เหตุผลของการมีอยู่ของผีสางเทวดา ความมั่นคงในชีวิตที่ยังตามหลอกหลอน - Decode
Reading Time: 3 minutes

ปี 2563 ได้ผ่านไปกว่าสามเดือนแล้ว แม้จะเป็นปีที่แย่สำหรับใครหลาย ๆ คน แต่ปี 2563 ก็เป็นปีที่เต็มไปด้วยเรื่องแปลก ๆ จำนวนมาก หนึ่งในเรื่องแปลก ๆ ที่โผล่ขึ้นมาบนหน้าสื่อก็หนีไม่พ้นกระแสของไอ้ไข่ สิ่งศักดิ์สิทธิ์จากเมืองคอนที่กลายเป็นที่รู้จักทั่วบ้านทั่วเมือง

ก่อนหน้าไอ้ไข่ก็มีกระแสบูชาสิ่งเหนือธรรมชาติอีกจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นเซียนแปะโรงสี หรือย้อนไปเมื่อประมาณสิบปีก่อนก็มีกระแสจตุคามรามเทพ การบูชาสิ่งเหนือธรรมชาติจึงดูจะอยู่คู่สังคมไทยมาอย่างยาวนาน โดยอาจจะยาวนานก่อนประวัติศาสตร์ด้วย โดยการบูชาเช่นนี้เราอาจจะบอกว่าเป็นความเชื่อที่มีตั้งแต่กำเนิดของมนุษยชาติที่เรารู้จักในฐานะความเชื่อเรื่องผีหรือบางท่านอาจถึงกับเรียกว่าศาสนาผี

จากการเป็นส่วนหนึ่งของเผ่าพันธุ์มนุษย์ความเชื่อเรื่องผีปรากฎอยู่ตลอดระยะเวลาประวัติศาสตร์ของสังคมไทย โดยมีหลักฐานชิ้นแรกที่แสดงถึงการนับถือผีในประเทศไทยเป็นศิลาจารึกหลักที่ 1 ซึ่งมีความตอนหนึ่งว่า

“เบื้องหัวนอนเมืองสุโขทัย มีกุฎีพิหารปู่ครูอยู่ มีสรีดภงส์ มีป่าพร้าว ป่าลาง มีป่าม่วง ป่าขาม มีน้ำโคก มีพระขพุงผี เทพดาในเขาอันนั้น เป็นใหญ่กว่าทุกผีในเมือง ขุนผู้ใดถือเมืองสุโขทัยนี้แล้ ไหว้ดีพลีถูก เมืองนี้เที่ยงเมืองนี้ดี ผิไหว้ดีพลีบ่ถูก ผีในเขาอันบ่คุ้มบ่เกรง เมืองนี้หาย”

แต่ถึงสังคมจะนับถือผีจนถึงระดับเป็นรากทางสังคม แต่ความเชื่อเรื่องผีกลับถูกปฏิเสธอย่างเคร่งครัด ภายใต้สังคมที่ต้องการความเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้นเรื่อย ๆ การนับถือบูชาสิ่งเหนือธรรมชาติที่ไม่สามารถอธิบายอะไรด้วยเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ย่อมง่ายที่จะถูกกล่าวหาว่างมงาย การบูชาเรื่องเหนือธรรมชาติอย่างผีสางเทวดา ย่อมได้รับผลกระทบอย่างเลี่ยงไม่ได้

แต่ถึงพฤติกรรมหรือความเชื่อเช่นนี้จะถูกมองอย่างเหยียดหยามว่า เป็นความล้าหลังของสังคมไทย ทว่าศาสนาผีและความเชื่อในเรื่องเหนือธรรมชาติอื่น ๆ ก็ยังมีฟังก์ชั่นบางอย่างเพื่อรับใช้สังคมอยู่ ซึ่งความเป็นสมัยใหม่หรือหลักเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ไม่สามารถทดแทนได้ จนเป็นเหตุของการมีอยู่ของความเชื่อเรื่องผีสางเทวาดา แล้วหนึ่งในเหตุผลสำคัญคงหนีไม่พ้นเรื่องความมั่นคงในชีวิตซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมไทย

เหตุที่ 1 เพราะผีสางเทวดาสร้างความมั่นคงได้

ทั่วไปแล้วจำนวนผู้นับถือศาสนาจะแปรผกผันไปตามการพัฒนา ยิ่งพัฒนามากจำนวนผู้นับถือศาสนาจะยิ่งน้อยลงไปเรื่อยๆ อาจมีกรณียกเว้นอย่างสหรัฐอเมริกาในบางปี หรือกรณีที่คนไม่ได้นับถือศาสนาใดๆ เป็นพิเศษเลยไม่สามารถระบุบได้ว่าตนเป็นคนศาสนาอะไร

