อวสานเมียจำเป็น “ข่มขืน” ไม่ใช่ความโรแมนติก ล้างค่านิยม ที่สุดของชีวิตไม่ได้ขึ้นอยู่กับ...การมีคู่ แย่งผัวคือหลักชัย - Decode
Reading Time: 3 minutes


คำเตือน: เนื้อหาต่อไปนี้กล่าวถึงการใช้ความรุนแรงทางเพศ
การข่มขืน การทำร้ายร่างกายและจิตใจ



“โดนไปกี่ดอกถึงเสียสติขนาดนี้”
“ยังมีหน้ากลับไปเป็นเมียเขาอีกเหรอ”
“ยังจะกลับไปให้เขาเสียหน้าอีกเหรอ”

คำพูดตอกย้ำค่านิยมที่ตีตราผู้มีประสบการณ์ถูกคุกคามทางเพศหรือถูกข่มขืนถูกฉายผ่านจอแก้วอีกครั้ง ณ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2564 หลังละครเมียจำเป็นได้ออกอากาศสู่สายตาสาธารณะชนพร้อมกระแส #ข่มขืนผ่านจอพอกันที และ #แบนเมียจำเป็น ที่ตามมาติด ๆ เมื่อสังคมกลับมาตั้งคำถามว่าละครไทยกำลังผลิตซ้ำค่านิยมแบบไทยทำไทยดู และหล่อหลอมสังคมให้เคยชินกับประเด็นอ่อนไหวรุ่นสู่รุ่นอยู่หรือไม่

De/code ได้มีโอกาสเชิญ ยะหยา ผู้ใช้ทวิตเตอร์และผู้บริโภคที่ต้องการเสพสื่อบันเทิงคุณภาพ และเจ้าของเพจ เขียนบทปลดแอก คนทำงานเบื้องหลังวงการบันเทิงที่ต้องการความเปลี่ยนแปลงมาร่วมกันไขรหัสของปัญหาละครแบบไทย ๆ ที่อยู่คู่กับหน้าจอโทรทัศน์มาช้านาน

“ละครเมียจำเป็นไม่ใช่ละครเรื่องแรกในไทยที่ส่งเสริมวัฒนธรรมข่มขืนและค่านิยมชายเป็นใหญ่ในสังคม สิ่งที่คาดหวังหลังจากสร้างแฮชแท็กขึ้นมา คือการให้คนตระหนักถึงปัญหา เราตั้งใจให้ทางช่อง ผู้จัด และผู้เกี่ยวข้องกับละครได้เห็นกระแสตอบรับจากคนดูแบบ real-time และออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งโยงไปถึงละครเรื่องอื่นในอดีตและละครใหม่ที่จะจัดทำในอนาคต และหวังว่าการถกเถียงกันในสังคมจะสามารถทำให้เกิดการปฏิวัติวงการสื่อได้” ยะหยา – ผู้รณรงค์และผลักดันประเด็น #ข่มขืนผ่านจอพอกันที กล่าว

ยะหยาอธิบายว่าเรื่องนี้เริ่มต้นมาจากที่ตนเห็นคลิปละครเมียจำเป็นในทวิตเตอร์จึงได้ศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมด้วยตัวเองและทำให้พบว่านอกจากฉากที่มีปัญหาแล้วบทละครเรื่องนี้ยังผลิตซ้ำค่านิยมที่เป็นปัญหาในสังคมไทยอีกหลายประเด็น เช่น ความรุนแรงในคู่รัก ความรุนแรงในครอบครัว วัฒนธรรมการข่มขืนซึ่งมักจะมาคู่กับการกล่าวโทษเหยื่อ มีการผลิตซ้ำชุดความคิดที่มีนัยแอบแฝงทำให้ชุดนักเรียนเป็นวัตถุทางเพศ รวมไปถึงผลิตซ้ำทัศนคติแบบเหมารวมทางเพศต่าง ๆ อย่างผู้ชายต้องดุดัน มาดแมน ผู้หญิงที่ดีที่สามารถเป็นนางเอกได้ต้องอ่อนหวาน ไร้มลทิน ส่วนผู้หญิงร้าย ๆ เช่น นางอิจฉาที่ไม่เข้ากรอบของความเป็นผู้หญิงที่ดีต้องถูกลงโทษ ยะหยาได้ตัดสินใจอยากเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาเหล่านี้ จึงส่งข้อความส่วนตัวไปขออนุญาตทางเพจ ‘ข่มขืนผ่านจอพอกันที’ ใน Facebook เพื่อขออนุญาตใช้ชื่อเพจเป็นแฮชแท็ก 

