้การทำแท้งจะเป็นสิทธิทางร่างกายของผู้ตั้งครรภ์ แต่เสียงวิพากย์วิจารณ์จากสังคมที่กระพือขึ้นมาใหม่ทุกครั้งเมื่อมีการพูดถึงการยุติการตั้งครรภ์ปลอดภัยกำลังพยายามบอกอะไรกับผู้สนับสนุนข้อกฎหมายนี้กันแน่

De/code ขอใช้โอกาสนี้ในการรวบรวมความคิดเห็นน่าสนใจร่วมสมัยเมื่อมีการพูดถึงประเด็น #ทำแท้งปลอดภัย ยิ่งไปกว่านั้นเราได้เชิญคุณ ตุ๊กตา-นิศารัตน์ จงวิศาล ตัวแทนกลุ่มทำทาง เพื่อนให้คำปรึกษาท้องไม่พร้อมมาร่วมไขรหัสข้อสงสัยไปพร้อมกับเราอีกด้วย

“กฎหมายนี้ส่งผลต่อประชาชนทุกคน ไม่ใช่เพศใดเพศหนึ่ง”
นิศารัตน์ เกริ่นนำ แต่เพราะอะไรนั้นเราไปร่วมหาคำตอบพร้อมกันได้เลย

นับเวลาถอยหลัง 3 2 1 เริ่มได้

Decode: ทำไมไม่รู้จักแก้ที่ต้นเหตุ
วิธีการคุมกำเนิดที่ดีที่สุดคือการไม่มีเพศสัมพันธ์

นิศารัตน์: (ถอนหายใจ) จะว่าจริงไหมมันก็จริง ถ้าไม่มีเพศสัมพันธ์มันก็ไม่ท้องอยู่แล้ว ถูกต้อง แต่ว่าความเป็นมนุษย์ปุถุชนเนี่ยนะ เรามีเพศสัมพันธ์กันเป็นเรื่องปกติ แล้วถามว่าเราทำงานด้านต้นเหตุไหม ทำทางไม่ได้ทำเรื่องคุมกำเนิด แต่ว่าในสังคมนี้ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐหรือหน่วยงานเอกชนเขาทำงานเรื่องคุมกำเนิดกันหนักมาก

การที่เราทำงานและรณรงค์เรื่องการทำแท้งไม่ได้แปลว่าเรากำลังบอกว่าคุณไม่ต้องคุมกำเนิด แต่เป็นการบอกว่าปลายทางสุดท้ายถ้าทำทุกอย่างแล้วมันยังพลาด มันยังมีทางเลือกอยู่นะ

Decode: เอาแต่รักสนุกไม่สนใจผลที่ตามมา
ไม่มีใครตั้งใจท้องเพื่อทำแท้งแต่ไม่รู้จักป้องกัน

นิศารัตน์: อันนี้ต้องถามกลับนะว่าคุณรู้ได้ไงว่ามีเซ็กซ์เนี่ยมันสนุก (ขำ) คุณอย่าเพิ่งตีความไปว่ามันเป็นการรักสนุกทั้งหมด ส่วนเรื่องเวลามีอะไรทำไมไม่รู้จักคิด ไม่รู้จักป้องกัน เราต้องเข้าใจก่อนว่าการป้องกันทุกวิธีเนี่ยมันมีโอกาสที่จะผิดพลาดได้ และถ้าหากว่าไม่ได้ป้องกัน การไม่ได้ป้องกันนั้นเกิดจากอะไร เกิดจากพยายามคุมกำเนิดแล้วแต่ขาดองค์ความรู้หรือเปล่า หรือว่าการคุมกำเนิดนั้นมันไม่ได้ตอบโจทย์ชีวิตเขา

