“ผู้รอดชีวิต”จากอำแดงเหมือนถึงเฟมทวิต ความรุนแรงต่อผู้หญิงในสังคมไทยเมื่อไหร่จะเป็นวาระแห่งชาติ - Decode
Reading Time: 3 minutes

“มีกรณีที่ผู้ใหญ่บ้านข่มขืนเด็กนักเรียน พ่อแม่เขาไปแจ้งความแต่เรื่องไม่คืบหน้าจนผ่านไปเป็นปี เรื่องที่มีการข่มขืนผู้หญิงพิการสติไม่ดี คนทำเป็นอบต.และเป็นลูกเขยกำนัน หลายเคสเราร้องเรียนไปหลายปีแต่ไม่ได้เรื่อง พูดตรง ๆ คือถ้าคนทำเป็นผู้นำชุมชน เจ้านายเขาจะช่วยกันเต็มที่ไม่ให้ลูกน้องเขาเสีย ทีนี้พี่เลยพาสื่อไปด้วย เรื่องถึงได้เริ่มชัดขึ้นเรื่อย ๆ สุดท้ายคนทำต้องติดคุกและออกจากราชการ ชาวบ้านเขาทำอะไรไม่ได้เลย”

พี่สมจิตร สอนกล้า ประธานเครือข่ายแม่หญิงจังหวัดสุรินทร์ ถ่ายทอดเรื่องจริงจากประสบการณ์ในการทำงานร่วม 20 ปีของเธอ เรื่องเหล่านี้สะท้อนให้เห็นความรุนแรงในหลายระดับ ชัดเจนที่สุดคือการถูกใช้กำลังข่มเหงละเมิดทางเพศ ไปจนถึงความรุนแรงเชิงอำนาจที่ผู้กระทำเป็นผู้นำชุมชน แต่รากลึกที่สุดของเรื่องนี้คือความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมหรือความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างชายหญิง ที่ผู้ถูกกระทำไม่ได้จำกัดอยู่เพียงกลุ่มเปราะบางจากกรณีศึกษาที่ยกมาเป็นตัวอย่างเท่านั้น แต่เป็นความรุนแรงที่กระทบทุกบริบทสังคม

ตัวอย่างเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นจนทัวร์ลงอย่างดุเดือด คือการวิพากษ์บทความ “เดินเกมให้เป็น หากผู้ชายชวนไปดู Netflix ที่ห้อง” โดยเนื้อหาของบทความนี้สื่อว่าหากผู้หญิงยอมตามคำชวนไปดูหนังที่ห้องผู้ชายคือเท่ากับยอมมีเซ็กส์ ชาวเน็ตจำนวนมากโต้ว่า ผู้เขียนไม่เข้าใจประเด็นเรื่องความสมยอมร่วม (Consent)ที่หญิงและชายมีสิทธิเลือกความสุขทางเพศได้อย่างเสมอภาค บางคอมเมนต์ฟาดแรงว่า บทความนี้สนับสนุนการล่วงเกินและข่มขืนผู้หญิง

จากเหตุเด็กหญิงถูกผู้นำชุมชนข่มขืนที่บ้านกกตูม ถึงประเด็นความสมยอมร่วมของความสุขทางเพศในโลกออนไลน์ จากอำแดงเหมือนถึงเฟมทวิต ความรุนแรงต่อผู้หญิงในเชิงวัฒนธรรมได้ตัดผ่านทุกช่วงอายุ ทุกเพศสภาพ และทุกชนชั้น หากประโยคที่ว่า “ข่มขืนเท่ากับประหาร” ดูสิ้นหวังเกินไปกับความเป็นมนุษย์ เรามาเริ่มต้นกันที่รากเหง้าของความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม น่าจะเข้ากับบรรยากาศแบบเบิกเนตรของปี 2021 มากกว่า

ยอดภูเขาน้ำแข็งของความรุนแรงในสังคมไทย

“จริง ๆ เราไม่อยากให้เรียกผู้ถูกกระทำความรุนแรงว่าเหยื่อ (Victim) แล้วนะ แต่อยากให้ใช้คำว่าผู้รอดชีวิต (Survivor)”

รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล ศาสตราจารย์วุฒิคุณ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัย มหิดล นักวิชาการผู้ทำวิจัยเรื่องความรุนแรงต่อผู้หญิง (Gender-based violence) มาร่วม 30 ปี เริ่มต้นจากสิ่งที่สามัญแต่ทรงพลังที่สุด นั่นคือถ้อยคำที่สังคมใช้เรียกผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว เพียงเปลี่ยนจากคำว่า “เหยื่อ” มาเป็นคำว่า “ผู้รอดชีวิต” ดูเหมือนว่าจะช่วยให้เราเริ่มต้นเรื่องนี้ด้วยความหวังมากขึ้น เพื่อบรรเทาความหดหู่จากจำนวนสถิติที่อาจารย์กฤตยาคำนวณข้อมูลจากศูนย์พึ่งได้ (One Stop Crisis Center-OSCC) กองบริหารการสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุขในระยะ 12 ปี (2550-2562) ที่พบว่ามีการกระทำความรุนแรงต่อผู้หญิงที่ร้ายแรงจนถึงกับต้องเข้าโรงพยาบาลอย่างต่ำปีละ 1.5 หมื่นคน เฉลี่ยวันละ 41 คน และชั่วโมงละ 1.7 คน

นอกจากผู้ถูกกระทำที่เป็นผู้หญิงแล้ว องค์การสหประชาชาติ (United Nations-UN) ได้ระบุถึงผลกระทบจากความรุนแรงในครอบครัว ว่าทุกคนสามารถเป็นเหยื่อของความรุนแรงในครอบครัวได้ทั้งสิ้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับวัย เพศ เชื้อชาติ รสนิยมหรือความโน้มเอียงทางเพศ ความเชื่อ หรือชนชั้นทางสังคม แต่สำหรับสังคมไทยแล้วมีสถิติที่โน้มเอียงว่า “ผู้รอดชีวิต” จากการถูกกระทำความรุนแรงส่วนใหญ่คือกลุ่มประชากรเปราะบาง โดยเฉพาะผู้หญิงและเด็ก หลักฐานที่ชัดเจนอีกกรณีหนึ่ง คือข่าวความรุนแรงต่อผู้หญิงมีอุบัติการณ์เพิ่มสูงขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา

ข้อมูลของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่รวบรวมจากหนังสือพิมพ์ 10 ฉบับ (ม.ค. – มิ.ย. 2563) พบว่ามีข่าวความรุนแรงในครอบครัว 350 ข่าว ที่มีตั้งแต่ข่าวการละเมิดทางเพศบุคคลในครอบครัว ทำร้ายร่างกาย ไปจนถึงข่าวฆ่ากันตาย โดยองค์กรที่สำรวจข้อมูลนี้ได้พบว่า ปริมาณของข่าวความรุนแรงของปี 2563 สูงขึ้นกว่าปี 2561 ถึงร้อยละ 12

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงและเด็กกลายเป็นตำบลกระสุนตกของความรุนแรงมาโดยตลอด อาจารย์กฤตยาได้ชี้ให้เห็นรากเหง้าที่แท้จริงของปัญหาไว้อย่างชัดเจน โดยอธิบายถึงระดับของความรุนแรงใน 3 รูปแบบ ไล่เรียงตามความเข้มข้นของปัญหาความรุนแรงในสังคมไทย รูปแบบแรกคือความรุนแรงทางวัฒนธรรม รูปแบบที่สองคือความรุนแรงทางโครงสร้าง และรูปแบบที่สามคือความรุนแรงทางตรง ซึ่งเห็นได้ชัดเจน เช่นการทำร้ายร่างกายที่มีระดับความรุนแรงแตกต่างกันออกไป

สำหรับความหมายของความรุนแรงทางตรงซึ่งเป็นปลายเหตุของปัญหาได้มีการให้คำจำกัดความไว้ โดยองค์การสหประชาชาติว่า ความรุนแรงทางตรงมี 5 ระดับ

ระดับแรกคือความรุนแรงทางอารมณ์ความรู้สึก เช่น การใช้วาจาหยาบคาย การควบคุมคู่ด้วยความหึงหวง หรือด้อยค่าความเป็นมนุษย์

ระดับที่สองคือความรุนแรงทางจิตใจ เช่น การสร้างความหวาดกลัวด้วยการข่มขู่ว่าจะทำร้าย ทั้งต่อตัวเอง คู่ของตน ลูก สัตว์เลี้ยง หรือทรัพย์สิน การเล่นสงครามประสาทหรือโดดเดี่ยวผู้ถูกกระทำจากครอบครัว เพื่อน หรือที่ทำงาน