ส่วนหนึ่งเพราะการพัฒนานำมาซึ่งความมั่งคงให้แก่มนุษย์ ไม่ว่าจะในทางวัตถุหรือทางปัญญา

คำถามคือ เมืองไทยก็พัฒนามามากแล้วทำไมเมืองไทยความเชื่อเรื่องสิ่งเหนือธรรมชาติจึงดูจะไม่ลดลงเลย คำตอบก็หนีไม่พ้น เพราะสังคมไทยยังไม่สามารถสร้างความรู้สึกมั่นคงในหมู่ประชากรได้มากพอ ซึ่งปกติแล้วศาสนาความเชื่อจะมีจำนวนผู้นับถือมากขึ้น หากสังคมมีปัญหาบางอย่างที่กระทบต่อความมั่นคง

การให้ความมั่งคงเป็นลักษณะเด่นของความเชื่อ และศาสนาทุกศาสนาไม่จำกัดแค่ว่าต้องเป็น พุทธ พรามณ์ หรือผี โดยเมื่อไปสอบถามผู้ที่ทำอาชีพใกล้ชิดกับศาสนาในวัดวา อารามหรือศาลเจ้า เราจะเห็นประเด็นนี้เป็นพิเศษ

นุชเป็นผู้ดูแลศาลเจ้าจีนแห่งหนึ่ง ณ ฝั่งธนของกรุงเทพ เธอแสดงความศรัทธาในตัวองค์เทพเป็นอย่างมาก เพราะเธอรู้สึกได้ว่าองค์เทพช่วยทำให้ชีวิตของเธอดีขึ้นจากตอนแรกแทบจะไม่มีอะไรเลย

“พี่กับแฟนและครอบครัว ชีวิตติดลบ เป็นหนี้เป็นสินเต็มไปหมด อยู่ตรงนี้ดีขึ้น ทำความดี ขอพรท่านทุกวัน แฟนพี่หยิบล็อตเตอรี่ถูกรางวัลที่หนึ่ง จากไม่มีอะไรเลย มีบ้านมีรถมีทอง พี่อยู่ที่นี่มา 7 ปี พี่มีบ้าน มีรถ มีทุกอย่างพร้อมโดยที่ไม่ต้องมีหนี้มีสิน ลูกคนโตรับราชการสอบติดตำรวจ เหลือแต่คนเล็กอีกคนหนึ่ง มันดีขึ้นเป็นสเตป ชีวิตพี่ดีขึ้นมาก”

กรณีของประเทศไทยนั้นต้องผจญกับปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมจำนวนมาก ไม่ว่าจะเรื่องค่าครองชีพ ความเหลื่อมล้ำทางสังคม หรือสิทธิต่าง ๆ ศาสนาจึงมีบทบาทในการช่วยสร้างความมั่นคงทางจิตใจให้กับคนในสังคม และเป็นทางลัดเพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ถ้ามีปัญหาเรื่องการเงินก็ใช้วิธีขอหวยเพื่อหวังที่จะทำให้มีรายได้มากขึ้น

บทบาทของศาสนาของไทยทั่วไปแล้วเราจะคุ้นชินกับศาสนาพุทธ แต่ศาสนาพุทธของไทยนั้นรวมเอาหลายศาสนาเข้าด้วยกัน ซึ่งที่เด่น ๆ ก็มีศาสนาพราหมณ์ และความเชื่อเรื่องผี ธีระนันท์ วิชัยดิษฐ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ขยายประเด็นนี้เอาไว้ดังนี้

ความพิเศษของบ้านเราคือวัฒธรรมความเชื่อทางอินเดียแบบฮินดู พุทธ เข้ามาปะทะกับความเขื่อดั้งเดิมของเรา ซึ่งผู้ปกครองเราใช้แบบอินเดีย และพยายามกดให้เลิกใช้ความเชื่อแบบเดิม แต่กลายเป็นว่าความเชื่อเดิม ไม่ได้หายไปไหน แถมพยายามดำรงตนไว้ และกลายเป็นปนกันไปมาจนเป็นความเชื่อแบบเรา ตัวอย่างของการปะทะที่เห็นได้ชัดคือ การที่ผีต้องกลัวพระ เพราะเป็นสัญลักษณ์ชัยชนะที่พุทธเหนือผี แต่ผีจะไม่กลัวเทพฮินดูยกเว้นเจ้าเปลวของภาคใต้ซึ่งเป็นพื้นที่รับฮินดูแบบเข้มหน่อย