เวลาล่วงเลยไปกว่า 1 เดือนหลังจากกระแส #ข่มขืนผ่านจอพอกันที และ #แบนเมียจำเป็น ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์ทุกสุดสัปดาห์ Decode จึงขอพาผู้อ่านทุกท่านไปดูเรตติ้งละครเรื่องนี้ตั้งแต่วันแรกของปรากฏการณ์จนถึงตอนอวสานของละครกันสักหน่อย

เรตติ้งประจำสัปดาห์ 1-7 ก.พ. ศุกร์ 2.9 เสาร์ 3.3 อาทิตย์ 3.5
เรตติ้งประจำสัปดาห์ 8-14 ก.พ. ศุกร์ 3.8 เสาร์ 3.8 อาทิตย์ 4.0
เรตติ้งประจำสัปดาห์ 15-21 ก.พ. ศุกร์ 4.3 เสาร์ 4.5 และปิดฉากด้วยเรตติ้งสูงสุดที่วันอาทิตย์ 4.7
ข้อมูลจาก https://www.tvdigitalwatch.com/

แม้กระแสตอบรับจะไม่เป็นไปตามที่ผู้รณรงค์คาดเพราะยอดเรตติ้งเพิ่มสูงขึ้นแทนที่จะลดลงหลังจากการแบน หากมาลองวิเคราะห์กันเราจะพบว่าปรากฏการณ์นี้สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย และไม่อาจหาคำตอบที่แน่ชัดได้ บ้างอาจกล่าวว่าเป็นเพราะกลุ่มคนดูของละครไม่ได้สนใจประเด็นนี้ บ้างอาจกล่าวว่ากลุ่มคนแบนไม่ได้เป็นกลุ่มเป้าหมายของผู้จัดแต่แรก หรืออาจจะแปลได้ว่า ยิ่งมีกระแสแบนยิ่งทำให้คนอยากจะดูว่าเรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อ ก็เป็นได้ อย่างไรก็ตามก็ปฎิเสธไม่ได้ว่าปรากฎการณ์แบนครั้งนี้ได้สร้างพื้นที่สำหรับการพูดคุยและหยิบยกประเด็นเหล่านี้มาพูดถึงในวงกว้าง เราได้เห็นผู้จัดออกมาขอโทษ และทำให้เกิดการเรียนรู้ในหมู่คนดู รวมไปถึงผู้ผลิตละครจนอาจกล่าวได้ว่า ไม่ว่าเรตติ้งจะสูงขึ้นหรือต่ำลง กระแสแบนก็ได้สร้างประโยชน์ของมันแล้วอยู่ดี

ความหวังที่ไม่คาดหวัง แต่ก็ยังแอบหวังจากผู้บริโภค

“จริง ๆ เราคาดหวังไว้เยอะมาก แต่ก็แทบไม่ได้คาดหวังเลยไปพร้อม ๆ กัน หมายถึงเรามีสิ่งที่เราวาดหวังไว้ว่า เราอยากให้สื่อเป็นแบบไหน แต่ความคาดหวังว่าสื่อไทยจะปฏิบัติตามความคาดหวังของเราและกระแสสังคมแทบไม่มีเลย” ยะหยา ตอบ

ยะหยากล่าวเสริมอีกว่า ความคาดหวังในระดับต่ำสุดคือแค่เลิกผลิตสื่อที่ตอกย้ำ ผลิตซ้ำค่านิยมที่เป็นปัญหา มีทีมปรึกษาในเรื่องบทว่าจะกระทบใครบ้างและจะส่งผลดีผลเสียอย่างไร ระดับต่อมาคือให้สื่อทำหน้าที่ ‘นำ’ สังคม มากกว่าที่ทำแบบปัจจุบันที่มักจะเรียกตัวเองว่า ‘สะท้อน’ สังคม สร้างละครที่เล่าเรื่องราวของคนชายขอบ มีความหลากหลายทางเพศ หลากหลายอาชีพ หลากหลายสถานะทางสังคม ที่สำคัญคือสื่อต้องฟังเสียงผู้ชม ยกตัวอย่างเมียจำเป็น มีผู้มีประสบการณ์โดนล่วงละเมิด โดนข่มขืนมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในแฮชแท็กเลยด้วยซ้ำ มันจะดีมากหากผู้ที่เกี่ยวข้องมีการออกแถลงการณ์พร้อมกับ

