เจเนอเรชั่น “เทรด” ซื้อประสบการณ์เสี่ยง “เขียวติดแดง จนติดดอย” - Decode
Reading Time: 3 minutes

A: แนนมึงเทรดอย่างเดียว หรืออินเวส (ลงทุน) ด้วยวะ
B: กูไม่ค่อยได้อินเวส เพราะกูไม่ใจเย็นอะมึง กูดูเทรนด์มากกว่าว่าขาขึ้นก็ซื้อ ไปขายแพง พอมันลงก็พักเงิน

A: แล้วมึงดูชาเนลไหนบ้าง
B: ส่วนใหญ่พวกวิเคราะห์กูดูของฝรั่งนะ แต่พวกข่าวอะของไทยก็เร็ว

บทสนทนาที่ไม่ได้เกิดขึ้นบนโต๊ะน้ำชาของคนวัยเกษียณ หรือตามสนามไดร์ฟกอล์ฟในวันหยุดของบรรดานักธุรกิจ แต่นี่เป็นเพียงการพูดคุยทั่วไปผ่านแอปพลิเคชันยอดนิยมของเพื่อนคู่หนึ่งที่ยังไม่ได้เป็นว่าที่บัณฑิตเสียด้วยซ้ำ

ในปี 2021 ดูเหมือน “การลงทุนทางการเงิน” จะไม่ใช่เรื่องในอนาคตของบรรดาคนหนุ่มสาวสมัยนี้อีกแล้ว แต่สำหรับหลายคนนี่กลับเป็นเรื่องราวในปัจจุบันที่พวกเขาตั้งใจศึกษาและเสี่ยงที่จะเรียนรู้ ด้วยตระหนักว่า “ดอกเบี้ยเงินฝาก” อาจไม่ได้เป็นหนทางย่นระยะความมั่นคงในชีวิตได้อีกต่อไป

“ฮัท” และ “แนน” เป็นตัวแทนของเจเนอเรชั่นนี้ ที่ De/code จะลองถอดรหัสเพื่อหาจุดเชื่อมโยงว่า ทำไมพวกเขาถึงสนใจวางแผนทางการเงินตั้งแต่อายุยังน้อย และความเสี่ยงแบบไหนที่จะทำให้พวกเขายังคงมีส่วนร่วมกำหนดผลลัพธ์ได้

จุดเริ่มต้นการลงทุน

“รอบตัวผมอย่างน้อยถ้าเขาไม่ลงกองทุน เพื่อนเองก็ไปลงสลากออมสิน เพราะออมทรัพย์มันแทบจะไม่ได้อะไรเลยถ้าเทียบกับอัตราเงินฟืดเงินเฟ้อแต่ละปี”

ปวีณ ผลพฤกษสกุล หรือ ฮัท ในวัย 24 ปี เป็นคนหนึ่งที่ช่วยยืนยันว่า คนรอบข้างโดยเฉพาะเพื่อฝูง มีส่วนผลักดันสำคัญที่ทำให้เด็กรุ่นเขาสนใจการลงทุนไม่รูปแบบใดก็รูปแบบหนึ่ง ก่อนที่บรรดาผู้มีชื่อเสียง หรือบรรดาช่องยูทิวบ์ต่าง ๆ จะมีผลรองลงมา

ฮัทเริ่มต้นทำความเข้าใจว่า เขาเป็นเพียงวัยรุ่นธรรมดาคนหนึ่ง ที่ไม่ได้มีครอบครัวที่ร่ำรวยจนสามารถร้องขออย่างไม่สมเหตุสมผลได้ ในการใช้ชีวิตเขาก็มีค่าใช้จ่ายเหมือนกับนักศึกษาคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในหอพักใกล้มหาวิทยาลัยจะต้องใช้ แต่สิ่งที่เขาอาจทำได้ดีกว่าหลายคน คือ การที่ยังมีเหลือเก็บจากเงินรายสัปดาห์