ทั้งนี้ความเชื่อดั้งเดิมของไทย ที่หลายคนเรียกว่าศาสนาผี จึงยังมีบทบาทค่อนข้างมากในปัจจุบัน และผสมผสานกับศาสนาอื่นได้อย่างกลมกลืน อาจารย์ธีระนันท์เสริมว่าความเชื่อเรื่องผีของไทยมีลักษณะเด่นอย่างไร หลัก ๆ แล้ว คือ

ผีสามารถสถิตได้ในทุกที่ และมีสามารถให้คุณให้โทษได้

“ศาสนาผีดั้งเดิมของเรา ก็มีความเชื่อเรื่องฟ้ากับดิน และผีก็คือสิ่งที่อยู่ในธรรมชาติ สังเกตว่าความเชื่อดั้งเดิมเราไม่มีนรก มีแต่โลกคนเป็นกับคนตาย และคนตายก็ไม่จำเป็นว่าต้องไปอยู่เมืองบนเสมอไป อาจอยู่ในเมืองล่างต่อไปได้ครับ โดยผีจะอยู่ในทุกที่ และก็จะผูกกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติตามแต่ละพื้นถิ่น แต่มีลักษณะร่วมคือบันดาลคุณโทษแก่คนได้ คนเลยมีพิธีกรรมบูชาสิ่งเหล่านี้ขึ้น เพื่อให้ตนเองประสบแต่สิ่งดี”

ทั้งหมดจึงไม่แปลกนัก หากเราพบว่าทุก ๆ ที่สามารถกลายเป็นที่บูชาสิ่งเหนือธรรมชาติได้ โดยสิ่งที่ขอส่วนมากจะเป็นเรื่องที่ไม่แน่นอนในชีวิต จากการมีโอกาสพูดคุยกับคนที่พึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ท่านหนึ่ง รู้ว่าพรที่เธอขอหนีไม่พ้นเรื่องความรัก การงาน และสุขภาพ “ขอผู้ ขอเงิน และก็สุขภาพพวกปวดหลังอะไรอย่างเนี่ย มีอีกที่เพิ่งไปมาต้นปีคือตรงเซนทรัลลาดพร้าว ไปขอผู้และก็ขอเรื่องการงานเน้นเงิน”

ทั้งนี้ จากการสนทนากับเพิ่มเติมกับคนอื่นที่ไม่ได้แสดงความสนใจในเรื่องนี้นักก็ยืนยันว่าตนเคยขอพรจากสิ่งเหนือธรรมชาติ ในเรื่องการเรียน การสอบ “ส่วนใหญ่จะขอเวลาตั้งใจกับอันนี้มาก ๆ หลัก ๆ จะขอเวลาไปสมัครงาน หรือสอบ หลัง ๆ ไม่ได้บนแล้ว ขอพรเฉย ๆ เลย ทั้งขอให้ตัวเองและคนอื่น”

การขอพรจากสิ่งเหนือธรรมชาติจะมีความเกี่ยวโยงกับสิ่งสำคัญของแต่ละคน และจะต้องมีความไม่แน่นอนเข้ามาเกี่ยว และจะต้องเกี่ยวพันกับอนาคต

การพึ่งสิ่งเหนือธรรมชาติจึงเรียกได้ว่าการจะสร้างหลักประกันแก่ชีวิต ฉะนั้นกลุ่มคนที่เป็นฐานของความเชื่อเช่นนี้จะต้องเป็นกลุ่มที่มีความไม่แน่นอนในชีวิตมากนัก จึงไม่แปลกที่เราจะพบว่ากลุ่มคนที่ประกอบอาชีพค้าขาย หรืออยู่ในภาคบริการจะมีการพยายามพึ่งพิงสิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่ตลอด เพราะต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนเป็นปกติ จะเห็นได้จากวิกฤตโควิด-19 ที่ธุรกิจภาคบริการได้รับผลกระทบกันอย่างถ้วนหน้า

ป้าจิ๋ม (นามสมมติ) ประกอบอาชีพเกี่ยวกับการขายสังฆทานบริเวณวัดแห่งหนึ่ง เธอพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาที่นั่นเสมอ เธอบอกว่าตลอดทั้งวันจะขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อช่วยให้การค้าขายเป็นไปได้ด้วยดีเสมอ