1. ข้อมูลว่าละครผิดหรือสร้างความเสียหายให้สังคมอย่างไรบ้าง 
2. ขอโทษผู้เสียหายโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นผู้ประสบความรุนแรงทางเพศ หรือผู้ประสบความรุนแรงจากคู่รักและครอบครัว
3. ขอโทษสังคมที่ผลิตซ้ำสื่อที่สร้างความเจ็บปวด ตอกย้ำค่านิยมความรุนแรง
4. เสนอช่องทางเยียวยาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหากเนื้อหาของละครกระทบจิตใจผู้ชม รวมไปถึงแนะนำหน่วยงานสำหรับติดต่อหากตกเป็นเหยื่อความรุนแรงแบบที่เจอในละคร

แล้วในมุมมองของคนที่อยู่เบื้องหลังเป็นอย่างไรบ้าง

De/code ได้ร่วมพูดคุยกับผู้ดูแลเพจ เขียนบทปลดแอก เพจที่เกิดจากการรวมตัวกันของคนเขียนบทที่อัดอั้นกับวงการละครทีวี ผู้รักและอยากพัฒนาละครไทยไปข้างหน้า (แต่บางทีก็เถียงนายทุนไม่ชนะ ถ้าเถียงชนะอาจไม่ต้องมาเปิดเพจ- ผู้ดูแลเพจเสริม) ถึงสถานการณ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออกของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับวงการละครไทยปัจจุบัน

แบนทำไม ใครเดือดร้อน

“ทุกวันนี้สังคมกำลังพยายามช่วยกันสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องข่มขืนอยู่ ทั้ง #metoo แคมเปญ Don’t tell me how to dress และอีกมากมาย แต่ในละครกลับยังสะท้อนค่านิยม ‘โทษเหยื่อ’ โดยในละครมีฉากพระเอกแสดงท่าทีรังเกียจนางเอก เพราะเข้าใจว่านางเอกถูกข่มขืนไปแล้ว

ทีมเขียนบทปลดแอกอธิบายเพิ่มว่า บางคนอาจมองสิ่งเหล่านั้นเป็นแค่ ‘ละคร’ ไม่ใช่เรื่องจริง แต่กลับลืมไปว่าละครก็คือสื่อชนิดหนึ่งที่ออกไปสู่สายตาคนจำนวนมาก เพราะละครคืออำนาจอ่อน (Soft power) อย่างหนึ่งที่สามารถปลูกฝังความคิดหรือค่านิยมให้คนดูโดยที่คนดูอาจจะซึมซับมาอย่างไม่รู้ตัว บางคนดูแล้วคิดได้ว่าพระเอกไม่ควรแสดงท่าทีรังเกียจนางเอกแบบนั้น บางคนดูแล้วอาจจะยังเห็นชอบกับการกระทำของพระเอก เพราะมีความคิดว่าเป็นผู้หญิงต้องไม่มีมลทินมัวหมอง ตอกย้ำแนวคิดชายเป็นใหญ่ในเวลาเดียวกัน

นอกเหนือจากการให้ความบันเทิงแล้ว ละครยังต้องช่วยสะท้อนปัญหาของคน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัวเช่น ความรัก ครอบครัว เพื่อนฝูง หรือปัญหาสังคม อาจจะแค่กระตุ้นให้รู้ว่ามีปัญหานี้อยู่หรือช่วยกันหาทางออก ละครควรจะยกระดับจิตใจทั้งในแง่สร้างแรงบันดาลใจให้คนไปในทางที่ดี หรือให้เกิดความซาบซึ้งในคุณค่าของมนุษย์

ถามว่าขอมากเกินไปไหมกับแค่ละคร
ยอมรับว่ามาก แต่ไม่เกินไป

“ทั้งนี้คิดว่าการเล่าเรื่องข่มขืนในละครโทรทัศน์ยังทำได้ แต่ต้องเล่าถึงในแง่มุมที่ถูกต้อง และไม่เอามาเป็นจุดขายแบบผิด ๆ การติด #แบนเมียจำเป็น และ #ข่มขืนผ่านจอพอกันที เป็นสัญญาณอันดีว่าคนรุ่นใหม่ตระหนักในเรื่องนี้ และหวังว่าคนรุ่นก่อนจะตื่นตามเด็ก ๆ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสียงดัง ๆ ถึงคนทำละครทั้งหมดว่าควรจะทำละครอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม”

อำนาจอ่อนคือเบ้าหลอมสังคม

ถ้าถูกงูกัดต้องทำไง
เอาปากดูดพิษ หรือเอาเชือกรัด?