ด้วยเงินจำนวนนี้ผนวกกับความโชคดีของเด็กในครอบครัวเชื้อสายจีน บรรดาเงินพิเศษทั้งอั่งเปา แต๊ะเอีย จึงกลายเป็นเงินอีกส่วนนหนึ่งที่เขาสะสมเอาไว้ จนสามารถใช้สำหรับการเข้าร่วมโครงการ Work and Travel ซึ่งต่อมากลายเป็นเงินลงทุนก้อนแรก ที่เปลี่ยนแปลงเป้าหมายและวิธีการใช้ชีวิตของเขาอย่างมาก

โดยฮัทเลือกที่จะเริ่มต้นการลงทุน กับ “กองทุนรวม” แม้ผลตอบแทนไม่สูง แต่เขามองว่าเป็นการลงทุนที่เหมาะกับมือใหม่ ซึ่งมีระดับความเสี่ยงหลายรูปแบบ หากไม่มีเงินก้อนจำนวนมาก ก็สามารถเริ่มต้นด้วยเงินลงทุนหลักพัน แต่อาศัยวินัยทางการเงินในทุก ๆ เดือนได้ หากหมั่นหาความรู้ก็อาจได้ผลตอบแทนที่เห็นเป็นกอบเป็นกำในอนาคตได้

ชนิสรา ฉิมบรรเลง หรือ แนน ในวัย 22 ปี เป็นอีกคนหนึ่ง ที่เริ่มต้นศึกษาการลงทุนตั้งแต่เริ่มก้าวเข้าสู่มหาวิทยาลัย โดยเป็นอีกคนหนึ่งที่มีเพื่อนเป็นผู้ชักชวนให้รู้จัก

ต่างออกไปหน่อย ตรงที่แนนมีครอบครัวโดยเฉพาะคุณพ่อที่อยู่ในแวดวงการลงทุนหุ้นอยู่แล้ว แต่เธอก็ยอมรับว่า “ไม่ได้ปรึกษาที่บ้านเลย”

โดยแนนเลือกที่จะลงทุนด้วย “คริปโตเคอเรนซี” ซึ่งเป็นสกุลเงินดิจิทัล ที่หลายคนอาจคุ้นหูชื่อ “บิตคอยน์” ซึ่งเป็นเงินสกุลหนึ่งในการลงทุนรูปแบบนี้ที่ได้รับความนิยมสูงสุด

หากจะอธิบายอย่างคร่าว ๆ นั้นคริปโตเคอเรนซี ก็เหมือนเป็นสกุลเงินหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นมา ไม่ได้ใช้งานผ่านกระดาษ แต่อยู่บนพื้นฐานของระบบสารสนเทศ ได้รับการออกแบบมาเพื่อป้องกันและยืนยันธุรกรรม โดยที่เราสามารถซื้อ-ขาย-แลกเปลี่ยน และสะสมคริปโตได้ นอกจากนี้คริปโตเคอเรนซียังสามารถใช้แทนมูลค่าของบริการที่ถูกสร้างไว้บนเทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งเป็นพื้นที่ปลอดภัยของการเก็บข้อมูล 

“รู้จักจากเพื่อนมาเกือบ 4 ปีแล้ว ตอนนั้นบิดคอยเพิ่งจะแค่ 600,000 อยู่มั้ง…สื่อที่เราเข้าถึงได้ทุกวันนี้เวลาศึกษาอะไรก็ผ่านยูทิวบ์หมดเลย แนนว่ามันง่ายกว่าหุ้นเยอะมาก หุ้นมันมีเป็นร้อย ๆ ตัว แต่อย่างคริปโตเคอเรนซีหลัก ๆ มันก็เล่นอยู่ไม่กี่ตัว”