“ขอทุกอย่างตั้งแต่ขอเรื่องค้าขายดี สุขภาพแข็งแรง เราทำดี ท่านก็ให้พรเรา เราหากินเราก็ขอเราขายของดี ๆ เราก็ขอทั้งวัน เราขายไม่ได้ก็ขอหลวงปู่จ้า ขอให้ลูกขายได้”

ทั้งหมดจึงไม่แปลกที่ความเชื่อเช่นนี้จะยังมีอิทธิพลอยู่ในสังคม แต่นอกจากปัจจัยเรื่องความไม่มั่นคง เป็นที่พึ่งทางจิตใจให้แก่ผู้คนจำนวนมาก สิ่งเหนือธรรมชาติเหล่านี้ยังมีบทบาทอื่นๆ ในสังคม ซึ่งอาจไม่ใช่เรื่องที่เป็นรูปธรรมนัก แต่มันเกี่ยวพันกับความสงบเรียบร้อยในสังคม

เหตุที่ 2 เพราะผีสางเทวดาช่วยกำกับพฤติกรรมของมนุษย์

“สิ่งใดตามปกรติไม่สามารถจะมองเห็นตัวได้ แต่เราถือหรือเข้าใจเอาว่ามีอิทธิฤทธิ์และอำนาจอยู่เหนือคน อาจให้ดีหรือให้ร้าย คือ ให้คุณหรือให้โทษแก่เราได้ สิ่งอย่างนี้เรากลัวเกรงและลางทีก็ต้องนับถือด้วย เราเรียกสิ่งที่ว่านี้ว่าผี” วรรคนี้เป็นนิยามสรุปของพระยาอนุมานราชธน หรือเสถียร โกเศศที่ให้นิยามของความเป็นผีเอาไว้

หากสังเกตสิ่งสำคัญของความเป็นผีคือ 1. ไม่สามารถมองเห็นได้ 2. เชื่อว่ามีอิทธิฤทธิ์เหนือมนุษย์ 3. เป็นที่เกรงกลัวหรือต้องเคารพนับถือ ทั้งหมดแสดงให้เห็นถึงฟังค์ชั่นแรกของผีต่อสังคมนั้นก็คือ กำกับดูแลพฤติกรรมของมนุษย์

อาจารย์ธีระนันท์ ได้กล่าวในส่วนการกำกับพฤติกรรมทางสังคมของมนุษย์ โดยใช้อำนาจจากความเกรงกลัวในสิ่งที่มองไม่เห็น

“เรื่องผี มีบทบาทในการควบคุมพฤติกรรมของคน เพราะธรรมชาติของคนในอดีต มักเกรงกลัวสิ่งที่มองไม่เห็นพิสูจน์ไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น เรื่องผีในมหาวิทยาลัย ถ้าเราสังเกตจะเห็นว่าพื้นที่ที่เจอผี ล้วนมีลักษณะลับตาคนทั้งสิ้น ซึ่งความเป็นจริง การเกิดเหตุร้ายหรือไม่พึงประสงค์ก็มักเกิดในที่ลับ ก็เอาเรื่องผีมาขู่จึงมีผลเพื่อกำกับพฤติกรรมทางสังคม”

ตามประสาของความเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติซึ่งรวมไปถึงศาสนา ความเชื่อเรื่องผีสางเทวดามีความพยายามสร้างชุดคำอธิบายที่มีความเกี่ยวพันกับเรื่องจริยธรรม วัตรปฏิบัติต่าง ๆ เข้าไปด้วย โดยในส่วนของความเชื่อดั้งเดิมของไทยอย่างความเชื่อเรื่องผีที่ตกค้างอยู่ จะออกมาในรูปของพิธีกรรมต่าง ๆ

“ถ้าดูว่าอิทธิพลเรื่องผีที่ควบคุมสังคม พิจารณาที่พิธีกรรมจะชัดกว่ามาก อย่างลำผีฟ้าที่รักษาโรคทั้งทางกายและใจ เล่นมะม๊วดของเขมร ทรงผีเจ้านายของเหนือ ไหว้ผีครูมโนราห์ และอื่น ๆ อีกมากมาย”