ยกตัวอย่างเช่น ในวัยรุ่นเรามีพ.ร.บ.ตั้งครรภ์วัยรุ่นที่ให้สิทธิ์วัยรุ่นเข้าถึงการคุมกำเนิดได้ เช่น การฝังยาคุมกำเนิดฟรี แล้วก็หันไปโปรโมตการฝังยาคุมสุด ๆ แต่ว่ามันก็มีคนจำนวนมากที่ไม่สามารถใช้การคุมกำเนิดด้วยฮอร์โมนได้ กรณีอย่างนี้ต่อให้โปรโมตการฝังยาคุมมากแค่ไหนก็ช่วยเขาไม่ได้เพราะว่าผลข้างเคียงมันกระทบต่อชีวิตเขาโดยตรง

ส่วนการขาดองค์ความรู้เนี่ยต้องย้อนกลับไปว่าองค์กรที่ทำงานเรื่องการคุมกำเนิดน่ะค่ะ ไม่ว่าจะเป็นสาธารณสุข หรือว่าหน่วยงานเอกชนต่าง ๆ ทำงานผิดพลาดตรงไหน ทำไมประชาชนถึงยังเข้าถึงการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพไม่ได้หมดทุกคน เราไม่โทษประชาชน เราโทษรัฐที่ไม่สนับสนุนและไม่ให้ความรู้อย่างทั่วถึง ทัศนคติในการเรียนการสอนเพศศึกษาภายในโรงเรียนก็เป็นทางลบ

แล้วมันยังมีปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศเวลาคุมกำเนิดด้วยนะ การคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพที่สุดคือการใส่ถุงยาง แต่ว่าเพราะอะไร ถ้าไม่ใส่ถุงยางมันก็ท้องใช่ไหม การใส่ถุงยางเนี่ยใครใส่ ใช่คนที่มีอวัยวะเพศชายหรือเปล่า

เราต้องตั้งคำถามกลับไปว่าคนที่มีอวัยวะเพศชายแล้วไม่ใส่เนี่ยมันเกิดจากอะไร เขามีความเข้าใจอะไรผิดหรือเปล่า แต่พอเกิดเรื่องขึ้นคนที่คุณตั้งคำถามก่อนคือคนที่เป็นเจ้าของมดลูก ทั้ง ๆ ที่เรื่องนี้มันไม่ได้เกิดจากแค่คนที่มีมดลูกคนเดียว มันมีผู้ร่วมประกอบการ

Decode: เปิดเสรีเดี๋ยวก็จูงมือกันไปทำแท้งหมด

นิศารัตน์: เราต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่ากฎหมายนี้ไม่ใช่กฎหมายทำแท้งเสรี เป็นกฎหมายทำแท้งได้ภายใต้เงื่อนไขซึ่งก็คือทำแท้งปลอดภัย ถ้าเราสามารถทำให้มีการทำแท้งถูกกฎหมายได้ซึ่งเราก็เปิดแล้วแหละ แต่ว่าในประเทศเราเนี่ยสถานบริการที่ให้บริการทำแท้งเนี่ยมันไม่ได้มีมากขนาดเท่ากับห้างน่ะค่ะ (ขำ) อาจต้องใช้เวลาสัก 10 ปีมันถึงจะสามารถเดินเข้าเดินออกได้สะดวก

ธรรมดาเราเป็นหวัดเราก็ไม่ได้ไปหาหมอ เราก็กินยาเองอะไรเอง โดนมีดบาดเราก็ไม่ได้ไปเย็บแผลทุกครั้งเพราะเราไม่อยากไป โรงพยาบาลไม่ใช่สวนสนุก เลือกได้ทั้งความรู้สึกทางใจที่ว่าเราจะไปทำแท้งนะ ทั้งความรู้สึกทางกายว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นกับร่างกายเราบ้าง มันไม่ใช่สิ่งที่เราจะอยากไปเผชิญหรอกถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ

Decode: คิดแต่จะเอาออกไม่นึกถึงสิทธิในเนื้อตัวร่างกายเด็กกันเลย

นิศารัตน์: ต้องถามว่าสิทธิของเจ้าของร่างกายไปไหนต่างหาก ตลอดเวลาที่ผ่านมาที่เราไม่ให้ทำแท้งเนี่ย เพราะว่าเราบอกว่าเขามีสิทธิ์จะเกิดมา เขามีสิทธิ์จะอยู่ เขาอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งเขาเนี่ยไม่ใช่เจ้าของร่างกาย แล้วกฎหมายที่ออกมาก็สุดจะให้สิทธิตัวอ่อนในครรภ์เลย