ผิด ! เขาให้ล้างแผลด้วยน้ำเปล่าหรือน้ำสบู่ เคลื่อนไหวส่วนนั้นให้น้อยที่สุดแล้วรีบส่งแพทย์ ทีมเขียนบทปลดแอกเล่าว่าเคยอ่านเหตุการณ์ที่ญาติคนไข้ต่อว่าหมอว่าทำไมไม่ปั๊มหัวใจ ทั้ง ๆ ที่เคสนั้นไม่เกี่ยวกับการปั๊มหัวใจเลยด้วยซ้ำ แต่ญาติคนไข้คงจำมาจากละคร

ทีมเขียนบทปลดแอกกล่าวอีกว่าละครส่งผลต่อคนดูทั้งในเรื่องคติ ความเชื่อ และค่านิยมทั้งหลาย เรื่องที่ใกล้ตัวที่สุดคงหนีไม่พ้น “ความรัก” ละครไทยมักเน้นเส้นเรื่องรักเป็นหลัก และวางความรักเป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิตตัวละคร ตอนจบพระเอกนางเอกได้ครองคู่กัน เป็นการสร้างค่านิยมให้คนวาง “ความรัก” และ “การมีคู่” เป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิต ใครที่ไม่มีความรักก็เหมือนเป็นคนที่ชีวิตไม่สมบูรณ์ ละครผัว ๆ เมีย ๆ ก็เน้นสร้างค่านิยมว่าการแย่งผัวเรากลับคืนมาคือหลักชัย ทั้ง ๆ ที่ความเป็นจริง ถ้าผัวมีชู้แล้วเราปล่อยเขาไปก็เป็นทางเลือกที่ดี ไม่ได้หมายความว่า เราแพ้สักหน่อย

เรื่องพระเอกข่มขืนนางเอกแล้วสุดท้ายนางเอกรักพระเอก ละครทำให้การข่มขืนเป็นวิธีการแสดงความรักวิธีหนึ่ง สุดท้ายพระเอกมาตามง้อขอโทษ นางเอกก็กลับไปคืนดีด้วย และยังไม่นับว่าถ้านางเอกท้องอีกด้วย เพราะถ้านางเอกท้องกับพระเอกที่ข่มขืนตัวเองก็เหมือนเป็นบทสรุปกลาย ๆ ว่าเธอจะต้องลงเอยกับผู้ชายคนนี้นะ และในบรรดาการข่มขืนที่เกิดขึ้นในประเทศไทยทั้งที่เป็นคดีและไม่เป็นคดี

เขียนบทปลดแอกเชื่อว่ามีไม่น้อยที่คนข่มขืนกำลังจินตนาการว่าตัวเองเป็นพระเอกที่กำลังข่มขืนนางเอกอยู่ และการกระทำนี้ช่างโรแมนติกเสียเหลือเกิน ในขณะเดียวกันการปลูกฝังค่านิยมความดีความเลวก็เป็นสิ่งที่เห็นได้บ่อยไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นการประณามคนที่ประกอบอาชีพขายบริการทางเพศว่าคือคนบาปคนเลว การปลูกฝังเรื่องความกตัญญูกับพ่อแม่อย่างไม่มีเงื่อนไขแม้พวกเขาจะทำร้ายเรา

ตัวอย่างสุดท้ายคือเรื่องกรรม ละครหลายเรื่องมักหาจุดจบให้ตัวร้ายอย่างสมเหตุสมผลไม่ได้ ก็จะจบด้วยให้เป็นบ้า ไม่ก็วิ่ง ๆ ไปโดนรถชนตายแล้วสรุปว่านี่ไงคนเลวแล้วกรรมก็ตามสนอง ซึ่งมันอาจจะทำให้เมื่อมีใครมาละเมิดเราแล้วเราไม่คิดจะสู้หรือหาทางตอบโต้จัดการ ปล่อยให้เป็นเรื่องของกรรมแทน 