“แนนคิดง่าย ๆว่า ถ้าเราเก็บเงินเรา 50,000 ในบัญชี้เงินเราก็เท่านั้น แต่ถ้าเราย้ายช่องทางการเก็บเป็นแบบนี้เงินเราก็มีมูลค่าขึ้น ถ้าเราอยากใช้เงินตอนไหนเราก็ค่อยถอนเท่าที่เราจะใช้ออกมา มันเหมือนย้ายที่ฝากเงินมากกว่า”

นับตั้งแต่วันนั้นเงินเก็บ 5,000 ที่แนนใช้เริ่มต้นในการซื้อสกุลเงินดิจิทัล กลับไปใช้เป็นเพียงเงินลงทุนตั้งต้นเพื่อหวังผลต่อยอดเป็นตัวเลขเท่านั้น แต่นั่นกลับเป็นการลงทุนเพื่อซื้อประสบการณ์ และวิธีคิดในการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงมาจนถึงทุกวันนี้

เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นกับฮัท

ความเสี่ยงที่ควบคุมได้

“เอาง่าย ๆ คือเงินมันมีผลต่อการดำรงชีวิตมากกว่าสมัยก่อน” ฮัทแสดงความเห็นที่ใครก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เงินเป็นปัจจัยสำคัญในการใช้ชีวิต จนหลายคนยอมที่จะพึ่งโชคชะตา สะท้อนผ่านภาพลอตเตอรี่ที่เกลี้ยงแพงในแต่ละเดือน

“มันก็เหมือนเราแบ่งเงินส่วนหนึ่งมาเล่นหวย โดยทีมีโอกาสได้มากกว่าด้วยซ้ำ แม้ว่ามันอาจไม่ได้แบบร้อยเท่า พันเท่า หมื่น เท่ากับรางวัลที่ 1 ที่ 2 ถ้าเป็นหวยก็เสี่ยงร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่นี่ไม่ใช่”

ฮัทสะท้อนความเห็นว่า รูปแบบการทำรายรับรายจ่ายเพื่อออมเงินอย่างในอดีต อาจไม่สามารถเป็นเครื่องการรันตีได้ว่า คนยุคนี้จะสามารถรับผิดชอบชีวิตตนเอง หรือต่อยอดตั้งหลักในอนาคตโดยไม่ได้พึงพาครอบครัว จึงอาจเป็นเหตุผลให้คนต้องยอมทำอะไรสักอย่างโดยพ่วงความเสี่ยงเข้าไปเพื่อผลลัพธ์ที่ดีกว่า

ตามหน้าหนังสือ หรือข้อแนะนำการออมต่างปลูกฝังให้คนรุ่น ๆ ก่อนเชื่อว่าอย่าเสี่ยงที่จะลงทุนหากไม่มีเงินออม ซึ่งไม่ใช่ประโยคที่ผิด แต่สำหรับฮัทและแนพวกเขากลับไม่ได้แยกสองสิ่งนี้ออกจากกันอย่างเด็ดขาด กลับมองว่า การลงทุนเป็นส่วนหนึ่งของรูปแบบการออมเสียด้วยซ้ำ

เมื่อการทุนมีความเสี่ยง จึงไม่ใช่เรื่องหน้าแปลกที่ไม่นานมานี้บรรดานักเศรษฐศาสตร์ ถึงกับต้องออกโรงเตือนในช่วงที่ราคาคลิปโตเคอเรนซีพุ่งสูงว่า เงินดิจิทัลเหล่านี้ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ แต่งานวิจัยชี้ว่าเป็นไปตามข่าวหรือสื่อโซเชียลมีเดีย จึงทำให้เกิดพฤติกรรมการแห่ซื้อ ซึ่งพฤติกรรมนี้ไม่ได้เกิดเฉพาะขาขึ้นเพียงอย่างเดียว อาจเกิดการวิ่งแห่ซื้อตามกันหรือตระหนกตกใจเทขายพร้อมกันก็เป็นได้ ซึ่งหน่วยงานทางการเงินเองก็จับตามองอยู่