สิทธิของตัวอ่อนในทางความเชื่อมันเป็นปัจเจก เราอาจจะเชื่อตั้งแต่อสุจิเลยก็ได้ เชื่อว่า 5 สัปดาห์หรือ 10 สัปดาห์ก็ได้ แต่ว่าในทางกฎหมายมันจะเกิดขึ้นเมื่อตัวอ่อนเป็นบุคคล หมายความว่าออกมาแล้วอยู่รอดเป็นเอกเทศจากร่างกายของเจ้าของครรภ์

Decode: สมัยนี้สนับสนุนแต่เรื่องอย่างนี้กับเด็ก ไม่สนใจขนบธรรมเนียมไทยกันเลย ไหนจะชื่อเสียงวงตระกูลอีก

นิศารัตน์: ถ้าขนบธรรมเนียมคือการห้ามมีเซ็กซ์ก่อนแต่งงาน ทุกยุคทุกสมัยมันไม่เคยทำได้ (ขำ) เราไปดูวัฒนธรรมอะไรเก่า ๆ เนอะ อย่างคนเหนือถ้ามีเพศสัมพันธ์กันก่อนแต่งก็จะมีพิธีผูกข้อไม้ข้อมือก็หายแล้ว ผีปู่ย่าก็ไม่โกรธแล้ว ถ้าภาคกลางเองก็มีการขอขมาต่าง ๆ แล้วจบ

ค่านิยมนี้ถ้าสุดท้ายมันทำไม่ได้ มันก็ไม่ได้ส่งผลทางบวกเลย มันส่งผลทางลบที่ทำให้คนที่มีเพศสัมพันธ์ตามธรรมชาติ ตามความเป็นมนุษย์ เขาไม่กล้าจะปรึกษาใคร เราต้องถามย้อนกลับไปว่าถ้าขนบธรรมเนียมอันดีงามที่มีอยู่เนี่ยมันทำร้ายคน มันสมควรจะมีอยู่หรือไม่มากกว่า

ในความหมายของพ่อแม่ ครอบครัว วงตระกูลเนี่ยคือคนที่รักและเป็นห่วงเราเนอะ เราเข้าใจว่าพื้นฐานมันมาจากความเป็นห่วง แต่ความเป็นห่วงเนี่ยมันสามารถแสดงออกมาได้หลายรูปแบบ ไม่ใช่แค่ห้ามหรือคาดโทษเท่านั้น ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ไม่สามารถหยุดการมีเพศสัมพันธ์ได้อยู่ดี มันควรเป็นการเคียงข้าง การเข้าใจ การให้ความรักมากกว่าไหม ถามว่าเราไม่ได้สนใจพ่อแม่เหรอ ไม่สนใจวงตระกูลเหรอ เราแคร์มากเลย คนที่ตั้งครรภ์หลายคนไม่ได้บอกครอบครัวก็เพราะว่าเขาแคร์ เขาไม่อยากให้คนที่บ้านผิดหวัง

Decode: ทุกวันนี้เด็กเกิดใหม่ก็น้อยจะแย่อยู่แล้ว
ทำแบบนี้ยิ่งส่งผลเสียต่อประเทศกันไปใหญ่

นิศารัตน์: เราต้องมองเรื่องสิทธิ์ในการเลือกชีวิตของเราเนอะ ทุกวันนี้คนเราแต่งงานกันช้าลง มีลูกกันช้าลง โอกาสท้องก็จะยาก ตัวอ่อนไม่สมบูรณ์มันก็เยอะขึ้น ดังนั้นสิ่งที่ควรจะสนับสนุนเพื่อชะลอสังคมผู้สูงอายุออกไปก็คือการสนับสนุนสวัสดิการเด็ก สวัสดิการแม่ที่มันดีกว่านี้ แล้วคนก็จะอยากมีลูกกันเอง ส่วนในกรณีคนที่ไม่อยากมีลูกจากที่เราได้เก็บข้อมูลมาจำนวนมากพบว่ามาจากปัญหาทางด้านเศรษฐกิจเสียส่วนใหญ่

สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด

Decode:  ทำไมไม่ถามความเห็นคนส่วนรวมก่อน ถ้าท้องไม่พร้อมคือพลาดเองก็ต้องรับผิดชอบด้วยตัวเอง ไม่ใช่เอาเงินส่วนรวมมาใช้

นิศารัตน์: เรื่องแรก เรื่องการถามความเห็นของคนส่วนใหญ่ กฤษฎีกาถามแล้ว มีการเปิดรับฟังความเห็นจากประชาชนแล้วแต่เขาไม่ได้โปรโมต (ขำ) ซึ่งไม่ใช่ความผิดของประชาชนหรอกถ้าไม่รู้

เรื่องต่อมา เป็นอุบัติเหตุ พลาดเองทำไมสังคมต้องมาร่วมรับผิดชอบ คำตอบมันจะแบ่งเป็นสองฝั่งคือ

  1. เรามีสถิติยืนยันว่าตั้งแต่ 1663 ทำทางเริ่มให้คำปรึกษา ตั้งแต่กรมอนามัยสนับสนุนยา ตั้งแต่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สนับสนุนงบประมาณมาให้ทำแท้งได้หัวละ 3,000 บาท เราประหยัดเงินไปเยอะมากนะ เพราะเราไม่ต้องรักษาคนที่ไปทำแท้งไม่ปลอดภัย ไปหาหมอตกเลือด ถ้าเราชั่งกันแล้วการทำแท้งมันถูกกว่าการไปรักษาคนที่ได้รับผลกระทบจากการทำแท้งไม่ปลอดภัยทีหลัง 
  2. คุณขี่มอเตอร์ไซค์ล้มหน้าปากซอย คุณไปรักษาฉุกเฉิน 30 บาทจ่าย ทำไมอันนั้นถึงจ่ายได้ ทำไมอันนี้ถึงจ่ายไม่ได้ การมองว่าการทำแท้งเป็นเรื่องปัจเจกแล้วรัฐไม่ต้องช่วยก็ได้มันออกจะผิดจุดไปหน่อย คุณต้องมองว่าการท้องไม่พร้อมมันเป็นความผิดพลาดจากรัฐที่ไม่ให้ความรู้ ไม่ได้จัดหาการคุมกำเนิดให้ การทำแท้งจึงต้องเป็นความรับผิดชอบของรัฐเช่นกัน

จบกันไปแล้วกับช่วงตอบคำถาม ก่อนจะลากันไปเรามาพูดถึงแนวทางในอนาคตกันดีกว่า

Decode: เราจะต้องรณรงค์ไปถึงจุดไหนถึงจะเรียกว่าเพียงพอและเป็นธรรมต่อผู้ตั้งครรภ์ไม่พร้อมทุกคน

นิศารัตน์: เราต้องทำให้การทำแท้งไม่มีความผิดทุกกรณีค่ะ เพราะว่าการทำแท้งเป็นการบริการทางสุขภาพ ถ้าคุณไปรักษามะเร็งก็ไม่มีใครว่าคุณ คุณไม่มีวันมีความผิดซึ่งการทำแท้งก็ไม่ต่างกัน ดังนั้นการตั้งความผิดไว้ไม่ได้ทำให้คนปลอดภัย ม.301 เนี่ยเราอยากให้มันเป็นเรื่องของคนไข้กับหมอ เพราะว่าไม่มีหมอที่ไหนจะทำแท้งให้เมื่ออายุครรภ์มันเกินจนกระทั่งตัวอ่อนรอดแล้ว ไม่มีใครทำเพราะว่ามันได้ไม่คุ้มเสีย เรื่องความปลอดภัยถ้ามันจำเป็นอย่างยิ่งยวดเนี่ยมันก็เป็นเรื่องระหว่างคนไข้กับหมออยู่ดี แต่ถ้ายกเลิกความผิดไม่ได้เราก็ขอดันไปที่ 24 สัปดาห์แทน