ผู้ดูแลเพจเขียนบทปลดแอกได้แนะนำหนังสือสำหรับคนที่ต้องการศึกษาเรื่องอิทธิพลของละครไว้อีกด้วย โดยผู้สนใจสามารถอ่าน “สื่อบันเทิง: อำนาจแห่งความไร้สาระ” ของ กาญจนา แก้วเทพ ที่แม้จะเขียนมาหลายสิบปีแล้วแต่ยังใช้อธิบายได้ดีอยู่เสมอ

สื่อผูกขาดคือกระจกสะท้อนความจริง 

“สื่อแบบผูกขาดสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า สื่อเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจในช่วงเวลานั้น สังเกตได้จากช่วงเวลาหนึ่ง ไม่สามารถทำละครด่านักการเมืองได้ และในอีกช่วงเวลาหนึ่ง สามารถทำละครด่านักการเมืองได้ แต่ด่าทหารไม่ได้ ต้องอวยอย่างเดียว”

เขียนบทปลดแอกเสริมอีกว่า ในตอนนี้ผู้บริโภคเริ่มมีช่องทางอื่นมากมายให้เลือกเสพ และไม่จำเป็นต้องเสพแต่สื่อหลักเหมือนแต่ก่อน ถ้าสื่อหลักไม่รีบปรับตัวในอนาคตคนรุ่นใหม่อาจไม่มีใครดูแล้ว และคำว่า ‘สื่อหลัก’ อาจจะเป็นได้แค่ ‘คำเรียก’ แต่ไม่มีใครให้ค่าว่าเป็น ‘สื่อหลัก’ อีกต่อไป

การส่งเสียงของผู้บริโภคจะมีพลังที่สุดในโลกทุนนิยม 

เขียนบทปลดแอกกล่าวว่าคนดูทั้งที่เป็นกลุ่มเป้าหมายและไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายต้องช่วยกันส่งเสียงด้วยการชื่นชมละครที่ดีมีคุณภาพ และร่วมกันตำหนิละครล้าหลังออกมาดัง ๆ เรตติ้ง ยอดวิว เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสียง แต่นั่นยังไม่เพียงพอ การออกความเห็นในโลกออนไลน์เป็นอีกทางที่ผู้ผลิตจะรับรู้ได้ สื่อมวลชนเองต้องช่วยกันกระพือด้วยอีกทาง

ในขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากผู้บริโภคลงทุนลงแรงเพียงฝ่ายเดียว เขียนบทปลดแอกจึงอยากเชิญชวนเพื่อนร่วมสายงานให้หันมาสนใจประเด็นสังคมมากขึ้น ศึกษาความก้าวหน้าทางความคิดของโลกมากขึ้น ไม่ยึดถืออยู่แต่กับคุณค่าเก่าแก่โบราณที่บางอย่างพ้นสมัยไปแล้ว คนทำงานเบื้องหลังต้องเปิดหูเปิดตาฟังเสียงเหล่านี้และต้องกล้าที่จะเปลี่ยน ต้องลงทุนคิดอะไรใหม่ ๆ นอกจากสูตรสำเร็จเดิม ๆ โดยทีมเขียนบทปลดแอกเชื่อว่าทีมงานเองสามารถแยกแยะออกว่าอะไรดีไม่ดี ต้องไม่ดูถูกคนดูว่าทำมันแบบเดิม ๆ เนี่ยแหละคนไทยชอบ แต่จะผสมรสชาติไทย ๆ กับแนวคิดก้าวหน้าออกมาได้อย่างไร ทีมงานต้องกล้าที่จะท้าทายความสามารถตัวเอง 

เพราะวงการละครไทยอยู่ในมือของทุกคน

ขีดเส้นใต้สีแดงผ่านกลางหลังบันทึกเรื่องราวของวันที่การปิดตาข้างเดียวไม่ใช่คำตอบอีกต่อไป เพราะเสียงเรียกร้องของเหล่าผู้บริโภคจะยังกึกก้องหากไร้ซึ่งความเปลี่ยนแปลง อาจถึงเวลาอันสมควรแล้วที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องกล้าที่จะแย้งหรือปฏิเสธงานที่คิดว่าขัดกับหลักการที่ควรจะเป็น ร่วมยืนหยัดเพื่อคุณภาพ และสร้างคุณค่าให้กับผลงานของตน

FIN.