ระดับที่สามคือความรุนแรงทางการเงิน เช่น ควบคุมการใช้จ่ายหรือการเข้าถึงเงินของผู้ถูกกระทำความรุนแรง

ระดับที่สี่คือความรุนแรงทางร่างกาย เช่น ขว้างปาหรือทำลายข้าวของ ต่อย ตบ เตะ หรือบีบคอผู้ถูกกระทำ ไปจนถึงกักขังหน่วงเหนี่ยว

และระดับที่ห้าคือความรุนแรงทางเพศ เช่น บังคับให้มีความสัมพันธ์ทางเพศแม้ว่าคู่จะป่วย เหน็ดเหนื่อย หรือมีเซ็กส์หลังจากลงมือทำร้าย ไปจนถึงการใช้อาวุธทำร้ายขณะร่วมเพศ รวมทั้งการดึงคนอื่นเข้ามามีความสัมพันธ์ทางเพศกับคู่ของตน นอกจากนั้นการสะกดรอยติดตาม (Stalking) ในรูปแบบต่าง ๆ ถือว่าเป็นความรุนแรงด้วยเช่นเดียวกัน

สำหรับความรุนแรงที่หยั่งรากลึกลงไปอีกระดับหนึ่งคือความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ซึ่งในงานวิชาการของ ผศ.จุไรรัตน์ จันทร์ธำรง ในเรื่อง “เพศ อำนาจ และความรุนแรง” (2536) ได้อ้างตามความหมายของศาสตราจารย์ ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ไว้ว่า ความรุนแรงเชิงโครงสร้างเป็นความรุนแรงที่ไม่ได้เกิดจากตัวบุคคลโดยตรง หากแต่เป็นกระบวนการที่ถูกสร้างและดำรงอยู่ในโครงสร้างหรือระบบสังคมวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่องยาวนาน และปรากฎออกมาในรูปแบบอำนาจที่ไม่เสมอภาคกัน ส่งผลให้โอกาสแห่งชีวิตไม่เสมอภาคกันไปด้วย อาจารย์กฤตยาได้ยกตัวอย่างเพื่อให้เข้าใจความรุนแรงเชิงโครงสร้างได้ชัดเจนขึ้นว่า

“ความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่เห็นเป็นลายลักษณ์อักษร เช่น กฏหมาย จะเห็นว่ากฎหมายที่เกี่ยวกับการกระทำต่อผู้หญิงนั้นต่างจากกฎหมายที่เกี่ยวกับผู้ชาย ตัวอย่างเช่นกฎหมายทำแท้งมาตรา 301 ที่ยังเอาผิดกับผู้หญิง ถือว่าผู้หญิงที่ทำแท้งเป็นอาชญากรรม ทั้ง ๆ ที่มันเป็น Victimless crime คือเป็นอาชญากรรมที่ไม่มีเหยื่อ เพราะผู้หญิงทำกับตัวเอง นี่คือตัวอย่างของความรุนแรงเชิงโครงสร้าง แต่ว่าใต้ของความรุนแรงทั้งหมดนี้ คือความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม ซึ่งถูกบ่มเพาะจากความเชื่อ การปลูกฝังเลี้ยงดูและหล่อเลี้ยงกันมาทั้งระบบ แล้วเราไม่ตั้งคำถามเลย”

ยุติความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม
หยุดการ “ออกใบอนุญาต” ให้ผู้กระทำความรุนแรง

“ถ้าเราจะเข้าใจเรื่องนี้ เราต้องเข้าใจระบบวิธีคิดแบบชายเป็นใหญ่ เรื่องนี้มีอิทธิพลต่อทุกคน ทุกเพศภาวะ ไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง เพราะเป็นระบบที่ควบคุมพฤติกรรมของผู้หญิง หรือของคนที่ด้อยอำนาจ เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า เป็นความรุนแรงที่อยู่บนฐานเพศ โดยความรุนแรงที่ลึกและมองเห็นยากที่สุด คือความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม”