จริยธรรมที่เกิดขึ้นนั่นเองที่กลายเป็นตัวควบคุมให้สังคมอยู่ร่มเย็นเป็นสุข หากได้มีโอกาสฟังรายการเล่าเรื่องผีแล้วตัดลีลาการลำดับเรื่องของแต่ละคนไป เราจะเห็นลักษณะร่วมของเรื่องผีที่ได้รับความชื่นชมจากคนฟังนั่นหนีไม่พ้นการที่เรื่องราวเหล่านั้นมีคติสอนใจบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอย่าทำอย่างนั้น อย่าทำอย่างนี้ หากทำจะเจอเรื่องแย่ๆ ซึ่งหลายครั้งหมายถึงชีวิต

ผีสางเทวดาจึงมีบทบาทในการสร้างความสงบสุขให้เกิดขึ้นให้สังคม ผ่านการกำกับพฤติกรรมมนุษย์ผ่านชุดคำอธิบายที่มักจะมาในรูปแบบผีเกิดความไม่พอใจเพราะการกระทำของมนุษย์ได้ละเมิดศีลธรรมบางอย่าง อาทิ การข่มขืม ทำให้เกิดผีที่เป็นเหยื่อมาตามหลอกหลอน ซึ่งหากไม่อยากให้ผีไม่พอใจก็ต้องปฏิบัติตนเป็นคนดีจากสำนวน “คนดีผีคุ้ม”

ผีจะมีจริงหรือไม่จึงไม่สำคัญ เพราะผีในฐานะกลไกทางสังคมที่กำกับพฤติกรรมของมนุษย์ให้อยู่กับร่องกับรอยมีอยู่จริง ซึ่งหลายครั้งกลไกเหล่านั้นอาจจะขัดกับเรื่องสิทธิมนุษยชนตามแนวคิดโลกตะวันตก และกลายเป็นเครื่องมือควบคุมทางสังคมไป

เมื่อเป็นเช่นนี้ ผีจึงมีประเด็นกับเรื่องการกดทับทางสังคมอย่างเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะสิทธิในร่างกาย อย่างกรณีของการทำแท้งที่มักจะมีความเชื่อเรื่องผีเด็กตามมาหลอก ยังไม่รวมไปถึงการขู่ว่าอย่าทำอย่างนั้นอย่าทำอย่างนู้นเพราะจะทำให้ผีไม่พอใจ แม้ว่าจริง ๆ สิ่งที่ทำอาจจะไม่ได้เป็นความผิดก็ตาม ซึ่งโดยมากจะมีการผสมเรื่องบุญกรรมลงไปด้วยเนืองจากความเชื่อเรื่องผีสางเทวดาของสังคมไทยไม่ได้มีความซับซ้อนมากนักเลยต้องพึ่งพุทธศาสนากับศาสนาพราหมณ์ในการสร้างคำอธิบายให้ตัวเอง

หากมองในฐานะของเครื่องมือควบคุมผีจึงสามารถถูกมองเป็นศัตรูต่อการพัฒนาไปสู่สังคมที่เจริญแล้ว เรื่องผีจำนวนมากเล่าเป็นคติสอนใจผ่านปลูกฝังความกลัวผ่านเนื้อหาที่เต็มไปด้วยความรุนแรง เมื่อบวกกับการที่ไม่สามารถอธิบายได้ เพราะเป็นชุดความรู้ที่แตกต่างจากวิทยาศาสตร์ ผีจึงเหมือนจะกลายเป็นศัตรูกับความเป็นสมัยใหม่ไปโดยปริยาย ทว่าการกำกับดูแลพฤติกรรมของผีก็ไม่ได้มีฟังค์ชั่นแค่เรื่องของการควบคุมหรือกดขี่ แต่มีฟังค์ชั่นในการช่วยคนเล็กคนน้อยในสังคมด้วย

โดยทั่วไปแล้วเรื่องของผีมักจะมีความสัมพันธ์กับตัวเพศหญิง เห็นได้จากการที่ผีจำนวนมากเป็นผู้หญิง อาจารย์ธีระนันท์อธิบายว่าความเชื่อเรื่องผีของไทยผูกพันกับตัวผู้หญิงมาก่อน และทำให้มรดกที่หลงเหลืออยู่จึงมีเรื่องของเพศหญิงค่อนข้างมาก

“เพราะศาสนาผีแต่ก่อน ให้เพศหญิงเป็นใหญ่ ผู้หญิงก่อนที่วัฒนธรรมอินเดียจะเข้ามา มีอิทธิพลในสังคม ควบคุมสังคมทุกด้าน แม้วัฒนธรรมอินเดียซึ่งใช้ชายเป็นใหญ่จะเข้ามาแล้ว แต่ความหญิงเป็นใหญ่ก็ไม่ได้หายไปไหน ยังคงแข่งและขับเคี่ยวกันมาทุกยุคทุกสมัย”