ทั้งสองคนทราบถึงความจริงข้อนี้ และย้ำตลอดการพูดคุยว่า ทุกการลงทุนมันมีความเสี่ยง แต่สิ่งหนึ่งที่จะช่วยลดทอนเรื่องเหล่านี้ คือ การประเมินความเสี่ยงที่จะยอมรับได้ ซึ่งแต่ละคนก็มีขีดความสามารถที่ต่างกันไป

“เงินที่ลงทุนควรเป็นเงินเย็น แล้วก็อย่าลงทุนที่เราไม่พร้อมจะเสีย” แนนย้ำ

“บิตคอยน์มันจะมีว่าทุกครั้งที่ราคาขึ้นพีคเป็นพัน ๆ เปอร์เซ็นมันมีฤดูกาลก็คิดวิธีการจะได้บิดคอยน์มันจะมาจากการที่เหรียญถูกขุดออกมาเรื่อย ๆ แล้วทุก ๆ 4 ปีเขาจะให่รางวัลจากการขุดน้อยลงมันเลยทำให้ราคาสูงขึ้น ปีนี้ก็ราคาสูงสุดเทียบกับสี่ปีที่ผ่านมาเราก็พอรูวงจรของมัน”

สำหรับวัฏจักรของบิดคอยน์ที่แนนเล่ามานี้ ไม่เพียงแต่ช่วยไขกระจ่างว่าเหตุใดราคาบิดคอยน์ในช่วงที่ผ่านมาถึงสามารถส่งผลให้ราคาบิตคอยน์พุ่งขึ้นไปเกิน 47,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.4 ล้านบาท) ต่อ 1 บิตคอยน์ และทำสถิตินิวไฮได้อีกครั้ง

แต่กลับเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นว่า เธอลงทุนโดยผ่านการ “ศึกษาข้อมูล” มาแล้ว ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่ทุกคนรู้ แต่อาจลืมให้ความสำคัญ จนอาจหลวมตัวเขาไปเป็นแมงเม่าตัวหนึ่งในกองไฟที่กำลังโหม

นอกเหนือจากการประเมินตนเองและการหาข้อมูลแล้ว ฮัทแนะนำว่า การแบ่งสัดส่วนทางการเงิน ก็เป็นเรื่องพื้นฐานที่ต่อให้ไม่ได้สนใจในการลงทุน ก็ควรจะให้ความสำคัญ โดยไม่ได้มีสูตรลับตายตัวแต่ขึ้นอยู่กับความจำเป็น และวิถีชีวิตของแต่ละคนอย่างตัวเขาที่สนใจการลงทุน ในเงินสวนที่เป็นเงินที่เหลือจากการใช้จ่าย ที่หลายคนเรียกว่า เป็นเงินออมนั้น เขาจะแบ่งเกินกว่าครึ่งหนึ่งเพื่อต่อยอดลงทุน

“เวลามันมีคุณภาพ”

หากจะย้อนกลับไปราวสองปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนที่ฮัทและแนนจะหันมาให้ความสนใจกับการลงทุนนั้น พวกเขาก็วาดภาพความฝัน และเส้นทางชีวิตไม่ต่างจากวัยรุ่นคนอื่น ๆ ที่คาดหวังงว่าเมื่อสอบเข้าได้เรียนคณะที่ชอบในมหาวิทยาลัยที่ใช่ ก็จะเอาความรู้เหล่านั้นไปต่อยอดทำงานสร้างรายได้

ซึ่งเมื่อพวกเขาหันเหเข้าสู่เส้นทางสายการลงทุน แผนการชีวิตเหล่านั้นก็ไม่ได้เปลี่ยนไปเลย อาชีพตามความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมายังคงเป็นเป้าหมายชีวิตลำดับต้น ๆ ที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป

เพียงแต่เป้าหมายของชีวิตที่ชัดเจนขึ้น ไม่ต้องรอสู่ช่วงชีวิตของการมีครอบครัว ก็เริ่มต้นเก็บออม นี่ต่างหากที่เป็นผลพลอยได้ เสมือนว่าการลงทุนมาช่วยย่นระยะเวลาความฝันให้ใช้เวลาสั้นลง

“อย่างถ้าเรื่องซื้อบ้านซื้อรถ อย่างในอดีตเราก็รู้สึกวาเป้าหมายมันไกลกว่านี้มาก แค่ทำยังไงเรียนจบไม่ต้องพึ่งที่บ้านยังยากเลย แต่อันนี้เราเห็นเป้าหมายชัดขึ้น ใกล้ขึ้น” ฮัทกล่าว

ฮัทยังเล่าต่อว่า แม้เส้นทางอาชีพอาจไม่ได้เปลี่ยนแปลง แต่ไลฟ์สไตล์ชีวิตเป็นสิ่งที่เห็นพัฒนาได้ชัดขึ้น

“เมื่อก่อนเวลาว่างก็ดูยูทิวบ์ทั่ว ๆไป Netflix (เน็ตฟลิกซ์) แต่เมื่อเริ่มสนใจการลงทุนสิ่งที่สัมผัสได้คือ ‘เวลาของเรามันมีประสิทธิภาพขึ้น’ เราใช้เวลากับการติดตามบทวิเคราะห์วันละไม่กี่สิบนาทีเพิ่มเข้ามา แต่กลับทำให้เรามีตรรกะการคิดวิเคราะห์มากขึ้น อย่างน้อย ๆ เราก็สนใจสิ่งรอบข้างที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้มากขึ้น”

อายุกับความกล้า

เมื่อถูกถามว่าไม่ดีกว่าเหรอหากเราจะเริ่มลงทุนในวันที่เรามีเงินเก็บเป็นกอบเป็นกำทั้งคู่ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า แน่นอนอยู่แล้ว เพราะเงินลงทุนที่มากก็ย่อมนำมาซึงผลลัพธ์ที่มาก โดยเฉพาะการลงทุนผ่านกองทุนรวม

แต่นั้นอาจเป็นความเชื่อที่อาจจะเก่าไปสักนิดแล้วในตอนนี้ เพราะปัจจุบันรูปแบบการลงทุนมีหลายหลายเปิดโอกาสให้ทุกคนได้ลองเรียนรู้แม่จะมีต้นทุนเพียงหลักสิบด้วยซ้ำไป

บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน อย่างฟินโนมีนา จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งบริษัทที่ถูกพูดถึงในกลุ่มนักลงทุนหน้าใหม่ ก็ได้สรุปสถิตินักลงทุนเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมาพบว่า จากผู้ที่สนใจลงทุนผ่านบริษัท กว่า 33% เป็นคนในช่วงอายุ 20-30 ปี รองลงมาคือ คนอายุ 31-40 ปี

โดยคนในช่วงอายุ 20-25 ปีนั้น ในช่วงปี 2563 ยังทำกำไรสูงสุดได้ถึง 60.78% อีกด้วย

“มันอาจเป็นเรื่องของความเชื่อด้วย ผู้ใหญ่สมัยก่อนอาจไม่เชื่อว่าเทคโนโลยีมันโต เขาอาจจะเชื่อกับอะไรที่เกี่ยวกับรัฐบาล พันธบัตรรัฐบาล หรือถ้าจะลงอุตสาหกรรม ก็อาจอย่างโรงพยาบาล แต่คนยุคใหม่เขาอาจจะลงเทสลา แอปเปิล อเมซอน”

อย่างไรก็ตามการลงทุนเกี่ยวกับเทคโนโลยีก็ย่อมมีความเสี่ยงที่มากกว่า เพราะเป็นการลงทุนกับอนาคต ไม่มีรูปธรรมที่ชัดเจน ซึ่งก็มีหลักฐานให้เห็นอย่างกองทุนที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีในต่างประเทศก็มักมีการประเมินความสี่ยงที่สูงกว่ากองทุนที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล

ด้วยคนรุ่นใหม่มักมีการยอมรับความเสี่ยงกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้ดีกว่า นี่เลยอาจเป็นเหตุผลว่าเหตุใดบิตคอยน์ถึงได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อย ๆ

แม้ความคิดเห็นอาจจะต่างกันไป แต่ทั้งฮัทและแนนก็ไม่ได้ปฏิเสธเสียงเตือนของผู้ใหญ่ใกล้ตัวเสียทีเดียว เพราะประสบการณ์ทางในแง่เวลายังเป็นสิ่งที่พวกเขายังต้องสะสมอีกมาก เพียงแต่ทั้งคู่เชื่อว่า การใช้ข้อได้เปรียบเรื่องเทคโนโลยีที่พัฒนาในการหาความรู้ จะช่วยอุดช่องว่างทางประสบการณ์เหล่านั้นให้แคบลง

ด้านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้แนะนำการลงทุนสำหรับคนแต่ละช่วงวัยเอาไว้เอาไว้ว่า สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มต้นทำงาน ช่วงอายุ 21-30 ปี ยังได้เปรียบในการออมและลงทุนมาก ด้วยไม่มีภาระมากมาย ยังสามารถจัดสรรเงินไปลงทุนในตราสารที่มีความเสี่ยงสูงอย่างหุ้นได้ถึง 90% ส่วนอีก 10% ที่เหลือนั้นก็ควรเก็บไว้ในรูปแบบเงินฝาก หรือตราสารหนี้ต่าง ๆ

แม้จะมั่นใจและประเมินความเสี่ยงมาอย่างดีแค่ไหนแล้ว แนนยังได้เปิดเผยด้วยเสียงกลั้วหัวเราะไวเป็นอุทาหรณ์ว่า เธอเองก็เคยพลาดสูญเงิน 6 หลักกับคลิปโตเคอเรนซีไปแล้วเมื่อไม่นานมานี้

“แนนมองว่าการที่เราล้มเหลวครั้งนั้น เราได้เรียนรู้ว่าทำไมเราถึงเสีย แล้วเราก็จะรู้ว่าทำยังไงให้ปลอดภัยกว่านี้ในครั้งต่อไป มันเปิดโลก เราไม่เคยเสียเงินเยอะขนาดนั้น แต่ถ้าไม่ล้มวันนั้นตอนนี้แนนคงไม่งี้…อย่างตอนนั้นรู้ว่า เป็นเทรนด์ที่ไม่เสถียรแล้วแต่เราไม่อดทนเอง แทนที่เราอาจจะรออีกนิดนึง”

นี่จึงเป็นเหตุผลให้แนนย้ำนักย้ำหนาว่า ทุกการลงทุนมันมีความเสี่ยง หากประเมินแล้วว่าสามารถรับความเสี่ยงแท้จริงได้เท่าไหร่ก็เชื่อตามนั้น เพราะโชคคงไม่สามารถเอาชนะข้อมูลที่อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงได้เสมอไป

สิ่งที่อาจช่วยยืนยันได้ว่า การลงทุนมีคนได้ก็ย่อมมีคนเสีย ก็ในขณะที่ผู้เขียนเริ่มต้นถ่ายทอดเรื่องราวของทั้งฮัทและแนนในบรรทัดแรก ตลอดจนจรดปากกาในบรรทัดสุดท้าย หน้ากระดานคลิปโตเคอเรนซีที่ว่า เขียวมาตลอดทั้งเดือนยังติดแดง จนทำหลายคน “ติดดอย” กันไปตามกัน

“อย่าคิดที่จะเสี่ยงกับเงินที่เสียไม่ได้” แนนทิ้งท้าย