อาจารย์กฤตยาชี้ให้เห็นถึงรูปแบบที่รุนแรงที่สุดของเรื่องนี้ นั่นคือความรุนแรงต่อผู้หญิงในเชิงวัฒนธรรม ซึ่งตัดผ่าน(Cut across) ทุกบริบทในสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชนชั้น ศาสนา อาชีพ ระดับการศึกษา และระดับอายุ  โดยชี้ให้เห็นถึงหลักฐานผ่านงานวิจัยที่เคยทำผ่านมา พบว่าผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรงและละเมิดทางเพศมีตั้งแต่วัยยังไม่ครบ 12 เดือน จนถึง 70 กว่าปี ปรากฎการณ์เหล่านี้อธิบายถึงรากที่ลึกล้ำของความรุนแรงที่เกิดจากวัฒนธรรมที่ยากต่อการตระหนักรู้และแก้ไข

“ความรุนแรงเรื่องการละเมิดทางเพศในสังคมไทยมันแย่ตรงที่ว่า เด็กของเราถูกละเมิดทางเพศค่อนข้างมากและมักจะถูกละเมิดต่อเนื่องยาวนานหลายปี เรื่องนี้สัมพันธ์กับความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม ซึ่งเกิดจากความเชื่อ จารีตประเพณี และความรู้สึกว่าต้องควบคุม มันเป็นเรื่องความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ข่าวที่สะท้อนเรื่องนี้ได้ชัดข่าวหนึ่ง คือเรื่องที่นักเรียนผู้ชายถ่ายรูปใต้กระโปรงนักเรียนหญิง โดยเด็กผู้ชายเป็นเด็กที่เรียนดี เมื่อนักเรียนหญิงจะไปแจ้งความ ครูได้ขอให้ไม่ต้องไปแจ้งความ ดังนั้นสำหรับตัวเองได้ฟันธงมานานแล้วว่า ความรุนแรงทางเพศต่อผู้หญิง เป็นปัญหาใหญ่อันดับหนึ่งของสังคมไทย ซึ่งเป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจ โดยเฉพาะเรื่องเพศภาวะ”

กรณีศึกษาที่คล้ายกันในต่างประเทศเกิดขึ้นในปี 2558 สะท้อนผ่านสารคดีเรื่อง “The Hunting Ground” (เขียนบทและกำกับโดย Kirby Dick) เรื่องจริงเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศนักศึกษาหญิงในอเมริกา โดยมหาวิทยาลัยกลับเลือกที่จะไกล่เกลี่ยยอมความ เพราะนักศึกษาชายที่เป็นผู้กระทำความรุนแรงเป็นนักกีฬาที่สร้างชื่อเสียงให้สถาบัน หนังสารคดีเรื่องนี้ได้นักร้องผู้ทรงอิทธิพลอย่าง Lady GaGa ทำเพลงประกอบชื่อ “Til it happens to you” เธอร้องประกอบการเล่นเปียโนและจบการแสดงอย่างทรงพลัง มีเหล่า “ผู้รอดชีวิต” จากความรุนแรงทางเพศเดินเข้ามาเมื่อเพลงจบลง พวกเขาทั้งหญิงและชายโชว์รอยสักบนแขนที่เขียนว่า “Survivor” เพื่อตอกย้ำสารที่ศิลปินนำเสนอผ่านเนื้อร้องของบทเพลง

…Tell me how the hell could you know
How could you know
‘Til it happens to you, you don’t know
How it feels…

อีกประเด็นหนึ่งที่เป็นมายาคติเกี่ยวกับความรุนแรงต่อผู้หญิงในสังคมไทย คือการเชื่อมโยงปัญหาการติดแอลกอฮอล์ว่าเป็นปัจจัยหลักของความรุนแรงในครอบครัว อาจารย์กฤตยาให้ความเห็นว่าสุราอาจจะเป็นปัจจัยกระตุ้น แต่ไม่ใช่สาเหตุหลัก เพราะครอบครัวที่ใช้ความรุนแรงจำนวนมากไม่ได้เกี่ยวกับแอลกอฮอล์ ยกตัวอย่างความรุนแรงในครอบครัวที่เคร่งศาสนา ไม่ได้มีแอลกอฮอล์เข้ามาเกี่ยวข้อง หากแต่เป็นปัจจัยที่ลึกกว่านั่นคือความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม ที่ทั้งตัวผู้กระทำและสังคมโดยภาพรวมหลงลืมที่จะตั้งคำถาม ว่าเหตุใดเมื่อเกิดเหตุความรุนแรงขึ้น การตั้งคำถามมักจะไปตกที่ฝ่ายถูกกระทำ เช่น “แต่งตัวยังไงถึงโดนละเมิดทางเพศ” หรือแม้กระทั่งการเพิกเฉยต่อการลงโทษผู้กระทำ เพียงเพียงรักษาชื่อเสียงเกียรติภูมิของวิชาชีพหรือองค์กร

“เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราต้องตั้งคำถามคู่ขนานกันไปคือ อะไรทำให้ผู้กระทำความรุนแรงหรือสังคม คิดว่าบางอย่างเขาสามารถทำได้โดยไม่ใช่ความผิด”

หนทางในการป้องกัน แก้ไข และยุติปัญหาความรุนแรงที่ยืนอยู่บนฐานเพศเป็นเรื่องที่ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายในสังคม โดยเริ่มตั้งแต่การป้องกันในวัยเด็ก อาจารย์กฤตยาเน้นไปที่เรื่องของการศึกษาเพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้กับเด็ก เพื่อให้เกิดความเข้าใจว่าร่างกายของเรานั้นต้องไม่ให้ใครมาแตะต้องลูบคลำอย่างผิดสังเกต เพื่อสร้างการตระหนักรู้และระมัดระวังตั้งแต่วัยเยาว์ ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่พบว่ามีการล่วงละเมิดสูงมาก โดยความรู้ชุดนี้ต้องอยู่ในระบบการศึกษาและไม่จำกัดเพศ (Unisex) เปรียบเสมือนกับฝังระบบเตือนภัยตั้งแต่เด็กๆ 

“เราต้องสร้าง Gender sensitivity ตั้งแต่เด็ก ๆ ซึ่งมีทั้งตำรา นิทาน เรื่องเล่าสารพัดที่จะทำให้เด็กตื่นตัวในเรื่องนี้ได้ อีกเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับผู้หญิงโดยตรง นั่นคือเมื่อเขาตกอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกกระทำรุนแรง ซึ่งเฉดของมันอาจจะมีตั้งแต่ Stalking ไปจนถึงการคุมคามทุกรูปแบบ เขาควรจะทำอะไรได้บ้าง ตรงนี้เราพยายามทำอยู่ เพราะพอถึงตอนคับขันแล้วผู้หญิงมักนึกไม่ออกว่าต้องทำอะไรบ้าง”

สำหรับนักวิชาการที่ทำงานด้านนี้มาร่วม 30 ปี โดยครอบคลุมทั้งเรื่องความรุนแรงต่อผู้หญิง ขบวนการสิทธิเหนือสิทธิเนื้อตัวร่างกายผู้หญิง ผู้หญิงกับเอดส์ หญิงรักหญิง และประเด็นเรื่องการทำแท้ง อาจารย์กฤตยาเห็นว่าประเด็นเรื่องความรุนแรงต่อผู้หญิงมีความก้าวหน้าในเชิงนโยบายมากที่สุด เพราะในปี 2542 รัฐบาลภายใต้การนำของนายชวน หลีกภัย ได้มีเคลื่อนไหวเชิงนโยบายในเรื่องนี้ แต่ในระดับของความเข้าใจยังต้องมีการผลักดันกันอีกมาก

โดยฝากแนวคิดในการยุติปัญหานี้ว่า รัฐต้องพยายามผลักให้เรื่องนี้เป็น National agenda ให้เป็นประเด็นใหญ่เท่าเรื่องค้ามนุษย์ ซึ่งมีแนวโน้มว่าการผลักดันให้ประเด็นการยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงจะเป็นไปได้ เพราะในปีหน้ารัฐบาลไทยจะต้องรายงานต่อ CEDAW (อนุสัญญาว่าด้วยการจัดการการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ – Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination Against Women) ของสหประชาชาติ ดังนั้นจึงมีความหวังว่าเรื่องนี้จะถูกทำให้เป็นวาระแห่งชาติ ท้ายที่สุดแล้วอาจารย์กฤตยาเห็นว่า การยุติปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงจะสำเร็จได้ควบคู่ไปกับขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย เพราะนั่นคือการเปิดโอกาสให้ทุกคนได้ส่งเสียงของตนออกมาอย่างเท่าเทียม

“เราต้องรักคนอื่นเหมือนเรารักตัวเราเอง ต้องเคารพสิทธิของคนอื่น สำหรับตัวเองมองว่า เรื่องนี้จะเกิดพร้อมกับขบวนการประชาธิปไตย มีเพียงระบอบประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะทำให้เสียงที่เคยถูกกดทับได้สะท้อนออกมา”