โดยเราอาจอธิบายได้ว่าเพราะสังคมชายเป็นใหญ่ ผีที่เป็นสิ่งแปลกปลอมจึงต้องเป็นผู้หญิง ไม่ว่าจะกระสือ จะปอปเหมือนเช่นการล่าแม่มดที่เกิดขึ้นในสมัยหนึ่งของยุโรป

แต่หากมองอีกแง่ว่าความเป็นผีนี่เองก็ยังสิ่งที่ช่วยปกป้องผู้หญิงจากการกระทำที่ชั่วร้ายทั้งจากน้ำมือของผู้ชายและผู้หญิง เรียกได้ว่าเป็นเครื่องมือสำหรับการต่อรองของเพศหญิงที่มีต่อสังคม ทำให้ผีก็มีนัยยะของการต่อสู้ร่วมกับผู้ถูกกดขี่ด้วย

หากสังเกตผีจำนวนมากมักจะมีประเด็นวนอยู่กับความอยุติธรรม ผีหลายตัวมีประเด็นเกี่ยวกับเรื่องการกดขี่ ไม่ว่าจะเรื่องการถูกล่วงละเมิดทางเพศอย่างการข่มขืน หรือการฆาตกรรม การดำรงอยู่ของผีจึงมีฟังค์ชั่นของการทวงคืนความยุติธรรม เป็นการสร้างอำนาจต่อรองให้คนตัวเล็กตัวน้อยในสังคม เพื่อให้ผู้มีอำนาจมากกว่าเกรงกลัวที่จะทำผิด

เราจึงกล่าวไม่ได้ว่าผีเป็นสิ่งที่เลวร้ายไปเสียทั้งหมด เพราะผียังมีบทบาทของการยืนเคียงข้างผู้ถูกกดขี่ เป็นเครื่องกำกับพฤติกรรมที่ไม่ให้คนทำสิ่งที่ชั่วร้าย ทั้งตามความเชื่อผีก็ไม่ได้มีบทบาทแค่ด้านที่เลวร้าย แต่ยังมีด้านที่ดีด้วย

ผีสางเทวดาจึงมีความเป็นกลางมากกว่าที่จะฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และหลายครั้งดูจะยุติธรรมมากกว่าระบบยุติธรรมของคนเป็นเสียด้วยซ้ำ เพราะผีจะไม่ต้องทวงความยุติธรรมเลยหากระบบยุติธรรมสามารถให้ความเป็นธรรมแก่คนเหล่านั้นได้ก่อนที่พวกเขาจะตาย แม้ว่าส่วนนี้อาจจะแย้งได้ดังที่ ธีระนันท์มองว่า บทบาทด้านการต่อสู้กับความอยุติธรรมของผีก็เป็นไป เพื่อคลายความข้องใจที่มีต่อระบบยุติธรรมเองก็ตาม

“ที่ผีตามมาทวงคืนความยุติธรรม ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเล่าเพื่อคลายความคับข้องใจกับความอยุติธรรมเฉย ๆ ครับ”

ด้วยเหตุนั้นผีจึงยังมีบทบาทในสังคม

จากการที่ผีมีบทบาททั้งในแง่ของการให้ความมั่นคงตามแบบความเชื่อหรือศาสนา และการที่ผีช่วยกำกับพฤติกรรมของมนุษย์ ทำให้ผียังมีบทบาทในสังคมไทยอยู่ แม้สังคมจะพัฒนาไปมากก็ตาม จนเราอาจบอกได้ว่าผีเป็นหลักฐานการมีอยู่ของสิ่งแย่ ๆ ในสังคม ความเชื่อเรื่องผีจึงยังสามารถดำรงอยู่ได้ในปัจจุบัน เพราะลึก ๆ ความเชื่อเรื่องผีก็เป็นหลักยึดเหนียวจิตใจเหมือนกับศาสนาอื่น ๆ แสดงให้เห็นถึงบทบาทของผีในฐานะตัวสร้างความเชื่อมั่นในสังคม แม้สังคมไทยจะพัฒนาไปมากกว่าสมัยที่เริ่มตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ชนิดที่แทบจะเป็นคนละโลก แต่ผีสางเทวดาก็จะยังตามหลอกหลอนจนกว่าเมืองไทยจะพัฒนามากพอที่จะให้ความมั่นคงกับชีวิตของประชาชน