Decode: ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการผลักดันเรื่องนี้อย่างไรได้บ้าง

นิศารัตน์: ในระดับนโยบายอาจจะต้องใช้พลังงานเยอะหน่อย เพราะเราจะต้องติดตามข่าวทั้งเรื่องของกระบวนการแก้กฎหมายในสภา 1 2 3 4 ส่วนเรื่องรณรงค์ก็จะมีการล่ารายชื่อในอนาคต เราอยากให้คนที่สนใจ มาดู มาอ่านกัน เรามีข้อมูลให้พร้อม

ในระดับสังคม คุณอยู่ในสังคมที่มีคนรอบ ๆ ตัวสามารถท้องได้ หรืออาจจะแม้กระทั่งตัวคุณเองที่สามารถท้องได้ คุณสามารถค้นหาข้อมูลได้ค่ะ คุณสามารถกดเข้าไปในเว็บไซต์ rsathai.org เพื่ออ่าน เพื่อหาความรู้ และสามารถนำไปใช้กับคนรอบตัวได้ แล้วอะไรล่ะที่คุณเอามาใช้ได้? คุณใช้ความรัก ความเข้าใจกับคนรอบข้างที่มีปัญหา เลิกตัดสิน ให้เกียรติกัน แล้วเมื่อสังคมมีความเข้าใจ เปิดกว้าง และยอมรับมากขึ้น มันย่อมเกิดความเปลี่ยนแปลง

ส่วนในระดับปัจเจกถ้าคุณคิดว่าการทำแท้งเนี่ยมันเป็นบาป มันแย่ มันต้องไม่ทำ ไม่มีใครว่าเลย คุณเชื่อได้เลยเต็มที่ แต่ว่าคุณเองก็จำเป็นต้องให้เกียรติความเชื่อ ความคิด การตัดสินใจของคนอื่นเช่นกัน เมื่อคุณทำแบบนี้ได้แม้ว่าคุณไม่สนับสนุน แต่คุณเองก็ไม่ขัดขวาง คุณก็ช่วยสังคมได้มากแล้ว

“และมันจะไม่ใช่แค่เรื่องทำแท้ง มันจะเป็นเรื่องเพศหลากหลาย มันจะเป็นเรื่องยาเสพติด มันจะเป็นอีกหลาย ๆ เรื่องที่เราต้องเปลี่ยนกรอบความคิดของเราใหม่ว่าคนเหล่านี้ไม่ใช่อาชญากร แต่เป็นคนที่ประสบปัญหาและต้องการความช่วยเหลือ”

จบกันไปแล้วกับการไขรหัส #ทำแท้งปลอดภัย ที่ทำให้เราพบว่าประเด็นนี้ไม่ได้อยู่แค่ในกรอบระหว่างข้อกฎหมายและการแพทย์เพียงเท่านั้น เราได้เห็นบริบทต่าง ๆ ของสังคมที่ส่งผลต่อชีวิตคนมากมายตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน และจะยังคงมีผลต่อไปยันอนาคตหากมักถูกผลักไปเป็นเพียงเรื่องไกลตัว โจทย์ใหญ่ครั้งนี้ไม่อาจถูกแก้ได้ด้วยมือของใครบางคนหรือคนบางกลุ่ม แต่ต้องมาจากการร่วมมือของทุกคนตั้งแต่หน่วยเล็กที่สุดในระดับปัจเจกจนถึงหน่วยใหญ่ที่สุดคือในระดับภาครัฐที่ต้องร่วมกันพูดคุย ผลักดัน และทำความเข้าใจ เพื่อขีดเขียนสังคมที่เป็นมิตรและเท่าเทียมแก่เพื่อนมนุษย์ทุกคนต่อไป